วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/22 (2)


พระอาจารย์
3/22 (540219B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/22  ช่วง 1

โยม –  พระอาจารย์ครับ เราสวดมนต์ไปนี่ เรารู้สึกว่าคำสวดมันอยู่ตรงนี้ๆ ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร ตำแหน่งแห่งหนพวกนี้มันเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา มันเห็นไม่เหมือนกันหรอก นะ ...แต่ให้รู้ว่ามันเป็นคนละส่วนกับใจ พอแล้ว เป้าหมายหลัก โดยหลัก ...ไม่เอาโดยพยัญชนะ


โยม –  คือผมมันชอบพิเรนทร์พระอาจารย์ ว่า...เอ๊ะ ทำไมไม่อยู่ทางนี้มั่งวะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าอุทธัจจะ เขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน นะ ลักษณะฟุ้งซ่านที่ว่า...เอ๊ะ น่าจะอย่างนั้นมั้ย น่าจะอย่างนี้มั้ย นี่ ฟุ้งซ่านนะ ...ต้องรู้ทัน แล้วก็อย่าคิดต่อ 

นี่คือฟุ้งซ่าน ลังเล เกิดการฟุ้งซ่านลังเล ...มันไม่สำคัญเลย จริงๆ ไม่สำคัญเลย มันจะเป็นตรงไหน ...จุดหลักเมนคอร์สของพระพุทธเจ้าคือ...ให้เห็นใจกับขันธ์คนละส่วนกัน...โดยอรรถ ไม่เอาโดยพยัญชนะ

เพราะนั้นถ้าว่ากันโดยพยัญชนะแล้วนี่ หลากหลาย โอ้ย คนนึงก็เห็นอย่าง คนนึงก็เห็นแบบนึง คนนึงก็เห็นอยู่ทางนี้ คนนึงก็เห็นอยู่ทางนั้น คนนึงก็เห็นตั้งสามอย่าง แล้วแต่ ...ไม่สำคัญ


โยม –  เรียนถามพระอาจารย์ เมื่อสักครู่ว่าตัวตั้งมั่นอยู่ตรงไหน ผมหาจนทั่วตัว ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน

พระอาจารย์ –  ยิ่งหายิ่งไม่เห็น ยิ่งหาก็เหมือนกับผ้าขาวม้าโพกหัวน่ะ ...ก็ไอ้คนที่หานั่นแหละ คือผ้าขาวม้าก็อยู่ที่หัว นั่นแหละ  พอรู้ว่าหา...ก็ตรงนั้น ก็อยู่ที่รู้ว่าหา แค่นั้นเอง

เพราะนั้นการที่จะเห็นรายละเอียดโดยเห็นพยัญชนะนี่ ทำไมพระอรหันต์นี่จึงมีตั้งหลายภูมิธรรมของพระอรหันต์ เตวิชโช ฉฬะภิญโญ ปฏิสัมภิทา ใช่ไหม

การที่เห็นรายละเอียดของท่านนี่ ประเภทปฏิสัมภิทาญาณ พวกนี้ซอกแซก สันดานจิตซอกแซก รู้ไปเรื่อย ชอบสงสัย แล้วก็ชอบไปดูรายละเอียดมากมายก่ายกอง คือจะเอาให้กระจ่าง พวกนี้ ปฏิสัมภิทาญาณ

พวกฉฬภิญโญนั่นก็เอาแบบ เออ เอาคุณประโยชน์ จะให้เกิดประโยชน์ ดูแล้วให้ได้ประโยชน์ยังไง ก็จะทำอันนั้น พวกนี้จะติดนิสัย จะเอาผล ผลประโยชน์จากการที่รู้ที่เห็น ที่ทำ ที่ได้

แต่ประเภทเตวิชโช หรือสุกขวิปัสโก ประเภทนี้ประเภทพายเรืออยู่ เหมือนกับอยู่หน้าบ้าน สวะลอยผ่าน กูไม่สนๆ ไม่ใส่ใจแม้แต่ว่ากอสวะนั้นจะมีเพชรหรือมีทอง หรือไม่มี...กูไม่รู้ กูมองเห็นเป็นกอสวะหมด

อย่างนี้ เรียกว่าเป็นลักษณะที่ว่าแห้งๆ ไม่ใช่แห้งชามน้ำชาม ประเภทชอบกินแห้ง ...ไปเลย ผ่านหมดเลย ไม่เอา ไม่เข้าไปจับสาระประเด็น ...รู้ว่าคิด แต่ไม่รู้ว่าในความคิดนั้นเป็นอะไร แต่กูรู้ว่าคิดน่ะ อย่างนี้


โยม –  เตวิชโชนี่ล่วงรู้ใจด้วยรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  ได้ แต่การรู้วาระจิตน่ะ มันก็มีหลายระดับขั้น ...จริงๆ แล้ว แม้แต่สุกขวิปัสโกก็ยังรู้ได้ รู้แต่ว่าไม่ใช่รู้ระดับแบบที่จะออกมาเป็นคำพูดอะไรก็ได้ รู้แบบ...รู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้ก็เหมือนรู้ก็ได้

ไอ้พวกนี้มันหลากหลาย เรื่องของภาวะจิต เรื่องของคุณภาพของจิต นี่ มันต่างกันที่คุณภาพของจิต ...เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของใจนะ

คุณภาพของจิตก็แตกต่างกันไป ...แต่ใจนี่เหมือนกันหมด คือมีรู้ดวงเดียว ตื่นดวงเดียว อันเดียวเหมือนกัน ...แต่คุณภาพจิตต่างกัน คุณภาพต่างกัน สมรรถนะของจิตต่างกัน

รถก็ยังมีมอเตอร์ไซค์ ยังมีสี่สูบสิบสองวาวล์อะไรก็ว่ากันไปใช่มั้ย แต่มันก็ขี่ได้น่ะ ...นั่นน่ะคือคุณภาพของจิต หรือว่าพิกัดนิสัยจรของแต่ละดวงจิตไม่เหมือนกัน

แต่ภาวะใจเหมือนกัน ใจดวงเดียวกันหมด ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้า ...แต่ว่าคุณภาพจิตพระพุทธเจ้านี่ เรียกว่าไม่มีประมาณ ที่ว่าสัพพัญญูพุทธะ...นี่ คุณภาพของจิตนี่ เกินกว่ามนุษย์ใดในสามโลกจะมีเท่า

แล้วก็ในพระอัครสาวก อริยะสาวก พระสาวก อสีติ...นั่นก็คุณภาพจิตก็ต่างกัน  พระอรหันต์ท่านก็ต่างกันไป ...แต่ว่าใจดวงเดียวกันหมด


โยม –  พระอาจารย์ ผมสงสัยอยู่คำถามนึง ตอนนี้ สติมันต้องตามจิต ...พระอาจารย์เรียกว่าจิตกับใจใช่ไหม ใจนี่คือ (ใจรู้) ตัวรู้ ...คือสตินี่มันจะต้องรู้ตามหลังที่จิตคิดไปแล้วทุกครั้ง จะเร็วหรือช้าเท่านั้น

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แต่ที่ผมว่าคือ...เอ๊ ทำไมเราไม่ให้สติมันเกิดก่อนล่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ก่อน


โยม –  ยกตัวอย่างเช่นภาวนา อยากๆๆ นี่ สติมันก็เกิดก่อนไม่ใช่หรือครับ

พระอาจารย์ –  อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการดัก...ดักรู้ ไปดักรู้ ...ถือว่าเป็นสติที่ไม่ได้เกิดในปัจจุบัน แต่เป็นสติที่จะไปจับอนาคตมาเป็นปัจจุบัน เป็นสติแบบดักรู้ ...สติต้องรวมลงในปัจจุบัน


โยม –  อันนี้มันจะไม่เกิดปัญญาใช่ไหมครับ ถ้าดักรู้อย่างนี้

พระอาจารย์ –  มันก็เกิด...แต่เกิดในลักษณะที่ไม่ตรง บิดเบือน มันจะบิดเบือน ...แล้วผลก็บิดเบือน มันจะเกิดผลข้างเคียง มันจะมี accessory ตามมา ...แล้วมันจะเกิดความไขว้เขว


โยม –  ผมลองน่ะ พระอาจารย์  คือถ้าเป็นสิ่งที่อยากพูด อย่าพูดๆๆ ...เอ๊ มันก็น่าจะได้ ตรงที่ว่าสติมันเกิดก่อน

พระอาจารย์ –  มันรู้ไปตามที่พูดก่อนเท่านั้นเอง ...แต่ว่าไอ้ตัวอยากจริงๆ น่ะ มันไม่เหมือนกับคำพูด มันคนละตัวกันๆ ...เพราะนั้นจิตที่ไปเตรียมดักรู้ดักรอล่วงหน้า มันไม่ใช่สติตัวจริง

ต่อไปถ้าไม่พูดไม่ดักไว้ก่อน มันก็ไม่รู้ บอกให้เลย ...มันก็เลยไม่ทันกิเลสตัวจริง ...มันจะต้องไปทันกิเลสซึ่งไม่ได้บอกไว้ก่อน อย่างนี้เรียกว่ามันถึงจะทัน


โยม –  ข้อเสียคือมันไม่ทันกินแล้ว

พระอาจารย์ –  ไม่ทันหรอก ไม่ทัน ...มันจะต้องไปเกิดสภาวะที่เป็นสติธรรมชาติ หรือว่าสติอัตโนมัติ ...เพราะนั้นว่าอะไรเกิด...ถึงรู้ นะ อะไรเกิดถึงรู้ 

แล้วให้เร็วที่สุด ...ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าเป็นวิชชา จนถึงขั้นบนสุดของปัจจยาการต้น...คืออวิชชาปัจจยาสังขารนี่ คือรู้แต่เกิดดับๆ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดดับ ...ยังไม่รู้เลยว่าอะไรเกิด...ดับแล้ว


โยม –  อย่างนี้ต้องเป็นพระอรหันต์แล้ว

พระอาจารย์ –  ยังไม่ถึงนะ นี่ก็ยังไม่ถึงพระอรหันต์นะ ยังนะ

แต่ว่านี่เป็นการเรียนรู้อวิชชา...เบื้องต้น เบื้องต้นของการที่จะเข้าไปสู่จิตอวิชชา คือจะรู้เห็นจิตแรก รู้เห็นจิตแรก...แต่ไม่รู้ว่าจิตแรกนั้นคืออะไร

เป็นการรู้ที่นอกเหนือบัญญัติและสมมุติ เป็นเรื่องของปรมัตถ์จิตล้วนๆ  ยังไม่ทันจะเป็นรูปหรือนาม...ดับ ...เพราะนั้นจะเห็นแต่จิตเกิดดับ แต่ไม่รู้ว่าอะไรเกิดดับ

แล้วถ้าถึงขั้นจะเป็นขั้นมรรคจิตมรรคญาณ ...พวกนี้จะไวมาก ต่อเนื่องเลย ไม่หลับไม่นอนเลย  จิตถ้ามันได้ทำงานแล้วนี่ เหมือนเครื่องที่มันสตาร์ทแล้วนี่ ไปตลอดเลย ไม่หยุด

จนกว่ามันจะหยุดการปรุง หมดการปรุงแต่งภายใน หมดอำนาจของสังขารจิตภายในที่เกิดจากอำนาจแรงผลักดันของอวิชชา ...นั่นน่ะ สติปัญญาจะเท่าทัน

สติ...ถึงที่สุดของสติคือแค่ความเท่าทัน ไม่ใช่เป็นการไปดัก หรือเป็นการไปรู้อะไร ไปเห็นอะไร ...แต่สติ...จนมันเหลือตัวสุดท้าย หรือว่าสติที่แท้จริง..เป็นสัมมาสติที่แท้จริง คือแค่การเท่าทัน เท่าทันอาการๆ

เพราะนั้น พอมันเท่าทันปุ๊บ นี่...ไม่ต้องทำหน้าที่อื่นเลย ทุกอย่างเกิดไม่ได้เลย ...ทุกอย่างที่จะต่อเนื่องจากการเท่าทันนั้น จะไม่มีการเกิดเลย

เพราะนั้น เมื่อเท่าทันการเกิดดับแรกนี่ ปัจจยาเบื้องต่ำทั้งหมด...ตั้งแต่สังขาราลงมา จนถึงทุกข์ โทมนัส อุปายาสนี่...ขาดหมดตลอดสาย มันจะขาดอยู่อย่างนั้นเลย แล้วมันจะขาดอยู่ในตัวของมันตั้งแต่ต้นตอ

เพราะนั้นถึงเรียกว่า รวมลงละที่ใจ ... รู้ที่ใจ...ละที่ใจๆ ...ถ้าภาษาพูดแบบทั่วๆ ไปนะ ไม่เอาปริยัตินะ คือรู้ที่ละ...ละที่ใจเลย 

ไม่รู้ว่าอะไร ...ละอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าละอะไร ...แล้วรู้ว่า...อยู่เพื่อละ รู้เพื่อละ ...ไม่รู้ว่าละอะไรนะ แต่มันรู้เพื่อละ ไม่รู้ว่ามันละอะไร

แต่ว่ามันจะไปตามลำดับ ตามเสต็ปของมันนะ ขั้นตอนของมัน ....ตรงนี้มันจะวางกายวางจิตหมดแล้ว วางอาการทางจิต วางอาการภายนอก อายตนะทั้งหลายนี่ ไม่เข้าไปข้อง ไม่เข้าไปสัมผัสแล้ว

คือไม่เข้าไปรับรู้ ไม่เกิดวิญญาณทั้งห้า...ทั้งหกน่ะ เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้นเหลือแต่วิญญาณตัวสุดท้าย คือมโนวิญญาณ ...ที่จะไปเกิดเป็นมโนวิญญาณ ตัวนี้


โยม –  ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์ก็มองพวกผมเห็นหมดเลยนะฮะ

พระอาจารย์ –  คืออรหันต์ขั้นไหนล่ะ ...อรหัตตมรรคก็มองไม่เห็นเป็นคนหรอก  แต่ถ้าเป็นอรหัตตผลแล้ว ท่านก็...เห็นคนเป็นคน

คือพอเริ่มๆ ทำไป นี่ เห็นคนไม่ใช่คน นะ ...พอทำไปทำมา จนถึงจะที่สุดแล้ว เฮ้ย กูเกิดเห็นคนเป็นคน นั่น เข้าใจป่าว

แต่ว่าถ้าเป็นขั้นอรหัตตมรรคนี่ ไม่เป็นผู้เป็นคนแล้ว นะ มันขาด มันจะขาดจากสมมุติบัญญัติ ...ตอนนั้นมันจะเข้าทำลายสมมุติบัญญัติที่ติดค้างข้องคา

ไอ้ที่ในนั้นในนี้ ในนี้ในนั้น  ไอ้นั่น ไอ้นี่ ไอ้โน่น ...ไม่มีแล้ว มันจะขาดหมดเลย เข้าไปทำลายหมด ทำลายความไม่รู้ในบัญญัติ ...เข้าไปละสมมุติบัญญัติทั้งหมดเลย

เพราะนั้น ในขณะนั้นน่ะ อย่าไปเข้าใกล้ท่าน เดี๋ยวโดนถีบ ...เพราะท่านจะไม่รู้ว่าถีบอะไร (หัวเราะกันเกรียว)

แต่จริงๆ ถึงภาวะนั้นน่ะ เป็นจิตวิเวกจริงๆ นี่ ...ท่านจะไม่ออกมาสุงสิงกับใครหรอก นะ มันจะเป็นภาวะที่บีบบังคับให้เป็นมรรควิถีเอง คือท่านจะต้องอยู่ในภาวะที่วิเวกจริงๆ จิตวิเวกจริงๆ

แต่ไม่นานหรอก ช่วงที่เข้าด้ายเข้าเข็มอ่ะ เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผลน่ะ เจริญจนเต็มเปี่ยมแล้ว ...ถึงภาวะนั้นน่ะ ไม่ได้เป็นปีเป็นหลายปีอะไรหรอก จิตมันดำเนินผันตัวของมันไป


โยม –  พระอาจารย์ ผม...ตรงไอ้ตัวตั้งมั่นนี่ ตั้งมั่นรู้กายไม่ยาก  แต่การตั้งมั่นรู้จิตนี่ มันเกิดน้อยมากเลยครับ

พระอาจารย์ –  ถ้าตั้งมั่นอยู่ที่กาย ไม่ต้องกลัวจะไม่รู้จิต นะ มันรู้ของมันเอง ...เราไม่ต้องไปเตรียมว่า จะดูอะไร เห็นอะไร...ช่างหัวมัน  อยู่ที่ใจนั่นแหละ อยู่ที่รู้เฉยๆ นั่นแหละ ...มันรู้ของมันเองๆ

อย่าไปคอยว่าจะไล่สาดหาดูไปทั่ว...ไม่เอา รู้อยู่ที่เดียวๆ ...แล้วพอมันขยับ เขยื้อน เคลื่อน ไหว กระเพื่อม กระพือ ฮึกเหิม กระเสือกกระสน ดิ้นรน ทะยานออก...อะไรพวกนี้ ก็ให้รู้ทันมัน

พอรู้ทัน ...แค่รู้ทันน่ะ พอแล้ว มันไม่มีอะไรต่อเนื่องแล้ว ...แต่บอกแล้วไง ถ้ามันไม่รู้ทัน มันก็ออกมาตีปีก...ปีกกล้าขาแข็งแล้ว 

ถ้าปีกกล้าขาแข็ง...แล้วไม่รู้อีก ก็จะไปต่อแขนต่อขา ไปสอนให้มันแข็งแรงอีก ...นี่ ยิ่งไปกันใหญ่แล้ว 

เอ้า เอาแล้วมั้ง ฟังนานแล้ววันนี้ พูดเยอะนะนี่


...................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น