วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/7 (1)






พระอาจารย์

3/7 (531217)

17 ธันวาคม 2553

(ช่วง 1)



(หมายเหตุ : แทร็กนี้ยาวและมีการถาม-ตอบตลอด จึงแบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์   ก็ดี สงบแล้วก็ดี  แต่ว่าสงบแล้วมันต้องมีปัญญาด้วย จะต้องเจริญปัญญา ...ในลักษณะที่ว่าเรารู้ไปเรื่อยๆ นี่  ถ้ารู้ไปเรื่อยๆ น่ะ มันก็เรื่อยเปื่อย นะ

คราวนี้ว่าปัญญา ... หมายความว่าในการรู้แต่ละครั้งนี่ สติที่ระลึกรู้  เช่นว่า เรารู้กับอะไร สติไปรู้กับอะไร  รู้กับกายมั้ย กำลังนั่งมั้ย กำลังคิดมั้ย กำลังสุขมั้ย กำลังทุกข์มั้ย  กำลังปรุงไปข้างหน้าข้างหลังอะไรมั้ย นี่ ติมันไปตั้งรู้กับอะไร

เมื่อไปตั้งรู้กับอะไรแล้วนี่ ถ้าไปแค่รู้เฉยๆ หรือว่ารู้ไปเรื่อย อย่างนี้ มันจะไม่มีปัญญา ...คราวนี้ว่าปัญญามันอยู่ที่ไหน...อยู่ตอนที่ว่าให้เห็น...ให้เห็น  ในการรู้แต่ละครั้งๆ ให้เห็นลงไป...ให้เห็นลงไป 

เช่นว่า รู้ว่านั่ง ...ตอนนี้รู้มั้ยว่านั่ง รู้ว่านั่งมั้ย  นั่ง ... รู้นะ


โยม –  ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  รู้ยังไง

โยม –  รู้ว่านั่งพับเพียบ แล้วก็นั่งเงียบๆ ฟังอาจารย์อยู่

พระอาจารย์ –  ถ้าลักษณะที่รู้ว่านั่งพับเพียบ รู้ว่านั่งเงียบๆ ...ลักษณะอย่างนี้ เรียกว่ารู้แบบคิด  ยังคิดว่า “พับเพียบ” อยู่ เข้าใจมั้ย ... มันไม่ใช่รู้กายจริงๆ นะ ยังไม่เรียกว่ารู้กายนั่งจริงๆ นะ 

ถ้ารู้กายนั่งจริงๆ น่ะ รู้มั้ย...แข็งๆ

โยม –  แข็งๆ คดๆ

พระอาจารย์ –  เออ เข้าใจมั้ย  อันนี้กาย อย่างนี้เรียกว่ารู้กาย เห็นมั้ย

โยม –  อ๋อ อันนี้รู้ลึกเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ลึกหรอก ...มันมีอยู่แล้ว แต่เราไปมองข้าม ...เราไปมองในความคิด

โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไปมองรูปว่าพับเพียบ ... กายมันไม่เคยบอกว่ามันพับเพียบนะ  ...ใครว่า  อันนี้คิดเอาเองนะ

โยม –  อือ คิดเอาเองว่ามันพับเพียบ

พระอาจารย์ –  เออ กายมันบอกมั้ยว่ามันพับเพียบ


โยม –  มันปวดตรงนี้

พระอาจารย์ –  เออ รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ  เรียกว่ารู้กายตรงๆ ...แค่รู้ตรงๆ แค่นี้ เรียกว่ามีสติ  แค่มีสติระลึกรู้ ว่ารู้กับกาย แต่ยังไม่มีปัญญา

ปัญญาอยู่ตรงไหน ...ก็ให้เห็นไปว่า...แข็ง หรือเจ็บ เป็นอาการหนึ่ง...แล้วมีรู้อีกอาการหนึ่ง รู้ว่าแข็ง รู้ว่าเจ็บ เห็นมั้ย มันมีสองอาการ ใช่มั้ย  ...เจ็บหรือว่าแข็งเป็นอาการนึงใช่มั้ย แล้วรู้ว่าเจ็บหรือรู้ว่าแข็งอีกอาการนึง ใช่มั้ย ...มีสองอย่าง ใช่มั้ย

โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้เห็นลงไปอย่างนี้บ่อยๆ  อย่างนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริงของสองอาการ ...อย่างนี้เรียกว่าปัญญา นะ ให้รู้อย่างนี้

เพราะนั้นเวลาไม่มีอะไรนี่ กลับมารู้กายก่อน  กลับมารู้กาย...เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแล้ว เดี๋ยวก็เย็น  พอรู้เย็น เห็นมั้ย เปลี่ยนจากแข็งมาเป็นเย็นแล้ว  พอเปลี่ยนจากเย็น เดี๋ยวก็กลับมาเมื่อยใหม่  ก็เปลี่ยนจากเย็นมาเป็นเมื่อยอีกแล้ว  ก็รู้เมื่อย เดี๋ยวอยู่ที่เมื่อยสักพักนึง เดี๋ยวก็มีความคิดเกิดขึ้น ก็รู้ว่าคิด  เข้าใจมั้ย

ให้รู้อยู่อย่างนี้ แล้วให้เห็นว่า อาการที่ถูกรู้ อย่างเช่น แข็งๆ อ่อนๆ นี่คืออาการที่ถูกรู้  จะเป็นกายก็ได้ จะเป็นความคิดก็ได้ ...แต่มันมีอาการอีกอาการหนึ่งคืออาการรู้ อาการนี้ไม่เปลี่ยน ใช่มั้ย  อาการที่รู้ว่าเจ็บ อาการที่รู้ว่าคิด


โยม –  อันนี้เป็นจิตรึ

พระอาจารย์ –  ใจ...ถ้าภาษาเราเรียก เราเรียกตัวนี้ว่าใจนะ...ใจรู้  ใจรู้นี่ไม่เปลี่ยน

โยม –  ถ้าอย่างอาจารย์ว่านี่  จิตนี่มีหลายดวงมั้ย

พระอาจารย์ –  หลายดวง

โยม –  บางทีมันลงไปแล้ว เคยเห็นดวงจิตเราลงไปนะ

พระอาจารย์ –  ไอ้ที่ลงไปลงมานั่นน่ะคือจิต หรือเรียกว่าเจตสิก หรืออาการของจิต  เพราะนั้นไอ้ตัวใจคือไม่ไปไม่มา เท่าเดิมนะ ตัวรู้ตัวเห็นน่ะ  ที่รู้ว่าเจ็บที่รู้ว่านั่ง ที่รู้ว่าแข็ง ที่รู้ว่าเหยียด ยาว คู้ อย่างนี้   ใจ...มีดวงเดียว เข้าใจนะ ใจมีดวงเดียว  จิตน่ะมีหลายดวง จิตเกิดจากใจเข้าใจมั้ย

โยม –  จิตคือสติสัมปชัญญะรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่  จิตคืออาการหนึ่งของใจ ... อย่าไปคิดมาก อย่าคิดมาก  เอาเป็นว่าเริ่มต้นนี่ให้เห็น ให้เห็น แค่นั้นพอ 

ให้เห็นว่ามันมีอาการอย่างไร  ...มันจะไป มันจะมา  มันจะไปในอดีต มันจะไปในอนาคต มันจะไปคนนั้น ไปเรื่องลูก ไปเรื่องหลาน ไปเรื่องคนนั้นคนนี้ ...เพราะนั้นคือให้เห็นว่าอาการ...อาการที่ถูกรู้ มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มันไม่คงที่ นะ


โยม –  ถ้าสงบอย่างเดียวนี่ไม่ใช่

พระอาจารย์ –  ถ้าสงบ... เวลาโยมสงบนี่ โยมไม่เห็นใจเลย เข้าใจมั้ย ไม่เห็นคนรู้คนเห็นเลย ใช่มั้ย

โยม –  ไม่เห็นค่ะ

พระอาจารย์ –  มันมีแต่สงบอย่างเดียว

โยม –  อันนี้มันสงบอย่างเดียวแล้วมันเป็นสุขนะคะ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ

โยม –  ก็รู้สุข

พระอาจารย์ –  มันไม่รู้สุขน่ะสิ  อย่างนี้เขาเรียกว่าหลงไป

โยม –  หลงเหรอ  อ๋อ ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเมื่อใดที่ไม่มีใจที่รู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่ - เห็นอยู่  เมื่อนั้นแหละหลง

โยม –  ให้ใจมากำกับกาย

พระอาจารย์ –  ไม่ได้เรียกว่ากำกับกาย กำกับกับทุกสิ่ง ...ต้องมีอาการรู้เห็นอีกตัวนึง

โยม –  ต้องรู้ทุกขณะ

พระอาจารย์ –  ทุกอาการที่ปรากฏ ... แต่คราวนี้พอเราเริ่มนั่งสมาธิปั๊บนี่ แรกๆ เราก็รู้ๆๆ  รู้ไปรู้มา รู้หายไปแล้ว กลายเป็นสงบ  พอสงบแล้วก็กลายเป็นสุข  เห็นมั้ย รู้-เห็นหายแล้วนะ  ตัวที่รู้-เห็นว่าสงบหายแล้ว

โยม –  มันกลับไปกลับมาค่ะ 

พระอาจารย์ –  มันไม่กลับหรอก ...จริงๆ น่ะ รู้-เห็น มันไม่หายไปไหน  แต่มันมีการเข้าไปหมายมั่นในความสงบ...ว่าเป็นเราสงบ มันกลายเป็นเราสงบ เข้าใจมั้ย  เรากำลังสงบ เรากำลังมีความสุข  

คือใจมันเข้าไปเสวย ใจรู้ใจเห็น ใจดวงเดียวนี่ เข้าไปเสวยอาการด้วยความหลง หรือว่าโมหะ ไม่รู้ตัวนะ มันเลยเข้าไปว่า...ตอนนี้เรากำลังสงบ มีแต่เราสงบ ...ตรงนี้สติไม่เกิดแล้ว ไม่มีสติแล้วนะ  

โยม –  ถ้าสงบ ไม่มีสติ  

พระอาจารย์ –   ไม่ใช่ ... จริงๆ สงบแล้วมีสติก็ได้  แต่ว่าสติเราอ่อน แล้วเราไม่แยบคาย  เพราะนั้นสงบแล้วมีสติเป็นยังไง...อาการคือ...สงบปั๊บ...แล้วรู้ว่าสงบ   มีมั้ยตัวนี้...มันมีตัวที่รู้เห็นว่าสงบมั้ย  มันคนละตัวมั้ยกับสงบ หรือมันเข้าไปอยู่ในนั้น

โยม –  มันอยู่ในนั้นน่ะ   

พระอาจารย์ –  มันเข้าไปรวมอยู่ในนั้น ... นี่ ต้องเห็น...ต้องมีตัวที่เห็นว่ากำลังสงบ 

โยม –  แล้วมันมี “สุขหนอๆ” ค่ะ  

พระอาจารย์ –  ต้องสังเกตให้ดีๆ  เวลา “สุขหนอๆ” นี่ มันเข้าไปกิน ไปเสวยแล้ว ...เหมือนโยมกินอิ่มน่ะ โยมเข้าไปกินแล้วรู้สึกว่าอิ่ม อย่างนี้  นี่คือหลงเข้าไปแล้ว เข้าใจมั้ย  ถ้ากินอิ่มแล้วมีความสงบหรือว่าสุขในการกินแล้วนี่ ต่างกับการที่เรียกว่า “เห็นว่ากำลังสงบ” “เห็นว่ากำลังสุข”     

โยม –  เห็นว่ากำลังสุข   

พระอาจารย์ –  อือ ...เพราะนั้นเมื่อเห็นว่ากำลังสุข ขณะที่เห็นว่ากำลังสุขนี่...จะไม่มีอาการสุข ... คือเห็นว่าสุข...จะไม่สุข นะ  ถ้าเห็นว่าสุขเมื่อไหร่ ปุ๊บ มันจะเป็นเรื่องธรรมดาเลย ... เห็นสุขเป็นอาการหนึ่ง เป็นแค่ไม่ใช่ของเรา  

โยม –  มันวุ่นวายจังนะ หรือว่าปล่อยมันไปเลย   

พระอาจารย์ –  ปล่อยมันไปเลยก็ได้ ไม่ต้องสนใจก็ได้  ...แต่ยังไงให้อยู่ที่รู้ ให้อยู่ที่รู้อย่างเดียว 

ปล่อยอย่างอื่นได้หมดนะ แล้วเราสอนให้ปล่อยให้หมดด้วย  แต่ไม่ให้ปล่อยอยู่ตัวนึง คือไม่ให้ปล่อย “รู้” ...ต้องมีรู้อยู่ตลอดนะ เหมือนกับรู้ว่านั่ง รู้ว่าแข็งๆ อย่างนี้  ...ต้องรู้อยู่นะ เห็นมั้ย เมื่อกี้ก็หายหมดแล้ว รู้หายหมดแล้ว มันหายไปไหนไม่รู้แล้ว ใจหายไปไหนไม่รู้แล้วนะ

เนี่ย หน้าที่ของสติเพื่อกลับมาระลึก เพื่อให้ปรากฏดวงจิตผู้รู้ขึ้นมา แล้วทำยังไงถึงจะให้ดวงจิตผู้รู้นี่อยู่ตลอดเวลา 


โยม –  แล้วอย่างสมมุติเวลาเราจะตายนี่ ก็ต้องรู้ว่าเรากำลังจะตายใช่มั้ย 

พระอาจารย์ –  ให้มีรู้อยู่   

โยม –  ให้มีรู้อยู่ตอนจะตาย 

พระอาจารย์ –  ใช่ ...ไม่ต้องสนใจอะไร  มันจะมีความรู้สึก จะเจ็บปวด จะเวทนา ช่างหัวมัน ...มีรู้อยู่ตรงนั้น ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้นั่นแหละ   

โยม –  แล้วต้องคิดถึงพระพุทธองค์มั้ย  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปสร้างความคิดอะไรทั้งสิ้น  ถ้ามันอยากคิดเองก็คิด มันไม่คิดก็ไม่คิด ...เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา  

โยม –  ถ้าระลึกถึงบุญกุศล  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องระลึกอะไรทั้งสิ้น ...ระลึกอยู่ที่รู้   

โยม –  อันนี้นิพพานเลยใช่มั้ย   

พระอาจารย์ –  ไม่รู้แหละ  อยู่ที่รู้ให้ได้...ต้องฝึก  เพราะนั้นจะไปฝึกเอาตอนก่อนตาย ไม่ทันหรอก ต้องฝึกรู้ตรงนี้ เดี๋ยวนี้  อย่าไปคิด ... เนี่ย คิดไปถึงเรื่องข้างหน้าแล้ว ยังไม่ทันจะตาย อย่างนี้ มันไหลไปแล้ว   

โยม –  แต่ตัวของเรานี่เจริญมาทางด้านสติตลอด ว่าตายๆ สักวันเราต้องตาย  

พระอาจารย์ –  เออ ก็ดี มันก็เป็นเครื่องสอนจิตดี ...แต่ว่าให้มีปัญญาด้วยว่า กำลังรู้ว่าทำอะไรอยู่  มีการรู้อยู่ ...ให้เห็นตัวรู้เยอะๆ ให้เห็นใจ อยู่ที่ใจ ... อย่าไปอยู่ที่ความตาย อย่าไปอยู่ที่ความคิดว่าตาย  อย่าไปอยู่ที่ว่าจะตายอย่างไร อย่างนี้มันหลงออกไปข้างหน้าแล้ว เข้าใจมั้ย ...ให้อยู่กับปัจจุบันรู้อยู่

โยม –  ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันเรื่อยๆ มันจะตายก็ตาย  

พระอาจารย์ –  เออ มันจะไม่มีปัญหากับว่าอะไรจะเกิดขึ้นเลย เข้าใจมั้ย  เพราะว่าตัวรู้ตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ใจดวงเดียว   

โยม –  ถ้ามันจะถอดจิตก็ถอดจิตตอนที่ว่ารู้แล้ว กำลังป่วย กำลังจะตายอยู่แล้ว ใช่มั้ย   

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ แล้วจะไปที่ดีเอง   

โยม –  มันจะไปที่ดีหรือ   

พระอาจารย์ –   อือ จิตจะพาไปเอง ใจ ดวงใจผู้รู้นี่แหละ...ตรงนี้ถือว่าเป็นมหากุศล เป็นบุญยิ่งกว่าเราไปถวายทาน

โยม –  อย่างนี้ไม่ได้เกิดหรือ  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปกังวลเลย จะเกิด-ไม่เกิด แล้วแต่มัน...ตามเหตุปัจจัย  ขอให้ตั้งมั่นอยู่ที่ดวงนี้  

โยม –  กลัวมันจะทำไม่สำเร็จ   

พระอาจารย์ –  อย่าไปกลัวๆ ...แค่คิดไปข้างหน้ามันก็กลัวแล้ว มันหลงออกไปข้างหน้า เข้าใจมั้ย  ก็พอคิดว่ากลัว แล้วก็กลับมาว่ารู้ว่ากลัว เห็นมั้ย มีรู้อยู่มั้ย  พอรู้ว่ากลัว รู้ก็ปรากฏอีกแล้ว  แล้วก็อยู่ที่รู้ไม่ได้อยู่ที่กลัว  อย่าไปอยู่ที่กลัว อยู่ที่รู้ว่ากลัว ...มันคนละที่กัน ใช่ป่าว

เหมือนกับเราปวดนี่ นั่งแล้วรู้สึกตึงๆ ที่เอวใช่มั้ย  อย่างนี้ ถ้าเราไปอยู่ที่เอว มันก็ปวด มันก็ไม่พอใจ  แต่ถ้าเราอยู่ที่รู้ว่าปวด แล้วเราอยู่ที่รู้   


โยม –  มันเป็นเปลือก ถ้ารู้...ใจเราไม่เจ็บ กายมันเจ็บ   

พระอาจารย์ –  เออ ก็เป็นเรื่องของมัน 

โยม –  มันสอง...สองที่   

พระอาจารย์ –  สองที่...สองอาการ เขาเรียกว่าสองอาการ ...ให้เห็นเป็นสองอาการอยู่เสมอ เข้าใจมั้ย  

โยม –  อ๋อ จิตมันอยู่ที่นึง กายมันอยู่ที่นึง  

พระอาจารย์ –  คนละส่วนกัน 

โยม –  แล้วจิตนี่มันสะอาดมาก  

พระอาจารย์ – ใช่ ใจ ไอ้ตัวที่รู้เห็นอยู่นี่ ดูสิ มันมีอะไรในนั้นมั้ย ...รู้เฉยๆ น่ะ มันมีอะไรมั้ย    

โยม   รู้...มันไม่มีอะไรเลย    

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ สะอาดมั้ยล่ะ ... แต่ไอ้ตัวที่...จิตที่รู้ว่าโกรธ รู้ว่าไม่พอใจ นั่นไม่สะอาดใช่มั้ย

โยม –  นั้นมันเป็นโมหะ  

พระอาจารย์ –  เออ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ  เป็นจิตล้านดวง อะไรก็ได้ มันจะเป็นอะไรก็ได้   

โยม –  มันไม่หลุดน่ะ   

พระอาจารย์ –  นั่น ถ้าจะหลุด ก็บอกให้รู้มัน ...พอสติระลึกปุ๊บ มันจะเห็นเป็นสองอาการทันที  


โยม –  อาจารย์ ...จิตนี้นะมันไม่เพศ ผู้หญิงก็ไม่ใช่ ผู้ชายก็ไม่เชิง

พระอาจารย์ –   เออ ...แล้วมีหน้าตาเหมือนเรามั้ย  

โยม –  ไม่มีเลย  โอ้ ..(หัวเราะ)

พระอาจารย์ –   มีตัวตนมั้ย  

โยม –  ไม่มีตัวตน

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ ... ใจจริงๆ น่ะ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใจเรา  มันเป็นอาการ    

โยม –  ไม่รู้จะเกิดมาทำไมเนอะ

พระอาจารย์ –  เกิดมาด้วยความหลง ...แต่ก่อนมันหลงว่าเข้าใจว่าจะได้ความสุขในการเกิด ยังมีอะไรที่จะต้องได้ ที่มันยังหาไม่ได้ แล้วมันอยากได้    

โยม –  พอมันเกิดแล้วเราคอยจะดับมันน่ะ ดับยากนะ ให้มันเกิดไม่ได้

พระอาจารย์ –  เวลาดับก็คือ ไม่ตามมันออกไป   

โยม –  ไม่ตามมันออกไป 

พระอาจารย์ –  ไม่ตามจิตออกไป    

โยม –  ก็อยู่กับตัว

พระอาจารย์ –  ให้อยู่กับรู้  

โยม –  ไม่ใช่อยู่กับกายนะคะ อยู่กับรู้

พระอาจารย์ –  กายก็ไม่อยู่ ความคิดก็ไม่อยู่ ...ไม่ต้องอยู่กับอารมณ์ โกรธ หงุดหงิด รำคาญ ... พอรู้ปุ๊บว่าโกรธ ไม่ต้องอยู่ที่โกรธนะ ...อยู่ที่รู้ว่าโกรธ      

โยม –  มันทำยากนะอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็ต้องทำ...ยากขนาดไหนก็ต้องทำ   

โยม –  ถ้าจิตอยู่ที่รู้นี่ สงสัยจะทำยาก

พระอาจารย์ –  ไม่ยาก ทำเรื่อยๆ แล้วมันจะชัดเจนขึ้นมาเองน่ะ     

โยม –   ก็เรารู้ว่าจิตไปที่ไหน ก็แค่นี้ก็ใช่แล้ว

พระอาจารย์ – พอแล้ว แล้วก็ไม่ตามจิตออกไป เช่น ไปคิดต่อ    

โยม –  ถ้ามันเกิดปั๊บ เราก็ดับปั๊บ

พระอาจารย์ –   ไม่ต้องดับ ...ให้รู้เฉยๆ มันดับของมันเอง  

โยม –  อ๋อ ให้มันดับของมันเองเหรอ

พระอาจารย์ –  เออ ...โยมเคยเห็นก้อนน้ำแข็งไหม ให้โยมนั่งดูก้อนน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งมันเป็นยังไง  

โยม –  มันก็ละลายไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  มันละลายของมันเองรึเปล่า ... แต่ว่าขณะที่โยมไม่เข้าใจ จะรู้สึกมันไม่ละลายได้ดั่งใจน่ะ โยมก็ต้องหาทางทำให้มันดับ ทำให้มันละลายใช่มั้ย   

โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  ถามว่าไปทำให้มันละลาย กับไม่ต้องทำ มันก็ละลายเองใช่มั้ย  

โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ให้มันละลายเองอย่างนั้นน่ะ เหมือนก้อนน้ำแข็ง  อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวายกับมัน นั่นน่ะจะทำให้เกิดความหลงผิด เข้าใจว่าเราทำได้

นี่ มันจะถอนกลับมาที่ใจเรื่อยๆ ปัญญามันจะไล่กลับเข้ามาที่ใจ ไม่ใช่ออกไปหาอะไร  


โยม –  งั้นเราจะทำยังไงดีล่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำยังไง รู้อย่างเดียว ... เนี่ย ตอนนี้ก็รู้ได้นี่ ก็รู้ว่า แข็งๆ ขยับ กำลังคิด    

โยม –  ตอนนี้รู้ว่ากำลังคิด...กำลังคิดที่จะถามยังไง

พระอาจารย์ –   ก็รู้ แล้วก็อยู่ตรงนั้น ...เห็นมั้ย เดี๋ยวสักพักนึงน่ะ ความคิดดับแล้ว ไม่อยากถามแล้ว...ถ้าอยู่ที่รู้นะ ไม่ออกไปคิดต่อ  

ถ้าออกมาหาทางจะคิดต่อนี่ ก็เรียกว่าออกมาอยู่ที่อาการ หลงมากับอาการคิดแล้ว  เพราะมันมีความอยากผลักดันออกมา ...เห็นความอยากมั้ย  

โยม –  เห็นความอยากมั้ย ไม่เห็นหรอก 

พระอาจารย์ –   รู้ ...กลับมารู้ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ บ่อยๆ  แล้วมันจะเห็นใจดวงนี้เด่นชัดขึ้นมาเอง นะ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ดึงกลับมา  จริงๆ ไม่ได้เรียกว่าดึงน่ะ คือระลึกรู้อยู่ตรงนี้บ่อยๆ   


โยม –  ว่างก็ไม่ได้หรือ เพราะจิตมันรู้ว่าว่าง

พระอาจารย์ –   ว่างก็รู้ว่าว่าง  ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร  

โยม –  อย่างนี้ไม่ยากเลย เพราะว่าว่างบ่อย

พระอาจารย์ –  เออ แต่อย่าไปอยู่ที่ว่างนะ ให้อยู่ที่รู้ว่าว่างนะ ...อย่าไปอยู่ที่มีแต่ว่าง สบายเลย ว่างเลย    

โยม –  อันนี้ว่างบ่อยเลย 

พระอาจารย์ –   ถ้าว่างบ่อยแสดงว่าหลงบ่อย  มันหลงเข้าไปในว่าง เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้ารู้ว่าว่าง แล้วพยายามอยู่ที่รู้ว่าว่าง แล้วมันจะไม่ว่าง (หัวเราะ)...เพราะมันจะมีรู้  

แต่ถ้าไม่อยู่ที่รู้ มันจะมีแต่ว่าง นั่น แปลว่ามันเข้าไปเสวยความว่าง ...เพราะความว่างคืออาการหนึ่งของใจ เข้าใจมั้ย

โยม –  โอ...ซับซ้อน

พระอาจารย์ –  ว่าง...นี่คืออาการของใจ คือเป็นเจตสิกหนึ่ง เป็นอารมณ์ของใจ ...แต่รู้ว่าว่าง ตรงนั้นเรียกว่าใจ  

เพราะนั้นต้องกลับมาที่ใจ ...มันไม่ซับซ้อนหรอก  แล้วก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสาระอะไรเลย ...สาระจริงๆ คือรู้ รู้เฉยๆ รู้เปล่าๆ นั่นแหละ รู้บ่ดาย 

โยม –  อือมม ... ขอให้ ฮู้บ่ดาย ก็พอ

พระอาจารย์ –   เออ รู้บ่ดาย ไม่มีอะไร  นอกนั้นน่ะ เห็นมั้ย เป็นเหมือนอะไรบางๆ ล้อมรอบครอบคลุมอยู่แค่นั้นเอง อย่าไปใส่ใจให้สาระมัน  

โยม –  อีกหน่อยจะตาย...ก็ตายไปเลย นรกสวรรค์ก็ไม่มี 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องกังวล ...มีแต่รู้ มีแต่ใจดวงเดียวเท่านั้นน่ะ ทั้งโลกธาตุ ...กลับมาที่ใจ แก้ได้หมด ละที่ใจได้ ละได้หมดทั้งโลก    

โยม –  ถ้าเวลาเราจะตาย ก็อยู่ที่รู้

พระอาจารย์ –  อยู่ที่ตรงนั้นแหละเป็นที่พึ่ง เอาใจเป็นที่พึ่ง ไม่เอามรณานุสติ   

โยม –  ใจก็คือพุทโธรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ พุทโธเป็นภาษาคำพูด ...ใจที่รู้เฉยๆ นั่นคือความหมายของคำว่าพุทโธ   

โยม –  อ๋อออ

พระอาจารย์ –  พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  มันตรงกันมั้ยความหมาย...กับตัวที่เราเห็นแค่ผู้รู้นี่ นั่นล่ะคือพุทโธที่แท้จริง ไม่ใช่ พอ-อุ-ทอ- พุท  ธอ-โอ-โธ ไอ้นั่นภาษา ...ถ้าจะเข้าถึงพุทโธจริงๆ ต้องเข้าถึงใจ...ใจพุทโธ 

เอาที่ใจดวงเดียว ...ไม่ต้องมาวัดก็ได้ ไม่ต้องมาหาเราก็ได้ อยู่ที่ใจ รู้อย่างเดียว ไม่มีปัญหา ...เพราะมีปัญหาอะไรก็รู้ สงสัยอะไรก็รู้ ไม่สงสัยก็รู้  อยากก็รู้ ไม่อยากก็รู้  นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ หนาวก็รู้  ร้อน-รู้ สุข-รู้ ทุกข์-รู้ 

อยู่ที่รู้ลูกเดียว  ไม่ไปอยู่ที่อาการ ... สุข ทุกข์ หนาว ร้อน เย็น แข็ง ฯลฯ  เห็นมั้ย อาการนี่ล้านแปดอาการ  มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้มันอยู่คงที่ก็ไม่ได้  เลือกไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ ...จะไปอยู่ทำไมกับมัน  


(ต่อแทร็ก 3/7 ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น