วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/2




พระอาจารย์

3/2 (531114B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

14 พฤศจิกายน 2553



พระอาจารย์ –  จำหลักให้แม่น  อย่าออกนอกหลัก ๆ

(ถามโยม) กลับวันนี้รึเปล่า


โยม –  วันนี้ครับ  ผมพาน้องชายมา ให้มาดูสภาพอากาศ แล้วก็การปฏิบัติต่างๆ ว่าอย่างนี้นี่เราไหวไหม   ก็เลยพามากราบท่านอาจารย์ด้วยครับ

พระอาจารย์ –  ฟังให้เข้าใจ ... การปฏิบัติมันอยู่กับตัว ไม่ได้อยู่กับสถานที่เป็นสำคัญ  อยู่บ้านก็ทำได้ ทำงานก็ทำได้  เพราะถ้ามีสติแล้วตรงนั้นเป็นที่ปฏิบัติธรรมเลย ไม่ต้องไปหาที่อื่นหรอก  คือสถานที่นี่เป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่ว่าเราอย่ามาอ้างสถานที่ ... ตรงไหนก็ได้ รู้ตรงไหนมันก็รู้ได้  สติเจริญตรงไหนก็ได้  กายมีอยู่ตลอด...ดูกายไป  เห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่  ดูมัน รู้มัน  แล้วก็รู้อยู่...ใจมันอยู่ตรงนั้นแหละ...ตรงที่สติรู้อยู่ตรงนั้นแหละ 

ก็ให้ตั้งอยู่ที่ใจ...มากๆ บ่อยๆ  แล้วมันจะแจ้ง จะเข้าใจของมันเอง  มันจะเห็นทางออก ว่าออกจากทุกข์จะออกยังไง   วิธีออกจากทุกข์ไม่ใช่วิธีแก้ทุกข์ ไม่ใช่วิธีดับทุกข์  แต่ออกจากทุกข์คือไม่เข้าไปอยู่กับมันต่างหาก  ทุกข์สุขมันก็มีไป แต่ว่าเราเดินอยู่เหนือสุขและทุกข์  

คือออกมาเป็นผู้รู้ผู้เห็นเท่านั้น ไม่เข้าไปอยู่กับมัน  ถ้าเข้าไปอยู่กับมัน ก็ต้องไปเอาชนะคะคานกับมัน ไปรบราฆ่าฟัน ไปเอาถูกเอาผิด เอาให้มันดับไม่ให้มันเกิด ... ไม่เกี่ยว  

เราก็ปล่อยเขาเป็นไป แต่เราไม่ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรา  คือใจแค่รู้เท่านั้น  นั่นน่ะวิธีออกจากทุกข์  ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ออกจากทุกข์อย่างไร  แล้วมันจะเริ่มเห็นทางออก จนออกได้ จนหมดจด หมดสิ้น  ด้วยตัวของใจดวงนั้นเอง...เป็นปัจจัตตัง

(ถามโยมอีกคน) ฟังเข้าใจมั้ย


โยม –  พอจะเข้าใจค่ะ ...  ขอถามเลยได้ไหมคะ  ตอนนั่งสมาธินี่ไม่ให้กำหนดลมหายใจแล้วจะทำยังไงคะ จะเอาหลักการรู้จิตนี่เข้าไปนั่งสมาธินี่

พระอาจารย์ –  นั่งได้  กำหนดลมก็ได้   แต่ไม่ใช่ให้มีแต่ลม  ให้มีคนที่รู้ลมสิ  เห็นมั้ย ถ้าเรากำหนดแต่ลมนะ  ตอนที่เราจะกำหนดก็จะมีแต่ดูว่าลมเข้าลมออก คอยรู้ว่าลมเข้าลมออก  แต่ไม่เคยสังเกตว่า ใครที่รู้ ลมเข้าลมออก

ให้กลับมาสังเกต  ให้มันเป็นสองอาการ...ลมอันนึง รู้ลมอันนึง  ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้  ให้เน้นตรงนั้น ให้เน้นว่ารู้  มีรู้ลม...มีคนที่รู้ลม  ถ้าไม่เน้นที่รู้ลม มันจะมีแต่ลม  รู้มันจะไปรวมกับลม  อย่างนี้มันจะไม่เข้าใจ


โยม – ก็คือใช้หลักนั้นแหละไปนั่งสมาธิ

พระอาจารย์ –  ใช่  ไม่งั้นมันจะติดการกระทำ  ใจมันก็เข้าไปกระทำ ไปหา  ไปหาความสงบมั่ง ไปหาความไม่มีไม่เป็นมั่ง  แต่จริงๆ มันไม่ได้ให้หาอะไร  ให้กลับมาอยู่ที่ใจ ...คือการกลับมาอยู่ที่ใจ

แต่ว่าทำยังไงให้เห็นใจ ... เพราะฉะนั้น ลมจึงเป็นอุบายให้เห็นใจ แค่นั้นเอง  พุทโธก็เป็นอุบายให้เห็นใจ  คนที่ว่าพุทโธ คนที่รู้ว่าพุทโธ มีอยู่  ให้สังเกตตรงนั้น  อยู่ตรงนั้น คู่กันกับพุทโธ คู่กันกับลม  แล้วการทำสมาธิมันจะพร้อมไปด้วยปัญญาไปในตัว นะ

การปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ยากเลย ... แต่ที่เราเคยได้ยินเคยได้ฟังมา เขาเอาแต่สิ่งที่ยากๆ มาสอน หรือมาพูดมาอธิบาย มันก็เลยดูกลายเป็นของยากของไกลตัวไป  แต่จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนน่ะ ไม่ได้สอนไกลตัวเลยนะ  ธรรมะมีอยู่แล้ว  กายกับใจอยู่ตรงไหน มันแบกธรรมไปตลอด  พวกเรานี่แบกอยู่ตลอด แบกสภาวะธาตุสภาวธรรมอยู่ตลอดเวลา

แต่ทำอย่างไรที่จะเห็นสภาวะธาตุสภาวธรรมอันนี้...ตามความเป็นจริง  ที่มันผ่านมาทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางอายตนะภายนอก...ที่ผ่านมาแล้วมากระทบกับสภาวะธาตุสภาวธรรม  แล้วมันมีอาการอย่างไรเกิดขึ้น แค่นั้นเอง  แล้วก็มาเรียนรู้อาการ ที่อาการมันเกิดขึ้นเฉยๆ

แต่ทำไมเราต้องไปยุ่งกับมัน ทำไมเราจะต้องไปดีใจเสียใจกับมัน ทำไมเราจะต้องไปห้ามมัน ทำไมเราจะต้องไปป้องกันมัน ทำไมเราจะต้องไปรักษามัน ทำไมจะต้องไปผลักดันมัน  ตรงนี้คือมาเรียนรู้ จนกว่าจะเข้าใจ 

แต่ว่าจะเรียนรู้มันอย่างเดียวได้  คือต้องมาเรียนรู้โดยการที่ว่า...ตั้งมั่นอยู่ที่จิตที่เป็นกลาง คือจิตรู้จิตเห็นเท่านั้น  จึงจะเห็นกระบวนการตามความเป็นจริงของสภาวะธาตุและสภาวธรรม อารมณ์ ความรู้สึก

เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จะเห็นและมันก็จะรู้เลยว่า...มันก็เป็นแค่สักแต่ว่ามี...กับสักแต่ว่าเป็น  
กายก็เป็นสักแต่ว่ามี สภาวธรรมก็สักแต่ว่าเป็น อารมณ์ก็มีเกิดๆ ดับๆ ของมันไป   ไม่ได้ข้องแวะ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของใจรู้เลย  ต่างอันต่างแยกกันอยู่เป็นอิสระ  เป็นจริงซึ่งกันและกัน  กายก็เป็นแค่กายที่คู่กับรู้  เห็นมั้ย มีเราตรงไหน  มีแต่โครงอันนี้ แล้วก็รู้ที่อยู่ด้วยกัน  มีเราตรงไหน หาเราตรงไหนเจอ


โยม –  ก็คือไม่มีเรา

พระอาจารย์ –  แน่นอน ... เรามันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งเท่านั้นเอง  ดูไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย  ขอให้ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ รู้เห็นๆๆๆ อยู่ตรงนั้นแน่ะ  แล้วมันจะเห็นอาการทุกอาการตามความเป็นจริง  

ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปค้น  ไม่ต้องไปหาว่ามันคืออะไร มันมาจากไหน  แล้วจะต้องให้เห็นอะไร จะต้องให้มันเป็นยังไง จะต้องให้เกิดอาการนั้นอาการนี้ สภาวะนั้นสภาวะนี้ ...ไม่ต้อง  

เขาแสดงของเขาเอง  เขาไม่แสดงก็ไม่แสดง เขาก็ปรากฏไป  โกรธก็โกรธ โลภก็โลภ หลงก็หลง ติดก็ติด ข้องก็ข้อง ยึดก็ยึด ...รู้อย่างเดียว


โยม –  รู้แล้วมันไม่หายสักที รู้เป็นสิบรอบแล้ว  มันไม่ละๆ

พระอาจารย์ –  อย่าท้อ ... รู้เข้าไป แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้เข้าไปเรื่อยๆ  อย่าไปเชื่อ อย่าไปคิด อย่าไปคาด ว่ามันต้องเป็นยังงี้แน่เลย ต้องไม่หายไปแน่เลย  มันไปคาดเอานะ มันมีความรู้สึกลึกๆ อย่างนั้น  ... อย่าไปฟังมัน รู้อย่างเดียว  ไม่ต้องกลัว


โยม –  สงสัยเรื่องสมาธินี่ถามไปแล้ว แต่ก็รู้แล้วว่าต้องมีคู่กัน

พระอาจารย์ –  ใช่  อย่าทิ้งอาการคู่  ถ้าทิ้งอาการคู่แสดงว่าเริ่มหลงแล้ว  สมาธินั้นก็จะเรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว  จะไม่มีสัมมาสมาธิเลยถ้าไม่มีใจเป็นตัวคู่ขนาน หรือพูดง่ายๆ ไม่มีคนที่รู้ที่เห็นเป็นคู่ขนาน  มันจะหลงทันที หลงกับอาการ หลงกับการกระทำ หลงกับเจตนา  แล้วก็หลงว่านี่เป็นวิธีการปฏิบัติ

แล้วมันก็จะออกนอกทางไปเรื่อยๆ ... ที่ออกนอกทางคือมันจะทิ้งใจไปเรื่อยๆ ไปหาใจดวงใหม่อยู่ตลอด  เช่นความสงบ นี่ก็คือใจดวงใหม่ที่ไปปนกับอาการสงบ  ไปหมายมั่นกับสภาวะธาตุสภาวธรรมใหม่ที่คิดว่าดีกว่าตรงนี้อยู่เรื่อยๆ  มันก็จะเริ่มออกนอกใจไปเรื่อยๆ  ถือว่าออกนอกเส้นทางไปเรื่อยๆ ...ไม่เข้าสู่องค์มรรค

เพราะฉะนั้น การจะกลับเข้าสู่องค์มรรค ต้องเอาใจเป็นคู่ขนานตลอด มรรคจึงจะเกิดได้ตลอดเวลา  สติจึงเป็นหางเสือที่จะเป็นประตู...ที่คัดให้เห็นมัชฌิมาซึ่งเป็นองค์มรรคปรากฏขึ้น  คือท่ามกลางสองสิ่ง... สิ่งที่ถูกรู้และ รู้  

ไม่ว่า สิ่งที่ถูกรู้นั้นจะเป็นอะไร  จะ...ดี ร้าย เลวทราม หยาบขนาดไหน ไม่ดีขนาดไหน เราไม่ชอบมันขนาดไหน...ก็ถือว่าเป็นอาการ  แล้วให้มันตีคู่กับรู้  อยู่แค่นั้นแหละ 

อดทนอยู่ให้ได้ ... ไม่ได้ก็ต้องได้  ไม่มีวิธีอื่น ไม่เอาวิธีอื่น  ไม่แก้ไม่หนี...ไม่แก้ไม่หนี...รู้อย่างเดียว เห็นอย่างเดียว  เห็นสองอาการอย่างเดียว รู้อย่างเดียวเห็นอย่างเดียว คือสองอาการนี้ ... ไม่ต้องกลัวหรอก

อย่าไปเชื่อใจที่มันจะสร้างภาพมาหลอกอีก เป็นอย่างงั้นนะ เป็นอย่างงี้นะ เดี๋ยวจะเป็นอย่างงั้นเดี๋ยวจะเป็นอย่างงี้ อย่าฟัง  รู้อีกๆ  แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนาสภาวะธาตุสภาวธรรมให้เป็นไปด้วยความสมดุลเป็นกลางมากขึ้นๆ


โยม –  ปฏิบัติไปเยอะๆ  มันก็ไม่ติดยึดอะไรในโลกสิคะ

พระอาจารย์ –  ก็ใช่น่ะสิ  จะไม่เหลืออะไรให้ยึดติดเลยอ่ะ  เออ แล้วจะรู้เองว่าตอนนั้นน่ะชีวิตมันจะเป็นอิสระขนาดไหน ... ฝนจะตก แดดจะออก คนจะด่า คนจะไป คนจะมา คนจะตาย คนจะเป็น  มันจะรับรู้ด้วยอาการที่เป็นปกติธรรมดา ไม่มีบวก ไม่มีลบ  แค่นี้ สบายแล้ว

โลกมันจะแตกดับสลายต่อหน้าก็ยังเป็นปกติ บอกให้เลย  เพราะว่ามันไม่ได้เป็นอะไรกับเราเลย ไม่ได้เป็นอะไรกับใจเลย ...คนละส่วน  

เพราะโลกนี้ไม่ใช่ของเรา โลกก็ไม่เคยบอกว่าเป็นของเรา  แล้วมันก็ไม่ได้แสดงอาการว่าเป็นของเราตรงไหน เป็นสมบัติของเราตรงไหน  ทำไมเราต้องไปเดือดร้อนใจอะไรกับมันนักหนา 

แต่ทุกวันนี้พวกเราเดือดร้อนกันจัง  เดือดร้อนกับอารมณ์ เดือดร้อนกับเรื่องราว เดือดร้อนกับผู้คน เดือดร้อนกับอาการนั้นอาการนี้ที่เกิดขึ้น ...  เดือดร้อนเพราะอะไร ... เพราะคิดว่ามันเป็นของเรา 

คือการเข้าไปครอบครอง  ... อะไรเกิดขึ้นนี่ เราเข้าไปให้ค่าว่าของเรา...ทุกอย่าง  ไม่ว่าเห็น ไม่ว่าได้ยิน  ไม่ว่าการคิดอะไรขึ้นมา  ไม่ว่าอะไรที่เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ตรงไหน ปุ๊บ มีแต่เรากับเรา...เป็นผู้เสวย แล้วก็ครอบครองอาการนั้น สภาวะนั้น

โดยไม่เห็นว่ามันไม่เกี่ยวอะไรเลย  มันเป็นของเราตรงไหน มันแค่ผ่านเข้ามา ผ่านออกไป  แต่มันจะไม่เกิดปัญญาในการเห็นตามความเป็นจริงได้ ถ้าไม่กลับมาตั้งมั่นที่ใจ  แล้วมองด้วยความเป็นกลาง มองว่ามันเป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง  

อดทนดูมันไป แล้วจะเห็นความไร้สาระของมันยิ่งขึ้น เห็นความไม่เกี่ยวพัน  ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกา ไม่ได้เป็นโคตรพ่อโคตรแม่ของใจอะไรเลย ไม่เกี่ยวอะไรเลย  นั่นแหละ สบาย  จะเกิดจะตายตอนไหนก็สบาย 

เอ้า พอแล้ว.



.................................. 


แทร็ก 3/1








พระอาจารย์

 3/1 (531114A)

14 พฤศจิกายน 2553


พระอาจารย์ –   รู้ง่ายๆ ... กายมี  นั่ง...เห็นมั้ย กำลังนั่ง  รู้มั้ยว่านั่ง  กายนี่มันไม่รู้หรอกว่ามันนั่ง ใช่ป่าว   ใครที่เห็นว่ากำลังนั่งอยู่ ... มีอยู่อ่ะ ตรงนี้ก็มี  

กายมันเป็นสากกะเบือ มันเป็นท่อนฟืน  มันไม่รู้หรอกว่ามันนั่ง มันยืน มันเดิน มันนอน มันนิ่ง มันไหว มันเคลื่อน มันขยับ ...มันไม่รู้นะ

แต่พอมีสติระลึก ปุ๊บ  เห็นมั้ย เราเห็นเลยว่าอาการมันอย่างนี้  เป็นโครงๆ กำลังอยู่ในท่าอย่างนี้  ...เห็นมั้ย มันมีใครอีกคนที่เห็นอยู่  นั่นแหละ ให้อยู่ตรงนั้น 

ไม่ต้องอยู่ตรงนั่ง  แต่ให้อยู่ตรงคนที่เห็น...คนที่รู้คนที่เห็น ... นี่ เห็นมั้ย ใจนี่มันมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปหา ... ระลึกขึ้นมาโดยเอากายเป็นฐาน เป็นกระจกสะท้อน  

สติปัฏฐาน ๔ นี่เป็นเหมือนกระจก  กาย เวทนา จิต ธรรม ... กาย ความรู้สึก จิต ธรรม อารมณ์ พวกนี้เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้กลับมาสู่ใจผู้รู้ผู้เห็น 

สติปัฏฐานไม่ใช่รู้เพื่อจะไปหาความเป็นจริงกับมัน ว่ากายมันเป็นยังไง มันจะเดินยังไง มันจะยืนยังไง มันไปยังไง  ไม่ใช่ไปเอาเหตุตรงนั้นเป็นเหตุ  แต่จริงๆ สติปัฏฐานเป็นอุบายเพื่อให้กลับมาสู่ใจรู้ หรือดวงจิตผู้รู้ผู้เห็น  อยู่อย่างนั้น แล้วให้มาตั้งมั่น...คือสมาธิ  ต้องมีสมาธิแล้วนะ 

ถ้ารู้ไปเรื่อยๆ มันก็ไหลไปเรื่อยๆ น่ะ  มันไม่ตั้งมั่น ไม่รู้จะไปตั้งมั่นอะไร  อ่ะ ถ้าสมมุติว่าไปตั้งมั่นกับกาย คือจดจ่ออยู่กับกาย ดูๆๆๆ  ระหว่างที่ดูนี่ ไม่มีผู้รู้เลย มีแต่คนดูๆๆๆๆ ดูกายไป  พอมีเสียงมากระทบปั๊บ ระหว่างสติ-สมาธิที่มันไปตั้งอยู่กับกาย  พอมีอะไรมากระทบตรงนี้ปุ๊บ มันทิ้งกาย แล้วก็หลงไปกับอาการใหม่ทันที บอกให้เลย 

เพราะสมาธิที่ไปตั้งอยู่นอกฐานใจ ก็เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เหมือนกับมิจฉาสติ  เมื่ออาการมันเปลี่ยนแปลงปุ๊บ มันดับไปพร้อมกัน  สมาธิที่ไปตั้งมั่นกับอาการก็ดับ สติที่ไปตั้งมั่นกับอาการก็ดับ เพราะอาการมันไม่แน่ไม่นอน  สมาธิที่ไปตั้งมั่นเอาจริงเอาจังกับมัน เดี๋ยวมันก็ดับไปพร้อมกันนั่นแหละ

พอดับปุ๊บ  แทนที่มันจะรู้ต่อ มันหลงแทนทันที มันจะหลง  อ่ะ พอหลงไปเรื่อยเปื่อย เยิ่นเย้อเนิ่นนาน หายไป เอ้า เฮ้ย เมื่อกี้หายไปไหนวะ เมื่อกี้ยังรู้อยู่เลย เอ้า เอาอีกแล้ว มาจับระลึกใหม่อีก  มาระลึกใหม่อีกก็ดันไปรู้ที่อาการอีกแล้ว ...ไปอยู่กับอาการอีกแล้ว  

พออาการนั้นเปลี่ยนไป ... สมมติว่าตั้งใจจดจ่ออยู่ กำลังจะรู้อารมณ์ ดูอารมณ์อยู่  สมมติเราเป็นหมอ แล้วคนไข้เดินมาบอก “หมอ  ผมมาหา รักษาผมหน่อย”  เอ้า หลุดแล้วนะ ไอ้ที่กำลังดูอยู่ตรงนี้  อ้าว ไปทำอะไรอยู่ไม่รู้  ตอนนี้หลงเผลอเพลินไป เพลินๆๆๆ จนเขาออกไปแล้วหายไปแล้ว ค่อยกลับมาดูใหม่ เอ๊ะ เมื่อกี้หายไปไหนวะ เพราะอะไร  เพราะมันไม่มีสติที่ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ

เคยเล่นว่าวมั้ย  เคยเล่นว่าวตัวเดียวใช่มั้ย ไม่เคยเล่นว่าว 5 ตัว  เคยเล่นว่าว 5 ตัวพร้อมกันมั้ย  ถ้าเล่นว่าว 5 ตัวพร้อมกัน ตัวนี้เล่น แล้วก็ขึ้นไป ก็ถือไว้  เสร็จแล้วอีกตัวนี้ก็กำลังจะขึ้น  ก็ปล่อยตัวนั้นแล้วก็มาถือตัวใหม่  เอ้า ตัวนี้หลุด ปล่อยตัวนั้นมาจับตัวนี้  อีก 4 -5 ตัว  

ถ้าจับตัวนี้ก็ต้องปล่อยตัวนั้น  ถ้าปล่อยตัวนึง ก็ต้องมาจับอีกตัวนึง  เห็นมั้ย เล่นว่าว 5 ตัว จะเล่นกันอย่างนี้ใช่มั้ย  … เหมือนการเจริญสติของพวกเราน่ะ 

แต่ถ้าเราเล่นว่าวแบบถือมือเดียว  ก็จับมันเดียวเลย 5 ตัว  มึงจะขึ้นก็ขึ้นดิ มึงจะตกก็ตก ตัวนี้ก็อยู่ มันอยู่เนี่ย  ถือไว้อยู่นี่ที่เดียวน่ะ ไม่ได้ทิ้งเลย  มันจะขึ้นก็ได้ มันจะลงก็ได้  มันจะขึ้นก็ได้ ลงก็ได้  มันไม่ไปไหนหรอก มันอยู่เนี่ย 

มันอยู่ตรงไหนล่ะ...ที่ตรงนี้  ไอ้ตรงนี้คืออะไร คือใจที่รู้เห็นๆ ๆ  นี่ นั่งก็รู้นั่งก็เห็น ยืนก็รู้ก็เห็น คิดก็รู้ก็เห็น  ไอ้รู้เห็นว่านั่งกับไอ้รู้เห็นว่าคิดนี่...รู้เห็นเดียวกัน  คือใจดวงเดียวกัน คือดวงจิตผู้รู้  มีแค่หนึ่ง ไม่มีสอง

แต่ถ้าเราทิ้งเมื่อไหร่ปั๊บ มันจะไปอยู่กับอาการ  มันก็เลยมีหลายดวง มากมาย  ไม่รู้จะดูอันไหนดี ... บางคนก็ชอบมาถามว่า จะเริ่มดูอะไรก่อน ดูอะไรดี ... อะไรเกิดขึ้นก็รู้สิวะ ใช่ป่าว  ก็อยู่ตรงนี้ อะไรก็ได้  เดี๋ยวก็กาย เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็กังวล เดี๋ยวก็อดีต เดี๋ยวก็อนาคต ... อะไรก็ได้

ก็รู้อยู่ตรงนี้ เห็นอยู่นี่  มันตัวเดียว ตัวเดียว  มันไม่ใช่ไปมีหลายดวงนะ   ไอ้หลายดวงนี่เขาเรียกว่าชวนะจิต หรือเรียกว่าอาการของจิต หรือเรียกว่าจิตหลายดวง หรือว่าเจตสิก นั่นภาษาอภิธรรมน่ะ แต่ไม่ใช่ใจ


โยม – หลวงพ่อครับ ถ้าในกรณีแบบนี้นี่  ถ้าเรารู้ๆๆๆ แล้วอย่างนี้มันจะไม่กลายเป็นเพ่งรู้หรือครับ

พระอาจารย์ –   ไม่ต้องกลัว  ถ้าเพ่งนะ ถ้าเพ่งมันจะไม่เห็นอาการ  แต่ถ้าไม่เพ่งนะ มันรู้อยู่มันจะเห็นอาการพร้อมกัน


โยม – ต้องให้เห็นเป็นคู่อย่างที่บอก

พระอาจารย์ –   ใช่  แต่ถ้าเหลือหนึ่งปุ๊บแบบ กูรู้แล้วว่าใจอยู่ตรงนี้ กูเพ่งตรงนี้ กูไม่สนใจอย่างอื่นทิ้งหมด ปุ๊บ เพ่งอย่างนี้นี่...จะไม่มีอาการ จะไม่มีการรับรู้อาการเลย อย่างนี้เรียกว่าเพ่งใน 

แต่ถ้าเรามีอาการลักษณะที่รู้และเห็น  แล้วก็โกรธหรือไม่โกรธ ดีใจ เสียใจ กังวล  เห็นรูปนามเคลื่อนที่อยู่ข้างหน้าปุ๊บ  มันมีสองอาการ เห็นสองอาการคู่กัน  เห็นมั้ย มันมี หนึ่ง...รู้  สอง...สิ่งที่ถูกรู้  สาม...เห็น  มันเห็น มันเห็นอยู่อย่างนี้...อย่างนี้

อย่างนี้เรียกว่าอะไร  ... อย่างนี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นกลาง...เป็นกลาง แค่เนี้ย กลางแล้ว  แต่ถ้ารู้ไปรู้มา สติดูไปดูมา อ้าว ตัวนี้หาย มีแต่อารมณ์ๆ มีหนึ่ง เหลือหนึ่ง  เหลือหนึ่งเมื่อไหร่...สุดโต่ง  เอ้า ดูไปดูมาไม่เอาอาการ จะเอาแต่รู้อย่างเดียว ไม่เอาอาการ  รู้อย่างเดียว...สุดโต่ง  แต่ถ้าเห็นสองอย่างคู่กัน ไม่ไปทางใดทางหนึ่ง  รู้อันนึง สิ่งที่ถูกรู้อันนึง และก็เห็นอยู่...นี่มัชฌิมา 

สติเป็นไปเพื่อการนี้ จึงเรียกว่าการเจริญมรรค เข้าใจรึยัง  มรรคคืออย่างนี้  ถ้ามันเข้าไปรวมกันเมื่อไหร่ สติระลึกขึ้นมา แยกออก  แล้วมันจะอยู่ได้ไงด้วยการแยกออก  เห็น...ด้วยปัญญา  เห็นมั้ย ปัญญาจะเป็นตัวประคับประคองเส้นทางสายกลางหรือมัชฌิมา

ถ้าเบื้องต้น พอเห็นสักพักนึง เดี๋ยวมันก็เกิดความทะยานออกไป อยากไป เอ้ออารมณ์อย่างนี้มันอย่างงี้ดีนะ มัน...อย่างงี้นะ... เริ่มทิ้งแล้วๆ  เริ่มทิ้งผู้รู้แล้ว  มันเข้าไปปุ๊บ เห็นมั้ย มันจะตีบเข้าไปอีกแล้ว เข้าไปรวมกันด้วยอำนาจของความหลง โมหะ อุปาทาน  

เมื่อมีโมหะเกิดขึ้น ก็มีความหมายมั่นเกิดขึ้น หลง เผลอ เพลินไปกับอาการ ปุ๊บ  อาการนี้ก็จะขึ้นลงเป็นจิตอีกหลายดวง โลภะ โทสะ ราคะ  ได้หมด สลับไปสลับมา 

เคยมั้ย ที่ในความคิดน่ะมันมีไม่รู้จะกี่อารมณ์  เห็นมั้ย มันมีเกิดจิตหลายดวงขึ้นมาอีกแล้ว  แต่ตัวแรกที่พาให้เกิดจิตหลายดวงคือโมหะจิต คือหลงเข้าไปรวมกับอาการโดยสำคัญว่าอาการนี้เป็นเรา  

แล้วเรามันก็จะพาไปเกิดเป็นดวงจิตต่างๆ นานา โกรธมั่ง หงุดหงิดมั่ง ดีใจมั่ง  เดี๋ยวก็ยิ้ม เดี๋ยวก็บึ้ง เดี๋ยวก็หัวเราะในความคิดน่ะนะ  เห็นมั้ย มันจริงจัง เกิดจิตอีกหลายดวงเลย

แต่พอระลึกรู้ได้ด้วยปัญญาปั๊บ เห็นว่ามันเป็นแค่คิดและอาการ เห็นว่ารวมทั้งหมดนี่คือคิด...เป็นอาการนึง และรู้...อาการนึง  นี่เริ่ม เริ่มแยกแล้วสติ สติเริ่มทำหน้าที่แล้ว ... อยู่ที่ว่ามีปัญญามั้ย  ถ้าไม่มีปัญญาก็แค่รู้นั้นน่ะแล้วก็หาย  รู้อีกก็หายอีก ไปปนกับมันอีก  คือให้รู้แล้วต้องเห็นว่า นี่เป็นอาการ นี่เป็นรู้ 

อาการคืออะไร  อาการนี่คือขันธ์ ขันธ์ ๕  ขันธ์ ๕ โดยย่อก็คือรูปนาม โดยรวมก็คือทุกสรรพสิ่ง เออ อนันตาจักรวาล  ก็คือ 'สิ่งที่ถูกรู้'

แล้วก็มี 'รู้' อีกอันนึง  คือไม่รู้ว่ามึงคืออะไร กูรู้ว่ามึงคืออาการ แค่นั้นแหละ   ดีก็ไม่รู้...ไม่สน  ชั่วก็ไม่รู้...ไม่สน  กิเลสก็ไม่รู้...ไม่เคยเรียก  ไม่กิเลสก็ไม่รู้...ไม่สน  เอาเป็นว่ามึงคืออาการ คือธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏขึ้น...ตามเหตุและปัจจัย

ไม่เกี่ยว ... รู้อย่างเดียว ให้เห็นสองอาการนี้  นี่เรียกว่าอยู่ท่ามกลาง รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง คือรู้เฉยๆ  ให้อยู่ที่รู้เฉยๆ ให้มาอยู่ตรงนี้  อย่าไปยุ่งกับอาการ  และให้มันเห็นอยู่ตลอด ... อยู่อย่างนี้  ปัญญาจะเป็นตัวคุ้มครองใจ คุ้มครองมัชฌิมาปฏิปทานี้  นี่คือเส้นทางแห่งมรรค  ...พระอริยเจ้าท่านเดินเส้นนี้ตลอด

แต่แรกๆ ของนักปฏิบัติ มันจะอยู่อย่างนี้คือ...ขยับมานิดนึง เดี๋ยวก็เข้าอีก ... ขยับนิด เข้าอีก ... เวลาเข้านี่เข้านานนะนี่ นานนนน ...  เอ้า ออกมานิดดดนึง เข้าอีก  

แต่ถ้าขยันรู้บ่อยๆ เข้าใจมั้ย  รู้บ่อยๆ และให้เห็นอยู่อย่างนี้  มันถ่างออก มันจะถ่างออก มันจะกว้างออก กว้างไปเรื่อยๆ กว้างๆๆๆ  กว้างจนที่เรียกว่าห่างไกล จนไม่สามารถจะเข้ามาปนกันอีก

เพราะฉะนั้นเส้นทางของพระอริยะเจ้าท่านถ่าง  แรกๆ ท่านก็เดินทางตีบอย่างนี้แหละ  เส้นทางกลางนี่ มันก็เหมือนกับเราทุกคนนั่นแหละ  บางคนยังไม่เจอเลย  ยังทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้  ไปหาอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ไปรักษาอารมณ์ไว้ ให้นิ่งอยู่อย่างนี้  ใจอยู่ไหนยังไม่รู้เลย มันยังไม่เปิดเลยอ่ะ

มรรคยังไม่เปิดเลย ยังไม่เห็นเส้นทางแห่งมรรคเลย  อย่าไปพูดเลยว่าเดิน...ก็มันยังไม่มีทางเดินให้มันเลย  มัวแต่ถูกมันพาไปเดินไหนไม่รู้ ไปเที่ยวตลาด ขึ้นสวรรค์ ลงนรก ไปรูปพรหม อรูปพรหม ไปได้หมด มั่วไปหมด  เดี๋ยวก็เป็นเดรัจฉาน เดี๋ยวก็เป็นเปรต เดี๋ยวก็เป็นอะไร ...มันไม่เปิด มันตีบ มันหลงอยู่นี่

แล้วก็แสวงหาอารมณ์กันอยู่นั่นแหละ  โดยเข้าใจว่าอารมณ์นั้นเป็นสภาวธรรมนึงน่ะ อาการนั้นก็เป็นอาการธรรม  อย่างนี้ไม่ใช่ธรรม  โห รักษาได้อย่างนี้ แหม...ดีใจ ชอบ  ... ก็ยังตีบอยู่อย่างนี้  

จนกว่าจะมีสติที่แท้จริง แล้วก็มีปัญญาแยบคาย  นี่...เปิดแล้ว มรรคาปฏิปทาเปิดแล้ว เส้นทางแห่งมรรค...มีทางเดินแล้ว

บ่อยๆ เข้า เดี๋ยวมันถ่างขึ้นๆ ชัดเจนขึ้นๆ จนห่าง  คราวนี้เดินสบายแล้ว มันไม่มีทางเข้ามาตีบเลย  เข้ามาปั๊บ...รู้ปุ๊บๆ แยกออกๆ ตลอด  ใจไม่ได้เป็นอะไรกับอาการ อาการไม่ได้เป็นใจ  ขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ได้มีส่วนไหนเป็นใจเลย  

กายไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่กาย  เวทนาไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่เวทนา  คิดไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่คิด  ปรุงไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ปรุง  อดีตไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่อดีต  อนาคตไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่อนาคต  เราไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่เรา  เอาดิ รู้เข้าไปดิ อะไรเกิดขึ้นก็รู้เข้าไปดิ  เห็นมั้ย มันมีรู้อีกอันอยู่ตลอด 

เนี่ย เขาเรียกว่าถอนใจออกจากอุปาทานขันธ์ก่อน  ถอนไปเรื่อยๆ  เหมือนดึงหนังสะติ๊กอ่ะ ดึงเข้าไป ๆ  เห็นมั้ย พอดึงปุ๊บ ถ้าเราไม่มีแรงพอที่จะดึงอยู่อย่างนี้นะ มันก็ดึงกลับเข้าไปคืนเลย  ดึงอีก ต้องขืนนะ  ไอ้ที่ขืนนั่นคืออะไร คือสมาธินะ ต้องมีแรง ต้องตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนี้นะ

ถ้าไม่ตั้งมั่นปล่อยหนังสะติ๊กปั๊บ อึ๊บ มันคืน ดึงกลับไปปนกันอีก  ดึงอีกๆ ๆ  ถ้าตั้งมั่นจริงๆ ดึงอีก  ทั้งๆ ที่ว่าอึดอัด อดทน คับข้อง  มันจะดึงให้กูกลับไปยุ่งกับมันให้ได้ กูก็ไม่ไป กูก็รู้อยู่อย่างนี้ เอาดิ ดึงอยู่อย่างนี้ มันจะขาดมั้ย  ...เข้าใจมั้ย เอามันจนขาดน่ะ

ขาดเมื่อไหร่ก็ ปึ้งเลย หลุดลอยไปแล้ว  อะไรที่ลอยไป ...ความคิดเช่นนั้น อารมณ์เช่นนั้น ความรู้สึกเช่นนั้น...ว่าเป็นเรา ของเรา  นี่ มันจะขาดกันอย่างนี้  ไม่ได้อาศัยความคิดอะไรเลย ไม่ได้พิจารณาอะไรเลย  รู้โง่ๆ รู้ตรงๆ  อะไรเกิดขึ้น...รู้ๆ  รู้...เห็นๆ  สองอาการ รู้...เห็น  โง่มั้ยนี่ ...โง่...ไม่มีความรู้อะไรเลย  แต่ชื่อน่ะ ปัญญาวิมุติ

ชื่อน่ะบอกว่า ปัญญาวิมุติ คือรู้...ปัญญาโดยตรง  ชื่อปัญญาโดยตรงไง  คือพอรู้ปุ๊บเห็นใจปั๊บเลย ... ไอ้ที่ไม่ใช่ปัญญาวิมุตินี่  ความรู้มากมายนี่เรียกว่าเจโตวิมุติ หรือเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ  จะทำอะไรก็ตาม โอ้โห มันรู้ไปละเอียดถี่ถ้วน สภาวะนั้นสภาวะนี้...ได้หมด’ …  แต่กว่าจะตีตะล่อมคืนกลับมาสู่ใจนี่...แทบตาย

นั่งสมาธิหลับตาภาวนา สงบแล้วก็บอกว่าดี  อ่ะ ดี ... ดีไปดีมา ถามว่า ใครที่มันสงบ ใครที่มันนั่ง ใครกำลังสงบ มันไม่รู้อ่ะ  มันมีแต่สงบ มันมีแต่ต้องให้สงบ มันมีแต่ต้องสงบมากขึ้น แล้วสงบแล้วจะเกิดปัญญามากขึ้น เมื่อสงบแล้วเอาไปพิจารณาแล้วจะเกิดปัญญามากขึ้น

แล้วใครให้มึงมีปัญญา ใครที่รู้ว่ามีปัญญา ใครที่รู้ว่าอยากมีปัญญา ใครที่รู้ว่าไม่มีปัญญา  เห็นมั้ย ได้มาเยอะแยะ ทำมาเยอะแยะ...แต่ไม่เห็นใจเลย  กว่าจะตะล่อมกลับมาสู่ใจน่ะ...แทบตาย แทบรากเลือด

แต่ลักษณะรู้โง่ๆ นี่  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ นั่งก็รู้  แค่นั่งก็รู้ เห็นมั้ย ใจปรากฏแล้ว...ก็ตัวที่รู้น่ะ  แล้วเห็นกายตามความเป็นจริงมั้ย  พอรู้ปุ๊บ  เห็นมั้ย กายนี่เป็นอะไรไม่รู้  เป็นโครงๆ นึง เป็นก้อนนึง เป็นแท่งนึง  สัตว์ก็ไม่ใช่ คนก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่ใช่ เห็นมั้ย

มันไม่ได้ว่าอะไรเลย ใช่มั้ย มันเป็นอะไรก็ไม่รู้อันหนึ่ง  สวยก็ไม่ว่า ไม่สวยก็ไม่ว่า  เป็นอสุภะก็ไม่รู้ หรือเป็นสุภะมันก็ไม่รู้  มันเป็นอะไรไม่รู้  นี่ เห็นมั้ย เห็นกายตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่รู้ด้วยสตินี่

จะไปพิจารณาอะไรอีกล่ะ  เขาไม่ได้บอกเลยว่าเขาเป็นอะไร เขาไม่ได้บอกว่าเขาถูก เขาไม่ได้บอกว่าเขาผิด ใช่ป่าว  เขาเป็นสิ่งหนึ่งน่ะ  ตัวมันยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นกาย  เห็นมั้ย ตัวมันเป็นอะไรก็ไม่รู้ 

สุดท้ายนี่สติ พอดูไปดูมา จะเห็นกายไม่ใช่กาย ... อย่าว่าแต่กายเราเลย  เห็นกายไม่ใช่กาย  ไม่ต้องพูดว่าหญิง ไม่ต้องพูดว่าชาย  มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ที่นั่งอยู่ต่อหน้าใจดวงนี้  ใจที่รู้ที่เห็นนี่ ทำอยู่แค่นี้

โง่เข้าไว้  ไม่ต้องไปหาความรู้กับกายหรอก ไม่ต้องไปดูว่ามันเป็นยังงั้นยังงี้ ต่อไปมันจะเป็นยังงั้น  อันนั้นเป็นอีกวิถีหนึ่ง  เราไม่ต้องกังวลว่าถ้าไม่คิดแล้วมันจะไม่มีปัญญา ถ้าไม่เห็นกายเป็นยังงั้นยังงี้ ไม่ตาย ไม่แตก ไม่ดับ แล้วมันไม่มีปัญญา  มันเป็นแค่ความคิด

ไอ้ตัวที่คิดน่ะก็ดับ  มีความเห็นอะไรเกิดขึ้นมา ความเห็นนั้นก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับ มันไม่คงอยู่หรอก  แต่ถ้าเราไปไขว่คว้าหามัน แล้วพอได้มาปุ๊บ มันจะเกิดความพอใจ แล้วเกิดความหมายมั่น ยึดไว้  พอหายไปปุ๊บก็เสียใจ  ก็ทำอีกดูอีก ทำอีกดูอีก 

แล้วพอหายไป เสียใจก็บอกว่า เสื่อมแล้ว ไม่ดีแล้ว แย่แล้ว  มันหลงในอาการทั้งหมด บอกให้เลย  แต่ถ้ามีสติปุ๊บ ใจมันจะเด้งออกมาทันที คนรู้คนเห็นน่ะ พั้บๆ  แล้วอยู่ให้ได้ด้วยปัญญา คือเห็น...เห็นอยู่ เห็นอยู่เป็นสองอาการ  

จนมันไม่เข้ามาประชิดติดใจเลยอ่ะ  ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างดำเนิน  ขันธ์ส่วนขันธ์ รู้ส่วนรู้  จากนั้นไปน่ะมันจะเหลือแต่ขันธ์เปล่าๆ ที่อยู่คู่กันกับรู้เปล่าๆ

มันเป็นเราตรงไหนล่ะ หาเรายังไม่เจอเลย  ไอ้ตอนแรกว่าใจเราๆ  ดูไปดูมา อ้าว พอเป็น “เรา”...แล้วก็รู้ว่า “เรา”  พอ ใจเราแล้วก็เห็นว่าใจเรา เออ กลายเป็นว่า ใจเราไม่มีแล้ว  มีแต่ ใจรู้ มีแค่รู้ มีแต่ที่รู้ที่เห็น อาการรู้อาการเห็น

เห็นมั้ย มันมีหน้ามีตามั่งมั้ย มันมีรูปลักษณ์มั้ย  ไอ้คนรู้คนเห็นน่ะ ดูดิๆ ตรงเนี้ย  ไอ้คนที่เห็นกายมันมีหน้าตาตัวตนตรงไหน ... ดูไปบ่อยๆ  

มันเป็นแค่สภาวะหนึ่ง...ที่จะว่าเป็นจุดก็ไม่ได้ จะว่าเป็นแผ่นก็ไม่ได้ จะว่ามันอยู่ตรงไหนก็ไม่ได้ จะว่าเป็นกลุ่มก้อนอะไรก็ไม่ได้  ...มันเป็นแค่สภาวะที่เกิดปุ๊บ แล้วก็รู้เห็น แค่นั้นเอง  เห็นมั้ย

เห็นอยู่ตรงนั้นบ่อยๆ ดูอาการนั้นบ่อยๆ  แล้วจะเห็นเลยว่า มันเป็นเราตรงไหนวะ หน้าตาเหมือนเราตรงไหนวะ ... ไม่มี ไม่เห็นมีอะไร  มีแค่รู้เห็นๆๆ  แน่ะ ใจเป็นแค่รู้เห็น  แล้วอาการน่ะมันเป็นเราตรงไหน 

ถ้ามันเป็นเรา...เวลาอาการมันเปลี่ยน หรือความคิดมันเปลี่ยน หรือความคิดมันดับ หรืออารมณ์มันดับ  ถ้ามันเป็นเรา...เราก็ต้องตายดิ เราจะต้องทุพพลภาพน่ะสิ ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของเราน่ะ   

ทำไม พออารมณ์มันดับ ความคิดเราดับ ความคิดเรามันหายไปปุ๊บนี่  ตัวเราจะต้องขาดไปดิ ใช่มั้ย  ตัวเราก็ยังอยู่อ่ะ  ทำไมยังมีชีวิตอยู่ล่ะ แล้วมันเป็นเราตรงไหน มันมีเราตรงไหน  

มันเป็นแค่ซากอะไรก็ไม่รู้  เป็นแค่กอง  เข้าใจคำว่าขันธ์มั้ย  ขันธ์นี่มันเป็นกองๆๆๆๆ  กองขันธ์มี ๕ กอง  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 

รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็รวมทั้งวิญญาณด้วย  วิญญาณนี่เข้าไปรู้ตามขันธ์ทั้งสี่  แต่พอแยกออกมาปุ๊บ มันก็เป็นแค่กองหนึ่งน่ะ  

ไอ้กองนี้มันจะเป็นอะไรก็ได้ ใครจะให้ชื่อว่ายังไงก็ได้ ไม่ให้ชื่อมันก็ได้  ไม่ต้องเลี้ยงมัน นี่ โตมานี่ เริ่มต้นตั้งแต่เกิดจนอายุป่านนี้แล้วนี่ ไม่ต้องไปทะนุถนอมบำรุงมัน  มันก็เติบโตของมันไปเองนะเนี่ย วันยังค่ำมันก็เติบโตของมันเอง  

ไม่ต้องคอยบอกคอยสอนว่ากายของเรานี่เราจะต้องเลี้ยงมันนะ มันก็เติบโตไปของมันเอง  ไม่ได้ใส่ใจสนใจ มันก็เติบโตของมันเองอย่างนี้  เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลยน่ะ เขาก็อยู่ของเขาเองตามเหตุปัจจัยของเขา  เห็นมั้ย อารมณ์เขาก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของเขา  ความรู้สึก จิตดี จิตร้าย เขาก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

คือมองแค่นี้ก่อน  อย่าเอาถูกเอาผิด อย่าเอาสมมติและบัญญัติมาบอกว่าควร-ไม่ควร ใช่-ไม่ใช่ ชอบ-ไม่ชอบ ดี-ไม่ดี  ถ้าเอาสมมุติมาเป็นตัวกำหนด  ตัวสมมุตินี่แหละคือตัวที่จะบดบังวิมุติ จะบดบังความเป็นจริงของขันธ์  มาคาอยู่แค่บัญญัติ มาคาอยู่แค่...สมมุติว่าดี สมมุติว่าเลว สมมติว่านี่เป็นกิเลส สมมุติว่านี่ไม่ใช่กิเลส

ถ้าดูในลักษณะของปัญญาที่เป็นปัญญาวิมุตินะ ไม่มีอะไรเป็นกิเลส ทุกสิ่งทุกอย่างคืออาการ ... กิเลสไม่ใช่พ่อใช่แม่ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่ใช่เป็นตัวของเรา ไม่ใช่เป็นสัตว์ ไม่ใช่เป็นบุคคล  ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้เป็นของเรา ไม่ได้เป็นของคนอื่น  มันคือสักแต่ว่า เห็นมั้ย

มันมีวิญญาณมั้ย มันมีชีวิตจิตใจมั้ย  มันไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอะไรของใครเลย และมันก็ไม่ได้บอกว่าเป็นของเราเลย  แต่ด้วยความหมายมั่นว่า เนี่ย เป็นโกรธ ใส่ชื่อมัน  ก็มีความรู้สึกเป็นลบ เป็นปฏิฆะ  ไม่พอใจ ไม่ชอบอารมณ์นี้  สิ่งนี้ที่เขาเรียกว่ากิเลส...ต้องหาทางทำลายล้างมันให้หมดจดให้หมดโคตรเลย  เนี่ย กลายเป็นปฏิฆะกับกิเลสอีกแล้ว เพราะบัญญัติ

แต่ถ้าเรามองแบบด้วยจิตที่เป็นธรรมดา คือรู้เฉยๆ  รู้ แล้วก็มองเป็นแค่อาการ  มันก็เหมือนกัน   มันก็ไม่แตกต่างกับสงบ มันก็ไม่ได้แตกต่างกับสภาวะที่เราเรียกว่าเป็นธรรม  มันก็คืออาการหนึ่ง...เกิดขึ้น...ตั้งอยู่ตามเหตุปัจจัย...สุดท้ายมันก็ดับไปเป็นธรรมดา  แค่เนี้ย 

ถ้าเรามองด้วยจิตเป็นธรรมดา เห็นเป็นธรรมดาเมื่อไหร่ มันจะยิ่งห่างกัน  เมื่อมันยิ่งห่างกันเท่าไหร่  เวลามันเกิดขึ้นปุ๊บนี่ เฮ่อ ปุ๊บเลย หลุดเลย  ไม่ว่าอะไร ไม่ว่าอาการอะไร  มันจะไม่เข้าไปแช่ ไม่เข้าไปนอนเนื่องกับอาการ  ไม่ไปนอนเนื่องกับธรรมารมณ์ ไม่ไปนอนเนื่องกับจิต ไม่ไปนอนเนื่องกับเวทนา ไม่ไปนอนเนื่องกับขันธ์กับกาย  เห็นมั้ย มันแค่ สักแต่ว่า...เออๆ แค่นั้นแหละ

ปล่อยเลย ปล่อยเลย  สุดท้ายนี่อาการของขันธ์ หรือขันธ์กับอาการรู้นี่ มันจะอยู่คู่กันเหมือนน้ำกับน้ำมัน  มันไม่มีทางปนกันเลย มันจะไม่มีทางกลับมาปนกันได้อีกเลย  นี่คือจิตพระอริยะนะ  ท่านแยกออกถึงขนาดนั้น

แต่พวกเรานี่มันแยกออกไม่เป็นน่ะ  เดี๋ยวเข้ามากลายเป็น “เสี่ยว” เลยเสี่ยวกูเลย  ...นี่ล่ะอารมณ์ของกูเลย สภาวธรรมของกูเลย กอดรัดฟัดเหวี่ยงเป็นของกูเลย เหมือนอะไร ...เหมือนน้ำกับสีน้ำ  เขย่ากันเมื่อไหร่ เฮ่อ แยกไม่ออก แยกไม่ออกเลย  ใส่สีดำก็ดำ ใส่สีเขียวก็เขียว ใส่สีขาวก็ขาว เอาดิ

แล้วก็สำคัญว่า เนี่ย ใจเราขาว ใจเราดำ  ทั้งที่ว่าน้ำกับสีดำมันปนกัน  ทำยังไงถึงจะรู้ล่ะว่ามันเป็นน้ำ ดูยังไงก็ดูไม่ออก เพ่งเท่าไหร่ก็หาไม่เห็น  มีแต่สติเท่านั้นที่จะแยกออกว่า...ใจอันหนึ่ง กับอาการอันหนึ่ง 

แต่ว่าด้วยความคุ้นเคย เคยชิน  เดี๋ยวมันก็จะเข้าไปเขย่าปนกันอีก ด้วยอำนาจของตัณหาและอุปาทาน  อันนี้เรียกว่าอะไร  อันนี้เรียกว่าต้องมีความเพียร รู้บ่อยๆ  อย่าเหนื่อย อย่าเบื่อ อย่าท้อ...อีกแระ ..อีกแระ... อีกแระ

หูย พระอริยะน่ะ  อีกแระอีกหลายล้านๆ อีกแระเลย  ท่านไม่ท้อนะ ท่านไม่ท้อกับอุปนิสัย หรืออนุสัย หรือสันดาน หรือความเคยชิน  

กิเลสที่หมายมั่นเกิดจากความเคยชิน  มันเคยชินในการเข้าไปปรุง เข้าไปรวมกับอารมณ์ เข้าไปรวมกับอาการของขันธ์  เนี่ย เป็นมาอเนกชาติสังสารัง นับภพนับชาติไม่ถ้วน  ไม่ต้องสอน ไม่ต้องบอก มันเข้าไปเอง มันเข้าไปหมายมั่นเอาเองเลย  ด้วยความเป็นจริงเป็นจัง เป็นตุเป็นตะ  ปั้นน้ำเป็นตัวอยู่ตลอด 

เมื่อจะสร้างวิถีใหม่แห่งธรรม หรือวิถีแห่งความเป็นจริงขึ้นมา  ต้องขยันเจริญสติบ่อยๆ  รู้แล้วให้มันเห็นบ่อยๆ ว่ามันเป็นแค่อาการ  ไม่ว่าอะไรน่ะ อย่าอ่อนข้อให้มัน อย่าไปบอก เออๆ อันเนี้ยดีๆ สบาย ไม่มีอะไร พอรู้ว่าไม่มีอะไร สบาย  ปล่อยเลย สบายๆ ใจเราสบายแล้ว 

เออ ใจเราสบายแล้วนั่นคือใจเราหมายมั่นในสบายแล้ว ใจเราไปนอนเนื่องกับไม่มีอะไรแล้ว ปล่อยเลย  สติก็ปล่อย กลายเป็นว่าใจกับไม่มีอะไรกลายเป็นอันเดียวกัน

ใจไม่เคยไม่มีอะไร ใจไม่เคยมีอะไร  ใจมีแต่รู้ และก็ไม่มีอะไรเป็นสิ่งถูกรู้  สบายก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง  ใจไม่เคยสบายนะ ใจมีแต่รู้  แล้วก็สบายเป็นแค่อาการหนึ่ง อย่างนี้ 

ปล่อยไม่ได้  ปล่อยเมื่อไหร่ มันรวม เข้าไปรวมกับขันธ์  มันไม่ได้รวมธรรมดา มันรวมด้วยอุปาทานขันธ์  เมื่อรวมแล้วก็เกิดความหมายมั่นว่า “เป็นเรา” “ของเรา”  

เมื่อรวมกันนานๆ ปุ๊บ มันจะเกิดความยึด...เป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน  เริ่มจากของเรา ตัวเราของเราก่อน แล้วมันจะเริ่มยึดไปเรื่อยๆ  จนมันยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้นเลย เป็นภพเลย

อย่าเสียดาย ... เมื่อรู้แล้วอย่าเสียดาย อย่าอาวรณ์ อย่าอาลัย  ทิ้งมันได้ก็ทิ้ง  เช่น คิด ... พอรู้ว่ามันคิด ก็รู้อ่ะนะว่ามันคิด  ก็อาการคิด แล้วก็รู้อยู่แล้ว ...แต่ ...กูยังคิดไม่จบว่ะ (เสียงหัวเราะกัน) ..ต่ออีกหน่อยๆ ให้มันจบเรื่อง จะได้วางได้สมบูรณ์หน่อย ...ไม่ได้  

รู้ตรงไหน ละได้...ละ  อย่าต่อ อย่าอ่อนข้อให้มัน  อารมณ์เหมือนกัน เล็กๆ น้อยๆ อย่าปล่อย ... เออ พอรู้ปุ๊บแล้วว่า ช่างหัวมันเหอะ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง ปล่อยเดี๋ยวมันก็สลายไปเอง  ...ไม่ได้  ต้องตั้งมั่นอยู่ที่รู้ตลอดอยู่นะ อย่าประมาท  

ไอ้ความประมาทเลินเล่อเผลอเพลินพวกนี้ จะทำให้เกิดความท้อความขี้เกียจ  แล้วก็จะหลงเข้าไปซ้ำซาก แล้วก็จะไม่รู้ตัว ... เวลามันส่งผลขึ้นมาล่ะ  เอาแล้ว เอาไม่ออกแล้ว  จมกับมัน  พอเอาเข้าจริงไปจมกับมันในห้วงทุกข์จริง ๆ  ถอนไม่ขึ้นแล้ว

มันต้องตั้งมั่นให้ได้ ตั้งมั่นอยู่ที่ใจรู้...เห็น  รู้เห็นๆ อยู่ที่ดวงใจ  อยู่ที่ใจอันเดียว ไม่ไปที่ใจหลายดวง  ไม่ไปอยู่ที่ใจที่เกิดๆ ดับๆ  ไอ้ดวงจิตที่เกิดๆ ดับๆ ตามอารมณ์ ตามอาการ ตามหู ตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามโผฏฐัพพะ ตามอารมณ์ความปรุงแต่ง  พวกนี้ ล้านแปดพันเก้า ไม่มีประมาณ  ใจเกิดดับพวกนี้ ไปตามกับมัน...ตายแน่ มันพาเราฟัดเหวี่ยงตาย

แต่ถ้าอยู่ที่จิตดวงเดียว คือจิตรู้จิตเห็น มีอาการรู้อาการเห็น  นั่นแหละต้นตอ นั่นแหละคือเหตุ  จะแก้ต้องแก้ที่เหตุ จะละ...ต้องมาละที่เหตุ จะเห็นต้องกลับมาเห็นที่เหตุ ที่เดียวเท่านั้น 

แล้วเหมือนกับเล่นว่าวล้านตัวในที่เดียวกัน คือมันจับอยู่ที่ต้นของปลายเชือกอยู่ที่เดียวกันแล้ว จะอีกกี่ตัวก็ไม่สนล่ะ  เพราะตรงนี้มันเล่นได้หมด มันคุมได้หมด

ขอให้เห็นใจ ขอให้อยู่ที่ใจ ขอให้รู้เห็นอยู่ที่ใจที่เดียว ไม่ต้องรู้อะไรมาก  ใครเขาจะมีความรู้ ใครเขาจะเห็น ใครเขาจะมีทิฏฐิ  ใครเขาจะมีความเห็นว่าเขาเห็นกายเป็นอย่างนี้ เขาเห็นกายแตกดับ เขาเห็นกายสลายต่อหน้าต่อตา เขาเห็นกายเป็นอสุภะ เห็นกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นฌานนู้นนี้... ไม่สน

กูไม่สน กูรู้อย่างเดียว เห็นอย่างเดียว  คือรู้..เห็น รู้..เห็น อย่างเดียว  เห็นมั้ย มีความรู้อันเดียว อยู่ที่ความรู้อันเดียว  แค่เนี้ย เอาตัวรอด...เอาตัวรอด ทะลุออกจากสังสารวัฏได้ 

เหมือนกับรูช่องทางลอดไปออกจากวัฏฏะ มันพอดี๊พอดี  มันพอดีเฉพาะให้ไปแค่รู้เฉยๆ  ถ้าเกินรู้ไปนิดนึงนี่ มันติดแล้ว  ช่องนี้มันพอดีกับรู้เปล่าๆ ... ถ้าใส่แหวนไปสักนิ้วนึง ปุ๊บ...ติด  จะทิ้งก็เสียดาย...รึเปล่า  อันนี้แหวนแต่งงานนะเนี่ย (เสียงโยมหัวเราะกัน)

ทิ้งก่อน ... ต้องอด ต้องตัดใจทิ้ง  อ่ะ ไปอีก เอ้า ติดรองเท้านี่อีกแระ เสื้อผ้าอีก  เสียดายมั้ย ...อย่าเสียดายนะ  เพราะว่าช่องนี้เขาบีบบังคับน่ะ  ถ้าจะหลุดออกจากสังสารวัฏนี่  ประตูแห่งมรรค ประตูนิพพานนี่...อนุญาตให้เฉพาะใจผู้รู้ดวงเดียวเท่านั้นนะ   Accessories...ไม่อนุญาต ไม่อนุญาตเลยนะ

ใจล้วนๆ เลยนะ ... ต้องรู้อย่างเดียว ไม่มีอารมณ์ติด ไม่มีอารมณ์เนื่อง ไม่มีอาภรณ์ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งที่ห่อหุ้ม  ลอกคราบจนหมดก่อน แยกใจออกจากทุกสภาวะธาตุ ทุกสภาวธรรม  ไม่ว่าจะหยาบ ไม่ว่าจะละเอียด ไม่ว่าจะประณีต...ปราณีตจนถึงขั้น ไม่มี

กระทั่ง ไม่มียังไม่เอาไปด้วยเลย  ไม่ว่ารูป...จะเป็นรูปหยาบ รูปละเอียด รูปประณีต  ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นรูปไกลรูปใกล้ รูปไกลนู้น รูปที่ผ่านมานู้น...ก็ไม่เอา  ไม่ว่านามที่...จะอยู่ใกล้ อยู่ไกล อยู่นู้น ผ่านมาแล้วนู้น...ก็ไม่เอา 

ที่มันเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น  ล้วนไม่จริงทั้งสิ้น  ที่จริงคือ...รู้อันเดียว ... ทิ้งอย่างเดียว แล้วไม่ต้องถามเลยว่าเมื่อไหร่จะรอดได้  ...ดูเอาเอง 

ที่มันไปไม่ได้ เพราะว่า accessories มันเยอะ พะรุงพะรัง  เสียดาย อาวรณ์ อาลัย...คนนั้นมั่ง คนนี้มั่ง สงสารคนนั้น สงสารคนนี้ อารมณ์คนนั้น เรื่องคนนั้น เรื่องคนนี้ เรื่องของเรา เรื่องของเราในอดีต เรื่องของเราในอนาคต เรื่องของเราในปัจจุบัน อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ อันนั้นก็ดี อันนั้นก็ไม่ดี ...เยอะไปหมด  มันจะไปได้มั้ยนี่ 

ถ้าจะไปต้องเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว  อยู่ที่รู้ที่เดียวเท่านั้น ... อย่าเสียดายอารมณ์ อย่าเสียดายกิเลส อย่าเสียดายความรู้สึก อย่าเสียดายสิ่งที่เราคิดว่าดี อย่าเสียดายสิ่งที่เราคิดว่าไม่ดี อย่าเสียดายคนนั้น อย่าเสียดายคนนี้ อย่าเสียดายแม้กระทั่งสภาวธรรมที่เราคาดที่เราหวัง  

นิพพงนิพพาน...กูไม่เอาแล้ว กูไม่สนแล้ว กูรู้อย่างเดียว  นิพพานยังเป็นที่คาดหวังอีกนะ  สภาวธรรม โสดาบัน สกิทาคา อนาคา  กูก็ไม่เอาแล้ว  รู้อย่างเดียว รู้อย่างเดียว  ใครว่าเป็น กูไม่สน กูรู้อย่างเดียว  เอารู้ไปตัวเดียว เอาให้รอด  แล้วตัวรอดใจรอดได้เมื่อไหร่...สบาย  ใครเขาเป็นอะไรก็ให้เขาเป็น ใครเขาไม่เป็นอะไร...กูไม่สนกู รู้อย่างเดียว  

แล้วถึงตรงนั้นแล้วจะรู้เองว่าสบาย  สบายกว่ามีสภาวธรรมเยอะเลย สบายกว่าเป็นพระโสดาบันเยอะเลย  มันมีโสดาบันกันเยอะเดี๋ยวนี้ ภูมิก็เยอะ  โหย ไปไหนก็เป็นภูมิ แบกภูมิไปบานเลย เต็มไปหมด กะโตงกะเตง  เวลาพูดก็รู้สึกจะมีก้ามๆๆๆ ออกมาด้วย  ภูมิธรรมทั้งน้านนน ภูมิธรรมหนาแน่นกัน  ...ไม่รู้ภูมิธรรมหรือภูมิกิเลสก็ไม่รู้

แต่ใจจริงๆ เป็นใจที่อิสระ ไม่มีอะไรเลย มีรู้อย่างเดียวๆ  แม้จะเอารู้รอดไปแล้วนี่ยังไม่หลุดเลย บอกให้ ยังไม่จบเลย  อย่าไปเอาอะไรติด แม้แต่สภาวะไหนติ่งนึง ... ออกไปรอดไปแล้วเนี่ย ยังต้องไปทำการชำระรู้นี้อีก ... แล้วจะหาอะไรกันอีก แล้วจะทำอะไรกันอีก

ไอ้ที่ทำและเคยทำมาน่ะ มันส่งผลมาอยู่นี่  ยังไม่เข็ดอีกเหรอ  ไอ้ที่ได้รูปอย่างนี้ ไอ้ที่ได้สิ่งแวดล้อมมาอยู่อย่างนี้  ชีวิตครอบครัว ชีวิตการงาน  อันนี้คือผลของการกระทำมาทั้งนั้นแล้ว  ยังไม่พออีกเหรอ  ยังไม่สามารถแยกออกจากสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ตรงนี้อีกเหรอ  ยังจะไปหาให้มันมีให้มันเป็นเพิ่มอีกเหรอ

ต้องกล้าที่จะทิ้งก่อน  แล้วกลับมาอยู่ที่รู้ให้ได้  พระพุทธเจ้าท่านสอนอุบาย ท่านให้เครื่องมือมาแล้ว คือสติ มหาสติ  และให้มาตั้งมั่นอยู่ที่ใจด้วยสมาธิและปัญญาให้ได้  ไม่ได้ก็ต้องได้  เพราะมันไม่มีวิธีอื่น 

มันเป็นวิธีที่ไม่มีวิธี  เพราะมันเป็นจริง มันเป็นของจริง  แล้วมันมีอยู่ตลอดเวลา ทำได้ตลอดเวลา   ไม่ขึ้นกับกาลเวลา สถานที่ และบุคคล ... อย่ามาอ้าง อย่ามีข้ออ้างนะ  มีผัว มีเมีย มีลูก...ทำไม่ได้   มีงาน...ทำไม่ได้  กำลังสับสนวุ่นวาย...ทำไม่ได้  อย่าอ้างนะ

รู้ได้ทุกที่นะ  สติหยั่งลงไป ระลึกขึ้นมาปั๊บ มันเห็นได้ทันทีว่า...ใจอยู่ตรงนั้นเลย  ไม่ว่าตรงไหน ไม่ว่าสภาวะจะเป็นเช่นไร ...รถจะตกเหวตายชนกันต่อหน้า ปุ๊บ ก็รู้ได้ตรงนั้นเลย บอกให้  อย่ามาอ้างว่าเวลานั้นไม่ใช่เวลาควรตายนะ  ตายเค้ายังไม่เลือกเวลาตายอ่ะ

ใจ...ไม่เคยหายไปจากดวงจิตจากกายอันนี้เลย แม้แต่ขณะจิตหนึ่ง  อย่าไปคิดว่าต้องมาอยู่ตรงนี้ ต้องมาอยู่ต่อหน้าเรา ต้องมาอยู่ต่อหน้าพระ ต้องมาอยู่ในที่รโหฐาน ต้องไปอยู่ในห้องพระ ต้องไปอยู่ในป่าในที่วิเวก ต้องอยู่คนเดียว...แล้วถึงจะเห็นใจ  อย่ามาอ้างนะ

ถูกด่า...โกรธ...ต้องรู้แล้ว ใจปรากฏอยู่ตรงนั้น  แม้แต่ไม่มีอะไร สบายๆ  ก็ต้องรู้แล้วว่าสบาย ใจก็อยู่ตรงนั้นแล้ว  เห็นมั้ย ดูตรงไหนก็เห็นอยู่ตรงนั้นแล้ว  ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปขุดค้น  อู้หูย หาสภาวธรรม หาวิธีการปฏิบัติแทบเป็นแทบตายเลย ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้  

อุบายไม่รู้กี่อุบายเข้าไปแล้ว  เดี๋ยวกูกำหนดลม  เดี๋ยวก็มาพุทโธ เดี๋ยวก็มาเจริญสติ เดี๋ยวก็มาเดินจงกรม  เอ้า ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง  อุ้ย เยอะแยะไปหมด  กูยังหาใจไม่เจอเลย  มีตั้งหลายวิธียังหาใจไม่เจอเลย  ... ยิ่งหายิ่งถูกปิดบัง

กลับมารู้อยู่ในปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน ... ไม่รู้อะไร สับสน แยกอะไรไม่ออก  กลับมาดูสิ  นั่ง...ก็รู้ว่านั่ง  เห็นมั้ย ง่ายที่สุดน่ะ  commonที่สุด สามัญที่สุด  แต่เราไปมองหาอะไรที่มันไกลเกินไปอ่ะ  หาไกลออกไป มองข้ามขณะปัจจุบัน

กายเป็นมรรค ใจเป็นมรรคอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปหาที่ไหน

มันกลายเป็นกบเฝ้ากอบัว  ... กบนี่มันอยู่กับบัว  บัวนี่มีคุณค่าถวายพุทธะเป็นพุทธบูชา ถวายพระ ถวายเป็นของสูง  แต่กบมันอาศัยแค่เป็นที่มันนอน  มีอะไรมันก็กระโดดโผไปจับตรงโน้น แมลงมามันก็ไปจับ ไปเล่นน้ำว่ายน้ำไป  สุดท้ายก็มาเห็นว่ากอบัวนี่เป็นที่อยู่แค่นั้นเอง ไม่มีสาระไม่มีประโยชน์

เราอยู่กับกาย เราอยู่กับใจของเรา ... เรามองกายใจ เหมือนกับกบที่เฝ้ากอบัวหรือเปล่า  ทำไมไปหาอะไรที่มันออกนอกกายนอกใจ  ออกนอกกายปัจจุบัน ออกนอกใจปัจจุบัน เกินไปรึเปล่า ... สอบทานดู

แต่ถ้ากลับมาเห็นคุณค่าของกายของจิตปัจจุบัน แค่เนี้ย มรรคอยู่ตรงนี้แล้ว  ใจก็ปรากฏเด่นชัดอยู่ตรงนี้แล้ว ว่ารู้..เห็น รู้..เห็น ...  จะต้องไปทำอะไร  ธรรมเขาแสดงอยู่ทนโท่อยู่ตลอดเวลา แต่เรากลับวิ่งหนีธรรม โดยเข้าใจว่านั่นเป็นการหาธรรม

แต่เราบอกว่าหนีธรรม  หนีธรรมที่เป็นจริงในปัจจุบัน  ไปหาเอาในความฝันรึไง หาเอาข้างหน้าว่า ทำๆ ไปเดี๋ยวก็ดีเอง เดี๋ยวก็เจอเอง อย่างนี้หรือ  เหมือนข้าวคอยฝน  มันจะแล้ง หรือมันจะน้ำท่วมก็ไม่รู้นะ  โอ้โฮ เดี๋ยวก็ว่า ..แต่ว่าถ้าโชคดีปีนี้นะก็คงขายได้ราคา ถ้าฝนมาตามฤดูกาล’ … เอาแน่ได้มั้ย 

การปฏิบัติ...อย่าให้เป็นข้าวคอยฝน  ปัจจุบันธรรม ปัญญาวิมุติ...รู้ตรงนี้ เห็นตรงนี้ ละตรงนี้  ไม่ต้องว่าชาติหน้าค่อยละ ไม่ต้องถามว่าชาติหน้าค่อยเข้านิพพานเอาชาติหน้า  เอาเดี๋ยวนี้ ไม่มีให้เยิ่นเย้อ ยืดเยื้อ  รู้ตรงนี้ ละตรงนี้  กลับมาอยู่ที่ใจในปัจจุบันตรงนี้

ไม่ได้...กูก็ไม่ไปไหน กูก็อยู่ตรงเนี้ย  ชาติหน้ากูไม่เอา กูจะเอาตรงเนี้ย  ดูซิ มันไปไม่ได้ให้มันรู้ไป  พระพุทธเจ้าถึงการันตีแล้ว ยืนยันแล้วยืนยันอีกในเรื่องของมหาสติปัฏฐาน  ท่านไม่ได้พูดถึง 7 ชาติเลยนะ  ..7 ปี 7 เดือน 7 วัน แค่เนี้ย 

พวกเราน่ะ เหมือนศาสดาหัวแหลม เก่งกว่าพระพุทธเจ้า  ทำไปเพื่อคาดเอาว่าชาติหน้าค่อยสำเร็จ สร้างให้เป็นบารมีสะสมไป  ทำบุญก็อธิษฐานขอให้เกิดมาได้ถึงนิพพานในครั้งต่อๆ ไปของการเกิด ... ทำไมล่ะ  ก็มึงเกิดมานี่แล้ว ทำไมมึงเอานิพพานไม่ได้รึไง  

พระพุทธเจ้าท่านยืนยันบอกว่าเดี๋ยวนี้  ไอ้อย่างเลวสุดๆ โง่สุดๆ เลย ไม่มีปัญญา ไม่มีบารมีอะไร ไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลย  ท่านบอกเอามันไปเลย 7 ปี  สติปัฏฐาน...ทำเถอะ แต่ทำให้มันตรง  ไม่ใช่สติเลอะเทอะเปรอะเปื้อน รู้แล้วก็ไหล รู้แล้วก็ออก รู้แล้วก็ไป รู้แล้วก็ไปหา รู้แล้วก็ไปดู ไปจดไปจ่อ ไปจ้องไปเพ่ง 

แต่รู้แล้วให้เห็น  เห็นอะไร  เห็นความเป็นจริงของสองอาการ  ขันธ์อันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง  ขันธ์คืออาการ ... รูปและนามอันนึง  กับรู้อันนึง แค่เนี้ย  แล้วให้ตั้งมั่นด้วยสติ สมาธิ ปัญญา  อยู่ที่ใจ อยู่ตรงนั้นล่ะ ๆ  ตอกหัวตะปูย้ำลงไปๆ ให้แน่น อยู่ตรงนั้นน่ะ

แรกๆ  ไอ้ตรงใจนี่มันก็จะเหมือนกับขนนก วางไว้ตรงนี้  ไม่ต้องมีพายุหรอก แค่ลมเป่าปุ๊บ...ปลิวแล้ว  ก็ย้ำสติลงไป จนมันเป็นแผ่นดิน จนมันอยู่ที่ใจตั้งมั่นเหมือนแผ่นดิน  เออ เหยียบไปตรงไหนอ่ะ  มีตรงไหนมั่งที่ไม่โดนดิน  เหมือนกำปั้นทุบดินน่ะ ทุบตรงนี้ก็ลงดิน เพราะเรายืนอยู่บนดิน เข้าใจมั้ย  ดินมันมีอยู่แล้ว  นั่นแหละที่เขาเรียกว่าเหมือนใจพระอริยะ ท่านตั้งมั่นเหมือนแผ่นดิน เพราะมันมีอยู่ตลอด

แต่พวกเราแรกๆ น่ะ  มันไม่ใช่เหมือนแผ่นดินนะ  มันจะเป็นเหมือนขนนก เหมือนปุยนุ่น  พอโดนเสียงปั๊บ...ไหลๆ ไหลแล้ว  พอเห็นรูปปั๊บ...ปลิวแล้ว  ผู้รู้หายไปไหนไม่รู้แล้ว ไปกลายไปเป็นรูป ไปกลายไปเป็นเสียง ไปกลายไปเป็นรถ กลายไปเป็นอดีต กลายไปเป็นอนาคต  ไปปนกันไปหมดแล้ว

อันนี้อย่าท้อๆ ... อาวุธมีอยู่แล้ว สติมีอยู่แล้ว เจริญขึ้นมา...ปล่อยไม่ได้  อย่าไปบอกว่า สติต้องไม่จงใจ ต้องไม่เจริญ ให้มันเกิดขึ้นเอง ... เออ เกิดขึ้นเอง มันก็เกิดนะ ไม่ใช่ไม่เกิด  แต่มันไม่เพียงพอหรอก  มันต้องเจริญขึ้น เจริญขึ้นมา  

เราก็ไม่ได้พูดว่าจงใจ แต่ว่าเจริญขึ้นให้มันมากๆ  รู้บ่อยๆ รู้แล้วให้เห็น  ไม่ใช่ว่ารู้สักแต่ว่ารู้ไปเรื่อยเปื่อย รู้แล้วก็ไหลไปไหลมากับมัน  รู้แล้วให้เห็นใจรู้ใจเห็น ใครที่รู้อยู่ ใครนั่ง ใครกำลังพูด ใครกำลังเจ็บปวด ใครกำลังทุกข์ ใครกำลังอดทน ...มันมี

ทุกข์ไม่ใช่เรา ... มันมีคนที่ทนทุกข์อยู่ ใครล่ะ  อยู่ตรงนั้นแหละ  แม้จะเป็นใจเรา ก็ให้อยู่ที่ใจเรานั่นก่อนแหละ  ถอนออกมาจากไอ้ที่หยาบๆ เป็นรูปเป็นอารมณ์ก่อน  แล้วก็มาอยู่ที่ใจเรานั่นแหละ  อย่าหนีมัน อย่ากลัวมัน

นั่นแหละ เดี๋ยวก็เห็น  พอรู้ว่าใจเรา ใจเราก็ดู มันยังมีคนที่เห็นใจเราอีกน่ะ เห็นมั้ย  ใจมันเป็นอีแอบ มันซ่อนอยู่ข้างหลัง  เห็นมั้ย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง  

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกต้องโอปนยิโก น้อมกลับ ด้วยความ..โยนิโสมนสิการ ด้วยความแยบคาย  ต้องแยบคาย  ถอยกลับๆ ถอยกลับ ถอยจนไม่มีที่ให้ถอยน่ะ  จะรู้เองว่ามันมีอยู่ที่เดียวเท่านั้นที่มันสามารถตั้งอยู่ได้...คือใจ  

นอกนั้นเหลวไหล นอกนั้นไร้สาระ นอกนั้นไม่มีอะไร  ถอยไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นเองว่า นอกจากใจรู้อันนี้ไป...มันไร้สาระ  ขันธ์ทั้ง ๕ ว่างเปล่า สรรพสิ่งว่างเปล่า ... มันมีแค่เป็นไปตามรูปลักษณ์

เนี่ย โยมนั่งอยู่กับสิ่งที่มีอยู่ล้อมรอบตัวเอง ต้นไม้ ใบหญ้า อากาศ  แต่โยมไม่รู้สึกเลยว่ามันมี ทั้งที่มันมี  เพราะโยมไม่เคยออกไปให้ค่าให้ความหมายกับมัน  มันมีอยู่นี่ แต่โยมไม่เห็นเป็นสุขเป็นทุกข์กับมันเลย  จะบอกว่ามันไม่มีไม่ได้ เพราะมันมี  แต่มันมีในความว่างเปล่า เพราะมันไม่มีความหมาย

เนี่ย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า...ท่านมองเห็นทั้งหมดนี่เหมือนอย่างนี้ คือไม่ได้ให้ความสนใจกับมันเลย  ไม่บอกว่าถูก ไม่บอกว่าผิด ไม่บอกว่าเขียว ไม่บอกว่าแดง ไม่บอกว่าเหลือง  มองลงไปนี่ ท่านมองแบบไม่หมายมั่น ไม่มีว่าอะไรเลย ไม่มีว่าอะไรสักอย่าง

ทุกอย่างเป็นสันติ เป็นกลางหมด  ตัวของมันเป็นกลาง ไม่มีถูก ไม่มีผิด  มันเป็นแค่อาการ ไม่มีถูกนะ ไม่มีผิดนะ  เป็นอาการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  เห็นมั้ย ถ้าเราไม่ว่า ไม่มีคนไปว่า ไม่มีคนเข้าไปว่า...ว่ามันอย่างนี้ๆๆ  ทุกอย่างเขาก็สักแต่ว่ามี สักแต่ว่าเป็น

รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ให้เห็นเป็นสองอาการ  แล้วทุกอย่างมันจะแจ้งขึ้นเอง มันจะแจ้ง  ... ไม่ต้องคิดให้มันละ  มันละอยู่แล้วในขณะที่รู้และเห็น  แล้วมันเห็นอาการก็คือสักแต่ว่าอาการ จิตก็สักแต่ว่าจิต อารมณ์ก็สักแต่ว่าอารมณ์ กิเลสสักแต่ว่ากิเลส

เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ว่า หลวงปู่มีโกรธมั้ย  หลวงปู่บอก มี...แต่ไม่เอา  มี...แต่ไม่เอา  ทุกอย่างมันก็มี นี่ต้นไม้ใบหญ้ามี แต่เราไม่เอามาเป็นทุกข์หรือมาเป็นสุขกับเรา  เห็นมั้ย ถ้าเราไม่ไปยุ่งปุ๊บ  มันก็เท่าที่มันมี มันก็ตั้งอยู่ของมันตามธรรมชาติ ตามปกติ เป็นธรรมดาของเขาอยู่แล้ว

จะเกิดแก่เจ็บตายเมื่อไหร่ เรื่องของเขาอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกันเลย  ไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่มีใช่ ไม่มีไม่ใช่ ไม่มีใครควบคุม ไม่มีใครบังคับ  ทุกอย่างก็เป็นไปตามเหตุและปัจจัย  เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ตั้งก็ตั้ง เมื่อหมดเหตุให้ตั้งก็ดับ  เมื่อมีเหตุภายนอกเข้ามาทำให้เหตุปัจจัยนี้ตั้งอยู่ไม่ได้ มันก็ดับ 

เนี่ย เห็นมั้ย  ทุกอย่างจะมากขึ้นหรือน้อยลงตามเหตุและปัจจัย  ทุกอย่างเป็นปัจยาการทั้งสิ้น  ไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจยาการนี้เลย

แต่ด้วยความไม่รู้ของจิตโง่  มันสำคัญมั่นหมายว่า นั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น  มีเรา มีเขา เป็นคนทำ  นั่นแหละ มันถึงเดือดร้อน มันถึงมีปัญหา มันถึงมีเงื่อนไขกับทุกสิ่ง

จนกว่าจะไม่มีเงื่อนไขกับทุกสิ่ง  แล้วจะรู้เองว่าสบาย หมดปัญหา  เพราะทุกสิ่งไม่มีปัญหา เขาไม่เคยมีปัญหา  มีแต่จิตที่ไม่รู้เท่านั้นที่เข้าไปมีปัญหากับมัน

ความคิดไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กิเลสไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  รูปไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เสียงไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ...  มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่มากระทบใจที่เป็นความไม่รู้ มันจึงก่อทุกข์ด้วยความหมายมั่นกับอาการที่เข้าๆ ออกๆ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ...ถ้าเข้าใจแล้ว...ไม่ยาก  ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปทำ  รู้อย่างเดียว รู้ไปตรงๆ เห็นตรงๆ  ยอมรับทุกอาการที่ปรากฏด้วยความอดทน  แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ  ใจคือรู้ ใจคือเห็น ตรงนั้นแหละ  เอาใจที่รู้ที่เห็นนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ที่อยู่ ที่อาศัย  

ไม่อาศัยอาการเป็นที่พึ่งที่อยู่ ไม่อาศัยอารมณ์เป็นที่พึ่งที่อยู่ ไม่อาศัยความรู้สึกเป็นที่พึ่งที่อยู่  แต่อาศัยใจรู้ใจเห็นเป็นที่พึ่งที่อยู่  จึงจะเรียกว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์  พุทธะ ธัมมะ สังฆะ อยู่ที่ใจ รวมลงที่ใจนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่รูป หรือการปฏิบัติ หรือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา  แต่ท่านเป็นพุทธะด้วยใจของท่าน  แม้ใจของท่านก็ไม่ได้แตกต่างกับใจของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง คือใจรู้มีทุกคน  ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงก็สงเคราะห์รวมลงมาให้เห็นใจ  ให้เห็นใจที่เป็นกลาง ให้เห็นใจที่บริสุทธิ์

พระอริยสงฆ์ก็ไม่ใช่เป็นรูปทรงอย่างนี้  หรือพระ หรือคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ท่านเป็นที่ใจท่านบริสุทธิ์  เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งรู้อยู่ที่ใจ นั่นแหละเป็นที่อยู่ของไตรสรณคมน์ พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ... เอาเป็นที่พึ่ง  

อยู่ที่ใจจึงจะพึ่งได้ พึ่งตัวเองได้  อย่าไปอยู่กับพุทโธ อย่าไปอยู่กับลมหายใจ อย่าไปอยู่กับสงบ อย่าไปอยู่กับไม่มีกิเลส อย่าไปอยู่กับสบาย อย่าไปอยู่กับสุข อย่าไปอยู่กับทุกข์ อย่าไปอยู่กับอดีต อย่าไปอยู่กับอนาคตเป็นที่ตั้ง 

เมื่อตั้งแล้ว...รู้...แล้วอยู่ตรงนั้น  ตั้งแล้วเห็น ให้อยู่ตรงรู้เห็นนั้น ตรงนั้นแหละ แล้วจะเข้าไปใกล้กับพุทธะ ธัมมะ สังฆะ มากขึ้นและมากขึ้น  แล้วมันจะห่างไกลจากอาการมากขึ้นและมากขึ้น แล้วมันจะปล่อยอาการได้มากขึ้นและมากขึ้น

หลักการปฏิบัติมีแค่นี้  ให้ได้หลักนี้  อย่าออกนอกหลักนี้  อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับวิถีธรรมอื่นๆ  กุศโลบายอื่นๆ  อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อื่นๆ อย่างงั้นอย่างงี้  อดีตเป็นคนนั้น อดีตเป็นคนนี้ คำพูดของคนนั้น คำพูดของคนนี้อื่นๆ

ให้เห็นอยู่แค่สองอาการ...สิ่งที่ถูกรู้กับรู้...พอ   จึงจะเรียกว่าได้หลัก  แล้วไม่ออกนอกหลัก แค่เนี้ย เอาตัวรอดได้ ... รอดอะไร  เอาตัวรอดออกจากสังสารวัฏได้  ไม่หวนกลับมาอีก  เป้าหมายสุดท้าย จะไม่หวนกลับมาอีก ... แค่อาศัยหลักนี้หลักเดียวเท่านั้น

แต่พวกเรามันอดไม่ได้ที่มันจะมีความคิดสอดแทรก  รู้...แล้ววางทันที  กลับมาอยู่ที่รู้ จึงจะวางได้ ... อย่าให้มันมาตอแหล อย่าให้มันมาคลอเคลีย  แล้วถ้ามันมาคลอเคลีย หรือเราเข้าไปคลอเคลียกับมัน  คือ ถ้าหลงเมื่อไหร่นะ เราจะเข้าไปทำอาการ ...เหมือนกับเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว  เมื่อเข้าไปด้วยอาการที่ไม่รู้เมื่อไหร่ ความคิดความปรุงทั้งหลายมันจะถูกก่อรวมกันให้เป็นตัวเป็นตน

เคยเห็นทรายใช่มั้ย  ทรายที่เป็นเม็ดร่วนๆๆๆ มันไม่มีรูปร่างรูปลักษณ์อะไร  แต่ถ้าเราเข้าไปจับมันมารวมกัน พั้บ เอาน้ำผสานเข้าไป เอากาวเอาอะไรผสาน ปุ๊บ บีบให้แน่นๆ  มันจะก่อเป็นรูปลักษณ์ เป็นรูปร่างสัตว์บุคคลได้เลย 

จิตที่หลงเข้าไปโดยขาดสติ ผู้รู้หายไป  มีแต่ความคิด ความปรุง ความจำ  มันจะไปก่อรวบรวมพวกนี้เป็นรูปลักษณ์ เป็นตัวเป็นตน แล้วมีคุณลักษณะขึ้นมา เป็นรูปร่างขึ้นมา  เป็นผลขึ้นมาจากการที่เราสร้างไว้แล้วไปเสริมให้มันเป็นรูปร่างตัวตนนี่

เพราะฉะนั้น เวลาเรารู้ปั๊บ  เมื่อมีสติระลึกรู้ และหยุดการกระทำตรงนั้นกลับมารู้  ถามว่า...ผลของมันยังอยู่ใช่มั้ย  ไอ้รูปลักษณ์ที่เราหลงไปสร้างก่อไว้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันก็ยังมี ... ไม่ใช่ว่าเราถอนแล้วมันจะหายสลายลงทันทีตรงนี้นะ 

มันแล้วแต่ว่าคุณทั้งหลายนี่หลงไปก่อไว้ขนาดไหน  ไปเสริมใยเหล็กมั้ย  ไปทำให้มันแน่นหนาถาวรเป็นจริงเป็นจังขนาดไหน  เวลาคุณถอนออกมา มันก็จะให้ผลกับคุณเท่ากับที่คุณหลงไปสร้างมันไว้  นี่เรียกว่าเสวยวิบาก เป็นวิบาก  เพราะงั้นรูปนี้จึงเป็นได้ทั้งรูปพระ เป็นได้ทั้งรูปมาร จึงเรียกว่าเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล

ก็ต้องกลับมา แล้วก็หยุด  จนกว่าไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่เป็นถาวร  นี่คือการเรียนรู้ ด้วยความอดทน  แล้วมันจะยอมรับอาการไตรลักษณ์ของมันเอง  ถ้าไม่ยอมรับ คือเอาอีกแล้ว กูก่ออีกแล้ว  ได้ยินเสียง ปั๊บ..เขาด่ากู พั้บ...สร้างรูปขึ้นทันที

พอรู้ตัว... อ้าว คิดไปเอง รู้ปุ๊บ  ผลของมันคือ อึดอัด คับข้อง กูอยากจะไปตบกะโหลก อยากจะไปด่ามันให้  นี่ มันจะส่งผลเป็นวิบาก เป็นจริงเป็นจัง    

ก็ต้องให้มันฉลาดขึ้น บ่อยๆ  ให้มันเห็นว่าไม่มีอะไร  จนกว่ามันเห็นว่าไม่มีอะไร อย่าไปจับ อย่าไปข้อง อย่าไปสร้างรูปลักษณ์ตัวตน หลงเข้าไปในตัวตน

ต่อไป  พอเป็นอย่างนี้มันจะรู้ทันที  พอเริ่ม พอเริ่มจะไปก่อไปกำเป็น เอ๊อะ อ๊ะ’…ทันแล้ว  แค่ เอ๊อะ’…ทันแล้ว  ตอนแรกนี่ อู้หู สร้างเป็นรูปเสร็จแล้ว กำลังใส่ชฏาเลย กำลังสวมแหวนเลย... อ้าว เพิ่งรู้โว้ย  ต่อไปนี่ สร้างๆๆๆ ยังไม่มีหัวเลย...เอ้า รู้แล้ว 

ต่อไป ยังไม่ทันก่อเป็นรูปลักษณ์ รูปร่างหน้าตา ว่าเป็นถูกเป็นผิด เป็นใช่หรือไม่ใช่...รู้แล้ว  ต่อไปแค่จะขยับ...กูรู้แล้ว เขาเรียกอย่างนี้ปัญญากล้าขึ้น เห็นชัดขึ้น เห็นเร็วขึ้น เห็นทันขึ้น  สติมันทันขึ้น มันทันก่อนที่จะหลงไปก่อกรรม  เอาขันธ์มาเป็นเรา แล้วก็เอาเราไปอยู่ในขันธ์

 จนมันขาดน่ะ  ... เห็นขันธ์เป็นขันธ์  ขันธ์เป็นขันธ์  ไม่ใช่จับขันธ์มาว่า 'มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์'  ... ไปจับมาเองนะ แล้วก็เอาทุบกะโหลกตัวเอง แล้วบอก ทำไมมันทุกข์วะ ทำไมมันทุกข์วะ 

ขันธ์เขาไม่เคยทำให้เราเป็นทุกข์เลยนะ เขาไม่เคยทำให้เราทุกข์เลยนะ  แต่ความโง่นี่ที่ไปจับ แล้วเอาขันธ์มาทุบกะโหลกตัวเอง  แล้วก็บอกว่าขันธ์นี่สร้างทุกข์ให้เรา

จนกว่าจะวางกัน แล้วก็บอก...ขันธ์ก็คือขันธ์ ไม่เห็นมันเป็นทุกข์เลยนี่  เขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้เรา เขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นทุกข์  เขาก็เป็นแค่...เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น  อันนี้ก็...ร้อยปีมันถึงจะพัง อันนี้ก็...สักสิบปีพัง ใช่มั้ย 

ต่างคนต่างอยู่  ... มันจะพังเมื่อไหร่ก็ตามเหตุปัจจัยของมันน่ะ  ถ้าเป็นลม ลมร้อนแป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็ผ่าน  มันคือรูป-นาม  ไอ้นี่คือรูป  อารมณ์คือนาม ความรู้สึกคือนาม  ก็เหมือนกับลมพัด  อากาศ  เห็นมั้ย ธรรมชาติเดียวกัน  ภายนอกภายในก็เหมือนกัน เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่เห็นมันจะแตกต่าง

แต่ทำไมพวกเราไม่เห็นล่ะ ... มัวแต่ไปหาธรรมตรงไหน ไปภาวนากันที่ไหน ไปเอาสภาวธรรมกันที่ไหน  แล้วก็เอาสภาวธรรมมานั่งคุยกัน ข่มกัน ทับกันไปก็ทับกันมา  ฉันเห็นอันนั้น ฉันเห็นอันนี้ ฉันนั่นฉันนี่ ฉันทำแล้วดีเธอทำแล้วไม่ดี  อะไรกันอย่างนี้  ขณะที่มันพูดมันหลงหายไปหมดแล้ว  ใจอยู่ไหนไม่รู้แล้ว

แต่เราจะได้เปรียบ ถ้าเราฟังแล้วก็รู้...ฟังแล้วก็อยู่ที่รู้  เราจะเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริง เราจะเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง  เราจะเห็นสิ่งที่พูด สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็น ว่าเขาจริงหรือไม่จริง

เราจะฟังอาจารย์แต่ละคนที่เทศน์ที่สอนแล้วรู้ว่า อันนี้สอนจริง อันนี้สอนไม่จริง  อันนี้สอนให้เข้าไป อันนี้สอนให้ออกมา  อันนี้สอนให้แบกหาม อันนี้สอนให้ละวาง  เราจะเข้าใจถ้าเราอยู่ที่ใจ  เราจะเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริง

แล้วเราจะไม่ถูกหลอก และเราก็จะไม่ไปหลอกใครด้วย  แต่ถ้าไม่เห็น ถ้ายังไม่เข้าใจ  เราก็พร้อมที่จะให้เขาหลอก และเราก็พร้อมที่จะไปหลอกคนอื่น  

เอาตัวรอดให้ได้  ให้ได้หลัก  และยึดมั่น ให้ยึดมั่นถือมั่นในหลัก  ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์   แต่ให้ยึดมั่นถือมั่นในหลักใจ เอาใจเป็นที่พึ่ง  ไม่ยึดก็ต้องยึด ไม่อาศัยมันก็ต้องอาศัย  เพราะไม่มีทางอื่น

ใครจะมาบอกว่าทำอย่างนั้น เอาข้าวมาถวาย แล้วจะเอาไปถวายพระพุทธเจ้าบนนิพพานให้ ถึงจะได้บุญ อย่าไปฟัง อย่าไปเชื่ออะไร มันไร้สาระสิ้นดี  เยอะแยะ หลากหลาย มากมายที่ฟังแล้วบางที อู้หู เราไปตื่นเต้นว่า ลัด เร็ว  อานิสงส์การถวายของแค่นี้ได้บุญครอบฟ้า อะไรไม่รู้

นี่เป็นนักโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้น  ... แต่เราก็พร้อมที่จะให้เขาหลอก เพราะมีใจลึกๆ ที่มันกระสัน  กระสันอยากได้ธรรม  เขาก็เอาธรรมนั่นแหละเป็นตัวล่อ มาหลอกให้เราไปซื้อหาธรรมนั้นๆ  ด้วยการเชื่อเขา ทำตามเขาซิ นบนอบเขาซิ  

มันก็ถูกหลอกด้วยกันทั้งคู่ ต่างคนต่างหลอกกัน  ศาสดาหัวแหลมทั้งนั้นน่ะ ตั้งลัทธิขึ้นมา ตั้งวิถีธรรมขึ้นมาเองทั้งนั้น โดยเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นแค่ข้ออ้างอิง

 แต่ถ้าเรามีสติจริงๆ รู้จริงๆ  ให้รู้จริงๆ จึงจะรู้จริง  ให้รู้จริง คือให้อยู่ที่รู้จริง ไม่ใช่อยู่ที่รู้ไม่จริง   ไอ้รู้นอกนี่รู้ไม่จริง  ไอ้รู้กับคิด เสียง พูด รูป นาม อารมณ์ ความรู้สึก การกระทำนู่นการกระทำนี่  ไอ้นี่ก็รู้ แต่มันรู้ไม่จริง  ถ้ารู้จริงมันต้อง รู้..เห็น รู้..เห็น ภายในตรงนี้’…อันนี้รู้จริง อันนี้อยู่ที่รู้จริง ถ้าเห็นจริงตรงนี้...ไม่ถูกหลอก 

ถ้าไม่อยู่ตรงนี้...ถูกหลอก  เขาพาไปฆ่า เขาพาไปเชือด เขาพาไปทิ้ง เขาพาไปถีบลงเหว หรือเขาพาไปขึ้นสวรรค์ลงนรกได้หมด ... ถูกหลอก  ไปถึงแล้วก็ อ้าว อีกแล้วครับท่านๆ แล้วก็จะมีอีกแล้วครับท่านอีกหลาย  

มีเยอะแยะศาสดาทั้งหลายทั้งปวง ครูบาอาจารย์มากมาย ก่อตั้งขึ้นมา  อายุนิดๆ หน่อยๆ  ทำนิดๆ หน่อยๆ  อ่านนิดๆ หน่อยๆ  สอนกันแล้ว แนะนำกันไปแล้วเต็มไปหมด



(มีต่อ แทร็ก 3/2)