วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/13 (1)



พระอาจารย์
3/13 (540122A)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เกิดมาเป็นคน ...ไม่ใช่มาเกิดง่ายๆ ลำบากยากแท้

มาเกิดได้ ก็ต้องเหตุปัจจัยเพียงพอจริงๆ แล้วได้มาเกิดเมืองไทยอีกนะ มันไม่ใช่ของง่าย เกิดในยุคนี้สมัยนี้  ...หลุดจากนี้ไปแล้วลำบากลำบน จะหาทางออกจากการเวียนว่ายตายเกิดลำบากยากเข็ญ

ได้เกิดมาแล้ว ได้เรียนรู้ศาสนา ได้เรียนรู้ธรรมะ เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว  ...ก็มีอย่างเดียวคือต้องขยันหมั่นเพียร

เวลาคนมาขอพร เราก็บอก... โอ้ย ทุกคนมีพรประจำตัวอยู่แล้ว มีกายอันหนึ่ง มีจิตอันหนึ่ง มีขันธ์ ๕ มีอายตนะ ๖ ...พวกนี้เป็นพรอันประเสริฐ เป็นธรรมที่ติดคู่มากับใจตลอดเวลา

เพียงแต่ว่าเอาใจไปสอดส่อง ดู สังเกต ขันธ์ห้าตามความเป็นจริง ปัญญามันก็เกิด...ปัญญามันก็เกิด 

จากการที่อยู่กับธรรมมาตั้งแต่เกิดกันน่ะ แต่ว่าไม่เคยสอดส่องดู ขณะที่มันเกิด ขณะที่มันปรากฏ ... สำเหนียกเข้าไปในความเป็นจริงของขันธ์ที่ปรากฏ ว่ามันยังไง มันคืออะไร มันมีชีวิตจิตใจมั้ย

หรือมันเป็นแค่สิ่งหนึ่ง ปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น ที่มันเกิดขึ้นชั่วคราว ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับไป ในตัวของมันเอง หาความเป็นรูปลักษณ์ รูปทรง รูปร่าง ลักษณะอาการที่แท้จริงไม่ได้

มันติดตรงไหน มันข้องตรงไหน มันสงสัยตรงไหน ก็สอดส่องสังเกตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแจ้ง จนกว่าจะเข้าใจว่า...อ๋อ มันก็เป็นแค่นี้เองเหรอ 

นี่ กายเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร วิญญาณเป็นอย่างไร  ตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นอย่างไร

มันก็เป็นแค่วัตถุนึงที่มากระทบแล้วก็มีประสาทสัมผัสรับรู้ เกิดการรับรู้เกิดขึ้นในขณะนั้นแล้วก็ดับ ...แล้วมันยังเหลืออะไรอยู่ ก็สังเกตดูต่อไป 

ก็เหลือเป็นความจำ เหลือเป็นอารมณ์ เหลือเป็นความรู้สึก แล้วอารมณ์และความรู้สึกเหลืออยู่แล้วเป็นอย่างไร ก็สังเกตดูต่อไป

มันก็อยู่ได้แค่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนมันก็ดับ ไม่มากขึ้นก็น้อยลง อยู่อย่างนี้ หาความเป็นรูปลักษณ์ รูปแบบ ตัวตนที่แท้จริงถาวรของมันไม่มีอ่ะ ตัวของมันเองไม่มีความถาวรคงอยู่ได้

เนี่ย เราอยู่กับธรรมทั้งแท่งนี่ ธรรมทั้งดุ้น...ขันธ์  ...แต่เรายังถูกความไม่รู้ ความไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของขันธ์นี่มันบิดเบือน

มันบิดเบือนว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ มันมี มันยังมี มันยังไม่ไปไหน มันยังอยู่ นี่ เราสามารถจะรักษามันได้ เราสามารถจะเรียกมันให้เกิดได้ เราสามารถจะทำให้มันคงอยู่หรือดับไปเองเมื่อไหร่ก็ได้ 

นี่อันนี้เป็นความเห็นที่เข้ามาบิดเบือนขันธ์ ทำให้เห็นขันธ์นั่นน่ะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ...ลักษณะนี้ท่านถึงเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิเข้ามาแทรกอยู่ตลอด 

แล้วเราก็เอาความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี่เป็นตัวพาดำเนินวิถีชีวิตไป ... เพราะนั้นเมื่อเอามิจฉาทิฏฐิที่มีต่อขันธ์นี่ แล้วก็พาขันธ์นี่ดำเนินไปบนเส้นทางมิจฉาทิฏฐิหรือว่าความไม่เห็นจริงนี่ 

ผลของมันก็คือมีแต่ทุกข์มากขึ้น ทุกข์น้อยลง แล้วก็ทุกข์ แล้วก็ทุกข์อีกๆ ...เนี่ย หาทางออกไม่ได้ แก้เท่าไหร่...ทุกข์ก็ยังไม่หมดไม่สิ้นอย่างเนี้ย

ก็กลับมาเวียนว่ายตายเกิด ยินดียินร้าย พอใจเสียใจ ดีใจ อะไรอีกมากมายก่ายกอง ...ก็มาหลงในขันธ์ตามความที่เราไม่รู้จริงต่อไป ไม่มีคำว่าออกจากกระบวนการของการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย

แต่การที่มาเรียนรู้ สังเกต ตรวจสอบ แยบคาย กับอาการของขันธ์ห้า หรือว่าปรากฏการณ์ของขันธ์ห้า หรือว่าสภาวะธาตุสภาวธรรมที่ปรากฏ แต่ละขณะ แต่ละครั้ง ในการปรากฏขึ้น หรือรู้ขึ้นมาในแต่ละครั้ง 

ให้แยบคายลงไปในสิ่งที่ถูกรู้ ...ถ้าภาษาพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันไม่มีอะไรหรอก ไอ้สิ่งที่ถูกรู้น่ะ ...ที่สุดของสิ่งที่ถูกรู้ มันก็คือตั้งอยู่บนเงื่อนไขเดียวกันเท่านั้น คือไตรลักษณ์

หรือว่าไตรลักษณ์ก็คือไม่เที่ยง ความคงอยู่ไม่ได้ ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ความคงอยู่ไม่ได้ ความบีบคั้นในตัวของมันเอง ที่มันพร้อมที่จะแปรเปลี่ยน เปลี่ยนสภาพของมันตลอดเวลา แล้วไม่มีอะไรควบคุมมันได้ 

นี่ มันเป็นอิสระในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเองของมัน ...พยายามน้อมลงไปให้เห็น ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ขณะปัจจุบันขณะนั้น สุดท้ายก็จะเห็นเหมือนกันหมด 

เป็นเงื่อนไข ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียว คือไตรลักษณ์ หรือว่าเงื่อนไขของกฎธรรมชาติ เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ที่ไม่มีใครมาตราไว้หรอก ที่ไม่มีใครมาเขียน หรือไม่มีใครมาบัญญัติไว้หรอก 

แต่เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่าเป็นกฎแห่งความเป็นจริง ...พระพุทธเจ้าถึงเรียกว่าเป็นสัจจะ นี่ เป็นสัจธรรม...เป็นสัจธรรม แสดงอยู่ทุกเมื่อทุกเวลาทุกขณะ ไม่เคยแปรเปลี่ยนเลย 

ไตรลักษณ์นี่ไม่เคยแปรเปลี่ยนเลย กฎนี้ ไม่เคยแปรเปลี่ยน และเขาก็แสดงให้เราเห็นตลอดเวลา

แต่ว่าถ้าเราไม่กลับมาระลึกรู้ สังเกต เท่าทัน ด้วยสติสัมปชัญญะนี่ ก็จะไม่เข้าใจกฎธรรมชาตินี้ หรือว่ากฎของไตรลักษณ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สามัญลักษณะ" ...คือเป็นพื้นฐานเดียวกันหมด

เมื่อให้ใจมันเข้าไปเรียนรู้ หรือเข้าไปสังเกตเห็นอาการของขันธ์อย่างนี้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นนิจ เป็นอาจิณ ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ มันก็จะเข้าไปทำให้เกิดเป็นปัญญาเห็นชอบ หรือว่าสัมมาปัญญา สัมมาญาณขึ้นมาในขันธ์นี้

ว่าขันธ์นี้ จริงๆ แล้วนี่ หาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเป็นแก่นเป็นสารอะไรไม่ได้หรอก มันก็เป็นแค่สภาวะที่เกิด-ดับ เกิด-ดับ ของมัน ต่อเนื่องกันไป รูปร่างรูปทรงของมันไม่มีหรอก มีแต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ

ความทุกข์ ความสุข ...ลองดูเวลามันปรากฏขึ้น เราก็ดูเหมือนยังมี หรือว่าสามารถจับต้องได้ ดูเหมือนว่ามันมีผลอย่างนั้นอย่างนี้  

แต่จริงๆ น่ะ ยกมันออกมาดู หรือจับมันเป็นชิ้นเป็นอันซิ ยังไขว่คว้าจับต้องมันไม่ได้เลย ...มันเป็นแค่สภาวธรรมหนึ่งแค่นั้นเอง อย่างนี้ เราก็ต้องเรียนรู้ซ้ำซาก จนกว่ามันจะยอมรับตามความเป็นจริงอันนี้   

จิต เมื่อมันยอมรับ ด้วยการที่เข้าไปสังเกตอาการตามความเป็นจริงที่มันปรากฏขึ้นของมันบ่อยๆ มันก็จะเข้าไปเปลี่ยนความเห็นผิดที่ว่า มันเป็นของเรา มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันมีอำนาจอย่างนั้นอย่างนี้

นี่ ก็จะเห็นเป็นแค่สักแต่ว่าอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ...ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีสัญลักษณ์นิมิตหมายใดๆ ทั้งสิ้นว่าเป็นของใครหรือว่าเป็นของของเรา อย่างเงี้ย

สัมมาทิฏฐิมันก็จะเริ่มเห็นชอบขึ้นเรื่อยๆ เห็นตรงต่อขันธ์ การรับรู้ต่อขันธ์ก็จะตรง มันก็จะตรง ...ก็จะเกิดอาการที่ว่าปล่อยวางการเข้าไปถือครองอาการของขันธ์นั้นๆ 

ก็จะเห็นว่า...ขันธ์ก็สักแต่ว่าขันธ์เกิด แล้วก็ขันธ์ดับไป ...เนี่ย ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริง มากขึ้นๆ จนเห็นว่าเป็นเรื่องของมัน ...ก็จะเกิดคำว่าปล่อยวางขันธ์ให้เป็นไป 

ขันธ์ก็เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ได้เป็นของใคร ....ก็เป็นเหมือนก้อนหิน ก้อนดิน ก้อนทราย ที่วางอยู่ดาษดื่นที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของธรรมชาติ

ถ้าจะบอกว่าเป็นของใครก็เป็นของธรรมชาติ ที่มันปรุงแต่งขึ้นมาตามเหตุปัจจัยชั่วครั้งชั่วคราว ไปๆ มาๆ มันก็เป็นกลาง ของกลาง ของโลก 

สุดท้ายเวลามันแตกมันดับแล้วมันก็ไม่หายไปไหน มันก็อยู่ในโลกนี่ รอวันเวลาที่มันจะกลับมารวมตัวกันใหม่...ใครจะเอามารวม ดวงจิตดวงไหนจะเอามารวมใหม่ก็ได้ 

ดินอันนี้ น้ำอันนี้ ลมอันนี้ ไฟอันนี้ อากาศอันนี้ ช่องว่างอันนี้ มันไม่หายไปไหนหรอก มันก็อยู่ตรงนี้ อยู่ในโลก มหาภูตรูป ๔ นี่ ...ในเรื่องรูปของกาย เรื่องของกาย มันเป็นของใคร 

ไม่ได้เป็นของใคร เป็นของกลาง เป็นสมบัติส่วนกลางของโลก ...แต่ทุกวันนี้เรายังไม่ยอม มันก็ยังบอกว่าเป็นของเรา เนื้อหนังมังสานี่เป็นของเรา กระดูกเลือดเนื้อเชื้อไขนี่ของเรา ผมขนเล็บฟันหนังก็ของเรา

ดูไปตรงๆ ดูไปด้วยความซื่อตรง สังเกตด้วยความซื่อตรง ...ดูผมซิ รู้ลงไปที่ผม ดูกาย เนื้อตัวของเรา ผิวหนังอ่อนนุ่ม แข็งกระด้าง มันมีเราตรงไหน เป็นเราได้อย่างไร 

มันไม่ได้ว่า ไม่มีใครว่า มันเป็นของที่ตั้งอยู่เท่านั้นเอง เป็นของที่ตั้งอยู่ของมันเองน่ะ ...ไม่มีของใคร ไม่เป็นอะไรด้วยซ้ำ มันไม่มีชื่อมีเสียงด้วยซ้ำ

ถ้ามองแบบไม่พูด มองด้วยจิตวิเวก มองด้วยจิตที่ไม่มีนามเข้ามาปรุงแต่งร่วมด้วยกับมัน ...มันก็จะเห็นมันเป็นแค่ ไม่มีคำพูด ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามใดๆ ทั้งสิ้น 

ไม่มีอาการลักษณะนิมิตหมายใดๆ ว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ...เนี่ย ถ้ามองอย่างเนี้ย เห็นอย่างเนี้ย ก็มันเห็นด้วยจิตที่ปกติ ไม่เข้าไปสมมุติหรือบัญญัติกับมัน ...มันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นของใคร

แต่ถ้าเผลอเพลินไปกับความคิดความเห็นเมื่อไหร่ มันก็จะมีความเห็นเข้าไปจับว่า นี่ ของเรา เนี่ย ตัวของเรา เนี่ย กายของเรา นี่เป็นชายนะ นี่เป็นหญิงนะ 

นี่เป็นคนแก่ นี่เป็นคนหนุ่ม นี่เป็นเด็ก นี่เป็นคนสวย นี่เป็นคนไม่สวย นี่เป็นคนหล่อ นี่เป็นคนไม่หล่อ ...นี่เป็นเรื่องของการที่มาปรุงแต่งต่อเนื่องไปตามความเชื่อความเห็นเท่านั้นเอง

ในความเป็นจริงของมันน่ะ ไอ้คำพูดพวกนี้ ความเห็นพวกนี้ มันไม่มีหรอก มันสมมุติเอาว่า...สมมุติเอาว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ 

แต่พอดูไปตรงๆ ดูไปจริงๆ ที่กาย หรือว่าเนื้อตัวของเรานี่ ถ้าดูด้วยใจสัมผัสรู้นี่ ...มันเข้าไปดูที่ความรู้สึกตัว ดูที่ความรู้สึกตัว เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นิ่ม ไหว นิ่ง นี่ พวกนี้ 

ดูที่ความรู้สึกตัวตอนนี้ ลมพัดเย็นๆ ลมมากระทบผิวหนัง การกระทบนี่ ดูที่อาการกระทบของลม ...เนี่ย กาย กายมันอยู่ที่ผัสสะมากระทบ เป็นเวทนาเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถึงรู้ว่ามีกายอันนี้ตั้งอยู่

แล้วดูที่ลมเย็นๆ ที่กระทบนี่ มันเป็นเรามั้ย มันมีอาการไหนเหมือนเรามั้ย มีตัวตนจับต้องได้มั้ย มันเป็นแค่ความรู้สึกขึ้นมาขณะนึง เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็มาก เดี๋ยวก็น้อย 

เห็นมั้ย เห็นความแปรเปลี่ยนมั้ย เห็นความคงไม่ได้ ความไม่คงที่ของมัน พอลมหยุดปุ๊บก็ดับ...ดับมา แล้วก็แข็ง อุ่น ปรากฏความรู้สึกว่าอุ่นอยู่ที่หน้าอก ที่ท้อง ที่ในตัว 

เพราะนั้นกายนี่ ...เห็นกายมันเลื่อน มันไหลมั้ย ความรู้สึกทางกาย หรือความรู้สึกตัว มันเปลี่ยนตลอดเวลา มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

นี่ การเข้าไปสังเกตอาการทางกาย สังเกตความรู้สึกตัวนี่ จึงเห็นความไม่คงอยู่ของกาย เป็นชิ้นเป็นอัน มันแปรปรวน มันไม่คงอยู่ แล้วมันก็เปลี่ยนของมันไปเองนะ อยากจะให้มันเป็นยังไงมันก็ไม่เป็น


ดูมันไป สังเกตมันไป ไม่ต้องคิด ดูแบบไม่ต้องคิด ดูแบบไม่ต้องพูด ดูแบบเงียบๆ ดูแบบสงบเงียบ ดูแบบไม่มีคำพูด ...นี่เรียกว่าดูแบบตรงๆ ดูแบบซื่อๆ ดูแบบโง่ๆ 

แล้วก็น้อมให้เห็น...อ๋อ มันเป็นอย่างเนี้ย ที่แท้จริงกายที่เราว่าเป็นชายเป็นหญิง ที่จริงมันเป็นอย่างนี้นี่เอง


(ต่อแทร็ก 3/13  ช่วง 2)