วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/7 (3)




พระอาจารย์

3/7 (531217)

17 ธันวาคม 2553

(ช่วง 3)



(หมายเหตุ : ต่อจาก 
แทร็ก 3/7  ช่วง 1 ... http://ngankhamsorn3.blogspot.com/2014/10/37-1.html
แทร็ก 3/7  ช่วง 2 ... http://ngankhamsorn3.blogspot.com/2014/10/37-2.html )


พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย  ทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้ มันไม่ได้เป็นอะไรของใครเลย 

แล้วอยู่ดีๆ เราจะมาเป็นเจ้าโลกรึไง  เราจะมาเป็นผู้คอยจัดแจง ตัดแบ่ง ดัดแปลง บังคับ จับนั่นมาชนนี่ จับนี่มาชนนั่น ...เหมือนกับเราเป็นเจ้าโลกเลยนะ มนุษย์เรานี่ 

มันก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ... พอได้ก็ดีใจ ไม่ได้ก็เสียใจ แล้วก็คิดว่าครั้งหน้าจะทำใหม่ ... นี่เพราะมันโง่ ทำไปด้วยความไม่รู้ว่าเหล่านี้...มันไม่ใช่นะ ไม่ใช่อยู่ในอำนาจ หรือเงื่อนไขของเราเลย  

เขาเกิดเอง เขาตั้งอยู่ของเขาเอง แล้วเขาก็ดับของเขาเองต่างหาก ...มีแต่เราเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้าไปร่วม แค่นั้น ... แต่เขาจะได้ผลอย่างไร ไม่ได้ผลอย่างไร ไม่ได้เนื่องด้วยเราโดยตรง 

นี่มันเกิน ...เขาเรียกว่ามันเกิน มันไปรู้เกิน ...ถ้ารู้จริง รู้พอดีนี่...มันไม่มีอะไร จะไม่ไปทำอะไร  มันจะละซึ่งเจตนาทั้งหมดเลย ... ถ้าอยู่ที่รู้ แล้วจะรู้เองว่ามันไม่มีเจตนาอะไรตรงนั้นน่ะ 

แต่ถ้ารู้เกิน เกินรู้ไปมันจะมีเจตนา  ตัวเจตนานั่นแหละคือกรรม ...เมื่อมีเจตนามันจึงมีการกระทำ แม้แต่ว่าเจตนาในใจ อยากจะคิด  นี่ มีเจตนาแล้ว มันก็คิด เห็นมั้ย ...ถ้ามีเจตนาปั๊บ คิดเลย   

โยม –  ถ้าเรารู้ว่าคิดไม่ถูก เราก็ต้องกลับปั๊บ  

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องกลับ รู้อย่างเดียว อยู่ที่รู้อย่างเดียว ...ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปเจตนาจะกลับหรือไม่กลับ ไม่เจตนาจะเพิ่มหรือจะลด 

โยม –  ก็ปล่อยให้มันดูไปเรื่อยๆ 

พระอาจารย์ –  เออ

โยม –  ให้มันดับเอง    

พระอาจารย์ –  เออ ...ไม่ดับก็ไม่ดับ   

โยม –  เวลาโกรธนี่นะ เรารู้ว่าเราโกรธ  

พระอาจารย์ –  อยู่ที่รู้  ไม่ต้องอยู่ที่โกรธ

โยม –  รู้ว่ากำลังโกรธ เดี๋ยวมันก็ดับเอง   

พระอาจารย์ –  หรืออาจจะไม่ดับก็ได้ ทำไม ...เรื่องของความโกรธไม่ใช่เรื่องของเรา  


โยม –  เอ้า ถามอาจารย์ค่ะ ...บุคคลบางคนนี่ เราคิดว่าควรจะหลีกจากคนพาลน่ะ เราไม่ต้องไปคบ   

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว   

โยม –  อย่างนี้มันก็ไม่ผิดใช่ไหมคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่ผิด ...ที่ไหน บุคคลไหน ควร-ไม่ควร ...ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่บอกหรอกว่าให้คบบัณฑิต  ท่านให้หลีกลี้พาลนะ ไม่ว่าที่ใด บุคคลใด สถานที่ใด

โยม –  บางทีมันทนไม่ไหว อาจารย์  จะคบต่อไปไม่ได้ มีแต่เสีย 

พระอาจารย์ –  เออ ก็ถอยออกมา ถอยออกมา ... เราไม่ต้องไปตำหนิติเตียนเขา เราก็ถอยตัวเราออกมา 

ที่ไหนไม่ควรไปก็ไม่ไป ... ทำยังไง อยู่ยังไง ไปที่ไหน อยู่กับใคร พูดกับใคร อะไรก็ตาม...ที่มันเป็นไปเพื่อให้สามารถกลับมาอยู่ที่ใจได้มากที่สุด...ตรงนั้นน่ะเป็นมงคล

ที่ใด บุคคลใด ที่ไปอยู่แล้ว ไม่สามารถจะระลึกรู้ที่ใจหรือตั้งอยู่ที่ใจได้...ที่นั้นไม่เป็นมงคล หลีกลี้ซะ ...  เพราะนั้น เราเอาใจเป็นตัวหลัก เป็นตัววัด เข้าใจมั้ย ไม่ได้เอาความถูกความผิดเป็นตัววัด     

โยม –  อือ อยู่ที่ไหนไม่มีความสุขก็ไม่ต้องไปคบ 

พระอาจารย์ –  เออ หรือว่าอยู่กับคนไหนคนหนึ่งแล้วมันไม่สามารถจะตั้งมั่นอยู่ที่ใจหรือไม่สามารถจะรู้ได้ ...มันไม่ควร

แต่... แต่นะ ทุกอย่างมันมีแต่อยู่แล้ว ...ถ้ามันเป็นกรรม วิบาก ซึ่งบางครั้งเลือกไม่ได้ เข้าใจมั้ย  ... คือก็ไม่อยากจะคบ ไม่อยากจะไป  แต่มันต้องไป มันเลี่ยงไม่ได้  ...ก็ไม่ต้องหนี  ถ้าต้องไปก็ต้องไป  ถือว่าเป็นการเรียนรู้ แล้วก็ชดใช้ๆ ...ชดใช้เจ้าหนี้เขาซะ

เหมือนพระโมคคัลลาน์  อย่างที่ว่า ทุบพ่อแม่จนตายนะนั่น แล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เกิดเป็นเดรัจฉานอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  นั่นใช้กรรมหนักๆ จนหมดแล้ว ยังเหลือที่ถูกทุบตีตาย ...นี่เป็นเศษกรรม

แม้ท่านสำเร็จมรรคผลนิพพานตั้งแต่ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเจ็ดวันแล้ว หนี้กรรมก็ยังใช้ไม่หมด  ขนาดเป็นพระอรหันต์นะ ท่านยังหนีกรรมไม่พ้นเลย  มีฤทธิ์ขนาดไหน ดูสิ  รู้...ท่านก็รู้ว่าเขาจะมาตีเอา ท่านก็เหาะหนีๆๆ หลายครั้ง ก็ยังมาตี ... ท่านก็รู้เลยว่า นี่ หนีไม่พ้นหรอก...กรรม  ท่านยินยอมให้เขาตีเลย ตีจนกระดูกแหลกทั้งตัว

ไอ้ที่ว่าต่อกระดูกนั่น ...ความจริงสภาวะขันธ์ท่านน่ะแตกแล้ว แต่ด้วยธรรมเนียมของอริยะประเพณีที่เป็นอัครสาวกหรือว่าสาวกที่พระพุทธเจ้าบวชให้ เป็นธรรมเนียมที่การเข้านิพพานต้องกราบทูลลาพระพุทธเจ้า  ท่านจึงอธิษฐานฤทธิ์ขึ้นมาเพื่อเอาร่างที่แหลกละเอียดนี่ ไปกราบลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพาน...เป็นธรรมเนียม ...เห็นมั้ย อัครสาวกด้านฤทธิ์นะนั่น ยังหนีไม่พ้นกรรม  

เพราะนั้นที่เราพูดหมายความว่า ถ้าในเหตุปัจจัยใหม่ที่เราเลี่ยงได้ เราไม่ไปได้ ด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปข้องเกี่ยว ก็ไม่ต้องข้องเกี่ยว ... แต่ถ้าเป็นเหตุปัจจัยที่เลือกไม่ได้ หมายความว่าเป็นไฟท์บังคับ บางครั้งมันเลือกไม่ได้ เราก็ต้องถือเป็นเครื่องฝึก

อย่าแก้ทุกอย่างด้วยความคิด อย่าแก้ด้วยอารมณ์ ...ให้แก้ด้วยการกลับมาตั้งมั่นที่ใจรู้ มีอะไรก็รู้ ...รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ รู้กับสิ่งที่มันหนัก ที่มันเบา ที่มันแรงอยู่ตรงนั้น...ก็รู้ๆๆ 

แล้วทุกอย่างจะหาทางออกได้เอง มันจะรู้ด้วยตัวของมันเอง...ด้วยปัจจัตตัง ว่าควรจะทำยังไง ... มันจะไม่ได้ออกมาแก้ด้วยความอยากหรือไม่อยาก 

ต้องระวังในภาวะที่มันละเอียดเหล่านี้ ...แล้วมันจะค่อยๆ แยบคายขึ้น นะ ... ไม่งั้นมันจะกลายเป็นเลือกหรือหนีไปโดยกิเลสบอกหรือสอนสั่ง แล้วเราก็จะอ้างว่า "มันไม่ดีนะ เราก็ต้องเลี่ยงออกไป" ...ซึ่งบางทีมันก็เป็นกิเลสแอบแฝงมา

ดูไปเรื่อยๆ ...รู้ ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ แล้วก็จะรับได้หมดแหละ ... หนักมาก็รู้ เบามาก็รู้ ร้ายมาก็รู้ ดีมาก็รู้  ...สุดท้ายก็แค่นั้นแหละ มันก็ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม เจอกันก็ประเดี๋ยวประด๋าวก็ผ่านไป ปั๊บ...จบ

ไอ้ที่มันยังอยู่คือสัญญา คือ ความจำได้...มันยังอยู่  จำได้ว่าเคยเจออารมณ์นี้ เคยเจอบุคคลนี้แล้วเกิดอารมณ์นี้ อาการนี้ มันอย่างนั้นอย่างนี้ ...นี่ มันจำ มันเป็นความจำ ...แต่จริงๆ เวลาไอ้ตอนที่เจอก็ประเดี๋ยวประด๋าว ...ก็ผ่านไป

คือปัจจุบันของตรงนั้น...มันจบแล้ว ... แต่มันไม่จบในความจำ ที่ยังจำอาการนั้นได้ คำพูดนั้นได้ การกระทำนั้นๆ ได้อยู่  มันนึกขึ้นมาทีไรก็เจ็บ นึกที่ไรก็ไม่พอใจ ...นี่ เห็นมั้ย เป็นเรื่องของสัญญาอารมณ์อีกแล้ว เป็นเรื่องของความหมายมั่นในใจ ...แล้วเราไม่เท่าทันว่ามันเป็นแค่สัญญา ความจำ

ก็รู้อีก ต้องรู้อีก นี่ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น...รู้  ไม่ว่าจะจำมา คือสัญญานี่ ... ก็ตัวเขาไม่มีอยู่ต่อหน้านี่ ที่พูดขึ้นมานี่ เพราะเจ็บปวด ไม่พอใจ นี่ เป็นความจำ ...ตัวจริงมีมั้ยล่ะ เดี๋ยวนี้มีไหม

โยม –  มันขึ้นมาหนที่สามแล้วค่ะ   

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย สัญญาก็ไม่เที่ยง ...รู้อย่างเดียว แก้ได้หมด ทะลุทุกข้อทุกปล้องน่ะถ้ารู้อย่างเดียว ไปได้ตลอด ... ถ้าไปคิดแก้ด้วยการกระทำ หรือว่าคิดให้ตก ...ไม่มีคำว่าคิดตกหรอก บอกให้เลย แก้ไม่ได้ ไม่จบ  

โยม –  อือ เราไม่ต้องแก้ ปล่อย รู้ๆๆ  

พระอาจารย์ –  อะไรเกิดขึ้น...รู้ 

โยม –  ช่างมันเถอะ เนอะ   

พระอาจารย์ –  เออ  ภาษานี้แหละดีที่สุด..."ช่างมันเต๊อะ ช่างหัวมันเต๊อะ"  

เวลาเราฝึกเราปฏิบัติ เราบอกให้เลยว่า หัวมันที่เราช่างไปนี่ กองสูงกว่าภูเขาซะอีก กว่าที่เราจะทิ้งช่างหัวมันนี่ หัวมันที่เราทิ้งไปนี่สูงกว่าภูเขา

เพราะนั้น “ช่างมัน” เข้าไปบ่อยๆ ...ช่างมันเต๊อะ ช่างหัวมัน เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเฮา เรื่องของเฮามีแต่รู้อย่างเดียว เฮาคือรู้ รู้คือเฮา แค่นั้นแหละ  

โยม –  รู้อย่างเดียว ...แต่ที่ชอบก็คือรู้ของว่าง ว่างแล้วมันสุขดี  

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) รู้ไปเรื่อยๆ  แล้วมันจะเห็นเองว่าว่างก็แค่นั้น ... ต่อไปนะ ถ้ารู้จริงๆ นะ รู้ว่าว่างกับรู้ว่าฟุ้งซ่านนี่...ค่าเท่ากัน จะมีความสุขเสมอกัน 

โยม –  ความสุขกับความทุกข์มันเท่ากัน 

พระอาจารย์ –  เออ มันจะเสมอกันเลย ...มันไม่ได้แตกต่างกันเลยระหว่างสงบกับฟุ้งซ่าน ไม่ได้แตกต่างกันเลยระหว่างสุขกับทุกข์   


โยม –  นี่อาจารย์ โยมคิดว่ากลิ่นหอมกับกลิ่นเหม็นนี่ ค่าของมันที่คนชอบหอมนะ  แต่ที่จริงนะ สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ในธรรมชาตินั่นน่ะ   

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แต่โยมอย่าลืม พระพุทธเจ้านี่ท่านละเอียดมาก ท่านแบ่งเป็น หนึ่ง-กุศล  สอง-อกุศล  และยังมีสามอีกคือ...ไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล  

โยม –  เออ ตรงนี้แหละตรงกลาง    

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) ก็ไอ้ตรงนี้แหละที่คน...พอเริ่มปฏิบัติเรื่อยๆ แล้วมันจะมาติดตรงนี้...อัพยากฤตธรรม ... คือมีกุศลธรรม อกุศลธรรม แล้วก็อัพยากฤตธรรม   กุศล-อกุศล นี่รู้  สุขน่ะรู้ ทุกข์ยิ่งชัดเลย

โยม –  แต่ตรงกลางไม่มีใครรู้  

พระอาจารย์ –  ตรงกลางนี่มันจะไปแช่เลยแหละ ...คือจะไปหมายมั่นว่านี่ดีที่สุดแล้ว   

โยม –  ห๊า...เหรอ  

พระอาจารย์ –  มันจะว่าดีที่สุดไอ้ตรงที่มันไม่มีอะไรนี่แหละ

โยม –  มันไม่มีอะไรนี่นะ 

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ มันพอใจ เห็นมั้ย  มันก็คือธรรมหนึ่ง คืออัพยากฤต ... อกุศลธรรมนี่คือทุกข์ กุศลธรรมนี่คือสุข เห็นมั้ย  พอมาถึงอัพยากฤต...ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ นี่เขาเรียกอทุกขมสุขธรรม เข้าใจมั้ย

พอถึงตรงนี้นี่...กูนอนตีพุงตายเลยน่ะ นอนตายอยู่กับตรงนี้เลย สบาย  เลือกตรงนี้แหละ ไม่ไปไหนแล้ว เห็นมั้ย  

โยม –  ค่ะ   

พระอาจารย์ –  สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา ... แม้แต่อัพยากฤตธรรม ก็ยังเป็นธรรมอันหนึ่ง เข้าใจมั้ย 

อย่าไปหมายมั่น ว่ามันเป็นของเรา ว่ามันเป็นเรา ว่าเป็นใจเรา ว่าเราตรงนี้อยู่สบายแล้ว ...มันไม่สบายจริง  เพราะมันยังไม่ใช่ใจ

ใจไม่มีคำว่าสุข ใจไม่มีคำว่าทุกข์ ใจไม่มีคำว่าไม่สุข-ไม่ทุกข์ ... ใจมีอยู่อย่างเดียวคือรู้ มีแต่รู้อย่างเดียว...เป็นอาการเดียว  

ใจก็ไม่เคยสุข ใจก็ไม่เคยทุกข์ ใจก็ไม่เคยว่าง เข้าใจมั้ย ...แต่ใจรู้ว่าว่างต่างหาก 


โยม –  มันซับซ้อน

พระอาจารย์ –  มันซ้อนกันอยู่อย่างนี้ ... แต่ถ้าเราดูด้วยความไม่มีปัญญาหรือไม่แยบคาย เราจะเข้าใจว่าใจเราไม่มีอะไร เห็นมั้ย กลายเป็นใจเราไม่มีอะไรแล้ว 

ใจไม่เคยไม่มีอะไรนะ แต่ใจรู้ว่าไม่มีอะไรต่างหาก ... ต้องแยกให้ออก   

โยม –  รู้ว่าไม่มีอะไรต่างหาก   

พระอาจารย์ –   ใช่ ไม่ใช่ว่าใจไม่มีอะไร   

โยม –  อือ ใจรู้ว่าไม่มีอะไรต่างหาก   

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าคิดว่าใจไม่มีอะไรปุ๊บนี่ ใจเราเหมือนเข่งนะ เข้าใจมั้ย ...เคยเห็นเข่งมั้ย  อันนี้ใส่ขี้ อันนี้ใส่ดอกไม้  แล้วก็ว่าอันนี้ขี้นี่อกุศล พอใส่ดอกไม้ก็ว่ากุศล 

พอเอาทิ้งหมดแล้ว เหลือแต่เข่งเปล่าๆ ก็ว่าเข่งเปล่าๆ แล้ว ...ใจกลายเป็นเข่งไปแล้ว  เข้าใจมั้ย

โยม –  อ๋อ อือๆๆ เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ใจไม่ใช่เข่งนะ ใจไม่เคยใส่อะไรในนั้นได้นะ ไม่มีอะไร   

โยม –   ใจมันไม่มีอะไรสักอย่าง อือ  

พระอาจารย์ – ใจคือใจ ใจคือรู้ นะ ...ไม่งั้นใจเราจะเป็นเข่ง  พอทิ้งขี้ พอทิ้งดอกไม้แล้ว สบายแล้ว มันไม่มีอะไร ...ก็รักษาเข่งอยู่อย่างงั้นน่ะ     

โยม – เออ โอ้โฮ (หัวเราะชอบใจ)   

พระอาจารย์ –  เข่งเปล่า...มันชอบเข่งเปล่าน่ะ  เพราะขี้ก็ว่าไม่ดี พอดอกไม้สวยมันก็ไม่ดีตลอดอีก  ไอ้เข่งขี้นี่มันรู้อยู่แล้ว มันไม่เอาอยู่แล้ว ก็เลย...มา กูกอดเข่งเปล่าซะเลย  ...แล้วก็ห้ามเอาอะไรมาเติมของกูนะ ห้ามเอาอะไรมาเติมในเข่งเปล่ากูนะ เออ

โยม –  ที่จริงมันไม่มีอะไรสักอย่าง

พระอาจารย์ –  เออ มีแค่รู้ บอกแล้วไง ...ก็มัวแต่กอดเข่งเปล่า   

โยม –  ก็รู้อย่างเดียวนี่แหละ ถ้าเรามีรู้อย่างเดียว เราพ้น  

พระอาจารย์ –  จบ...จบที่รู้นั่นแหละ ...ไม่ได้จบที่เข่งเปล่า นะ อย่าไปรักษาเข่งเปล่า 

โยม –  อือๆๆ  ...  อาจารย์ อาจารย์อุปมาอุปมัยดีมาก เข้าใจดี...ชัดแจ้งเลย

พระอาจารย์ –  จะได้ทิ้งเข่งไง ไม่งั้นไม่ยอมทิ้งเข่ง (หัวเราะ) ...จะรักษาเข่งเปล่าตลอดเวลา

โยม –  โอ้...ใช่เลย

พระอาจารย์ –  ไม่งั้นเดี๋ยวจะไปเกิดกับอาฬารดาบสกับอุทกดาบส 


โยม –  วันนี้ ดีมากๆ เลย  

พระอาจารย์ –  ฟังเข้าใจมั้ย ...ปลอดโปร่งมั้ย  

โยม –  ปลอดโปร่งค่ะ   

พระอาจารย์ –  ที่ฟังเรานี่ไม่มีอะไรหรอก ฟังให้เข้าใจ...แล้วให้แยบคายด้วยปัญญา  ไม่ใช่ว่ามีแค่สติตัวเดียวนะ ไม่ใช่ว่ารู้ไปเรื่อย ...ต้องเห็นนะว่า จริงๆ แล้วไอ้ที่...ใครล่ะที่รู้  

ใครที่รู้ว่านั่ง ใครที่เห็นว่าเจ็บ ใครที่เห็นว่าปวด ใครที่รู้ว่าเจ็บ ใครที่รู้ว่าปวด ใครที่รู้ว่าเหยียด ใครที่รู้ว่ายาว ใครที่รู้ว่าคู้ ใครที่รู้ว่ากระพริบ ใครที่รู้ว่ากลืน ใครที่รู้ว่าขยับ 

มันมีอีกตัวที่รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ จับตรงนั้นให้แม่น จับใจให้เจอ จับใจให้อยู่ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ

โยม –  ตัวรู้   

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะคือรู้ ใจรู้ดวงเดียวเท่านั้น ... กลับมาอยู่ที่ใจดวงเดียว อย่าไปอยู่ที่อาการของใจ ที่เป็นความคิดความปรุง    

โยม –  ไม่ต้องไปทำอะไรสักอย่าง   

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้มันทำของมันไป เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ... เรื่องของเราคือรู้


โยม –  บุญที่เราทำมาซะเยอะก็ช่างมัน เนาะ 

พระอาจารย์ –  ช่างมัน  ทำแล้ว...ก็แค่นั้นแหละ ทิ้งไว้ในโลกนี้แหละ  มันให้ผลยังไงก็รับผลนั้นไป มันไม่ให้ผลอะไรก็ทิ้งไว้ในโลกนี้แหละ ...ไม่ต้องไปคาราคาซัง ไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์ ไม่ต้องไปคิดว่าทำไมแล้วยังไม่ได้ผลนั้นซักที ...ช่างหัวมัน 

รู้อย่างเดียว แค่นั้นแหละ นะ  ไม่ต้องมีอะไรมากหรอกการปฏิบัติ  แล้วมันจะง่าย แล้วมันจะตรง แล้วมันจะไว ... นี่แหละ ลัดที่สุดแล้ว

ลัดยังไง ...คือมันลัดลงในปัจจุบันเลย เห็นมั้ย  ไม่ต้องไปหาว่าอดีตอนาคต ไม่ต้องไปว่าทำแล้วจะได้ผล  ทำไม ...ก็เห็นตรงนี้เลย 

โยม –  มันไม่มีตัวหนังสือ ...มันอยู่ที่จิต มันไม่มีคำพูด

พระอาจารย์ –  เออ มีอะไรเกิดขึ้นก็กลับมารู้ที่ใจ ปั๊บ มันตรงเลย ...อยู่ตรงนั้นแหละ ตรงที่ไม่มีคำพูด  สิ่งที่พูดนั่นคือบัญญัติออกมาแล้ว ด้วยความปรุงแล้ว   

โยม –  จิตรู้เอง ไม่มีคำพูด ไม่ต้องเรียนหนังสือก็รู้เรื่อง 
  
พระอาจารย์ –  ตำรงตำราปิดให้หมด เดี๋ยวสับสน เดี๋ยวไปเรื่องอันนั้นอันนี้  เดี๋ยวเราจะเกิดความลังเลสงสัยแล้วไม่เท่าทันความสงสัย ก็มัวแต่ว่า 'เอ๊ะ ต้องไปทำอย่างนี้ก่อนรึเปล่า จะต้องไปคิดพิจารณาอย่างนี้มั้ย จะต้องทำจิตให้สงบก่อนมั้ย  ต้องโกนหัวห่มขาวก่อนมั้ย' อะไรอย่างนี้ แล้วเราจะสับสน

แต่ลักษณะที่สอนให้กลับมารู้ที่ใจน่ะ อันนั้นมันจะไม่สับสน ... ถ้าเราตั้งใจเอาตรงนี้ แล้วเรามีจริตตรงกับตรงนี้...เข้าใจ มันแจ้ง มันปลอดโปร่งในการรู้อย่างนี้ นี่ พอแล้ว ตรงลงไปตรงนี้ 

แล้วก็พยายามศึกษาภายนอกให้น้อยลง ศึกษาธรรมะภายนอกน้อยลง กลับมาศึกษาใจให้มากขึ้น  เพราะใจนี่คือตู้พระธรรม  ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจนี่ ... ถ้ารู้ใจ...รู้หมด    

โยม –  ถ้ารู้ใจ...รู้หมด   

พระอาจารย์ –  รู้หมด รู้หมดจบจักรวาล รู้หมดจบอนันตาจักรวาลเลย ไม่มีอะไรไม่รู้  ...เพราะมันก็คือสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก เป็นแค่อาการหนึ่งที่ถูกรู้แค่นั้นเอง 

นั่นน่ะคือความรู้ที่แท้จริง นั่นน่ะจึงจะเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ...คือเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วมีใจรู้อีกดวงนึง แค่นี้พอ...จบ

พระพุทธเจ้าบอกให้จบตรงนี้...ให้จบตรงนี้  ให้เห็นว่าไม่มีอะไรนอกเหนือจากนี้ แล้วให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายทั้งปวงก็คือไตรลักษณ์

ก็ไม่เอาเรื่องกับมัน ไม่ไปมีเรื่องมีราวกับมัน ไม่ไปเป็นเรื่องเป็นราวอะไรกับมัน ... เรื่องของมัน มันต้องเป็นอย่างนี้  แม้แต่เราตายไปแล้ว มันก็ยังเป็นอย่างนี้ของมัน เกิดๆ ดับๆ ...เกิดๆ ดับๆ อยู่อย่างนี้ ...โลภโกรธหลงก็อยู่อย่างนี้  มันไม่หายไปไหนหรอก เห็นมั้ย

แล้วไม่ใช่ว่าเราจะไปเอาชนะคะคานมันนะ ไม่ใช่ว่าเราจะไปดับมัน ทำให้มันหายไปนะ ...ไม่มีหายหรอก วัฏฏะก็คือวัฏฏะ มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ จวบจนตั้งฟ้าตั้งแผ่นดิน มันไม่เคยจบสิ้นเลย  

โยม –  อือ ถ้าเรายิ่งคิด มันก็ยิ่งไม่จบ   

พระอาจารย์ –  ไม่จบสิ้น อนันตาจักรวาลนี่มันก็มีอยู่ ...แม้แต่เราตาย แม้แต่เข้านิพพานไปแล้ว อนันตาจักรวาลก็ยังคงดำรงอยู่  เกิดๆ ดับๆ  เปลี่ยนแปลงไปเปลี่ยนแปลงมาอยู่อย่างนี้  โลกดับไปแล้วก็โลกเกิดขึ้นมาใหม่  คนตายไปแล้วคนก็เกิดขึ้นมาใหม่ 

กิเลสเกิดขึ้น วนเวียนอยู่  ... ไม่มีคำว่าจบ ไม่มีคำว่าจาง ไม่มีคำว่าหาย  มันสลับสับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

นี่ เอาแค่เข้าใจก่อน แล้วไปปฏิบัติ ฝึกเอา ...อยู่ใกล้ๆ มีปัญหาอะไรก็มา มาทำให้เกิดความรู้แจ้งขึ้น มันจะได้ตรงลัดเข้าไปในที่อันเดียว ไม่ออกไปในที่ทั้งหลาย   


โยม –   อันนี้เดี๋ยวต้องจำไว้ว่า ขอให้มีรู้  

พระอาจารย์ –  อยู่ในที่รู้อันเดียว รู้ตัวเดียวเท่านั้น  

โยม –  รู้อย่างเดียว  

พระอาจารย์ –  อือฮึ


โยม (อีกคน) –  อาจารย์คะ เดือนนี้พอดีมันใกล้ไม่กี่วันแล้วจะครบรอบวันคล้ายวันเกิด มากราบขอพร ขอข้อธรรมเพื่อจะได้เอาไปปฏิบัติต่อน่ะค่ะ 

พระอาจารย์ –  ที่ฟังมาทั้งหมดนี่คือธรรมทั้งหมด ...คือทำอย่างไร รู้อย่างไร การใช้ชีวิตอย่างไร...ที่จะไม่ใช้ชีวิตโดยการล่องลอยไปกับอาการ ...ก็ให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัว อยู่ในปัจจุบัน  อะไรก็ได้ ให้รู้อยู่ในปัจจุบัน ...แม้จะไม่ถึงใจก็ตาม แต่ให้รู้ว่ายืนเดินนั่งนอน อยู่ตรงนี้

แล้วการรู้ทางกายนี่ รู้อาการทางกายนี่  ไม่ใช่รู้ในความคิด ...รู้ตรงผัสสะ กายวิญญาณ คือรู้ตรงนี้... แข็งๆ ขยับ ไหว นิ่ง ร้อน หนาว อ่อน เย็น อย่างนี้ สบาย ไม่สบาย ของมัน ปวด เมื่อย พวกนี้

กลับมาดูกายในปัจจุบันบ่อยๆ แล้วจะเห็นกายไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย  มันจะถอนออกจากความหมายในคำว่ากายเราใจเราไปเรื่อยๆ ...ให้รู้ลงไปตรงนี้ ไม่ต้องไปแก้อะไร ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปหาอะไร

อะไรทุกอย่าง...ที่มันเกิด แม้แต่ว่าใครจะมา ใครจะไป  เรื่องจะมา เรื่องจะไป  เรื่องจะใหญ่ เรื่องจะน้อย ...ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องไปให้ความสำคัญว่าจะต้องทำอย่างไรกับมันดี  ...กลับมาอยู่ที่ใจแก้ได้หมด 

แล้วก็รักษาใจให้ได้ ...ได้ใจเหมือนได้ธรรม เห็นใจเหมือนเห็นธรรม ละใจเหมือนละธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ยังติดข้องอยู่  นี่ ได้ใจดวงเดียวยิ่งกว่าสมบัติล้านสิ่งในโลกที่เขาว่าให้ค่าสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง หรือชื่อเสียงลาภยศ ที่เขาแสวงหากันแทบเป็นแทบตาย แล้วขวนขวายรักษากันอยู่ ...ยังมีค่าไม่เท่ากับเห็นใจดวงเดียว

ใจมีค่ายิ่งกว่านั้นเยอะ  เพราะนี่คืออริยทรัพย์ นี่คือขุมทรัพย์ของอริยะ ...ได้ทรัพย์อันนี้ ทรัพย์อันนี้จะหล่อเลี้ยงเราไปจนถึงนิพพาน  ...แก้วแหวนเงินทอง ทรัพย์สิน บริวาร ชื่อเสียง ลาภยศ ไม่สามารถจะส่งเราถึงนิพพานได้เลย  แม้จะมีความน่าภูมิใจคนเขายกย่องกันในโลกขนาดไหน ...ก็ไม่เท่ากับเห็นใจแค่หนึ่งขณะ

เพราะนั้นเมื่อเห็นใจ รู้ว่ามีใจดวงนี้แล้ว รักษาให้ได้ ... อย่าทำเหมือนไก่ได้พลอย เขี่ยๆ ทิ้งๆ ขว้างๆ เหมือนไม่เห็นคุณค่า ... แค่รู้ขณะนึง...ขณะหนึ่งนี่ เมื่อรู้ไปบ่อยๆ อันนี้แหละคืออริยทรัพย์ คือขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่

เพราะอะไร ...รู้ไปเรื่อยๆ รู้แค่นี้จึงจะเข้าไปสู่ความจบ...คือการไม่กลับมาอีก ... อันอื่น สมบัติพัสถานมากมาย แก้วแหวนเงินทอง บริวารลูกเต้าหลานเหลน ชื่อเสียงลาภยศ ...มันมีแต่ข้อง มีแต่ได้แล้วก็เสพ เสพแล้วก็หาไป แล้วก็ติด แล้วก็ข้อง แล้วก็ต้องมาหาอีก  มันจะเกิดความต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น

แต่ใจดวงเดียวเท่านั้น จึงจะจบได้ ... จึงให้เห็นว่านี่คือทรัพย์ที่แท้จริง นี่คืออริยทรัพย์ นี่คือขุมทรัพย์ของพระพุทธเจ้าที่มาเน้น ที่มาบอก ที่มาแนะ ที่มาสอน  ที่ท่านพากเพียรมาเพื่อจะบอกสอนว่า นี่คืออริยทรัพย์

อย่ามองแบบไร้ค่า...ว่ารู้แค่นี้เหรอ แค่รู้เฉยๆ นี่เหรอ ไม่เห็นมีอะไรเลยตรงนี้  ... นี่แหละสำคัญที่สุดเลย นี่คือหลัก นี่คือหลักใจเลย


โยม –  เราต้องทำแบบให้มันชิน   

พระอาจารย์ –  ใช่  เพราะพวกเราชินกับการปล่อยให้มันหายไป เราชินกับการที่มันหายไปกับความคิด หายไปกับคนนั้น หายไปกับลูก หายไปกับผัว หายไปกับเรื่องราว ที่มันมาวอแวๆ รอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา ...มันหายไป  

โยม –  ต้องมารู้ 

พระอาจารย์ –   ก็สร้างมันขึ้นมาด้วยสติ บ่อยๆ ... แล้วจะได้ แล้วจะถึง แล้วจะถึงที่สุดของมัน นะ สะสมไปเรื่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ 

โยม –  ค่ะ จิตกับสติ...รู้อย่างเดียว     

พระอาจารย์ –   เอาแล้ว ...ของขวัญนี่ใช้ได้ข้ามชาติ บอกให้เลย ... เงินทองใช้ยังหมด เห็นใจดวงเดียวแล้วไม่มีคำว่าหมด เพราะว่าตายไปแล้วมันก็ยังไปต่อในชาติหน้าได้ นะ ...ไม่หายไปไหน



................................


วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/7 (2)




พระอาจารย์

3/7 (531217)

17 ธันวาคม 2553

(ช่วง 2)



(ต่อจากแทร็ก 3/7 ช่วง 1


โยม –  ที่เราเกิดมานี่หลงมา

พระอาจารย์ –  หลง ...เพราะโง่ไปหมายมั่นในอาการว่าเป็นจริงเป็นจัง เพราะหมายมั่นว่าความสุขนี้ยังเป็นจริงเป็นจัง เพราะเข้าใจว่ายังมาหาความสุข...โดยอาศัยรูปกายอันนี้มาทำให้เกิดความสุขได้ อาศัยปากอันนี้พูดคุยทำให้เกิดความสุขได้  อาศัยการกระทำทางกาย คำพูด วาจานี่ ทำให้เกิดความสุขได้

มันเข้าใจเอาว่าอย่างนี้  มันเลยมาหมายเอารูป มาสร้างรูป เพื่อจะหาความสุขในรูป...ที่จะไปกระทำตามอายตนะต่างๆ  ...ทั้งๆ ที่ว่าทำแล้วมันก็ดับไป ทำแล้วมันก็ดับ หมดไปแล้วก็รักษาไม่ได้ ... มันไม่เข้าใจตรงจุดนี้

มันก็เข้าใจว่า หมดไปก็หาใหม่อีกๆ หมดไปก็หาใหม่อีกได้  มันไม่รู้ว่าไอ้การหาแต่ละครั้งมันทุกข์ขนาดไหน  ...แล้วเมื่อได้มาก็เสวยความสุขนิดหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็ต้องหาใหม่อีก...มันไม่เข็ดหลาบ 

มันไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ ...มันยังเข้าใจว่าการมีชีวิตนี่มีความสุข  ยังหาความสุขจากรูปขันธ์ นามขันธ์ได้ ...มันก็หลงเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

แต่ถ้ากลับมาอยู่ที่ใจ...รู้เห็นๆๆ  แล้วจะเห็นว่าทุกอย่างทั้งปวงที่อยู่หน้าใจรู้ดวงนี้ ไม่มีสาระแก่นสารใดๆ ทั้งสิ้น  มันสมมุติเอาว่า คาดเอา คะเนเอา ...เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ เลื่อนๆ ลอยๆ  ไม่คงอยู่ ไม่เสถียร ไม่ถาวร  

เนี่ย มันจะเห็นเลยว่า มาบ้าอะไรกันนักกันหนาใจดวงนี้  แล้วมันจะบอกว่า แล้วมันจะบ้าอะไรกับอากาศธาตุ สิ่งที่ว่างเปล่า ... เพราะอะไรถึงว่าอย่างนั้น  ...เพราะได้มาก็หายๆ  

เอาง่ายๆ ตายแล้วมีอะไรกลับไป  ลูกก็อยู่นี่ เมียก็อยู่นี่ ผัวก็อยู่นี่ หลานก็อยู่นี่ สมบัติก็อยู่นี่ การงานทรัพย์สิน ...เอาไปไม่ได้เลย เห็นมั้ย


โยม –  แล้วคนที่ตายก็ไม่ได้มาบอกเราว่าไปไหน

พระอาจารย์ –  เรื่องของคนอื่นไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่น ไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งที่อยู่ในความคิด ...ความคิดก็คือความคิด พอเราไม่สนใจให้ค่าให้ความสำคัญกับความคิด  แล้วเรามาให้ความสำคัญกับที่รู้ เดี๋ยวความคิดมันก็เลือนรางหายไปเองน่ะ ไม่มีตัวไม่มีตน  

โยม –  ถ้าความคิดมันเกิดแล้วก็คอยดับ

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ดับ กลับมารู้ ...แค่รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ   

โยม –  อ๋อ ไม่ต้องดับมัน รู้ลูกเดียว

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องดับ ... อย่างเช่น มีไฟอยู่กองนึง เรานั่งดูอยู่เฉยๆ นี่ ถามว่าไฟมันดับมั้ย   

โยม –  เราไม่ต้องไปเป่าให้มันดับ มันดับเอง

พระอาจารย์ –  เออ ...และที่สำคัญอย่างนึง อย่าไปเติมฟืน   

โยม –  คือเพิ่มกิเลสเข้าไป

พระอาจารย์ –  ด้วยความที่ว่า 'เดี๋ยวต้องทำให้มันดับ'  

โยม –  อ๋อ 

พระอาจารย์ –  เนี่ย เติมฟืนแล้ว ไปยุ่งกับมันแล้ว   

โยม –  คือไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย

พระอาจารย์ –  รู้อย่างเดียว หน้าที่เราคือนั่งผิงไฟลูกเดียว  เป็นคนที่นั่งผิงไฟอยู่เฉยๆ  ไม่ใช่คนที่คอยแหย่ฟืน...มือบอน  เคยเห็นคนมือบอนมั้ย นั่งอยู่หน้ากองไฟ กลัวไฟมันจะดับ ก็คอยแหย่ฟืนใส่   


โยม –  ท่านอาจารย์ ถ้าเราปฏิบัติไม่ดีก็ลงนรกใช่มั้ย 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิดถึงมาก อย่าคิด ... นี่แค่คิดนี่หลงออกมาแล้ว หลงออกมาคิด ...ไม่ต้องคิดมาก 

พอรู้ว่าคิด ต่อไป 'ช่างหัวมัน' ...ไม่หาความจริงในความคิดหรอก ไม่มีสาระๆ บอกให้เลย  ความคิดไม่มีสาระ  คิดตามมันก็ไม่มีสาระ ไปหาความจริงในความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เขาเรียกว่าความสงสัย


โยม –  อย่างนี้เราก็ไม่ต้องอ่านหนังสือ

พระอาจารย์ –   ไม่ต้องอ่าน ...อ่านใจๆ ดูมันที่ใจ ดูแล้วก็กลับมาอยู่ที่ใจ ...สั้นมั้ย ง่ายมั้ย อยู่ตรงนี้ นี่วัด...เข้าวัด  รู้จักคำว่าการเข้าวัดมั้ย ไม่ได้เข้าวัดแบบไปไหว้หาพระนะ  แต่นี่คือเข้าวัดใจ  

โยม – เข้าวัดประจำวัน วัดใจ

พระอาจารย์ – เออ วัดใจทุกขณะจิต มีอะไรเกิดขึ้น กลับมาวัดใจ  เนี่ย เข้าวัด ให้มาวัดอยู่ที่ใจ  อะไรเกิดขึ้นก็ให้กลับมารู้ๆ ให้รู้บ่อยๆ อย่าให้หลงหายไป  ไอ้ตัวรู้น่ะ รู้อย่างเดียว     


โยม –  เวลาสวดมนต์เราก็รู้ว่าเราสวดมนต์

พระอาจารย์ –  อือ ให้เห็นปากกำลังขยับ เสียงกำลังออกมา กำลังนั่ง กำลังเมื่อย  ให้เห็นอาการแล้วก็รู้ว่ากำลังเป็นยังไง รู้กับอะไรอยู่  ให้รู้กายบ่อยๆ   

โยม –  ให้รู้กายรู้ใจ รู้ความคิด รู้ทุกอย่าง

พระอาจารย์ –  รู้ทุกสิ่งทุกอย่างแหละ ...ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปคิด ให้รู้เฉยๆ ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ 

โยม –  ปัจจุบันอย่างเดียว

พระอาจารย์ –  รู้อย่างเดียว ...แต่ไม่ต้องไปห้ามมันนะ  ห้ามก็ไม่ห้าม รู้อย่างเดียว  ไม่ใช่ไปบล็อคว่าห้ามอย่างนั้น ห้ามคิดนะ ห้ามคิดถึงอดีต ห้ามคิดถึงอนาคตนะ ... ห้ามไม่ได้ อยากคิดก็คิดไปดิ...แต่ว่ารู้   

โยม –   ห้ามวิจารณ์ด้วย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องวิจารณ์ ...มันก็จะพูดน้อยลงเอง  แต่ไม่ได้ห้ามนะ เพราะต่อไปถ้ามันอยู่ที่ใจ รู้ที่ใจแล้วนี่ มันไม่ค่อยมีคำพูดอะไรมากหรอก ไม่รู้จะพูดอะไร  มันจะรู้อย่างเดียว มันจะกลับมารู้อยู่ที่ใจอย่างเดียว

มันจะกลับมาสงบระงับอยู่ภายใน...ที่ในใจนะ ไม่ใช่สงบระงับอยู่ในความสงบนะ  สงบระงับตั้งมั่นอยู่ที่ใจ เพราะมันจะรู้ไปเรื่อยๆ ว่าออกนอกใจเมื่อไหร่...ปวดหัว มีแต่เรื่อง มีแต่ทุกข์

ทำอะไรก็รู้ให้สบายที่สุด  อย่าไปรู้ซับซ้อน  รู้ตรงๆ...นั่ง แขนกำลังขยับไหว เห็นมั้ย กำลังไหว...รู้ รู้อย่างเดียว...ให้ทัน  ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่ มันหลง หาย  ...รู้หายเมื่อไหร่แปลว่าหลง...คือไม่รู้   


โยม – สงสัยจะเอาตรงนี้ดีกว่าที่ปัจจุบันนี่ รู้ว่าว่างดีกว่า เพราะว่ามันสบายดี

พระอาจารย์ –  แล้วแต่ รู้ไป รู้อยู่ที่ว่างก็ได้  ...แต่ให้เห็นเป็นสองอย่างนะ     

โยม –  รู้ว่าว่างเนอะ

พระอาจารย์ –  ต้องให้มี...ว่างอันนึง...รู้อันนึง  อย่ามีแต่ว่างอย่างเดียว อย่าไปมีแต่ไม่มีอะไรอย่างเดียวนะ  หลงนะ มันหลงเข้าไปนะ  แล้วก็เวลาเราทำงาน เวลาเดินเหินไปไหนมาไหน ให้เห็นอาการของกายที่เคลื่อนไหว ให้รู้


โยม –  เวลาทักทายกับใครก็ช่าง ไม่ต้องไปคิดว่าเขาจะคิดยังไง ก็ช่างเขา

พระอาจารย์ –  อือ ให้รู้ให้เห็นไว้ ... ใครจะเกิด ใครจะตาย ใครจะแก่ ใครจะเจ็บ เรื่องของเขา   

โยม –  เราไม่เกี่ยว

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยว อยู่ที่ใจ ใจเราดวงเดียว รักษาให้อยู่   


โยม –  อาจารย์ว่าโยมนี่ผิดรึเปล่า ทำผิดรึเปล่า     

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิดมาก ... ไม่ผิด...แล้วก็ไม่ถูก เข้าใจมั้ย  อย่าไปบอกว่ามันผิด หรืออย่าไปบอกว่ามันถูก ...ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ 

โยม –  ไม่ดีไม่ชั่ว  

พระอาจารย์ – ไม่มี เราไม่ต้องไปว่า  ไม่ต้องไปว่า ...เพราะเขาก็ไม่ได้ว่า  


โยม –  เออ บาปก็เหมือนเกลือใช่ไหมเจ้าคะ บุญเหมือนน้ำรึเปล่า ใส่เข้าไปเยอะๆ แล้วมันจะจืดจางเอง  

พระอาจารย์ –  ในความหมายของบุญและบาปนะ  จริงๆ น่ะ มันเป็นการให้ค่า  เพราะฉะนั้นน่ะ มันเป็นความหมายมั่น  บุญก็คือความหมายมั่นหนึ่ง นะ บาปก็คือความหมายมั่นหนึ่ง ... เพราะฉะนั้น บทที่เราจะถอนออกจากบุญและบาปนี่  

โยม –   ถ้าเราจะถอนก็ถอนตรงนี้ได้ ตรงที่ว่าไม่ต้องคิด แล้วเรารู้ว่าคิด...  

พระอาจารย์ –  ใช่ กลับมาอยู่ที่รู้ ... แต่ไม่ใช่ว่าล้างนะ  พอกลับมารู้นี่ ไม่ถือว่าล้างนะ  ถือว่าลอยอยู่เหนือบุญและบาป ไม่เข้าไปอยู่ในบุญและบาป นะ ... มันลอยออกมา เห็นมั้ย  

มันคนละตัวกัน ใช่มั้ย ... มันกลายเป็นผู้รู้เฉยๆ  แล้วก็บุญและบาปก็เป็นสิ่งอยู่ข้างหน้า หน้าสิ่งที่รู้ หน้าใจ   


โยม –  เวลาเรากำลังใกล้จะตาย เราก็รู้   

พระอาจารย์ –  รู้อย่างเดียว พอแล้ว 

โยม –  รู้ว่ากำลังใกล้จะตาย 

พระอาจารย์ –  พอแล้ว จะตายอย่างมีความสุข   

โยม –  แล้วต้องดูพระพุทธรูปมั้ย   

พระอาจารย์ – ไม่ต้องดูอะไรทั้งนั้น ไม่เอา  ...เอาใจเป็นพระ อยู่ที่นี้  พระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่ใจ    

โยม –  พระพุทธรูปอยู่ในใจน้อ  

พระอาจารย์ –  คือใจ...ความหมายของพระพุทธเจ้าคือใจ เข้าใจมั้ย  การที่เป็นพระพุทธเจ้านี่ไม่ได้เป็นรูปทรงอย่างนี้นะ เราไม่ได้เคารพท่านในรูปทรงนี้นะ  ความหมายของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นรูปทรง เป็นคน เป็นชายเป็นหญิงนะ ...แต่ท่านเป็นใจพุทธะ ก็คือใจดวงนี้แหละ ...เพราะนั้นพระพุทธเจ้าก็อยู่ตรงนี้ 

พระธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ ไม่ได้เป็นอรรถเป็นภาษาอะไรนะ  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้เห็นใจดวงนี้แหละ เข้าใจมั้ย  พระสงฆ์ก็ไม่ใช่อย่างนี้ ที่มาโกนหัวห่มเหลืองห่มขาวห่มดำ ไม่ใช่ตรงตัวตนอย่างนี้นะ  ท่านเป็นก็อยู่ที่ใจของท่านนี่ ใจท่านบริสุทธิ์ ตรงนี้ ...เพราะนั้น พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ก็รวมลงที่ใจดวงนี้แหละ


โยม –   เออ อาจารย์ สังขารนี่มันแก่ 

พระอาจารย์ –  แก่นี่เราก็ว่าเองนะ   

โยม –  เราว่าเอง เรารู้ว่ามันแก่น่ะ     

พระอาจารย์ –  เออ ตัวเขาเองเขาว่าเขาแก่มั้ย  กายนี่ ก้อนนี้ มันบอกไหมว่ามันแก่  เข้าใจมั้ย  มันบอกมั้ยว่าเป็นหญิง  ไอ้เจ็บๆ เมื่อยๆ นี่มันบอกมั้ยว่ามันเป็นหญิงเป็นชาย  หรือว่ามันบอกมั้ยว่ามันดี หรือมันบอกว่ามันไม่ดี ...มันพูดมั้ย หรือมันให้ความหมายอะไรมั้ย   

โยม –  มันพูดไม่ได้  

พระอาจารย์ –  มันพูดไม่ได้เพราะมันไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ... มันเป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น นะ 

ถ้ารู้ไปตรงๆ โดยที่ไม่ไปซีเรียสกับมันน่ะ จะเห็นความเป็นจริงของกาย ที่ไม่เป็นอะไรเลย ...เหมือนก้อนดิน ก้อนหิน ดาษดื่นนี่ ...ไม่ได้ต่างกันเลย  

แข็งๆ ...รู้ว่าแข็งๆ นี่  กำลังนั่งๆ นี่  เห็นมั้ย เห็นอาการน้ำหนักทิ้งตัวลงมามั้ยนี่  ไอ้อย่างนี้หรือเป็นตัวเรา ...มันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเราน่ะ

รู้อย่างเดียว แล้วทำอะไรก็ทำ ไม่ทำก็ไม่ทำ...ก็รู้  ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ นี่  รู้อย่างเดียว แล้วมันจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ถ้าอยู่ที่รู้บ่อยๆ นี่ แล้วจะเห็นเลยว่า เราจะมีอิสระมากขึ้น เราจะมีชีวิตที่เรียบง่าย ปกติมากขึ้น  เราจะมีชีวิตที่อะไรเกิดขึ้นก็ได้ อะไรไม่เกิดก็ได้  ทุกข์ก็ได้ สุขก็ได้ ...มันก็แค่นั้นแหละ

สุดท้าย มันเห็นอะไร...มันก็แค่นั้นแหละ อะไรๆ ก็แค่นั้นแหละ ไม่เห็นมีอะไรเลย ...สุดท้ายมันก็เหมือนกันหมดน่ะ คือดับไป เดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ... อย่าไปจมปลักอยู่กับมัน เอาเป็นเอาตายกับมัน อย่าไปจริงจัง  

ขอให้เห็น-รู้อย่างเดียวนะ  อย่าเอาแต่ว่างอย่างเดียวนะ ต้องรู้อย่างเดียวนะ ...ส่วนรู้นี่จะไปจับคู่กับอะไรก็ได้ จะว่างก็ได้ จะไม่ว่างก็ได้  ...จะไม่เลือกนะ จะไม่เลือกเอาแต่เฉพาะว่างอย่างเดียวนะ 


โยม –  เอ้า ว่างอย่างเดียวก็ไม่ได้ แล้วเราทำยังไงล่ะ  

พระอาจารย์ –  ก็อะไรเกิดขึ้นก็ได้นี่ ...ไม่ใช่ว่าเจ็บ พอรู้ว่าเจ็บปั๊บก็จะมารู้ที่ว่างแทน เข้าใจมั้ย   

โยม –  อ๋อ ถ้าเราเจ็บก็ต้องรู้ว่าเจ็บ     

พระอาจารย์ –  อือ อย่าไปหนีว่ามารู้ที่ว่างดีกว่า   

โยม –   อ๋อ หนีไม่ได้  

พระอาจารย์ –  อือ (หัวเราะ)  ไม่งั้นเราก็เลือกสิ  ...ทำไมถึงเลือกล่ะ เพราะพอใจ ...ทำไมถึงพอใจว่างล่ะ  เพราะชอบ เพราะมีตัณหา ...มันมองไม่เห็นตัณหานะ มันอยากว่างอย่างเดียวน่ะ

โยม –  (หัวเราะ) อยากว่างอย่างเดียว  

พระอาจารย์ –  มันไม่อยากเจ็บน่ะ เพราะเจ็บแล้วมันทุกข์ ... เพราะนั้นถึงบอกว่าถ้ารู้นี่จับคู่กับอะไรก็ได้...โดยไม่เลือกและไม่มีเงื่อนไข 

ทุกอย่างที่ปรากฏ  ไม่ว่าจะเลว จะต่อหน้าเราจะเป็นนางงามจักรวาลหรือจะเป็นอสุรกาย เปรต สัตว์นรก ที่เราว่าเลวร้ายแล้วเราไม่ชอบที่สุด หรือว่าจะเป็นนางงามสวยสดงดงามที่สุด เราก็เลือกไม่ได้ ...เราก็ไม่ต้องคิดว่าจะเอาแต่นางงามๆ  เพราะเกิดมาในโลกนี้ โยมยังมองเห็นอะไร มันมีอะไรแตกต่างใช่มั้ย 

โยม –  ค่ะ   

พระอาจารย์ –    โยมเลือกได้มั้ยว่าจะให้มันเป็นอย่างเดียวกันหมด ...แค่มองเห็นนี่ สิ่งของรอบตัวนี่ เห็นมั้ย มันเป็นยังไงมันก็ต้องเป็นยังงั้น ...ได้มั้ย 

มาในตรงนี้โยมก็ต้องเห็นแต่ป่า เดี๋ยวพอขับรถไปเรื่อยๆ โยมก็เห็นแต่ตึก  โยมจะเลือกให้มีแต่ป่าอย่างเดียว หรือจะเลือกให้มีแต่ตึกอย่างเดียวในโลกนี้ได้มั้ย  หรือจะให้เป็นทุ่งโล่งทุ่งนาตลอด หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นในโลกนี้ ได้มั้ย ...จะเลือกได้ไหม

โยม –  เลือกไม่ได้    

พระอาจารย์ –  เลือกไม่ได้ ก็ไม่ต้องเลือกสิ ทุกอย่างตามความเป็นจริง 

โยม –  โอ้ ใช่  

พระอาจารย์ –  นี่แหละ เขาเรียกว่าถ้ามีปัญญาจริง อยู่ที่รู้จริงนี่  จะยอมรับได้ทุกสภาพ สามารถอยู่ได้กับทุกสภาพด้วยความเป็นกลาง  เป็นกลางคืออะไร  ...คือไม่เลือก ไม่แบ่ง ไม่แบ่งว่าอันนี้ดีกว่าอันนี้

แต่ถ้าเราบอกว่าจะเอาว่าง มันจะแบ่งทันทีว่า...ว่างดีกว่าไม่ว่าง ว่างดีกว่าทุกข์ ว่างดีกว่าฟุ้งซ่านวุ่นวาย ...เห็นมั้ย เราเลือกแล้ว

โยม –  เราเลือกไม่ได้ เราต้องรับกรรม   

พระอาจารย์ –  รับทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ...ปัญญาคือเห็นตามความเป็นจริง แล้วยอมรับ  

โยม –  ถ้าเรายอมรับว่าทำกรรมมา

พระอาจารย์ –  ก็ต้องยอมรับมัน...มีกายก็ต้องเจ็บ...เป็นธรรมดา  ไม่ได้ผิดเลยนะ  อย่าไปบอกว่ามันผิด อย่าไปบอกว่ามันถูก อย่าไปบอกว่าอันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนั้นดีกว่าอันนี้ ... นี่เขาเรียกว่าตัววิพากษ์วิจารณ์ 

เห็นมั้ย มันมีอีกตัวนึงคอยพากษ์  ไอ้ใจที่คอยพากษ์นี่ เป็นจิตอีกดวงนึงนะที่ออกมาจากใจรู้นะ ... ก็ต้องรู้ให้ทัน ไม่งั้นมันจะแตกแขนงออกเป็นรากย่อยรากแขนง...เยอะแยะ 

ไอ้ที่แตกแขนงออกมาเป็นว่างหรือเป็นไม่ว่าง นี่เป็นชิ้นเป็นอันใหญ่ๆ พอเห็นชัด ...แต่พอเป็นรากแขนงนี่ เริ่มไม่ชัดเจนแล้ว  แล้วมันเริ่มแซะมาเรื่อยๆ  เดี๋ยวจะไปงอกออกตรงนั้น เดี๋ยวจะไปปูดตรงนั้น ผุดออกมาตรงนี้ ...ไอ้รากแขนงนี่แหละ 

การภาวนาต่อไปมันจะต้องละเอียดลออถึงขนาดนั้นน่ะแหละ ... จนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรียกว่า ตัดบัวโดยไม่เหลือใย 

นี่ของพวกเรามันมีใย...แต่ยังมองไม่เห็นใย นะ มันยังไม่ใช่ว่าหักขาดดังเป๊าะ มันยังมีเยื่อใย ยังทิ้งเยื่อใยอยู่  ยังมีความอาลัยอาวรณ์ ยังมีความเสียดายอาการ ยังมีความที่ว่าแอบให้ค่ากับอาการ...อันนั้นดีกว่าอันนี้ เรื่องของเราดีกว่าคนนั้น อันนี้ยังเป็นเรื่องของเราอยู่ อันนี้ยังไม่ใช่เรื่องของเรา ...นี่แอบให้ค่า

ต่อไปจะต้องเท่าทันมากขึ้น ละเอียดมากขึ้นๆ เมื่อรู้อย่างเดียวบ่อยๆ ... ยอมสละความเสียดายออกไป ที่ว่าจะต้องให้เป็นอย่างนี้เท่านั้น จะต้องให้มีสภาวะนี้อย่างเดียวเท่านั้น สภาวะอื่นไม่เอา ...อย่างนี้ ไม่ได้นะ

ไม่เลือกอ่ะ ...มันหน้าด้านเกิด เราก็หน้าด้านรู้  มันด้านอยู่เราก็ด้านรู้น่ะ ...ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างมี ต่างอันต่างเป็น  อะไรๆ เกิดขึ้นก็รู้ นะ ...สุดท้ายมันก็จะผ่านไป

แล้วใจเราก็จะมั่นคงมากขึ้น ยอมรับ ทนทานต่อทุกสภาวะ รับได้ต่อทุกสภาวะ โดยไม่เข้าไปผลัก ไม่เข้าไปแบ่ง ไม่เข้าไปเลือก ไม่เข้าไปจับ ไม่เข้าไปรักษา ไม่เข้าไปหวงแหน และไม่เข้าไปแสวงหา เห็นมั้ย รู้ตรงนั้นจึงจะบริสุทธิ์มากขึ้นๆ 

ถ้ารู้แล้วยังหา รู้แล้วยังทำ รู้แล้วยังเสียดาย รู้แล้วยังไม่อยากให้มันหาย รู้แล้วอยากให้มันอยู่อย่างนั้น มันไม่บริสุทธิ์นะ มันยังมีแอบแฝงอยู่ ใช่มั้ย

จนกว่าจะรู้เฉยๆ จริงๆ  เหลือแต่ตัวมันเปล่าๆ  นั่นแหละ จึงจะเรียกว่าเข้าไปสู่ความเป็นวิมุติ ใจที่เป็นวิมุติ ไม่เหลืออะไรภายในที่แอบ ที่ยังแอบออกมาหลงรักหลงชังอยู่ เลือกนั่นเลือกนี่อยู่ ไอ้นี่รับได้ ไอ้นี่รับไม่ได้

มันต้องเป็นแบบว่าแผ่นหนาตราช้าง เข้าใจมั้ย  เหมือนแผ่นดินน่ะ คือ ยังไง...อะไร...ได้หมด นั่นแหละ แล้วมันก็เท่าเดิมหมดแหละ อยู่ที่ใจตั้งมั่นอยู่ดวงเดียว ไม่ได้หวั่นไหว ไม่ได้ส่ายแส่


โยม – บางทีเราไปคิดถึงคนอื่นก็มี เราก็อยากไปเถียงแทน   

พระอาจารย์ –  สัตว์โลก...เป็นไปตามกรรม  เพราะนั้น กัมมุนา วัตตติโลโก...สัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม  ... เราไปแก้กรรมให้เขาไม่ได้ เราไปแก้ความเห็นเขาไม่ได้ เราไปให้ปัญญาเขา บอกว่าอันนี้ดีนะ อันนี้ถูกนะ ให้เชื่อเรานะ ...มันแก้ไม่ได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


สติมีแล้ว ฝึกมาดีแล้ว แต่ยังไม่แยบคายด้วยปัญญา นะ  เพราะนั้นการที่ให้ฟัง แล้วให้แยบคายด้วย  

ปัญญาคือให้เห็นเป็นสองอาการ  แล้วอย่าไปอยู่กับอาการที่ถูกรู้ ให้กลับมาอยู่อาการที่รู้ นั่นคือใจ คือกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ... เมื่อกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ตรงนั้นแหละจึงจะเรียกว่าศีลสมาธิปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ศีลในความหมายของใจรู้นี่คือความปกติ คือปกติรู้ รู้เฉยๆ  ไม่ใช่ว่าไอ้นั่นดี ไอ้นั่นไม่ดี  นี่ไปผิดปกติกับศีล ...เพราะนั้นกลับมารู้ปกติ รู้เฉยๆ จึงจะเรียกว่าศีล นี่แหละคือศีลที่ใจ

โยมดูนี่ ... ถ้าสมมุติว่าเราหยิบแก้วนี่ แล้วเราบอกว่า "แก้วนี้ของเรา เรากินแก้วของเรา...แก้วเรา" ... ถามว่าผิดศีลไหม

โยม –  ไม่ผิด มันเป็นของเราอ่ะ  

พระอาจารย์ –  นั่น เห็นมั้ย  ถ้าโยมบอกว่าไม่ผิดศีล เพราะรู้สึกว่ามันเป็นของเรานี่ แก้วนี้เป็นของเรา  ถ้าคนทั่วไปก็บอกว่าไม่ผิดศีล ...แต่สำหรับเรานี่บอกว่าเราผิดศีลแล้ว

โยม –  ผิดอะไร  

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) ลักขโมย  

โยม –  ขโมยอะไรล่ะ  

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) ขโมยแก้วนี่ไง 

โยม –  ขโมยแก้ว ...ก็แก้วของเรา เราไปขโมยใครที่ไหน

พระอาจารย์ –  มันเคยบอกมั้ยว่าเป็นของเรา   

โยม –  อ๋อ ค่ะ อือๆๆ    

พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ย   

โยม –  เข้าใจค่ะ อือ ใช่ๆ   

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น แม้แต่ว่าในศีลบัญญัตินะ ศีลห้านี่เราไม่ผิดนะ คนทั่วไปก็ว่าไม่ผิด ...แต่ในศีลใจนี่มันผิดปกติ ที่ไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นของเรา

โยม –  ไปยึดเขาว่าเป็นของเรา 

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ขโมยนะ ผิดศีลนะ  

โยม –  ค่ะ ไปยึดเขา ...ที่จริงมันไม่มีของเราสักอย่าง   

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ... เพราะนั้นถ้ารักษาใจรู้อย่างเดียวนี่ จึงจะเรียกว่าศีลนั้นบริบูรณ์  

เพราะนั้นตลอดเวลาของคนทั่วไป แม้แต่ว่าคนที่ศีลเคร่งครัดขนาดไหนก็ตาม  แต่เราก็บอกว่าผิดศีลตลอดเวลา ศีลไม่บริบูรณ์ ...ศีลในความหมายของพระพุทธเจ้าไม่บริบูรณ์

เพราะความหมายคือศีลนี่ยังมีความหมายมั่นจับจองเอาเป็นข้าวของของเรา แม้แต่ว่านั่งอยู่เฉยๆ นี่ไม่ได้ทำอะไร ก็สำคัญมั่นหมายว่ากายนี้เป็นของเรา ...นี่ขโมยนะ

เพราะอะไรจึงว่าขโมย ... เพราะกายนี่ไม่ได้เป็นของใครนะ  เขาไม่ได้เคยบอกเลยนะว่าเป็นของเรา เขาเป็นของกลางนะ ... ดินน้ำไฟลมนี่มันจะสร้างขึ้นมายังไงก็ได้ แล้วมันก็แตกดับไปตามธรรมชาติของมันเอง ใครเป็นเจ้าของบังคับเขาล่ะ 

แต่เรามาบอกว่า "ของเรา" ... นี่ ขโมยนะนี่ ผิดศีลนะนี่  ...คนทั่วไปเขาบอกไม่ผิดศีล แต่เราบอกว่าผิด ...ศีลพระอริยะท่านอยู่ตรงนี้ ท่านบริบูรณ์ที่ศีล ศีลท่านเปี่ยม บริบูรณ์ ไม่มีผิดพลาดเพี้ยนเลย คือรู้อย่างเดียว ตรงนี้จึงเรียกว่าศีลบริบูรณ์ แล้วไม่ต้องไปกังวลเลยว่าผิดศีลข้อไหน นะ 

ที่พูดนี่ไม่ได้พูดเพื่อให้ไปละเมิดศีลบัญญัตินะ แต่พูดให้เข้าใจว่าความหมายของศีลในใจจริงๆ คือความปกตินี่ ... เพราะนั้นเมื่อกลับมาอยู่ที่รู้นี่ จึงเปี่ยมด้วยศีล เปี่ยมด้วยสมาธิคือตั้งมั่นอยู่ที่ใจรู้ เปี่ยมด้วยปัญญาคือเห็นความเป็นจริงทุกอย่างที่รายล้อมรอบใจดวงนี้

ว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันควบคุมไม่อยู่  มันไปๆ มาๆ ตามเหตุและปัจจัย  สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้มาเกิดร่วม ก็เกิดสิ่งนี้  สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้ไม่มาเกิดร่วม ก็ไม่เกิดสิ่งนี้...


(ต่อ แทร็ก 3/7 ช่วง 3)