วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/12


พระอาจารย์
3/12 (540101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2554


พระอาจารย์ –  เอ้าโยมมาใหม่นี่ เป็นยังไง ฟังเข้าใจมั้ย

โยม –  เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติ...เราแนะนำอย่างเดียว คือการเจริญสติ นะ ...รู้ง่ายๆ อะไรก็ได้ รู้อะไรก็ได้ ในปัจจุบันของกายกับใจ  ขยับก็รู้ แข็งๆ หนาวๆ เย็นๆ ก็รู้ลงไป  ให้รู้...แล้วก็สังเกตว่าไอ้ที่รู้ตรงนี้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน 

เดี๋ยวก็มีความคิดเกิดขึ้น ก็รู้อีก ขณะที่รู้ว่าคิด ให้รู้ไปเลยว่า ไอ้อาการเมื่อกี้ที่รู้อยู่นี่มันดับไปแล้ว เช่นว่า ขยับ แล้วก็ฟัง อย่างนี้ ขยับแล้วก็ได้ยิน ...ตอนแรกก็รู้ขยับ ตอนนี้มีการได้ยินแล้ว เห็นมั้ย มันสลับกัน 

แล้วก็รู้มันไปเรื่อยๆ สังเกตดูอาการที่มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในสิ่งที่ถูกรู้นี่ ...ไม่ว่าอาการไหนหรืออารมณ์ไหน หรือว่าผัสสะไหน มันไม่คงที่ มันไม่มีทางว่าไอ้เครื่องรู้นี่จะอยู่ได้ตลอดเวลา 

เช่นว่า เดี๋ยวก็ตาเห็น เดี๋ยวก็หูได้ยิน เดี๋ยวก็คิด เห็นมั้ย มันสลับกันใช่มั้ย...สลับที่ตั้งของเครื่องรู้น่ะ เดี๋ยวก็มีอารมณ์ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย ...เห็นมั้ย มันสลับที่ที่รู้อยู่ตลอด

เพราะนั้นที่รู้อยู่น่ะ...มันมีอยู่ห้าที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ-ไปรับรู้ ...แล้วก็อีกหกอายตนะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็ง แล้วก็มโนวิญญาณ ความรู้สึกทางใจ ...มีเครื่องรู้อยู่แค่นี้เอง เครื่องที่จิตออกไปรับรู้

แล้วให้เห็นว่าการที่มันสลับไป จรไปจรมา ไปรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง  มันไม่ได้เกิดพร้อมกัน มันจะไม่เกิดพร้อมกัน ...ให้สังเกตไปทีละนิดทีละหน่อย รู้ไปเรื่อยๆ

แล้วให้สังเกตว่า...ไอ้การเกิดขึ้นของรูปทางตา ไอ้การเกิดขึ้นของเสียงทางหู มันไม่ได้เกิดพร้อมกัน  แล้วไอ้การเกิดขึ้นของความคิด การเกิดขึ้นของเวทนา ไม่ได้พร้อมกัน  การรับรู้ทางกายกับการรับรู้ทางความคิดไม่ได้พร้อมกัน 

มันจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  อย่าไปมองเผินๆ ว่ามันเกิดพร้อมกัน ...เนี่ย เมื่อมองเห็นว่ามันเกิดไม่พร้อมกัน มันสลับไปสลับมาระหว่างขันธ์ทั้ง ๕ กอง คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กับอายตนะอีก ๖ อย่าง 

ให้เห็นว่า ขันธ์มันเป็นลักษณะของการดับอันหนึ่งแล้วไปเกิดอันหนึ่ง ดับอันหนึ่งแล้วก็ไปเกิดอีกอันหนึ่ง แล้วก็ดับอันนั้น แล้วก็อาจจะเกิดเหมือนเดิมอีกอันหนึ่ง อยู่อย่างเนี้ย

มันจะเห็นว่า ขันธ์นี่ ไม่ได้รวมตัวกันเหมือนกับของที่เราหล่อพระพุทธรูปที่เป็นแท่งเดียวกัน มันจะเป็นแค่การเกิด สลับกันไป สลับกันมา ...โดยรวมมันเป็นอย่างนี้

มันก็จะเห็นความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์นี้ไม่มี เริ่มไม่เห็นขันธ์นี่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชายตรงไหน...ไม่มี

มันเริ่มหาความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์นี้ไม่มี เมื่อหาความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์ไม่มี ก็คือหมายความว่ามันหา “ความเป็นเรา” ไม่มีเหมือนกัน ...เพราะ “เรา” ก็ไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริง

แม้แต่ความรู้สึกว่าเป็นเรานี่ ...เมื่อรู้ปุ๊บ มันก็รู้ว่านี่เป็นแค่ความคิดหนึ่งเท่านั้นเองว่าเป็น “เรา”  พอรู้ปุ๊บว่าเป็นเรา เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวก็เห็นมันเปลี่ยนไปรู้ที่อื่นปุ๊บ ไอ้ความรู้สึกว่าเป็นเราตรงนั้นก็ดับ 

แล้วก็อาจจะเป็นเกิดความรู้ว่า “เราเห็น” ตรงนั้นอีก ก็ไปเกิดที่ “เราเห็น” ตรงนั้นอีก ...ก็รู้ว่านี่เป็นความเห็นไปประกอบกับรูปที่เห็นว่าเป็น “เราเห็น” อีก ...มันเกิดคนละที่กัน

เพราะนั้นถ้าเห็นเฉยๆ ปุ๊บ มันก็เป็นอาการหนึ่ง ว่าแค่เห็นเฉยๆ กับ ปุ๊บ เห็นแล้ว...อ๋อ เราเห็น นี่ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันกับการเห็น ...นี่ ให้เห็นว่ามันคนละอาการกัน

เพราะนั้นไปๆ มาๆ  จะเห็นเลยว่า “เรา” นี่ บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ดับ บางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี ...มันก็จะเห็นว่า ความเป็นเราที่แท้จริงก็คือสภาวะหนึ่งหรือความเห็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้นเอง 

ความเป็นจริงก็ไม่มีอะไร ...มันเป็นความหมายมั่นที่ผิดพลาด...ออกมาจากความไม่รู้

ก็ให้รู้ไปเรื่อยๆ อย่างเนี้ย การปฏิบัติ   สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ไม่เป็นไร   สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ...เพราะไอ้ตรงที่รู้ว่าสงบ กับไอ้ตรงที่รู้ว่าไม่สงบ ตรงนั้นแหละคือความสงบที่แท้จริง

เพราะมันไม่มีอะไรตรงนั้น ตรงที่รู้น่ะ...ไม่มีความฟุ้งซ่านตรงนั้น ไม่มีความสงบหรือไม่สงบในตรงนั้น ...แต่ตัวมันเป็นเอกภาพ คือความเป็นหนึ่ง ในตัวของมันเอง คือความรู้นั่นแหละ 

ตัวรู้นั่นแหละ คือความสงบที่แท้จริง ...ตรงนั้นพระพุทธเจ้าถึงเรียกว่า นี่แหละเรียกว่าสงบ สันติ สงบและสันติ เป็นกลาง คือตัวผู้รู้ สงบ สันติ เป็นกลาง...อยู่ที่รู้

เพราะนั้นตัวของมันเองนี่ ไม่ต้องไปวิ่งหาความสงบ นั่งภาวนาหรือทำอะไรก็ตามที่เราพยายามวิ่งไปหา ...ความสงบนี่มันเป็นแค่อาการหรืออารมณ์ที่มาประกอบกับใจแค่นั้นเอง 

แต่ตัวที่รู้ว่ากำลังวิ่งหา ...ตัวนั้นต่างหากคือความสงบสันติ คือตัวรู้ ผู้รู้ ผู้ที่รู้อยู่

ตัววิ่งไม่สงบ ตัวความสงบก็ไม่เที่ยง ตัวความไม่สงบก็ไม่เที่ยง ความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง ...เหมือนเราวิ่งไล่จับเงาน่ะ ได้มาก็แค่นั้น พั้บ เดี๋ยวก็หาย  เบื่อ เกลียด ฟุ้งซ่าน ปุ๊บ ถามมันดิ ...ตอนนี้ฟุ้งซ่านยังอยู่มั้ย 

มันก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย จะไปเดือดร้อนอะไรกับมัน ...สุดท้ายมันวิ่งหาอะไรล่ะ วิ่งหาสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน

แต่สันดานมันอดไม่ได้ที่จะหา ...ก็ต้องรู้ มีทางแก้ทางเดียวคือรู้...ว่าอยากหา  พอรู้ว่าอยาก กำลังหา ปุ๊บ มันก็ไม่หา มันก็กลับมาอยู่ที่รู้ ใช่ป่าว  หาอีก รู้อีก อยากอีก...รู้อีกๆ เอาดิ

เหมือนหนังสะติ๊กน่ะ ยืดหนังสะติ๊ก ปึ้บ ยืดอยู่อย่างนี้ มันจะไปอยู่เรื่อย รู้ปุ๊บมันก็ยืด ...เอาจนขาดน่ะ ขาดแล้วก็...เออ เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู ปุ๊บ มันก็อยู่ที่นี่ ตั้งมั่นอยู่ที่คนคอยรู้อยู่ตรงนี้

เพราะนั้นแรกๆ นี่ ถ้าเรากำลังสมาธิตั้งมั่นอ่อน สติอ่อน มันก็ยืดแบบ...พอยืดปุ๊บ “ไม่ไหวแล้วค่ะ" มันก็จะยืดไม่ค่อยไหว ก็ปล่อยปึ้บ...ไปเลย ไปกับมัน 

เพราะนั้นตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ นี่ คือต้องตั้งมั่น...ตั้งมั่นอยู่ที่รู้อยู่บ่อยๆ  มันก็จะมีแรงเหมือนกับมันดึงให้เราเข้าไปอยู่ เหมือนกับยืดหนังสะติ๊ก ...เอาดิ ใครจะแน่กว่ากัน ยืดบ่อยๆ ยืดบ่อยๆ

อึดอัดนะ ขณะนั้นอึดอัดนะ ...อดทน ต้องอดทนนะ เพราะมีกระแสของตัณหาอุปาทานนี่มันจะเอาว่า “กูต้องเอาๆ” อยู่อย่างนั้นน่ะ  ...ก็ยืดเข้าไป คือรู้อยู่อย่างนี้...ยืด มันต้องหน่วง มันเหนี่ยว เห็นมั้ย 

"ทุกข์ไม่ต้องบ่น อดทนเอา" อยู่อย่างนี้ นี่หลวงปู่ท่านว่า ต้องอดทนอย่างนี้

เอาดิ พอถึงที่ปุ๊บนี่ หนังสะติ๊กนี่ยืดเข้าไปเหอะ ขาด เดี๋ยวก็ขาด   ขาดแล้วสบาย ไม่ยืดแล้ว ...แต่ไม่ใช่มันขาดแล้วขาดเป็นสมุจเฉท...  มันก็มียางเส้นใหม่ที่หนากว่า มาให้กูยืดอีก เข้าใจป่าว (หัวเราะ) 

ยังไม่จบๆ ...นี่คือนักปฏิบัติเบื้องต้น  แล้วมันมีอีกกี่เส้น ดีไม่ดีนะ ขณะเดียวกันมันมีตั้งหลายเส้น มันก็ "กูยืดไม่ไหวเลยแหละ กูยอมแพ้แล้วๆ" (หัวเราะ) เข้าใจป่าว 

ต้องอดทน ...นั่นน่ะคือความตั้งมั่น จะตั้งมั่นด้วยแรงกำลัง ...ไอ้นักปฏิบัติชอบหากันอยู่เรื่อยว่า "กำลัง" อยู่ตรงไหน จะเอากำลังตรงไหน  ...คือกำลังตั้งมั่นอยู่ที่รู้นี่ รู้บ่อยๆ แล้วมันตั้งมั่นอยู่ที่รู้เอง

ตรงนี้คือจะยืดหยุ่นกับมัน เพราะมันจะเป็นกระแสดึงดูด ...จริงๆ มันไม่ได้ดึงเราหรอก เราน่ะดึงมัน 

ใจนั่นแหละ อยาก...อยากด้วยความไม่รู้ อยากไปคลอเคลีย อยากไปกอด อยากไปได้ อยากไปมี หรือไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้มี แต่มันไม่ยอมไป อย่างเนี้ย สองอย่าง

ต้องอดกลั้น อดทน เบื้องต้น ไม่มีทางเลือก ไม่มีตัวเลือก ... รู้ตรงๆ ... เล่นจริง...เจ็บจริง ไม่มีแสตนด์อิน (หัวเราะกัน) 

ต้องเจอจริงๆ มันถึงจะจำ ...ใจมันถึงจะรู้จริงเห็นจริง แล้วมันจึงจะจำ ... เอาอะไรมาหลอก เอาอะไรมาสอนมันไม่เชื่อหรอก


โยม –  เล่นเอง เจ็บเอง

พระอาจารย์ –  ใช่ ต้องเจอ ...ไม่งั้นมันไม่เข็ด มันไม่หลาบ มันไม่หน่าย มันไม่เกิดนิพพิทา ...มันจะต้องเบื่อ เพราะเจออย่างนี้ ซ้ำซากๆ จน... “กูไม่เอาแล้วๆ” ทิ้งเลย มันจะทิ้งเลย

นั่นแหละ มันถึงจะขาด...เป็นเปลาะๆๆ เป็นเลาะ เหมือนเลาะเอ็นออกจากเนื้อ เลาะไปเรื่อยๆ เลาะไปเรื่อยๆ ความยึดยืดหยุ่นของมันนั่นแหละคือเอ็น ติดเนื้อหนังให้เป็นแผ่นเดียวกันอยู่ตลอด...ด้วยกระแสของอุปาทาน

ขยันเลาะหน่อย เลาะเอ็นเลาะพังพืดออกไป มันแรงยึดโยงนั่นแหละ คือกระแสความหน่วงของอุปาทาน ...เหมือนกับกระแสดึงดูดของโลก โยนของขึ้นไปนี่ ยังไงก็ตก ตราบใดที่ยังอยู่ในชั้นบรรยากาศ นี่คือเหมือนกระแส

เอาจนว่า ทะลุออกนอกอวกาศน่ะ ...ไปโยนของในอวกาศดิ ยังไงก็ไม่ตก  นั่นแหละ จิตที่หลุดพ้นแล้ว จากอำนาจการดึงของกระแสของตัณหาอุปาทาน เหมือนของที่ลอยในอวกาศ ไม่มีทางที่จะลงมาตกลงมาสู่ที่ต่ำเลย ...นั่นแหละ มันไม่มีแรงดึงดูด

เอามันจนหลุดพ้นน่ะ ...คำว่าหลุดพ้น ได้ยินกันบ่อย  มันหลุดพ้นยังไง ...ก็หลุดพ้นอย่างนี้ หลุดพ้นจากแรงดึงดูด หมดกระแสแรงดึงดูดของอำนาจตัณหาอุปาทาน

หมดเมื่อไหร่ก็เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ สบาย อิสระ ไร้กังวล ไม่ผูกพัน ไม่มีอะไรมาข้องมาแวะ มาเกี่ยว มาดึง มาหน่วง มาทำให้ไปทำให้มาได้ 

มันก็เป็นอิสระ เป็นเอกภาพในเอกภพ เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อยู่ในนั้นแหละ ...นั่นแหละใจที่แท้จริง ที่เราหากัน

แต่ตอนแรก หาตอนนี้ก็เจอแต่ผู้รู้ ...อย่าหนี ยังไงก็เจอ เผชิญหน้ากันกับมัน อยู่อย่างนั้น  ดูไปดูมามันก็ยังเป็นผู้รู้ มันก็ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่...ผู้รู้  ต่อไปต่อมาก็เหลือแต่รู้...ที่เป็นแค่รู้ ต่อไปก็เหลือแค่...มันเป็นอะไรก็ไม่รู้

แต่ตอนนี้ดูทีไรก็รู้ก็เห็น อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ  นั่นแหละ มันได้ที่สุดแค่นี้ก่อน  นั่นน่ะคือความเป็นจริง  พระพุทธเจ้าบอกให้รู้ความเป็นจริง เห็นความเป็นจริง ...ไม่เฟค ไม่เมค ไม่มีวุ้บขึ้นมาใหม่

ชอบหลอกตัวเอง นักปฏิบัติ โกหกตัวเอง ...อย่าโกหกตัวเอง โกรธคือโกรธ โง่คือโง่ เจ็บคือเจ็บ ติดคือติด ติดมากก็รู้ติดมาก ติดน้อยก็รู้ว่าติดน้อย  อย่ามาอ้างข้ออ้างแก้ตัว

เพราะนั้นการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้แล้ว อุชุปฏิปันโน...ตรง สุปฏิปันโน...ดี ตรง...จึงจะชอบ จึงจะเป็นทักขิเนยโย อัญชลีกรณีโย ...ควรแก่การอัญชุลีได้

ต้องตรง...ทุกข์คือทุกข์ ติดคือติด มีอารมณ์คือมีอารมณ์ ...อย่ามาบิดๆ เบี้ยวๆ อย่ามาเมค เฟค โกหก 

อย่าว่าแต่โกหกคนอื่นเลย บางทีตัวเองมันยังโกหกเลย ... "เฮ้ย ไม่น่าใช่หรอก ไม่ใช่หรอก มันเป็นอย่างอื่น ไม่ช้าย...ไม่ใช่" ... ก็มันเห็นอยู่ทนโท่ มันยัง “ฮื้อ มันไม่น่าจะอย่างนั้นมั้ง”

ตรงเข้าไปเหอะ อย่าอาย อย่ากลัวกิเลส อย่ากลัวสิ่งที่มันปรากฏ ...เพราะมันไม่ได้ดีหรือไม่ใช่ไม่ดี แต่คือความจริง  อยากเกิดปัญญาคือต้องเห็นตามความเป็นจริง ...ไม่ต้องกลัว 

แล้วมันก็ค่อยๆ เข้าใจของมันไปในทุกกระบวนการ

เอ้า ฟังเยอะแล้ว พอแล้ว เข้าใจอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องทำๆ ...สติ อย่าขาด ตั้งใจขึ้นมา ทำงานก็ทำได้ ดูได้ อย่ามาอ้าง ...กายมีอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจยังมี ทำไมยังไม่หยุดล่ะ

เอาแล้ว ไม่ต้องรับพร ...ทุกคนมีพรอยู่ในตัว หาให้เจอ ... ใจนั่นแหละเป็นพรอันประเสริฐ หาใจเจอเมื่อไหร่ก็จบ มีทางจบ มีทางออก ... แต่หาใจไม่เจอ ไม่มีทางจบ ไม่มีทางออก  

ถ้าเจอใจแล้ว ไปได้หมด ...แล้วก็เลือกเอา จะไปในภพไหนภูมิไหน หรือไม่มีภพไม่มีภูมิ ไปได้ทั้งนั้นน่ะ  ใจเป็นตัวกำหนด ...พรมีทุกคน หาให้เจอ

โยม – สาธุ

…………………



วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/11 (2)


พระอาจารย์
3/11 (540101B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2554
(ช่วง 2)

(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 3/11 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าในยุคนี้สมัยนี้ การเจริญสติ...มันเหมาะกับคนในยุคนี้ 

เหมาะยังไง ...สมัยนี้ผัสสะ ความประณีตของผัสสะ การรับรู้ทางผัสสะของพวกเรา ...เราถูกปลูกฝังถ่ายทอดรับรู้กับผัสสะที่มากระทบของเรานี่ ตั้งแต่เกิดมาจนอายุหลายสิบปีนี่  มันเป็นผัสสะที่ละเอียดประณีต 

ความสุขก็เป็นความสุขที่ละเอียดประณีต ...เพราะนั้นความติดข้องในผัสสะทั้งหลายทั้งปวงนี่...มากมายมหาศาล  แม้แต่ไม่ได้ตั้งใจติดมันก็ติด ...แล้วเมื่อติดแล้วนี่ มันไม่หายไปไหนหรอก มันเป็นสัญญา

เพราะนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ที่เมื่อเวลามากำหนดดวงจิตนี่ เอาเหอะ มีแต่ของที่อร่อยๆ มีแต่ที่ที่สนุกสนาน มีแต่คนนั้นคนนี้  เราเคยไป เคยมา เคยไปดูหนังฟังเพลง เคยไป เฮ้ๆๆ ตามคอนเสิร์ทหรืออะไรก็ตามอย่างนี้ ...มันไม่ลบออกไปจากสัญญาได้ง่ายๆ หรอก

เพราะนั้นจิตจะไม่รวมเป็นหนึ่งได้โดยสมถะโดยตรง  รวมได้ก็ประเดี๋ยวประด๋าว นิดๆ หน่อยๆ ไม่เพียงพอกับการที่จะไปแยกกายยกรูปเป็นนิมิตอสุภะขึ้นมาได้เลย...ยาก มันเลยกลายเป็นของยากขึ้นมา 

เราไม่ได้ว่าคัดค้านเขา แต่เราพูดตามตรง เราพูดจริงๆ ...เราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าเขาไม่ดีกว่า วิธีนั้นดี วิธีนี้ถูกวิ ธีนี้ผิด ...แต่ให้ใช้ปัญญาเลียบเคียงดู

จะไปเทียบกับพระยังไง ...ขนาดพระทุกวันนี้ยังไม่นิ่งเลย บอกให้  เพราะพระสมัยนี้มันก็เด็ก เหมือนอย่างโยมๆ มาบวชนี่แหละ ...มันก็ไม่ทิ้งในสัญญานี่หรอก นะ

เอา ลองว่า ร้อยปีก่อนน่ะ คนอายุสักเจ็ดสิบปีแปดสิบปีขึ้นไป สมัยก่อน หลวงปู่มั่น สายกรรมฐานทั้งหลาย ส่วนมากท่านเป็นลูกชาวนานะ ทางภาคอีสาน...ยุคแปดสิบ-ร้อยปีก่อนน่ะ เอาว่าร้อยปีขึ้นไป ท่านเกิดมา มีอะไรกินมั่ง

เคยได้กินพิซซ่าฮัทมั้ย เคยได้กินเคนตั๊กกี้มั้ย เคยได้กินขนมเอร็ดอร่อยที่เราเคยกินมานับไม่ถ้วนนี่ ...แต่ท่านเคยได้กินมั้ย เคยได้ผ่านรสชาติเช่นนั้นมั้ย มีแต่ข้าวเหนียวจิ้มปลาแดก กะปอมก่า แมงทั้งหลาย อย่างดีก็เนื้อปลา หมูนี่อย่าพูด วันดีคืนดีก็ได้กินไก่สักทีหนึ่ง...

ฟังเพลงได้ไหม มีแต่ โอ้ๆๆ ละเน้อ ความบันเทิงก็ไปแค่งานวัด แค่นั้น ...แล้วรูปนี่ เห็นอะไรสวยงามมั้ย จะเดินไปหากันที เดินกันเป็นวันข้ามป่าทั้งนั้น

เพราะนั้นจิตของท่าน ผัสสะที่ท่านรับรู้รับทราบของท่าน ความปรุงแต่งภายนอกของท่าน ...มาเทียบกับยุคไฮเทคนี่ ต่างกันเยอะนะ  สัญญาอารมณ์ในเรื่องที่เพริศแพร้วบรรเจิด 

ในเรื่องผัสสะนี่ ท่านค่อนข้างจะธรรมชาติมาก ดิบๆ ทื่อๆ ตรงๆ ไม่เพริศแพร้วพิสดาร ไม่วิจิตรพิสดาร น่าลุ่มหลงมัวเมา ...เพราะนั้นหลักธรรมของท่าน กำหนดพุทโธๆๆ ลูกเดียว จิตเวลารวมนี่ เข้าถึงลงถึงอัปปนาได้โดยไม่ยากเลย 

แล้วสามารถรักษาใจ ทรงใจในภาวะต่อเนื่องได้ไม่ขาดสาย  อาจจะยากบ้าง ก็ไม่ยากเหมือนสมัยนี้ บอกให้นะ ...มันต่างกันโดยภาวะกาลเวลา เหตุปัจจัยสภาวะแวดล้อม

เพราะนั้นธรรมในขณะนั้น ความเหมาะสม พอดี...พอดีกับเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตรงเลยแหละ เช๊ะ เลยแหละ เข้าสู่มรรคผลนิพพานโดยตรงเลย

ล่วงเลยมาๆๆ ร้อยปีแล้วนี่ ...เอาเหอะ พวกเรา ...ให้นั่งสมาธิข้ามคืน เอาไหวไหม ... นั่งแค่ห้านาที ขัดสมาธิเพชรนี่ ก็ “ตายแน่ๆๆ” ครึ่งชั่วโมงนี่ หูย ซี๊ดแล้ว 

นั่งฟังเทศน์หลวงปู่กันนี่ นั่งฟังรอ...ยถา “เมื่อไหร่จะยถา มายัง ยถายังๆ” (หัวเราะกัน) อยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่อย่างนั้นแหละ รออยู่อย่างนั้น

เพราะนั้นน่ะ กำลังจิตกำลังใจต่างกันมากนะกับท่าน  เพราะว่าความฟุ้งซ่านรำคาญ ความจดจำในอารมณ์ มันต่างกัน การควบคุมภาวะบริกรรมนิมิตบริกรรมคาถา หรือกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่งเป็นที่ตั้งนี่ ค่อนข้างจะไม่มั่นคงแนบแน่น

มันก็เลยมีลักษณะของการเจริญสติขึ้นมา เพื่อให้ใช้กับชีวิตประจำวัน ...ไม่ใช่เป็นทางเลี่ยง ไม่ใช่เป็นทางออก ไม่ใช่มักง่ายอย่างที่คนเขาว่ากัน ...แต่พิจารณาโดยธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ มีไว้ บอกไว้ ...โดยหลักของมหาสติปัฏฐาน 

รู้กาย รู้อิริยาบถกาย รู้อิริยาบถย่อยของกาย ก็มี ...รู้จิตก็มี จิตหนัก จิตเบา จิตกว้าง จิบแคบ จิตสบาย จิตไม่สบาย ก็รู้ ก็ให้รู้จิต  อารมณ์ก็มี กิเลสโทสะเกิดก็รู้ว่ามีโทสะ ไม่มีโทสะก็รู้ว่าไม่มีโทสะ มีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ ฯลฯ

ท่านสอนแค่นี้ ให้เจริญสติ แค่นี้ ...มีก็มี ไม่มีก็รู้ว่าไม่มี  ท่านไม่ได้ว่าให้ทำอย่างอื่น ...เวทนาสุข-ทุกข์ รู้ไป เฉยๆ รู้ไป  สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ นี่ เวทนา ...เพราะนั้นมันไม่ได้ออกนอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย 

เจริญไปเถอะ สติ ให้มากเท่าที่จะมากได้ เต็มกำลังของเรา ...ถ้ามีเวลาว่าง บางทีอารมณ์ดีๆ ใจดีๆ นั่งสมาธิเข้าไป แต่นั่งด้วยการระลึกรู้ รู้ตัว ...ไม่ได้นั่งเอาสงบ ไม่ได้นั่งเอากระดูก เอาซากศพ แต่นั่งเอารู้ 

นั่งเอารู้ๆ ... เอาความรู้ตัว ให้รู้อยู่ ให้มีรู้อยู่ ...นั่ง ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ นั่งหลับตา หรือไม่หลับตายังได้เลย ...นั่ง กูจะนั่งเฉยๆ กูไม่เอาอะไร กูจะรู้อย่างเดียวๆ ไม่เอาอะไร รู้เฉยๆ 

นี่ รู้อย่างเดียว มันจะอะไรเกิดขึ้น กูไม่เอา กูจะรู้ ...มึงจะเอาอะไรมาล่อกู กูไม่เอา กูรู้อย่างเดียว กูจะรู้ว่ากูนั่ง รู้ถึงตัวนั่ง เอาดิ ลืมตาก็ได้ หลับตาก็ได้ นั่งรู้มันอย่างเดียวนี่ 

พุทโธกูก็ไม่เอา ลมกูก็ไม่เอา อะไรกูก็ไม่เอา ให้คิดก็ไม่เอา ...อะไรเกิดขึ้นกูจะรู้อย่างเดียว อะไรมากูรู้ รู้อย่างเดียว ...ลองดู ไม่สงบให้มันรู้ไป บอกให้เลย

ดีกว่ามานั่งเอาเป็นเอาตายกับพุทโธๆๆ 'ลูกผัวกูอยู่ไหน บ้านกูเป็นไง' ...นี่ ไปไหนยังไม่รู้เลย  พุทโธๆ อยู่แต่จิตไปอยู่ที่บ้านแล้วอย่างนี้  พอจะรู้ออกมา อ้าว ไปไหนแล้วก็ไม่รู้

กลับมาให้รู้ เป้าหมายก็คือกลับมาให้รู้...ให้เห็นตัวรู้ ให้เห็นตัวจิตผู้รู้อยู่ ...เมื่อเห็นดวงจิตผู้รู้อยู่ มันก็จะเห็นอีกสิ่งหนึ่งคือดวงจิตที่รู้ไป  แล้วก็ไม่ตามไอ้ที่รู้ไป แต่ให้อยู่ที่รู้อยู่ ...มันมีสองตัว รู้ไปกับรู้อยู่

ไอ้ที่รู้ไปนี่ ทางคิดนี่รู้ไป จำนี่รู้ไป อดีตก็รู้ไป อนาคตก็รู้ไป เสียงก็รู้ออกไป ตาก็รู้ออกไป 

แต่มันจะมีอีกตัวหนึ่งคือรู้อยู่ คือดวงจิตผู้รู้อยู่ ...ให้กลับมาอยู่ตรงนั้นแหละ อะไรก็รู้อยู่ๆๆ รู้อยู่ตรงนั้นแหละ ...อย่ารู้ไป อย่ารู้มา ไม่ไปไม่มา มีแต่รู้อยู่

มันจะมามันจะไปช่างหัวมัน รู้อยู่ว่ามันมา รู้อยู่ว่ามันไป  แต่ไม่ไปกับมัน ไม่มากับมัน ...รู้อยู่อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็ได้เรื่อง ...เดี๋ยวก็ได้ใจ เดี๋ยวก็ได้อยู่ที่ใจ เดี๋ยวก็เห็นใจ เดี๋ยวก็ตั้งมั่นลงที่ใจขึ้นมา

เพราะนั้นถ้าอยู่ที่ใจ ตั้งมั่นที่ใจ รู้ใจขึ้นมาแล้วนี่ ได้ใจเห็นใจขึ้นมานี่ ...เหมือนได้แก้วสารพัดนึก เป็นสมบัติอันล้ำค่า เป็นสมบัติยิ่งกว่าขุมทรัพย์มหาทรัพย์สมบัติในโลก กองรวมกันเท่าโลกก็ยังไม่มีค่าเท่ากับใจดวงนี้

เมื่อรู้ใจเห็นใจ ปรากฏสภาวะใจรู้ รู้ขึ้นมาแล้ว ...อย่าทำตัวเหมือนไก่ได้พลอย ต้องหวนแหน รักษา ทะนุบำรุง ทะนุถนอม ..อย่าให้ตก อย่าให้ขาด อย่าให้บกพร่อง อย่าให้หายไป 

มันเป็นทรัพย์สมบัติที่หาไม่ได้ในคนทั่วไป สี่พันกว่าล้านที่เกิดอยู่ในโลกนี้ มีใครจะเห็นใจตัวเองมั่ง ...เจอแล้วยังทิ้งอีกเหรอ 

นี่ ต้องเห็นความสำคัญ ...ทะนุถนอม บำรุงด้วยสติ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่เสมอๆ  เพื่อที่จะให้อยู่ที่ใจ เห็นใจได้ตลอดเวลา ...นั่นแหละคืออริยทรัพย์  สะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ด้วยการรู้ที่ใจอยู่ที่ใจ

จนมันเป็นอัตโนมัตินั่นแหละ มีอะไรปุ๊บมันรู้ใจก่อนเลย อย่างอื่นไม่สน ...บ้านหาย ของหายในบ้าน ไฟจะไหม้บ้าน พอรู้ปุ๊บ มันไม่สนใจของอะไรจะหายวะ มันสนใจ...ใจ รู้เลย 

อย่างพวกเราถ้าบอกว่าคนขโมยของ ปุ๊บ "ไหนของอะไรหายๆ" ... นี่ เขาเรียกว่ารู้ออกไป ...แต่พอฝึกๆ ไป "ของหายโว้ย ที่บ้านโดนขโมยของ" ปุ๊บ ...ใจเราเป็นยังไง กลับมารู้ ... เออ มันต่างกันนะให้สังเกตดู 

แต่ถ้ารู้แล้ว "เฮ้ยๆ โอ๋ย มันเอาอะไรของเราไปบ้างวะ" ... นี่แปลว่าสติอ่อน ไม่เห็นคุณค่าของใจ มันเห็นคุณค่าของสิ่งของมากกว่าใจ นี่ มันเห็นว่า...เอาอะไรกูไปมั่งรึเปล่า นี่เห็นไหม...ไปติดข้าวของก่อน

แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ สติรู้อยู่ๆ ปึ้บ ...พอเขามาบอกข่าวปุ๊บ  ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจแต่มันกลับมาดู...เฮ้ย ใจเราเป็นไงวะ ดีใจมั้ย เสียใจมั้ย กังวลมั้ย...รู้ๆๆ ...นี่คืออานิสงส์ของการเจริญสติระลึกรู้อยู่

นี่แค่ของหาย ...ต่อไปนะ “คุณเป็นมะเร็ง...ตายแน่” ... ปุ๊บนี่มาดู ...ออกไปตีโพยตีพาย ออกไป "โหย เราจะรักษายังไงดี จะไปสั่งเสียยังไง จะไปอย่างนั้นอย่างนี้" ... นี่ หลง หลงออกแล้ว 

แต่ถ้ามีสติปึ๊บ ...ปุ๊บ กลับมารู้อยู่ที่ใจ ด้วยความสงบระงับเป็นกลาง ...นี่คือผลของการเจริญสติ 

อาจจะไม่ได้เห็นกระดูกกระเดี้ยว อาจจะไม่ได้เห็นอสุภะอสุภัง อาจจะไม่ได้เห็นมรรคผลนิพพานในภาษาของเขา หรือว่าความสงบระงับดับดิ้นดิ่งหายลงไปในอเวจีอะไร

แต่มันกลับมารู้อยู่ในปัจจุบันของใจ แค่เนี้ย พอแล้ว ...สงบระงับได้แล้ว ไม่เดือดร้อน ไม่ส่ายแส่ ไม่กระวนกระวาย ...เอามาใช้กับชีวิตประจำวัน อยู่กับชีวิตประจำวัน อยู่แนบติดกับทุกขณะของลมหายใจเข้าออก

ใครจะว่าไม่ได้ผล ใครจะว่าไม่ใช่ ...รู้เอาเองเหอะ ทำเองรู้เอง ทำเอาเองรู้เอาเอง...ว่าเนี่ย ที่พระพุทธเจ้าต้องการสอน ต้องการให้เข้าใจ ต้องการให้ศาสนิกชน ต้องการให้สัตว์โลกทั้งหลายเข้าใจ ...คือจุดนี้

คือสามารถจะบริหารกายบริหารจิตในชีวิตประจำวันนี้...อย่างไรที่ไม่เป็นทุกข์กับมัน แค่นั้นเอง คือเป้าหมายของพุทธะ ...คือให้ยอมรับในอริยสัจ ในทั้งทุกขสัจ ในทั้งสมุทัยสัจ ในทั้งมรรคสัจและนิโรธสัจ ว่ามันเป็นอย่างนั้น

แล้วก็กลับมารู้อยู่ที่นั่นแหละ ที่ใจ แค่นั้นเอง ยอมรับความเป็นจริงได้ ...ใครจะว่าร้าย ใครจะว่าดี ใครจะว่าไม่ดี ใครจะว่าไม่ใช่ ให้พิสูจน์เอาเอง...ไปพิสูจน์กันเอาเอง 

ขอให้ตั้งใจจริงๆ รู้แค่อย่างเดียว รู้ตัวเดียวนี่รอด ไปรอด รอดได้ ...เอาตัวรอดได้ รอดได้จากสามภพ รอดได้จากบ่วงมาร ...บ่วงมารนี่คล้องไม่ติดหรอก 

อยู่ที่รู้อย่างเดียว...แล้วไม่ต้องไปเอาสภาวะอื่นมาครอบครองมาถือครองหรอก ไม่ต้องเอาความรู้ความเห็นอื่นมาถือมาครองหรอก ...เอาแค่รู้ตัวเดียวนี่จึงจะไปรอด รอดออกจากรูของบ่วงมาร คล้องไม่ติด ...ขอให้มันรู้เข้าไปจริงๆ

ไอ้รู้นอกออกไปนี่ บรรเทามันซะบ้าง ยั้งๆ มันซะบ้าง น้อยลงซะบ้าง คลายลงซะบ้าง ...เห็นมั้ยว่าสมุทัยพระพุทธเจ้าท่านให้ทำยังไง...จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย 

เริ่มตั้งแต่ต้องจาโค...สละ หัดสละออกไปซะบ้าง ความคิด ความคำนึงถึง ความอยากได้ อยากมีอยากเป็น หัดเสียสละความรู้สึกนี้ออกไป ...เริ่มต้นจากจาโค อย่าเสียดาย อย่าหวงแหน อย่าอาลัย 

ปล่อยออกไป ปล่อย หัดปล่อยๆๆ ...อย่าตามมัน อย่าไปเอาอะไรในความคิด อย่าไปเอาอะไรกับเรื่องราว อย่าไปเอาอะไรกับผลประโยชน์ที่ยังได้ หรือไม่ได้ หรือจะได้ ...หัดสละ ละ คลายในความคิดซะ

ให้มารู้อยู่ตรงนี้ เท่าที่ตรงนี้ ที่มันมีมันเป็นตรงนี้ ...มันจะไม่มีอะไร สมบัติอะไรเหลืออยู่หรอก มีแค่ตัว กายกับใจดวงเดียว แค่นี้แหละ ...ให้รู้จักสันโดษในกายและใจขณะปัจจุบัน 

ละออก วางออกไป อย่าให้มันจูงออกไป หาทรัพย์สมบัติในอดีตอนาคต ...แล้วมันก็จะค่อยๆ คลี่คลาย เบา สบาย เป็นอิสระ 

แม้แต่การอยากได้ธรรม รู้แล้วก็สละออกไป ธรรมก็ไม่เอา มรรคผลก็ไม่เอา นิพพานก็ไม่เอา มันเป็นเรื่องของความอยากทั้งนั้นแหละ ...สละออกไป เอาอย่างเดียวคือเอารู้  

อย่างอื่นทิ้งได้หมด...ยกเว้นรู้ ห้ามทิ้ง อย่าเพิ่งทิ้ง อย่าเพิ่งฆ่าตัวรู้ ...รู้ก่อน หาตัวรู้ยังไม่เจอเลย จะหาทางฆ่ามันแล้ว  อย่าเพิ่งฆ่า รู้ก่อน รู้เยอะๆ รู้เข้าไป ...เอาจนไม่รู้ว่ามันจะรู้อะไรนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่า กูสมควรฆ่าได้แล้ว 

ตอนนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ หรือรู้ไม่ทัน เพราะนั้นต้องรู้เยอะๆ รู้ให้ทัน ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ ...ความโกรธ อารมณ์นอนเนื่อง ความรู้สึกบางความรู้สึก สภาวะบางสภาวะเรายังไม่รู้เลย ยังไม่เห็นเลย

รู้เข้าไป แล้วมันจะรู้จนไม่มีที่ให้รู้แหละ ...นั่นแหละมันรู้จนจบพิภพจบโลกธาตุ นั่นแหละมันจึงจะพอ มันถึงจะเข้าใจ มันจึงจะแจ้ง 

ไม่ใช่แค่รู้ ปุ๊บ วันนึงนี่ “วันนี้รู้ตั้งเยอะแฮะ สิบครั้งแน่ะ...ตั้งสิบครั้งแน่ะ” ...โอ้โหย เก่งจริงจริ๊ง (เน้นเสียง) มึงเก่งจริงๆ

รู้เอาจนไม่มีที่ว่างที่เว้นนั่นแหละ จนมันแจ้งหมดน่ะ ไม่มีอะไรที่มันไม่รู้ ...นั่นแหละอวิชชามันจะอยู่ได้ตรงไหน ...แสงสว่างเกิดตรงไหน ความมืดมันจะอยู่ได้อย่างไร  มันอยู่คู่กันไม่ได้สว่างกับมืด นะ 

สว่างคือรู้ มืดคือไม่รู้ ไม่แจ้ง ...เพราะนั้นเมื่อแจ้งขึ้นมานี่ มืดหายเอง  มันไม่มีที่ไหนที่จะมาปิดบังได้เลย มันรู้หมด เห็นหมดแหละ รู้หมดเห็นหมด

แล้วก็รู้เห็นอะไร ...สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็นนั้น ไม่มีอะไร...ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย น่าจะไปข้อง น่าจะไปติด ... มีแต่เกิด-ดับ เกิดแล้วก็ดับๆๆ  ตั้งอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว เหมือนฟ้าแลบฟ้าร้อง พั่บๆๆๆ แค่นั้นแหละ 

แน่ะ มันรู้เห็นเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นความเป็นจริง ...รู้เข้าไปๆ ปัญญามันก็เกิดในรู้นั่นแล้ว  น้อมลงมา เห็นแล้ว สิ่งที่รู้นั่น เดี๋ยวก็ดับๆๆ ...มีอะไรมั่งไม่ดับ

มีคนไปถามหลวงปู่ชอบ ...หลวงปู่ชอบท่านเทศน์ ท่านไม่ค่อยพูด ท่านเทศน์น้อย ไม่พูดเลย  คนบอกให้หลวงปู่ท่านเทศน์หน่อย หลวงปู่ก็เทศน์...ฟัง มาใกล้ๆ ฟังนะ “เกิด...ดับ” จบ (หัวเราะ)

นี่ ธรรมของหลวงปู่ชอบ พูดมาแค่นี้ “เกิด...ดับ” แค่นี้ ไปพิจารณาเอา ...จบได้ด้วยคำว่าเกิด-ดับนั่นแหละ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนี้หรอก ในสามโลกธาตุ ในไตรภพจบแดนนี่ มันก็มีแค่เกิดกับดับ

อย่าไปวอแว อย่าไปสงสัย อย่าไปลังเล ว่ามันคืออะไร มันดีไหม มันใช่ไหม มันถูกไหม มันจริงไหมหรือว่าไม่จริง ... พระพุทธเจ้าบอก จริง...สัจจะอย่างเดียวคือมันเป็นไตรลักษณ์เหมือนกันหมด ไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัย สุดท้ายก็คือดับ ไม่เที่ยงแล้วก็ดับ

จะไปสงสัยอะไรกับมัน จะไปหาถูกหาผิดอะไรกับมัน ...ถูกก็ดับ ผิดก็ดับ ใช่ก็ดับ ไม่ใช่ก็ดับ มีก็ดับ ไม่มีก็ดับ ว่างก็ดับ เอาดิ มันมีอะไรเหนือกว่านี้ล่ะ...ไม่มี

อย่าว่าแต่พระอริยะเลย ...พระพุทธเจ้าท่านบอกมาตั้งสองพันกว่าปี ท่านส่องมาทั่วโลกธาตุอนันตาจักรวาล ...ไม่มีอะไรเกิดแล้วตั้งอยู่ได้ตลอดเลย 

ท่านเห็นแล้ว ท่านเข้าใจแล้ว ท่านถึงมาบอก ด้วยการว่า...นี่คือสัจจะ  ถึงว่าประกาศสัจธรรม จริงนะ ท่านพูดแบบสัจจะนะ ท่านถึงเรียกว่าอริยสัจ

เพราะนั้นสิ่งที่บอกทั้งหมดนี่ ไม่ใช่ถูกหรือว่าผิด ...แต่จริง เป็นสัจจะ เถียงไม่ได้ ...มีแต่ไอ้บ้าเท่านั้นแหละที่เถียง ที่มันว่าแน่ ที่มันคิดว่าถูก นั่นน่ะบ้า มาเถียงเรื่องความจริงได้อย่างไร ว่าไอ้นั่นถูก ไอ้นี้ยังผิดอยู่

ไอ้ตัวคนพูดน่ะมันไม่ตายรึไง ตัวมันเองยังไม่เห็นความดับเลย ยังมาว่ากูถูกๆ ความคิดนี้ถูก วิธีนี้ถูก ...อยู่แค่นั้นน่ะ ไม่ไปไหนหรอก มันก็ไปเกิดไอ้ตรงที่ถูกนั่นแหละ 

ตายไปแล้วมันก็ไปเกิดกับไปทำให้มันถูกอยู่นั่นแหละ มันไม่ไปไหนหรอก ...เพราะไม่เข้าใจว่ามันยังมีสัจจะ คือความเป็นสัจจะ คือไม่มีอะไรพ้นจากกฎของไตรลักษณ์

ถ้ามองให้จบให้สั้นนะ มันจบได้แค่นี้เอง ...ไม่ใช่ว่าไปทำ ถูกจนจบ ผิดจนจบ ไม่ใช่ ...จบมันตรงนั้นแหละ ไม่มีอะไรหรอก แค่นั้นแหละ มันก็แค่นั้นแหละ

พระพุทธเจ้าถึงบอก "ตถตา"...มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้น ไม่มีดีกว่านี้แล้ว ไม่มีแย่กว่านี้แล้ว เพราะนั้นทุกสิ่งที่มันปรากฏในปัจจุบันนี่...ตถตา มันเป็นเช่นนี้เอง มันต้องเป็นอย่างนี้ ... สุดท้ายก็ที่สุดของทุกข์คือความดับไป

แต่พวกเราไม่เคยเข้าไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ...แค่ทุกข์มันออกมาแค่เนี้ย ไม่ไหวแล้ว ทนไม่ได้ ทำยังไงถึงจะออกจากมัน มีวิธีการไหน ...จะแก้ จะหนีอยู่ตลอด

ก็ลอง...ตายเป็นตาย อยู่กับมัน รู้กับมัน ดูดิ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ...พอถึงทุกสุดแห่งทุกข์คืออะไร ก็จะเห็น...คือความดับไปของมันเอง

แต่นี่ยังไม่ทันถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย หาทาง...โอ้โห หาตัวช่วย accessories บานเบอะเลย  คนนั้นคนนี้ วิธีการนั้นวิธีการนี้ เพื่อจะให้มัน clear rid ,cut lost ออกให้หมด ...ใจเร็ว ใจร้อน ใจด่วน มันเลยไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็เลยไม่เห็นที่สุดแห่งทุกข์ 

มันจะต้องเห็นที่สุดแห่งทุกข์ในทุกเคส...ด้วยความอดทน ตั้งมั่น สมาธิตั้งมั่น มันจึงจะเกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริง...ว่าอ๋อ แค่นี้เองเหรอ อ๋อ สุดท้ายก็ดับ อ๋อ สุดท้ายก็ไม่มี แค่นั้นแหละ

เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมมันไม่สบายหรอก มันไม่สบายเพราะมันต่อต้านกับอำนาจกิเลส อำนาจของตัณหา อำนาจของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ... มันต้องต่อต้านด้วยการที่รู้อยู่เฉยๆ อะไรก็รู้ๆ

พอปฏิบัติเริ่มต้นทุกคนยังบอกเลย แค่รู้เฉยๆ อะไรก็รู้ๆ ตั้งใจรู้อยู่น่ะ พอรู้ไปเรื่อยๆ... “เอ้ มันน่าจะมีอะไรเร็วกว่านี้ ดีกว่านี้นะ ต้องมีวิธีการนั้นมั้ย ต้องพิจารณาสักหน่อยมั้ย เอ ต้องให้เห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก่อนมั้ย” 

เอาแล้วๆ เซลส์แมนเริ่มออกทำงานอีกแล้ว


(ต่อแทร็ก 3/12)