วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/19



พระอาจารย์
3/19 (540218A)
18 กุมภาพันธ์ 2554


พระอาจารย์ –  วันนั้นมาอยู่เป็นไงบ้าง กลับไปน่ะ

โยม –  ก็...กลับไปก็ยังเหมือนเดิมอยู่ค่ะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ขันธ์น่ะ...มันก็เหมือนเดิมน่ะแหละ มันไม่เปลี่ยนหรอก ความคิดมันก็มีเหมือนเดิมน่ะ อารมณ์ก็มีเหมือนเดิมน่ะ ความฟุ้งซ่านก็มีเหมือนเดิมแหละ ...มันไม่หายไปไหนหรอก

ขันธ์ก็คือขันธ์ วันยันค่ำคืนยันรุ่ง มันไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ว่ามันดีขึ้นหรือมันเลวลงหรอก ...มันก็แสดงความเป็นขันธ์ตามปกติวิสัยของมัน 

ขันธ์มันเป็นภาวะที่เป็นกลาง มันไม่มีดี มันไม่มีร้าย ...มีแต่เราเป็นคนไปเรียกมันว่า ดีขึ้นนะ เลวลงนะ  ...อันนี้คือเราว่าเอา...ด้วยความหมายมั่นหรือว่าอุปาทาน 

อันนี้เขาเรียกว่าเป็นทุกข์อุปาทาน ไปอุปาทานกับขันธ์ ...ทั้งที่ขันธ์มันก็ไม่ได้บอกเลยว่ากูเลวนะ หรือว่าอันนี้กูดีนะ ...นี่ อาการน่ะ มันก็คืออาการ อาการคืออาการ 

เหมือนดินน้ำไฟลมอย่างนี้  ธาตุ ๔ มันก็คือธาตุ ๔ น่ะ  ดินน้ำไฟลมมันก็ไม่ได้บอกว่ามันดี มันร้าย มันชั่ว มันถูก มันผิดอะไร 

หรือแม้แต่นามขันธ์ต่างๆ ที่มันปรากฏขึ้น มันก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับๆ มันก็ไม่ได้บอกถึงความเลวร้ายหรือว่าความเป็นของสวยของงามอะไร มันก็เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก็เกิด มันยังไม่หมดเหตุมันก็ตั้งอยู่ เมื่อมันหมดเหตุมันก็ดับไป

แต่คราวนี้ว่าโดยใจของเรา ที่เป็นใจ ดวงจิตผู้รู้อยู่นี่ มันยังมีความไม่รู้อยู่ภายในนั้นน่ะ มันจึงเข้าไปให้ค่าในอาการของขันธ์ที่ปรากฏ...ในแง่บวกบ้าง ในแง่ลบบ้าง 

ในแง่บวกก็คือเป็นราคะ ในแง่ลบก็คือเป็นปฏิฆะ เรียกว่าพอใจกับไม่พอใจ ...พอใจกับไม่พอใจนี่คือความหมายของคำว่าสุดโต่ง เป็นความสุดโต่งในขันธ์ ...คือสุดโต่งในอาการปรากฏขึ้นน่ะ 

เพราะนั้นว่าการที่จะกลับเข้ามาสู่ในองค์มรรค คือให้รู้ทุกสิ่งที่ปรากฏด้วยใจที่เป็นกลาง คือรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปว่า...เออ ดี  ไม่ต้องไปว่าไม่ดี 

แล้วก็ถ้ารู้เฉยๆ ด้วยการไม่ไปว่ามันดีหรือร้ายนะ มันก็จะไม่เข้าไปแทรกแซง ใช่ป่าว ...มันก็รู้เฉยๆ อย่างนี้ มันก็ไม่มีการเข้าไปแทรกแซงขันธ์

เมื่อไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เข้าไปแก้ ไม่เข้าไปผลัก ไม่เข้าไปดึง ไม่เข้าไปหวงแหน ไม่เข้าไปรักษา ไม่เข้าไปต่อ ไม่เข้าไปเพิ่ม ไม่เข้าไปลด ...นี่ ก็เรียกว่ารู้แบบมัชฌิมา รู้แบบกลางๆ 

ก็จะเห็นความเป็นจริงของขันธ์...อ๋อ มันก็แค่นั้นเอง เกิดขึ้น หมดเหตุปัจจัยก็ดับไป

ถ้ายังไม่ดับก็รู้ว่าไม่ดับ ไม่ดับก็รู้ว่ามันตั้งอยู่...ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ แล้วระหว่างที่ตั้งอยู่ก็ต้องอดทน ...เพราะว่ามันจะมีสิ่งเร้าภายใน คือความไม่รู้ภายในมันจะเร้าออกมา 

มันเร้าออกมาในลักษณะของตัณหา อยาก-ไม่อยาก... “หงุดหงิดกับมันเหลือเกิน จะทำยังไงกับมันดีวะ ไม่หายไปซักที” ...เนี่ย มันจะเร้า 

มันเร้าออกมาจากไหน ...ออกมาจากใจนั่นแหละ ใจรู้นั่นแหละ  แต่ว่าใจรู้ดวงนี้มันยังมีมลทินอยู่ภายใน คือมีอาสวะคือความไม่รู้อยู่ภายใน 

มันไม่รู้แบบสงบเสงี่ยมเจียมตัว มันรู้แบบ มันคิดว่ามันรู้ดีกว่านี้น่ะ ...มันโง่ แต่มันแสดงความโง่ออกมาด้วยความคิดว่ามันฉลาด...ฉลาดในการที่ว่า “กูจะเข้าไปยังไงกับขันธ์ดีวะ ให้มันดีกว่านี้” 

คือโดยไปหมายมั่นเป็นตัวเป็นตนกับอนาคต ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะดีกว่านี้ ...นี่ มั่ว มันมั่ว ด้วยความไม่รู้นะ นั่นน่ะ มันจะเร้าเราอย่างนั้น

ถ้าเราไม่ทันน่ะ เราก็ทำไปตามอำนาจของตัณหา ...ตรงนี้ ทุกขสมุทัยเกิด ทุกขสมุทัยเกิด...แล้วเราไม่เท่าทัน ทำตามมัน ก็มีแต่ทุกข์อุปาทานเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...จะไม่มีคำว่าจบนะ 

ถ้ามันจบนี่ ต้องเท่าทันตั้งแต่ทุกขสมุทัย...คือความอยากที่จะเข้าไปแก้ไข เข้าไปทำ เข้าไปเพิ่ม เข้าไปลด...ตรงนี้ก่อน นี่ล่ะเป็นสมุทัยตัวแรก 

เท่าทันบ่อยๆ ด้วยความอดทน อดต่อความอยาก ...ไม่เชื่อ ไม่ทำตามมัน ...และก็อดทนต่อขันธ์ที่มันแสดงอยู่ต่อหน้าเรา ที่มัน...บางอันก็หายของมันเอง บางอันดูกี่ทีๆ ก็ยังคาราคาซังอยู่อย่างนั้นน่ะ 

นี่ ต้องอดทนนะนั่นน่ะ อดทน ...เพราะมันจะเร้าอยู่เรื่อย ให้เราต้องทำอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างนี้บ้าง  แก้มันยังไงดีๆ ขึ้นมากี่ทีๆ ก็คิดแต่ว่าจะแก้มันยังไงดีๆ

นั่นแหละต้องอดทนที่จะไม่สนใจ พอมันคิดว่าจะแก้ยังไงดี...แล้วก็รู้ทันว่ามันคิดว่าแก้ยังไงดี...แล้วก็ไม่เชื่อมัน ไม่ทำอะไร ดูมันไป ดูแบบโง่ๆ รู้แบบโง่ๆ อยู่กับขันธ์แบบโง่ๆ นั่นแหละ 

จนกว่าจะถึงที่สุดของขันธ์นั้นน่ะ คือความดับไป หมดเหตุปัจจัยมันก็ดับไปเอง ...นี่เรียกว่าเข้าไปละทุกข์สมุทัยเบื้องต้น คือความอยากก่อน

เมื่อความอยากมันเริ่มจางคลายหายไป สามารถที่จะหน้าด้านอยู่กับขันธ์ได้ โดยที่ว่าไม่รู้ไม่ชี้กับขันธ์ เรียกว่าหน้าด้านอยู่ ด้วยความอดทน ด้วยการไม่กระเสือกกระสนกระวนกระวายไปกับอาการนั้นแล้ว

นี่ ตรงนี้มันจะเข้าไปถึงสมุทัยตัวแรก คือใจที่ไม่รู้ มันก็จะไปเห็น ...จากนั้นไปมันจะเริ่มสอนใจ ให้เห็นขันธ์เป็นไตรลักษณ์อย่างไร ให้เห็นขันธ์ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร 

มันก็จะเห็นสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าใจรู้ดวงนี้...มันไม่เที่ยง มันแปรปรวน แล้วก็ดับไปเอง ...เกิดขึ้นใหม่กี่ครั้งๆ  ไม่ว่ายังไงๆ มันก็ดับไปเอง ...สุดท้ายมันก็คือความดับไปเองของมัน 

แล้วเวลามันดับไปแล้วน่ะ ดูสิ...ความคิด ความฟุ้งซ่านน่ะ  ความสุขก็ตาม ความทุกข์ก็ตาม  เวลามันดับไปแล้ว มีอะไรเหลือ...ไม่มีอ่ะ ไม่มีซาก

อย่างธาตุ ๔ นี่ ตายแล้วยังมีซากพอให้เห็นช่วงนึง ...แต่พอลักษณะของนามธรรมทั้งหลายนี่ ดับแล้วดับเลย หาไม่เห็นเลย ...เห็นมั้ย มันไม่มีตัวไม่มีตนนะ 

เนี่ย ใจมันมาเรียนรู้ตรงนี้บ่อยๆ ในความเป็นไตรลักษณ์ของอาการของขันธ์ หรือสภาวะขันธ์ ...มันจะไปสอนใจที่มันมีมลทินอยู่ภายในด้วยความไม่รู้ว่าขันธ์นี้ไม่เที่ยง

นี่ไอ้มลทินตัวนี้คือตัวใหญ่ คือตัวไม่รู้...ไม่รู้ว่าขันธ์นี้ไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าขันธ์นี้ไม่มีตัวไม่มีตนนะ ไม่รู้ว่าขันธ์นี้ไม่ใช่ของใครนะ เป็นของกลางนะ เป็นของธรรมชาตินะ 

ไม่มีใครไปบังคับบงการมันได้นะ ขันธ์นี้มันเป็นอนัตตานะ ตัวตนที่แท้จริงก็ไม่มี วูบๆ วาบๆ พุ่บๆ พั่บๆ เลื่อนๆ ไหลๆ เกิดๆ ดับๆ อย่างนี้ 

นี่ มันจะเข้าไปลบความเห็นผิดภายในคือความไม่รู้ภายใน ไปทีละเล็กทีละน้อย ...นี่คือเริ่มเข้าไปละสมุทัยตัวแรก...คืออวิชชา 

เพราะด้วยความไม่รู้นั่นแหละ มันจึงไปหมายมั่น...ในความเที่ยงของขันธ์ในอดีต ความเที่ยงของขันธ์ในปัจจุบัน แล้วก็ความเที่ยงของขันธ์ในอนาคต ว่าเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้ มันจึงเกิดความทะยานอยากไง

อย่างมันโกรธ พอรู้ว่าโกรธปุ๊บ มันก็คิดว่าโกรธไม่หายไปไหนซักทีวะ ...นี่ เขาเรียกว่าเห็นความโกรธเที่ยง ...เมื่อเห็นความโกรธเที่ยง แล้วดูกี่ทีๆ ก็ไม่หาย 

เนี่ย มันแสดงอยู่ ยิ่งดูยิ่งเที่ยงโว้ย ไม่เห็นมันดับซักที ...นี่มันเห็นว่าขันธ์ยังเที่ยง มันก็เกิดความทะยานไปหาอนาคตที่มันเที่ยงกว่านี้ คืออนาคตที่มันไม่มีโกรธดีกว่า ...อย่างนี้ เห็นมั้ย 

ด้วยความไม่รู้นะ มันจึงสร้างสภาวธรรมหนึ่งที่เรียกว่าความอยากเกิดขึ้นมา มันก็ทะยานไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง วุ่นวี่วุ่นวาย ...นี่ กิเลสมันก็พอกพูนขึ้นมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ สะสมเป็นความอยาก 

ก็เริ่มนั่งไม่เป็นสุข นอนไม่เป็นสุขแล้ว กระวนกระวาย จากนั้นไปก็เป็นความปรุงแต่งต่างๆ นานา ความค้นคว้าหาวิธีการ หาการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ...โหย ออกมาเป็นสายเลย

เริ่มฟุ้งซ่านแล้ว เริ่มฟุ้งซ่าน แตกออกไปๆ ...เรียกว่ามีหนังสือกี่เล่มๆ มันก็ค้นคว้าหาหมดน่ะ ที่จำมา วิธีการนั้นเคยได้ยินได้ฟังมา ...เอาแล้ว เริ่มสับสนอลหม่านกันไปหมดแล้ว

สุดท้ายก็อ่อนล้า เศร้าหมอง ขุ่นมัว เนี่ย หมดแรง ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี ...นี่เขาเรียกว่ากระทำไปตามความไม่รู้  ก็ยิ่งทุกข์...ทุกข์กับทุกข์ๆ มากขึ้นๆ ...นี่เรียกว่าไม่เท่าทันทุกขสมุทัย

แต่ถ้าเรามาอดทน ...เออ อะไรก็ช่าง มันเกิดมาก็ช่าง ...รู้ไป ทนเท่าที่จะทนได้ 

แต่ถ้าทนไม่ไหว แล้วมีอาการแส่ส่ายออกไป หวั่นไหว หลงไปในอาการนั้น หลงไปในอารมณ์นั้น...ที่จะเข้าไปแก้ เข้าไปยุ่งขิงกับมันนี่ 

ถ้ารู้แล้วนี่ว่าออกจากมันไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับว่าไม่หายไปซักทีนี่ ...เอาแค่ง่ายๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับมันแล้วกลับมารู้กายเลย กลับมารู้กายตรงๆ กลับมารู้ปัจจุบันของกาย 

ให้จิตมาตั้งมั่นอยู่กับกาย สติปัญญามารู้เห็นกายตรงๆ ในปัจจุบันซะ เป็นหลักเป็นฐานก่อน ...คือขณะนั้นมันต้องทวนน่ะ มันต้องทวนความอยาก ที่อยากจะแก้ อยากจะทำอะไร ...นี่ ต้องทวนกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่กาย

เพราะนั้นกลับมาตั้งมั่นที่กาย ตรงไหนก็ได้ ...สูดลมหายใจแรงๆ ก็ได้ แล้วก็ดูลมในปัจจุบัน แล้วก็รู้ว่าลมเข้าลมออกหรือรู้การเคลื่อนไหว เดินไปเดินมาก็ได้ เดินในลักษณะดูความเคลื่อนไหวของกาย

แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้...กับอารมณ์ กับความคิดความปรุง การอยากแก้ อยากหา อยากมี อยากเป็นอะไร ช่างหัวมันไปก่อน ...เพราะว่าจะไปจดจ่อดูมันแยกออกจากมัน ทำความเข้าใจกับมันน่ะ ยิ่งไปกันใหญ่

เพราะกำลังสติสมาธิปัญญาเรายังไม่เพียงพอ...ที่จะไปทัดทานอำนาจของความหลง อุปาทาน หรือความอยากที่มันพอกพูนขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย ในขณะที่ว่าเราก็ว่าจะดูกับมันน่ะ 

ก็แกล้งทำเป็นไม่สนใจกับมันซะ กลับมารู้กายตรงๆ เดี๋ยวมันก็จางคลายไปเอง ให้สังเกตดู พอกลับมาดูลมหายใจ กลับมาเดินไปเดินมา กลับมารู้กาย

นี่ ทำไม่รู้ไม่ชี้แล้วก็กลับมารู้กายเห็นกายปัจจุบัน รู้ความรู้สึกตัวของกายปัจจุบันปุ๊บ มันก็เหมือนกับเราไม่ไปประกอบเหตุปัจจัยของอาการภายใน คืออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความปรุง ความแต่งนี่

เมื่อไม่ไปประกอบเหตุกับมันตรงนั้นปุ๊บ ก็เรียกว่าเหตุที่มันมีอยู่แล้ว มันก็จะหมดปัจจัยของมันไปเอง ...เนี่ย มันก็เกิดความจางคลายในตัวของมันเอง 

พออีกสักพักดูไป แหงะไปดูมัน อาการนั้น อารมณ์นั้น ...เออ มันหายไปแล้ว เออ มันจางไปแล้วโว้ย

มันไม่ได้จางเพราะเรามาดูกายนะ มันไม่ได้จางเพราะเราไปกระทำอะไรให้มันจางนะ ...แต่มันจางเพราะเราไม่ไปประกอบเหตุกับมันต่อ แค่นั้นเอง มันก็จางคลายของมันเมื่อมันหมดเหตุปัจจัยน่ะ

นี่ พอสติมาตั้งมั่นอยู่กับที่ใดที่หนึ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมแล้วน่ะ ...อาการที่เราจะไปยุ่งขิงกับมัน ประกอบเหตุปัจจุบันด้วยความไม่รู้ มันก็หยุดจะไป มันก็หยุดไป มันก็หมดเหตุปัจจัยของมันไปเอง

แล้วเราก็...ต่อไปก็เริ่มใหม่ ก็ดูกายไป เอากายเป็นฐาน เอากายเป็นพื้น  ดูกายรู้กาย ดูความรู้สึก ยืนเดินนั่งนอน เคลื่อนไหว เย็นร้อนอ่อนแข็ง ...ดูไปแบบโง่ๆ น่ะ ดูไปตรงๆ

ตรงนั้นน่ะแล้วมันจะเห็นอาการหรืออารมณ์ที่มันจะผุดโผล่ขึ้นมาไวขึ้น เร็วขึ้น เห็นทันขึ้น ตั้งแต่...อ๋อ ขณะจะเริ่มโกรธ เริ่มจะมีอารมณ์ เริ่มจะหงุดหงิด เริ่มจะค้นหา ก็จะเห็นมันผุดขึ้นมาปุ๊บนี่

ลักษณะที่เราตั้งฐานอยู่กับกาย หรือว่ารู้กายเห็นกาย ดูความรู้สึกตัว ...มันก็จะเห็นทันตั้งแต่แรกเริ่มที่มันเริ่มฟักไข่ ยังไม่ทันออกมาเป็นตัวน่ะ ...พอเห็นตรงนั้นปุ๊บ พอเห็นเร็วปุ๊บ มันก็ดับแล้ว

แล้วคราวนี้ว่าพอเห็นแล้ว สำคัญคืออย่าเสียดาย ...ส่วนมากบางอารมณ์ บางความรู้สึก บางความคิด มันเสียดายน่ะ 

คือเห็นแล้ว มันดับแล้ว ...แต่เสียดาย เลยคิดใหม่ อย่างเนี้ย ...สร้างขึ้นมาอีก “มันดีนะอันนี้ รู้อย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ เออ มันดีนะ”

เนี่ย อย่าเสียดาย เห็นดับแล้วดับเลย ช่างหัวมัน กลับมารู้กายต่อไป ...เรียกว่ามันเริ่มผุดออกมาจากไข่ก็ทุบไข่แตกเลย ไข่มันก็แตก ไม่ไปประคับประคองไข่ ไข่ก็แตกหมด

แต่ถ้าเราไม่มีฐาน หรือว่าสติไม่ตั้งมั่นรวมรู้อยู่ที่ใดที่หนึ่งในปัจจุบันแล้วนี่  เวลาไปดู เวลามีอะไรกระทบสัมผัสแล้วมีอาการอารมณ์อะไรเกิดขึ้นนี่ ...สติสมาธิที่ไม่ตั้งมั่นปุ๊บ มันออกมาเป็นตัวแล้วๆ 

พอออกมาเป็นตัวแล้ว ด้วยความไม่รู้เท่าทันอีกต่างหาก หรือว่าหลงเพลินไปกับมันแล้วนี่  ก็ดันไปต่อแขนต่อขาให้มันอีก ไปให้กำลังกับมันอีก ...มันก็วิ่งพล่านไปหมดนะนั่นน่ะ

เพราะนั้น ต้องยอมที่จะละมันตรงๆ ตรงนั้น ละออกด้วยการที่กลับมารู้กายเห็นกายในปัจจุบัน เป็นฐาน เป็นหลัก ...เอากายเป็นฐานเป็นหลักอยู่...ตั้งมั่น

แล้วมันก็จะเห็นอาการที่เป็นอารมณ์ ความคิด ความปรุงแต่งหรือว่าจิตสังขารทั้งหลายน่ะ  ตั้งแต่เริ่มต้นที่มันจะเริ่มเกิด เริ่มผุดโผล่ขึ้นมา หรือว่าขันธ์มันปรุงแต่งขึ้นมาภายในของมัน ...มันก็จะทันตั้งแต่แรก

แล้วมันก็จะง่าย...ในการที่ว่ามันดับไปเองของมัน อยู่ตรงนั้น  พอทันปุ๊บก็ดับ ...ไปก็ไปไม่ไกล...มันก็ดับ  เราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน อย่างนี้ 

มันก็จะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น...อ๋อ ขันธ์มันเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ ที่เป็นภาวการณ์ปรุงแต่งชั่วขณะแล้วก็ดับไป ...เกิดๆ ดับๆ

เมื่อเห็นความเกิดๆ ดับๆ มากขึ้น ...ความปรุงแต่งของขันธ์เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับของมันเองในขณะ...ในที่ตรงนั้นน่ะ ไม่มีใครเป็นผู้กระทำให้มันดับ ไม่มีใครเป็นผู้กระทำให้มันเกิด 

นี่เห็นความเป็นอนัตตา เห็นความไม่มีตัวไม่มีตน เห็นความไม่มีใครเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมันน่ะ ...ตรงนี้มันจะเข้าไปสอนใจที่มีมลทินอยู่ภายใน...ที่ความไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่รู้ว่ามันไม่มีตัวไม่มีตน 

มันก็จะไปลบ ไปคลาย...ไปจางคลายจากความไม่รู้ หรือว่ามิจฉาทิฏฐิภายใน ไปตามลำดับลำดาของมัน ...จนถึงที่สุดนั้น ในใจดวงนั้น สัมมาทิฏฐิเกิดมาทดแทน 

ก็คือเห็นว่าขันธ์ทั้งหลายทั้งปวง ตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง เกิดมาอยู่บนความไม่เที่ยง เป็นทุกข์...คือสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ด้วยตัวของมันเอง แล้วก็เมื่อดับไปแล้วก็ไม่มีตัวไม่มีตนหลงเหลืออยู่ จับต้องไม่ได้ 

นั่นแหละเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ...สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบอันนี้ก็จะมากขึ้น พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ


(ต่อแทร็ก 3/20)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น