วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/10 (1)



พระอาจารย์
3/10 (540101A)
1 มกราคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แบ่งโพสต์บทความเป็น 2 ช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  มีใครทันหลวงปู่บ้าง

โยม (หลายเสียง) –  อ๋อ ไม่ทันๆ

พระอาจารย์ –  ไปทำอะไรกันอยู่

โยม – (หัวเราะกัน) ยังเด็ก

พระอาจารย์ –  มัวทำอะไรกันอยู่ ...พระพุทธเจ้าประกาศศาสนามาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปี มัวไปทำอะไรกันอยู่

โยม –  เพิ่งเข้ามาไม่ถึงสิบปี

พระอาจารย์ –  คน ...ขึ้นชื่อว่าหลง  มันอยู่กับก้อนธาตุก้อนธรรมแท้ๆ กลับไม่เคยเห็น กลับละเลย ...ละเลยธรรม ละเลยการมาเรียนรู้กับมัน ...เหมือนกบเฝ้ากอบัว 

เคยเห็นกบเฝ้ากอบัวมั้ย ...มันอยู่บนกอบัว มันก็ไม่รู้จักว่าบัวน่ะมีคุณค่าเป็นพุทธบูชาขนาดไหน มันก็แค่อาศัยเป็นที่หลับที่นอน แล้วมันก็กระโดดไปกระโดดมาไล่จับแมลง เสร็จแล้วก็กลับมานอน

อย่าทำเหมือนกบเฝ้ากอบัว ...อยู่กับกายอยู่กับใจนี่เป็นมรรค เอากายเอาใจนี่เป็นมรรค  ไม่ต้องไปหามรรคที่อื่นหรอก ไม่ต้องไปแสวงหาความรู้ไหนหรอก ...อย่าไปหาว่ามันต้องไปเกิดไปรู้ไปเห็นที่ไหนที่อื่น 

มันก็อยู่ที่กายที่ใจของทุกคนน่ะ ...ทุกคนก็มีอุปกรณ์มาให้พร้อมสรรพบริบูรณ์อยู่แล้ว อาการก็ครบสามสิบสอง ไม่บ้าใบ้เสียจริต ตาบอดหูหนวก อายตนะก็ครบทั้งหก...ให้ศึกษาทบทวน

เกิดเป็นเทวดายังมีแค่ขันธ์สี่ อายตนะก็ไม่มี กายก็ไม่มีให้ดู ... เป็นพรหมยิ่งซ้ำร้าย เหลือแต่ใจ ... เป็นอรูปพรหมนี่ไม่ต้องหาอะไรเลย  ใจก็ไม่เจอ อยู่ไหนก็ไม่รู้

การมาเป็นมนุษย์นี่ บริบูรณ์ที่สุดแล้ว สมบูรณ์ที่สุดแล้ว...เป็นทางแห่งมรรค เจริญมรรค เจริญมัชฌิมาได้ครบถ้วนกระบวนความ ...อย่าละเลย อย่าปล่อยให้เสียโอกาส

การเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ใช่ง่ายๆ ...ตายไปแล้ว ไม่รู้จะได้มาเกิดอีกเมื่อไหร่ ...จะไปตกอยู่ภพไหนก็ไม่รู้ 

เกิดอีกล้านปี อีกร้อยปี อีกพันปี มาเจอ...อ้าว ไม่มีพระสักองค์ในโลก  แย่แล้วตอนนั้นน่ะ ไม่รู้จะไปหาธรรมะที่ไหน จะปฏิบัติที่ไหน

เมื่อมีเวลาในปัจจุบัน ...เรารู้เราเข้าใจ เรามีไกด์ไลน์ เรามีหนทางที่ชัดเจนสำหรับตัวเองแล้ว  ก็พยายามกลับมาเรียนรู้ความเป็นจริงของกายของใจ ...ความเป็นจริงของขันธ์ มันคืออะไรกันแน่ 

กายที่ว่ากายน่ะ มันเป็นเราตรงไหน มันไม่ใช่ของเราตรงไหน ...อารมณ์ทั้งหลายน่ะมันคืออะไร ทำไมถึงต้องไปเดือดไปร้อนอะไรกับมันนักหนา มันมีมือมีตีนมาถีบมาถองเราตรงไหน 

ทำไมถึงไปทุกข์กับมันกันนักกันหนา ทำไมทุกข์ๆๆๆ ก็บอกว่า "เราทุกข์ๆ" อยู่นั่น ...มันเคยถีบเราตรงไหน มันกดเราตรงไหน มันทับเราตรงไหน มันไม่มีมือมีเท้าอะไรน่ะ ...มันก็เป็นแค่อาการหนึ่งรึเปล่า

ดูเข้าไป สังเกตเข้าไปด้วยความแยบคาย ...ไม่ต้องไปหาความรู้อะไรนอกจากนี้หรอก  ...เอาที่เฉพาะหน้าตรงนี้ มันปรากฏอย่างไร รู้อย่างไร ...สังเกตมันเข้าไป 

อาการของขันธ์ทุกขันธ์ที่ปรากฏ อาการทางอายตนะทุกอายตนะที่ปรากฏ  เขาปรากฏมาไม่ได้เพื่ออะไรหรอก  เพื่อให้เราเรียนรู้ ให้เห็นความเป็นจริง ...เขาแสดงธรรมให้เราเห็น

เป็นเหมือนเป็นอาจารย์ใหญ่น่ะ อาจารย์ใหญ่ ...เป็นอาจารย์ใหญ่คอยบอกคอยสอนเรา ตั้งแต่ลืมตายันหลับตานอนน่ะ...ทั้งวันนี่ อาจารย์น่ะสอนแล้วสอนเล่า 

แต่พวกเราไม่ค่อยเคารพอาจารย์ ละเลยอาจารย์ มองข้าม ...มัวแต่ไปหาอาจารย์ภายนอก มัวแต่ให้คนอื่นสอน ให้คนอื่นบอก ...ไม่ทันหรอก 

อาจารย์อยู่เชียงใหม่ ตัวอยู่กรุงเทพงี้  หรืออาจารย์อยู่ชลบุรี ตัวอยู่กรุงเทพ นี้ มันสอนกันไม่ทัน ...แต่อาจารย์ประจำ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ...มีทุกขณะ 

เขาคอยบอก คอยสอน คอยพร่ำ คอยเตือน ว่า...ข้าพเจ้านะ ข้าพเจ้าไม่เที่ยงเลยนะ ข้าพเจ้ามาแสดงให้เห็น ข้าพเจ้าไม่มีตัวไม่มีตนนะ ข้าพเจ้ามาแสดงให้เห็นแค่นั้นนะ

เอาใจไปไว้ไหนกันล่ะ ...หลงๆ ลืมๆ เผลอๆ เพลินๆ หายไปทั้งวัน  อาจารย์ก็...เฮ้อ มันเกิดมาทำไมวะเนี่ย อุตส่าห์ได้ตาหูจมูกลิ้นกาย ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะหก มาเต็มที่เต็มพร้อมแล้ว 

มันเอาใจไปไว้ไหน ...ทำไมไม่มาดู ไม่มาเรียน ไม่มาเคารพครูบาอาจารย์ที่คอยพร่ำสอนบอกเตือนว่า มันไม่เที่ยงๆ ...'ข้าพเจ้ามาแล้วก็ไปๆ ข้าพเจ้าก็ต่างคนต่างอยู่กับท่าน

ท่านก็มีหน้าที่ดูไปเฉยๆ ข้าพเจ้ามาแล้วก็ไป เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดข้าพเจ้าจึงเกิด เพราะหมดเหตุปัจจัยข้าพเจ้าก็ดับ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นบวกเป็นลบกับใครทั้งสิ้น

ไม่มีใครจ้างวานให้ข้าพเจ้าเกิดมาหรือตั้งอยู่ ไม่มีใครมาติดสินบนให้ข้าพเจ้าต้องดับ หรือมาเรียกร้องว่าให้ข้าพเจ้ามาแล้วข้าพเจ้าก็ต้องมา

ข้าพเจ้าจะมาตามอิสระของเหตุปัจจัยของข้าพเจ้า ไม่ขึ้นกับใครหน้าไหนในโลก ไม่มีพระเจ้าตนไหนตัวไหนจะมาบงการสั่งข้าพเจ้าได้'

นี่ เขาสอน สอน สอนแล้วสอนเล่าๆ  ...มัวแต่ทำตัวเป็นกบเฝ้ากอบัว  มันก็ไม่รู้ธรรม มันก็ไม่เห็นธรรม มันก็ไม่เข้าถึงธรรม มันก็ไม่เข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง

อย่าไปหาไกล อยู่กับปัจจุบัน ...ให้ใกล้ที่สุด แนบตัว แนบกาย แนบใจนี่แหละ ...ที่มันปรากฏทุกอย่างเลยน่ะ...จริง  

แล้วก็สังเกตว่าไอ้ใครที่บอกว่าไม่จริง ...เออ ไอ้ตัวนั้นน่ะ ตัวเสือก  ไอ้ใครที่บอกว่าไม่ได้ รับไม่ได้ ...ไอ้ตัวนั้นน่ะตัวเสือก

สังเกตดูให้ดี นั่นแหละอุปาทาน นั่นแหละตัณหา นั่นแหละ อย่าไปฟังมัน เชื้อโรค ...มันเป็นโรค เป็นเหมือนเชื้อโรค เป็นเหมือนมะเร็ง เชื้อไวรัสที่อยู่ในใจ 

ที่มันคอยมาเสี้ยมมาสอน มายุแยงตะแคงรั่ว ให้เราจะต้องเข้าไปมีเข้าไปเป็นอะไรกับธรรมชาติที่ปรากฏ

ขันธ์นี่คือธรรมชาติหนึ่ง ขันธ์ห้าก็คือธรรมชาติหนึ่ง ...รูปก็คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง นามก็คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ...

ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติมันหมายความว่าเป็นไปตามเหตุและปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครปรุงแต่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ...นั่นธรรมชาติ

มันไม่ได้แตกต่างกับดินฟ้าอากาศ ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ฝน แดด พระอาทิตย์ พระจันทร์ นะ นี่ธรรมชาติ ...อยู่กับธรรมชาติ ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ แต่ไม่เข้าใจธรรมชาติ

แต่เวลาไปอยู่กับธรรมชาติก็มีความเพลิดเพลิน มีความสนุก รู้สึกว่ามีความอบอุ่นมีความร่มเย็นมีความสบาย ...แต่ไม่เรียนรู้กับธรรมชาติ ว่าธรรมชาติเขาแสดงให้เราเห็นรอบข้างตลอดเวลา

ฝนจะตก แดดจะออก มีใครบอกล่ะ ... ฝนจะหยุด แดดจะหาย มีใครบอก มีใครสั่งล่ะ ...ใครจะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม  ข้าพเจ้าก็ดำเนินไปตามวัฏฏะอันนี้แหละ 

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป...เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  เขาก็แสดงอยู่ทนโท่ ...เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ซะอย่างนั้น ...ปัญญาก็ไม่เกิด นะ

ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะล้วนพร่ำสอนเรา แสดงธรรม บอกธรรม ให้เราเข้าใจ ให้เรายอมรับ ...เข้าใจแล้วก็ยอมรับ...ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก

กายก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก ...เดี๋ยวก็ป่วย เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็ชำรุด เดี๋ยวก็แตก เดี๋ยวก็หัก เดี๋ยวก็เสื่อมโทรม เดี๋ยวก็อ่อนล้า เดี๋ยวก็โรยรา เดี๋ยวก็ใช้การไม่ได้เหมือนเดิม 

คือเหมือนมีแต่การที่ว่า...ไฟที่มันลุกโชนแล้วก็ค่อยๆ มอดลง...มันเป็นอย่างนั้น ... นี่คือความเป็นจริง

เรียนรู้กับมัน เห็นมัน ยอมรับมัน ...ไม่ได้ก็ต้องได้  เพราะยังไงก็ต้องอยู่กับมันจนตายน่ะ หนีไม่พ้นหรอก ...ต้องอยู่กับก้อนธาตุอันนี้ ก้อนธรรมอันนี้ ไปจนตายน่ะ

ตายยังไงก็ไม่รู้ แล้วแต่กรรมและวิบาก ...ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม  ถึงเวลาคับขัน เวลาตาย เวลาเจ็บขึ้นมาแล้วจะดิ้นกระวนกระวายหาที่วางใจไม่เจอ ไม่รู้จะเอาใจไปไว้ตรงไหน

ใครก็ช่วยไม่ได้ ...ต่อให้พระพุทธเจ้ามาล้อมวงด้วยอสีติแปดสิบ ก็ช่วยไม่ได้  จะมาบอกว่าไปนิพพานก็ไม่ได้ จะบอกให้วางใจอย่างนั้น วางจิตอย่างนี้หรือ

ไม่ทันแล้วหลวงพ่อ ไม่ทันแล้ว มันเจ็บเหลือเกิน มันปวดเหลือเกิน ไม่รู้จะวางไว้ไหนแล้ว 

ถึงเวลานั้นน่ะ ...จะเสียดายเวลาที่ล่วงเลยไปกับความสนุกสนานเฮฮาปล่อยปละละเลย หลงใหลได้ปลื้มไปกับยศ การงาน ครอบครัว ผู้คน หรือว่าแสวงหาสภาวธรรมที่ห่างไกลโพ้น อะไรก็ไม่รู้

แต่พอวาระสุดท้ายใกล้จะตายหรือเวลาเจ็บจริงๆ นี่  กลับเอามาใช้ไม่ได้สักอย่าง ไม่รู้จะวางจิตอย่างไร ไม่รู้จะต่อสู้กับมันด้วยวิธีการไหนถึงจะสันติ ถึงจะสงบ ถึงจะระงับ ถึงจะร่มเย็น ถึงจะเข้าใจกับสภาวะขันธ์ตามความเป็นจริง

ยังมีแรง ยังมีเรี่ยวแรง ยังไม่ฝ้าฟาง  สติก็ไม่เลอะไม่เลือน ไม่เป็นอัลไซเมอร์  มันสามารถเจริญขึ้นได้ ...จึงต้องเตรียมตัวตายทุกขณะ 

พร้อมที่จะกลับเข้าสู่ฐานใจ พร้อมที่จะเห็นสภาวะใจได้ในทุกโอกาส ทุกเวลาสถานที่  ...โดยไม่มีข้อแม้หรือทางเลือก หรือว่าตัวเลือก ตัวเลี่ยง 

ต่อให้เขาถล่มต่อหน้า ต่อให้โลกแหลกดับต่อหน้านี่ ...ก็ต้องวางใจเป็นกลางได้เป็นปกติได้ นั่นแหละ

จะมาบอกว่า...เดี๋ยวต่อไปมันจะดีขึ้นเอง เดี๋ยวถึงเวลานั้นค่อยไปดู ใกล้ๆ ตายค่อยเอาจริงเอาจัง...ไม่ทันๆ  

นักกีฬาไม่ฝึกไม่ซ้อม  อยู่ดีๆ ลงสนามจะไปชิงเหรียญทองน่ะ...ตาย สู้เขาไม่ได้หรอก เจอเข้าจริงๆ น่ะ มันไม่มีทักษะไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความชำนาญ ความเข้าใจลึกซึ้งกับสภาวะต่างๆ ที่มาที่ไปนี่...ไม่ทัน

เพราะนั้น ไม่มีอะไร อยู่เฉยๆ ธรรมดา กับสิ่งแวดล้อมปกติธรรมดานี่  ...อย่าเผลอเพลิน อย่าให้เสียเวลาไป ทุกลมหายใจทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

ดู ระลึกขึ้นมา ...ไม่มีอะไรก็รู้  เฉยๆ ก็รู้  ปกติก็รู้  ยืนเดินนั่งนอน ... แต่ละเท้าก้าวเดิน การเหยียดย่าง การเสือกขาไปแต่ละขณะ การหยิบการจับ ดูอาการกระทบสัมผัส ดูความรู้สึกตัวอยู่สม่ำเสมอ 

พยายามกลับมาระลึกรู้...รู้สึกตัว แล้วก็ให้เห็นความรู้สึกนั้นๆๆๆ ให้ต่อเนื่องเป็นสาย เหมือนกับสายน้ำไม่ขาด ...ไม่นานหรอก ไม่นาน เดี๋ยวก็เข้าใจ เดี๋ยวก็ได้หลักๆ 

คำว่าได้หลักคืออะไร ...คือว่าได้หลักใจ คือเห็นใจ  คือชัดเจนว่าใจกับกายนี่ไม่ใช่อันเดียวกัน คนละส่วนกัน 

ซึ่งไม่ใช่เห็นแค่วับๆ แวมๆ  วับๆ แวมๆ มันไม่พอ ...เห็นแค่ขณะนึง เดี๋ยวนึง ขณะนึง มันยังไม่แก่กล้าพอ มันยังไม่แจ้งพอ

เอาจนมันแยกกันออก โดยชัด...จนเชื่อมั่น มีความรู้ขึ้นมาเลยว่า กายไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่กาย  ...ไม่ว่ากี่ครั้งๆ ระลึกลงไปทีไรก็เห็นว่ามันเป็นคนละส่วนกัน 

แล้วก็เห็นกายนี่มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา  เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวขยับ เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวนิ่ง เดี๋ยวไหว ...นี่ เห็นอาการกายเกิด-ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

อยู่อย่างนั้น มันถึงจะได้หลักๆ ได้หลักใจ ...จากนั้นไปก็ค่อยๆ ทำความแจ้งในใจขึ้นไปเรื่อยๆ ว่า...ที่มันมีใจเพราะอะไร ...ในใจมันยังมีอะไรอยู่ มันยังมีตะกอนตรงไหน มันตกค้างอะไร 

ก็ให้มันแสดงตัวออกมา ...ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะไม่เห็น  แม้แต่ว่ารู้อยู่เฉยๆ มีแต่รู้อยู่ๆ รู้เห็นๆ อยู่อย่างเดียวนี่ก็เถอะนะ  

เพราะกิเลสกับใจมันไม่ใช่ตัวเดียวกัน กิเลสคืออาคันตุกะ มันเป็นแค่สิ่งที่แปลกปลอม แทรกซึม เจือปน มลทิน นอนเนื่อง ตกตะกอนอยู่ภายในดวงใจผู้รู้นั่นแหละ

เพราะนั้นธรรมชาติของสองสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งเดียวกันนี่ ...ไม่ต้องกลัว มันจรมา มันก็จรไป มันไม่เคยอยู่กับที่หรอก กิเลสน่ะ ...เดี๋ยวมันก็จะแสดงตัว แสดงอาการต่างๆ นานาออกมา

เพราะฉะนั้นเวลาเราอยู่ที่ใจน่ะ มันก็เหมือนกับ...เคยเห็นหมาเปียกน้ำมั้ย  เออ มันสะบัด มันสะบัดน้ำออกมาเองน่ะ มันเป็นสัญชาตญาณ มันไม่ยอมเปียกอยู่แล้ว  

ความบริสุทธิ์มันอยู่กับความไม่บริสุทธิ์ไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ...นี่ พูดถึงธรรมชาตินะ ไม่ต้องไปเค้น ไม่ต้องไปบีบ ไม่ต้องไปบังคับมันหรอก ...ธรรมชาติของใจมันจะไม่เกลือกกลั้วกับอาการ โดยธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าใจนี่ ไปทำให้บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ หรือไปทำใจให้ไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ...เพราะธรรมชาติของใจคือธรรมชาติของใจ มันเป็นของมันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะนั้นมันจะไม่มีทางที่จะไม่บริสุทธิ์โดยตัวของมันเองหรอก  

พระพุทธเจ้าถึงเปรียบว่า กิเลสเหมือนกับซากศพ วัชพืช สิ่งของ มูลฝอย ที่อยู่ในทะเลน่ะ ...สุดท้ายน้ำทะเลมันก็จะพัดเข้าเกยฝั่งอยู่แล้ว เหมือนกัน

เพราะนั้นเพียงแต่ตั้งมั่นลงไปที่ใจ ...เมื่อเจอใจ เห็นใจแล้ว ให้ตั้งไปที่ใจนั่นแหละ  รู้อยู่อย่างนั้น อะไรก็รู้ๆ รู้ ...กลับมาอยู่ที่รู้ 

แรกๆ ก็ต้องน้อม ก็ต้องบังคับ ก็ต้องดึง ก็ต้องระลึกขึ้นมาให้รู้ๆ อยู่เสมอ ... ต่อไปนี่ มันเป็นอัตโนมัติของมันเอง ไม่ได้ตั้งใจจะรู้มันก็ดันเสือกรู้ 

กระทบนู่นกระทบนี่ ไม่รู้จะทำอะไร  มันก็...กูกลับมาที่รู้ดีกว่า มันกลับบ้านของมันเอง รู้...รู้อย่างเดียว

นั่นแหละเมื่อรู้อยู่อย่างนั้นโดยเป็นสัญชาติญาณ หรือว่าเป็นธรรมชาติ หรือว่าเป็นนิสัยขึ้นมาใหม่ ในการที่อะไรกระทบก็รู้ อะไรกระทบก็รู้ อะไรเกิดก็รู้ อะไรตั้งก็รู้ อะไรดับก็รู้  

มันจะรู้ๆๆ อยู่อย่างเดียว จนมั่นคงแนบแน่นอยู่ที่รู้ ...สติมันก็วิ่งเข้าไปจ่อ จมอยู่ที่รู้ตัวเดียวนั่นน่ะแหละ

ตรงนั้นแหละถึงเรียกว่าศีลสมาธิปัญญา จะเริ่มเป็นหนึ่งเดียวกับใจ ...อยู่ที่ใจที่เดียวเท่านั้นน่ะ ไม่ต้องไปหางานอื่นทำแล้ว 

อย่าไปเชื่อไอ้ความสงสัยลังเลว่าจะต้องทำยังไงอีก จะต้องหาทางทำลาย กำจัด จะละทิ้งตัวผู้รู้ยังไง จะทิ้งสละออกยังไง จะฆ่าผู้รู้ยังไง ...ฟุ้งซ่านๆ

อย่าฟังมัน ...รู้เข้าไป อยู่ตรงนั้นแหละ  เขาทำหน้าที่ของเขาไปโดยปริยายของเขาเอง อยู่ในครรลองของมรรคไม่ต้องกลัว ...ไม่ต้องกลัวโง่ 

ไอ้ที่กลัวโง่นั่นน่ะ เขาเรียกว่ามันเป็นภยาคติ อย่างหนึ่ง เป็นโมหะคติอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อ เป็นทิฏฐิ ...อย่าไปฟังมัน อย่าไปฟังมันเป่าหู นะ 

กิเลสเหมือนเซลแมน มันเสนอสินค้าใหม่ๆ มา เฮ้ยๆ อันนี้ดีเว้ย ต้องอย่างงี้ๆ พั้บ อ่ะ... “กูรู้ๆ กูเคยใช้แล้ว พังตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดกล่องเลย ไม่ซื้ออ่ะ”  เอ้า อันนี้ไม่ซื้อ เดี๋ยวมันก็เอาของใหม่มาเสนออีก

แล้วพวกเราก็... “เออ อันนี้ดูดีกว่าว่ะ เอาอีกแล้วกู...ซื้อ” เชื่อ เสร็จ ใช้ไปสักวันสองวัน เดือนสองเดือน ปีสองปี...พังอีกแล้วครับท่าน แล้วเดี๋ยวมันก็จะเสนอใหม่

อย่าไปฟัง เซลแมน มันหลอก ...กิเลสมันมีเล่ห์มีเหลี่ยม หลอกลวง "ต้องอย่างงั้นนะ ต้องอย่างนี้นะ เคยได้ยินมาว่า เขาเล่าว่า เขาบอกว่า อาจารย์องค์นั้นว่า" ... ใครว่า กูเชื่อไปหมดเลย 

อย่าไปฟัง ...อาจารย์ไหนก็ไม่เท่ากับสิ่งที่มันปรากฏ ...อยู่ที่รู้นั่นแหละ อะไรไม่เอา ไม่เอา ไม่เอา ...นี่ จำไว้ ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น 

โง่เข้าไว้ รู้เท่านั้นแหละ อยู่ที่รู้ อะไรก็รู้ๆ  อะไรมันจะเกิดน้อย เกิดมาก กลับมาที่รู้ที่เดียวเท่านั้น ...รู้ไปรู้มา ต่อไปมันไม่มีอะไรจะออกมารู้เลย ต่อไปมีแต่ว่าเกิด-ดับๆๆ เออ เอาดิ


พอลองหยั่งไปถามว่าอะไรเกิด-ดับวะ กูไม่รู้อ่ะ กูยังไม่รู้เลยว่าอะไรเกิด-ดับ อะไรมันเกิด หรือว่าอะไรมันดับไป รู้แต่ว่ามันเกิด-ดับๆ ... เพราะอะไร เพราะมันยังไม่ทันเป็นอะไร มันก็ดับทันที นั่นแหละ


(ต่อแทร็ก 3/10 ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น