วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/22 (1)


พระอาจารย์
3/22 (540219B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เอ้า พวกไปนอนบนวัด เป็นยังไงมั่งเนี่ย


โยม –  อาจารย์ ก้อนมันง่วงน่ะ ก้อนน่ะ(หัวเราะกัน) ...ก้อนมันหนาว ก้อนมันง่วง

พระอาจารย์ –  มันแอบมี “เรา” ในก้อนนี้ ... “เรา” ยังเป็นเจ้าของก้อนนี้อยู่ ...คือลักษณะของอุบายในเรื่องนี้นี่ก็มีหลายอย่าง แต่ง่วงมากๆ จริงๆ นะ ไปนอนให้เป็นกิจจะลักษณะไปเลย


โยม –  เดี๋ยวสองวันไม่ตื่น

พระอาจารย์ –  นอนเลย คือนอนจริงๆ  ถ้าง่วงมากนะ...นอน ...แต่ว่าอย่านั่งหลับนะ

หมายความว่ายกตัวเองไปนอนซะ แล้วก็นอนปุ๊บแล้วก็ตั้งสัจจะไว้ว่า...ตื่นเมื่อไหร่ ลุก นั่งเลย อย่างเงี้ย ให้มันเป็นกิจจะลักษณะไปเลย นี่วิธีหนึ่ง...วิธีแก้ แก้ถีนมิทธะ

วิธีแก้อีกวิธีนึงคือแก้แบบหักหาญ ด้วยเนสัชชิก ตั้งสัจจะเลย...กูจะไม่นอน กูจะไม่ให้จิตตกภวังค์ อย่างนี้ เอากันแบบห้าวหาญเลย

เพราะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านมีอุบายวิธี ทั้งทรมาโน ทั้งโอ้โลม-ปฏิโลม แล้วแต่ ...คราวนี้ว่า ไอ้โอ้โลมนี่ คนมันชอบ (หัวเราะกัน)  มันจะหาข้ออ้างนอนอยู่เรื่อย นะ

มันต้องคนที่มีสัจจะจริงๆ คือให้เป็นกิจจะลักษณะ นั่งเป็นนั่ง ยืนเป็นยืน เดินเป็นเดิน นอนเป็นนอน ...ให้มันถูกกิจจะลักษณะ


โยม –  พระอาจารย์ มันไม่รู้ว่ามันเป็นกิเลส หรือมันเป็นตัวที่...

พระอาจารย์ –  กิเลสหมดแหละ (หัวเราะกัน)


โยม –  คือมันเป็นตัวที่...ขันธ์มันอ่อนหรือยังไง

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ถ้าไม่ชัดเจนอย่างนั้นน่ะ เป็นเรื่องของถีนมิทธะหมด

ถ้าจิตมันลงล็อคลงฐานของจิตตื่นจิตรู้จริงนะ ...มันจะไม่มีเลย การที่ว่าเป็นเมฆเป็นหมอก เป็นซึมเป็นเยิ้มอ่ะ เข้าใจมั้ย เป็นเยิ้ม ...มันเยิ้มอ่ะ ใจมันเยิ้ม มันย้อมแบบหยาดเยิ้ม

แล้วก็ค่อยๆ เลือนราง แล้วก็หนัก มันมีความรู้สึกเหมือนม่านมันค่อยๆ ปิดลงไป ...ถ้าไอ้อย่างเนี้ย เขาเรียกว่าถีนมิทธะหมด ภาวะอย่างนี้ ...เพราะสติอ่อน สติยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าจิตตื่น

เพราะนั้นถ้ากำหนดได้ถึงสติที่จิตตื่นนะ ให้เยิ้มขนาดไหน แล้วรู้...อยู่อย่างนั้นนะ ปั๊บ จิตตื่นปุ๊บ มันก็เหมือนล่อโก๊ะเล่นเลย...โพล่งขึ้นมาเลย มันจะเปิดโพล่งขึ้นมา ตื่นขึ้นเลย จิตมันจะตื่นขึ้น

แล้วพอมันตื่น ด้วยอำนาจจิตตื่นนี่ ...สลายหมด พวกโมหะทั้งหลายนี่ กระจายหมดเลย เหมือนกับกระจัดกระจายหมดเลย


โยม –  พลังสูงมากนะครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  มาก ต้องอาศัยสติปัญญามากๆ แรงจริงๆ ถึงจะสู้กับถีนมิทธะตรงๆ ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าอินทรีย์อ่อน อินทรีย์น้อย ...ค่อยๆ ทำไป เจริญสติไปทีละเล็กทีละน้อย เก็บเล็กผสมน้อยไป  ฝึกว่ารู้ตรงไหน แล้วมันเด่น แล้วมันชัด แล้วมันตื่น

ก็รู้ตรงนั้นน่ะ รู้อยู่ๆๆ  รู้อยู่อย่างนั้นน่ะ พอลักษณะที่มันจะเริ่มเยิ้มเริ่มมาปุ๊บนี่ มันจะรู้ทันตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่เริ่มเยิ้ม เข้าใจมั้ย คือตรงมันเริ่มคืบคลานเข้ามา

แต่นี่มันคืบ...จนมันเลยคลานแล้วน่ะ ยังไม่รู้เลยน่ะ (หัวเราะกัน) ...มันมาจนเข้ามายึดพื้นที่ มันยึดไปครึ่งหนึ่ง หรือสามในสี่อย่างเนี้ย ...ยังไงก็เสร็จ ยังไงก็เสร็จถีนมิทธะ

อย่าพูดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ ถีนมิทธะนี่ ...แม้แต่พระโมคคัลลาน์ อัครสาวก  ยังต่อสู้กับความง่วงไม่ไหวน่ะ ต้องไปขออุบายจากพระพุทธเจ้า สอนให้ทำยังไงถึงจะไม่ง่วง

ท่านก็บัญญัติมาตั้งสิบวิธีน่ะ ไปยืนแหกตากลางอากาศ หรือว่าเป็นอะไรอย่างนี้ (หัวเราะกัน) ...นั่นแหละ ยังเอาชนะความง่วงไม่ได้เลย

โหย แต่ก่อนเราอดนอน เราเนสัชชิกนี่ เดินยังหลับน่ะ ยืนก็หลับ บอกให้เลย  ยืนบิณฑบาตนี่ ยืนรอนี่...หลับ ขนาดยืนบิณฑบาตน่ะ (หัวเราะกัน) พระอยู่ข้างหลังยังต้องมาสะกิด

แรกๆ ก็ต้องต่อสู้กันนะ เรื่องถีนมิทธะ ...เมื่อสติมันเท่าทัน เท่าทันในเรื่องถีนมิทธะแล้วนี่ ไม่ได้กินหรอก บอกให้เลย ถ้าสติมันเท่าทัน แล้วรู้จักว่าที่มาที่ไปของถีนมิทธะ...ว่าถ้าอาการนี้มานี่ กูไปแน่ 

สติจะเข้าไปจับทันทีเลย ไม่ให้ต่อเนื่องออกมาเลย ...มันจะดับๆๆๆ ดับตั้งแต่แรกเลย ดับตั้งแต่ต้นตอ ต้นเหตุ ...แต่มันต้องฝึกบ่อยๆ มันถึงจะเท่าทันอาการของถีนมิทธะ

แล้วพอมันชำนาญขึ้นมากๆ ปุ๊บนี่ ...ต่อให้ง่วงขนาดไหน หรือว่าเหนื่อยขนาดไหนนะ มันก็สามารถเข้าไปหลับนกได้น่ะ ...เข้าไปปุ๊บนี่ ให้มันวูบลงไป 

นี่แต่ก่อนนะ เวลาเราสอนคน เราสอนคนมากๆ นี่ พูดๆๆๆ วูบไป ก็ยังพูดได้เลย บอกให้เลย พูดไปหลับไปน่ะ แล้วก็พูดต่อเรื่องเดิมด้วย แต่มันลงไปวูบเดียวนะ แล้วก็ตื่น หายง่วงแล้ว มันจะรู้ ทางเข้าทางออกของมัน


โยม –  อาจารย์ ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะขันธ์เรามันไม่ไหวหรือยังไงคะ

พระอาจารย์ –  มันก็ประกอบกันด้วย อย่างนี้ อย่างลักษณะของเรานี่มันเพราะขันธ์ ไม่ใช่ด้วยถีนมิทธะ เพราะขันธ์มันอ่อน ขันธ์อ่อน

แต่ลงถ้าเข้าไปถูกจังหวะมันน่ะ มันแค่นิดเดียว เรื่องของความง่วงน่ะ ...ความง่วงจริงๆ นะ ครูบาอาจารย์ท่านนอนน่ะ หูย นอนวันละสามชั่วโมงท่านก็พอแล้ว

ไอ้ร่างกายนี่ ไอ้ที่พวกเราเป็นข้ออ้างว่าต้องนอนวันละแปดชั่วโมง โหย อย่างมากนี่สาม-สี่ชั่วโมง...นี่ถือว่าเต็มที่แล้ว พอเพียงกับการที่ว่ากายนี่พักผ่อนแล้ว

แต่ว่าไอ้นอกนั้นเป็นเรื่องของความอยากนอนมาผสมมากกว่า


โยม –  หนูก็มีปัญหา นอนสี่ทุ่มแล้วตีหนึ่งก็ตื่น แล้วตื่นถึงเช้า นอนได้แค่นี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ตื่นน่ะมันก็ดี แต่ว่ามันจะดียิ่งขึ้น ถ้าตื่นแล้วจิตมันตื่นด้วย  ไม่ใช่ตื่นแล้วก็ไหลไป ลอยไปต่อ ไม่หลับแต่ว่าจิตมันหลับ ...เพราะนั้นตื่นก็พร้อมให้จิตตื่น จิตตื่นรู้  ไม่ใช่ตื่นเต้น...ตื่นรู้

เวลาตื่นรู้แล้วก็เหมือนจิตภายในนี่มันมีแสงสว่าง สว่างไสว ...คำว่าสว่าง จิตสว่างนี่ คือจิตตื่นนะ ไม่ใช่สว่างเป็นแสงไฟนีออนอย่างนี้

สว่างมันแจ้งน่ะ แจ้ง ...เหมือนกับเรามองเห็นภาพอย่างนี้ มองเห็นในความสว่างอย่างนี้ เวลาจิตสว่าง มันสว่างแบบเราเห็น มันตื่น อย่างงั้นน่ะ อาการตื่นรู้

เพราะนั้นภาวะรู้มันจะเบาบาง แต่ว่ามันตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ...นั่นแหละให้จำไว้เลยภาวะของใจรู้ รู้...ตื่น...เบิกบาน สดใส เหมือนน้ำค้างกลางหาวน่ะ ประมาณนั้นน่ะ นั่นน่ะภาวะใจ

ไม่ใช่ซึม ...ซึมเบลอพวกนี้เป็นอาการหมดนะ ซึม เบลอ ทึบ ขุ่น หนัก มัว อย่างเนี้ย ...ตื้อๆ ขี้เกียจ อย่างงี้ ขี้เกียจๆ (โยมหัวเราะกันว่า ทำไมพระอาจารย์ต้องมองหน้าตอนพูดว่าขี้เกียจ)

เพราะนั้นอาการตื่นนี่มันจะกระฉับกระเฉง ...ให้รู้ไว้เลย ภาวะรู้ ภาวะใจจะรู้ตื่นนี่ ตื่น สว่าง สงบ สันติ กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวยภายใน  ให้รู้เถอะ ภาวะใจ มันจะเป็นอาการนั้น

แล้วก็เบิกบาน สดใส แม้ข้างนอกอาจจะดูทื่อๆ แต่ข้างในมันจะสดใส ...ข้างนอกอาจจะเป็นอาการเฉยเมย อาการสีหน้าจะบึ้งตึง แต่ภายในสดใส มันจะต่างกัน


โยม –  อาจารย์คะ ตื่นนี่ มันก็ทำไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ใช่มั้ย มันเป็นของมันเอง

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แต่ถ้าสติเข้าไปได้ถูกที่ หรือว่าสติสมาธิปัญญามันเข้าไปถึงใจแล้วนี่ ก็จะเข้าถึงภาวะจิตตื่น


โยม –  อย่างเวลาเราง่วง แล้วเหมือนจิตมันตื่นเป็นวูบๆ อย่างนี้ค่ะ หมายถึงว่ากำลังสติเรายังไม่พอหรือ

พระอาจารย์ –  ยังอ่อน สู้กับโมหะที่เป็นถีนมิทธะไม่ไหว ...มันก็เหมือนกับพระจันทร์กำลังจะออกก้อนเมฆแล้วแหละ แต่เมฆมันเยอะ ก็มืดอีกแล้ว มาอีกแล้ว (หัวเราะกัน)

คือแบบกำลังแย้มๆ แค่แย้มๆ นี่ พรึ่บ อีกแล้ว เคยเห็นมั้ย ...เมื่อคืนเห็นมั้ย พระจันทร์เมื่อคืนน่ะ สว่างเป็นช่วงๆ แล้วก็มืด โดนปิดบัง

เหมือนกัน ให้สังเกตดู ภาวะจิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำ จะถูกครอบพึ่บนี่ ...แต่ว่าถ้าเป็นจิตตื่นแล้วมันเหมือนกับพระจันทร์กลางหาวที่ไม่มีเมฆน่ะ นั่นแหละ จะสว่างอย่างนั้น


โยม –  เหมือนสปอตไลท์

พระอาจารย์ –  มันจะโดดเด่น ไม่ใช่พระจันทร์ในหน้าฝน ผลุบๆ โผล่ๆ มันผลุบๆ โผล่ๆ


โยม –  พระอาจารย์ อย่างเราสวดมนต์นี่ มันสวดไปอย่างนั้นน่ะฮะ แต่อีกตัวมันรู้ว่ามันคนละส่วนกัน

พระอาจารย์ –  มันแยกออก ใจมันจะเริ่มแยกออกจากขันธ์เรื่อยๆ ...เมื่อเจริญสติปัญญาไป มันจะเห็นขันธ์ออกเป็นส่วนๆ ส่วนๆ

มันจะชำแหละ แยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ มันจะออกเป็นส่วนเลย  นี่ขันธ์นะ นี่ธาตุนะ นี่อายตนะนะ นี่ตา นี่หู นี่รูป นี่เสียง นี่กลิ่น นี่รส นี่อารมณ์ นี่ผัสสะ นี่ธาตุ นี่ดินน้ำไฟลม

นี่เป็นส่วนๆ เป็นกองๆ เป็นส่วนๆๆ ไป ...แล้วก็มีใจเป็นประธาน...รู้อยู่เห็นอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ ว่าเป็นคนละส่วนกันชัดเจน

แต่ถ้าไม่มีภาวะแยกออกเป็นส่วนแล้ว มันเป็นอันเดียวกันหมด มันคลุกเคล้า มันเกิดอาการคลุกเคล้า ...เหมือนยำ เหมือนสลัด สลัดที่มันคลุกๆ คลุกแล้วอย่างนี้ เราก็กินกันว่าอร่อย

แต่ว่าถ้าแยกมันก็จะเห็นเลยว่า นี่เป็นผัก นี่เป็นน้ำสลัด นี่เป็นมะเขือเทศ  นี่เป็นไอ้นั่น นี่เป็นไอ้นี่ ...จะเป็นส่วนๆ ส่วนๆ ไป

มันก็จะเห็นขันธ์ ก็เห็นตัวเราของเรา แล้วก็เห็นขันธ์ห้านี่ ไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริง ...มันเป็นการรวมกันของส่วนๆ ส่วนๆ

แต่เวลาเรากินเราเสพ เราก็จะกินแต่อาหารจานเดียวน่ะ มันรวมกันแล้วก็บอกนี่เป็นอาหารๆ ...แต่ไม่เห็นว่าองคาพยพมัน ส่วนประกอบมันคืออะไร

เพราะนั้นตัวสติสัมปชัญญะนี่เป็นตัวแยกธาตุแยกขันธ์ แยกอายตนะออกจากกัน


(ต่อแทร็ก 3/22  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น