วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/21 (1)



พระอาจารย์
3/21 (540219A)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ดูที่ความรู้สึกตัว เป็นความรู้สึกตัว ...ลมก็เป็นความรู้สึกตัวอันหนึ่ง เป็นกายอันหนึ่ง กายที่รู้สึกกระเพื่อม ไหว

เพราะนั้นว่า การที่กลับมารู้กายบ่อยๆ มันจะเห็นชัดในการที่ว่ามีคนนึงที่เห็น...เห็นความรู้สึกตัวอยู่ ...ตรงนั้นน่ะ พยายามแยบคายตรงคนที่เห็น ให้แยบคาย ให้แยบคายว่ามันมีสองส่วน ให้มันชัดเจน

หมายความว่าให้มันมีภาวะรู้อยู่ตรงนั้นด้วย ...เพื่อจะให้ไปแยกเวลาที่ไปเกิดภาวะที่เป็นนาม ลักษณะที่มันแยกไม่ชัดเจน ...จะได้รู้ว่าขณะนั้นน่ะ มันก็มีรู้อยู่ ...อาการน่ะมันจะหาย แต่รู้ไม่หาย 

เรียกว่ามันจะปล่อยวาง ...ปล่อยวางขันธ์ ก็เห็นขันธ์เป็นแค่สิ่งหนึ่ง เห็นขันธ์เป็นแค่อาการ ...ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นสัตว์ ไม่ได้เป็นบุคคล ไม่ได้เป็นเรา ไม่ได้เป็นของเรา 

ลักษณะนี้ คืออะไรเกิดขึ้น อะไรดับไป...ไม่สำคัญเท่ากับให้มีรู้อยู่ ต้องมีใจรู้ดวงนึงอยู่ตลอด 

ส่วนมากเวลามันดับไป หรือโล่งไป หายไปปุ๊บ มันไม่มีรู้...รู้มันจะหายไป หายไปกับโล่ง หายไปกับไม่มีอะไร ...เรียกว่ามันไปหลงอีกสภาวะหนึ่ง 

ใจผู้รู้นี่ ดวงจิตผู้รู้นี่ มันพร้อมจะหลงในทุกภพที่มีกระทบมันน่ะ ...เพราะนั้น พอเรารู้ทันในลักษณะภพที่หยาบ เช่น มีอะไรจับต้องได้ ดูเหมือนเห็นน่ะ เห็นอยู่

แล้วพอมันดับไปปั๊บนี่ ...มันก็จะมีภพใหม่ขึ้นมาทดแทนทันที คือภพของความไม่มีไม่เป็น ภพของความเป็นกลาง ภพของความเฉยๆ ภพของความว่าง

พอเจอภพนี้ปุ๊บ จิตมันจะหลงเข้าไปกลืนกินเลย ใจมันจะเข้าไปกลืนกินในภพนั้นเลย เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับไม่มีอะไร...เป็นหนึ่งเดียวกับอทุกขมสุขมเวทนา จะเป็นตัวนั้น

แล้วเราจะ...พอเราทิ้งไปนานๆ ปุ๊บนี่ ด้วยความหลงไปในภพนั้นน่ะ มันก็เกิดความเผลอเพลิน เลื่อน ไหลไปเรื่อย สติก็ขาด ...สติขาด สมาธิก็ขาด จิตไม่ตั้งมั่น มันหลงไปในอารมณ์

พออารมณ์นั้นดับ พอภพนั้นดับพั้บ แล้วเกิดภพใหม่ขึ้นมา ...ตรงนี้ สติไม่ทันแล้ว สติจะไม่ทันแล้ว แล้วก็จะเกิดอารมณ์กิเลสเกิดขึ้นตรงนั้นใหม่อีก

ตรงนี้มันจะเกิดอาการซ้ำซาก เข้าใจว่ามันซ้ำซากมั้ย ...มันจะซ้ำซากไปอย่างนี้ แล้วเราจะหา เราจะออกจากภพนี้ไม่ได้ จะหาทางออกมาจากภพนี้ไม่ได้

คือปัญญายังไม่ไปเห็นเหตุ ปัญญายังไม่เข้าไปเห็นเหตุให้เกิดภพนี้  มันก็หาอยู่นั่นน่ะ...เอ๊ จะทำยังไงดีวะๆ รักษาสติตรงไหนดี จะรู้อยู่ตรงไหนดี

เพราะอะไร ...เพราะปัญญาไม่เข้าไปสอดส่องถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ...มันเห็นแต่ปลายเหตุ เกิดกี่ทีๆ ก็ปลายเหตุ ...สุดท้ายมันก็...เอ๊ มันก็เหมือนเดิมอีกแล้ว 

มันก็เป็นอย่างนี้อีกแล้ว มันก็เป็นอย่างนี้ ...แต่มันไม่รู้ต้นเหตุว่า เหตุที่ให้เกิดทุกข์อันนี้เพราะอะไร

เพราะนั้นพอเราเริ่มเข้าใจเหตุ เราก็ต้องมาจับ...ก็มาแก้ที่เหตุ แก้ที่เหตุเลยว่า ใจนี่มันหายไปตอนไหนๆ 

เออ ไอ้ตอนมีก็รู้ ไอ้ตอนยุบยิบๆ ก็รู้ ไอ้ตอนที่กระเพื่อมก็รู้ ตอนที่เป็นสุขนิดๆ ก็รู้ ทุกข์นิดๆ ก็รู้ ...เออ แล้วมันหายไปตอนไหน ก็ให้สังเกตดูว่ามันหายไปตอนไหน ...มันหายไปตอนไอ้อาการพวกนี้ดับ


โยม –  เกิด-ดับนี่  ถ้าเรานึกเอง มันปัญญานำไปแล้วใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือ ปัญญาล้ำ เรียกว่าปัญญาล้ำ มันก็ฟุ้งซ่าน มันก็ออกไป นอกใจไป ...ก็กลับมา ...เพราะนั้น เราบอกง่ายๆ อย่าทิ้งกายๆ 

ถ้าหลง ถ้าหาย หาใจไม่เจอนะ อย่าดันทุรังๆ ...ในสภาวะที่ไม่มีอะไร หรือไม่รู้จะดูอะไร หรือไม่รู้จะดูอะไร แล้วก็ไปทำอะไรเรื่อยเปื่อยไปโดยที่ปล่อยให้เผลอเพลินไปอย่างนี้

ให้กลับมารู้กายกำกับ เป็นที่ตั้งของสติปัฏฐาน เอากายานุสสติปัฏฐานมาเป็นที่ตั้ง ...กายในที่นี้คือความรู้สึกตัว ว่าเป็นอาการก้อนๆ เย็นร้อนอ่อนแข็งพวกนี้ ...ดูที่ความรู้สึกตัวนี้ ให้มันตีคู่กับรู้ให้ชัดเจน 

เพราะว่าถ้ามีการรู้สึกตัวตรงไหน มันก็จะมีรู้อยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องไปหารู้ที่ไหนเลย ...เห็นมั้ย พอกลับมารู้กายปุ๊บ เห็นความรู้สึกตัวปุ๊บ มันก็จะมีรู้คู่อยู่กับกายอันนั้นเลย 

แล้วใจดวงนี้มันจะตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ ...แล้วมันจะจับสังเกตได้ จับผิดได้ ตอนที่อารมณ์นามธรรมที่ละเอียดดับ แล้วมันจะเห็นตอนที่ดับไป แล้วมีรู้อยู่ๆ 

รู้อยู่แม้กระทั่งสิ่งนั้นดับไปแล้ว ก็ยังมีรู้อยู่ อย่างนี้บ่อยๆ เข้าใจมั้ย ...แล้วรู้มันจะตั้งมั่นด้วยตัวของมันเองมากขึ้นๆๆ แม้แต่จะไปตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์นามที่เกิดดับ

แต่คราวนี้ว่า นามน่ะเราไปเห็นตอนเกิด ไอ้ที่ดับไปก็เห็นบางครั้งแรงๆ ปุ๊บ เมื่อดับไปแล้วสักพักหนึ่งน่ะ รู้หายๆ ...คือว่าจิต กำลังของสมาธิยังไม่ตั้งมั่นพอ

เราถึงเน้น...ย้ำหนักย้ำหนาว่าอย่าทิ้งกาย ...คือหมายความว่าการรู้กายรู้ใจนี่ เป็นลักษณะที่เรียกว่าอนุโลม-ปฏิโลม

อนุโลม-ปฏิโลมคือหมายความว่า หยาบบ้าง-ละเอียดบ้างๆ  ไปละเอียดแล้วมันยังไม่ทะลุ กลับมาหยาบอีก ...เหมือนกับภาวิตา พหุลีกะตา คือทำซ้ำซากๆ

เหมือนกับถ้าเป็นลักษณะของสมถะอย่างนี้ เขาก็บอกให้กำหนดพุทโธ พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ  แต่พอพุทโธมันอยู่ตัวแล้วปึ้บ มันพุทโธไม่ได้ จิตมันรวมดีแล้วก็เอามาพิจารณา

คราวนี้พอพิจารณาไปๆ มันเริ่มชัด แล้วก็จะชัด เห็นกายชัด เห็นเป็นอสุภะ เป็นแตกๆๆ แยกๆๆ ชัดเจน

แต่พอพิจารณาไปพิจารณามา มันเริ่มเบลอ เริ่มฟุ้งซ่าน เริ่มอะไรนี่ปุ๊บ ก็จะต้องรีบกลับมาพุทโธๆๆ ใหม่ เข้าใจมั้ย ...เนี่ย อย่างนี้ท่านเรียกว่าอนุโลม-ปฏิโลม สลับกัน ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้

เหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับสติปัฏฐานเหมือนกัน ...เมื่อเรารู้กายเห็นกายชัดเจนแล้วปุ๊บ บางทีมันก็มีอาการของนามผุดโผล่ขึ้นปุ๊บ เราก็เห็นอาการของนามเกิดดับๆ ความคิดเกิดดับๆ สุข-ทุกข์เกิดดับ อารมณ์เกิดดับ 

แต่ดูเกิดดับไปๆ กำลังมันเริ่มอ่อนลงเรื่อยๆ มันจะเริ่มไหล ...เวลาดับไปแล้วมันจะเริ่มสบาย เพราะมันไม่มีอะไร  พอเริ่มไม่มีอะไรปุ๊บ มันจะเริ่มเผลอเพลินแล้ว เผลอเพลินจะเข้ามาแทรก

โมหะนะนี่ โมหะจะเข้ามาแทรก ...เข้ามาแทรกตอนนี้ปุ๊บ สติจะเริ่มหาย ใจจะเริ่มจาง  ไอ้ตัวรู้นี่จะเริ่มจางหายไปแล้ว ถูกโมหะนี่ ซึ่งเป็นเมฆหมอกนี่มาครอบคลุม

โมหะนี่มันจะเกิดก่อนกิเลสทุกตัวเลย เป็นปัจจัยแรกก่อนเกิดกิเลสตัวอื่น ตัวโมหะกิเลส ...คราวนี้มันก็มาซ้ำซาก มันก็จะมาซ้ำซากอยู่ตรงนี้ มาเผลอเพลินๆ

แต่ว่ามันก็ดีอยู่อย่างว่า มีอะไรเกิดขึ้นเป็นอารมณ์แรงๆ ที่เป็นนามอะไร มันชัด...รู้ชัดนะ มันทัน ...แต่พอมันไม่มีอะไร...ลงแผ่นเสียงตกร่องทุกทีเลยกู มันจะเป็นอย่างงั้น

เพราะนั้นวิธีแก้คือกลับมารู้กาย อย่าทิ้งกาย ...เพื่ออะไร ...เพื่อเอากายเป็นที่ตั้งของสติ  แล้วก็ใจมันก็จะตั้งมั่น ตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ รวมตัวแข็งแกร่ง สมาธิก็มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

ใจรู้ก็รวมรู้เห็นๆ พอไม่มีอะไรมันก็รู้เห็น สังเกตดูไปเรื่อยๆ ...บางทีรู้กาย มันไม่ได้ตั้งใจจะรู้ มันก็บางทีมันไม่สนใจกายด้วยซ้ำ เหลือแต่รู้น่ะ ...เหลือแต่รู้เห็นๆ แต่ไม่รู้เห็นอะไร

กายมันหาไม่เจอแล้ว มันไม่สนใจออกไปรู้กายแล้ว มีแต่รู้เห็นๆ... มันก็เดินไปเปล่าๆ อย่างนั้น เดินไปลอยๆ แต่ว่ามีรู้เห็นอยู่ ทั้งที่ไม่มีกายให้รู้ เหมือนกับกายมันหายไปเลย อย่างนั้นน่ะ แต่ว่าเหลือแต่ใจนี่

แต่ว่าบอกแล้ว...ต้องแยบคายให้เห็นว่ามันมีรู้อยู่นะ อย่าทิ้งรู้ อย่าเผลอทิ้งรู้ อย่าให้รู้หาย อย่าคิดว่ามันมีแต่เบาๆๆ  แล้วมันจะไปกับเบา มันเป็นอารมณ์ที่ละเอียด เป็นภพละเอียด

นี่เบานี่ยังจับต้องได้นะ ไปเจอไม่มีอะไรนี่ยิ่งละเอียดกว่านี้อีก...ที่เป็นอรูปน่ะ  ต้องเน้นที่รู้ อย่าให้โมหะมันมาครอบงำ โมหะมันก็จะมาแทรก มันมาพร้อมกับภพละเอียด

กลับมานับหนึ่งใหม่ ตั้งต้นใหม่ อย่าทิ้ง...ทิ้งกายไม่ได้ เอากายเป็นหลัก ...อย่าคิดว่าชำนาญแล้ว เท่าทันความคิด เท่าทันความสุข-ความทุกข์ ความเผลอความเพลิน ...ยังไม่พอ

แต่ว่ามันยังต้องอาศัยความชำนาญ ซ้ำซาก เอาจนหลุด เอาจนขาด ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นน่ะ อย่าเบื่อ ...กลับมาเตาะแตะใหม่ๆ กับกายน่ะ อย่าคิดว่าเป็นของหยาบ อย่าคิดว่ากายเป็นของหยาบ

อย่าคิดว่าถูกใจละเอียดแล้วจะหลุดได้ด้วยละเอียด ...ยังไม่พอ กำลังของสติสมาธิยังไม่พอ ยังไม่พอที่จะไปฟาดฟันกับนามธรรม แล้วก็โมหะที่มันแทรกซึมมากับนามธรรมขั้นละเอียด

เพราะนั้นกิเลสมันมี หยาบ กลาง ละเอียด ประณีต ...อย่างหยาบ...พอเห็น  ละเอียดมี...พอเห็น กลางพอเห็น ...พอมาขั้นประณีต ขั้นไม่มีแล้วนี่ เอาแล้ว เริ่มไม่เห็นหัวเห็นหางแล้ว ใจมันลอยหายไปกับอะไรก็ไม่รู้

เพราะนั้นก็รู้กายไป ...รู้แบบไม่ต้องหมายมั่นอะไร รู้แบบไอ้ใบ้น่ะ ดูกายเป็นไอ้ใบ้ ...เนี่ย มันไม่มีคำพูดอะไร ก็ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรกับมัน 

ไม่ต้องไปแยกแยะอะไรเลย ไม่ต้องไปบอกว่าเป็นแขนเป็นขา เป็นหนัง เป็นตัวเป็นตน เป็นชายเป็นหญิงอะไร ...ดูเป็นแค่สิ่งหนึ่ง พอให้เห็นเป็นแค่อาการหนึ่ง

คือในลักษณะในขั้นนั้น มันเริ่มแยกออก...ใจมันเริ่มแยกออกจากกาย แยกออกจากขันธ์แล้วล่ะ  แล้วมันก็เริ่มเห็นขันธ์ไม่มีสาระแล้ว ...เราไม่ต้องไปย้ำหรอกว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไงน่ะ

แต่ไม่เหมือนพวกนี้นะ พวกนี้ต้องย้ำ (โยมหัวเราะกันว่าพวกไหน) ...เนี่ย ต้องย้ำลงไปว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไง ต้องย้ำลงไปว่ามันไม่ใช่เราตรงไหน ต้องถามบ่อยๆ ว่ามันเป็นเรามั้ย มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งมั้ย หรือว่ามันมีชีวิตจิตใจในกายนี้มั้ย

บางคนถ้ายังไม่เริ่มเจริญปัญญาหรือว่าปัญญายังไม่ตื่นน่ะ  มันต้องสะกิด...สะกิดด้วยสังขารขันธ์ คือการน้อมนำ น้อมเข้าไปคิดให้เห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไง

แต่ลักษณะของโยมนี่ จิตมันเริ่มถอยแยกออกแล้วนี่ เราไม่ต้องเอาสังขารไปย้ำ ไม่ต้องเอาสังขารธรรมมาย้ำมัน แยกออกให้เป็นสองสิ่งชัดๆ เลยว่ารู้กับขันธ์

มีขันธ์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง ขันธ์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง ...พอแล้ว ถือว่าจิตมันเห็นไตรลักษณ์ในลักษณะที่ว่าด้วยปัจจัตตังในระดับหนึ่งแล้ว

เราไม่ต้องเอาไตรลักษณ์...ในลักษณะที่เป็นสังขารขันธ์หรือสังขารธรรมมาเป็นภาษา มาบอกมันกำกับมัน ...ทิ้งได้หมดเลย เป็นไอ้ใบ้เลย

เพื่ออะไร ...เพื่อเข้าไปถึงจุดที่เรียกว่าเป็นจิตวิเวก นะ ...กายวิเวกแล้ว กายวิเวกนี่ถือว่าเราถอนมาจากกาย ถอนมาจากกายแล้ว เหลือแต่จิตกับกาย ใจกับกายแล้ว กายนี่วิเวกแล้ว แต่จิตยังไม่วิเวก

เพราะนั้นจิตจะต้องมาเท่าทันอาการที่เป็นนาม ที่จะทำให้จิตมันไม่วิเวก ...ดับๆๆๆ ละๆๆๆ อย่างนี้ ให้เหลือแต่รู้


เมื่อเหลือแต่รู้โดดเด่น เด่นชัดอยู่ตัวเดียว มีแต่รู้ ขันธ์ไม่มีแล้วๆ ขันธ์ดับหมดแล้ว ขันธ์อะไรเกิดขึ้นก็ดับๆๆๆ รู้อย่างเดียว ...จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าจิตวิเวก


(ต่อแทร็ก 3/21  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น