วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/20 (2)


พระอาจารย์
3/20 (540218B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ – 
เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมนี่จริงๆ มันไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไรหรอก กายมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว พยายามทำให้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ...ให้ต่อเนื่องๆ

บางคนก็ชอบจะไปดูจิตอย่างเดียว ซึ่งบางทีเวลาเรากำลังไม่พอ หรือว่าสติสมาธิปัญญามันน้อย แล้วมันจะมั่ว ...มั่วคือมันจะเข้าไปคลุกเคล้าโดยไม่รู้ตัว 

ลักษณะนี้เรียกว่ามั่ว หรือว่าสติอ่อน สมาธิอ่อน ...มันจะเข้าไปดูๆๆ ดูแล้วมันจะเคลื่อนเข้าไปอยู่ในนั้น อยู่ในอาการ หลงเข้าไปมัวเมากับอาการโดยไม่รู้ตัวแล้ว

ลักษณะนี้ต้องรีบถอยก่อนนะ ถอยมาตั้งหลักที่กายก่อน...กลับมารู้สึกตัวเลยตรงๆ ตรงนี้ ยืนเดินนั่งนอน ดูลมดูอะไรซะ ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา ...นี่เขาเรียกว่าเป็นการอนุโลม-ปฏิโลม

นี่อนุโลม-ปฏิโลม ...ขึ้นๆ ลงๆ  เข้าๆ ออกๆ  ระหว่างหยาบ-ละเอียด ละเอียดมาหยาบ หยาบมาละเอียด ละเอียดมาหยาบ ...ไปเรื่อยๆ จนมันชำนาญ จนมันตั้งมั่น 

จนไม่ว่ามันจะออกมาท่าไหน เกิดมาอีหรอบไหน มาแบบละเอียด มาแบบหยาบ มาแบบประณีต มาแบบไม่มี ไร้ร่องรอย ...มันก็เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏแล้วก็รู้

มันเท่าทันน่ะ เริ่มเท่าทันในทุกอาการ มันจะเกิดความเท่าทันในทุกอาการ ...เพราะนั้นถ้าเท่าทันในทุกอาการ ปุ๊บ มันจะดับตั้งแต่อาการแรกที่เท่าทันเลย 

แต่ถ้าไม่เท่าทันแล้ว มันจะต่อแขนต่อขาเรื่อยน่ะ ...มันคอยต่อแขนต่อขาในความคิด ต่อแขนต่อขาออกไปในความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์ ต่อแขนต่อขาออกไปในอดีตอนาคต 

นี่ ให้รู้เลยว่ามันเริ่มเคลื่อนคล้อยออกนอกใจไปเรื่อย ...รู้ตัวเมื่อไหร่ ระลึกขึ้นได้ทันเมื่อไหร่นี่ ต้องไม่เสียดายนะ ...กลับมารู้ปัจจุบันของกายตรงๆ เลย 

อย่าเสียดายว่าจะไม่แจ้ง จะไม่เข้าใจ จะไม่ละเอียดกว่านั้น จะไม่เห็นที่สุดความดับไปในความละเอียดนั้น ...ให้รู้ไว้เลย ถูกหลอกแล้วๆ ไปไม่ได้แล้ว 

มันหลงแล้ว มัวเมาแล้ว ออกนอกใจไปแล้ว นี่ แม้กระทั่งจะหาใจ...ก็ยังหลงอีกแล้วนะๆ ...หยุดซะ มันมีเจตนา มันมีความปรารถนา...ไม่เอา ...รู้ตัว กลับมารู้ง่ายๆ 

พอกลับมารู้ง่ายๆ ของกายปัจจุบัน มันก็เห็นแล้ว ผู้รู้ผู้เห็นกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง...นั่นแหละใจ แค่นั้นน่ะ พอแล้ว ใจอยู่ตรงนั้นแหละ

ไม่ต้องหาให้มันลึกซึ้ง ลี้ลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน สุดท้ายมันทรยศตลอดเวลา ไม่เข้าใจ มันจะหลงๆๆ ...ความหลงนี่มันเข้ามาแทรกซึมได้ทุกอาการ ทุกสติ ทุกปัญญา ที่เรายังอ่อนกว่ามัน 

มันก็เข้ามาที่ตรงนั้น เข้ามาตีตรงนั้น ตรงไหนที่มีช่องของความอยากเกิดขึ้นได้ มันก็เข้ามาตรงนั้น...มึงอยากรู้ใจใช่มั้ย กูก็มาให้เห็นตรงที่มึงอยากเห็นใจนั่นแหละ

เพราะนั้นก็กลับมารู้ง่ายๆ กลับมารู้ง่ายๆ หยาบๆ ...ใจก็ดวงเดียวนั่นแหละ มันไม่ได้แตกต่างหรอก รู้กับกาย...กับรู้กับอารมณ์นี่ ...ก็ใจดวงเดียวกัน แค่ผู้รู้ผู้เห็นอันเดียวกัน มันไม่ได้แตกต่างกันเลย 

อย่าไปกลัวว่ารู้กายแล้วไม่ละเอียด ต้องรู้นามถึงจะละเอียด หรือว่ารู้แต่ผู้รู้อันเดียวถึงจะละเอียด มันอยู่คู่กันตรงนั้น ...แล้วมันจะตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ จะตั้งมั่นเรื่อยๆ 

ใจมันจะตั้งมั่นด้วยตัวของมันเอง ด้วยกำลังของตัวของมันเอง ด้วยสติสมาธิที่ไปรักษาตัวของมันเองให้เกิดความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอยู่ภายใน เป็นผู้รู้ผู้เห็นที่ตั้งมั่นด้วยตัวของมันเอง

แล้วมันจะชัดเจนในตัวของมันเอง เราไม่ต้องไปทำให้มันชัดด้วยความอยาก แต่ให้ชัดด้วยสติสมาธิปัญญา ...คือรู้ลงไปในปัจจุบันแค่นั้นเอง 

นี่คือมรรควิถี...ด้วยความเป็นกลาง ไม่มีกิเลสเจือปนในการกระทำนั้นๆ ...เพราะไอ้การกระทำ สิ่งใดที่กระทำขึ้นมานี่ นั่นน่ะ อย่างน้อยมันมีความอยากแทรกอยู่แล้ว ...เป็นเจตนา เป็นความจงใจๆ

เพราะนั้นสติสมาธิปัญญาจริงๆ น่ะ ...สังเกตดูสิ...สมาธิ ถ้าเราไปบังคับมันนะ ตั้งหน้าตั้งตาดูเพื่อจะให้ได้ผลจริงๆ จังๆ นะ ...ไม่ได้อะไรหรอก มีแต่เครียด 

แต่แกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ แกล้งกระดิกตีนเล่น ลอยไปมั่ง ลอยสบายๆ ...มันกลับชัดเจนน่ะ มันกลับเป็นว่า...เออ มันใกล้เคียงสมาธิ นี่ จิตต้องเป็นภาวะคล้ายๆ อย่างนั้นน่ะ 

ไม่ใช่...โอ้โห ตั้งท่าตั้งทาง “เอาโว้ยๆ เอาให้ได้โว้ยๆ กูจะดู เอาให้ได้วันนี้แหละ ต้องรู้ดำรู้แดงกันเลย” ...สุดท้ายก็นอนแผ่ เศร้าหมอง ขุ่นมัว เครียดๆๆ

เพราะนั้นสมาธิสติปัญญา ลักษณะมันใกล้เคียงกับภาวะที่มันเป็นสุขสบายน่ะ มันถึงจะใกล้เคียง ...สติสมาธิปัญญาที่เกิดความเหนียวแน่น ไม่ใช่แข็งแต่เปราะ ...ของไหนแข็งจะเปราะ หักง่าย ดีดเป๊งเดียวหักแล้ว 

แต่สมาธิสติปัญญาที่แท้จริงน่ะ เหมือนเหล็กเส้นน่ะ เหนียว ...แข็งแกร่งแต่เหนียวแน่นน่ะ ยืดได้หดได้ นั่นน่ะแข็งจริง อย่างนี้เรียกว่าสมาธิที่ควรแก่งาน

เรียนรู้ไป ค่อยๆ ปรับสมดุล แล้วจะค่อยๆ เข้าใจ ...จิตที่มีความจงใจน้อย แต่ว่าไม่เผลอเพลิน นี่ มีความรู้ที่เกาะติดแนบหลังอยู่นิดๆ หน่อยๆ แค่นี้ ...สบายๆ 

มันจะค่อยๆ เหนียวแน่น ยืดหยุ่นไปเรื่อย แล้วมันจะยืดหยุ่นเหนียวแน่นไปทั่ว ...แต่ถ้าแข็งเปราะเมื่อไหร่ปุ๊บ พอเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนสภาวะปุ๊บนี่ ...ไปไม่ถูกแล้ว 

ดูสิ อย่างว่ากำลังตั้งหน้าตั้งตาดูๆๆๆ คนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร อยู่คนเดียวดู ...นี่ พอมีอะไรเกิดขึ้นมาปุ๊บนี่...แตกเลย สมาธิตรงนี้แตกหักเลยนะ 

มันหลุดหลงไปเรื่องใหม่นี่ ไม่รู้แล้ว...กูจะวางจิตตรงไหน สติจะตั้งกับอะไรดี ใจอยู่ตรงไหนนี่  ...ไล่หาใหม่อีกแล้ว จะไปเพ่งดูตรงไหนดี

แต่ถ้าเราสบายๆ เรียบง่าย ...มันจะเคลื่อนได้  สิ่งที่อยู่หน้าใจนี่ แม้จะเคลื่อนไปเคลื่อนมา มันก็ยังอยู่ได้ ...นี่ ใจที่เป็นกลาง มันจะกลางกับทุกสรรพสิ่ง ไม่ใช่กลางกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น 

ให้มันไหลไปไหลมา ...เพราะขันธ์น่ะ เป็นภาวะที่แปรปรวนอยู่แล้วนะ มันไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แปรเปลี่ยนไปตามปัจจัย 

อย่างว่าเดี๋ยวก็เป็นความคิดบ้าง เดี๋ยวก็เป็นทางหูบ้าง ...กำลังนั่งดูความคิดดีๆ ก็มีเสียงเรียกอย่างนี้ ก็เปลี่ยนเป็นหู ...ก็รับได้นะ เป็นปกตินะ

แต่ถ้าเสียงดังแล้วหงุดหงิด... "นี่กำลังดู มาขัดจังหวะกูจริงจริ๊ง" ...อย่างนี้มันสมาธิอะไร นี่มันเรื่องของการที่บังคับ ข่ม ข่มเหงรังแกจิตแล้ว ...ควบคุม บังคับ 

นั่งสมาธิปุ๊บนี่ จะต้องสั่งคนในบ้านให้หยุดทุกอาการนะ "ข้าพเจ้ากำลังนั่งสมาธิ อย่ายุ่งนะ" อะไรอย่างนี้ ...มันต้องเรียนรู้ให้เข้าใจว่า...จริงๆ สมาธิต้องใช้กับความเป็นปกติของโลกที่มันแปรปรวนได้ 

แต่ถ้าไม่เข้าใจ นั่นแหละ...เบื้องต้นก็อาจเอาเป็นอุบายเท่านั้นเอง แต่ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้มันกว้าง สมาธิจะต้องเปิดกว้างเป็นสมาธิธรรมชาติ สติธรรมชาติ ปัญญาธรรมชาติ 

แม้แต่ว่าจิตที่อยู่ในที่ทำงานกับจิตที่อยู่คนเดียวนี่...เหมือนกัน มันใจดวงเดียวกัน รู้เหมือนกัน เป็นรู้อันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย

มันแตกต่างที่ภาวะหน้าใจแค่นั้นเอง...ซึ่งเลือกไม่ได้ ...ไม่ต้องเลือก เลือกไม่ได้ แล้วไม่เลือก 

นี่ ความให้ค่า...มันจะให้ความสำคัญมั่นหมายกับสิ่งที่ปรากฏก็น้อยลงไป ความเห็นผิดในความเที่ยงหรือไม่เที่ยงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าไอ้นี่ต้องเที่ยง ไอ้นี่ต้องไม่เที่ยง...ไม่มีน่ะ

ทุกอย่างไม่เที่ยงหมดแหละ ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา แค่นั้นแหละ ปัญญาก็จะแผ่ออกไปจนถึงทุกสรรพสิ่ง จนเรียกว่าไม่มีอะไร 

เป็นแค่ something หรือ thing  มันก็เป็น anything else น่ะ ไม่มีว่าเป็น thing...thing ของสิ่งหนึ่ง สิ่งนี้ๆ แต่เป็น anything else ...คือสรรพสิ่งน่ะ

เพราะนั้นใจดวงนั้นจึงอยู่นอกเหนือกาลเวลา...เป็นใจที่อยู่เหนือกาลเวลา ไม่ผูกกับกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล ...อกาลิโก ใจดวงนั้นก็เป็นอกาลิโก เหนือภาวะและกาลเวลา

แต่ถ้าใจยังผูกกับกาลเวลา ก็ให้รู้ว่านั่นเป็นแค่อุบายเบื้องต้นแค่นั้นเอง เพื่อให้เกิดความแยบคาย ว่า...อ๋อ นี่เป็นสิ่งนึง ใจอีกสิ่งนึง ...แล้วต้องขยายออกไป 

ปัญญาต้องขยายออกไป ในทุกกาลเวลาสถานที่ให้ได้...โดยไม่มีข้อแม้ โดยไม่มีตัวเลือก ...เพราะจะไม่เลือก จะไม่เลือกอะไร ไม่เลือกธรรมใดธรรมหนึ่ง ...เพราะทุกอย่างเป็นธรรมเดียวกัน 

เมื่อเป็นธรรมเดียวกัน ก็หมายความว่านั่นแหละคือกฎเดียวกัน คือกฎของไตรลักษณ์ ...โลกนี้ ในอนันตาจักรวาลนี้ มีกฎเดียวเท่านั้น คือกฎของไตรลักษณ์ ไม่มีตัวเลือกอื่นเลย

นั่นถึงเรียกว่าเป็นเรื่องเดียวกันหมด จิตยอมรับได้หมด ว่าไม่มีตัวไม่มีตน ...จิตอนัตตา สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ...เมื่อนั้นแหละหมดปัญหา 

เมื่อเห็น สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครบังคับ มันเป็นของมันอย่างนั้น เป็นอยู่เช่นนั้น 

ตั้งแต่ตั้งโลกตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินขึ้นมา มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีพระเจ้าเป็นคนสร้าง ไม่มีพระเจ้าเป็นคนชี้นิ้ว ไม่มีเราไม่มีเขาเป็นคนชี้นิ้ว นั่นน่ะ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

ศาสนาทุกศาสนาสอนได้หมดทั้งอนิจจัง ทุกขัง แต่ไม่สอนถึงอนัตตาได้ ...เพราะไม่มีใครเข้าไปเห็นอนัตตาได้ นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว 

ในสากลโลกนี้ ตั้งแต่มีนักปฏิบัติมา ก็มามีพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ เริ่มมาเห็นอนัตตา 

เพราะนั้น อนิจจัง ทุกขัง เขาเห็นกันทั้งนั้นแหละ ทุกศาสนา พราหมณ์ ฤาษี หรือใคร หรือเทวดา หรือนักปฏิบัติในลัทธิไหน เขาก็เห็นความทุกข์ ความไม่เที่ยงทั้งนั้น 

แต่ไม่เคยเข้าไปถึงความเป็นอนัตตา หรือว่าถึงที่สุดของอนัตตา คือ สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

ความหมายของคำว่าธรรมนี่ คือสิ่งที่ปรากฏอยู่หน้าใจ ...ไม่เลือกแล้ว ไม่มีสมมุติ ไม่มีบัญญัติเข้าไปเลยนะ อะไรก็ตามที่ปรากฏอยู่หน้าใจ ...นั่นแหละท่านเรียกว่าเป็นธรรม 

เพราะนั้น...จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เห็นทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรม โดยธรรม นั่นแหละ แล้วก็เป็นธรรมแห่งอนัตตา...อนัตตธรรม 

เป็นธรรมที่ไม่มีอัตตาใดครอง ไม่มีทั้งอัตตาเรา ไม่มีทั้งอัตตาเขา ไม่มีทั้งอัตตาที่จับต้องไม่ได้มาเป็นตัวครอง แต่เป็นอนัตตาเท่านั้นที่ครองธรรมนี้ 

พระพุทธเจ้าถึงว่า สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีตัวไม่มีตน ...นั่นน่ะพระอรหันต์ท่านไปเห็นธรรมที่สุดของธรรมคือจุดนั้น

แต่เบื้องต้นเราก็ต้องมาเรียนรู้จากนี่...รูป-นาม...ของใครของมันนะ ...พยายามดูให้ตรงของใครของมันนะ 

อย่าไปแจ้งในรูปนามคนอื่น ...เขาเกิดเอง เขาตายเอง เขาดับของเขาเอง เขาทุกข์ของเขาเอง เขาสุขของเขาเอง เขาหาทุกข์หาสุขของเขาเอง ...เรื่องของเขา 

เราต้องมาแจ้งในรูปนามของเรา ให้มันหดเข้ามาๆ แยบคาย โยนิโสในรูปนาม ในปัจจุบันขันธ์ ...ในความเห็นเบื้องต้นนี่ก็...ของเราก่อน 

จนเห็นว่าไอ้รูปนามนี้ มันไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นของเรา ...เย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นเราไหม เป็นของเราไหม  สุขทุกข์เกิดขึ้น นี่ ดูไปตรงๆ 

ดูแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูแบบเฉยๆ ดูแบบโง่ๆ ...นี่ เห็นมั้ย มันบอกมั้ยว่าเป็นของเรามั้ย ดูสิ ...ไม่มีอ่ะ ไม่มีสัญลักษณ์ใดสัญลักษณ์หนึ่งว่ามันเป็นของเรา

ความคิด ...เราไม่ต้องดูในความคิดหรอก ไม่ต้องไปดูในความคิดหรอก ไม่มีอะไรอยู่ในความคิด ...ดูว่ามันเป็นแค่ความคิด ดูสิว่ามันเป็นเรามั้ยความคิดนี่ ...ไม่มีนะ 

เป็นแค่สภาวธรรมนึงที่ปรากฏ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้น เหมือนฟ้าแลบฟ้าร้อง นี่ คือธรรมที่ปรากฏ ไม่ได้แตกต่างกับความคิดความเห็นหรอก ...เป็นแค่กลุ่มก้อนนึงที่ปรากฏแค่นั้นเอง

มันมีอาการไหนบ่งบอกมั้ยว่าเป็นเราของเราตรงไหน นั่น ดูมันไปตรงๆ อย่างนั้น ทีละเล็กทีละน้อย ทีละครั้งๆ ทีละขณะๆ 

อย่าใจร้อน อย่าเอาเร็ว อย่าเอาทีเดียวแจ้ง ...ไม่แจ้งหรอก แต่มันค่อยๆ คลายออก เหมือนคลี่คลายออก

สมัยนี้ คนสมัยใหม่นี่มันใจร้อนใจเร็ว มันจะเอาแบบ...ลิควิดเปเปอร์ ปาดๆๆๆ ลบออกหมดเลย ลบคำที่ผิด นี่...ไม่ได้ ....แต่มันค่อยๆ จางคลายๆ จางคลายไปทีละขณะๆ แต่ละครั้งที่ปรากฏ 

ไม่ว่าขันธ์นั้นจะปรากฏในอาการใด ก็...อ๋อ มันเป็นเราไหม ...แยบคายลงไป มันดับเองมั้ย 

แม้มันจะตั้งคาราคาซังขนาดไหนก็อดทนอยู่กับมัน ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ แค่นั้นน่ะ ความแจ้งในขันธ์ก็จะค่อยๆ แยบคาย แจ้งในความเป็นจริงไปตามลำดับลำดา

อย่าใจร้อน เพราะไอ้ใจที่มันเร็ว มันเลย มันเกิน อันนั้นน่ะมันคือความเนิ่นช้า ...แต่ถ้าไม่ใจร้อน ดูไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยดูไป ได้เล็กผสมน้อย ทีละอย่างทีละขณะไป ...อันนั้นน่ะเร็วที่สุดแล้ว 

เพราะไม่รู้จะเร็วขนาดไหนแล้ว มันเร็วที่สุด มีอัตราเร็วที่สุดแค่นั้นแหละ มันมีเรทติ้งของมันอยู่ ...อย่าไปกำหนดเรทเอง ...ไอ้กำหนดเรทเองนี่เรื่องของความอยากน่ะ  

อ่านมามาก อ่านประวัติครูบาอาจารย์มา โอ้โฮ เอาแบบ สำเร็จรูปเลยน่ะ  ต้องอย่างนั้น เอาให้ตรง เป๊ะๆ เผงๆ พ้าบๆๆ ไป ...สุดท้ายก็พังพาบหมดแหละ 

เอ้า มีอะไรสงสัยมั้ย ถามได้ ...(ถามโยมคนหนึ่ง) หมอเป็นไงบ้าง ยังปวดยังเมื่อยอยู่


โยม –  นั่งดูเวทนามันเป็นพักๆ

พระอาจารย์ –  ขันธ์มันเป็นทุกข์อย่างนี้แหละ ...เพราะนั้นเวทนามีสองเวทนา หนึ่งเวทนาทางกาย สองเวทนาทางใจ ...ไอ้เวทนาทางใจนั่นน่ะคืออุปาทาน ไอ้เวทนาทางกายนี่เรียกว่าทุกขสัจ 

แล้วให้หาดู ...ดูตรงไหน ...ดูตรงที่ว่า “เรา” มันอยู่ตรงไหน มันจะมีเราอยู่ตรงบริเวณเวทนาที่จับ แต่ตรงนี้ไม่มีเรา


โยม –  เมื่อก่อนจะเห็นใจที่มันดิ้น แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยดิ้นแล้ว มันนั่งดูได้

พระอาจารย์ –  มันจะทิ้งระยะห่างออกมาได้ระดับนึง แล้วมันจะห่างออกไปเรื่อยๆ ...มันจะห่างไปจนถึงขั้นขาดกัน 

เพราะในขณะที่ห่างนี่ยังมีโยงใยอยู่ มันยังมีใยอยู่ มันยังมีเยื่อใยหรือว่าเยื่อของอวิชชาอยู่ ที่มันยังไปยึด ...แต่เรามองไม่เห็นใย แต่ว่ารู้อยู่ว่ามีใย 

เผลอเมื่อไหร่ก็ ปั๊บ เกิดทุกข์ทางใจ เกิดความไม่พอใจ ปฏิฆะ หงุดหงิดหรือว่าเศร้าหมอง ...ถึงไม่เป็นปฏิฆะหงุดหงิดก็จะมีความเศร้า ขุ่นมัว เป็นมลทิน 

นั่นแสดงความเป็นมลทินที่เกิดจากอวิชชา ที่ยังยึด หมายมั่นในขันธ์ ...ก็เรียนรู้กับมัน เขากำลังแสดงธรรมให้เราเห็นเป็นหมอน่ะเห็นเยอะ บอกแล้วไง คนไข้คนเจ็บคนทุกข์เยอะแยะ 

ซึ่ง...เห็นเขาก็ต้องน้อมกลับมาถึงตัวเรา ...ไม่มีใครหนีพ้นหรอก เป็นอย่างนี้แหละ อย่ามาขยันเกิด ...มันจะได้จำไว้ว่าอย่ามาขยันเกิด เกิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น

เอ้า ไม่มีอะไรแล้วก็ไป...ไปดูกายดูใจกัน


.................................



แทร็ก 3/20 (1)


พระอาจารย์
3/20 (540218B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี่ มันไม่ได้ได้อะไร แล้วก็ไม่ได้เพื่ออะไร แล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาหรอก ...แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้กลับมาเรียนรู้ หรือกลับมาทำความแจ้งในขันธ์ห้านั่นแหละ

ว่าไอ้ที่เราอยู่กับมันนี่ ที่ใช้มันอยู่นี่ หรือที่มันปรากฏอยู่นี่ มันคืออะไร ให้มาทำความเข้าใจกับมัน...มันคืออะไรกันแน่ ...ไอ้ความคิดน่ะมันคืออะไร แล้วทำไมล่ะจะต้องทำตามมันทุกอย่าง

แล้วถ้าไม่ทำตามมันแล้วจะเป็นยังไงล่ะ นี่ ให้มาทำความเข้าใจ ...มันมีอิทธิพลอะไรกันนักกันหนา มันมีมือมีตีนมาฉุดมารั้งอะไรกับเรานักหนา หือ ...ให้เข้าใจ

เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเห็นขันธ์ ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงว่า...อ๋อ มันคืออะไรกันแน่ ...สุดท้ายก็จะเข้าใจว่า ขันธ์นี่ไม่มีอะไรหรอก เป็นอาการปรุงแต่งชั่วคราวเกิดๆ ดับๆ แค่นั้นเอง

เหมือนพลุในความมืดน่ะ ยิงพลุออกไปก็แตกมากระเซ็นกระสาย บางอันก็มีเสียงดัง บางอันก็มีแต่สีแสง ไม่มีเสียง บางอันก็สว่างมาก บางอันก็สว่างน้อย ก็แค่วูบๆ วาบๆ วูบๆ วาบๆ

สุดท้ายแล้วมีอะไรล่ะ ...ก็เป็นแค่นั้นน่ะขันธ์น่ะ เป็นการเกิดดับขึ้นแค่ชั่วคราว ...ทำไมถึงจริงจังกันนักกันหนา ทำไมถึงหลงกับมันนักหนา ทำไมถึงว่าเป็นของเรากันนักกันหนา 

มันมาถือครองอะไรล่ะ ...มาถือครองอะไรลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ได้ มายึดถือครอบครองในสิ่งที่มันไม่มีแม้กระทั่งเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้

กายก็จับได้แค่ธาตุน่ะ ...แต่ความรู้สึกในกายน่ะจับมันได้มั้ยล่ะ เย็นร้อนอ่อนแข็งเนี่ย จับมาดูก็ยังไม่ได้เลย ...จะจับให้มันอยู่ บล็อกให้มันอยู่ มันก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราเลย

ความคิดน่ะ ความสุข-ความทุกข์...จับได้มั้ย บล็อกได้มั้ย  ให้มันเกิดได้มั้ย ให้มันไม่เกิดได้มั้ย ...มันก็ได้แค่นิดๆ หน่อยๆ ...เอาเข้าจริงๆ ทำอะไรมันไม่ได้เลย เข้าไปควบคุมบังคับ ทำให้มันเพิ่มหรือลดดั่งใจเรา ก็ไม่ได้เลย

เรียนรู้ดูตามความเป็นจริงของขันธ์ ก็จะเกิดความเข้าใจ แยบคายได้มากขึ้น ลึกซึ้งกับขันธ์ได้มากขึ้นว่า อ๋อ จริงๆ เรามาอยู่กับของที่ไม่มีตัวไม่มีตน ทำไมถึงมาลุ่มหลงมัวเมากับมันนักหนา มามัวเมาในขันธ์

เมื่อเรามามัวเมาในขันธ์ที่เราใช้สอยอยู่กับมัน ก็เป็นธรรมดาที่มันจะต้องไปมัวเมาในขันธ์ภายนอก หรือว่าวัตถุข้าวของ หรืออาการ หรือว่าสัตว์บุคคลภายนอกต่างๆ เป็นธรรมดา

เมื่อเข้าใจตัวของเราแล้ว ขันธ์ของเราแล้ว ก็จะเข้าใจขันธ์ของผู้อื่นหมด ...เป็นเรื่องเดียวกัน ...กายก็จะเห็นกายอันเดียวกัน ...ไม่ว่าใคร 

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง กระเพื่อม เคลื่อน ไหว ...ทุกคนนี่เหมือนกันแหละ เป็นความรู้สึกเดียวกันหมดน่ะ ไม่เห็นมันจะแตกต่างเลย

มันก็ไม่เห็นว่าเป็นชาย เป็นหญิง เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร ...นั่นน่ะ เป็นแค่อาการ ...ทุกคนก็มีอาการเช่นเดียวกันน่ะ 

เพราะนั้นเวลาเรามองเห็นคนสัตว์วัตถุข้าวของ บุคคลเดินไปเดินมา  มันก็เห็นเป็นแค่เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเท่านั้นเอง ไม่ได้เห็นว่ามีความแตกต่างกันตรงไหน

เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา อยู่ในภาวะลงเรือลำเดียวกันหมดแหละ ...มาได้ขันธ์ มีความรู้สึกเหมือนกัน มีความคิด มีความสุข มีความทุกข์เหมือนกัน เกิดๆ ดับๆ เหมือนกัน ...ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

จิตก็จะเป็นกลางได้กับทุกสรรพสิ่ง ...ไม่ได้แบ่งแยก ไม่ได้ไปเลือก ไม่ได้ไปหา ไปเบียดเบียนกัน ...ใจมันก็ผ่อนคลายจากความไม่รู้ มันก็เป็นอิสระ ออกจากความไม่รู้...ไม่รู้ขันธ์ตามความเป็นจริง

อวิชชาความไม่รู้ก็ค่อยๆ หมด จบ ดับ สิ้น ...ก็จะยอมรับในทุกสิ่งที่ปรากฏ เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ...จะไม่เข้าไปเหนี่ยว ไปรั้ง ไปผลัก ไปดัน ไปหวงแหน ไปป้องกัน ไปรักษา 

ต่างคนต่างอยู่ร่วมกันโดยสันติ ใจก็อยู่ร่วมกับขันธ์แบบสันติ สงบระงับ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติวิสัย ไม่มีอะไรผิดปกติในการที่ปรากฏขึ้น ไม่มีการผิดปกติในการที่มันดับไปเลย 

เรียกว่าไม่มีการผิดปกติเลยในการที่มันเกิดขึ้นมาแล้วดับไป อยู่อย่างนี้ ...จิตใจก็จะถอดถอนออกจากการเวียนว่ายตายเกิดมาจมอยู่กับความไม่รู้ในขันธ์

เพราะนั้นเกิดมาแต่ละคนนี่ เกิดมาเพื่อเรียนรู้ เกิดมาเพื่อเรียนรู้ขันธ์ ...การที่เกิดมาเป็นคนนี่ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นลาภอันประเสริฐ มีกายให้ดู มีขันธ์ห้านี่ครบให้ดู ให้เห็น ให้เรียนรู้ ให้เข้าใจ

เป็นสัตว์นี่ ไม่มีทางที่จะมาดูรู้ขันธ์ตามความเป็นจริงได้เลย  มันไม่มีสติเกิดได้ ไม่มีปัญญาเกิดได้ ไม่มีความแยบคาย ไม่มีความชัดเจน ...จินตามยปัญญาเบื้องต้นไม่มี สุตตมยปัญญาไม่มี

แต่เป็นคน...มาทันศาสนาพุทธ มาทันคำสอนพระพุทธเจ้า นี่ เป็นลาภอันประเสริฐ...ไม่ใช่โชคแต่เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นผลของกรรม การกระทำ การฝึกฝนอบรมตน อธิษฐานจิตสัจจะบารมีมา ส่งต่อเนื่องมา

เพราะนั้นอย่าไปทิ้งๆ ขว้างๆ  อย่าใช้ขันธ์ให้มันอยู่กับขันธ์โดยที่พามันไปในเรื่องที่ไร้สาระน่ะ มัวแต่พามันไปเบียดเบียนกัน พาไปหาความสุข พาไปหาความเพลิดเพลิน 

เขาเรียกว่าเกิดมาเสียชาติเกิด ...ใช้ขันธ์ไม่เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่สามารถอาศัยขันธ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกคนน่ะมันมีสมบัติมาเสมอกันแล้ว  ทรัพย์...มนุษย์สมบัตินี่ เป็นสมบัติที่เสมอกันแล้ว ...ใช้ให้เป็น ด้วยปัญญา ด้วยการเอาขันธ์นี่เป็นตัวเรียนรู้ 

มันปรากฏอย่างไร มันแสดงมาอย่างไร ...นี่ เขาแสดงธรรมให้เห็นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาแสดงความไม่มีใครเป็นเจ้าของอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว 

เขาแสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาแสดงความไม่มีตัวไม่มีตนในตัวของเขาอยู่แล้ว ...เราไม่ต้องไปหา เราไม่ต้องไปทำขึ้นมาเลย

แต่ว่าคนที่ไม่มีปัญญา มันก็ทำไปแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่มีสติ เนี่ย ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขันธ์ ไม่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรม

มันก็เลอะๆ เทอะๆ  เลื่อนๆ ลอยๆ  เผลอๆ เพลินๆ  ลอยไปลอยมา  ลุ่มๆ หลงๆ  ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามตาหูจมูกลิ้นกาย อดีต-อนาคต ...ไปกับสิ่งที่ไม่มีสาระ

ธรรมดาของขันธ์มันก็ไม่มีสาระอยู่แล้ว ...กลับไปหาไปอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระยิ่งกว่าขันธ์เสียอีก อะไรก็ไม่รู้ จับต้องก็ไม่ได้ 

นั่งคุยกันหนึ่งชั่วโมงนี่ ไม่มีเรื่องปัจจุบันเลย มีแต่เรื่องของคนอื่น กับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเรื่องสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นเลยสักคน ...อะไรอย่างนี้

เพราะนั้น พยายามกลับมา อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง อยู่สันโดษ อยู่วิเวก อยู่ด้วยความสงบระงับ ...ครูบาอาจารย์ท่านบอก กินน้อย นอนน้อย ภาวนาเยอะๆ 

มีสติเยอะๆ สมาธิเยอะๆ ...มันจะได้กลับมาเห็นขันธ์ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้น ยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ได้มากขึ้น ...นี่จะได้ไปหาหมอกันน้อยลง 

เดี๋ยวนี้คนมันหาหมอกันเยอะ เพราะมันเครียด ...เวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็...เป็นน้อยก็กลายเป็นเป็นมาก เป็นมากก็...โอย ใกล้จะตายแล้ว  ถ้าเป็นขั้นตาย มันก็ชิงตายไปเลย ...เพราะมันคิดมากเกินไป

แต่ถ้าเราเรียนรู้กับมัน ยอมรับกับขันธ์ ...มันก็จะอยู่ได้ในระดับที่พอควร เท่าทันอาการ อยู่กับมัน เรียนรู้กับมัน...นี่ ขันธ์เขาแสดงความไม่เที่ยงอยู่แล้ว

แต่นักปฏิบัติธรรมมันชอบหา ชอบหาสภาวะใหม่ๆ  หาไม่ได้ก็เครียด กังวล เป็นทุกข์ ...ไอ้ที่เคยได้เวลามันหมดไปก็เสียใจ “เสื่อมอีกแล้ว มันหายไปไหน ทำยังไงถึงจะเหมือนเดิม” นี่

มันไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง อย่าไปเอา อย่าไปเอาอะไรกับขันธ์ อย่าไปเอาขันธ์มาเป็นภาระเพิ่ม ...ความเป็นขันธ์มันเป็นทุกข์ของมันอยู่แล้ว คือความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเข้าใจมันก็จะง่าย การใช้ชีวิตอยู่กับมันก็ง่าย สบายๆ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา อยู่กับความแปรปรวนด้วยใจที่เป็นธรรมดา อยู่กับการที่มันอยากได้...แล้วไม่ได้ หรือไม่อยากได้...แต่ได้ ...ก็เป็นธรรมดา

แล้วก็ให้ดูตอนที่เวลามันอยากได้แล้วไม่ได้ นี่ ดูอาการที่มันดิ้น  ดูอาการที่เวลาไม่อยากได้แล้วดันได้ ก็ดูอาการที่มันดิ้น ...ไอ้พวกนี้ส่วนเกิน เป็นส่วนเกินของขันธ์ หรือกิเลส หรือเกิดจากความไม่รู้

มันจะได้...อ๋อ  จะได้รู้ว่าเรายังมีมลทินอีกเยอะมั้ย  มันยังมีอาสวะ ยังข้อง ยังไม่รู้ความเป็นจริงอีกเยอะมั้ย ...ก็เอาเป็นตัวเทียบเคียงตัววัด แล้วก็ประเมินกำลังกันไป

ถ้าละได้ กำลังเพียงพอในการละตรงนั้น...ก็ละมันลงไป  อดทนแล้วก็ละไป ไม่เชื่อไม่ฟังความเห็นนั้นๆ ความเชื่อนั้นๆ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นๆ ละมันลงไป ... ถ้ากล้าละ...มันก็กล้าเลิกกะเราน่ะแหละ 

อยู่ที่ว่าเราไม่กล้าละมันเท่านั้นแหละ ไปอ่อนๆ ไหวๆ ไปละล้าละลัง รักพี่เสียดายน้อง กลัวละแล้วจะโง่ กลัวละแล้วจะไม่มีประโยชน์เบื้องหน้าไว้คอยรองรับน่ะ อะไรอย่างนี้ 

อย่าไปกลัวมัน ละได้ละไปเถอะ  ละได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ละจนไม่มีอะไรให้ละน่ะ ...จนเหลือแต่ขันธ์เปล่าๆ 

นี่ เมื่อวางไปแล้วมันก็เหลือแต่ขันธ์เปล่าๆ ...คิดก็...เออ รู้ปุ๊บก็ดับปั๊บ นี่  ไม่มี...คิดต่อไม่มี  คิดในอดีตก็ไม่มี คิดในอนาคตก็ไม่มี 

มาใหม่อีก...รู้ใหม่ ...สุข-ทุกข์มันจะเกิด รู้ปุ๊บ มันก็หมดตั้งแต่ตรงนั้นแหละ มันไม่มีไปเสียดายอาลัยอาวรณ์อะไรกับมัน ...มันก็เหลือแต่ขันธ์ที่มันปรากฏตามความเป็นจริงเท่านั้น 

แล้วขันธ์มันก็เป็นทุกขสัจตรงๆ ที่ปรากฏไปปรากฏมา เกิดๆ ดับๆ ของมันเอง...มีเท่านั้นเอง ...ถ้ากล้าละ มันก็ไม่มีอะไรติดข้องหรอก ...อย่าไปเสียดายมัน 

ไอ้ที่เราไม่กล้า มันเป็นเพราะความเห็น ...ซึ่งไอ้ความเห็นทั้งหลายทั้งปวงนั่นน่ะ มันเป็นความเห็นผิด...มิจฉาทั้งนั้น ..เข้าไปคาด เข้าไปเดา เข้าไปหวัง 

มันเข้าไปให้ความสำคัญ กับสภาวะนั้น อาการนั้น อาการนี้ ...ทั้งที่ไม่ว่าอาการไหนน่ะ สุดท้ายก็ดับ  มีอะไรไม่ดับ...ไม่มี ไม่มีหรอก

เห็นความดับไปบ่อยๆ นั่นแหละ เขาเรียกว่าภังคญาณ อะไรๆ มันก็พังหมดน่ะ ...พวกที่เรียนวิปัสสนาญาณมาจะรู้ ก่อนจะถึงโคตรภูญาณน่ะ พังหมดแหละ เขาเรียกว่าภังคญาณ 

ไม่มีอะไรเหลือ ...อยากได้กันนัก ไม่เห็นได้อะไรเลย ...นี่ มันถึงจะข้ามโคตรได้ เปลี่ยนนามสกุลใหม่ ...ถ้ามัวแต่หา มัวแต่สร้างขึ้นมา มันไม่พังน่ะ เพราะขันธ์นี่มันมีแต่ของพังน่ะ 

ญาณแรกที่ต้องเห็นก่อนเกิดดับ คือเห็นรูปเห็นนามก่อน ...ถ้ายังแยกรูปแยกนามไม่ออกจากกัน ยังไม่รู้เลยอันไหนเป็นรูปอันไหนเป็นนามนี่  มันก็ไม่เห็นรูปนามเกิดดับ

กายคือกาย กายคือรูป...ไม่ใช่นาม  ยืนเดินนั่งนอนนี่ มันเป็นนาม...ไม่ใช่รูป ต้องแยกให้ออก ...แล้วรูปจริงๆ มันคืออะไร ให้เห็นรูปกับนามสลับกันในอิริยาบถของกาย 

นี่รู้แล้ว แยกให้ออก มันก็จะเห็นความเกิดดับสลับกัน ...พอบอกว่านั่ง ก็ดูลงไปที่นั่ง อะไรนั่งวะ นี่ ก็ดูลงไป ดูลงไปที่กาย ก็จะเห็นว่าตึงๆ ไหวๆ แท่งๆ ก้อนๆ อย่างนี้ ...อันนั้นน่ะกาย 

ไอ้ “นั่ง” น่ะไม่มี ...พอดูลงไปที่กาย “นั่ง” ดับแล้ว เห็นมั้ย รูปกับนามมันดับสลับกันอย่างนี้ ...เรียกว่าเบื้องต้นต้องเห็นรูป-นามเกิดดับสลับกันไปมา

จากนั้นก็จะเห็นนามในส่วนต่างๆ ที่ละเอียดต่อไป ความคิด เวทนา สัญญา มันก็เห็นนามเกิดดับสลับกับรูป ...เห็นบ่อยๆ ดูบ่อยๆ ไม่ต้องไปหาอะไรมาดูหรอก มันแสดงให้เห็น มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว 

เพียงแต่มีสติอยู่กับขันธ์ในปัจจุบันเท่านั้นแหละ ...สติเป็นหลักธรรมซึ่งขาดไม่ได้  ...ถ้าขาดสติน่ะหมด ไม่มีอะไรเกิดได้หรอก สมาธิปัญญาศีลไม่มีน่ะ

เพราะนั้นสติจะเป็นธรรมที่เป็นอารักขาธรรม เป็นธรรมที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นธรรมที่มีคุณมาก เป็นธรรมที่มาสงเคราะห์ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงของมรรค 

ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรในอุบายวิธีต่างๆ นานา ให้กลับมาระลึกรู้อยู่ที่ปัจจุบัน...นั่นแหละเรียกว่าสติ เอาจนต่อเนื่องเป็นสัมปชัญญะ...จนเห็นกาย เป็นเส้นเลยแหละ การรู้สึกตัว เห็นตลอด ไม่ขาดสาย

เพราะนั้นการที่กลับมารู้กายบ่อยๆ เป็นนิสัยนี่ เมื่อถึงเวลาที่เผลอเพลินอะไรไปปุ๊บ บางทีไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันก็กลับมาดูกายของมันเองแหละ พอมีอาการไหว มีอาการอะไรมากระทบสัมผัสปุ๊บ มันก็กลับมาดูกลับมาเห็น

นี่ มันสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา...เป็นสติในการกลับมารู้กับกายปัจจุบันขึ้นโดยอัตโนมัติ สติตัวจริงก็เกิดง่ายขึ้น ...ไม่มีอะไรทำ ไม่มีอะไรดูมันก็กลับมาเห็นกาย

เอากายเป็นฐาน แล้วมันก็จะแผ่ซ่านออกไปเอง ซ่านออกไปถึงนามทั้งสี่  แล้วก็จะเห็นเป็นเรื่องเดียวกันหมด ไม่ว่ารูปไม่ว่านาม ไม่มีอะไรไม่ดับ ...นี่ สุดท้ายมันก็เห็นความดับไปๆๆ มันไม่สนใจการเกิดแล้ว

เมื่อเห็นการเกิดดับๆ มากๆ ต่อไปมันไม่เห็นสนใจการเกิดขึ้นแล้ว  มันสนใจว่า..อ้อ ดับอีกแล้วๆ  ไม่เห็นมีอะไรอยู่เลย ....ดับๆๆๆๆ ดับหมดไม่เหลือหลอเลย 

นี่เห็นขันธ์ดับหมด ไม่สนใจว่ามันเกิดน่ะ  สนใจว่า...โอ้ ไม่เห็นมีอะไรไม่ดับเลยโว้ย ...นั่นน่ะ มันก็จะเกิดภังคญาณขึ้น  พอเกิดภังคญาณ มันก็เกิดเป็นสังขารุเบกขาญาณ

อันนี้คือพูดแบบภาษาให้มันสับสนวุ่นวายไปงั้นน่ะ จริงๆ ก็คือมันก็ปล่อยวางขันธ์นั่นแหละ ...เออ ไม่เห็นมีอะไรเลย เรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู ไม่เห็นมีอะไรคงอยู่เลย 

มันก็วางขันธ์ในเบื้องต้น วางสักกาย...ว่าเป็นเราของเราลงไป ...จิตมันก็จะเริ่มเปลี่ยนระดับขึ้น 

เพราะอะไร ...เพราะมันลบมิจฉาทิฏฐิได้ในส่วนหนึ่งออกไป คือความไม่รู้ความเป็นจริงของขันธ์ในเบื้องต้น 

จะเรียกใส่ชื่ออะไรก็ได้ ในญาณไหนก็ได้ ไม่มีชื่อก็ได้ ...แต่ความเห็นต่อการกระทำของกายของจิต มันเปลี่ยนไปเองน่ะ 

ก็เรียกว่าปัจจัตตัง ...มันก็รู้ มันก็เห็นว่าเป็นเรื่องของมัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันหรอก ...นี่ ในระดับต้น แค่นั้นเอง


(ต่อแทร็ก 3/20  ช่วง 2)