วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/21 (2)


พระอาจารย์
3/21 (540219A)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/21  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อเข้าถึงภาวะจิตวิเวก แล้วเข้าไปบ่มอยู่ในนั้นน่ะ ...ปัญญาจะบ่มในฐาน...ฐานของรู้ หรือว่าฐานของใจรู้ตรงนั้นน่ะ ...แล้วก็ชำระ...ชำระภายในตรงนั้นเอง 

ตรงนี้จึงจะเข้าสู่ที่เรียกว่าอุปธิวิเวก คือตัวผล คือตัวผลเลย...เป็นอุปธิ นี่

เพราะนั้นไอ้คำพูดใดๆ ความเห็นใดๆ ความคิดความปรุงอะไรที่ไร้สาระ ที่จะไปหาในธรรม แสวงหาเหตุหาผล สงสัยนั่นสงสัยนี่ ลังเลนั่นลังเลนี่ อย่างนั้นมั้ย อย่างนี้มั้ย 

รู้ปั๊บ...ละเลย ดับเลย พั้บๆๆ ทิ้งเลย ไม่เอาเลย สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...มันจะอ้างมรรค อ้างผล อ้างนิพพาน อ้างสภาวะอย่างนั้น อ้างการกระทำอย่างนี้ๆ ขึ้นมาแล้ว 

ถ้ามันหือมันอือขึ้นมานี่ พั้บๆๆ ...ละออกหมดเลย  จนจิตนี่เหลือแต่โด่เด่ เป็นหัวตอ รู้บ่ดาย รู้เฉยๆ รู้ๆๆ รู้อยู่อย่างนั้นแหละ ...ให้มันตั้งมั่นที่ไหนก็ได้ มันอยู่อย่างนั้นน่ะ

เมื่อมันอยู่อย่างนั้น แล้วเราไม่ไปหมายที่มั่นของมันแล้ว มันจะไม่มีทั้งในและนอก ไม่มีไปหมายว่าตรงนั้นตรงนี้นะ ไอ้ตัวตั้งมั่นหรือว่าตัวใจนี่จะไม่มีที่หมายเลย 

จะไม่มีหมายว่าอยู่ตรงนี้ อยู่ข้างในนี้นะ หรือว่าอยู่ตรงหน้า หรือว่าอยู่บนหัวนะ ...ไม่มีที่หมายเลย เริ่มทำลายเป้าหมายทั้งหลายทั้งปวงแล้วนะ ...จิตมันจะไม่มีที่อยู่ ใจจริงๆ ไม่มีที่อยู่

ไอ้ใจที่มีที่อยู่ นั่นมันด้วยความสมมุติบัญญัติ ...คือมันผูกไว้กับกาย โดยเอากายเป็นที่ตั้งที่ฐาน หรือว่าความคิดเป็นที่ตั้งที่ฐานว่าอยู่ในนี้ๆ ...พอกายมันแตกออกเมื่อไหร่ล่ะก้อ จะเปิดออกหมดแหละ

แต่ตอนนี้มันยังไม่ขาด ยังไม่ขาดจากกาย ...กายนี่ คำว่ากาย การจะขาดออกจากกายโดยสมบูรณ์นี่ ไม่ใช่แค่โสดาบันนะ ...โสดาบันนี่เป็นแค่ละความเห็นเรื่องสักกายเท่านั้น

แต่อัตตาในกายนี่ เต็มหัวใจเลย ยังไม่ขาดจากกายเลย ...จะไปขาดจากกายจริงๆ น่ะ ขั้นของอนาคามรรค อนาคาผลแล้วนะ  เป็นอรหัตตมรรคแล้ว ถึงจะไปละรูปราคะ อรูปราคะได้


โยม –  อย่างที่พระอาจารย์พูดก็คือ ตัวตั้งมั่นกับกายนี่มันยังไม่ตัดขาดจากกัน

พระอาจารย์ –  ยังไม่ขาด


โยม –  มันมีสายโซ่ที่ยังรั้งอยู่

พระอาจารย์ –  ยัง ...แล้วมันจะห่างออกเรื่อยๆ นะ มันจะเห็นใยนี่ บางเบายิ่งกว่าใยไหมอีก ยิ่งกว่าใยแมงมุมอีก แต่เหนียวนุ่มมากเลย นะ ที่มันยึดโยงไว้

แต่ถ้าสติอ่อน ปัญญาอ่อน สมาธิอ่อนปุ๊บ มันจะดึงเข้ามา...มีอินเนอร์กัน เข้ามาคลุกคลีกับขันธ์อีก ...เพราะว่ามันยังมีแรงดึง ใจนั่นน่ะ ไปดึงกาย กายน่ะไม่เคยดึงใจหรอก 

กายมันไม่มีมือไม่มีตีนมาจับ กายนี่มันไม่ใช่ตุ๊กแกนะ ที่มันจะไปจับแป๊ะแล้วใจก็ติดแนบ ...กายมันเป็นกลาง เป็นแค่สิ่งหนึ่ง เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ธาตุ เป็นแค่สิ่งของ 

หรือแม้แต่อารมณ์ แม้แต่กิเลสน่ะ มันไม่เคยติดข้องอะไรเราเลย ...แต่ไอ้ใจรู้ ผู้รู้ผู้เห็นนี่แหละ ที่มันมีอาสวะภายใน หรือว่ามลทิน ...ตัวนี้คือตัวที่เป็นตุ๊กแก 

อะไรปุ๊บกูจับหมดๆ ...ดี-ไม่ดี ร้าย-ไม่ร้าย กูจับก่อนน่ะ กูรู้อะไรกูจับก่อน นี่ มันเข้าไปจับด้วยความไม่รู้ 

ทำไมถึงจับ มันไม่รู้อะไร ...ไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าหาตัวตนในความคิดไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวตนในความคิดไม่มี ไม่รู้ว่าสุขทุกข์ในความคิดในอารมณ์นั้นไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เที่ยงนะ ที่จับต้องไม่ได้ มันไม่รู้เนี่ย

แต่ว่าพอมันปรากฏอย่างนี้ปั๊บ มันสำคัญว่า...อู้ย นี่ขนม ปั๊บ...แตะเลย จับเลย ...เพราะไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง นี่ มันไม่รู้อย่างเดียวคือไม่รู้ไตรลักษณ์

เพราะนั้นการที่เรารู้ทันบ่อยๆ ปุ๊บ...อ่ะ อีกแล้วครับท่าน ปุ๊บ ดับ เนี่ย เห็นไตรลักษณ์อีกแล้วครับท่าน ...บ่อยๆ  มันจะสอน ความโง่ภายในหรือว่าอวิชชาภายใน มันก็จะจางๆๆ

อะไรมาก็...โอ้ย เหมือนเดิม ได้มาแล้วก็ดับไป ...นี่ รู้แล้ว ไม่ไปเอา  ออกไป...ไม่เอา  อันนั้นกระทบมา...ไม่เอา บอกแล้ว มันมีกิเลสภายนอก และภายในก็มีอยู่แล้ว

นี่ สองตัว กิเลสปรุงจิต จิตปรุงกิเลส กลับไปดู สังเกตดูอายตนะนี่ อายตนะทั้งหมดนี่...เป็นกิเลสปรุงจิต ...พอไม่รับรู้อายตนะ อยู่คนเดียว ไม่รับรู้อะไร...จิตปรุงกิเลส ...สองอย่าง ได้หมด

มันหาเรื่อง อวิชชา..ความไม่รู้นี่มันหาเรื่อง หาเรื่องผูกพัน พัวพัน หาเรื่องที่มันพอใจ ...มันคิดว่าอะไรพอใจ ...ก็สิ่งที่มันเที่ยงน่ะ ที่มันคิดว่าคาดว่าน่าจะมี อันนั้นน่ะเป็นของเที่ยงที่มันคิดว่ามี ...มันพอใจไปหาของที่จะมีอยู่

ให้มันหาไปเรื่อยๆ จนมันเห็นว่า...กูหามาหมด ตลอดทั้งอนันตาจักรวาลแล้ว  กูยังไม่เห็นอะไรเที่ยงเลย ...นั่นแหละ มันถึงจะหมด ถึงจะหายโง่ จิตดวงนี้ถึงจะหายโง่

พอถึงจุดสุดท้ายที่มันบอกว่า กูหามาหมดแล้ว อนันตาจักรวาลทั้งหมดนี่ กูออกไปหมดแล้ว สุดท้ายดับหมด ดับๆๆๆ ...พอมาเห็นไอ้ตัวสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ พั้บ ดับหมด คราวนี้หมดจด

พอหมดจดหมายความว่า กูดูมาหมดทุกอะตอม ทุกอณูในอนันตาจักรวาลแล้วนี่ เหลือตัวนี้ตัวสุดท้าย ... พอเห็นปุ๊บ...ขาดเลย นั่นน่ะ อาสวักขยญาณ

หมดเลย ใจนี้โล่งหมดเลย หมดเลย...อะไรที่มันเคลือบแฝง อะไรที่มันเจือปนอยู่ที่ใจ...ใจรู้นี่ หาย มลาย สุญโญหมดเลย ...พอสุญโญปุ๊บ ภาวะใจที่รวมกันเป็นใจที่ห่อหุ้มอะไรที่มันมีอยู่ข้างใน มันก็หมดภาวะใจผู้รู้เลย

จนถึงเรียกว่า ละไปละมา ละจนไม่มีที่ละ ...มันไม่รู้จะละอะไร มันก็ละตัวผู้รู้นั่นแหละ ตัวสุดท้าย ละตัวใจน่ะ ละใจรู้เลย ใจรู้ก็ไม่มีที่หมายที่มั่นแล้ว ภพในใจก็หมด

เมื่อไม่มีภพในใจ เหมือนกับไม่มีกล่องของขวัญ แล้วจะมีของขวัญที่ไหนมาใส่ ใช่มั้ย ...ตราบใดที่คุณยังมีกล่องของขวัญอยู่ แม้จะเป็นกล่องเปล่า ...ยังมีสิทธิ์นะ ที่มันจะมีอะไรเข้ามาอยู่ข้างใน 

แต่เมื่อมันทำลายกล่อง กล่องไม่มี มันไม่รู้ว่ากูจะเก็บอะไรอีกแล้ว นี่ กล่องนี้หมดหน้าที่แล้ว มันถูกทำลายไปโดยปริยาย นั่นแหละ การละอวิชชา

เพราะนั้น มานั่งรื้อนั่งถอน เอาออกๆๆๆ ในลักษณะที่ว่าหาดูแล้วว่าจะเอาออกยังไงนี่...ไม่มีทาง ...แต่ที่จะเอาออกได้น่ะต่อเมื่อมีการกระทบ

มันปรุง...ภายนอกปรุงจิต จิตออกมาปั๊บ รู้เห็น...ดับ  ไม่มีอะไรมากระทบจิต อยู่ดีๆ แล้วว่าง ปุ๊บ มันถูกผลักดันออกมาปุ๊บ รู้เห็น...ดับ ...นี่ ต้องรู้เห็นอย่างนี้ ถึงจะเอาออกหมด

อยู่ดีๆ ไม่มีอะไรแล้วไปนั่งเพ่งนั่งจ้อง นั่งทำลายล้างภายใน...ไม่มีทาง ด้วยสมถะ...ไม่มีทางเลย ต้องอาศัยปัญญาวิมุติล้วนๆ

แต่พอถึงขั้นนั้นแล้ว มันไม่มีเจโตวิมุติ มันไม่มีปัญญาวิมุติแล้ว ...แต่มันเป็นธรรมชาติของความเป็นจริงล้วนๆ เป็นธรรมชาติของใจล้วนๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติใจ กับธรรมชาติขันธ์ ที่อยู่คู่กัน

แล้วว่ายังไง...ที่มันอยู่ด้วยกันด้วยความเป็นสันติ มันไม่สันติเพราะอะไร ...นั่นแหละ มันจะมาจับผิดตรงนี้ ตรงที่ว่ามันไม่สันติเพราะอะไร ตรงนี้เขาเรียกว่าศีลขาด

ถ้าธรรมดามันอยู่ด้วยกันนี่ แล้วมันปกติอย่างนี้ศีลปกติ ...แต่พอมันจะเลื่อนไปผิดปกติกับอาการ เนี่ย ถือว่ามันจะละเมิดศีลแล้ว ...คำว่าละเมิดศีลในที่นี้คือละเมิดความปกติ สันติ

เพราะนั้น สติจะเท่าทันอาการผิดปกตินี้ แล้วก็เหมือนละเว้นทันที ...ละเว้นคือไม่ตามออกไป ไม่เข้าไปเพิ่มพูนความผิดปกติกับขันธ์ ...ตรงนี้ถือว่าศีลทำหน้าที่แล้ว

แต่ศีลตัวนี้เรียกว่าเป็นอธิศีลนะ ไม่ใช่ศีลบัญญัติ หรือศีลสมมุติแล้ว ...นี่คือศีลใจ คืออริยศีล อริยจิต นี่จะอยู่ที่ลักษณะของความผิดปกติ

แล้วก็พอรู้ปุ๊บ อย่าเสียดาย อย่าเสียดายความผิดปกติ อย่าเสียดายว่าจะได้อะไรจากความผิดปกตินี้ อย่าเสียดายว่าจะไม่ได้อารมณ์ที่มันผิดปกติ ...แล้วไปจับ ไปหน่วง ไปเสวย

บางทีมันยังมีอารมณ์เสียดายนะ เสียดายบางอารมณ์น่ะ เสียดายบางเวทนา เสียดายบางความว่าง ความเบา ความสบาย ความโล่ง ความรู้รอบทั่วไปอย่างนี้

ต้องกล้าที่จะละเว้นน่ะ ละเว้น ...นั่นน่ะคือกลับมาสู่ศีลปกติ อยู่คู่กันแบบธรรมดา  ต้องยอม รู้บ่อยๆ ต้องกลับมา...ย้อนกลับมาที่กายๆ


โยม –  พอไม่มีหลักเลย

พระอาจารย์ –  ปล่อย ก็เหมือนว่าวขาดสายป่านน่ะ  มันจะล่องลอย เลื่อนลอย จิตมันเลื่อนลอย ใจมันเลื่อนลอย ใจมันก็มีอยู่ แต่มันไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่คู่ขนานให้รู้ มันไม่รู้จะไปรู้กับอะไร

กลับมาดูความรู้สึกตัว กลับมาดูอิริยาบถธรรมดา ดูแบบสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องจดจ้อง ...เราถึงบอก อย่าทิ้งกาย ...ครูบาอาจารย์ไม่เคยสอนให้ทิ้งกายเลยนะ 

เอากายจนถึงพระอรหันต์เลยนะ จนถึงเป็นพระอนาคามีน่ะ อนาคามีผลแล้วน่ะ เพิ่นยังไม่ทิ้งกายเลย ...อย่าไปคิดว่าเข้าทางจิตได้แล้วเข้าจิตลูกเดียว...ไม่มีทาง ไปไม่รอด 

พอพูดคำว่าดูจิตๆ น่ะ มันพูดจนติดนิสัยกันไปแล้วว่าดูจิตอย่างเดียวแล้วจะหลุดได้...ไม่ได้นะ ...หลงง่ายที่สุดเลยนะ พอถึงระดับนึงแล้วจะหลงหาย เกิดความหลง เพลินเลย 

แล้วก็ปล่อยแบบเอาตัวรอดน่ะ ปล่อยแบบปล่อยไปเรื่อยเปื่อย ปล่อยให้จิตเรื่อยเปื่อย แล้วก็บอกว่าดูจิต ...มันไม่ได้ดูแล้ว มันไม่รู้แล้ว มันหายไปกับอะไรก็ไม่รู้ไปเลย

เพราะนั้นไม่มีฐานไม่ได้ ...ต้องเอากายเป็นที่ตั้ง  กายนี่มันยึดไปจนถึงพระอรหันต์น่ะ...อัตตาถึงที่สุดน่ะ อัตตาตัวตนของกายน่ะ รูปภพ อรูปภพน่ะ

เพราะนั้นน่ะพระอนาคายังละอรูปภพไม่ได้เลย เพิ่นละได้แต่โทสะ ปฏิฆะ ราคะ ...เห็นมั้ย มันเป็นแค่อารมณ์หยาบ นี่ถือว่าเป็นอารมณ์ขั้นหยาบ ขั้นกลางอยู่เลย

แต่ไปเจอ รูปราคะ อรูปราคะนี่ ...พระอนาคาก็มึนตึ้บเลยน่ะ ยังมึนตึ้บเลย  เจออรูป คืออารมณ์ว่างๆ อย่างนี้ สบายเลย ลอยเลย ลอยแล้ว ...ไม่ทัน...ไม่ทัน

อทุกขมสุขมเวทนานี่ ...เจอเข้าไปนี่ เดี๋ยวงงแล้ว ...เอ๊ย มันใจหรือว่าไม่ใช่ใจวะ ...แยกไม่ออก แยกไม่ออกนะ ไม่เห็นเหตุให้เกิดทุกข์นะนั่น

มันแยกไม่ออกระหว่างอทุกขมสุขมกับรู้ ...มันรู้รึเปล่าวะ มันใช่ใจรึเปล่าวะนี่ หรือว่าไม่ใช่ใจ  มันก็ปล่อยเพลินหายไปกับอทุกขมสุขม

แม้กระทั่งกายนี่ กายนี่...พอดูจริงๆ นี่ เห็นมั้ย ที่บอกว่ากายเป็นแค่สิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่งคืออะไร สิ่งหนึ่งคือมันเป็นกลางนะ ตัวมันเป็นกลางเหมือนก้อนหินก้อนดินนี่

เพราะนั้นในความเป็นกลาง มันก็มีเวทนาของมันอยู่นะ ก็มีเวทนาในความไม่สุขไม่ทุกข์อยู่น่ะ มันก็อะไรก็ไม่รู้น่ะ ถ้าไปรู้อยู่อย่างนี้ มันก็จมหายไปกับความเป็นกลาง...อทุกขมสุขมนั่นแหละ

เพราะนั้นพระอนาคายังมาติดกายในลักษณะที่เป็นกลาง ติดอารมณ์ที่เป็นกลาง ติดเวทนาที่เป็นกลาง ...แต่เจอสุข-ทุกข์นี่ พั้บๆๆ ละได้หมดน่ะ ทันหมดแหละ


(ต่อแทร็ก 3/21  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น