วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/3






พระอาจารย์

3/3 (531121)

21 พฤศจิกายน 2553




พระอาจารย์ – การปฏิบัติธรรมนี่...ชื่อก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม  แต่จริงๆ น่ะ มันไม่ใช่ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อให้ได้ธรรม หรือว่าไปทำอะไรขึ้นมาหรอก 

การที่เรามีชีวิตอยู่ทั้งวันทั้งคืนตลอดเวลานี่ มันเป็นธรรมอยู่แล้ว มันอยู่กับธรรมอยู่แล้ว...เป็นธรรมที่เขาจะแสดงให้เห็นตลอดเวลาอยู่แล้ว 

เพราะฉะนั้นพอบอกว่าการปฏิบัติธรรม  พวกเราก็เข้าใจว่าจะต้องไปทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องนั่งอย่างนั้น จะต้องกำหนดจิตอย่างงี้มั้ง จะต้องถืออันนั้น จะต้องห้ามอันนี้ ...มันก็เลยกลายเป็นพิธีรีตองวุ่นวี่วุ่นวายไปหมด  เดี๋ยวคนนั้นก็ว่าอย่างนั้น เดี๋ยวคนนี้ก็ว่าอย่างนี้  ก็เลยไม่รู้เลยว่าอย่างไหนเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

แต่ในความหมายของการปฏิบัติธรรมจริงๆ ... เราบอกให้เลยว่า ชีวิตเราทั้งชีวิต หรือว่าการเป็นอยู่ตลอดวันของเรานี่ มันเป็นธรรมอยู่แล้ว  เขาแสดงธรรมอยู่แล้ว เขาปรากฏ...อาการของธรรมปรากฏอยู่แล้ว  แต่ที่ขาดคือ...เราไม่เข้าไปเห็นมัน ไม่เห็นมันตรงๆ ไม่รู้มัน ไม่เห็นอาการของมันที่มันอยู่ต่อหน้าเรา อยู่กับเราตรงนี้

เช่นกายนั่งอยู่อย่างนี้ เราก็ไม่เคยรู้เลยว่านั่ง ไม่เคยดูว่ากายกำลังนั่ง  มีความคิดก็ไม่เคยรู้ว่ากำลังคิด ไม่เคยเห็นว่ามันกำลังคิด ไม่เคยเห็นว่ามันกำลังสุข ไม่เคยเห็นว่ามันกำลังทุกข์ เนี่ย ...มีแต่ว่าเรื่อยเปื่อยไปกับมัน ไหลไปตามมัน ไปฟุ้งซ่านกับมัน ไปทำโน่นทำนี่  ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อยโดยที่ไม่รู้เลยว่ากำลังทำอะไรอยู่

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือการกลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาดูตัวเอง กลับมารู้ตัวเอง  กลับมารู้การกระทำของกาย ของจิต ของใจ  เดี๋ยวนี้ขณะนี้...ใจเป็นยังไง  ...ใจดีมั้ย สบายมั้ย มีความคิดมั้ย กังวลมั้ย ขุ่นมั้ย หมองมั้ย ฟุ้งซ่านมั้ย ตำหนิติเตียนคนมั้ย ดีใจมั้ย เสียใจมั้ย 

เนี่ย มันมีอยู่ตลอดเวลา มันแสดงอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ...อารมณ์นี่มันมีตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นยันหลับ มันมีอยู่ตลอด มันแสดงธรรมตามความเป็นจริงอยู่ตลอด...แต่เราไม่เคยเห็นน่ะ ไม่เคยกลับมารู้กลับมาเห็นมันเลย

พอเราจะเริ่มปฏิบัติธรรม ...ก็จะวิ่งไปหาอะไร ไปทำอะไรขึ้นมาใหม่ ...ทั้งๆ ที่ว่าธรรมเขาแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา  กายก็มีอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน  พามันไปนั่นไปนี่ พามันขึ้นรถ พามันลงรถ พามันไปเที่ยวนั่น พามันไปกินร้านอาหารที่นั้น พามันไปดูหนัง พามันไปฟังเพลง พามันไปทำโน่นทำนี่

กายมันมีอยู่ตลอดเวลา  แต่เราไม่เคยกลับมาดูว่ามันกำลังทำอะไรอยู่ อย่างนี้  มันตั้งอยู่ยังไง มันเคลื่อนไหวยังไง หรือมันอยู่เฉยๆ  มันเจ็บตรงไหน มันเมื่อยตรงไหน มันปวดตรงไหน มันแสดงอาการอะไรออกมา ...มันไม่มีตัวที่เข้าไปเห็นเลย ในอาการในปัจจุบันของกาย ไม่เห็นอาการปัจจุบันของใจ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม จึงไม่ได้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรหรอก  แต่เป็นการที่ว่า....กลับมารู้ความเป็นจริงที่ปรากฏของกายกับอาการของจิตในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น การที่จะกลับมาเห็นความเป็นจริงของกายในปัจจุบันและอาการของใจในปัจจุบันได้  มีอยู่อย่างเดียวที่มันจะให้กลับมาเห็นได้ในปัจจุบันก็คือสติ ...คือการระลึกรู้บ่อยๆ  กลับมารู้ตัวเองบ่อยๆ

กำลังทำอะไรอยู่ เดี๋ยวนี้ กำลังนั่งอยู่ใช่มั้ย  ก็ดูว่านั่ง รู้ว่านั่ง ก็เห็นกำลังนั่งอยู่  เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิดอีก ก็รู้ว่าตอนนี้กำลังคิด  เดี๋ยวความคิดหาย มีความรู้สึกกังวล อย่างนี้ 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจริงๆ น่ะ มันไม่ใช่ว่าเป็นการทำอะไรขึ้นมาใหม่ หรือไปแก้ไขอะไร หรือไปทำจิตให้มันดีขึ้น หรือไปห้ามไม่ให้จิตมันมีอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ... ไม่ใช่ 

แต่การปฏิบัติธรรมคือการกลับมาเห็นความเป็นจริงของปัจจุบัน ... แล้วอะไรเป็นปัจจุบันตรงนั้น ...คือปัจจุบันของกายกับปัจจุบันของใจ...สองอย่างแค่นี้เอง เรียกว่าการปฏิบัติ  

ไม่ต้องทำอะไรหรอก ไม่ต้องไปหาอะไรขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมาใหม่  มันเป็นยังไงก็ดูมันตรงนี้ รู้อยู่ตรงนี้  นั่งก็รู้ว่านั่ง เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ ขี้เกียจก็รู้ว่าขี้เกียจ คิดก็รู้ว่าคิด กระวนกระวายก็รู้ว่ากระวนกระวาย  ...รู้เข้าไป

อะไรเกิดขึ้นก็รู้เข้าไป  ไม่ต้องไปห้ามมัน ไม่ต้องไปกลัวมัน ไม่ต้องไปคิดว่ามันใช่มั้ย มันถูก-มันผิดมั้ย มันต้องเป็นอย่างนี้อย่างนู้นมั้ย มันต้องทำอย่างนั้นมั้ยทำอย่างนี้มั้ย ...ก็รู้ว่ามันคิดอย่างนี้อีกแล้ว รู้ว่ากำลังฟุ้งซ่าน รู้ว่ากังวล รู้ว่ากลัว  รู้มันเข้าไป รู้อยู่ตรงนี้  ไม่ได้ทำอะไรเลย  ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปรักษา ไม่ต้องไปแทรกแซง ... มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้  รู้ไปง่ายๆ นี่แหละ

รู้ธรรมดา รู้บ่อยๆ  แล้วมันจะเข้าใจมากขึ้นเอง ... จะเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น จะเข้าใจกระบวนการทางกายมากขึ้น จะเข้าใจกระบวนการของจิตมากขึ้น  แล้วก็จะเข้าใจว่าไอ้ใครวะที่เป็นคนรู้อยู่อ่ะ ...มันมี มันมีอีกตัวหนึ่ง ...ขอให้รู้บ่อยๆ ดูบ่อยๆ สังเกตดูบ่อยๆ

สังเกตตัวเอง ...ไม่ต้องไปสังเกตคนอื่น ไม่ต้องไปสังเกตความเป็นไปของคนอื่น  ยังงั้นน่ะมันหลงออกไป ... ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา ปล่อยให้เป็นเรื่องของเหตุการณ์ ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อมไป ...กลับมารู้ที่ตัวเรานี่ มีความรู้สึกยังไงขณะนี้

เนี่ย ขณะได้ยินเสียง  หรือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็รู้  พอใจ ดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ สบาย หรือเฉยๆ ไม่รู้อะไร  ก็รู้เข้าไปว่าอาการมันเป็นอย่างนี้ รู้ตามความเป็นจริงไปอย่างนี้ รู้ไป  รู้ไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องไปแสวงหาการปฏิบัติอะไร  เพราะว่าการปฏิบัติที่แท้จริงก็เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้นความเป็นจริงทุกอย่างที่เห็นหรือแสดงน่ะ ท่านเรียกว่าธรรม  ธรรมคือสิ่งที่ปรากฏอยู่ ...เพราะงั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการกลับมาเห็นธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความจำ ความรู้สึก อารมณ์ 

เราไม่ต้องบอกว่า อารมณ์นี้ใช่ อารมณ์นี้ผิด อารมณ์นี้ถูก อารมณ์นี้ดี อารมณ์นี้ร้าย...ตามความเชื่อ   มันเกิดยังไง มันมียังไง มันจะมาก มันจะน้อย มันจะตั้งอยู่ มันจะไม่หายไป หรือว่ามันจะดับไป ... ปล่อยให้เขาเป็นไป  รู้อย่างเดียวว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้นะ อ้อ กำลังเป็นอย่างนี้นะ รู้อยู่อย่างนี้ ๆ ๆ

ง่ายที่สุดเลย  รู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ...ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องสร้างอารมณ์ขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องสร้างจิตขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องสร้างความรู้สึกสุขทุกข์ขึ้นมาใหม่  มันอยากสุขก็สุข ก็รู้ว่าสุข  มันทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์  อ่ะ กังวลก็รู้ว่ากังวล

ไม่ใช่ว่าพอทุกข์หนัก เครียด  แล้วพอรู้ว่าเครียดปุ๊บ ก็ต้องทำให้มันหาย อย่างนี้...ไม่เอา  ไม่ต้องทำ รู้อย่างเดียว  เครียดก็รู้ว่าเครียด ก็รู้ไปๆ  รู้แล้วก็ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้น่ะ

อยู่ที่รู้ ... อย่าไปอยู่ที่เครียด อย่าไปกังวลกับมัน อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์มัน อย่าไปตำหนิติเตียนมัน อย่าไปชม อย่าไปยกยอมัน  เอาแค่ว่ารู้ แล้วก็ เออ เรื่องของมัน อยากเป็นก็เป็นสิ อยากเครียดก็เครียด เรื่องของมัน  รู้อย่างเดียว รู้อยู่ที่รู้  รู้แล้วอยู่ที่รู้ แค่เนี้ย

อดทนอยู่แค่นี้ ทำอยู่อย่างนี้  ทำให้ได้เถอะ ... ไม่ต้องไปแสวงหาการปฏิบัติธรรมในการวิธีว่าจะต้องไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้จิตมันดีกว่านี้

การปฏิบัติธรรม...ส่วนมากเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมของผู้เริ่มต้นการปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติเพื่อให้จิตมันดีกว่านี้  คือดูไปดูมาแล้ว กูไม่ชอบเลย ไอ้จิตตอนนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ ความเป็นกังวลนี้ ไม่ชอบ ...จะแก้มันให้ได้ 

ปฏิบัติธรรมเป้าหมายแรกคือ จะแก้จิต จะแก้อารมณ์ จะแก้ความยึด ความติด ความผูก ความพัน ความกังวลอะไร  จะให้มันไม่มีอะไร จะให้มีแต่ความสุข ให้มีแต่ความรู้ ความสบาย

แต่ในการปฏิบัติที่เราแนะนำ เราไม่ได้สอนให้แก้อะไร ไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่  แต่ให้กลับมาเห็นสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ขณะนี้ ... ทำอะไรก็ทำไปตามปกติ อยากโกรธก็โกรธ อยากมีอะไรก็มี มันจะเป็นอะไรก็เป็น  ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บังคับ ... แต่ให้ รู้ รู้ รู้

โกรธ-รู้ ดีใจ-รู้ ชอบ-รู้ ไม่ชอบ-รู้ เครียด-รู้ สบาย-รู้ กังวล-รู้ สุข-รู้ ทุกข์-รู้ เสียใจ-รู้ เสียดาย-รู้ อาวรณ์-รู้  รู้อย่างเดียว  เฉยๆ ก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้  รู้ๆๆ รู้จนเต็มโลกเต็มจักรวาล...มีแต่รู้  นั่นแหละ แล้วมันจะค่อยๆ เข้าใจกระบวนการทั้งหลายทั้งปวงมากขึ้นๆไปตามลำดับ ว่าอาการมันก็คืออาการ

มันจะเป็นยังไงก็ได้ร้อยแปดพันเก้าล้านประการน่ะ มันจะเป็นยังไงก็ได้อารมณ์น่ะ มันไม่ได้ขึ้นกับรู้เลย ... รู้ก็รู้  รู้ก็อยู่ส่วนรู้สิ  มีอะไรมันก็รู้ เห็นมั้ย มีอะไรมันก็รู้ได้น่ะ ไม่เห็นมันจะไม่สามารถรู้ได้ตรงไหน  เพราะมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันสามารถรู้ได้หมดน่ะ

ใจมันรู้ได้ตลอดเวลา ใจมันมีอยู่ตลอดเวลา ไอ้ที่รู้...รู้ว่าเกิด รู้ว่าดับ  รู้ว่าตั้งอยู่ รู้ว่ามี  รู้ว่าไป รู้ว่ามา  รู้ว่าไม่ไป รู้ว่าไม่มา  รู้ว่าไม่เกิด รู้ว่าไม่ดับ  รู้ว่าหาย รู้ว่าอยู่  รู้ว่ามาก รู้ว่าน้อย  เนี่ย เห็นมั้ย มันมีอยู่ตลอดเวลาไอ้ตัวรู้นี่

ไม่ว่าสภาวะปรากฏการณ์ในจิตจะเป็นอะไร ไม่ว่าอารมณ์จะเป็นยังไง ไม่ว่าความรู้สึกจะเป็นยังไง  ถ้ามีสติระลึกขึ้นมาก็รู้ได้ทั้งนั้น แค่เนี้ย  ถ้ารู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ  มันจะแยกอาการได้เป็นสองอาการ แค่นั้นเอง ...ว่าทั้งหลายทั้งปวงนี่มีอยู่แค่นี้เอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้หรอก  มีแค่ สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้กับ รู้ ... สองอย่าง

แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าไอ้ สิ่งที่ถูกรู้นี่หาความแน่นอนกับมันไม่ได้เลย  กระโดดไปกระโดดมา  เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวอยู่เดี๋ยวไป เดี๋ยวไม่อยู่เดี๋ยวไม่ไป  บทจะมาก็มา บทจะไปก็ไป บทจะตั้งก็ตั้งซะโด่เด่อย่างเงี้ย ไม่หายไปไหน

มันเอาแน่นอนอะไรกับมันไม่ได้เลย หาความแน่นอนอะไรกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ต่อหน้ารู้นี่ไม่ได้เลย  นี่ มันก็จะเห็นความจริงนี้มากขึ้นๆ  

เมื่อเห็นความจริงมากขึ้น มันก็เริ่มเชื่อ  เริ่มเชื่อมากขึ้นว่า ไอ้อาการเนี่ย กูจะไปเอาอะไรกับมันกันนักกันหนาวะ  อยากจะให้มันอยู่มันก็ไม่อยู่อ่ะ ไม่อยากให้มันอยู่มันก็เสือกอยู่อย่างเงี้ย  อยากให้มันอยู่นานๆ มันก็อยู่แป๊บเดียว  เอ้า ไม่อยากให้อยู่นานมันก็ตั้งอยู่ซะเป็นเดือนเลย อย่างเนี้ย เห็นมั้ย แล้วก็มันไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของรู้หรือของเรา แรกๆ มันก็จะเป็นเรา

แต่ว่าก่อนที่จะมาเห็นอาการตามความเป็นจริงได้อย่างนี้ ว่าอาการมันไม่แน่ไม่นอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานี่  จะต้องกลับมารู้บ่อยๆ กลับมาอยู่ในฐานที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่บ่อยๆ

เพราะฉะนั้นการที่จะกลับมาอยู่ในฐานของผู้รู้ผู้เห็นบ่อยๆ นี่  มันต้องอาศัยสติ  ถ้าไม่มีสติมันไม่มีทางรู้หรอก มันมีแต่หลงไปกับอาการ ... โกรธก็คือโกรธๆๆๆๆ ดีใจก็ดีใจๆๆๆ ...มันไม่รู้ว่าดีใจ มันมีแต่ดีใจ  

โกรธก็ไม่มีรู้ว่าโกรธ มันมีแต่โกรธๆๆๆ  คนที่รู้คนที่เห็นโกรธน่ะไม่อยู่ หายไปไหน  นี่ เขาเรียกว่าไม่มีสติ  มันไม่หายไปไหนหรอก แต่มันเข้าไปรวมกับโกรธ หรือว่าโกรธเข้ามารวมกับมัน อย่างเนี้ย  สติมันจึงเป็นหน้าที่คอยระลึกรู้ คอยสังเกตว่าอาการขณะนี้เป็นอย่างไร

เราไม่ต้องหาความรู้อะไรมากกว่านี้หรอก เราไม่ต้องไปทำความเข้าใจหรอก หรือว่าพิจารณาว่ามันคืออะไร มันใช่หรือไม่ใช่ มันถูกหรือผิด แล้วจะทำยังไงต่อไป ...ไม่ต้องสนใจ อะไรเกิดขึ้น...รู้อย่างเดียว อะไรเกิดขึ้นก็รู้

ให้เห็นแค่สองอาการ ว่ามันเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้กับรู้ เนี่ย ในทุกเรื่องทุกราวที่ปรากฏ  ทุกปรากฏการณ์ของอารมณ์ ทุกปรากฏการณ์ของความรู้สึก ทุกปรากฏการณ์ที่ผ่านไปผ่านมา  รู้ๆๆๆ ...ฝึกอย่างเดียว

การปฏิบัติ...ในความหมายของการปฏิบัติที่แท้จริงที่ใช้ได้ตลอดเวลานี่อย่างเดียวคือรู้ๆๆ  รู้บ่อยๆ กลับมารู้ตัวบ่อยๆ  รู้ว่ามีอะไรอยู่ รู้ว่ากำลังเกิดอะไร รู้ว่าอะไรตั้งอยู่ รู้ว่ายินดี รู้ว่ายินร้าย รู้ว่าอยากรู้ว่าไม่อยาก  รู้มันเข้าไป ขณะนี้มันเป็นยังไง

ไม่ต้องแก้อะไรน่ะ  เอาเป็นว่าเราไม่แก้อะไรทั้งสิ้น ตอนนี้เก็บข้อมูลอย่างเดียว ว่าตอนนี้ ชีวิตประจำวันทั้งวันนี่ มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ...ซึ่งทั้งวันนี่เราไม่รู้เลย ไม่เห็น  มันมีแต่ไปกับมัน ไปเป็นกับมัน ไปร่วมกับมัน  ถูกมันกระหน่ำ ดึงผู้รู้ให้หายไป กับบุคคล กับวัตถุ กับความคิด กับอดีต กับอนาคต กับอารมณ์ กับสุข กับทุกข์ กับยินดี กับยินร้าย โดยไม่รู้เลย...รู้อยู่ไหน

ไม่มีรู้เลย ... เรียกว่าหลงตลอดวันตลอดคืนตลอดชาติ จนหลายๆ ชาติ จนนี่ผ่านมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  แล้วก็ยังจะหลงอย่างนี้ต่อไปอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  ถ้าไม่ฝึกกลับรู้..เห็น รู้..เห็น แยกใจออกมาจากอาการด้วยสติ 

ได้น้อยเอาน้อย ได้มากเอามาก ได้ตลอดเอาตลอด...ตามกำลัง  แต่อย่าทิ้งให้มันเลื่อนลอยไหลไปกับอาการโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรเลย ...ทุกข์ก็ทุกข์จนหัวปักหัวปำ เครียดก็เครียดอยู่นั่นแหละ  แล้วพอเครียดแล้วก็อยากออกจากเครียด

เครียดแล้วก็อยากออกจากเครียด ทุกข์แล้วก็อยากออกจากทุกข์ ทุกข์แล้วก็... จะทำไงให้หายทุกข์ จะทำไงๆ มีแต่อย่างนั้นน่ะ  รู้อยู่ไหนอ่ะๆ ...  ถ้าอยากออกจากทุกข์ จะต้องเห็นรู้ก่อน จึงจะเริ่มเห็นทางออกจากทุกข์   ไม่ใช่ทุกข์แล้วก็.. จะทำยังไงๆ ให้หายทุกข์ จะทำยังไงกับมันดี จะแก้ยังไง จะวางจิตยังไง เอ้ หรือต้องยังงั้นดีมั้ย อย่างนี้ ...ไม่มีประโยชน์

ไม่มีประโยชน์ในการที่จะคิดไปแก้ทุกข์เลย หรือหาทางวิธีอะไรจัดการกับทุกข์เลย ...แต่ในการเจริญสติ  ฝึกง่ายๆ ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ...อดทนหน่อย ...ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องหาวิธี  รู้ว่าทุกข์ รู้ว่าเครียด  แล้วให้สังเกตอยู่ที่รู้...อยู่ตรงนั้น 

ถ้าไม่สังเกตอยู่ที่รู้ หรือตั้งไว้อยู่ที่รู้  เดี๋ยวมันจะคิดไปเรื่อย เดี๋ยวมันจะออกไปคิดอีกแล้ว  แล้วส่วนมากพอเวลาคิดนี่ เราจะไม่ทันมันหรอก  จะไม่ทันกับความคิด  พอมันคิดหนึ่งปุ๊บ มันจะออกไป...เลื่อนออกไปเป็นห้าหกเจ็ดแปดสิบยี่สิบสามสิบร้อย...ทวีคูณเลยความคิดนี่

เพราะว่ามันไม่ตั้งมั่นอยู่ที่รู้  ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์...แล้วอยู่ที่รู้  อยู่ที่รู้อยู่ที่เห็น อยู่ที่ผู้รู้ผู้เห็นนั่นแหละ  อย่าไปอยู่ที่ผู้ทุกข์ ผู้เครียด ผู้กังวล ผู้ฟุ้งซ่าน ...ไอ้ผู้เครียด ผู้กังวล ผู้ฟุ้งซ่าน ผู้ไปผู้มา ผู้ไปในอดีต ผู้ไปในอนาคต  ไอ้ผู้พวกนี้ไม่ใช่ผู้ตามความเป็นจริงอะไรหรอก มันเป็นผู้อะไรก็ไม่รู้  มั่วซั่วไปหมด เอาแน่นอนไม่ได้

กลับมาอยู่ที่ผู้ที่รู้ผู้ที่เห็น ...ไอ้ผู้ที่รู้ผู้ที่เห็นน่ะ เออ พอจะจับต้องได้ พอจะตั้งมั่นอยู่ได้  เพราะมันไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมันมีอยู่ เพราะมันไม่หายไปไหน  มันไม่ขึ้นมันไม่ลง มันมีอยู่ ผู้ที่รู้ผู้ที่เห็น นั่นแหละ อยู่ตรงนั้นมากๆ

แต่ว่าเบื้องต้นน่ะ ถ้าไม่มีสติ มันจะไม่มีผู้รู้ผู้เห็น  มันก็ต้องเจริญสติขึ้นมาก่อน  นั่ง...รู้มั้ยว่านั่ง เห็นมั้ย รู้มั้ย  นั่น เพราะนั้น นั่งก็เลยเป็นหนึ่ง นั่งเลยเป็นอาการนึง ใช่มั้ย  แล้วก็รู้ว่านั่งเป็นอีกอาการนึง ใช่มั้ย  รู้ว่านั่งเป็นอีกอาการนึง 

คิด...รู้มั้ยว่ากำลังคิด กังวล...รู้มั้ยว่ากำลังกังวล สงสัย...รู้มั้ย ลังเล...รู้มั้ย งง...รู้มั้ย  รู้มั้ย  เห็นมั้ย มันมีรู้อีกตัวนึงที่รู้อยู่...ว่างงเป็นอาการ ตรงไหนเป็นอาการ นั่งก็เป็นอาการ ...แล้วมีใครล่ะ เห็นมั้ย มันมีอีกอันที่รู้ เป็นอาการที่รู้อยู่...มันมีตลอด

แต่ว่าเราจะไม่เห็นอาการคู่นี้เลย ถ้าเราไม่มีสติ  คือ หาย...ไปไหนไม่รู้ ไปไหนแล้ววะ  ทำอะไรก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว คิดก็เพลินไปกับความคิดน่ะ  เมา...เมาไปกับความคิด เขาเรียกว่าเมา  เมาไปกับอารมณ์ เมาไปกับเสียง  ฟังเพลงนี่ก็เคลิ้ม ไหล เพลิน  ในขณะที่ฟังเพลงก็คิดปรุงแต่ง นึกถึงอารมณ์เพลง  ระหว่างนั้นน่ะ เขาเรียกว่าหลง ไม่มีรู้เลย

ไม่มีรู้เลยว่ากำลังเป็นยังไง เห็นมั้ย อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีสติ  พอไม่มีสติเมื่อไหร่...รู้หาย ผู้รู้ผู้เห็นหาย  เหลือแต่ผู้หลง ผู้หลงไปมี ผู้หลงไปเป็นในอาการทั้งหก เสียง รูป กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ความคิด  กลายเป็นผู้ที่หลงไปอยู่ในอาการทั้งหก หรือว่าหลงไปในผัสสะทั้งหก 

แต่พอมีสติ ปุ๊บ...รู้ว่าได้ยิน ปุ๊บ...รู้ว่าเคลิ้ม ปุ๊บ...รู้ว่าสนุก ปุ๊บ...รู้ว่าพอใจ รู้ว่าไหลไป รู้ว่าเผลอ ใช่มั้ย  พอมีสติปั๊บมันจะเห็นเป็นสองอาการทันที  แต่มันไม่ค่อยตั้งมั่นน่ะ รู้ปั๊บหายปุ๊บ รู้ปั๊บหายปุ๊บๆ  หายใหม่ ไหลใหม่ เพลินใหม่  กว่าจะมารู้อีกที อุ๊ย เป็นชั่วโมง อุ๊ย เป็นวัน เฮ้ย หลายวันเลยไม่รู้อะไรเลยเนี่ย

ก็ต้องเจริญสติขึ้นมาบ่อยๆ  แล้วก็ให้ย้ำอยู่ตรงที่รู้ สังเกตดู อยู่ที่ผู้รู้ผู้เห็นน่ะ มันจะได้ตั้งมั่นอยู่นานๆ หน่อย  ไม่งั้นมันมาแค่ เหมือน...เหมือนแสงหิ่งห้อยน่ะ แพล็บๆๆ แปล๊บ หายไปแระ แล้วก็ดับไป  ผู้รู้หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้  

กลายเป็นผู้หลง ผู้ไหล ผู้เผลอ ผู้เพลิน  ผู้ไปๆ มาๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ผู้คิดไม่รู้จักหยุด ผู้กังวลไปในทุกที่ทุกบุคคล ผู้ที่เป็นทุกข์แทนโลกทั้งโลก ผู้ที่เป็นทุกข์แทนผู้อื่น ผู้ที่เอาเรื่องคนอื่นมาเป็นทุกข์  อะไรก็ไม่รู้ หาสาระแก่นสารอะไรกับมันก็ไม่ได้ 

แต่จริงจัง...จริงจังอยู่ในความคิดนี่  รบราฆ่าฟันอยู่ในความคิดเนี่ย  ตัวเรานี่ตายไม่รู้กี่รอบในความคิด เจ็บปวดเวทนาไม่รู้จักกี่รอบ ... แต่ไม่มีสาระ เพราะไม่มีความจริงอะไรในนั้นเลย  ตัวก็ยังนั่งอยู่ตรงนี้แท้ๆ แต่ทำไมไปทุกข์ในความคิดก็ไม่รู้ ทำไมไปทุกข์กับในอารมณ์ก็ไม่รู้  หลังจากนั้นพอไม่มีสติ มันหลงหมดเลย

อยากรู้จักวิธีการปฏิบัติ ...ไม่ต้องทำอะไรให้มากหรอก อะไรเกิดขึ้นให้รู้  แล้วก็ให้รู้ ให้เห็น ให้สังเกตดูอาการว่า อ๋อ ขณะที่รู้อยู่นี่มันมีสองอาการ ทุกข์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง คิดอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง สบายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง

เห็นมั้ย  รู้ไม่ใช่คิด...คิดไม่ใช่รู้ สุขไม่ใช่รู้...รู้ไม่ใช่สุข ทุกข์ไม่ใช่รู้...รู้ไม่ใช่ทุกข์  คนละตัวกัน  ทุกข์ส่วนทุกข์...รู้ส่วนรู้ กายส่วนกาย...รู้ส่วนรู้  นั่งส่วนนั่ง...รู้ส่วนรู้ เดินส่วนเดิน...รู้ส่วนรู้  เห็นมั้ย มันมีสองอาการอยู่อย่างนี้ 

จนมันเห็นได้ในทุกสภาวการณ์น่ะ ทุกสภาวะธาตุของกายที่เคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหว ทุกสภาวะที่เป็นนาม  พอมีสติปุ๊บมันแยกออกมาจากรู้ได้ทันที มีใจแยกออกมาทันทีเลย  มันเป็นแค่อาการ ทั้งหลายทั้งปวงมันแค่อาการหมดเลย

แต่ถ้าไม่มีสตินะ ไปขุดไปหาผู้รู้ไม่เจอหรอก หรือไปสร้างขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่ ไปทำขึ้นก็ไม่ใช่ ไปกำหนดขึ้นมาก็ไม่ใช่  ...ก็ของมันมีอยู่แล้ว จะไปทำขึ้นมายังไง ... มันก็แค่กลับมารู้ กลับมาระลึกรู้ในปัจจุบันปุ๊บนี่ มันก็เห็นแล้วเป็นสองอาการ 

และต้องมีความขยัน ...อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจรู้ อย่าขี้เกียจมีสติ อย่าขี้เกียจ  เอาแบบสะเพร่า ลวกๆ พอแระ รู้แค่นี้พอแระ วันนี้ก็รู้ตั้งเยอะแระ พอแระ  ปล่อยให้มันเพลินไป สนุกไป ไหลไปซะบ้างก็ได้’ ... ไม่เอา

ถ้าตั้งใจจะปฏิบัติ อย่ามาลูบๆ คลำๆ จะไม่เห็นผลอะไรหรอก  จะเห็นผลอย่างเดียวคือเอาเก็บไว้พูดกันคุยกันในสภาวะที่เคยเห็นนิดๆ หน่อยๆ  ในสภาวะที่เข้าใจนิดๆ หน่อยๆ  แต่เวลามันพูดมานี่มันเกินนิพพานขึ้นไปอีก

ไอ้ลูบๆ คลำๆ นี่ไม่เอา ถ้าทำต้องจริง เจริญต้องจริง สติต้องจริง ...อย่าทิ้งอย่าขว้าง อย่าปล่อย อย่าละเลย อย่าประมาท อย่าคิดว่าพอแล้ว แค่นี้เอง เข้าใจแล้ว แยกได้แล้ว รู้แล้ว เข้าใจพอสมควรแล้ว ... ยังทิ้งไม่ได้

ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร เฉยๆ ก็ต้องรู้ว่าเฉยๆ  ไม่งั้นมันก็เข้าไปนอนเนื่อง ปนกันอยู่นั่นอีก  แล้วมันก็จูงเราไหลออกไปเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะออกไป พาเราขึ้นเขาลงห้วยกระโดดตึกกระโดดเหว  ไปได้หมดอาการนี่  กับใจที่ว่าไม่มีอะไร...ไม่มีอะไรนี่แหละ  มันก็เริ่มจากตรงนั้นแหละ แล้วก็เผลอเพลินปล่อยประมาทออกไป 

ไม่มีอะไรก็รู้ มีอะไรก็รู้  จนมันเหลือแต่รู้เปล่าๆ อ่ะ  ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด อยากจะผลักมันออก อยากจะให้มันหายไปมันก็ไม่หายอ่ะ  เออ อย่างนี้ค่อยคุยกันได้  ยืนก็รู้ นั่งก็รู้ เดินก็รู้ มันรู้ของมันเองเลยโว้ย  มันเห็นอยู่ตลอดเลย ไม่ว่าทำอะไร ไม่ว่าคิดอะไร ไม่ว่ากังวล ไม่ว่าสุขไม่ว่าทุกข์ มันก็รู้อยู่เห็นอยู่อ่ะ ...อย่างนั้นค่อยคุยกัน

แต่ถ้ารู้แบบเกิดๆ ดับๆ ไม่ใช่รู้เกิดดับนะ  ไอ้ตัวรู้น่ะไอ้ตัวรู้มันเกิดๆ ดับๆ ผลุบๆ โผล่ๆ อย่างนี้...อย่าเพิ่งคุย อย่าเพิ่งเสียเวลาคุย อย่าเพิ่งเสียเวลาปล่อยเผลอเพลิน  ต้องกลับมารู้อีกๆๆ ย้ำลงไป  รู้อีกๆๆ เห็นอีก  รู้อีกเห็นอีก  เอาเหอะ อย่าเบื่อ อย่าขี้เกียจ อย่ากลัวว่ามันจะมากไป

กลัวมันหายดีกว่า  กลัวจะกลับไปเป็นผู้หลง ผู้เมา ผู้เผลอ ผู้เพลิน ผู้ไปๆมาๆแบบไม่มีร่องมีรอย เหมือนนินจา ว้อบๆแว้บๆ  ว้อบๆ แว้บๆ  มันจะกลายเป็นคนไม่จริงจัง กลายเป็นคนที่ไม่เด็ดเดี่ยว ไม่มั่นคง  อย่างนั้นผลมันจะได้ไม่เต็มรูปแบบของมรรค

เจริญเข้าไปให้เยอะที่สุดยิ่งดี...มรรคน่ะ  เจริญรู้อ่ะ เจริญสติ  อะไรเกิดขึ้นให้รู้  ยืนก็รู้ นั่งก็รู้  อย่าปล่อย อย่าไปเอาความเผลอความเพลินเป็นวิหารธรรม ไปนอนเนื่องอยู่กับมัน  ให้เอากายเวทนาจิตธรรมเป็นวิหารธรรม...เป็นที่อยู่กับรู้

ไม่มีอารมณ์ ดูอารมณ์ไม่เป็น ดูอารมณ์ไม่ออก ...กายมีตลอดเวลา มันขยับ มันไหวมันนิ่ง มันเจ็บ มันหนาว มันร้อน มันปวด รู้เข้าไว้  แล้วเห็นว่าปวดอันนึง...รู้อันนึง เย็นอันนึง...รู้อันนึง นั่งอันนึง...รู้อันนึง ไหวอันนึง...รู้อันนึง เคลื่อนไหวอันนึง...รู้อันนึง เฉยๆ อันนึง...รู้อันนึง

เห็นมั้ย กายมันมีอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปทำอะไรกายขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องไปจัดท่าจัดทางอะไรมันใหม่หรอก ...ดูตรงนี้ก็เห็น ดูในอีกห้านาทีข้างหน้าก็เห็น ดูขณะต่อมาก็ยังเห็นกาย  

กายมันมีอยู่ตลอด  ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะไม่เห็น จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติยังไง จะไม่รู้ว่าจะตั้งจิตอยู่ตรงไหน  ก็เอาสติไปตั้งกับกายนั่นแหละ รู้มันเข้าไป ดูมันเข้าไป  มันกำลังทำอะไรอยู่ ขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว นิ่ง รู้เข้าไป  ไม่ต้องกลัวว่าจะรู้มากเกินไป

จนปรากฏสภาวะใจเด่นชัด ชัดเจนขึ้นมาของมันเอง  ความเข้าใจ ความเห็นตามความเป็นจริง ความยอมรับตามความเป็นจริงในสิ่งที่ถูกรู้ มันก็จะชัดขึ้นเรื่อยๆ  มันชัดว่ามันไม่มีอะไร หาความแน่นอนไม่ได้  หาความเป็นเรา หาว่าเป็นของเรา หาความเป็นตัว หาความเป็นตน หาความเป็นสาระ หาความเป็นแก่นเป็นสารไม่ได้เลย

นั่นแหละ มันเห็นความเป็นจริงอย่างนั้นแหละ ความเป็นจริงที่มันจะชัดขึ้น คืออันนั้นน่ะ  ชัดว่าอาการคืออาการ ไม่เห็นมีอะไรเลย  เป็นเหมือนหมอกเมฆพยับแดดยิบๆ ยับๆ ไม่มีชีวิตจิตใจ  เวลามันจะตายจะแตกจะดับ ไม่เห็นมันร้องแรกแหกกระเฌอเลย 

ถ้ามันมีชีวิตเหมือนเรา เวลาเจ็บปวดมันก็ต้องมีเวทนาร้องไห้สิ  แต่ตัวความคิดเวลามันจะดับไม่เห็นมันจะร้องไห้ หรือมีเวทนามีจิตมีใจในตัวมันเลย  มันก็ดับไปหน้าตาเฉยเหมือนกับสิ่งของที่แตกดับไป  
เหมือนแก้วแตกอย่างนี้ มันร้องมั้ย  แก้วนี่เหมือนมันมีวิญญาณสิงอยู่ในตัวมันมั้ย ...ในความคิดก็ไม่มีอะไรสิงอยู่ในตัวมัน ไม่มีชีวิตความเป็นตัวเป็นตนเลย นั่นคือเรียกว่าขันธ์ไม่มีตัวไม่มีตนหรอก

ขันธ์ไม่มีเป็นตัวเป็นตนหรอก  ถ้ามันมีเป็นตัวเป็นตนมันจะต้องแสดงอาการต่อต้าน ขัดขืน เดือดร้อน กระวนกระวายในตัวมันสิ  นี่ไม่เห็นจะแสดงอาการอะไร  มีแต่เรานั่นแหละเข้าไปสำคัญมั่นหมายกับมันเอง  ไปคิดว่าความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด  ความคิดของเรา ความเห็นของเรา ความรู้สึกของเรา อารมณ์ของเรา

เมื่อคิดว่าเป็นอารมณ์ของเรา...เวลามันจะดับ เวลามันจะเกิดก็เลยเดือดร้อน  เดือดร้อนว่าอารมณ์เราแย่แล้ว อารมณ์เราดีแล้ว  นี่เขาเรียกว่าหลงเข้าไปในอารมณ์ ใจมันหลงเข้าไปในอารมณ์ 

ทำยังไงถึงไม่ให้หลงเข้าไปในอารมณ์ ...ก็มีแต่รู้อย่างเดียว  แยกรู้ออกมาจากอารมณ์  ... กังวล เรากังวล กับรู้ว่ากังวล คนละสภาวะกันแล้ว  แต่พอรู้ว่ากังวลนี่นิดหนึ่ง เดี๋ยวมันก็กังวลต่อ เรากังวลต่อ  ขี้เกียจรู้อีกแระ กังวลกับมันซะดีกว่า  นี่คือสันดานของความหลงในอาการ มันติดแนบแน่นเลยนะ

นี่คือความเห็นผิดน่ะ  เราไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ แต่มันเป็นอย่างนี้  เพราะฉะนั้นเราจะต้องเพียรสร้างปัญญาด้วยการเจริญสติ รู้อีก รู้ว่ากังวล  พอรู้ว่ากังวลนี่ กังวลเป็นสิ่งนึงเลย รู้อีกสิ่งนึง แยกออกแล้ว  แต่เดี๋ยวก็กังวลอีก เหลือแต่กังวลน่ะมันก็คือกังวลอีกแล้ว  เป็นว่าเรากังวลอีกแล้ว  รู้อีก รู้ว่ากังวลอีก แยกเป็นสองอย่างอีก

รู้อย่างนี้บ่อยๆ  อย่าไปนอนเนื่องกับอาการ อย่าไปยุ่ง อย่าไปแก้  เมื่อรู้แล้วก็รู้เฉยๆ อยู่ที่รู้เฉยๆ อยู่ที่รู้ๆ  ไม่ใช่ว่าพอรู้ว่ากังวลแล้ว เอ จะทำยังไงกับมันดี’  นี่ ออกไปอีกแล้ว ออกไปยุ่งกับมันอีกแล้ว ...ทำยังไงถึงจะให้หาย ทำยังไงถึงจะให้มันดับ  เห็นมั้ย แค่คิดต่อไปว่าทำยังไงให้มันเป็นอย่างนี้ ... รู้หายไปแล้ว  

ก็กลับมารู้อีก ว่า...เอ๊อะ ยุ่งกับมันทำไม พอจะไปแก้...รู้อีก กำลังจะไปแก้...รู้อีก  ถึงจะเรียกว่าสติต้องเจริญในทุกอาการ  มันจะไปมันจะมายังไงต้องเท่าทันน่ะ  พอเท่าทันปุ๊บมันแยกออกมาเป็นใจรู้อย่างเดียว อาการส่วนอาการ  ไม่งั้นมันจะดึงเข้าไปหากันอยู่ตลอด เข้าไปรวมเข้าไปผสมเข้าไปกลมกลืนกับอาการที่ปรากฏต่อหน้าเบื้องหน้า

นั่นมันคุ้นเคยน่ะ มันเคยชิน มันถือว่าเป็นธรรมดา คนเขากังวลอย่างนี้ เราก็ต้องกังวล ถึงจะคุยกันรู้เรื่อง มันก็เลยปล่อยให้มันไหลไป...หลงไปตามอารมณ์ หลงไปตามความรู้สึก หลงไปกับอดีต  

เวลานั่งคุยกันนี่ มันไม่เคยคุยในปัจจุบันเลย มันคุยแต่ว่า วันพรุ่งนี้ วันนั้น คนนั้นคนนี้เขาทำอย่างนั้น ไอ้นี่เขาเคยทำมาอย่างนั้น ดาราคนนั้นมันเป็นอย่างนั้น นักร้องคนนี้มันเป็นอย่างนี้ และเราเดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะทำอย่างนั้น งานเราข้างหน้าต่อไปจะเป็นยังไง การเรียนเราจะเป็นยังไง

มันมีแต่อดีตกับอนาคตทั้งสิ้นเลยนะ เห็นป่าว คุยกันแต่เรื่องไม่จริงน่ะ  แต่สนุก ยิ้ม เฮฮา เหมือนคนบ้า บ้าไปกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนเลย  แล้วคุยกันรู้เรื่องด้วย มีอารมณ์ร่วมกัน หลงร่วมกัน อุปาทานหมู่ร่วมกัน ในโลกนี่เขาอยู่กันอย่างนี้ ชีวิตคนบนโลก อยู่กับสิ่งที่ไม่มีความเป็นจริงแล้วก็ไร้สาระ  แต่เข้าใจว่าจริงแล้วก็มีสาระทั้งหมดเลย

มันจะรู้สึกว่าจริงแค่ตอนที่มันเจ็บปวดทุกขเวทนา มันก็จะมีสติธรรมชาติเกิดขึ้นครั้งนึงว่า ปวด เดือดร้อน กังวล ทุกข์ ...รู้ ตอนนั้นน่ะรู้นะ แต่พอรู้ปุ๊บ...โง่อีก คือไม่มีปัญญา รู้แล้วก็บอกว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นนะ ทำยังไงถึงจะแก้มันได้วะ เราต้องหาทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้ทุกข์อันนี้เกิด คิดไปอีกแระ คิดต่อไปข้างหน้า ...มันไม่มีปัญญา

ถ้ามีปัญญาก็...สติปัจจุบันเกิดแล้วนะ มาเองนะนั่นน่ะ  สติที่เกิดจากทุกขสัจ มันหวน...ให้กลับมาเกิดการระลึกรู้ขึ้น  แต่ด้วยความที่ไม่มีปัญญา...กลับจะไปเอาชนะ แก้มัน แทรกแซงมัน

คือธรรมดาของกูน่ะ คือกูโง่อยู่แล้วอ่ะ พอมีแสงแห่งปัญญาให้เกิด กูก็จะโง่อีก...คือมันจะหลงไป ทำยังไงถึงให้หาย เอาความคิดมาเป็นตัวตัดสินปัญหา แก้ปัญหา แล้วก็มีการปฏิบัติการกระทำ อย่างงั้นอย่างงู้นอย่างงี้

พอทุกข์เพราะคนด่า เราก็แก้ทุกข์เลยแบบ กูด่ามันเลยให้มันเจ็บกว่าเรา แล้วเรารู้สึกสบายใจ นี่ มันแก้อย่างนี้ แก้แบบไม่มีปัญญา แก้แบบสร้างเงื่อนไขไปทั่ว แก้แบบไปสร้างไปฝากรอยแผลไว้กับทุกสิ่ง มันจึงก่อให้เกิดความผูกพันไม่รู้จักจบสิ้น

มีการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ เอาคืนกันไปเอาคืนกันมาอยู่นั่น ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณครอง ทั้งสิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง  เราเลยกลายเป็นลูกหนี้เขาหมดแหละ เป็นลูกหนี้ของทุกสรรพสิ่ง  มันก็ต้องมาชดใช้คืนเขา เป็นหนี้ต้องชดใช้

เพราะทำไป หลงไปในอาการ ด้วยปัญญาเท่าหางเต่าน่ะ แต่มันคิดว่ามีปัญญา  แต่เป็นปัญญาที่ไม่ได้ออกจากทุกข์โดยสมบูรณ์ หรือปัญญาที่เห็นทุกข์แล้ววางทุกข์ตามความเป็นจริง...ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน มันจึงแก้ไม่รู้จักจบ ยิ่งแก้ยิ่งติดๆ ยิ่งทำยิ่งติด 

พอเริ่มมาปฏิบัติก็เอานิสัยเดิมๆ มาใช้ กูจะทำยังไงให้จิตมันดี ปฏิบัติยังไงให้มันสงบอย่างเดียวตลอดชาติ ไม่มีอารมณ์ หรือปฏิบัติยังไงให้เกิดรู้ความเป็นจริง มีความเห็นที่ตรงที่สุดเลย ไม่เปลี่ยนแปลง’ ... จะทำขึ้นมาอีกแระ จะหามาใหม่อีกแระ

มันจะเอาแบบลัดๆ ลวกๆ เหมือนวัยรุ่นใจร้อน  ถ้าด้วยความละเอียดแยบคายค่อยเป็นค่อยไป รู้สึกมันผิดสารบบของกูว่ะ ของใจกิเลส  มันอยากได้เร็วๆ มันอยากแบบกระโดดพั๊บ ข้ามพึ๊บ หลุดปุ๊บ เอาวิธีที่ตรงที่สุดนะ 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่เราแนะนำหรือเราสอน คือไม่ได้ให้ทำอะไรขึ้นมาใหม่  เราจะยืนยันเลยว่าสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏรอบตัว...ที่เราเห็น ที่เรารู้ ที่เราได้ยิน ที่เราคิด ที่เรามีความรู้สึก ...ทุกอย่างเป็นความจริงหมด เป็นธรรม  ไม่ต้องหา...มีอยู่แล้ว แสดงอยู่แล้ว

ไอ้ที่ต้องทำคือ เข้ามารู้เห็นมันเฉยๆ ด้วยสติ ระลึกรู้ว่าเดี๋ยวนี้ มันมีอะไรอยู่ มันเกิดอะไรขึ้น  แล้วไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ให้ยุ่งอยู่ที่รู้ ให้ยุ่งอยู่ที่รู้ที่เห็น กลับมาอยู่ที่รู้ที่เห็น  อย่าออกไปอยู่กับมัน อย่าไปผูกเสี่ยวกับมัน อย่าไปประกาศเป็นศัตรูกับมัน  ให้กลับมาอยู่ที่รู้..เห็น อย่างเนี้ย ถึงจะเรียกว่า สงบสันติและเป็นกลางอยู่ที่ใจ

รู้ ...สักแต่ว่ารู้ เห็น...สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน...สักแต่ว่าได้ยิน กลับมาอยู่เป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น ไม่ต้องไปหาอะไรเพิ่มน่ะ  ไม่ต้องไปสร้างสภาวะอะไรที่ว่ามันดีมันเด่ ที่เขาว่าดีเขาว่าใช่น่ะ  แม้กระทั่งไม่มีอะไร ไม่รู้อะไร ไม่เห็นมีอารมณ์อะไร ไม่รู้สึกอะไร...ก็ให้รู้ว่าไม่มีอะไร  ไม่ได้ให้อยู่ที่ไม่มีอะไร แต่ให้อยู่ที่รู้ว่าไม่มีอะไร

ให้อยู่ที่รู้ ให้เอารู้เป็นที่พึ่ง เอาใจเป็นที่พึ่ง เอาใจเป็นหลัก เอาใจเป็นที่ยึด เอาใจเป็นที่ตั้ง ...ไม่ได้เอาสิ่งที่นอกใจออกมาเป็นที่ตั้ง ที่ยึด ที่อยู่ ที่ยืน ที่หมาย ที่มั่น  อย่าไปเอาอะไรกับมัน แล้วก็อย่าไปรังแกมัน อย่าไปทำลายมัน อย่าทำร้ายมัน อยู่กันด้วยความสันติ

ต่างคนต่างอยู่ เขาก็อยู่ส่วนเขา เขาจะมีอะไรเกิดขึ้น เขาจะเป็นอย่างไร จะมีอารมณ์มีความรู้สึกอย่างไร จะเกิดอารมณ์จะเกิดความรู้สึกอย่างไร จะเกิดกิเลสมากกิเลสน้อย อาลัยหรือไม่มีอาลัยเกิด ก็ปล่อยให้เขาเป็นไปของเขา ให้อยู่ที่รู้...กับเห็น

แต่ก่อนที่จะอยู่ที่รู้ที่เห็นน่ะ มันจะต้องทำตัวรู้ตัวเห็นให้เกิดก่อน...ด้วยสติ  มันถึงจะแยกออกได้ว่านั่ง...แล้วใครรู้ว่านั่ง เดิน...ใครรู้ว่าเดิน  มันมีอีกตัวนึงที่รู้ว่าเดิน ที่รู้ว่านั่งน่ะ  คิด...แล้วก็ใครรู้ว่าคิด  เห็นมั้ย ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่มีนะ ตัวรู้น่ะ ผู้รู้น่ะ

เพราะฉะนั้นมันต้องมีสติบ่อยๆ มันถึงจะมีที่ตั้งให้มันอยู่ได้ คือตั้งอยู่ที่ผู้รู้ได้  แต่ถ้าไม่มีสติก็ไม่รู้จะไปตั้งอยู่ตรงไหนอ่ะ มันก็ไปตั้งกับความหลงน่ะสิ มันก็เลยกลายเป็นมิจฉาสมาธิ กลายเป็นมิจฉาสติไป กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป

คือไปเรื่อยเปื่อย ไปแบบสวะไหลเรื่อยลอยไป  คิดยังไงก็ทำอย่างนั้น แก้อย่างนั้นทำอย่างนี้ ทำอะไรไป  เอาความจำมาแก้ เอาความคิดมาแก้ เอาคำพูดความเห็นคนนั้นคนนี้มาช่วยกันแก้ แล้วก็ได้ผลอย่างนั้นแล้วก็บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ หรือว่าถูกหรือว่าผิด

แล้วก็ทำกันไป หลงไปกับการกระทำไม่รู้จักจบจักสิ้น วนเวียนๆๆๆๆ หาทางออกไม่ได้  เข้าไปจมอยู่ในมัน เข้าไปเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับมัน เข้าไปหล่อหลอมรวมกันกับมัน 

ขันธ์ กาย เวทนา ความคิด ความจำ เลยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจที่เป็นเราเลย ...แยกไม่ออก ดูไม่เห็น  แล้วแต่มันจะพาขึ้นพาลง ไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรทั้งสิ้นเลย

นี่คือความมืดบอด  ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นปกติ แต่มันอยู่ด้วยความมืดบอด ...อะไรคือมืดบอด ใจหายไปไหน ไอ้ใจหายไปไหนนั่นแหละคือความมืดบอด สติมันจึงระลึกรู้ให้จิตมันตื่นขึ้นมา ให้ใจมันตื่นรู้ รู้ตื่นขึ้นมา  

ตื่นขึ้นมาบ่อยๆ เถอะ แล้วก็ลืมตาไว้เถอะ ...เมื่อตื่นเมื่อลืมตาน่ะมันจะไม่แจ้งได้ยังไง มันจะไม่เห็นแจ้งไม่เห็นถูกได้ยังไง ... แต่ไอ้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปโดยที่ไม่ตื่นไม่ลุกขึ้นมา บอดอยู่ตลอดนี่ แล้วมันก็ว่ามันทำได้ มันก็รู้นะ มันก็ทำได้ทุกอย่างนะ ...แต่มันทำไปด้วยความมืดบอด  

มันไม่มีแจ้งหรอก มันไม่มีคำว่ารู้แจ้งได้เลย ...มีแต่รู้ไปสะเปะสะปะ ลูบๆ คลำๆ คาดด้นค้นเดา เชื่อกันไปเชื่อกันมา ว่ากันไปว่ากันมา ถูกบ้างผิดบ้าง ใช่บ้างไม่ใช่บ้าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็ถูกเดี๋ยวก็ผิด อยู่ดีๆ ก็ผิด อยู่ดีๆ ที่เคยถูกก็กลายเป็นผิด ไอ้ที่เคยผิดก็กลายเป็นถูก ...มันรู้แบบมืดๆ บอดๆ หลับๆ ไหลๆ มัวๆ เมาๆ

กับการที่กลับมารู้ตื่นอยู่ แล้วก็ให้มันตื่นตา ตาในมันตื่นขึ้น ใจมันตื่นขึ้นตลอดสิ  ไม่ต้องกลัวไม่แจ้งหรอก ไม่ต้องกลัวว่าไม่เห็นความเป็นจริงหรอก ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาหลอกได้หรอก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เห็นหนทางเดินหรอก ...เหมือนคนลืมตาเดินกับคนหลับตาเดิน

ไม่ต้องกลัวว่าไอ้รู้แค่เนี้ย โกรธก็รู้ เสียใจก็รู้ ดีใจก็รู้ กังวลก็รู้ ...ไม่ได้ไปละ ไปเพิกถอนตัดมันเลย อะไรมันเลยเนี่ย มันจะไปได้มั้ย มันจะถูกมั้ย มันจะผิดมั้ยเนี่ย..ไม่ต้อง  ให้มันรู้ตื่นอยู่นี้ เหมือนกับลืมตาเดินน่ะ

เดินไปเถอะ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหลุดออกนอกหนทางหรอก ไม่ต้องกลัวว่ามันจะตกร่องตกคูตรงไหน หรือไปตกหล่มตรงไหนหรอก  ก็ลืมตาแล้วน่ะ...ด้วยสติ มันตื่นด้วยสติ รู้อยู่ภายใน รู้เห็นอยู่ รู้เห็นทุกอาการที่ปรากฏ...ถึงจะเรียกว่าปัญญา

ปัญญาไม่ใช่ความรู้ ปัญญาไม่ใช่ไปหาความเป็นจริงในสิ่งที่ถูกรู้  แต่ปัญญาคือเห็นว่าทุกสิ่งในโลกนี้ มันเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ แล้วมีใจรู้ ... แต่ละคนน่ะมีใจอีกดวงนึงที่รู้อยู่ภายใน เป็นผู้รับสัมผัสกับสิ่งนั้น แค่นั้นเองถึงจะเรียกว่าปัญญา มีความรู้แค่นี้เอง พอแล้ว ไม่ต้องรู้ที่มาที่ไปของอาการเลย

เพราะอะไรฝนมันถึงตก เพราะอะไรฝนมันตกไม่รู้จักหยุด...จำเป็นต้องรู้มั้ย  ‘แล้ววันนี้มันตกไม่เท่ากับเมื่อวานนี่ ทำไมมันถึงไม่เหมือนกัน’…จำเป็นต้องรู้มั้ย 

แต่ถ้าเรามองว่า เออ มันก็แค่สิ่งหนึ่ง ก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา  รู้ก็ตาม...ไม่รู้ก็ตามว่าเพราะอะไร ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ไม่ได้ขัดขวางความเป็นจริง...ว่าไม่เห็นความเป็นจริง หรือไม่เข้าใจความเป็นจริงว่าเป็นจริง 

ก็มันเป็นแค่เรื่องของมันที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้วน่ะ จะต้องไปรู้รายละเอียดมันทำไม  ไม่งั้นเราก็ต้องไล่จับทุกรายละเอียดของอารมณ์ที่ปรากฏ เอ๊ะ เมื่อกี้ไม่มี ทำไมตอนนี้มันมี มันมีได้ยังไง มันมาทางหูทางตาหรือทางความคิดความจำวะ หรืออะไรวะ หรือว่าคนอื่น หรือว่าเป็นกระแสของคนอื่น หรือว่าอย่างนั้น  เอาล่ะ

สิ่งที่ถูกรู้คือสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ต้องไปหาความเป็นจริงอะไรกับมันหรอก  แค่ว่าเห็นความเป็นจริงว่ามันคือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็มีตัวที่รู้อีกตัวนึงคือใจ  รู้แค่สองอาการ นี่จึงจะเรียกว่า เป็นเบื้องต้นของสัมมาทิฏฐิ ...มีความเห็นเดียว เป็นแค่ความเห็นเดียว ไม่มีความเห็นอื่นเลย ไม่ต้องหาความเห็นอื่นความรู้อื่น มีความรู้ความเห็นอยู่แค่เนี้ย

ใครเขาจะว่าโง่ ใครเขาจะว่าไปไม่รอด ใครเขาจะว่าผิด กูไม่รู้...รู้ตรงนี้ มีความเห็นอันเดียว แล้วก็ตรวจสอบเอาเอง ทดสอบเอาเอง ว่ารู้แค่นี้แล้วเป็นยังไง รู้แค่นี้...ทุกข์มันมากขึ้นหรือทุกข์มันน้อยลง

ตรวจสอบเอาเอง อย่าไปฟังคำพูดคนอื่น อย่าไปฟังความเห็นคนอื่น เอามาเป็นตัวตัดสิน  อยากรู้อยากตัดสินใจ อยากทดสอบว่าถูกหรือผิด ใช่มั้ยใช่ ลองรู้แค่นี้พอซิ ทำดูสิ  

อย่าเปลี่ยนเพราะเชื่อว่าคนนั้นเขาบอกว่า เพราะเชื่อในฐานะที่คนพูดเขามีฐานะว่า เพราะเชื่อว่าเขาเอาสิ่งที่พูดมาจากที่เขาบอกว่ามาจากนั้นมาจากนี้ ทำให้เราออกจากความเห็นหนึ่งอันนี้...ด้วยความกลัว ด้วยความปฏิฆะ ด้วยอะไรก็ตาม คติทั้งหลาย

ตั้งมั่นโง่เข้าไป ตั้งมั่นโง่ในรู้อันเดียว รู้แค่นี้  เห็นมั้ย รู้อย่างเดียวนี่ คนในโลกเขาบอกว่าโง่ ต้องรู้มากๆ ต้องมีความรู้เยอะๆ ต้องมีความเข้าใจ เห็นโน่นเห็นนี่ มันเข้าใจไปหมด อธิบายพูดมาบางทีฟังนี่ไม่รู้มันเอาอะไรมาพูดกันนักกันหนา มันรู้มากจริงๆ

เก่งจริงๆ เพ้อเจ้อจริงๆ เราว่านะ แต่เขาก็ว่าดี แต่เราว่าเพ้อเจ้ออะไรวะ หาร่องหารอยไม่ได้ พูดมาธรรมยาวเหยียด  สุดท้ายขณะที่พูดมันยังไม่รู้เลยใจอยู่ไหน

ก็กลับมารู้แค่นี้แหละ พอแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ลองดู  ท้าให้พิสูจน์ ...พระพุทธเจ้านะท้านะ อาตมาไม่ได้ท้า  ถ้าจะทะเลาะก็ไปทะเลาะกับพระพุทธเจ้า เพราะอาตมาก็เป็นลูกศิษย์ท่าน  พวกเราก็เป็นลูกศิษย์ท่านทั้งนั้นแหละ

พระพุทธเจ้าก็เขียนไว้ โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหีติ  วิญญูชนเท่านั้นแหละ ต้องมาท้าพิสูจน์ดู จึงจะรู้เป็นปัจจัตตัง ... ไม่ใช่รู้ด้วยจินตา ไม่ใช่รู้ด้วยความเห็นใดความเห็นหนึ่งของคนใดคนหนึ่ง  

แต่ท่านบอกว่าให้โอปนยิโก จนกว่าจะเป็นปัจจัตตัง แล้ววิญญูหีติ จึงจะเข้าใจเองน่ะ  รู้เอง เห็นเอง เนี่ยท่านท้าอย่างนี้นะ  ท้ามาสองพันห้าร้อยกว่าปี  แต่คนกล้าลงประลองท้าแข่งกับท่าน...มีนับคนได้ 

เพราะทั่วไปแต่ละคนมันเป็นศาสดาหัวแหลม มันคิดเองเออเอง คาดเอา เดาเอาว่า ความน่าจะเป็น ต้องทำอย่างนี้ถึงจะได้ ต้องทำอย่างนี้ถึงจะใช่ง แล้วก็เชื่อๆๆ สืบทอดกัน once upon a time เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เขาบอกมาว่าต้องทำอย่างนี้...ก็เชื่อ ไอ้เชื่ออย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่าหลง งมงาย โง่งมงาย

คนละความหมายกับเราที่ให้โง่อยู่ที่รู้อันเดียว  แต่นั่นมันโง่งมงายกับหลายรู้ ไอ้หลายรู้นั่นคือหลายใจ คนหลายใจ  คือคนที่อยู่นอกใจมันจึงหลายใจ เมื่อหลายใจมันก็หลายจิต หลายจิตมันก็หลายอารมณ์ มันก็หลายความเห็น มันก็หลายความรู้สึก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คลุ้มๆ คลั่งๆ

ไอ้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สภาวะนั้นเกิดสภาวะนี้เกิดน่ะ ภาษาเขาก็พูดดีนะมีสภาวะเกิดมากมาย  เราบอกมันคลุ้มๆ คลั่งๆ บ้าๆ บอๆ  อยู่กับคนไม่บ้าดิ คืออยู่กับคนที่รู้อันเดียวไม่คลุ้มๆ คลั่งๆ  ดูทีไรก็มีแต่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็มีแค่รู้  ไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยววันนี้ก็หน้าบาน เดี๋ยววันนี้ก็หน้าแฟบ เดี๋ยววันนี้ก็ห่อเหี่ยว เดี๋ยววันนี้ก็เสื่อม เดี๋ยววันนี้ก็โอ้โห วันนี้เจริญ

แต่ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นให้มาอยู่ที่รู้อันเดียว เห็นมั้ย โง่ๆๆ โง่อยู่ในรู้อันเดียว  ดูเหมือนโง่...ไม่รู้อะไร ไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร  ใครเขามี เขาเป็น เขาว่า โหย เขามีอันนั้น เขารู้อันนี้ เขามีความรู้อย่างนั้น เขาทำอันนั้นได้เจริญดี 

เราว่าไม่เห็นมีอะไร เราไม่เห็นมีอะไรอย่างเขาเลย ไม่เห็นเก่งอย่างเขา ไม่เห็นรู้อย่างเขา  ดูยังไงก็มีอยู่แค่รู้น่ะ รู้เฉยๆ นี่  มีแต่รู้อ่ะ รู้แบบเปล่าๆ รู้แบบไม่มีอะไร อะไรก็รู้ๆๆ แค่นี้เองน่ะ  ของเรามีแค่นี้เองน่ะ ที่มีอย่างมากที่สุด อะไรก็แค่รู้อ่ะ

ดูเหมือนต่ำต้อยนะ ดูเหมือนน้อยนิดนะ ดูเหมือนไม่กว้างขวาง ดูเหมือนไม่มีก้ามเบ่งให้คนอื่นเขาดูได้เลยนะ ... เห็นมั้ย เห็นอะไรในนี้มั้ย ...เห็นว่าความเป็นตัวเป็นตนมันลีบลงน่ะ มันอยู่ในวงจำกัดนิดนึง ...ดูเหมือนเทียบกับคนอื่นเขาไม่ได้เลย 

ไอ้ที่ว่าเทียบกับคนอื่นได้น่ะคืออัตตามานะหรือเปล่าไม่รู้นะ คือความเป็นกูของกูรึเปล่าไม่รู้นะ แต่เรารู้สึกว่ามันลีบน่ะ ไปไหนก็กระมิดกระเมี้ยน เขาคุยอะไรก็ได้แต่ต้องฟัง  เพราะไม่มีอะไรจะคุยกับเขา ก็มีแต่รู้อันเดียวน่ะ

หนูไม่รู้อะไรเลย หนูไม่รู้สภาวะสภาแวะ หนูไม่รู้เลยค่ะ ผมไม่รู้เรื่อง ผมไม่เข้าใจ ...อะไรเกิดขึ้นผมมีแต่รู้ อะไรผมก็มีแค่รู้ นี่... “เรา” กลับตัวลีบลง  “เรา” กลับตัวเล็กลงๆๆ

จนไปๆมาๆ เอ๊ะ กูอยู่ที่ไหนวะ กูอยู่ในโลกหรือคนละโลกกับเขารึเปล่าวะ ทำไมโลกของนักปฏิบัติเขาใหญ่โตมโหฬาร เขาละเอียดพิสดารเหลือเกิน โลกของกูทำไมยิ่งแคบลงวะ จะไปพูดอะไรก็เกรงใจเขาว่ะ กลัวเขาว่า...สะเออะอะไรมาพูด แค่นี้เอง

แต่กลับมีความรู้สึกว่าสบายดี ไปไหนมาไหนก็ได้ ฟังอะไรก็ได้ ได้ยินอะไรก็ได้  เพราะเทียบกับเราแล้ว เราไม่เห็นมีอะไรเลยที่จะไปชนเขา ไปคัดค้านเขา ไปทำให้เขาเดือดร้อนอะไร  มันก็อยู่ด้วยความสงบสันโดษ อยู่ในใจรู้อันเดียว

แค่นั้นแหละ ด้วยอนาคตังสญาณ รู้เองด้วยปัจจัตตัง ว่าสุดท้ายนี่ ไอ้ตัวนี้จะลีบลงไปจนถึงที่สุด ลีบแบบง่อยเปลี้ยเสียขาเลยแหละ ลีบแบบไม่มีตัวไม่มีตนเหลืออยู่เลยแหละ  จึงจะเรียกว่า ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหีติ ...เห็นเอง 

แล้วไม่กล้าจะไปโชว์ไปแสดงอะไรกับใครเขา ไม่กล้าพูดด้วยซ้ำ ถึงสภาวะธาตุสภาวธรรมอะไรที่รู้ที่เห็น ...ก็เห็นเป็นธรรมดาไปหมด อารมณ์ก็เป็นธรรมดา ความรู้ก็เป็นธรรมด๊าธรรมดา กิเลสก็ยังมีขึ้นเป็นธรรมด๊าธรรมดาอยู่ ก็ไม่ได้หาย ...มีแต่รู้น่ะ มันเกิดก็รู้ มันตั้งอยู่ก็รู้ มันไม่ดับก็รู้ มันมากขึ้นก็รู้ มันน้อยลงก็รู้ เห็นมั้ยมันธรรมดาจริงจริ๊ง ไม่ได้ว่าผิดปกติจากเดิมไปเลย

แต่ว่ามันมีอยู่ที่รู้เองน่ะ ...เขาว่าถูกก็ไม่รู้ เขาว่าผิดก็ยังไม่รู้เลย มันผิดรึเปล่าก็ไม่ได้รู้ มันถูกรึเปล่าก็ไม่ได้รู้ ...มีแต่รู้อ่ะ มันเป็นอย่างนั้น  เห็นมั้ย มันอยู่ในท่ามกลางได้...โดยไม่กระเพื่อม โดยไม่หวั่นไหว

ไอ้ที่มันหวั่นไหวมากน่ะ เพราะมันมีตัวที่มันหวั่นไหวมาก เพราะมันมีตัวมีตนมันจึงหวั่นไหว เพราะมันมีเรามีของๆ เรามันจึงหวั่นไหว มันจึงสั่นคลอน มันจึงโยกคลอน  มันจึงมีความรู้สึก น้อยลง มากขึ้น สูญเสีย ได้มา ...ทั้งที่สูญเสีย ได้มา มากขึ้นน้อยลง นั้นคือสักกายะ หรือตัวตน ของเรา ตัวเรา

แต่ความรู้สึกของการอยู่ที่รู้...เห็น  แค่อยู่ที่รู้ ที่เห็น มันจะไม่ค่อยไปมีเงื่อนไขกับอะไร จะไม่ค่อยเข้าไปมีปัญหากับอะไร  เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาตรงไหน เพราะไม่เห็นเลยว่ามันเป็นเงื่อนไขกับตรงไหน เพราะไม่ได้อยู่ที่เงื่อนไขหรือปัญหา...แต่ว่าอยู่ที่รู้

นั่นแหละ ให้มันตั้งอยู่ที่นั่นที่เดียว แล้วไม่ต้องถามหาธรรมะ ไม่ต้องถามหาถูกหาผิดน่ะ ไม่ต้องถามหาว่าจะได้อะไร จะเป็นอะไร จะถึงมั้ย ไม่ถึงมั้ย  รู้อย่างเดียว..จบ

มีอะไรถาม...ถาม  ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร เพราะความไม่มีอะไรมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เดี๋ยวพอออกไปเดี๋ยวมันจะมีอะไรก็รู้อีก นะ มันไม่แน่นอน เห็นมั้ย อย่าไปคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา

สิ่งที่อยู่ต่อหน้าใจรู้นี่ ไม่มีอะไรแน่นอนหรอก แล้วมันก็ไม่ใช่อะไรของเราด้วย มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดา  อย่าไปจริงจังในความมีความเป็นของมัน เป็นเรื่องของมัน รู้อีกๆๆ มีอะไรก็รู้ 

เอ้า ไม่มีอะไร พอ...จบ


..........................