วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/23 (5)


พระอาจารย์
3/23 (540307)
7 มีนาคม 2554
(ช่วง 5)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/23  ช่วง 4

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นในลักษณะของปัญญา ...การปฏิบัติทั้งหมดที่เราสอนนี่ ที่เราพูดนี่ คือปัญญาวิมุติ นี่คือปัญญาวิมุติ ...เป็นปัญญาที่เกิดจากการไม่พิจารณา แต่เห็นเข้าไปตามความเป็นจริงตรงๆ

อย่าไปสับสนกับการที่ว่าต้องพิจารณาให้เห็น...ด้วยการคิด นึก น้อม นำ หรือทำ โดยเข้าใจว่ามันจะเกิดปัญญา จะเข้าใจ จะแจ้ง จะชัดขึ้นมา


โยม –  ทีแรกก็ว่าจะเปลี่ยนใช้อุบายซะแล้ว   

พระอาจารย์ –  เข้าใจแล้วใช่มั้ย   


โยม –  ค่ะ  

พระอาจารย์ –  อันนั้นเราก็ไม่ได้บอกว่าไม่ใช่หรือผิดนะ ...แต่มันเป็นอีกวิถีหนึ่งของการปฏิบัติ ซึ่งเราไม่ค่อยแนะนำสำหรับคนทั่วไป ...เพราะมันยาก 

มันจะต้องจำเพาะกาล จำเพาะสถานที่ จำเพาะกระทั่งบุคคล ...คือไม่อาจเปิดเป็นสาธารณะ สำหรับทุกคน ที่จะทำได้ในทุกกาล ทุกสถานที่ ...มันมีความจำเพาะ

แต่การเจริญสติอย่างนี้ มันทำได้...ที่จะเป็นกลาง พร้อมที่จะมีสติระลึกรู้ สามารถรู้เห็นขนาดนั่งอยู่ในห้องประชุมน่ะ...ก็ยังเห็นกายตามความเป็นจริงได้ เข้าใจมั้ยสติตัวนี้

แต่ถ้านั่งอยู่ในห้องประชุมแล้วมานั่งกำหนดพิจารณากระดูกนี่...ไม่มีทาง บอกให้นะ ...หรือให้เห็นเป็นซากศพนี่ อันนั้นเป็นบางคนที่ได้เท่านั้นเอง

ซึ่งสำหรับอย่างนี้แล้ว ถ้ามาเริ่มต้น ก.ไก่ ข.ไข่ นี่ ต้องถามก่อนว่า จะเอากี่ชาติดี ...ถึงจะสะสมกำลังของจิตในการพิจารณาด้วยจินตามยปัญญาให้เข้มข้นถึงขนาดเกิดเป็นผลเช่นนั้นขึ้นมา

แต่ในลักษณะของปัญญาวิมุติคือเจริญสติตรงๆ นี่ จะเห็นความเป็นจริงต่อหน้าเลย ...เห็นกายก็เห็นกายตรงๆ คือกายความรู้สึก คือกายวิญญาณ แล้วก็เห็นเวทนาทางกายที่ติดอยู่กับกายวิญญาณ

กายเวทนานี่ติดอยู่กับกายวิญญาณ ...กายวิญญาณคือธาตุ แข็ง อุ่น ไหว นิ่ง ขยับ เป็นก้อน น้ำหนัก นี่พวกนี้เห็นมั้ย มันเป็นธาตุน่ะ ...อันนี้คือกายเป็นธาตุ กายเป็นกายวิญญาณ

และในกายวิญญาณนี่ เมื่อมีผัสสะมากระทบปุ๊บ มันจะเกิดเวทนา ตึงบ้าง อุ่นบ้าง ปวดบ้าง เมื่อยบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เหล่านี้ ...เพราะนั้นความรู้สึกนี่ มันจะเป็นความรู้สึกที่ติดอยู่ที่ตัวนี้ (เสียงสัมผัสกาย) 

เพราะนั้น ถ้ารู้อยู่นี่ จะเห็นสองอาการนี่อยู่คู่กัน...เมื่อมีธาตุ ต้องมีเวทนา แล้วก็มีใจที่รู้อยู่ ...ถ้าอยู่สามอาการอย่างนี้ ไม่มีปัญหาเลย เนี่ย ...มันมี “เรา” อยู่ตรงไหนล่ะ

แต่ถ้ามี “เรา” เกิดขึ้น หรือว่าเผลอ หรือว่าเกิดความรู้สึกว่าเป็นเรา ของเรา ปุ๊บ...ให้ทัน ให้แค่รู้ว่า...อ้อ มันว่าว่าเป็นเราอีกแล้ว ก็ให้รู้ว่ามันว่าว่าเป็นเรา...พอ

อย่าไปตีอกชกหัวว่า “ทำไมมันไม่หายไปสักที ทำไมมันเกิดซ้ำซาก แล้วจะมีวิธีไหนไม่ให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา” ...เนี่ย ไอ้อย่างเนี้ยเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว 

ก็ให้ทัน...ว่าเราเริ่มตีอกชกหัว เราเริ่มเดือดเนื้อร้อนใจ เราเริ่มกังวล...ให้รู้ ...เห็นมั้ย กริยาของจิต ก็ให้ทัน แล้วก็ช่างหัวมัน


โยม –  ถ้าจะเปลี่ยนท่าหรืออะไรก็แค่รู้ตรงนั้นของกาย  

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ลงไป   


โยม –  อ๋อ ไม่ต้องยึดว่าฉันต้องอยู่ในท่านี้    

พระอาจารย์ –  ใช่ เบื้องต้นเอาง่ายๆ อย่างนี้ ...รู้ง่ายๆ ทำง่ายๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้หวังอะไร

เพราะนั้นเวลานั่งสมาธินี่ อยากกำหนดอะไร หรือไม่กำหนดอะไร หรือจะนั่งเฉยๆ นั่งไปเหอะ ...ไม่ได้ว่าต้องสงบหรือไม่สงบ นั่งเพื่อให้รู้ ว่ากำลังนั่ง ว่ากำลังปวด ว่ากำลังมีความคิดอีกแล้ว 

เออ หรือมีพุทโธ...ก็รู้ กำหนดยุบหนอพองหนอ..ก็รู้ ...จริงๆ ท้องน่ะมันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันยุบ-มันพอง ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์มันด้วยซ้ำว่ามันพอง มันยุบ 

ตัวมันยังไม่รู้เลยว่ากูยุบ กูก็ไม่รู้ว่ากูพอง ...นั่นน่ะกายจริงๆ ดูที่กายจริงๆ ...ก็ดูแค่..ไอ้ใบ้ กายเป็นไอ้ใบ้ ...ทำไมจะต้องไปบอกว่ามันพองมันยุบ

อันนี้สมมุติเอานะ อันนี้เข้าไปปรุง อันนี้เข้าไปให้สัญญากับมัน เป็นสัญญา ...ก็ให้รู้ว่านี่เป็นนาม การว่ายุบการว่าพองนี่ ...แต่กายเป็นกาย กายไม่ใช่นาม 

เห็นมั้ย แยกรูปกับนามออกจากกัน ...อย่าเข้าใจว่าท้องมันพองท้องมันยุบ ...ไอ้คำว่ายุบ ไอ้คำว่าพอง...เป็นนามที่มาประกอบกับรูป แล้วมันจะเกิดความเข้าใจผิด 

นั่งไปดูไป ถ้าดูเฉยๆ เงียบๆ สงบ ระงับ ด้วยสันติ มันไม่มีคำพูดอะไรหรอก มันก็เป็นก้อนๆ ทื่อๆ

เดี๋ยวมันก็บอกว่า “กำลังนั่งอยู่”  ก็ให้รู้ว่ามันว่า...กำลังนั่ง ...หมายความว่าให้รู้ว่ามันมีความคิดขึ้นมาว่ากำลังนั่ง เข้าใจมั้ย ...เพราะตัวนี้มันไม่ได้นั่ง มันเคยบอกมั้ยว่ากูนั่ง    


โยม –  ตัวที่วิ่งอยู่ตลอดก็คือ...  

พระอาจารย์ –  คือนาม เข้าใจมั้ย ...เพราะกายไม่เคยนั่ง ไม่เคยยืน ไม่เคยเดิน ไม่เคยนอน มันเป็นทื่อ ...ก็ให้เห็นว่ามีนามเกิดขึ้น พอรู้ทันว่ากำลังนั่ง ปุ๊บ ก็รู้ว่ารู้ว่านั่งปรากฏ ไม่ต้องสนใจ เดี๋ยวมันก็ดับ

หรือมันเคยชินกับยุบหนอพองหนอ เดี๋ยวมันก็ขึ้นมา ยุบ-พอง ...ก็ให้รู้ว่ามันกำลังพูดว่ายุบ-พอง ว่าเป็นนาม  ไม่ต้องไปจริงจังว่าจะต้องให้มี “ยุบ-พอง” อยู่ตลอด เดี๋ยวมันก็ดับถ้าเราไม่สนใจมัน อย่างเนี้ย

หรือถ้ามันเกิดความรู้สึกว่าเรากำลังนั่งอีก แล้วก็บอกว่า “เรากำลังนั่งๆ” ก็ดูลงไปที่กายเลย ...พอดูไปที่กายปุ๊บ ก็ไม่เห็นมัน “นั่ง” ตรงไหน “เรา” ก็ไม่เห็นมีตรงไหน เข้าใจมั้ย ...คือดูไป แก้ไปตรงๆ

มันบอกว่า “เดิน เรากำลังเดิน” ไหนวะ ดูลงไป แล้วจะเห็นว่า “เรา” อยู่ตรงไหนวะ ...มันจะแก้กันที่ตรงนั้น  ก็จะเห็นว่ากายไม่เคยยืน ไม่เคยเดิน ไม่เคยนั่ง แล้วก็ไม่เป็นเราเดิน เรานั่ง เรานอน

เพราะนั้นไอ้ตัว “เรา” ที่ขึ้นมานี่ มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น ...ความเป็นจริงไม่มี "เรา"  กายไม่มีเรา กายไม่เป็นเรา กายไม่ได้เป็นของเรา

แม้แต่นามก็ไม่ได้เป็นของใคร มันก็ปรากฏด้วยความเห็นผิด ...ถ้าเราไม่สนใจมัน ก็จะเห็นว่ามันดับ ก็เห็นนามนั้นดับ มันดับของมันเอง ...ไม่ต้องไปฆ่า ไม่ต้องไปฟัน ไม่ต้องไปทำลายมัน

อย่าไปสนใจมัน มันก็ดับ ...ไม่ไปต่อแขนต่อขา ประคับประคอง ไปพยุงมันให้อยู่ต่อเนื่อง มันก็ดับ ...แล้วก็ไม่ต้องเอามาเป็นสาระแก่นสาร

“เดี๋ยวจะหลุดจากคำภาวนา เดี๋ยวจะไม่สงบ เดี๋ยวมันจะไม่ไปถึงฝั่งนะ เดี๋ยวมันจะไม่รวมนะ” อันนี้ก็ให้รู้อีกว่ามันมีความเห็นอย่างนี้แทรกขึ้นมาอีกแล้ว ...ก็ให้รู้แล้วอย่าสนใจ

พอไม่สนใจเดี๋ยวมันก็หายไปเอง เข้าใจมั้ย มันเป็นแค่อะไรลมๆ แล้งๆ วูบๆ วาบๆ ....เห็นมั้ย อาการวูบๆ วาบๆ ถ้าเราไม่ใส่ใจมัน ก็จะเห็นเป็นแค่อาการวูบๆ วาบๆ นั่นคือนาม

ถ้ามันยังไปจับเป็นประเด็น หรือไปคว้า ไปจับ หรือไปข้อง หรือไปติด ไปคิดต่อ ไปหาเหตุหาผลกับมัน ...พอรู้ตัวปุ๊บ กลับมารู้สึกตรงๆ โง่ๆ กับกาย

ดูมันเฉยๆ แล้วก็อด...อดความอยากคิด อย่าไปคิดตามมัน ...ให้มันมั่นคงลงไปที่กาย ที่ความรู้สึกตัว

จริงๆ น่ะ พอกลับมารู้สึกตัว ปุ๊บ ขณะแรกที่รู้สึกตัว...ให้สังเกตตรงนั้น จะเห็นอาการของนามดับวูบลงไปทันทีเลย ...ความดับไปในอารมณ์ขณะแรกที่เปลี่ยนกลับมาระลึกรู้ในปัจจุบัน ทุกอย่างดับหมด ตั้งอยู่ไม่ได้

เพราะนั้นแก้อะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ถูก สงสัย-ไม่สงสัยอะไร ...กลับมารู้กายปัจจุบันเป็นฐานก่อน ด้วยความแยบคาย แล้วจะเห็นเลยว่ามันดับหมดน่ะ

กำลังมั่ว กำลังมะงุมมะงาหรา กำลังลูบๆ คลำๆ อยู่กับความคิดความเห็น การกระทำในอดีต-อนาคตอะไร...มันจะพึ่บ ดับหมดเลย ...ก็กลับมา แค่นี้ อยู่แค่ขยับนี่ ไม่มีอะไรเลย มีแค่ขยับกับรู้ สองอย่าง


โยม –  ไม่ต้องขวนขวายสวดมนต์เดินจงกรมอะไร  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง อันนั้นมันเป็น accessory ...นี่เราพูดในฐานะที่ว่า ตามความเป็นจริงนะ เราไม่ได้พูดเอาถูกเอาผิดนะ

แต่ถ้าอยู่ในสังคม อยู่ในหมู่คณะอะไรที่เขาทำ ก็ทำไป แต่ไม่ได้เอาผลอะไร ...เราไม่ได้เอาอันนั้นเป็นตัวหวังผล  แต่ทำยังไงถึงจะมีรู้กำกับอยู่ตลอดเวลา...อันนี้คือผล

แม้กระทั่งกิน แม้กระทั่งเดิน แม้กระทั่งหัวเราะ แม้กระทั่งคุยโทรศัพท์ แม้กระทั่งขี้ แม้กระทั่งอะไรก็ตาม...มีมั้ย ที่รู้อยู่เห็นอยู่...เป็นเหมือนเห็บติดกับหมาน่ะ เอาอย่างนั้นสิ

เพราะธรรมชาติของใจนี่ไม่เคยออกจากกายนี้เลย มีอยู่ตลอด ...แต่มันถูกปิดด้วยความหลง คือความไม่รู้ คือความเผลอเพลิน ...เพราะนั้นอย่าขี้เกียจ 

อย่าขี้เกียจระลึกรู้ อย่าเบื่อที่จะไม่เห็นอะไรที่ยิ่งกว่านี้ ที่ดีกว่านี้ ...ให้รู้ไว้เลยว่า ไอ้ที่ดีกว่า ยิ่งกว่านี้ มันเป็นความปรุง เป็นความเชื่อที่มันปรุงขึ้นมา

พอรู้ว่ามันเป็นความคิดความปรุง...ทิ้งเลย  อย่าไปต่อแขนต่อขามัน ...เดี๋ยวมันจะแข็งแกร่งเป็นตัวเป็นตนแล้วละได้ยาก แล้วมันจะบีบคั้น บังคับ กดข่ม แล้วจะเกิดความรู้สึกเครียด

พอเป็นแขนเป็นขา แล้วจะรู้สึกมันหนัก มันกด ถ้าไม่เชื่อฟังมัน ไม่ทำตามมัน ...นั่นแหละคือเราไปต่อแขนต่อขาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  จนตัวมันเป็นมวล เป็นของเที่ยง เป็นความเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ทั้งๆ ที่ว่าความจริงมันไม่ได้มีอะไรเลย ...ให้เห็นง่ายๆ พอรู้สึกเครียด กังวล ปุ๊บ ให้กลับมายืน เดิน หรือเคลื่อนไหวก็ได้ อะไรก็ได้ ให้เห็นปัจจุบันปุ๊บ สักพักหนึ่ง


โยม –  ทำเหมือนไม่รู้ใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  ใช่ ทำเหมือนไม่สนใจมันน่ะ... แล้วจะเห็นเลยว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทั้งสิ้นน่ะ เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ ว่างเปล่าหมดน่ะ     


โยม –  มันติดนิสัยว่าตั้งใจจะรู้ไปหมด   

พระอาจารย์ –  เขาเรียกว่าแสนรู้ ...อะไรที่มันเกินรู้เดียวนี่ เขาเรียกว่าแสนรู้...หมา ใช้กับหมา ไม่ใช้กับนักปฏิบัติ ...นักปฏิบัตินี่รู้อันเดียว รู้กับสิ่งเดียว นี่เรียกว่าสมาธิ รู้กับสิ่งเดียวนี่เรียกว่าจะให้เกิดปัญญา

คำว่าละเว้น นี่ ศีลก็ละเว้น ...ละเว้นอะไร ...ละเว้นที่จะไหลตามออกไป มันจะบอกให้ทำอย่างนี้ มันจะคิดไปข้างหน้า มันจะคิดไปข้างหลัง พอรู้ทันแล้วเว้นซะ อยู่ตรงนี้...พอ สันโดษ ตั้งมั่น รู้แค่หนึ่งเดียว

นี่ มันก็เลยจะต้องมาต่อสู้กับคำว่าอยากรู้ แสนรู้ กลัวไม่รู้ …ก็อดไว้ โง่เข้าไว้ รู้แค่หนึ่งเดียว ต่อหน้านี่ ปัจจุบันหนึ่งเดียวนี่ และเห็นว่าไอ้หนึ่งเดียวข้างหน้านี่ มันไม่คงที่เลย

รักษามันก็ไม่อยู่ ไม่รักษามันก็ไม่อยู่ ไม่ให้เกิดมันก็เกิด อยากให้มันดับมันก็ดันตั้งอยู่ อยากให้มันตั้งอยู่ก็เสือกดับ เอาดิ ...แล้วจะเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องของกูเลยนะนี่

แน่ะ ปัญญาจะเริ่มค่อยๆ เข้ามาซึมซาบ เข้ามาทดแทนความเห็นผิด หรือพูดง่ายๆ จะมาล้างความเห็นผิดภายใน คือความไม่รู้

เพราะนั้นยิ่งรู้ยิ่งเห็นอย่างนี้บ่อยๆ ยิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งเป็นอิสระออกจากความคิด เป็นอิสระออกจากรูปเสียงกลิ่นรส เป็นอิสระออกจากสุขทุกข์

ก็เป็นเรื่องของมัน ...ไม่มีเราในทุกข์ ไม่มีเราในสุข  มีแต่รู้ว่าทุกข์ มีแต่รู้ว่าสุขกำลังตั้งอยู่ ...เห็นมั้ย เปลี่ยน “เรา” เป็น “รู้” แล้ว


(ต่อแทร็ก 3/23  ช่วง 6)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น