วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/23 (6)


พระอาจารย์
3/23 (540307)
7 มีนาคม 2554
(ช่วง 6)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/23  ช่วง 5

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าไม่มีรู้น่ะมันเป็น “เรา” หมดแหละ แล้วก็ “เรา” ก็พาร่อนเร่พเนจรไปในภพทั้งสาม ไปในอนันตาจักรวาล ไปในอนันตกาล ไม่มีที่สิ้นสุด ...เรานั่นแหละพาไป...ด้วยความไม่รู้นะ

โดยเข้าใจว่าข้างหน้าน่ะมันจะมี แล้วข้างหน้านะมันจะดีกว่านี้ ได้ตรงนี้แล้วข้างหน้าก็จะดีกว่านี้อีก นั่น แล้วก็วิธีการที่ได้ยินได้ฟังมาก็ดีกว่านี้อีก ...หาคำว่าจบ หาคำว่าสิ้นนี่ไม่ได้เลย

เขาก็บอก..ทำๆ ไปเดี๋ยวก็รู้เอง เดี๋ยวก็หมดเองน่ะ อย่าขี้เกียจ ทำเยอะๆ ...ก็พูดแบบปัดสวะให้พ้นตัวไป สอนแบบหา...บุฟเฟต์ เคยรู้จักบุฟเฟต์ไหม หากินเอาเอง ใช่ป่าว

แล้วก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้นน่ะ หวังฟลุ้ค ...วันไหนดี ก็โอ้โหย ดีอกดีใจ จดจำให้แม่นเลยวิธีการนี้ เข้าจิตอย่างนี้ รักษาจิตอย่างนี้ เอาให้แน่น

พอมาอีกที ไม่ได้อีกแล้ว ...หงอยอีกแล้วๆ หงอย ซึม ตำหนิตัวเอง ตำหนิคนนั้นคนนี้ ตำหนิอาจารย์ สอนไม่ดี ตำหนิไปทั่ว ...เริ่มแล้วๆ เริ่มพาลแล้ว 

เพราะอะไร ...เพราะมันมีเป้าหมาย แล้วไอ้เป้าหมายนั่นเป็นแค่สมมุติและบัญญัติ ไม่ใช่ความจริง นะ ...การปฏิบัติไม่มีเป้าหมายหรอก มีแต่ความเห็นแจ้ง...เห็นแจ้งกับรู้จริง รู้จริงเห็นแจ้ง

รู้อะไรจริง...รู้ขันธ์ตามความเป็นจริง  แจ้งอะไร...แจ้งในขันธ์  รู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ว่าอย่างไร...ว่าไม่มีอะไรเลย เป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏขึ้นชั่วคราว 

เหมือนพลุอ่ะ อย่างนี้ มันถีบมันถองกันได้มั้ย มันเป็นตัวเป็นตนได้มั้ย มันแบกมันหามไปได้มั้ย มันเข้าไปจับจองเป็นของของเราได้มั้ย ฮึ 

มันเป็นแค่ วูบๆ วาบๆ ...จะว่าสวย ก็เออ สวยๆๆ แค่นั้นน่ะ  อ้อ อันนี้ไม่สวยๆ ก็แค่นั้นน่ะ  อ้อ อันนี้อยู่นานว่ะเฮ้ย มันสว่างตั้งห้านาที ก็แค่นั้นน่ะ

เห็นมั้ย ขันธ์ห้านี่เหมือนอย่างนี้ ทำไมถึงบ้าบอคอแตกกับมันนักหนา หวงแหน เสียดาย รับไม่ได้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ...เหมือนกับเราไปบังคับพลุ ทำไมมันมีสีนี้

ก็มันมีเหตุปัจจัยว่า เขาบรรจุไอ้วัตถุอย่างนี้ สารเช่นนี้ในสัดส่วนเช่นนี้ มันก็เลยพุ่งออกมาแตกต่างกัน ...ไม่ใช่เพราะเราเลือกหรือไม่เลือก แต่เพราะเหตุปัจจัยอันนี้ต่างหาก

และเมื่อมันหมดเหตุปัจจัยปั๊บ...สุญโญ นี่เขาเรียกว่าสุญโญ ไม่มีตัวตน ...สุญโญ แปลว่า ไม่มีตัวตน ...ไม่ใช่ว่างนะ แต่ไม่มี...หมดจากความเป็นตัวตน

การตั้งอยู่แค่ชั่วขณะ...ไม่เรียกว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงนะ ไม่เรียกว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง ...แต่เป็นแค่อาการหรือปรากฏการณ์หนึ่ง แล้วก็ดับไป

เมื่อมันเข้าใจอย่างนี้ ไม่ว่าอะไร...ต่อไป แค่รู้นี่ มันสรุป ซ.ต.พ. ซึ่งพิสูจน์ทราบได้ว่า...มึงเกิดตรงไหน มึงดับแน่  กูไม่ต้องรอหรอก กูไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำ กูไม่ต้องไปยินดียินร้ายด้วยซ้ำ

สุดท้ายก็แค่นั้นแหละ นะ เคยได้ยินคำพูดไหมว่า "ตถตา...มันเป็นเช่นนั้นน่ะ" ไม่รู้จะพูดยังไงดีว่ะ พอเห็นอย่างนั้น มันก็เป็นเช่นนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ตั้ง มันก็ตั้ง เมื่อหมดเหตุปัจจัยมันก็ดับ มันก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นยังไงล่ะ ...ก็ไม่รู้จะว่ายังไงโดยคำพูด ท่านก็บอกว่ามันเป็น...ตถตา

อย่าไปคาด อย่าไปหวัง อย่าไปมีอดีต อย่าไปมีอนาคตกับสิ่งที่ปรากฏนี้ ...มันตั้งก็รู้ว่าตั้ง ตั้งนานก็รู้ว่าตั้งนาน ตั้งน้อยก็รู้ว่าตั้งน้อย ตั้งอีกก็รู้ว่าตั้งอีก มีหน้าที่อย่างเดียว...รู้เข้าไป รู้อย่างเดียว

อย่าเข้าไปในฐานะ ผู้มี ผู้เป็น ผู้จะมี ผู้จะเป็น ...แต่ให้อยู่ในฐานะเป็นผู้รู้กับผู้เห็น ...พอจะมี..อ่ะ ทัน  พอจะเข้าไปเป็น..อ่ะ ทัน  พอจะเข้าไปหา..อ่ะ ทัน ...กลับมาลดฐานะตัวเองเป็นแค่ผู้รู้


โยม –  มันจะดับไปหรือไม่ดับก็ช่างมัน  

พระอาจารย์ –  เออ เรื่องของมัน ...ที่มันดับหรือไม่ดับ ไม่ใช่เพราะเรารู้มัน หรือเรามีสติแล้วมันต้องดับ...ไม่เกี่ยวๆ ...มันดับ-ไม่ดับตามเหตุปัจจัย 

ทำไมกายมันไม่ตายล่ะ เห็นมั้ย ยังตั้งโทโร่อยู่อย่างนี้ ทำไมไม่ดับล่ะ ...ก็พลุนี้เขาจุดตลอดเวลา ใช่ไหม มันมีเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่..จบ

อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปตำหนิมัน อย่าไปเบื่อ อย่าไปรำคาญ อย่าไปทำลายมัน อย่าไปแช่งมัน อย่าไปโกรธให้มัน  เนี่ย ถ้าเรารู้แบบยอมรับ...เออ มันก็ต้องเป็นอย่างเนี้ย

อันไหนดับก็คือต้องดับ เพราะมันหมดเหตุปัจจัย  อันไหนตั้งอยู่แปลว่ามันยังไม่หมดเหตุปัจจัย แล้วพร้อมที่จะหมดเหตุปัจจัยต่อไป ...เพราะไม่มีอะไรไม่ดับ

รู้แค่เนี้ย จะแจ้งจนเรียกว่าโลกวิทูเลย แค่รู้แค่นี้...ขอให้รู้ให้จริง รู้ให้เป็น รู้แล้วไม่ไป รู้แล้วไม่มา รู้แล้วไม่ก่อเกิด รู้แล้วไม่เพิ่ม รู้แล้วไม่ลด รู้แล้วโง่ รู้แล้วเฉย รู้บ่ดาย รู้ธรรมดา รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ

รู้เข้าไป รู้อย่างนี้เขาเรียกว่ารู้ในองค์มรรค รู้ด้วยความเป็นกลาง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น รู้ด้วยความไม่หวั่นไหว ..เห็นมั้ย จะพูดภาษาไหนก็ได้ แต่ก็รู้อย่างที่เราบอกนี่...รู้เฉยๆ

ทำอะไร ...ไม่ได้ทำ ขันธ์มันทำอยู่แล้ว ...นั่งเฉยๆ ดิ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิด ไม่ต้องหา ไม่ต้องกำหนดอะไรทั้งนั้น มันก็แสดงอาการล้านแปดของมันอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

ไม่ต้องไปเลี้ยงดูปูเสื่อ หรือไปบังคับว่าต้องกิน ต้องเดิน ต้องนอนอย่างนั้น ต้องให้จิตดำเนินอย่างนี้ ...มันดำเนินของมันเอง ขันธ์มันเป็นอย่างเนี้ย

เพราะนั้นไม่ต้องไปเลี้ยงดูปูเสื่อ หรือไปกำหนดวิถีจิตขึ้นมา แล้วว่าต้องเดินอย่างนี้วิถีนี้นะ ...เขามีวิถีของเขา ซึ่งไม่ใช่วิถีของเรา เป็นวิถีของจิต

เพราะนั้นจึงเห็นว่า จิตก็สักแต่ว่าจิต ธรรมก็สักแต่ว่าธรรม...ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ...กายสักแต่ว่ากาย รู้สักแต่ว่ารู้ เออ อย่างเนี้ย แค่เนี้ย

แต่พอเริ่มเข้าไปหมายมั่น..ทัน “ทำไมไม่เป็นอย่างนี้”...ทัน  “น่าจะเป็นอย่างนี้”..ทัน ...นี่ กริยาที่มันดื้อแพ่ง ด้วยความไม่รู้ แต่มันคิดว่ามันจะรู้มากกว่านี้

แน่ะ โง่ โง่ยิ่งกว่าที่เราบอกว่าให้รู้โง่ๆ ...ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าโง่ข้ามภพข้ามชาติ โง่ข้ามภพข้ามชาติ แล้วก็โง่พาเกิดพาตายข้ามภพข้ามชาติ ไม่มีคำว่าจบสิ้น

ถ้ายังตามมัน ถ้ายังเชื่อมัน ถ้ายังเป็นจริงเป็นจังกับมัน ถ้ายังเป็นทาสของมัน ถ้ายังอยู่ในแอกของมัน ...ก็เหมือนควาย เขาจูงออกไป...จูงไปฆ่าก็ได้ เขาจูงไปทำนาหวังว่าจะได้ข้าวมาขายเอากำไร ..นี่ ควาย

ใจดวงนี้ที่เคยเป็นใจของพุทธะ ใจของธรรมะ ใจของสังฆะ ...ใจดวงนั้นกลายเป็นควาย ถูกเขาลากไปลากมาด้วยความอยาก ลากไปอดีต ลากไปอนาคต

ปัญญา..ที่ไม่มีปัญญาแต่คิดว่ามีปัญญา ก็ขึ้นขี่บังคับไปเลย ขึ้นคอแล้วก็ไปกับมัน นี่ “เราๆๆ” ช่วยกัน ช่วยกันไปตาย ช่วยกันไปทำนา ...โดยเข้าใจว่าเดี๋ยวรวยๆ เดี๋ยวรวยธรรมะ

คือถ้าเป็นธรรม ก็เดี๋ยวรวยธรรมะ มาปฏิบัติก็รวยธรรมะ ...ถ้าเป็นคนในโลกก็รวยทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ ความมีหน้ามีตา ความเคารพยกย่องนับถือของคนในโลก อะไรก็ว่ากันไป

ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็รวยธรรม รวยมรรคผล เป็นโสดาบัน เป็นอนาคา เป็นอรหันตา ...จะเป็นอะไรสักอย่าง นั่นน่ะ กูจะเอาให้ได้ กูจะเป็นให้ได้ 

เนี่ย ขึ้นขี่...ควาย ...อรหันต์ก็อรหันต์ควาย โสดาก็โสดาควาย สกิทาคาก็สกิทาคาควาย อนาคาก็อนาคาควาย

จริงๆ น่ะคือไม่เข้าไปถือครองอะไร แค่รู้อยู่ตรงนี้ ...แล้วทุกอย่างที่อยู่ต่อหน้าเรานี่ ไม่มีอะไรหรอก  อย่าไปคิดว่ามันเที่ยง อย่าไปคิดว่าจับต้องอะไรได้

กายยังจับไม่ได้เลย ไอ้ที่จับนี่เป็นธาตุ (เสียงสัมผัสกาย) ...แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง...จับได้ไหม  ไหว นิ่ง ขยับ นี่..จับได้ไหม จับอาการของกายมาดูได้ไหม

ไปยืนกลางแดดแล้วบอกให้มันเย็น บอกได้ไหม นี่ เขาแสดงออกมาตรงๆ น่ะ  เข้าร่มแล้วบอกให้มันร้อน มันก็ไม่ร้อนน่ะ ...แล้วยังมาบอกว่ากายนี้เป็นเรายังไง เป็นของเราได้ยังไง 

ก็ดูไปสิ หรือว่าเป็นตัวเป็นตนอย่างไร เห็นมั้ย เดี๋ยวกายก็เป็นลม เดี๋ยวกายก็เป็นแข็ง เดี๋ยวกายก็เป็นยืดๆ หยุ่นๆ เดี๋ยวกายก็กลายเป็นไหว เดี๋ยวกายก็กลายเป็นนิ่ง เป็นเบา 

เดี๋ยวมันก็กลายเป็นเมื่อย เดี๋ยวกายก็กลายเป็นปวด เอ้า เดี๋ยวกายก็เป็นเห็น เดี๋ยวกายก็กลายเป็นได้ยิน ...เห็นมั้ย ถามว่ากายจริงๆ คืออะไรวะ มีตัวตนที่แท้จริงไหม

ไอ้ที่เห็นนี่คือรูปภาพนะ หลับตาสิ มันไม่มีภาพแล้ว ...ไอ้ที่เห็นเป็นแค่ภาพเท่านั้นเอง ไม่ใช่กาย...เป็นภาพ ...เดินมาในความมืดนี่ไม่รู้ใครเป็นใครเลย มันมีแสงก็เลยเห็น

แต่กายจริงๆ นี่ หลับตาจะเห็นเลย มันเป็นแค่ความรู้สึก เป็นแค่ความรู้สึกตัว ...เพราะนั้นถ้าดูแค่ความรู้สึกตัวนี่ ในโลกนี้...อันเดียวกัน กายนี้เป็นกายเดียวกัน

เป็นแค่ความรู้สึกเดียวกัน เหมือนกัน แบ่งแยกไม่ออก ...ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย ไม่มีของใคร ไม่มีดี ไม่มีไม่ดี ...แต่เป็นปรากฏการณ์เหมือนฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตกแดดออก 

เท่ากัน ...ไม่มีสูงต่ำดำขาว ไม่มีเหนือกว่า-ด้อยกว่า ไม่มีสวยกว่า-ไม่สวยกว่า ...นี่เห็นนี่ มันจึงจะเข้าไปลบล้างสักกายหรือความเห็นผิดในกาย ว่ากายนี้เป็นเรา กายนี้เป็นของเรา 

ที่ว่ากายนี้เป็นชาย กายนี้เป็นหญิง กายนี้เป็นของน่าใคร่ กายนี้เป็นของสวยงาม กายนี้เป็นของดี กายนี้เป็นของไม่ดี...มันไม่ใช่ไม่ดี บางคนทุพพลภาพก็จะตำหนิว่ากายนี้ไม่ดี

มันเป็นแค่สมมุติภาพขึ้นมาเท่านั้น ของการปรุงแต่งของกาย ไม่ใช่สมบัติของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

เวลามันเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้บอกว่าข้าพเจ้ามาแล้ว ข้าพเจ้าชื่ออะไร ...หนาวนี่ พอหนาวปุ๊บ มันก็เป็นแค่ความรู้สึก ไม่เคยบอกว่าฉันหนาว ...เห็นมั้ย ไอ้ใครว่า ไอ้ตัวนั้น...ให้ทัน ว่า “เรา...เราว่า”

เพราะนั้น ในขันธ์นี่ ตามความเป็นจริงของขันธ์กับรู้นี่...มีแค่นี้เอง นอกนั้นเกิน ...อะไรเกิน ความอยากก็เกิน ความไม่อยากก็เกิน เราก็เกิน ของเราก็เกิน อดีตก็เกิน อนาคตก็เกิน พวกนี้ไม่มีจริงหมดเลย

เห็นมั้ย ถ้าได้อยู่ในความจริงแล้วมีแค่นี้...มีแค่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ในปัจจุบัน ...และจริงเข้าไปเรื่อยๆ ถึงที่สุดแล้วก็จะเห็นว่ารู้ไอ้ตรงนี้ที่ตรงหน้าตรงปัจจุบันนี่ ก็พร้อมที่จะดับ พร้อมที่จะสลาย

เนี่ย มันมีความจริงอยู่แค่นี้ นอกนี้ไปนี่ ไม่จริงหมดเลย  ไม่มีอะไรจริง ...มันเป็นแค่มายา เป็นแค่วิตกจริต เป็นแค่ฟุ้งซ่าน เป็นแค่ความไม่รู้ที่มันปรุงวุ่นวี่วุ่นวาย กระเซอะกระเซิง

แล้วเราไม่รู้ ก็ไปเอามันมาเป็นเจ้านาย ...ใจดวงนี้เลยกลายเป็นทาสของความปรุงแต่ง ของตัณหา ของความอยากและไม่อยาก

เอาแล้ว พอแล้ว ไปได้แล้ว ถึงเวลา ได้เวลาแล้ว ฟังมานานแล้ว


โยม –  ไม่ถามอะไรแล้ว อาจารย์สอนแจ่มแจ้งเลยครับ ที่แบบว่าจิตผู้รู้หายไปนี่ กลับมาเลยครับ      

พระอาจารย์ –  ให้มันตื่น ...มันไม่หายไปไหนนะ ใจดวงนี้ไม่เคยหายนะ  ที่มันหายคือโมหะมาครอบงำ แล้วก็ใจไปอยู่ในอดีต-อนาคต ...มี “เรา” เข้ามาบดบังแค่นั้นเอง

เพราะนั้น สงบ ระงับ ตั้งมั่นและระลึกอยู่ ...ง่ายๆ สบายๆ ตรงปัจจุบัน จะเห็นชัดเลยว่ามันมีแค่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ปรากฏแล้ว...แค่นั้นแหละ ไม่มาก ไม่น้อย มีแค่นั้นจริงๆ 

รู้ก็มีแค่รู้ตรงนั้นจริงๆ ตรงนั้นน่ะเรียกว่ารู้ชัดที่สุดแล้ว คือตรงนี้ แค่นี้เอง ...อย่าทำให้รู้ให้เด่นให้ชัดให้ อู้หู มหัศจรรย์ ...ไม่มีอ่ะ อันนั้นเป็นอาการ ...แค่รู้ธรรมดา รู้กับเห็น รู้กับเห็นๆ

ถามเด็กเจ็ดขวบ เป็นไง พ่อแม่ด่าโกรธมั้ย นั่งอยู่ปวดมั้ย เมื่อยมั้ย รู้มั้ย...มันก็รู้ ...แค่รู้เห็นตรงนี้ เด็กมันยังรู้เห็นได้เลย มีเลยตัวรู้ตัวเห็นน่ะ ...ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปทำลาย ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปลด มันมีแค่นั้นแหละ


โยม –  เดี๋ยววันเสาร์สามีกับลูกจะมาด้วยน่ะค่ะ   

พระอาจารย์ –  มาทำไม เขาปฏิบัติหรือเปล่า


โยม –  ปฏิบัติค่ะ ลูกชายก็กำลังมาในแนวทางที่หนูแนะนำ สวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ดีอยู่ ...เบื้องต้นมันต้องทำอย่างนั้นมาก่อน เพื่อกรุยทางมาให้เกิดความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิและปัญญา 

ทำไปๆ มันก็ค่อยๆ เกิดความมั่นใจ แจ้งเองว่า การปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการทำหรือไม่ทำ ...แต่การปฏิบัติจริงๆ คือรู้หรือไม่รู้ แค่นั้นเอง 

ถ้าไม่รู้...ไม่ใช่การปฏิบัติ  ถ้ารู้อยู่...ทุกอย่างก็จะเป็นการปฏิบัติ ...จะโกรธอยู่ก็เป็นการปฏิบัติ จะมีกิเลสความอยาก-ไม่อยากเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นการปฏิบัติ...ถ้ารู้อยู่ว่าอยาก-ไม่อยาก แค่นั้นแหละ อยู่ที่รู้ นะ

ถ้าไม่มีรู้ ไม่มีหมดน่ะ ไม่ได้อะไรหมดแหละ ...ถึงแม้จะรู้สึกว่าได้อะไรก็ไม่ใช่ ถึงใช่ก็ไม่ใช่ ถึงได้ก็ไม่มี ถึงเป็นก็ไม่ใช่ ก็ไม่ได้เป็นจริงอย่างนั้น ...มันถูกหลอกแล้ว

แต่ถ้ารู้อยู่ ทุกอย่างตรงหมด ถูกหมด  ผิดหมดก็ถูกหมด ไม่เหมือนอย่างที่เราคาดก็ถูกหมด ...เพราะมันจริง เพราะมันปรากฏจริง


...............................




แทร็ก 3/23 (5)


พระอาจารย์
3/23 (540307)
7 มีนาคม 2554
(ช่วง 5)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/23  ช่วง 4

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นในลักษณะของปัญญา ...การปฏิบัติทั้งหมดที่เราสอนนี่ ที่เราพูดนี่ คือปัญญาวิมุติ นี่คือปัญญาวิมุติ ...เป็นปัญญาที่เกิดจากการไม่พิจารณา แต่เห็นเข้าไปตามความเป็นจริงตรงๆ

อย่าไปสับสนกับการที่ว่าต้องพิจารณาให้เห็น...ด้วยการคิด นึก น้อม นำ หรือทำ โดยเข้าใจว่ามันจะเกิดปัญญา จะเข้าใจ จะแจ้ง จะชัดขึ้นมา


โยม –  ทีแรกก็ว่าจะเปลี่ยนใช้อุบายซะแล้ว   

พระอาจารย์ –  เข้าใจแล้วใช่มั้ย   


โยม –  ค่ะ  

พระอาจารย์ –  อันนั้นเราก็ไม่ได้บอกว่าไม่ใช่หรือผิดนะ ...แต่มันเป็นอีกวิถีหนึ่งของการปฏิบัติ ซึ่งเราไม่ค่อยแนะนำสำหรับคนทั่วไป ...เพราะมันยาก 

มันจะต้องจำเพาะกาล จำเพาะสถานที่ จำเพาะกระทั่งบุคคล ...คือไม่อาจเปิดเป็นสาธารณะ สำหรับทุกคน ที่จะทำได้ในทุกกาล ทุกสถานที่ ...มันมีความจำเพาะ

แต่การเจริญสติอย่างนี้ มันทำได้...ที่จะเป็นกลาง พร้อมที่จะมีสติระลึกรู้ สามารถรู้เห็นขนาดนั่งอยู่ในห้องประชุมน่ะ...ก็ยังเห็นกายตามความเป็นจริงได้ เข้าใจมั้ยสติตัวนี้

แต่ถ้านั่งอยู่ในห้องประชุมแล้วมานั่งกำหนดพิจารณากระดูกนี่...ไม่มีทาง บอกให้นะ ...หรือให้เห็นเป็นซากศพนี่ อันนั้นเป็นบางคนที่ได้เท่านั้นเอง

ซึ่งสำหรับอย่างนี้แล้ว ถ้ามาเริ่มต้น ก.ไก่ ข.ไข่ นี่ ต้องถามก่อนว่า จะเอากี่ชาติดี ...ถึงจะสะสมกำลังของจิตในการพิจารณาด้วยจินตามยปัญญาให้เข้มข้นถึงขนาดเกิดเป็นผลเช่นนั้นขึ้นมา

แต่ในลักษณะของปัญญาวิมุติคือเจริญสติตรงๆ นี่ จะเห็นความเป็นจริงต่อหน้าเลย ...เห็นกายก็เห็นกายตรงๆ คือกายความรู้สึก คือกายวิญญาณ แล้วก็เห็นเวทนาทางกายที่ติดอยู่กับกายวิญญาณ

กายเวทนานี่ติดอยู่กับกายวิญญาณ ...กายวิญญาณคือธาตุ แข็ง อุ่น ไหว นิ่ง ขยับ เป็นก้อน น้ำหนัก นี่พวกนี้เห็นมั้ย มันเป็นธาตุน่ะ ...อันนี้คือกายเป็นธาตุ กายเป็นกายวิญญาณ

และในกายวิญญาณนี่ เมื่อมีผัสสะมากระทบปุ๊บ มันจะเกิดเวทนา ตึงบ้าง อุ่นบ้าง ปวดบ้าง เมื่อยบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เหล่านี้ ...เพราะนั้นความรู้สึกนี่ มันจะเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ที่ตัวนี้ (เสียงสัมผัสกาย) 

เพราะนั้น ถ้ารู้อยู่นี่ จะเห็นสองอาการนี่อยู่คู่กัน...เมื่อมีธาตุ ต้องมีเวทนา แล้วก็มีใจที่รู้อยู่ ...ถ้าอยู่สามอาการอย่างนี้ ไม่มีปัญหาเลย เนี่ย ...มันมี “เรา” อยู่ตรงไหนล่ะ

แต่ถ้ามี “เรา” เกิดขึ้น หรือว่าเผลอ หรือว่าเกิดความรู้สึกว่าเป็นเรา ของเรา ปุ๊บ...ให้ทัน ให้แค่รู้ว่า...อ้อ มันว่าว่าเป็นเราอีกแล้ว ก็ให้รู้ว่ามันว่าว่าเป็นเรา...พอ

อย่าไปตีอกชกหัวว่า “ทำไมมันไม่หายไปสักที ทำไมมันเกิดซ้ำซาก แล้วจะมีวิธีไหนไม่ให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา” ...เนี่ย ไอ้อย่างเนี้ยเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว 

ก็ให้ทัน...ว่าเราเริ่มตีอกชกหัว เราเริ่มเดือดเนื้อร้อนใจ เราเริ่มกังวล...ให้รู้ ...เห็นมั้ย กริยาของจิต ก็ให้ทัน แล้วก็ช่างหัวมัน


โยม –  ถ้าจะเปลี่ยนท่าหรืออะไรก็แค่รู้ตรงนั้นของกาย  

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ลงไป   


โยม –  อ๋อ ไม่ต้องยึดว่าฉันต้องอยู่ในท่านี้    

พระอาจารย์ –  ใช่ เบื้องต้นเอาง่ายๆ อย่างนี้ ...รู้ง่ายๆ ทำง่ายๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้หวังอะไร

เพราะนั้นเวลานั่งสมาธินี่ อยากกำหนดอะไร หรือไม่กำหนดอะไร หรือจะนั่งเฉยๆ นั่งไปเหอะ ...ไม่ได้ว่าต้องสงบหรือไม่สงบ นั่งเพื่อให้รู้ ว่ากำลังนั่ง ว่ากำลังปวด ว่ากำลังมีความคิดอีกแล้ว 

เออ หรือมีพุทโธ...ก็รู้ กำหนดยุบหนอพองหนอ..ก็รู้ ...จริงๆ ท้องน่ะมันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันยุบ-มันพอง ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์มันด้วยซ้ำว่ามันพอง มันยุบ 

ตัวมันยังไม่รู้เลยว่ากูยุบ กูก็ไม่รู้ว่ากูพอง ...นั่นน่ะกายจริงๆ ดูที่กายจริงๆ ...ก็ดูแค่..ไอ้ใบ้ กายเป็นไอ้ใบ้ ...ทำไมจะต้องไปบอกว่ามันพองมันยุบ

อันนี้สมมุติเอานะ อันนี้เข้าไปปรุง อันนี้เข้าไปให้สัญญากับมัน เป็นสัญญา ...ก็ให้รู้ว่านี่เป็นนาม การว่ายุบการว่าพองนี่ ...แต่กายเป็นกาย กายไม่ใช่นาม 

เห็นมั้ย แยกรูปกับนามออกจากกัน ...อย่าเข้าใจว่าท้องมันพองท้องมันยุบ ...ไอ้คำว่ายุบ ไอ้คำว่าพอง...เป็นนามที่มาประกอบกับรูป แล้วมันจะเกิดความเข้าใจผิด 

นั่งไปดูไป ถ้าดูเฉยๆ เงียบๆ สงบ ระงับ ด้วยสันติ มันไม่มีคำพูดอะไรหรอก มันก็เป็นก้อนๆ ทื่อๆ

เดี๋ยวมันก็บอกว่า “กำลังนั่งอยู่”  ก็ให้รู้ว่ามันว่า...กำลังนั่ง ...หมายความว่าให้รู้ว่ามันมีความคิดขึ้นมาว่ากำลังนั่ง เข้าใจมั้ย ...เพราะตัวนี้มันไม่ได้นั่ง มันเคยบอกมั้ยว่ากูนั่ง    


โยม –  ตัวที่วิ่งอยู่ตลอดก็คือ...  

พระอาจารย์ –  คือนาม เข้าใจมั้ย ...เพราะกายไม่เคยนั่ง ไม่เคยยืน ไม่เคยเดิน ไม่เคยนอน มันเป็นทื่อ ...ก็ให้เห็นว่ามีนามเกิดขึ้น พอรู้ทันว่ากำลังนั่ง ปุ๊บ ก็รู้ว่ารู้ว่านั่งปรากฏ ไม่ต้องสนใจ เดี๋ยวมันก็ดับ

หรือมันเคยชินกับยุบหนอพองหนอ เดี๋ยวมันก็ขึ้นมา ยุบ-พอง ...ก็ให้รู้ว่ามันกำลังพูดว่ายุบ-พอง ว่าเป็นนาม  ไม่ต้องไปจริงจังว่าจะต้องให้มี “ยุบ-พอง” อยู่ตลอด เดี๋ยวมันก็ดับถ้าเราไม่สนใจมัน อย่างเนี้ย

หรือถ้ามันเกิดความรู้สึกว่าเรากำลังนั่งอีก แล้วก็บอกว่า “เรากำลังนั่งๆ” ก็ดูลงไปที่กายเลย ...พอดูไปที่กายปุ๊บ ก็ไม่เห็นมัน “นั่ง” ตรงไหน “เรา” ก็ไม่เห็นมีตรงไหน เข้าใจมั้ย ...คือดูไป แก้ไปตรงๆ

มันบอกว่า “เดิน เรากำลังเดิน” ไหนวะ ดูลงไป แล้วจะเห็นว่า “เรา” อยู่ตรงไหนวะ ...มันจะแก้กันที่ตรงนั้น  ก็จะเห็นว่ากายไม่เคยยืน ไม่เคยเดิน ไม่เคยนั่ง แล้วก็ไม่เป็นเราเดิน เรานั่ง เรานอน

เพราะนั้นไอ้ตัว “เรา” ที่ขึ้นมานี่ มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น ...ความเป็นจริงไม่มี "เรา"  กายไม่มีเรา กายไม่เป็นเรา กายไม่ได้เป็นของเรา

แม้แต่นามก็ไม่ได้เป็นของใคร มันก็ปรากฏด้วยความเห็นผิด ...ถ้าเราไม่สนใจมัน ก็จะเห็นว่ามันดับ ก็เห็นนามนั้นดับ มันดับของมันเอง ...ไม่ต้องไปฆ่า ไม่ต้องไปฟัน ไม่ต้องไปทำลายมัน

อย่าไปสนใจมัน มันก็ดับ ...ไม่ไปต่อแขนต่อขา ประคับประคอง ไปพยุงมันให้อยู่ต่อเนื่อง มันก็ดับ ...แล้วก็ไม่ต้องเอามาเป็นสาระแก่นสาร

“เดี๋ยวจะหลุดจากคำภาวนา เดี๋ยวจะไม่สงบ เดี๋ยวมันจะไม่ไปถึงฝั่งนะ เดี๋ยวมันจะไม่รวมนะ” อันนี้ก็ให้รู้อีกว่ามันมีความเห็นอย่างนี้แทรกขึ้นมาอีกแล้ว ...ก็ให้รู้แล้วอย่าสนใจ

พอไม่สนใจเดี๋ยวมันก็หายไปเอง เข้าใจมั้ย มันเป็นแค่อะไรลมๆ แล้งๆ วูบๆ วาบๆ ....เห็นมั้ย อาการวูบๆ วาบๆ ถ้าเราไม่ใส่ใจมัน ก็จะเห็นเป็นแค่อาการวูบๆ วาบๆ นั่นคือนาม

ถ้ามันยังไปจับเป็นประเด็น หรือไปคว้า ไปจับ หรือไปข้อง หรือไปติด ไปคิดต่อ ไปหาเหตุหาผลกับมัน ...พอรู้ตัวปุ๊บ กลับมารู้สึกตรงๆ โง่ๆ กับกาย

ดูมันเฉยๆ แล้วก็อด...อดความอยากคิด อย่าไปคิดตามมัน ...ให้มันมั่นคงลงไปที่กาย ที่ความรู้สึกตัว

จริงๆ น่ะ พอกลับมารู้สึกตัว ปุ๊บ ขณะแรกที่รู้สึกตัว...ให้สังเกตตรงนั้น จะเห็นอาการของนามดับวูบลงไปทันทีเลย ...ความดับไปในอารมณ์ขณะแรกที่เปลี่ยนกลับมาระลึกรู้ในปัจจุบัน ทุกอย่างดับหมด ตั้งอยู่ไม่ได้

เพราะนั้นแก้อะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ถูก สงสัย-ไม่สงสัยอะไร ...กลับมารู้กายปัจจุบันเป็นฐานก่อน ด้วยความแยบคาย แล้วจะเห็นเลยว่ามันดับหมดน่ะ

กำลังมั่ว กำลังมะงุมมะงาหรา กำลังลูบๆ คลำๆ อยู่กับความคิดความเห็น การกระทำในอดีต-อนาคตอะไร...มันจะพึ่บ ดับหมดเลย ...ก็กลับมา แค่นี้ อยู่แค่ขยับนี่ ไม่มีอะไรเลย มีแค่ขยับกับรู้ สองอย่าง


โยม –  ไม่ต้องขวนขวายสวดมนต์เดินจงกรมอะไร  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง อันนั้นมันเป็น accessory ...นี่เราพูดในฐานะที่ว่า ตามความเป็นจริงนะ เราไม่ได้พูดเอาถูกเอาผิดนะ

แต่ถ้าอยู่ในสังคม อยู่ในหมู่คณะอะไรที่เขาทำ ก็ทำไป แต่ไม่ได้เอาผลอะไร ...เราไม่ได้เอาอันนั้นเป็นตัวหวังผล  แต่ทำยังไงถึงจะมีรู้กำกับอยู่ตลอดเวลา...อันนี้คือผล

แม้กระทั่งกิน แม้กระทั่งเดิน แม้กระทั่งหัวเราะ แม้กระทั่งคุยโทรศัพท์ แม้กระทั่งขี้ แม้กระทั่งอะไรก็ตาม...มีมั้ย ที่รู้อยู่เห็นอยู่...เป็นเหมือนเห็บติดกับหมาน่ะ เอาอย่างนั้นสิ

เพราะธรรมชาติของใจนี่ไม่เคยออกจากกายนี้เลย มีอยู่ตลอด ...แต่มันถูกปิดด้วยความหลง คือความไม่รู้ คือความเผลอเพลิน ...เพราะนั้นอย่าขี้เกียจ 

อย่าขี้เกียจระลึกรู้ อย่าเบื่อที่จะไม่เห็นอะไรที่ยิ่งกว่านี้ ที่ดีกว่านี้ ...ให้รู้ไว้เลยว่า ไอ้ที่ดีกว่า ยิ่งกว่านี้ มันเป็นความปรุง เป็นความเชื่อที่มันปรุงขึ้นมา

พอรู้ว่ามันเป็นความคิดความปรุง...ทิ้งเลย  อย่าไปต่อแขนต่อขามัน ...เดี๋ยวมันจะแข็งแกร่งเป็นตัวเป็นตนแล้วละได้ยาก แล้วมันจะบีบคั้น บังคับ กดข่ม แล้วจะเกิดความรู้สึกเครียด

พอเป็นแขนเป็นขา แล้วจะรู้สึกมันหนัก มันกด ถ้าไม่เชื่อฟังมัน ไม่ทำตามมัน ...นั่นแหละคือเราไปต่อแขนต่อขาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  จนตัวมันเป็นมวล เป็นของเที่ยง เป็นความเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ทั้งๆ ที่ว่าความจริงมันไม่ได้มีอะไรเลย ...ให้เห็นง่ายๆ พอรู้สึกเครียด กังวล ปุ๊บ ให้กลับมายืน เดิน หรือเคลื่อนไหวก็ได้ อะไรก็ได้ ให้เห็นปัจจุบันปุ๊บ สักพักหนึ่ง


โยม –  ทำเหมือนไม่รู้ใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  ใช่ ทำเหมือนไม่สนใจมันน่ะ... แล้วจะเห็นเลยว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทั้งสิ้นน่ะ เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ ว่างเปล่าหมดน่ะ     


โยม –  มันติดนิสัยว่าตั้งใจจะรู้ไปหมด   

พระอาจารย์ –  เขาเรียกว่าแสนรู้ ...อะไรที่มันเกินรู้เดียวนี่ เขาเรียกว่าแสนรู้...หมา ใช้กับหมา ไม่ใช้กับนักปฏิบัติ ...นักปฏิบัตินี่รู้อันเดียว รู้กับสิ่งเดียว นี่เรียกว่าสมาธิ รู้กับสิ่งเดียวนี่เรียกว่าจะให้เกิดปัญญา

คำว่าละเว้น นี่ ศีลก็ละเว้น ...ละเว้นอะไร ...ละเว้นที่จะไหลตามออกไป มันจะบอกให้ทำอย่างนี้ มันจะคิดไปข้างหน้า มันจะคิดไปข้างหลัง พอรู้ทันแล้วเว้นซะ อยู่ตรงนี้...พอ สันโดษ ตั้งมั่น รู้แค่หนึ่งเดียว

นี่ มันก็เลยจะต้องมาต่อสู้กับคำว่าอยากรู้ แสนรู้ กลัวไม่รู้ …ก็อดไว้ โง่เข้าไว้ รู้แค่หนึ่งเดียว ต่อหน้านี่ ปัจจุบันหนึ่งเดียวนี่ และเห็นว่าไอ้หนึ่งเดียวข้างหน้านี่ มันไม่คงที่เลย

รักษามันก็ไม่อยู่ ไม่รักษามันก็ไม่อยู่ ไม่ให้เกิดมันก็เกิด อยากให้มันดับมันก็ดันตั้งอยู่ อยากให้มันตั้งอยู่ก็เสือกดับ เอาดิ ...แล้วจะเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องของกูเลยนะนี่

แน่ะ ปัญญาจะเริ่มค่อยๆ เข้ามาซึมซาบ เข้ามาทดแทนความเห็นผิด หรือพูดง่ายๆ จะมาล้างความเห็นผิดภายใน คือความไม่รู้

เพราะนั้นยิ่งรู้ยิ่งเห็นอย่างนี้บ่อยๆ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งเป็นอิสระออกจากความคิด เป็นอิสระออกจากรูปเสียงกลิ่นรส เป็นอิสระออกจากสุขทุกข์

ก็เป็นเรื่องของมัน ...ไม่มีเราในทุกข์ ไม่มีเราในสุข  มีแต่รู้ว่าทุกข์ มีแต่รู้ว่าสุขกำลังตั้งอยู่ ...เห็นมั้ย เปลี่ยน “เรา” เป็น “รู้” แล้ว


(ต่อแทร็ก 3/23  ช่วง 6)