วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/11 (1)


พระอาจารย์
3/11 (540101B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2554
(ช่วง 1)



(หมายเหตุ : แบ่งโพสต์บทความเป็น 2 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  ขึ้นไปข้างบนได้ฟังเทศน์หลวงปู่ไหม  ฟังดูเข้าใจมั้ย

โยม –  เข้าใจครับ

พระอาจารย์ –  ไม่รู้เขาเปิดเรื่องดวงจิตผู้รู้ให้ฟังมั้ย

โยม   ยังไม่ได้ฟังครับ

พระอาจารย์ –  ส่วนมากพระไม่ค่อยเปิดดวงจิตผู้รู้กัน จะเปิดแต่เรื่องอธิกัง มรณานุสสติ อะไรประมาณนั้น  ญาติโยมบางทีก็เบื่อ ไม่เข้าใจ มองไม่เห็นมันเป็นธรรมตรงไหน ...ปฏิบัติก็ยาก

กว่าจะยอมรับว่า...กูต้องตายๆๆ  กูไม่ยอมสักที (โยมหัวเราะกัน) ...ตายทุกลมหายใจก็ไม่ยอม

แต่จริงๆ ยังมีอีกหลากหลายที่หลวงปู่ท่านเทศน์เรื่องของดวงจิตผู้รู้ นะ ...เวลาเพิ่นพูดถึงดวงจิตผู้รู้นี่ รับรอง เวลาฟังนี่จิตจะตื่นขึ้นมา

เขาชอบเอาไปลงกันว่าหลวงปู่สอนว่า ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด ใช่ป่าว เคยได้ยินรึเปล่า ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด  มันก็เลยไปพุทโธๆๆ พุทโธกันทั้งวัน


โยม –  ก็ไม่เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่คราวนี้ท่านบอกเราว่า... "ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด  คือหมายความว่า...อะไรๆ มันก็พุทโธ"  เข้าใจความหมายท่านไหม ...ว่าอะไรๆ ก็คือพุทโธ

คือความหมายของพุทโธในความหมายของท่านก็คือรู้...ผู้รู้ เข้าใจมั้ย  เพราะนั้นท่านบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรๆ ก็คือพุทโธ คือ...ต้องรู้

ไม่ใช่พุทโธเป็นคำพูด พ. อุ ทอ พุท  ธ. โอ โธ ...นี่ ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะไปท่องพุทโธๆ โดยที่ไม่เข้าใจ

แต่ความหมายของท่านคือ อะไรๆ ก็พุทโธ ต้องพุทโธให้ได้ตลอดเวลา ...ความหมายของท่านคือ ต้องรู้ๆ ต้องรู้กับทุกอาการที่ผ่านมา ที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  

เห็นก็ต้องรู้ว่าเห็น ได้ยินก็ต้องรู้ว่าได้ยิน เดินก็รู้ว่าเดิน กังวลก็รู้ว่ากังวล คิดก็รู้ว่าคิด ฯลฯ ...เนี่ยแหละพุทโธไม่ขาดสาย คือความหมายของท่าน

แล้วก็คำเด็ด วจีเด็ด วาจาเด็ดของท่านคือ “ทุกข์ไม่ต้องบ่น อดทนเอา” (โยมหัวเราะกัน)  ...อย่ามาบ่น อย่ามาอ้อแอ้ๆ อ้างนั่นอ้างนี่ ...ทำไม่ได้ อารมณ์นั้นอารมณ์นี้เกิด จะแก้ยังไง จะทำยังไง 

ท่านบอกว่าอย่าบ่นๆ ทนเอา ทนไปจนกว่ามันจะดับไปเองน่ะ ...ดูซิ ใครจะแน่กว่าใคร 

มันจะแน่กว่าพระพุทธเจ้ารึเปล่า พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันดับน่ะ  ...อย่ามาหาทางดับเองน่ะ เก่งกว่าพระพุทธเจ้ารึไง ศาสดาหัวแหลมน่ะ คิดว่าเราทำได้ แก้ได้หรือ...ทุกข์น่ะ

อดทนเอา เบื้องต้น ...นักภาวนา ความอดทนน้อย อยากได้เร็ว อยากให้ผ่านพ้นเร็วๆ อยากให้ข้ามเหมือนกับกระโดดค้ำถ่อเลยน่ะ ...ไม่ได้  ต้องอดทน พากเพียรไป

สมัยเราอยู่กับหลวงปู่นี่ อะไรๆ ที่ท่านสอน ท่านไม่ได้สอนด้วยคำพูด ท่านสอนด้วยการกระทำ ให้ทำ ... เนี่ย คือการสอนของครูบาอาจารย์ ท่านไม่สอนเป็นคำพูดหรอก แต่สอนให้เราเรียนรู้เอา  

แล้วเวลาเผลอไผลไร้สติสตังขึ้นมา ไปอยู่ใกล้ๆ ท่านน่ะ ทำพูดคุยถามโน่นไปนี่ เดี๋ยวเจอท่านสวนมาคำเดียวนี่หงายตึ้งเลย จิตนี่หดเข้าที่ พั่บๆ เลย (โยมหัวเราะ)

คือไม่ได้ว่าสอนเป็นคำเป็นประโยคเป็นวาทะอะไรเลยน่ะ แต่ว่าท่านตีกลับมาทีเดียวนี่จิตมันหดเข้าเลย ท่านสวนแบบไม่ไว้หน้าเลย ...แบบตีเข้าไปกลางแสกหัวเลย 

ครูบาอาจารย์น่ะ ท่านสอนตรงเลย  จิตกลับมาอยู่ทันที ...ไม่กลับก็ต้องกลับ ไล่กลับเข้ามาทันที ...เนี่ย การอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์มันก็ดีอยู่อย่าง อย่างนั้น ในการที่ท่านสอนให้ 

เวลาสมัยแรกๆ เราก็ภาวนาตามแบบฉบับทั่วไปของนักภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม ...เดินจงกรมเอาเป็นเอาตาย เด็ดเดี่ยว กล้าหาญอาจหาญ ทำความเพียร ฉันข้าววันเว้นวัน เจ็ดวันครั้ง สิบห้าวันครั้ง นะ 

อดนอน เนสัชชิกนี่ปีนึง ไม่นอน  เป็นปี แล้วก็ถืออิริยาบถสาม 2-3 ปี ยืนเดินนั่ง ไม่นอน แต่นั่งหลับเอา อย่างนั้นน่ะ ทำทุกอย่าง ไอ้ที่เขาว่าดี ไอ้ที่เขาว่าต้องทำความเพียร ทำหมดแหละ ทำ อยู่อย่างนั้นแหละ

ทำไปทำมา ทำอยู่...ในขณะที่ทำอยู่นี่ มันก็ดี จิตมันก็รวม มันก็สงบ แน่นิ่ง เหมือนหินจมในก้นบ่อ แล้วมันก็เห็นกายโท่โร่ ทื่อมะลื่ออยู่อย่างงั้นน่ะ ไม่รู้ประสีประสา เหมือนกับเป็นผีสิงอยู่ในท่อนไม้อย่างเนี้ย

ก็ไปถามท่านจะเอาอุบายอะไรมาพิจารณาเป็นปัญญาดี จะเอากายบทไหน เอากายส่วนไหน เอาจิตส่วนไหน พิจารณาเป็นเวทนาสัญญาสังขารอย่างไร เป็นอสุภะอสุภังหรือจะในแง่ไหนอย่างนี้ 

ก็อธิบายให้ท่านฟัง ... จิตมันเป็นอย่างนี้ๆๆ ผมทำอย่างนี้ๆ พิจารณาอย่างนี้ จิตมันแยกกันอยู่กับกายอย่างนี้ เห็นชัดเลย  แต่ไม่มีความรู้สึก นั่งได้เป็นวันเป็นคืนไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย

หลวงปู่ก็ "อื๊อ" ท่านก็นั่งฟัง มองหน้า หันมามองหน้า ท่านก็บอกประโยคนึงขึ้นมาเลยว่า “ท่านน่ะ ภาวนาไม่เป็น” นี่ ตึ้บเลย ...แล้วท่านก็บอกว่า “ปู่นี่ หลวงปู่สอน ปู่สอนให้ภาวนาละ...ท่านน่ะภาวนาเอา” 

ตอนแรกก็โดนตึ้บนึงแล้ว มาเจอตึ้บสองนี่ ชักมึนแล้ว (โยมหัวเราะกัน)  พอชักมึนเสร็จปั๊บ ท่านก็พูดต่อ ว่า “ทั้งหมด ความรู้ทั้งหมด เป็นเรื่องของปัจจัตตังจำเพาะจิตเท่านั้น”  ท่านว่าอย่างนี้ 

“ที่ท่านถามอยู่นี่ เป็นเรื่องของความสงสัย ...ให้ท่านรู้จำเพาะจิต ไปจนกว่าอาสวักขยญาณจะเกิด แล้วจะไม่ต้องมาถามอีก” อีกหลายตึ้บเลยกู เจออีกหลายตึ้บเลย ... แล้วท่านก็บอกว่า “ไป ภาวนาต่อ”

กว่าเราจะไปทำความเข้าใจ ตีความว่าภาวนาละ-ภาวนาเอานี่...เป็นปีนะ  แล้วท่านไม่เคยบอกเลยนะว่าต้องทำยังไง ...ไอ้รู้จำเพาะจิตนี่รู้ยังไงล่ะ 

ก็รู้น่ะ รู้จำเพาะจิตเป็นปัจจัตตังน่ะ ...แล้วจะทำยังไงถึงจะให้เกิดความรู้จำเพาะจิต ...จนกว่าอาสวักขยญาณจะเกิด ...แล้วกูจะทำยังไง อย่างเงี้ย เข้าใจมั้ย

แต่ว่าจากนั้นไป เราก็ออกไป ด้วยความไม่รู้นั่นแหละ เราก็ทำของเราต่อไป เพราะไม่รู้จะทำยังไง ...แต่ตอนนี้ที่หลวงปู่ท่านเริ่มเข้ามามีบทบาท ในลักษณะที่...สอนทางอ้อม 

เพราะว่าในลักษณะที่ทำความเพียรของเรานี่ เราทำแบบต่อเนื่องไม่ขาดสาย นะ ...แต่หลวงปู่ จะเรียกให้เรามาอยู่ที่ถ้ำ ให้มารับแขก นะ แล้วก็ให้มาดูแลการงานของวัด ควบคุมดูแลการก่อสร้าง กิจการงานวัดต่างๆ ...ซึ่งมันเป็นภาระที่เกี่ยวข้องกับผู้คนตลอดเลย 

ซึ่งเกลียดมาก ...คือต้องเข้าใจนิสัยของสมถะหรือนิสัยของการเจริญจิตหรือการรักษาจิต หรือการรักษาความสงบเป็นบาทฐาน มันจะเป็นศัตรูกับผู้คนหรืออารมณ์  คือไม่ชอบ เกลียด รำคาญ เบื่อ ขี้เกียจพูด ถามคำตอบคำ อย่างเนี้ย เพื่อรักษาใจลูกเดียว เข้าใจมั้ย 

แต่หลวงปู่ท่านจะดึง...ให้เรามาข้องแวะกับอารมณ์ เข้าใจมั้ย ไม่ให้หนีจากอารมณ์ ...ตรงนี้ถือเป็นจุดที่เปลี่ยนของเราอย่างหนึ่ง ...เพราะว่าเมื่อมาเจอเหตุการณ์อย่างนั้นน่ะ เก่งเท่าเก่ง เพียรเท่าเพียรขนาดไหน รักษาจิตดีขนาดไหน แนบแน่นขนาดไหน ...แตกหมด บอกให้เลย 

รักษาใจไม่ได้หรอก รักษาความสงบเป็นหนึ่ง เหมือนกับหินจมในก้นบ่อไม่ได้อยู่แล้ว พิจารณาอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน บอกให้เลย เคยเห็นกระดูกเดินก๊อกแก๊กๆ ก็ไม่ก๊อก ก็ไม่แก๊กแล้ว (หัวเราะ) มันเป็นเนื้อเต็มๆ เข้าใจป่าว

แต่ว่าในคำเทศน์ของหลวงปู่นี่ เราจับประเด็นนึงได้...ท่านพูดเรื่อง “ดวงจิตผู้รู้อยู่” เสมอ  ท่านพูดเสมอเลยนะ ดวงจิตผู้รู้อยู่ คือท่านบอกว่ามันมีอยู่แล้ว ดวงจิตผู้รู้อยู่น่ะ 

มันเดินได้ ยืนได้นอนได้ เพราะดวงจิตผู้รู้นี่พาไป พากินพาเดิน จะทำพูดคิดทุกอย่าง มันสามารถมีอาการรู้อยู่ในนั้นได้ ท่านบอกว่าให้ตั้งมั่นลงไปที่ดวงจิตผู้รู้นี่

นี่ เราจับข้อความนี้ขึ้นมา มันขึ้นมา...เออ ก็เราทำงาน ก็เราอยู่ในอันนี้ ก็ไม่มีวิธีอื่นแล้ว จะมากำหนดลมหายใจ...เรากำหนดลมหายใจมาน่ะ  ...เราจะทำยังไง เราก็กำหนดเปลี่ยนมาเป็นการระลึกรู้ที่ดวงจิตผู้รู้ คือกลับมาตั้งมั่น

เพราะนั้นแรกๆ นี่ของการที่เราฝึกเป็นการเจริญสติขึ้นมาในอาการ หรือว่าในการข้องแวะกับผู้คนทั่วไป เราใช้วิธีท่องบ่อยๆ ระลึกขึ้นบ่อยๆ ว่า “กำลังทำอะไรอยู่ๆๆ”  คือท่องแทนการกำหนดลมหายใจเลย

แล้วก็กลับมาดูอาการ...กลับมาดูอาการทางกาย นะ กลับมาดูอาการทางกาย การเคลื่อนการไหว การนิ่ง การขยับ เย็นร้อนอ่อนแข็ง แล้วก็การกระทบสัมผัส 

พอเริ่มรู้ทางกายต่อเนื่องไปปั๊บนี่ มันจะเริ่มไปเท่าทันอายตนะทั้งหก ...พั้บๆ ได้ยิน มันรู้ปุ๊บ เห็นเลย ตอนนี้เห็น ตอนนี้ได้ยิน ตอนนี้กำลังขยับ ตอนนี้กำลังคิด ตอนนี้กำลังทำอะไร 

มันจะรู้ๆๆ เป็นช็อตๆๆๆๆ ตลอดเวลาเลย ...จนไม่เป็นชิ้นเป็นอันต่อเนื่องกันได้ คือไม่เห็นขันธ์ต่อเนื่องกันได้เลย

เพราะนั้นการเจริญสติของเรานี่ เราก็ใช้การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นแหละ เราไม่ได้เจริญสติในทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ ...ใช้สติกับผู้คนนี่แหละ กับการงาน กับอารมณ์ 

แต่เราตั้งใจ  เพราะเราค่อนข้างจะเป็นอาชีพหลัก เข้าใจป่าว ไม่ใช่อาชีพรอง คือมีอาชีพหลักคือเป็นนักบวช ภาวนาอยู่แล้ว มันก็เลยตั้งอกตั้งใจทำ อยู่ในการงาน ...อะไรก็รู้ๆๆ ทำอะไรอยู่ก็รู้ตรงนั้น

เพราะนั้นเวลาเราเจริญจนเต็มที่เต็มฐานของสตินี่ จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าสติบริบูรณ์ ...คำว่าสติบริบูรณ์นี่คือหมายความว่า เป็นอัตโนมัติ มันเป็นอัตโนมัติของมันเอง 

มันจะเป็นอัตโนมัติในลักษณะที่ว่า ตั้งแต่ลืมตาขึ้นจากตื่น ตื่นแรก จิตตื่นรู้ขึ้นมาปุ๊บ ระลึกรู้ขึ้นมาปั๊บ ตั้งแต่ขณะนั้นมา  รู้จนทั้งวัน จนนอนหลับนี่ ...ไม่มีคำว่าไม่รู้เลย

ด้วยการที่มันเป็นของมันเองเลยนะ ไม่ได้จงใจหรือบังคับ คือมันจะหมุนอยู่ตลอด อยู่อย่างนี้

เคยเห็นเส้นประมั้ย หรือว่าจุด ...แรกๆ นี่ มันจะเป็นจุด  ต่อไปมันก็เป็นเส้นประ  ...พอมันเต็มที่ของมันนะ ของการเจริญสตินี่ มันเป็นเส้นตรง มันจะเป็นเส้นตรง ...ตอนนั้นน่ะถึงจะไปเข้าใจความหมายของคำว่าสติบริบูรณ์

เพราะนั้นน่ะ ถ้าเจริญสติได้ถึงขั้น ขนาดที่ว่ารู้ตัวต่อเนื่อง รู้ได้ต่อเนื่อง ...ไม่ต้องถามหรอกว่าความสงสัยมันจะมีมั้ย มันจะแจ้งในตัวของมันเอง ในทุกส่วน ในทุกสภาวธรรม ในทุกสภาวะธาตุที่มากระทบสัมผัส มันจะเข้าใจในตัวของมันเองเลย อย่างงั้นแหละ

เพราะนั้นว่าการเจริญสติจริงๆ น่ะ มันจึงไม่ได้ยากอย่างที่พวกเราเข้าใจ  แต่มันอยู่ที่ความตั้งใจ สัจจะ เผลออีก รู้อีก  ลืมแล้วรู้อีก รู้แล้วรู้อีกๆๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น 

ไม่ใช่ว่าครั้ง-สองครั้งรู้ ครั้งสองครั้งรู้ เผลอ-ลืม รู้ แล้วก็ เออ ท้อถอยหมดความเพียรแล้ว ...รู้มันเข้าไป เผลออีกรู้อีกๆๆ เอาเข้าไป ไม่ท้อไม่ถอยน่ะ ด้วยความฝ่าฟัน บากบั่น อดทน อดทน 

จนมันอยู่เนื้ออยู่ตัวกับมันแล้วนี่ คราวนี้มันจะคล่อง สติมันก็คล่องแคล่วว่องไว หมุนไปโดยอัตโนมัติมากขึ้น ไปตามลำดับลำดาของมันเองน่ะ ...เพราะนั้นความรู้หรือว่าจิตรู้หรือว่าปกติการรู้นี่ เหมือนจักรผันเลย 

กระทบทุกอย่างนี่เหมือนจักรผันเลย หมุนไม่หยุด รู้ทุกอาการด้วย ทำการชำระ หมุนๆๆๆ เวลามันรู้เข้าเต็มขั้นเต็มฐานของมันนี่ ไม่ได้หลับได้นอนเลย มันนอนไม่ได้ ...เพราะมันตื่น มันตื่นแบบตาแข็งอย่างเนี้ย 

ขนาดนอนตั้งท่าตั้งทางให้นอนดีที่สุด มันก็ยังตาโพลงอยู่อย่างนั้นน่ะ มันระลึกรู้ในทุกอาการ ...คือมันทำงานไม่ขาดสายเลย มันไม่ได้ไปหลับไปไหลไปหลงไปเผลอไปเพลินได้เลย 

แต่ก่อนนี้ โห มันไปตายกับเผลอกับเพลินไม่รู้จักเท่าไหร่ นานัปการ หายนานแสนนาน ...แต่พอเวลามันตื่นมันได้ที่ของการตื่นนี่ มันไม่หลับไม่นอนเลย มันทำงานอยู่ตลอด มันก็ทำงานโดยที่ไม่ได้บังคับให้ทำงาน 

มันทำงานของมันเองนะ มันจะอะไรๆ รู้พั้บ  มันจะหา...เหมือนเสือหิวน่ะ เคยเห็นเสือหิวมั้ย อย่าให้มีอะไรมากระทบ อย่าให้มีอะไรปรากฏนะ พั้บๆๆๆ ...มึงอย่าโผล่มาให้กูเห็นนะ 

ไม่มีอะไรมันก็คอย มันเหมือนเสือหิว จดจ้องเลยน่ะ อยู่ตรงนั้นแหละ ...ไม่ทิ้งเลย ไม่ทิ้งใจจนออกได้แม้แต่ขณะจิตเดียว ...เอาจนมันหมดกำลังมันเลย เอามันจนไม่มีที่ให้ออกมา 

นั่นแหละ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถามครูบาอาจารย์ไหนแล้ว จิตมันก็สอนในตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาได้เลย ไม่ว่าอะไรโผล่ ไม่ว่าอะไรผ่าน ไม่ว่าอะไรเกิด ไม่ว่าอะไรดับ ไม่ว่าอะไร พั้บ อย่าให้ปรากฏในครรลองของจิตขึ้นมานะ พั้บๆๆ เลย

เราถึงยืนยัน ตั้งแต่หัวยันตีน ตั้งแต่ตีนจรดหัวว่า... รู้แค่นี้พอแล้ว ใครบอกไม่พอ ...กูยืนยัน  (โยมหัวเราะกัน) 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพิจารณามันไม่ใช่หรือไม่ถูก ... มันก็เป็นจริตนิสัยนะ ...บางคน เอ้า เรามีลูกศิษย์เราบางคน เด็กอายุ 11 นั่งฟังอย่างนี้กับแม่ ก็นั่งฟัง เราก็พูด มันก็ฟังไปอย่างนี้ ก็รู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ 

มันนั่งดูแม่ไปเรื่อยๆ ก็ว่า “ทำไมแม่ถึงเน่าล่ะ” กลัว ...นี่ลืมตานะ แต่มันเห็นเน่าเลย เน่าให้เห็นกับตานั่นแหละ แล้วค่อยๆ เปื่อย ...ก็กลัว ตกใจกลัว ...เราก็ถาม “รู้มั้ยว่ากลัว” ...“รู้” ...“นั่น รู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ดูไป” 

ดูจนแม่สลายดับไปเลย ...ทั้งๆ ที่แม่ยังนั่งอยู่น่ะ เอาดิ ...แล้วเหลือแต่รู้อย่างเดียวปรากฏ ... นี่ 11 ขวบ แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจพิจารณาอะไรเลยนะนั่นน่ะ อสุภะอสุภังก็ไม่เคยทำ ไม่เคยมีในครรลองจิตเลย 

เห็นมั้ย ถ้าเป็น มันเป็นของมันเองในลักษณะจิตแบบนี้ ...ไอ้พวกเรานี่พิจารณากันแทบตาย...อสุภะ  มันก็ยังว่าสวยๆๆๆ


โยม –  (หัวเราะกัน) เป็นสุภะ

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่ยอมเป็น "อะ" มันจะเป็นแต่ “สุ” ...เพราะนั้นจิต มันแล้วแต่ว่าเหตุปัจจัยที่เขาเคยดำเนินมา มันเหมาะกับอย่างไร เห็นมั้ย มันก็เป็นไปตามครรลอง 

แล้วก็ยังมีอีกนี่ เป็นแม่กับลูก นั่งฟังนั่งสมาธิกำหนดรู้ไป สอนมันไป ...ก็เด็กอีก ยังเรียนปริญญาไม่จบ นั่งไปนั่งมา มันเห็นตับไตไส้พุงกระดูกกระเดี้ยวทุกชิ้นเลย

อันนี้ก็ไม่ได้น้อมจิตไปคิดอย่างนั้นเลย แต่มันเห็นของมันขึ้นมา...ทั้งแม่ทั้งลูกเลย อย่างนั้นน่ะ ...กลัวอีกเหมือนกัน คนไม่เคยเห็น ...พอมาเห็น มันกลัว แล้วมันก็ติดเรื่องสัญญาเคยจำว่าเดี๋ยวบ้าเดี๋ยวสติแตก ...กลัว สมาธิก็เลยแตก จิตยังไม่ทันจะดับเลย

ถ้าลักษณะนี้ เราจะยืนยันนั่งยันเลยว่า พิจารณาไปเยอะๆ ให้เข้าครรลองนี้ ...นั่งไปแล้วก็น้อมขึ้นมาให้เห็นกายอย่างนั้น เป็นกระดูก เป็นตับไตเครื่องในของแข็งของอ่อน ดูไปเลยด้วยนิมิตนั้นน่ะ 

ให้จิตเข้าไปในแนวของอสุภะหรือว่าธาตุกรรมฐาน ...ถ้าอย่างนี้น่ะจิตมันเป็นไป ก็ต้องเป็นไปตามครรลองอย่างนี้ เข้าไปตามเส้นสายนี้ แล้วก็ค่อย...จนถึงที่สุดของคำว่านิมิตน่ะ พิจารณาอยู่อย่างนั้น 

สำหรับคนที่มีลักษณะของกรรมฐานของเก่าที่เคยทำมาบำเพ็ญมาเพียรมาในด้านนี้ พวกนี้พวกฤาษีเก่านักบวชเก่า นักพิจารณาทั้งหลาย  มันขึ้นรูปนี้ก็ต้องยกรูปนี้มาพิจารณา ยกรูปนิมิตนี่ขึ้นมาพิจารณา 

พอพิจารณาไป ผู้ที่เห็นเป็นอสุภะอะไรพวกนี้ มันเป็นนิมิตทั้งสิ้น หรือว่าแม้แต่ว่าจิตที่เข้าไปเห็นตับไตไส้พุง นี้ก็เป็นนิมิตทั้งสิ้น แต่มันดูเหมือนจริง เห็นเหมือนจริง

ที่สุดของนิมิตนั้นน่ะ เมื่อพิจารณาไปๆ มันจะสลาย สลายหมด แตกหมด ละลายหมด แตกหมด ดับหมด บางทีก็เป็นนิมิตว่าไฟมาเผา ค้อนมาทุบทำลาย สลายพึ้บๆๆ เปื่อย แตกหมด 

เหลือกระดูกปั๊บก็ป่น ป่นเป็นผุยผงสลายหมด ดับหมดเกลี้ยงเลย แถมมีลมกวาดให้อีกต่างหาก บอกให้เลย ...จิต นิมิตนะ ขึ้นรูปมาอย่างนี้ แล้วลบ ลบรูปไปเลย หมดเลยในนิมิต สลายหมด ปึ้บ

พอสลายหมดปุ๊บนะ ...มันจะเหลืออีกสิ่งนึงที่มันไม่สลายคือใจ ตรงนั้นน่ะภาวะใจหรือดวงจิตผู้รู้จะปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ญาณปัญญา 

จากนั้นไปก็จะจับที่ใจ แล้วก็ดูอาการที่ใจ ดูอาการเข้า-ออกของใจ ตรงนั้นน่ะ จิตเริ่มยกขึ้นสู่วิปัสสนาญาณแล้ว หรือว่าปัญญาญาณที่แท้จริง

เพราะนั้นในลักษณะที่พิจารณาอสุภะอสุภังนี่ หรือพิจารณาเป็นธาตุเป็นความไม่สวย ที่มันให้เบื่อหน่ายคลายออกจากราคะอะไรก็ตาม ลักษณะตรงนี้ยังไม่เรียกว่าญาณ ยังไม่เรียกว่าปัญญาโดยตรงนะ 

มันเป็นแค่ความเห็นที่เป็นสัญญาขึ้นมา ที่มันตรงข้ามกับสุภสัญญา แต่มันจะมองให้เป็นอสุภสัญญา ...เพราะนั้นคำว่าอสุภะนี่คือสัญญานะ ไม่ใช่ความจริงนะ ยังไม่ใช่ความเป็นจริง

แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันมีประตูเดียวที่จะต้องเจริญปัญญาหรือเข้าวิปัสสนาญาณอย่างเดียว หรือจะต้องพิจารณาให้เห็นเป็นนิมิต อสุภะ หรือว่าการแตกดับของรูป รูปารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง แล้วจึงจะเกิดเป็นญาณหรือปัญญาญาณ 

อย่าไปผูกตายขายขาดในความคิดบางความเชื่อ ... ให้มันเป็นตามควร ธรรมที่สมควรแก่ธรรม ...การปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

พวกเราก็เคยทำมากันทั้งนั้นแหละ นั่งสมาธิก็นั่งกันเอาเป็นเอาตาย จริงจัง  บางคนก็เริ่มจากสมาธิ บางคนก็เริ่มจากอย่างนั้นอย่างนี้ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ยุบหนอ พองหนอ อะไรก็ตาม 

ทุกอย่าง มันแล้วแต่ มันก็เจริญมาโดยธรรม เป็นธรรม ...สุดท้ายก็ต้องมาปรับให้มันเข้ากับธรรมที่สมควรแก่ธรรม

เมื่อมันพอดีแล้ว ทำแล้วปฏิบัติแล้วมันเกิดความคล่องแคล่ว มันเกิดความเข้าใจ มันเกิดความมั่นใจขึ้นมา ...ก็ให้รู้ไว้เลยว่า นั่นน่ะถูกที่สุดแล้ว 

อย่าไปฟังอันอื่นว่าอันนั้นผิดอันนี้ถูก อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ ...อะไรที่เราทำแล้วสมควรแก่เรา...ทำ ครูบาอาจารย์ก็จะยืนยันลงไป

จริงๆ มันไม่ผิดหรอกในสายไหนสายหนึ่ง ...ขอให้ทำลงไปจริงๆ มันก็จะได้ผลเดียวกัน คือกลับมาที่ดวงจิตผู้รู้อยู่หรือใจ กลับมาสู่ใจ 

นอกจากว่าแนวทางไหนที่ออกนอกใจ หรือให้ออกไปรับรู้ ไปถือเอาสิ่งที่อยู่นอกใจเป็นมรรค เป็นผล เป็นธรรม หรืออะไรก็ตาม ...อันนั้นน่ะให้รีบ fade away ซะ เพราะไม่จริง

แต่ว่าถ้าหลักไหนเส้นไหนสายไหนที่พากลับให้สู่ใจหรือถึงใจ หรือว่ารู้อยู่ที่ใจแล้ว...ถูกหมด ยังไงก็ถูก 

กลับมาเป็นไปการปฏิบัติเพื่อให้กลับมาเห็นใจ แล้วก็ทำความชำระใจให้บริสุทธิ์อยู่ตรงที่นั้นที่เดียว...ไม่ผิดหรอก 


(ต่อ แทร็ก 3/11 ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น