วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/22 (2)


พระอาจารย์
3/22 (540219B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/22  ช่วง 1

โยม –  พระอาจารย์ครับ เราสวดมนต์ไปนี่ เรารู้สึกว่าคำสวดมันอยู่ตรงนี้ๆ ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร ตำแหน่งแห่งหนพวกนี้มันเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา มันเห็นไม่เหมือนกันหรอก นะ ...แต่ให้รู้ว่ามันเป็นคนละส่วนกับใจ พอแล้ว เป้าหมายหลัก โดยหลัก ...ไม่เอาโดยพยัญชนะ


โยม –  คือผมมันชอบพิเรนทร์พระอาจารย์ ว่า...เอ๊ะ ทำไมไม่อยู่ทางนี้มั่งวะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าอุทธัจจะ เขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน นะ ลักษณะฟุ้งซ่านที่ว่า...เอ๊ะ น่าจะอย่างนั้นมั้ย น่าจะอย่างนี้มั้ย นี่ ฟุ้งซ่านนะ ...ต้องรู้ทัน แล้วก็อย่าคิดต่อ 

นี่คือฟุ้งซ่าน ลังเล เกิดการฟุ้งซ่านลังเล ...มันไม่สำคัญเลย จริงๆ ไม่สำคัญเลย มันจะเป็นตรงไหน ...จุดหลักเมนคอร์สของพระพุทธเจ้าคือ...ให้เห็นใจกับขันธ์คนละส่วนกัน...โดยอรรถ ไม่เอาโดยพยัญชนะ

เพราะนั้นถ้าว่ากันโดยพยัญชนะแล้วนี่ หลากหลาย โอ้ย คนนึงก็เห็นอย่าง คนนึงก็เห็นแบบนึง คนนึงก็เห็นอยู่ทางนี้ คนนึงก็เห็นอยู่ทางนั้น คนนึงก็เห็นตั้งสามอย่าง แล้วแต่ ...ไม่สำคัญ


โยม –  เรียนถามพระอาจารย์ เมื่อสักครู่ว่าตัวตั้งมั่นอยู่ตรงไหน ผมหาจนทั่วตัว ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน

พระอาจารย์ –  ยิ่งหายิ่งไม่เห็น ยิ่งหาก็เหมือนกับผ้าขาวม้าโพกหัวน่ะ ...ก็ไอ้คนที่หานั่นแหละ คือผ้าขาวม้าก็อยู่ที่หัว นั่นแหละ  พอรู้ว่าหา...ก็ตรงนั้น ก็อยู่ที่รู้ว่าหา แค่นั้นเอง

เพราะนั้นการที่จะเห็นรายละเอียดโดยเห็นพยัญชนะนี่ ทำไมพระอรหันต์นี่จึงมีตั้งหลายภูมิธรรมของพระอรหันต์ เตวิชโช ฉฬะภิญโญ ปฏิสัมภิทา ใช่ไหม

การที่เห็นรายละเอียดของท่านนี่ ประเภทปฏิสัมภิทาญาณ พวกนี้ซอกแซก สันดานจิตซอกแซก รู้ไปเรื่อย ชอบสงสัย แล้วก็ชอบไปดูรายละเอียดมากมายก่ายกอง คือจะเอาให้กระจ่าง พวกนี้ ปฏิสัมภิทาญาณ

พวกฉฬภิญโญนั่นก็เอาแบบ เออ เอาคุณประโยชน์ จะให้เกิดประโยชน์ ดูแล้วให้ได้ประโยชน์ยังไง ก็จะทำอันนั้น พวกนี้จะติดนิสัย จะเอาผล ผลประโยชน์จากการที่รู้ที่เห็น ที่ทำ ที่ได้

แต่ประเภทเตวิชโช หรือสุกขวิปัสโก ประเภทนี้ประเภทพายเรืออยู่ เหมือนกับอยู่หน้าบ้าน สวะลอยผ่าน กูไม่สนๆ ไม่ใส่ใจแม้แต่ว่ากอสวะนั้นจะมีเพชรหรือมีทอง หรือไม่มี...กูไม่รู้ กูมองเห็นเป็นกอสวะหมด

อย่างนี้ เรียกว่าเป็นลักษณะที่ว่าแห้งๆ ไม่ใช่แห้งชามน้ำชาม ประเภทชอบกินแห้ง ...ไปเลย ผ่านหมดเลย ไม่เอา ไม่เข้าไปจับสาระประเด็น ...รู้ว่าคิด แต่ไม่รู้ว่าในความคิดนั้นเป็นอะไร แต่กูรู้ว่าคิดน่ะ อย่างนี้


โยม –  เตวิชโชนี่ล่วงรู้ใจด้วยรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  ได้ แต่การรู้วาระจิตน่ะ มันก็มีหลายระดับขั้น ...จริงๆ แล้ว แม้แต่สุกขวิปัสโกก็ยังรู้ได้ รู้แต่ว่าไม่ใช่รู้ระดับแบบที่จะออกมาเป็นคำพูดอะไรก็ได้ รู้แบบ...รู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้ก็เหมือนรู้ก็ได้

ไอ้พวกนี้มันหลากหลาย เรื่องของภาวะจิต เรื่องของคุณภาพของจิต นี่ มันต่างกันที่คุณภาพของจิต ...เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของใจนะ

คุณภาพของจิตก็แตกต่างกันไป ...แต่ใจนี่เหมือนกันหมด คือมีรู้ดวงเดียว ตื่นดวงเดียว อันเดียวเหมือนกัน ...แต่คุณภาพจิตต่างกัน คุณภาพต่างกัน สมรรถนะของจิตต่างกัน

รถก็ยังมีมอเตอร์ไซค์ ยังมีสี่สูบสิบสองวาวล์อะไรก็ว่ากันไปใช่มั้ย แต่มันก็ขี่ได้น่ะ ...นั่นน่ะคือคุณภาพของจิต หรือว่าพิกัดนิสัยจรของแต่ละดวงจิตไม่เหมือนกัน

แต่ภาวะใจเหมือนกัน ใจดวงเดียวกันหมด ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้า ...แต่ว่าคุณภาพจิตพระพุทธเจ้านี่ เรียกว่าไม่มีประมาณ ที่ว่าสัพพัญญูพุทธะ...นี่ คุณภาพของจิตนี่ เกินกว่ามนุษย์ใดในสามโลกจะมีเท่า

แล้วก็ในพระอัครสาวก อริยะสาวก พระสาวก อสีติ...นั่นก็คุณภาพจิตก็ต่างกัน  พระอรหันต์ท่านก็ต่างกันไป ...แต่ว่าใจดวงเดียวกันหมด


โยม –  พระอาจารย์ ผมสงสัยอยู่คำถามนึง ตอนนี้ สติมันต้องตามจิต ...พระอาจารย์เรียกว่าจิตกับใจใช่ไหม ใจนี่คือ (ใจรู้) ตัวรู้ ...คือสตินี่มันจะต้องรู้ตามหลังที่จิตคิดไปแล้วทุกครั้ง จะเร็วหรือช้าเท่านั้น

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แต่ที่ผมว่าคือ...เอ๊ ทำไมเราไม่ให้สติมันเกิดก่อนล่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ก่อน


โยม –  ยกตัวอย่างเช่นภาวนา อยากๆๆ นี่ สติมันก็เกิดก่อนไม่ใช่หรือครับ

พระอาจารย์ –  อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการดัก...ดักรู้ ไปดักรู้ ...ถือว่าเป็นสติที่ไม่ได้เกิดในปัจจุบัน แต่เป็นสติที่จะไปจับอนาคตมาเป็นปัจจุบัน เป็นสติแบบดักรู้ ...สติต้องรวมลงในปัจจุบัน


โยม –  อันนี้มันจะไม่เกิดปัญญาใช่ไหมครับ ถ้าดักรู้อย่างนี้

พระอาจารย์ –  มันก็เกิด...แต่เกิดในลักษณะที่ไม่ตรง บิดเบือน มันจะบิดเบือน ...แล้วผลก็บิดเบือน มันจะเกิดผลข้างเคียง มันจะมี accessory ตามมา ...แล้วมันจะเกิดความไขว้เขว


โยม –  ผมลองน่ะ พระอาจารย์  คือถ้าเป็นสิ่งที่อยากพูด อย่าพูดๆๆ ...เอ๊ มันก็น่าจะได้ ตรงที่ว่าสติมันเกิดก่อน

พระอาจารย์ –  มันรู้ไปตามที่พูดก่อนเท่านั้นเอง ...แต่ว่าไอ้ตัวอยากจริงๆ น่ะ มันไม่เหมือนกับคำพูด มันคนละตัวกันๆ ...เพราะนั้นจิตที่ไปเตรียมดักรู้ดักรอล่วงหน้า มันไม่ใช่สติตัวจริง

ต่อไปถ้าไม่พูดไม่ดักไว้ก่อน มันก็ไม่รู้ บอกให้เลย ...มันก็เลยไม่ทันกิเลสตัวจริง ...มันจะต้องไปทันกิเลสซึ่งไม่ได้บอกไว้ก่อน อย่างนี้เรียกว่ามันถึงจะทัน


โยม –  ข้อเสียคือมันไม่ทันกินแล้ว

พระอาจารย์ –  ไม่ทันหรอก ไม่ทัน ...มันจะต้องไปเกิดสภาวะที่เป็นสติธรรมชาติ หรือว่าสติอัตโนมัติ ...เพราะนั้นว่าอะไรเกิด...ถึงรู้ นะ อะไรเกิดถึงรู้ 

แล้วให้เร็วที่สุด ...ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าเป็นวิชชา จนถึงขั้นบนสุดของปัจจยาการต้น...คืออวิชชาปัจจยาสังขารนี่ คือรู้แต่เกิดดับๆ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดดับ ...ยังไม่รู้เลยว่าอะไรเกิด...ดับแล้ว


โยม –  อย่างนี้ต้องเป็นพระอรหันต์แล้ว

พระอาจารย์ –  ยังไม่ถึงนะ นี่ก็ยังไม่ถึงพระอรหันต์นะ ยังนะ

แต่ว่านี่เป็นการเรียนรู้อวิชชา...เบื้องต้น เบื้องต้นของการที่จะเข้าไปสู่จิตอวิชชา คือจะรู้เห็นจิตแรก รู้เห็นจิตแรก...แต่ไม่รู้ว่าจิตแรกนั้นคืออะไร

เป็นการรู้ที่นอกเหนือบัญญัติและสมมุติ เป็นเรื่องของปรมัตถ์จิตล้วนๆ  ยังไม่ทันจะเป็นรูปหรือนาม...ดับ ...เพราะนั้นจะเห็นแต่จิตเกิดดับ แต่ไม่รู้ว่าอะไรเกิดดับ

แล้วถ้าถึงขั้นจะเป็นขั้นมรรคจิตมรรคญาณ ...พวกนี้จะไวมาก ต่อเนื่องเลย ไม่หลับไม่นอนเลย  จิตถ้ามันได้ทำงานแล้วนี่ เหมือนเครื่องที่มันสตาร์ทแล้วนี่ ไปตลอดเลย ไม่หยุด

จนกว่ามันจะหยุดการปรุง หมดการปรุงแต่งภายใน หมดอำนาจของสังขารจิตภายในที่เกิดจากอำนาจแรงผลักดันของอวิชชา ...นั่นน่ะ สติปัญญาจะเท่าทัน

สติ...ถึงที่สุดของสติคือแค่ความเท่าทัน ไม่ใช่เป็นการไปดัก หรือเป็นการไปรู้อะไร ไปเห็นอะไร ...แต่สติ...จนมันเหลือตัวสุดท้าย หรือว่าสติที่แท้จริง..เป็นสัมมาสติที่แท้จริง คือแค่การเท่าทัน เท่าทันอาการๆ

เพราะนั้น พอมันเท่าทันปุ๊บ นี่...ไม่ต้องทำหน้าที่อื่นเลย ทุกอย่างเกิดไม่ได้เลย ...ทุกอย่างที่จะต่อเนื่องจากการเท่าทันนั้น จะไม่มีการเกิดเลย

เพราะนั้น เมื่อเท่าทันการเกิดดับแรกนี่ ปัจจยาเบื้องต่ำทั้งหมด...ตั้งแต่สังขาราลงมา จนถึงทุกข์ โทมนัส อุปายาสนี่...ขาดหมดตลอดสาย มันจะขาดอยู่อย่างนั้นเลย แล้วมันจะขาดอยู่ในตัวของมันตั้งแต่ต้นตอ

เพราะนั้นถึงเรียกว่า รวมลงละที่ใจ ... รู้ที่ใจ...ละที่ใจๆ ...ถ้าภาษาพูดแบบทั่วๆ ไปนะ ไม่เอาปริยัตินะ คือรู้ที่ละ...ละที่ใจเลย 

ไม่รู้ว่าอะไร ...ละอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าละอะไร ...แล้วรู้ว่า...อยู่เพื่อละ รู้เพื่อละ ...ไม่รู้ว่าละอะไรนะ แต่มันรู้เพื่อละ ไม่รู้ว่ามันละอะไร

แต่ว่ามันจะไปตามลำดับ ตามเสต็ปของมันนะ ขั้นตอนของมัน ....ตรงนี้มันจะวางกายวางจิตหมดแล้ว วางอาการทางจิต วางอาการภายนอก อายตนะทั้งหลายนี่ ไม่เข้าไปข้อง ไม่เข้าไปสัมผัสแล้ว

คือไม่เข้าไปรับรู้ ไม่เกิดวิญญาณทั้งห้า...ทั้งหกน่ะ เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้นเหลือแต่วิญญาณตัวสุดท้าย คือมโนวิญญาณ ...ที่จะไปเกิดเป็นมโนวิญญาณ ตัวนี้


โยม –  ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์ก็มองพวกผมเห็นหมดเลยนะฮะ

พระอาจารย์ –  คืออรหันต์ขั้นไหนล่ะ ...อรหัตตมรรคก็มองไม่เห็นเป็นคนหรอก  แต่ถ้าเป็นอรหัตตผลแล้ว ท่านก็...เห็นคนเป็นคน

คือพอเริ่มๆ ทำไป นี่ เห็นคนไม่ใช่คน นะ ...พอทำไปทำมา จนถึงจะที่สุดแล้ว เฮ้ย กูเกิดเห็นคนเป็นคน นั่น เข้าใจป่าว

แต่ว่าถ้าเป็นขั้นอรหัตตมรรคนี่ ไม่เป็นผู้เป็นคนแล้ว นะ มันขาด มันจะขาดจากสมมุติบัญญัติ ...ตอนนั้นมันจะเข้าทำลายสมมุติบัญญัติที่ติดค้างข้องคา

ไอ้ที่ในนั้นในนี้ ในนี้ในนั้น  ไอ้นั่น ไอ้นี่ ไอ้โน่น ...ไม่มีแล้ว มันจะขาดหมดเลย เข้าไปทำลายหมด ทำลายความไม่รู้ในบัญญัติ ...เข้าไปละสมมุติบัญญัติทั้งหมดเลย

เพราะนั้น ในขณะนั้นน่ะ อย่าไปเข้าใกล้ท่าน เดี๋ยวโดนถีบ ...เพราะท่านจะไม่รู้ว่าถีบอะไร (หัวเราะกันเกรียว)

แต่จริงๆ ถึงภาวะนั้นน่ะ เป็นจิตวิเวกจริงๆ นี่ ...ท่านจะไม่ออกมาสุงสิงกับใครหรอก นะ มันจะเป็นภาวะที่บีบบังคับให้เป็นมรรควิถีเอง คือท่านจะต้องอยู่ในภาวะที่วิเวกจริงๆ จิตวิเวกจริงๆ

แต่ไม่นานหรอก ช่วงที่เข้าด้ายเข้าเข็มอ่ะ เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผลน่ะ เจริญจนเต็มเปี่ยมแล้ว ...ถึงภาวะนั้นน่ะ ไม่ได้เป็นปีเป็นหลายปีอะไรหรอก จิตมันดำเนินผันตัวของมันไป


โยม –  พระอาจารย์ ผม...ตรงไอ้ตัวตั้งมั่นนี่ ตั้งมั่นรู้กายไม่ยาก  แต่การตั้งมั่นรู้จิตนี่ มันเกิดน้อยมากเลยครับ

พระอาจารย์ –  ถ้าตั้งมั่นอยู่ที่กาย ไม่ต้องกลัวจะไม่รู้จิต นะ มันรู้ของมันเอง ...เราไม่ต้องไปเตรียมว่า จะดูอะไร เห็นอะไร...ช่างหัวมัน  อยู่ที่ใจนั่นแหละ อยู่ที่รู้เฉยๆ นั่นแหละ ...มันรู้ของมันเองๆ

อย่าไปคอยว่าจะไล่สาดหาดูไปทั่ว...ไม่เอา รู้อยู่ที่เดียวๆ ...แล้วพอมันขยับ เขยื้อน เคลื่อน ไหว กระเพื่อม กระพือ ฮึกเหิม กระเสือกกระสน ดิ้นรน ทะยานออก...อะไรพวกนี้ ก็ให้รู้ทันมัน

พอรู้ทัน ...แค่รู้ทันน่ะ พอแล้ว มันไม่มีอะไรต่อเนื่องแล้ว ...แต่บอกแล้วไง ถ้ามันไม่รู้ทัน มันก็ออกมาตีปีก...ปีกกล้าขาแข็งแล้ว 

ถ้าปีกกล้าขาแข็ง...แล้วไม่รู้อีก ก็จะไปต่อแขนต่อขา ไปสอนให้มันแข็งแรงอีก ...นี่ ยิ่งไปกันใหญ่แล้ว 

เอ้า เอาแล้วมั้ง ฟังนานแล้ววันนี้ พูดเยอะนะนี่


...................................



วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/22 (1)


พระอาจารย์
3/22 (540219B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เอ้า พวกไปนอนบนวัด เป็นยังไงมั่งเนี่ย


โยม –  อาจารย์ ก้อนมันง่วงน่ะ ก้อนน่ะ(หัวเราะกัน) ...ก้อนมันหนาว ก้อนมันง่วง

พระอาจารย์ –  มันแอบมี “เรา” ในก้อนนี้ ... “เรา” ยังเป็นเจ้าของก้อนนี้อยู่ ...คือลักษณะของอุบายในเรื่องนี้นี่ก็มีหลายอย่าง แต่ง่วงมากๆ จริงๆ นะ ไปนอนให้เป็นกิจจะลักษณะไปเลย


โยม –  เดี๋ยวสองวันไม่ตื่น

พระอาจารย์ –  นอนเลย คือนอนจริงๆ  ถ้าง่วงมากนะ...นอน ...แต่ว่าอย่านั่งหลับนะ

หมายความว่ายกตัวเองไปนอนซะ แล้วก็นอนปุ๊บแล้วก็ตั้งสัจจะไว้ว่า...ตื่นเมื่อไหร่ ลุก นั่งเลย อย่างเงี้ย ให้มันเป็นกิจจะลักษณะไปเลย นี่วิธีหนึ่ง...วิธีแก้ แก้ถีนมิทธะ

วิธีแก้อีกวิธีนึงคือแก้แบบหักหาญ ด้วยเนสัชชิก ตั้งสัจจะเลย...กูจะไม่นอน กูจะไม่ให้จิตตกภวังค์ อย่างนี้ เอากันแบบห้าวหาญเลย

เพราะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านมีอุบายวิธี ทั้งทรมาโน ทั้งโอ้โลม-ปฏิโลม แล้วแต่ ...คราวนี้ว่า ไอ้โอ้โลมนี่ คนมันชอบ (หัวเราะกัน)  มันจะหาข้ออ้างนอนอยู่เรื่อย นะ

มันต้องคนที่มีสัจจะจริงๆ คือให้เป็นกิจจะลักษณะ นั่งเป็นนั่ง ยืนเป็นยืน เดินเป็นเดิน นอนเป็นนอน ...ให้มันถูกกิจจะลักษณะ


โยม –  พระอาจารย์ มันไม่รู้ว่ามันเป็นกิเลส หรือมันเป็นตัวที่...

พระอาจารย์ –  กิเลสหมดแหละ (หัวเราะกัน)


โยม –  คือมันเป็นตัวที่...ขันธ์มันอ่อนหรือยังไง

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ถ้าไม่ชัดเจนอย่างนั้นน่ะ เป็นเรื่องของถีนมิทธะหมด

ถ้าจิตมันลงล็อคลงฐานของจิตตื่นจิตรู้จริงนะ ...มันจะไม่มีเลย การที่ว่าเป็นเมฆเป็นหมอก เป็นซึมเป็นเยิ้มอ่ะ เข้าใจมั้ย เป็นเยิ้ม ...มันเยิ้มอ่ะ ใจมันเยิ้ม มันย้อมแบบหยาดเยิ้ม

แล้วก็ค่อยๆ เลือนราง แล้วก็หนัก มันมีความรู้สึกเหมือนม่านมันค่อยๆ ปิดลงไป ...ถ้าไอ้อย่างเนี้ย เขาเรียกว่าถีนมิทธะหมด ภาวะอย่างนี้ ...เพราะสติอ่อน สติยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าจิตตื่น

เพราะนั้นถ้ากำหนดได้ถึงสติที่จิตตื่นนะ ให้เยิ้มขนาดไหน แล้วรู้...อยู่อย่างนั้นนะ ปั๊บ จิตตื่นปุ๊บ มันก็เหมือนล่อโก๊ะเล่นเลย...โพล่งขึ้นมาเลย มันจะเปิดโพล่งขึ้นมา ตื่นขึ้นเลย จิตมันจะตื่นขึ้น

แล้วพอมันตื่น ด้วยอำนาจจิตตื่นนี่ ...สลายหมด พวกโมหะทั้งหลายนี่ กระจายหมดเลย เหมือนกับกระจัดกระจายหมดเลย


โยม –  พลังสูงมากนะครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  มาก ต้องอาศัยสติปัญญามากๆ แรงจริงๆ ถึงจะสู้กับถีนมิทธะตรงๆ ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าอินทรีย์อ่อน อินทรีย์น้อย ...ค่อยๆ ทำไป เจริญสติไปทีละเล็กทีละน้อย เก็บเล็กผสมน้อยไป  ฝึกว่ารู้ตรงไหน แล้วมันเด่น แล้วมันชัด แล้วมันตื่น

ก็รู้ตรงนั้นน่ะ รู้อยู่ๆๆ  รู้อยู่อย่างนั้นน่ะ พอลักษณะที่มันจะเริ่มเยิ้มเริ่มมาปุ๊บนี่ มันจะรู้ทันตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่เริ่มเยิ้ม เข้าใจมั้ย คือตรงมันเริ่มคืบคลานเข้ามา

แต่นี่มันคืบ...จนมันเลยคลานแล้วน่ะ ยังไม่รู้เลยน่ะ (หัวเราะกัน) ...มันมาจนเข้ามายึดพื้นที่ มันยึดไปครึ่งหนึ่ง หรือสามในสี่อย่างเนี้ย ...ยังไงก็เสร็จ ยังไงก็เสร็จถีนมิทธะ

อย่าพูดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ ถีนมิทธะนี่ ...แม้แต่พระโมคคัลลาน์ อัครสาวก  ยังต่อสู้กับความง่วงไม่ไหวน่ะ ต้องไปขออุบายจากพระพุทธเจ้า สอนให้ทำยังไงถึงจะไม่ง่วง

ท่านก็บัญญัติมาตั้งสิบวิธีน่ะ ไปยืนแหกตากลางอากาศ หรือว่าเป็นอะไรอย่างนี้ (หัวเราะกัน) ...นั่นแหละ ยังเอาชนะความง่วงไม่ได้เลย

โหย แต่ก่อนเราอดนอน เราเนสัชชิกนี่ เดินยังหลับน่ะ ยืนก็หลับ บอกให้เลย  ยืนบิณฑบาตนี่ ยืนรอนี่...หลับ ขนาดยืนบิณฑบาตน่ะ (หัวเราะกัน) พระอยู่ข้างหลังยังต้องมาสะกิด

แรกๆ ก็ต้องต่อสู้กันนะ เรื่องถีนมิทธะ ...เมื่อสติมันเท่าทัน เท่าทันในเรื่องถีนมิทธะแล้วนี่ ไม่ได้กินหรอก บอกให้เลย ถ้าสติมันเท่าทัน แล้วรู้จักว่าที่มาที่ไปของถีนมิทธะ...ว่าถ้าอาการนี้มานี่ กูไปแน่ 

สติจะเข้าไปจับทันทีเลย ไม่ให้ต่อเนื่องออกมาเลย ...มันจะดับๆๆๆ ดับตั้งแต่แรกเลย ดับตั้งแต่ต้นตอ ต้นเหตุ ...แต่มันต้องฝึกบ่อยๆ มันถึงจะเท่าทันอาการของถีนมิทธะ

แล้วพอมันชำนาญขึ้นมากๆ ปุ๊บนี่ ...ต่อให้ง่วงขนาดไหน หรือว่าเหนื่อยขนาดไหนนะ มันก็สามารถเข้าไปหลับนกได้น่ะ ...เข้าไปปุ๊บนี่ ให้มันวูบลงไป 

นี่แต่ก่อนนะ เวลาเราสอนคน เราสอนคนมากๆ นี่ พูดๆๆๆ วูบไป ก็ยังพูดได้เลย บอกให้เลย พูดไปหลับไปน่ะ แล้วก็พูดต่อเรื่องเดิมด้วย แต่มันลงไปวูบเดียวนะ แล้วก็ตื่น หายง่วงแล้ว มันจะรู้ ทางเข้าทางออกของมัน


โยม –  อาจารย์ ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะขันธ์เรามันไม่ไหวหรือยังไงคะ

พระอาจารย์ –  มันก็ประกอบกันด้วย อย่างนี้ อย่างลักษณะของเรานี่มันเพราะขันธ์ ไม่ใช่ด้วยถีนมิทธะ เพราะขันธ์มันอ่อน ขันธ์อ่อน

แต่ลงถ้าเข้าไปถูกจังหวะมันน่ะ มันแค่นิดเดียว เรื่องของความง่วงน่ะ ...ความง่วงจริงๆ นะ ครูบาอาจารย์ท่านนอนน่ะ หูย นอนวันละสามชั่วโมงท่านก็พอแล้ว

ไอ้ร่างกายนี่ ไอ้ที่พวกเราเป็นข้ออ้างว่าต้องนอนวันละแปดชั่วโมง โหย อย่างมากนี่สาม-สี่ชั่วโมง...นี่ถือว่าเต็มที่แล้ว พอเพียงกับการที่ว่ากายนี่พักผ่อนแล้ว

แต่ว่าไอ้นอกนั้นเป็นเรื่องของความอยากนอนมาผสมมากกว่า


โยม –  หนูก็มีปัญหา นอนสี่ทุ่มแล้วตีหนึ่งก็ตื่น แล้วตื่นถึงเช้า นอนได้แค่นี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ตื่นน่ะมันก็ดี แต่ว่ามันจะดียิ่งขึ้น ถ้าตื่นแล้วจิตมันตื่นด้วย  ไม่ใช่ตื่นแล้วก็ไหลไป ลอยไปต่อ ไม่หลับแต่ว่าจิตมันหลับ ...เพราะนั้นตื่นก็พร้อมให้จิตตื่น จิตตื่นรู้  ไม่ใช่ตื่นเต้น...ตื่นรู้

เวลาตื่นรู้แล้วก็เหมือนจิตภายในนี่มันมีแสงสว่าง สว่างไสว ...คำว่าสว่าง จิตสว่างนี่ คือจิตตื่นนะ ไม่ใช่สว่างเป็นแสงไฟนีออนอย่างนี้

สว่างมันแจ้งน่ะ แจ้ง ...เหมือนกับเรามองเห็นภาพอย่างนี้ มองเห็นในความสว่างอย่างนี้ เวลาจิตสว่าง มันสว่างแบบเราเห็น มันตื่น อย่างงั้นน่ะ อาการตื่นรู้

เพราะนั้นภาวะรู้มันจะเบาบาง แต่ว่ามันตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ...นั่นแหละให้จำไว้เลยภาวะของใจรู้ รู้...ตื่น...เบิกบาน สดใส เหมือนน้ำค้างกลางหาวน่ะ ประมาณนั้นน่ะ นั่นน่ะภาวะใจ

ไม่ใช่ซึม ...ซึมเบลอพวกนี้เป็นอาการหมดนะ ซึม เบลอ ทึบ ขุ่น หนัก มัว อย่างเนี้ย ...ตื้อๆ ขี้เกียจ อย่างงี้ ขี้เกียจๆ (โยมหัวเราะกันว่า ทำไมพระอาจารย์ต้องมองหน้าตอนพูดว่าขี้เกียจ)

เพราะนั้นอาการตื่นนี่มันจะกระฉับกระเฉง ...ให้รู้ไว้เลย ภาวะรู้ ภาวะใจจะรู้ตื่นนี่ ตื่น สว่าง สงบ สันติ กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวยภายใน  ให้รู้เถอะ ภาวะใจ มันจะเป็นอาการนั้น

แล้วก็เบิกบาน สดใส แม้ข้างนอกอาจจะดูทื่อๆ แต่ข้างในมันจะสดใส ...ข้างนอกอาจจะเป็นอาการเฉยเมย อาการสีหน้าจะบึ้งตึง แต่ภายในสดใส มันจะต่างกัน


โยม –  อาจารย์คะ ตื่นนี่ มันก็ทำไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ใช่มั้ย มันเป็นของมันเอง

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แต่ถ้าสติเข้าไปได้ถูกที่ หรือว่าสติสมาธิปัญญามันเข้าไปถึงใจแล้วนี่ ก็จะเข้าถึงภาวะจิตตื่น


โยม –  อย่างเวลาเราง่วง แล้วเหมือนจิตมันตื่นเป็นวูบๆ อย่างนี้ค่ะ หมายถึงว่ากำลังสติเรายังไม่พอหรือ

พระอาจารย์ –  ยังอ่อน สู้กับโมหะที่เป็นถีนมิทธะไม่ไหว ...มันก็เหมือนกับพระจันทร์กำลังจะออกก้อนเมฆแล้วแหละ แต่เมฆมันเยอะ ก็มืดอีกแล้ว มาอีกแล้ว (หัวเราะกัน)

คือแบบกำลังแย้มๆ แค่แย้มๆ นี่ พรึ่บ อีกแล้ว เคยเห็นมั้ย ...เมื่อคืนเห็นมั้ย พระจันทร์เมื่อคืนน่ะ สว่างเป็นช่วงๆ แล้วก็มืด โดนปิดบัง

เหมือนกัน ให้สังเกตดู ภาวะจิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำ จะถูกครอบพึ่บนี่ ...แต่ว่าถ้าเป็นจิตตื่นแล้วมันเหมือนกับพระจันทร์กลางหาวที่ไม่มีเมฆน่ะ นั่นแหละ จะสว่างอย่างนั้น


โยม –  เหมือนสปอตไลท์

พระอาจารย์ –  มันจะโดดเด่น ไม่ใช่พระจันทร์ในหน้าฝน ผลุบๆ โผล่ๆ มันผลุบๆ โผล่ๆ


โยม –  พระอาจารย์ อย่างเราสวดมนต์นี่ มันสวดไปอย่างนั้นน่ะฮะ แต่อีกตัวมันรู้ว่ามันคนละส่วนกัน

พระอาจารย์ –  มันแยกออก ใจมันจะเริ่มแยกออกจากขันธ์เรื่อยๆ ...เมื่อเจริญสติปัญญาไป มันจะเห็นขันธ์ออกเป็นส่วนๆ ส่วนๆ

มันจะชำแหละ แยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ มันจะออกเป็นส่วนเลย  นี่ขันธ์นะ นี่ธาตุนะ นี่อายตนะนะ นี่ตา นี่หู นี่รูป นี่เสียง นี่กลิ่น นี่รส นี่อารมณ์ นี่ผัสสะ นี่ธาตุ นี่ดินน้ำไฟลม

นี่เป็นส่วนๆ เป็นกองๆ เป็นส่วนๆๆ ไป ...แล้วก็มีใจเป็นประธาน...รู้อยู่เห็นอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ ว่าเป็นคนละส่วนกันชัดเจน

แต่ถ้าไม่มีภาวะแยกออกเป็นส่วนแล้ว มันเป็นอันเดียวกันหมด มันคลุกเคล้า มันเกิดอาการคลุกเคล้า ...เหมือนยำ เหมือนสลัด สลัดที่มันคลุกๆ คลุกแล้วอย่างนี้ เราก็กินกันว่าอร่อย

แต่ว่าถ้าแยกมันก็จะเห็นเลยว่า นี่เป็นผัก นี่เป็นน้ำสลัด นี่เป็นมะเขือเทศ  นี่เป็นไอ้นั่น นี่เป็นไอ้นี่ ...จะเป็นส่วนๆ ส่วนๆ ไป

มันก็จะเห็นขันธ์ ก็เห็นตัวเราของเรา แล้วก็เห็นขันธ์ห้านี่ ไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริง ...มันเป็นการรวมกันของส่วนๆ ส่วนๆ

แต่เวลาเรากินเราเสพ เราก็จะกินแต่อาหารจานเดียวน่ะ มันรวมกันแล้วก็บอกนี่เป็นอาหารๆ ...แต่ไม่เห็นว่าองคาพยพมัน ส่วนประกอบมันคืออะไร

เพราะนั้นตัวสติสัมปชัญญะนี่เป็นตัวแยกธาตุแยกขันธ์ แยกอายตนะออกจากกัน


(ต่อแทร็ก 3/22  ช่วง 2)



แทร็ก 3/21 (3)


พระอาจารย์
3/21 (540219A)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/21  ช่วง 2 
http://ngankhamsorn3.blogspot.com/2016/09/321-2.html )

พระอาจารย์ –  แต่ว่าในลักษณะที่ให้ดูกายนี่ เราไม่ได้ให้ดูเหมือนกับสมถะ คือต้องไปคิดพิจารณาแยกแยะออกเป็นส่วน นี่คือนั่น นั่นคือนี่ หรือเอาสมมุติมาเป็นแบบอะไร

ก็ดูไป...แบบใช้สติเข้าไปดูตรงๆ ดูที่ความรู้สึก ...แล้วก็ให้แยบคายตรงนั้น ว่ามันเป็นตัวเป็นตนมั้ย มันมีตัวมีตนที่แท้จริงของมันมั้ย 

แม้กระทั่งว่าไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์กับมันแล้วก็ตาม ก็ต้องรู้อยู่อย่างนั้นว่ามันเป็นตัวเป็นตนมั้ย 

เพราะในลักษณะหนึ่งของไตรลักษณ์ที่ยังไม่แจ้งในทุกอริยะบุคคลเลยก็คือ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตน

อันนั้นเป็นที่สุดของธรรม ที่สุดของอาสวักขยญาณ ...ถ้าไม่เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอัตตาในนั้น ไม่มีมันในเรา ไม่มีเราในมัน อย่างเนี้ย 

ตัวมันก็ไม่มีอะไรในตัวมัน ...มันมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีใครเป็นผู้บังคับบัญชากำหนดกะเกณฑ์กฎเกณฑ์มันได้เลย 

นั่นน่ะ ถึงว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตนอะไร

เพราะนั้น แม้กระทั่งรู้กายเห็นกาย ก็ต้องเห็นว่ามันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดดับๆ อยู่ ...แม้กระทั่งไม่ไปสุขไม่ไปทุกข์กับมันแล้ว ก็ยังเห็นว่ากายนั้นเกิดดับ หาตัวตนที่แท้จริงไม่มี...ไม่มี

กายก็กลายเป็นของล่องลอย ...ต่อไปนี่ เมื่อเห็นล่องลอย หรือว่าไม่มีตัวไม่มีตนปุ๊บนี่ มันว่างหมดแหละ มันเดินไปบนความรู้ เดินๆๆ ทำอะไรก็ทำไปโดยความว่างเปล่าน่ะ ไม่เห็นกายไม่เห็นใจเลย

ทำไปงั้นน่ะ มีแต่รู้ ไม่มีกายๆ ...ไม่มีจิต ไม่มีความรู้สึกไปสมมุติกับกายกับใจเลย ...นั่นน่ะเห็นความไม่มีตัวตนของกายจริง จะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งหรือไม่เป็นสิ่งใดแล้ว...ไม่มีเลย

เพราะนั้นในลักษณะของการเจริญปัญญานะ มันจะเหมือนไม่เป็นขั้นตอน มันสามารถจะแลบไปเห็นสภาวะของความไม่มีไม่เป็นที่สุดก็ยังได้ เข้าไปแลบเห็นน่ะ แล้วก็ถอยแลบกลับมาสู่สภาวะปกติอีก 

เพราะนั้นอย่าไปเอาขั้นเอาภูมิมาเป็นตัววัด ...ทิ้งไปได้เลย นะ ...ปัญญามันสามารถเข้าไปหยั่งถึงได้หมด  คือเข้าไปสังเกตการณ์ในภาวะข้างหน้าได้

เพราะนั้น ทำไปทำมา มันจะรู้ได้ด้วยตัวของมันเองว่า กูจะทำอะไรต่อไปวะ...ซึ่งมันอาจจะช้าหน่อย ...แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยกำกับ หรือคอยชี้แนะว่านี้ๆๆ มันก็จะไวขึ้น ไม่เนิ่นช้า

แต่ว่าถ้าบอกว่าโดยตัวของมันเองนี่ มันสามารถจะรู้เลยว่าจะต้องทำยังไงต่อ ด้วยตัวของมัน ...ไม่ต้องอาศัยว่าผิดมั้ย ถูกมั้ย มันจะรู้เลยอย่างนี้ มันจะรู้ว่าอย่างนี้

เช่นว่า ดูไปดูไป มันก็จะจับเหตุจับผิดได้ว่า...เอ๊ รู้มันหายไปได้ยังไง ...มันก็จะเข้าไปจับว่าเหตุที่รู้หาย มันหายตอนไหน อย่างนี้ มันก็จะสืบสาวราวเรื่องได้เองว่าเหตุที่เกิดทุกข์คืออะไร

แล้วมันดับไปตอนไหน ใจดวงนี้มันหายไปตรงไหน สติมันหายไปตอนไหน สมาธิมันหายตอนไหน มันไม่ตั้งมั่นแล้วมันไปหายอยู่กับอารมณ์ไหน ภพไหน ...มันก็สืบสาวราวเรื่อง 

มันก็จะไปจับเหตุ...อ๋อ มันก็แก้...ทางออกก็แก้ตรงที่เหตุที่เกิดทุกขสมุทัยขึ้นมา แก้ไปเรื่อยๆ ...จนเหลือสมุทัยตัวต้น ตัวเดียว จากนั้นก็เหลือแต่ใจรู้ล้วนๆ แล้ว 

เพราะนั้นเมื่อใดที่ใจรู้โด่เด่ ...นั่นน่ะคือโคตรสมุทัย


โยม –  พระอาจารย์ สุดยอดเลย  เคยไปเล่าให้เจ้านายฟังเรื่องพระอาจารย์ ท่านก็สนใจนะ  ท่านตั้งเป้าว่า ชาตินี้ท่านต้องเอาโสดาบันให้ได้

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่า...บอกเจ้านายไปเลยว่า ถ้าอยากได้โสดาบัน ให้ดูที่ความรู้สึกตัวบ่อยๆ ดูเข้าไปเหอะ ดูความรู้สึกตัว เย็นร้อนอ่อนแข็ง ขยับเคลื่อนเลื่อนไหว

ดูแบบไม่ต้องไปดูว่ามันเป็นกาย หรือว่าเป็นชายเป็นหญิง ดูที่ความรู้สึกตัว ดูเข้าไป แล้วดูไม่นานหรอก เดี๋ยวก็เข้าใจเองว่า...กูไม่เอาแล้วโสดาบัน ...เอาอรหันต์ดีกว่า (หัวเราะกัน)

ดูไปดูมา แล้วบอก...เอ๊ย ตอนแรกกูว่ากูจะเอาแค่โสดาบัน เนี่ย จะเอาโสดาบันทำไม กูเอาอรหันต์ดีกว่า ...ไอ้ตอนคิดแรกๆ น่ะ มันดูเหมือนยาก

บอกว่าให้ดูกายไปเถอะ ดูความรู้สึกตัว รู้ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดมากเลย รู้ธรรมดาเนี่ย ยืนเดินนั่งนอน ดูความรู้สึกตึงๆ อ่อนๆ แข็งๆ ไหวๆ หยุ่นๆ กระเพื่อมๆ นิ่มๆ เบาๆ หนักๆ แท่งๆ  ก้อนๆ

ดูมันเข้าไป เดี๋ยวก็เห็นเองว่ามันมีกายตรงไหนวะ มันเป็นเราตรงไหนวะ ...มันเป็นแค่ความรู้สึก แค่นี้เอง กายจริงๆ เป็นแค่ความรู้สึก แค่นั้นเอง

มันไม่มีชายหญิง ไม่มีว่าเป็นชายเป็นหญิง เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นสวย เป็นไม่สวย ...ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะอะไร ดูในความรู้สึกตัว มันจะมีสวยมั้ย มีไม่สวยมั้ย...ไม่มี

ชาย-หญิงยังไม่มีเป็นเลย ...ไอ้เรียกว่าสวย-ไม่สวย  สุภะหรืออสุภะนี่  พวกนี้เป็นสัญญา จริงๆ มันเป็นแค่สัญญาหรือความจำ ความจำได้หมายรู้แค่นั้นเองนะ

แต่ถ้าดูไปตรงๆ โดยไม่อาศัยความจำ ไม่เอาความปรุงเข้ามานะ กายนี่เป็นแค่อะไรไม่รู้ ...เราถึงบอกว่าไอ้ใบ้น่ะ เป็นไอ้ใบ้ ไม่มีความหมาย

มันไม่มีนิมิตหมายในตัวของมันเองเลยด้วยซ้ำ เป็นธรรมชาติหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ แล้วก็ดับไป  แล้วก็ปรากฏใหม่ แล้วก็ดับไป ...เนี่ย ดูแค่นี้

สมัยก่อน ทำไมฟังเทศน์พระพุทธเจ้ากันนี่  ฟังมาเป็นร้อยคนพันคน ฟังปุ๊บนี่ หลุด โสดาบันตั้งแต่ขณะนั้น ลุกออกมานี่สำเร็จโสดาบันเป็นเทือกเลย ...ทำไมง่ายจัง เห็นมั้ย

ทำไมเดี๋ยวนี้มันฟังมาหลายครั้งแล้ว มันยังหงำเหงอะอยู่อย่างเงี้ย (หัวเราะกัน) ยิ่งฟังมันยิ่งจมโคลนไปเรื่อยน่ะ ...เพราะอะไร ...เพราะมันฟังแล้วมันคิดมาก

ฟังแล้วคิดมาก ฟังแล้วไปวิเคราะห์ ฟังแล้วไปเทียบเคียง ฟังแล้วสงสัย ฟังแล้วลังเล ฟังแล้ว...อย่างงั้นมั้ง อย่างงี้มั้ง เคยทำมามันไม่ใช่อย่างงี้อ่ะ ฟังไม่เหมือนอย่างงั้น ไม่เข้า...ไม่เหมือนที่เราคาดไว้

คนสมัยโบราณนี่ เขาไม่มีความรู้ ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มีหนังสือหนังหาอ่าน ...อ่านหนังสือยังไม่ออกเลย มีแต่ฟังมา แล้วก็บางคนไม่เคยรู้จักพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ เขาชวนกันไปก็ไป ก็ไปฟัง

แล้วก็ว่านอนสอนง่าย ...ท่านบอกดูไปรู้ไป กายเป็นอย่างเนี้ย ดูไปรู้ไป ...ก็ดูตรงนั้นเลย ก็...เออ จริงแฮะ

เนี่ย ไม่คิดอะไรเลย ดูแบบไม่คิดอะไรเลย...ก็เข้าใจ ...แต่ก่อนเคยว่ากูเป็นผู้หญิงกูเป็นผู้ชาย ดูไปดูมา มันก็ไม่เห็นเป็นผู้หญิงผู้ชายตรงไหน...โพะเลย แค่นี้ ไปยากอะไร

แต่ไอ้พวกเรานี่ มันก็เห็นนะ แต่...เอ๊ ใช่รึเปล่าวะ (หัวเราะกัน) มันต้องไอ้นั่นรึเปล่า  มันอยู่ในโลกนะ นี่เดี๋ยวมันก็มีนะเป็นผู้หญิงผู้ชาย มันต้องอย่างงั้นนะ 

เนี่ย เอาแล้วๆ ...แทนที่จะทิ้งความสงสัย แทนที่จะยอมรับตามความเป็นจริง...เท่าที่เห็น เท่าที่มี ...มันก็เลยถอยกลับมาอีก กลับมาค้นคว้ากันต่ออีก

แล้วก็มานั่งค้นคว้ากัน ...ภาวนาไปค้นคว้าไป ภาวนาไปเปิดตำราไป ภาวนาไปฟังไป  มันจะเหมือนกับที่เราทำมั้ย มันจะตรงกับที่เราเข้าใจมั้ย อะไรอย่างนี้

คอยสอบทาน เทียบเคียงอยู่อย่างนี้ กับธรรมบทนั้น ข้อนี้ วรรคนี้ องค์นั้นองค์นี้ ...แต่ละคนนี่มันมีครูบาอาจารย์ไม่รู้เกือบเท่าไหร่แล้ว หากันไป แต่ละอาจารย์ก็สอนกันไป

เพราะนั้น เวลาดูหนังดูทีวี เวลาฟังเพลงนี่ ...วิธีง่ายๆ ว่าหลงหรือไม่หลง คือให้กลับมาดูว่า เห็นตัวกำลังนั่งฟังยืนฟัง นอนดู นอนฟังมั้ย ...กลับมาดูที่ว่า นี่ กำลังอยู่ในท่านั่ง มีคนนึงที่นั่งดูนั่งเห็นอยู่มั้ย อย่างนี้ 

ถ้าดูแล้วหันรีหันขวาง กายกูอยู่ไหนหายไปหมด ให้รู้ไว้เลยว่าหลง ...แต่ถ้ายังดูในลักษณะที่ กูกำลังนั่งดูอยู่โว้ย มีคนนั่งอยู่บนเก้าอี้ดู รู้สึกว่ากำลังนั่งเก้าอี้ดู อย่างเนี้ย เขาเรียกว่าดูแบบพอมีสติหน่อย


โยม –  แต่ก็จะให้ตั้งมั่นอยู่ยาก

พระอาจารย์ –  ยาก สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึก ...เพราะนั้นในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติเรื่องศีลนี่มา ศีลที่ว่าห้ามดู ห้ามเผลอเพลินประโคมดนตรี เพราะมันเป็นจุดที่สติไหลได้ง่ายมาก 

เพราะนั้น มันก็เป็นเรื่องของสติทั้งนั้นน่ะ ...แล้วมันจะค่อยๆ แยบคาย ...เมื่อเข้าใจหลัก เข้าใจหลักแล้วนี่ ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ เหมือนกัน

พอไม่ดูทีวีนั่นแล้วก็มาดูจอใหญ่ อันนี้ใหญ่ยิ่งกว่าโปรเจ็คเตอร์อีก เอาตาเราก็เป็นแก้วตา ข้างนอกนี่ก็เป็นจอวายสกรีนสามมิติ หกมิติ ...มันก็ไม่ได้แตกต่างจากโทรทัศน์หรอก

เนี่ย นั่งดู ตัวละครทั้งนั้น เล่นบทเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เป็นชายเป็นหญิง ...แล้วก็ไปๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยนซีนใหม่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนบทใหม่ chapter หนึ่งๆ อย่างนี้

โลกนี้คือละคร...ล้วนๆ เลย คือละครโรงใหญ่ ...แต่ถ้าไม่มีสติว่านั่งดูละครอยู่ มันก็เข้าไปเล่นอยู่ในโรงละครของโลกน่ะ ตายแล้วก็ยังอินเนอร์อยู่เนี่ย ...อยู่ใน chapter ไหนก็ไม่รู้

อายตนะทั้งหก มันเป็นแค่นิมิต เนี่ย โลกนี้ทั้งหมดคือนิมิต ...มันรับรู้โดยผ่านส่งเข้ามาสู่ใจเป็นภาพของนิมิต เสียงก็เป็นนิมิต รูปก็เป็นนิมิต กลิ่นก็เป็นนิมิต รสชาติ สัมผัสก็เป็นนิมิต

พวกนี้เป็นนิมิตทั้งหมด ...ทีนี้มันมากระทบกับอายตนะ แล้วใจก็รับนิมิตนั้น แล้วก็ตีความแปลความออกมา


โยม –  หลวงพ่อคะ ถ้าสมมุติว่าเราคุยกับเขาอยู่ แล้วคุยไปคุยมาก็เหมือนจะรู้เรื่อง แล้วเหมือนกับมันไม่รับรู้เสียงอะไรเลย ต้องถามเขาอีกทีว่าเมื่อกี้พูดอะไร อย่างนี้สติมันหลุดรึเปล่าคะ คือไม่ได้ยินเสียงขึ้นมาเฉยเลย อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  คราวนี้ว่าเรื่องน่ะมันเป็นเรื่องสำคัญรึเปล่า


โยม –  ก็ไม่สำคัญ

พระอาจารย์ –  ไม่สำคัญก็ช่างหัวมัน ...แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็น เราจะต้องกำกับสติลงไปให้ชัดเจนกว่านั้น  แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ผ่านไปเลย ทิ้งมันไปเลย

แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องรู้ชัดลงไปตรงนั้น ต้องรู้ชัด ต้องเน้น เน้นสัญญาลงไป เน้นว่าต้องจำนะ

คือลักษณะที่รู้ผ่านๆๆ เนี่ย จริงๆ น่ะมันไม่ต้องเก็บอะไรหรอก ไม่จำเป็นต้องจำด้วยซ้ำ ...แต่บางครั้งต้องอาศัยความจำเพื่อมาใช้ในการงาน หรือว่าในการทำอะไร

ก็ต้องย้ำสัญญาลงไป ต้องย้ำตรงบทนั้นน่ะ วรรคนั้น ตอนนั้น ภาพนั้น มันหยิบอะไร วางอะไร ย้ำไว้ “อย่าลืมนะๆ” อะไรอย่างนี้ ต้องย้ำสัญญาลงไป

แต่ถ้าไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ ช่างหัวมัน ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่ต้องคิดมาก แค่นั้นเอง ...มันไม่ได้ผิด ไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์หรอก แต่ว่าเป็นลักษณะของจิตที่รู้ผ่านแล้วไม่จดจำ

แต่บางครั้งเราต้องอาศัยการจดจำในสมมุติบัญญัติ...เพื่อโลก เพื่อการงาน เพื่อการสัมผัสผู้คน ก็ต้องมีการสมดุล ก็ต้องย้ำสัญญาลงไป

แต่ย้ำเพื่อจะให้จำ ไม่ใช่ย้ำเพื่อให้มาเป็นอุปาทาน ...มันก็จะเข้าใจเองว่าย้ำอุปาทาน กับย้ำแบบไม่ให้คนเขาด่าน่ะ มันคนละเรื่องกัน

แต่ถ้ารับได้ก็...ใครจะด่า ใครจะว่า...ทิ้งหมด ไม่สนใจ โง่เข้าไว้ ...จำก็ได้ ไม่จำก็ได้ ช่างมัน ผ่านไป ...กลับมาเรื่อยๆ เรียนรู้ไป


(ต่อแทร็ก 3/22)