วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/9


พระอาจารย์
3/9 (531230B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
30 ธันวาคม 2553


พระอาจารย์ –  ใครมันจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าวะ ว่ามีวิธีอื่น ฮึ  ทุกพระพุทธเจ้าท่านก็เห็นอย่างนี้ ... ดูสิ วันตรัสรู้ท่านน่ะ วิชชาสาม เริ่มจากปุพเพฯ

ของพวกเราก็มีปุพเพฯ น่ะ ...แต่ว่าปุพเพฯ ของพวกเราน่ะ วันนึงมั่ง คืนนึงมั่ง เดือนนึงมั่ง  นี่ สัญญา น้อมลงไปสิ ทำอะไรมามั่งในวันนี้  ดู อย่างนี้ ผ่านมา ตรงไหนจุดบกพร่อง คือตรงนี้

ของพระพุทธเจ้าท่านก็น้อม พิจารณา...ตัวเรามาจากไหนเนี่ย  นึกถึงการเกิด ... แต่ว่าด้วยกำลังสัพพัญญุตญาณของท่าน พั่บ มันรวด พรวดเลย มันทะลุชาตินี้เลยน่ะ ...มันไม่ใช่แค่วันเดือนปีที่ผ่านมานะ สัญญาท่านพรวดทะลุไปเลย  อู้หู ไม่จบเลย ปุพเพฯ ท่านนะ  

ยามแรกสามชั่วโมงนั่นน่ะ พั่บๆๆ เกิด-ตายๆๆๆ  โอ้โห การเกิดเป็นนั้นเป็นนี้มาๆ ทั้งมีรูปทั้งไม่มีรูป ทุกขันธ์สี่ขันธ์ห้า มีขันธ์ ไม่มีขันธ์  หูย เยอะแยะเต็มไปหมด พึ่บเลยว่าการเกิดท่านไม่รู้จักจบเลย ...เบื่อเลย เบื่อการเกิดเลย เริ่มเบื่อแล้ว แต่ปัญญายังไม่เกิด

พั้บก็...แล้วทำไมถึงเกิดเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ทำไมเกิดไม่เหมือนกันล่ะ ...เนี่ย ปัญญาเริ่มเกิด ฉุกคิดขึ้นมา เห็นทำไมมันเกิดไม่เหมือนกัน  เดี๋ยวเป็นคน เดี๋ยวเป็นสัตว์ เดี๋ยวเป็นเทวดา เดี๋ยวเป็นพรหม เดี๋ยวเป็นคนธรรมดา เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เดี๋ยวเป็นยาจก 

ก็เอ ทำไมเกิดไม่เหมือนกันนะ พั่บ เริ่มจุตูปปาญาณเกิด  อ้อ กรรมๆ  ทำอันนี้...ได้อย่างนี้ มันส่งผลเกิด ...พั่บ รวดอีก อเนกชาติเลยคราวนี้ เห็นการเกิดการตาย  ถ้าทำอย่างนี้...เกิดอย่างนั้น ทำอย่างนี้...ไปตายอย่างนี้แล้วไปเกิดตรงนั้นตรงนี้  โอ้โห อีกยามนึง สามชั่วโมง ยังทวนไม่จบเลย

นี่ สัพพัญญุตญาณนะ ยังทวนไม่จบเลย ...เบื่อ ไม่รู้จะรู้ไปทำไม เบื่อ เพราะมันไม่จบน่ะ มันไม่จบ  การเกิดการตายมันเหมือนกับวงกลมน่ะ เป็นวัฏฏะนี่ไม่มีที่สุดหรือว่าจุดเริ่มต้น มันไม่จบ

พอไม่จบท่านเริ่มระลึกรู้ขึ้น จะดูไปต่อทำไม ดูเท่าไหร่ก็ไม่มีคำว่าที่สุดของมัน ท่านก็ระลึกขึ้นมา ในปัญญาระลึกขึ้นมา พั้บ ...จะไปดูทำไม 

แล้วไอ้คนที่ดูอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่ดูตรงนี้ ...แล้วตัวนี้ ตายจากนั่นถึงเกิดผ่านมา ถึงมาเกิดตรงนี้ จากนี้ไปแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร ...ก็เริ่มจากตรงนี้ เนี่ย ท่านฉุกคิด กลับมาลงในขันธ์ปัจจุบัน

ก็เรื่องอะไรจะไปหยั่งดูสอดส่องตรงนั้นล่ะ ก็มารู้ตรงนี้ดีกว่า ...ลองดูตรงนี้ซิ ขันธ์ตรงนี้ พั้บนี่ นี่ยามสุดท้าย ปัจฉิมยาม นี่ อาสวักขยญาณ เริ่มเจริญอาสวักขยญาณแล้ว 

พั้บ พอมาลงที่ขันธ์ สอดส่องในฐานะเฝ้ารู้เฝ้าเห็น ดู โอ้ ท่านแยกออกเลย รูป-นาม พั้บๆ แยกออกอีกแล้ว ใจรู้ พั้บๆ เอ้า ทุกนามยังแบ่งออกเป็นสี่ลักษณะไม่เหมือนกัน พั้บๆๆ เอ้า แล้วท่านก็ยังเห็นต่อเนื่องไปถึงอายตนะ ขณะนี้มันมีการรับรู้ภายนอกด้วยอายตนะ พั้บๆ ท่านก็รู้

จากนั้นท่านก็เริ่มเห็น พั้บ เริ่มมีความอยาก เริ่มมีความไม่อยากเกิด ในขณะที่รู้กับขันธ์นี่ ...เอ้า พอเห็นความอยาก-ไม่อยากเกิดปุ๊บ ท่านดู ไล่ดูไปเรื่อยๆ ที่มาที่ไป 

พั้บ ปฏิจจสมุปบาทเริ่ม พั้บๆ ไอ้นี่เกิด...ไอ้นี่เกิด...ไอ้นี่เกิดตามมา... ไอ้นี่เกิดก่อน...ไอ้นี่เกิด พอไอ้นี่เกิด...ไอ้นี่เกิด พั้บๆๆ ไล่ปฏิจจสมุปบาท ...ไล่ไปไล่มา พั่บๆๆ มันมีอยู่ที่เดียว มันกลับมาที่เดียว ปุ๊บนี่ จุดเริ่มต้น ไม่ว่านาม ไม่ว่ารูป ไม่ว่าขันธ์ตรงไหนจุดไหน ไม่ว่าอายตนะไหน พั้บๆๆๆ

ท่านเห็นจุดเริ่มต้นที่เดียว...ใจ  ตรงนี้น่ะเริ่มแล้ว นี่แหละ ตรงนี้แหละ เหตุใหญ่เลย จุดเริ่มต้น ดูซิมันจะเป็นยังไงตรงจุดเริ่มต้น หยั่งลงไปตรงที่นั้นแหละ ที่แรกน่ะ...ด้วยญาณทัสสนะ ด้วยศีลสมาธิและปัญญา เพียรเพ่งอยู่ในที่นั้น ใจดวงเดียวเท่านั้น

ใกล้แจ้งนั่นแหละ ไม่เหลือหรอ เข้าใจเลย ไม่เหลืออะไรเลย เข้าใจ แจ้ง...ใจมันแจ้งหมด หลุดออกจากกรงขังของใจ  ใจมันเป็นกรงขังนึงนะ สุดท้ายแตกออกหมด พั้บ กระจายออกหมดไม่เหลือหรอ สิ้นภพสิ้นชาติขาดกันตรงนั้น

ดูดีๆ นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อย่างนี้ ในอาการลักษณะนี้นะ ...เป็นวิชชาสามล้วนๆ เลยนะ ไม่มีเห็นเป็นอสุภะเลยนะ ไม่ได้เกิดจากการนึกคิดพิจารณาเลยนะ เป็นญาณที่หยั่งลงไป หาที่มาที่ไปด้วยญาณทัสสนะเท่านั้นเอง


เรียนรู้ ...การปฏิบัติ อย่าสงสัย  ตั้งลงไปในจิตปัจจุบัน รู้ปัจจุบันเท่านั้นแหละ ความจริงไม่หนีไปไหนหรอก เขาแสดงให้เราเก็บเกี่ยวอยู่ตลอด  

เอากายเป็นมรรค เอาใจเป็นมรรคอยู่เสมอ เป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึกรู้  แล้วก็เอาสิ่งที่ระลึกรู้นั้นแหละ ทำความแยบคายกับมัน...มีตัวมีตนไหม เป็นตัวเป็นตนไหม คงที่ไหม เสถียรไหม ควบคุมได้จริงไหม ...สังเกตมัน ดูมัน เสมอ

เก็บเกี่ยวกำไรไป จะได้ไม่เสียชาติเกิด จะได้ไม่เสียเวลาที่ผ่านไป เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวันเป็นเดือนเป็นปี เป็นหลายๆ ปี เป็นหลายๆ ชาติ

เกิดมาแล้วทั้งที ได้ยินได้ฟังแล้ว  ขาดอยู่อย่างเดียว คือขาดความตั้งใจใส่ใจ ... มันไม่จริง ปฏิบัติไม่จริง ตั้งใจไม่จริง ...ลูบๆ คลำๆ ไม่มีทาง ไปไม่รอด

ต้องจริง ต้องเป็นคนจริง ทำจริง ปฏิบัติจริง ไม่อ้อแอ้แก้ตัว ไม่เหลาะๆ แหละๆ ไม่อ้างกาลเวลา ไม่อ้างสถานการณ์ใด ไม่อ้างสถานะ ไม่อ้างฐานะ ไม่อ้างเพศ ไม่อ้างสถานที่ ไม่อ้างการงาน ไม่มีอะไรเป็นข้ออ้าง

ตั้งลงไปให้ได้ ให้ต่อเนื่องลงไปในปัจจุบัน ... มันขาดความต่อเนื่อง มันเลยไม่แจ้งสักที ...พระอาทิตย์จะโผล่แล้วก็...เอาอีกแล้ว...ดับ  มันโผล่มาได้นิดนึงแล้ว เอาอีกแล้ว ดับ

จนกว่ามันจะเหมือนกับพระอาทิตย์กลางหาวกลางวันนั่นแหละ ...มันถึงจะเรียกว่าแจ้ง

ไม่ใช่แบบ...เกือบๆ แจ้งแล้ว...เอ้า มืดซะแล้ว  คือ...กลางวันไปไหนวะ (หัวเราะกัน) ...มันมีแต่เช้ากับมืด มีแต่เช้ากับมืด ...เอ๊ะ มันข้ามตอนแจ้งไปยังไง เห็นมั้ย อย่างนั้นแหละ 

ให้มันแจ้ง ถ้ามันแจ้งเมื่อไหร่ก็เหมือนกับพระอาทิตย์กลางวันน่ะ มองอะไรก็เห็นชัดใช่มั้ย เนี่ยๆๆ

ถ้ามันแจ้งแล้วมัน โอ้โห มันไม่ต้องไปถามใครเลยว่า "อิชั้นจะเดินไปตรงนี้แล้วอิชั้นจะเจ็บตัวมั้ยคะนี่ อิชั้นจะเดินชนมั้ยคะ"  ต้องถามมั้ย "อิชั้นควรไปมั้ยนี่ แล้วชั้นจะกลับบ้านยังไงนี่" ... ถ้ามันแจ้งแล้วต้องไปถามใครมั้ยนี่

แต่ถ้ามืดตึ้บ ถามดูดิ๊ จะเจ็บมั้ยนี่ ...เดินเข้าไปสิ เจ็บ  เดี๋ยวก็โดนชน หลง ตกเหว ...เชื่อไม่ได้ 

ถ้ามันแจ้งแล้วใครก็โกหกไม่ได้ ตัวเองก็มองเห็นหมดตลอด ทะลุปรุโปร่งหมดแหละ  ไม่ว่าขันธ์นี้ขันธ์นั้นขันธ์ไหน ขันธ์ใคร ขันธ์คนอื่น ขันธ์อันไกล ขันธ์อันใกล้ ขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด ขันธ์ประณีต ขันธ์ไม่มี ...มันมาหลอกไม่ได้เลย นั่นเรียกว่าแจ้ง มันแจ้งใจ แจ้งโลกธาตุเลยแหละ

ทำความเพียรเยอะๆ ตั้งใจ ใส่ใจ ...ทุกอย่างไม่ขาดแล้ว ศีลก็มีครบอยู่แล้ว...รักษา  สมาธิและปัญญาก็มีอยู่แล้วเมื่อรักษาศีลได้นานๆ 

ให้มั่นคง ...อย่าให้ขาดตกบกพร่อง อย่าให้มันด่างพร้อย อย่าให้มันทะลุ อย่าไปเผลอไปเพลินกับอาการภายนอก อย่าไปลุ่มหลง เป็นจริงเป็นจัง อย่าไปคิดว่าอย่างนั้นอย่างนี้กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ 

มันไม่มีอะไรหรอก นอกจากรักษาศีลในปัจจุบัน คือกาย ให้มั่นคง ...อย่าทิ้ง อย่าปล่อย อย่าเผลอ อย่าเพลิน จนเกินไป อย่าให้มันทะลุ อย่าให้มันด่างพร้อย อย่าให้มันลืมกายลืมใจ

ไม่นานหรอก ขอให้ตั้งใจจริง ทุกคนน่ะ ไม่นานหรอก  ไม่ยากอย่างที่เคยคิดหรือคนอื่นเขาว่าหรอก ว่าเป็นไปไม่ได้หรือว่าได้ง่ายๆ หรือว่าอะไร  

ถ้ามันทำจริงทำตรงน่ะ มันไม่มีหรอกที่มันจะยากน่ะ มันยากตรงที่ไม่ทำจริง มันยากตรงแค่มาลูบๆ คลำๆ แอ๊ะๆ เอ๊าะๆ ไว้พอมาคุยพอมาเล่นหัวกัน พอมาเสวนาธรรมกัน ...แค่นี้ไม่พอหรอก

ก้มหน้าก้มตาทำ งุดๆๆๆ ทำเข้าไป ...เจริญขึ้นมาสติน่ะ มันไม่ได้ไปเดือดร้อนเบียดเบียนใครหรอก 

ทำเหมือนตัวเองเป็นผ้าขี้ริ้วน่ะ ใครจะเหยียบก็ได้ ใครจะย่ำก็ได้ ใครจะเอาไปเช็ดนั้นเช็ดนี่ เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ได้หมด  ผ้าขี้ริ้วเคยพูดมั้ย เคยบ่นมั้ย ...มันมีแต่ซับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปฏิกูลได้หมดน่ะ

ทำจิตตัวเองให้เหมือนผ้าขี้ริ้วซะ ...เป็นผู้รับ ด้วยความสงบ ปกติ สันติ เป็นกลาง แค่นี้แหละ ใจมันก็จะเป็นเหมือนแผ่นดินขึ้นมาเอง 

ไม่ใจอ่อนอ้อแอ้แก้ตัว ใจเบา ใจหวิว ใจลอย ใจไม่อยู่กับที่กับทาง ใจไปอยู่กับทางนั้นทางนี้ ใจไปอยู่กับคนอื่นเป็นใจสองดวงผูกใจไว้ด้วยกันงี้น่ะ เออ

ให้มันหนักแน่นลงในปัจจุบัน ต่อเนื่อง เนี่ย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็จะปรากฏตามความเป็นจริง ...เขาแสดงธรรมให้เราเห็นอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องไปหา ...อยู่กันตรงนี้ มันก็เห็นเอง

เอ้า มีอะไรถาม...ถาม


โยม –  พระอาจารย์คะ ถ้าเห็นความคิดผ่านไปนี่ มันยังไม่พอใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ช่างมัน พอแล้ว


โยม –  เราต้องกลับมาดูที่ตัวรู้ว่ามันเป็นเรามั้ย รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ส่วนมากเวลาความคิดดับไป มันจะดับไปพร้อมกับรู้  คือเราไม่มีการรู้ต่อ เข้าใจมั้ย ...มันดับแล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นแทนล่ะ


โยม –  แล้วที่พระอาจารย์บอกว่า “หยอดกระปุกให้ได้กำไร” น่ะค่ะ  ที่ว่าเหมือนน้อมกลับไปว่า มันไม่ใช่เรา

พระอาจารย์ –  นั่นคือถ้ามันไม่ทันด้วยปัญญาน่ะ  ...ไม่ต้องกลัว  ก็เห็นว่าการที่มันสลับสับเปลี่ยนน่ะ


โยม –  มันก็เป็นแล้ว

พระอาจารย์ –  เออ ก็เห็นว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นมาแทนความคิดล่ะ มันไปเกิดที่ขันธ์ไหนแทน เห็นมั้ย ความคิดก็ดับไป คือเห็นความดับไปและการเกิดขึ้น 

ขณะนั้นน่ะน้อมให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความไม่คงอยู่ของความคิด เห็นความดับไป นี่หยอดกระปุก ปัญญาเกิดแล้ว

แต่ถ้าลักษณะถ้าอย่างนี้ รู้กาย ดูอาการเคลื่อนไหว เดินจงกรม หรืออะไรอย่างนี้ ดู ความเป็นเรา ...หาฐานดูอย่างนี้

มาจ่ออยู่ในที่อันเดียว ในลักษณะนี้ บางอาการมันไม่ค่อยเปลี่ยน เข้าใจมั้ย มันคงอยู่อย่างนั้น เรียกว่ามันตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวก็รู้ ...ก็น้อมลงไปให้เห็นเป็นไตรลักษณ์

แต่ในลักษณะที่มันผ่านไป ส่วนมากน่ะ เวลามันดับไปปุ๊บนี่เราจะทิ้งเลย ทิ้งสติ ...สติไม่เห็นว่าอะไรตั้งมาแทนน่ะ มันไปรู้กับอะไรแทน...แทนความคิด 

เช่นเฉยๆ นี่ มีเวทนาเกิดขึ้น ก็รู้แล้วว่าความคิดดับเวทนาเกิด เห็นมั้ย เห็นความไม่เที่ยง ...ต้องน้อมให้เห็นพวกนี้นะ ไม่งั้นไม่มีปัญญานะ มันก็เป็นแค่สติธรรมดา ก็รู้ธรรมดา ...สติธรรมดาก็ได้แค่ความสงบ  

สติธรรมดานี่มีก่อนพระพุทธเจ้าอีก มีตั้งแต่พวกฤาษีเลย  ทำไมเขาจะไม่ฝึกสติ ฝึกมาก เก่งด้วย  ฝึกเอาจนคุมจนจิตไม่กระดิกเลย ยังได้เลยน่ะ ทันขนาดแหละ ฌานน่ะ ...แต่ไม่มีปัญญา

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าสติเป็นปัญหาตอบโจทย์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ...มันต้องมีปัญญาด้วยนะ คือต้องเห็นในสิ่งที่มันปรากฏว่าเป็นยังไง ทั้งรู้และเห็น เห็นๆ เห็นด้วยญาณทัสสนะลงไป

เอ้า มีอะไรอีกมั้ย ...ไป พอ กลับไปเจริญสติ ตอนนี้ก็ต้องเจริญไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา


โยม –  เดี๋ยวปีหน้ามาใหม่ครับ (หัวเราะและพูดเย้ากันว่าปีหน้าคืออีกไม่กี่วันเอง)

พระอาจารย์ –  มาแล้วก็ให้เกิดความเข้าใจ ชัดแจ้ง อยู่ในความเห็นที่มันตรงเข้าไปเรื่อยๆ ...สุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไรหรอก มีแค่ใจรู้ดวงเดียวเท่านั้น สำคัญที่สุด


..................................


วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/8 (3)


พระอาจารย์
3/8 (531230A)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
30 ธันวาคม 2553
(ช่วง 3)


(ต่อจากแทร็ก 3/8 ช่วง 2  

พระอาจารย์ –  ต้องทวนกลับมาอยู่ในฐานของใจ ...เบื้องต้นยังไม่รู้ว่าใจคืออะไร ก็คือรู้นั่นแหละ  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ...รู้ไว้ก่อน 

เนี่ย ถึงบอกว่า ถ้าเรียนกันมาเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการค้าการขาย  ถ้าไม่รู้อะไรเลย ถ้าไม่มีความรู้ กายก็ไม่รู้ ใจก็ไม่รู้  หูได้ยิน ตาเห็นรูปไม่รู้  ลอยไปลอยมา เผลอๆ เพลินๆ ลุ่มๆ หลงๆ ไปกับสิ่งที่มากระทบไปกระทบมา ...ลักษณะนี้ถ้าทำการค้าขายเรียกว่าขาดทุน ขาดทุนและเป็นหนี้

พอเริ่มหันหน้ามาปฏิบัติ ก็รู้  เริ่มรู้ อ้อ...ยืน...รู้ อ่ะ นั่ง...รู้ คิด...รู้ กังวล...รู้ เห็น...รู้ ได้ยิน...รู้ สุข...รู้ ทุกข์...รู้ คิดไปในอดีต...รู้ คิดไปในอนาคต...รู้ โกรธ...รู้ โลภ...รู้ หลง...รู้ มีราคะ...รู้ อะไรๆ ก็รู้มันลูกเดียว ...นี่ ถ้าทำการค้าเรียกว่าเท่าทุน 

นี่ยังเท่าทุนนะ สติแค่รู้นี่ยังเท่าทุนนะ ...เพราะนั้นถ้ารักษาได้ก็ยังเท่าทุน แต่ก็ยังดีกว่าขาดทุนหรือเป็นหนี้ ...อ่ะ จะสอนให้มีกำไร 

อยากได้กำไร...รู้ นี่ อ่อน...รู้ แข็ง...รู้  รู้แล้วยังไง ...มันเป็น “กู” รึเปล่า ไอ้สิ่งนั้นน่ะ มันเป็น “เรา” รึเปล่า  มันเปลี่ยนรึเปล่า หรือมันไม่เปลี่ยน  มันเที่ยงมั้ย มันถาวรมั้ย เดี๋ยวมันก็สลับไปสลับมาอย่างเนี้ย ...น้อมลงไปให้เห็นอย่างนี้ เออ กำไร  กำไรเริ่มเกิดแล้ว เริ่มมีกำไร

เพราะนั้นอย่างน้อยถ้าไม่กำไร ก็ต้องเท่าทุน สองอย่าง ... พยายาม...อันนี้ต้องใช้ความเพียร ไม่งั้นค้าขายแล้วมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

ฟังธรรมกันมาก็หลายปี อย่าให้มันเจ๊ง เสียหาย...เสียหายถึงคนสอน (หัวเราะกัน) ปล่อยให้เขาล่วงล้ำก้ำเกินตัวเองยังไม่พอ ดันเสือกมาล่วงล้ำก้ำเกินอาจารย์อีก มันเสียหายทั้งกระบวนการ กระบวนการปฏิวัติขันธ์นี่ เข้าใจรึเปล่า

เพราะนั้นต้องใส่ใจ ทำยังไงถึงจะค้าขายแล้วกำไร ...เจริญปัญญาขึ้นเยอะๆ ดูลงไป มันเป็นเราตรงไหน มันถาวรมั้ย มันคงอยู่มั้ย มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็เห็นอยู่ทนโท่ ทำไมไม่น้อมลงไปให้เห็น

เพราะนั้นให้น้อมลงไปแค่ให้เห็นนะ ไม่ใช่ไปคิด ...เหมือนสิ่วน่ะ สิ่วนี่มาวางไว้กับไม้มันไม่กินไม้ ตอกพลั่กลงไปให้มันกินเนื้อไม้...พอแล้ว  นั่นแหละคือกระตุ้นให้มันเห็น ว่าเออ เป็นเรามั้ย ของเรามั้ย เปลี่ยนมั้ย เที่ยงมั้ย คงอยู่มั้ย 

นี่ ดูมันไป ดูอาการสลับไปมาอย่างนี้ เออ น้อมให้เห็นถึงอาการสลับมันเป็นอย่างนี้ๆๆ ...นี่เรียกว่าสะสมปัญญาญาณ ดูอย่างนี้เขาเรียกว่าสะสมปัญญาญาณ

การสะสมปัญญาญาณ เหมือนกับเอาสตางค์มาหยอดกระปุก  การน้อมให้เห็นแต่ละครั้งๆ ว่า มันเป็นเรารึเปล่า ...เออ มันไม่เห็นบอก ไม่เห็นมันตอบเลยว่ะ ว่ามันเป็นเรา มันไม่เคยบอกสักคำว่าเป็นเราของเรา ...นี่ หยอดกระปุกแล้ว หนึ่งสตางค์

ขณิกะ พอแล้ว ...อย่าประมาทขณิกะนะ  อย่าไปฟังไอ้ที่เขาพูด อู้หู โลกธาตุดับสูญพลาสูญ ดับๆๆ ...นี่โลภมาก  ...เอาแค่มักน้อย สันโดษ สันโดษต่อธรรม ไม่ละโมบในธรรม 

เอาเท่าที่มีเท่าที่เป็นน่ะ รู้แค่นี้...เออ มันไม่เป็นเรา ...ขณะนึง พอแล้ว  หนึ่งสตางค์เก็บไว้ ได้อริยทรัพย์หนึ่งครั้งแล้ว ...เอาดิ หยอดมันทั้งวันน่ะ ฮึ หยอดมันทั้งวัน ไม่ใช่จ่ายน่ะ ไม่ใช้จ่ายแบบเป็นหนี้ขาดทุนน่ะ เข้าใจรึเปล่า 

ไอ้ที่ใช้จ่ายออกไปนี่ เป็นหนี้ ขาดทุน  คือ เผลอ เพลิน หลง ...ได้มาสิบสตางค์ กูเผลอมันซะสิบบาทอย่างนี้ (หัวเราะกัน)... เอ้า มันจะขาดทุนหรือกำไรเนี่ย เข้าใจมั้ย  ค้าขายก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊งน่ะ

เออ กว่าจะหาได้สักทีสตางค์นึง ... แต่บทที่กูจะใช้จ่าย กูใช้จ่ายแบบช้อปปิ้งเลยแหละ กู้หนี้ยืมสินมาจ่ายน่ะ ...มันจะได้กำไรเหลือมั้ย  

เพราะนั้นอย่าประมาท หยอดๆๆ หยอดทั้งวันทั้งคืน ... ยืนเดินนั่งนอน เฉยๆ มีอะไร...รู้ ไม่มีอะไร...ก็รู้ แล้วไอ้สิ่งที่รู้มันคืออะไร...ไม่มีอะไร  รู้อยู่อย่างนี้ รู้มันเข้าไป

หยอดกระปุก ถือว่าเก็บปัญญาญาณ หยอดเก็บสตางค์ใส่กระปุกไว้ เดี๋ยวมันจะหนักขึ้น เห็นมั้ย เด็กๆ ทุกคนเคยมีทั้งนั้นไอ้หมูออมสินน่ะ แต่ละวันกลับมาจากโรงเรียนก็มายกเขย่ายังก๊องแก๊ง 

"เฮ้อ..."  อย่าเฮ้อ อย่าขี้เกียจ ใส่เข้าไปเถอะ เดี๋ยวมันจะยกไม่ขึ้นเลย มันจะหนักแน่นขึ้น ...ความรู้ความเข้าใจก็ "อ้อๆๆ"  อะไรมากระทบหู...อ้อ อะไรมากระทบตา...อ้อ 

มีแต่การกระทบ ...ไม่เห็นมีใคร  เป็นเราของเราตรงไหน  ลูกตาก็ไม่ได้เป็นเรา รูปก็ไม่ใช่ของเรา ความรู้ว่าเห็นก็ไม่ได้เป็นเรา...เออ ไม่เห็นมีเราตรงไหน มีแต่ลูกตากับภาพ

นี่ เขาเรียกว่าเริ่มมีสมบัติแล้ว สมบัติอริยทรัพย์อยู่ภายใน แล้วก็เข้าใจ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน แล้วก็ผ่านไปผ่านมา ผ่านไปผ่านมา

เริ่มปลดแอก ...กำไรตัวนี้ มันเข้าไปจ่ายหนี้กับเจ้าหนี้ ... คือเราเป็นทาสของขันธ์น่ะ เป็นทาสในเรือนเบี้ย  ...ก็เอาไปชดใช้เขา  

มันก็ปลดหนี้ ปลดแอกจากขันธ์ เป็นอิสระจากความเป็นทาสของขันธ์ ทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ  มันก็มีแต่กำไรกับกำไรขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่ตอนนี้ ไปดูเอาเอง ไม่ต้องให้บอกหรอก ... ค้าขายเป็นยังไง ไปเรียนเอาเอง ตัวเองรู้เอง ...ใครกำไร ใครยิ่งปฏิบัติยิ่งเป็นหนี้ (หัวเราะกัน) ใครยิ่งขาดทุน ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาอยู่ไปวันๆ

เพราะนั้นเอากำไร...ด้วยการอย่าทิ้งอย่าขว้าง อย่าเผลออย่าเพลิน  เพราะข้าศึกสำคัญของปัญญาคือ ลืม เผลอ เพลิน หายไป  กายหาย...รู้หาย ลอยไปไหนไม่รู้ นี่แหละศัตรูตัวเอกเลย ตัวที่ทำให้เราขาดทุน

รู้ไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น...รู้ไป ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร รู้เข้าไป รู้อยู่ตรงนั้นแหละ รู้เฉยๆ เท่าทุนไว้ก่อน ...ทุกข์ขนาดไหน ร้ายแรงขนาดไหน หน้าตามันปรากฏออกมาเหมือนอสุรกาย มันโผล่ออกมาจากที่ไหนก็ตาม

มันไม่เหมือนนางงามหรอกเวลาเราอยู่ในชีวิตจริงอารมณ์จริงน่ะ สิ่งที่ปรากฏไม่เป็นนางงามจักรวาลเลย เดี๋ยวก็  ..."โอ้โหย รับไม่ได้" 

ไอ้นั่นก็รับไม่ได้ ไอ้นี่ก็รับไม่ได้ อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เสียงนั้นรูปนี้ เหตุการณ์นั้น อดีตอย่างนั้น อนาคตอย่างนี้ ...หน้าตาของมันแต่ละตัวน่ะไม่ได้เป็นนางงามจักรวาลหรอก

รู้เข้าไปๆ รู้เฉยๆ  เอาดิ สะสม สะสมต้นทุนไว้ นะ ... แล้วค่อยไปหากำไร ว่าไอ้สิ่งนั้นคืออะไร มันเที่ยงมั้ย มันคงอยู่มั้ย มันเป็นตัวเป็นตนมั้ย มันเป็นเราของเราตรงไหน นี่ หากำไรกับสิ่งนั้น 

เนี่ย จึงเรียกว่าการเจริญมรรค แค่เนี้ย คือศีลสมาธิปัญญารวมกันก็เรียกว่าเป็นมรรค อยู่ในองค์ของไตรสิกขาแล้ว ...นี่อยู่ในองค์ของไตรสิกขาแบบดื้อๆ ด้านๆ เลย โดยที่ไม่ได้สมาทานศีลสักข้อเลย บอกให้นะ 

มันกระโดดเข้าไปอยู่ในไตรสิกขายังไงก็ไม่รู้ แต่บอกให้เลย  มันเข้าไปโดยปริยาย มันเป็นธรรมชาติ การปฏิบัติ ...มันเป็นเรื่องของชีวิตทั้งชีวิตเลย 

มันไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นอย่างนั้นทำอย่างนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นศีล หรือเป็นสมาธิ หรือเป็นปัญญา ...มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าพวกนี้เป็นอาการที่เรียกว่าเป็นสามัญลักษณะอยู่แล้ว 

แต่ว่าทำยังไงถึงจะทำให้อยู่ในองค์มรรคโดยสมบูรณ์แค่นั้นเอง ...ก็มาเห็นอาการตามปกติของมันนั่นแหละ คำว่าปกติของมันนั่นก็คือสามัญลักษณะ

สามัญลักษณะคืออะไร ก็คือความหมายนึงของไตรลักษณ์ ...ก็มันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้วน่ะ ใช่ป่าว มันไม่ได้ประหลาดมหัศจรรย์วิเศษวิโส หรือว่าลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดไหน ...เขาก็แสดงอยู่ทนโท่คาหูคาตา คาใจอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่ ให้กลับมาเห็นอาการปกติของธาตุของขันธ์ ของอายตนะ  มันแสดงความเป็นจริงอยู่ทนโท่ มันแสดงจริงจนแบบว่ามันทิ่มลูกตาทิ่มหูอยู่ทั้งวันน่ะ 

ทำไมมันไม่เห็นล่ะ ทำไมไม่เห็นอาการที่เป็นสามัญลักษณะนี้ล่ะ

มันกลับไปหาไตรลักษณ์ในแบบว่า "อู้หู กูคิดแทบตาย ...อู้หู นั่งพิจารณาแทบตาย"   ลูกเรียกตอนนั้นที่นั่งสมาธิออกมา “มึงอย่ามายุ่งกับกู กูกำลังสงบอยู่นี่ บาปนะมึง” (หัวเราะกัน) 

มันเป็นอย่างนั้น "ทั้งๆ ที่...กูกำลังพิจารณาไตรลักษณ์อยู่นะเนี่ย" ลูกดันมาเคาะประตูเรียกกินข้าว “ไอ้ห่า กูกำลังเข้าที่อยู่แล้วเชียว กำลังจะเห็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว ไอ้นี่ ไม่รู้เรื่องเลย” เนี่ย

รูปแบบคือรูปแบบ เข้าใจมั้ย แต่ว่าการปฏิบัติจริงๆ มันอยู่ตรงไหน ต้องเข้าใจก่อน ปรับทิฏฐิให้มันตรง แล้วก็นี่ มีอยู่แล้ว แสดงอยู่แล้ว ... เพียงแต่ว่ากลับมาอยู่ในที่ในฐานอันควร คือในฐานะของผู้รู้ผู้เห็น 

อย่าไปอยู่ในฐานะของผู้มีผู้เป็น หรือเข้าไปในฐานะของผู้จะมีผู้จะเป็น ...ถ้าลักษณะที่เข้าไปอยู่ในฐานะของผู้มีผู้เป็นหรือผู้จะมีผู้จะเป็น  สิ่งที่เห็นนั้นจะคลาดเคลื่อนหมด สิ่งที่เห็นนั้นจะมี effect ตามมา 

คือความหมายมั่น มานะ อัตตา ตัวตน ของกู ...กูเห็นอะไรก็ “ธรรมอันนั้นน่ะของกู” สภาวะนั้นก็... “กูได้” ความเห็นไหนๆ ก็... “กูนี่แหละรู้ กูนี่แหละเข้าใจ” 

จำไว้เลยว่านี่เพราะมันเข้าไปเห็นในภาวะของผู้มีผู้เป็น เข้าไปในฐานะของผู้จะมีผู้จะเป็น

แต่ในลักษณะของปัญญา จะลดฐานะตัวใจเหลือเป็นแค่ฐานะของผู้รู้ผู้เห็นเท่านั้น และคอยเท่าทันอาการที่จะเข้าไปมี จะเข้าไปเป็น 

และในขณะที่อยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เห็น ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะชำระความเห็นผิด ก็ให้น้อมให้เห็นสิ่งที่มีที่เป็นข้างหน้า ว่ามันเป็นอะไร เที่ยงมั้ย มันคงอยู่มั้ย 

มันไม่เปลี่ยนแปลงเลยเหรอ มันไม่มากขึ้น-น้อยลงเลยเหรอ มันไม่สลับสับที่เลยเหรอ มันมีแต่เห็นอย่างเดียวเหรอ...ไม่มีการได้ยินเลยเหรอ หรือมันมีแต่การได้ยินอย่างเดียว...ไม่มีความคิดเลยเหรอ เห็นมั้ย

เอ้า มันก็มาเห็นพร้อมกัน สังเกตแล้วก็แยบคายว่ามันพร้อมกันจริงเหรอ มันเกิดขึ้นพร้อมจริงหรือ ...แยบคายลงไปในสิ่งที่ถูกรู้นั้น นี่เขาเรียกว่าใช้ปัญญาแล้วด้วยความแยบคาย

อย่าใจร้อน อย่าอยากได้ ...พออยากได้ เกิดคลื่นแทรกขึ้นมาแล้ว  กิเลสตัณหามันเริ่มออกมาหมายมั่น แทรกขึ้นมา...ด้วยอยาก อยาก อยากรู้มากกว่านี้ อยากเห็นชัดกว่านี้...พั้บ ให้ทัน อยากอีกแล้วกู อย่าเชื่อมัน ช่างหัวมัน เห็นแค่ไหนก็เห็นแค่นั้นพอ

ในขณะที่เรารู้อยู่กับขันธ์นี่ มันจะมีอาการตัณหาแสดงอยู่เป็นระยะๆ ...ให้ทัน  ถ้าไม่ทัน...ขาดทุนอีกแล้ว เข้าไปกระโดดงับเลยในอาการของขันธ์ ในสภาวธรรมที่ปรากฏ หรือในสภาวธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เป็นอดีตหรืออนาคต

ถ้ามันมั่วมากๆ กลับมารู้กาย ...รู้กายนี่ ต้องแยกให้ออกนะ  ให้รู้กาย ไม่ใช่รู้รูปารมณ์ในความเป็นกาย ...แข็งๆ อ่อนๆ ไหวๆ กระเทือน ขยับๆ นี่แหละ กระพริบ เหยียด หยิบ จับ อาการนี่ รู้สึก 

รู้สึกไปที่ความรู้สึก ไม่ใช่มือ เป็นแค่รู้สึกกายวิญญาณตรงนี้ ...ถ้ามันบอกว่าเป็นมือ ก็เป็นความคิด ไม่ใช่มือ ไม่ใช่กาย นั่นเป็นรูป...รูปารมณ์

อยู่อย่างนี้ แล้วก็ดูไป แค่ดูมือกับความคิด ดูมือกับความคิด เดี๋ยวมันสำเร็จมรรคผลเอง แค่เนี้ย บอกให้เลย แยกออกระหว่างสองรูป

รู้จักอาจารย์กำพลใช่มั้ย ตลอดเวลาท่านขยับมือ นิ้ว อย่างเดียว  อันนี้เหตุปัจจัยบังคับนะ ไม่ใช่ว่าอยากทำหรือไม่อยากทำ มันทำได้แค่นี้ ...ของอาจารย์กำพลนี่ เพิ่นใช้อาการนี้ 

แต่เพิ่นมาจับสังเกต ใช้สังเกตเอา ขยับคือขยับ นิ้วคือนิ้ว คนละส่วนกัน แค่นี้ ท่านเห็นความแตกต่างของนามขันธ์และรูปขันธ์ และเห็นการกระโดดสลับกัน

ทั้งชีวิตน่ะไม่ต้องทำอะไร แค่รู้แค่สองอาการนี่ รูปธรรมกับนามธรรม ปรากฏสลับกันไปสลับกันมา  รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ...แล้วมีรู้อีกตัวนึงที่ไม่ใช่ทั้งรูปและนาม เป็นผู้เฝ้ารู้เฝ้าเห็นดูอาการ สองอาการ ... ทั้งชีวิตท่านดูแค่นี้ หลุดได้น่ะ เอาดิ

ไม่ได้มีความสงบเลย ไม่ได้มีการพิจารณาอสุภะเลย เห็นเป็นอย่างนี้ ตากูเห็นแค่นี้ ไม่เห็นเป็นกระดูกเลย อยู่แค่นี้เอง แต่เห็นอาการของขันธ์ตามความเป็นจริง นี่ ให้เข้าใจๆ

ส่วนการที่ว่าจะเห็นเป็นอสุภะอสุภังนี่ มันเป็นบางดวงจิตเท่านั้น นะ บางคนนี่นั่งกำหนดพุทโธๆๆ ไป ไม่ได้พิจารณาอะไรเลย แค่หยั่งลงมาที่กายนี่...อ้าว เป็นกระดูกเลยเว้ย  

มันเห็นเองอย่างนั้น มันขึ้นมาเองเลยนะ เห็นเข้าไปถึงตับไตไส้พุง ชัดแจ๋วเลย ...อย่างนี้ มันเป็นบางดวงจิตเขาฝึกมา ...ถ้าอย่างนี้ พิจารณาเยอะๆ พิจารณาเข้าไปเลยอสุภะ 

แต่ว่าขั้นตอนพวกนี้ เวลาเห็นแรกๆ นี่ เห็นด้วยความไม่ตั้งใจเห็น เห็นด้วยความที่มันขึ้นมาให้เห็นเอง ปุ๊บนี่ กลัว กลัวตัวเอง  พอกลัวปุ๊บ สมาธิตรงนั้นแตก แตกคือมันไม่ตั้งมั่นแล้ว มันก็หายหมด นิมิตพวกนี้หายหมดเลย 

แต่ถ้าอดทนดูไป หรือว่าทำใหม่ก็พิจารณาน้อมขึ้นมาถึงอารมณ์เดิมขึ้นมาอย่างนี้ มันจะเห็นภาพพวกนี้ชัดขึ้น  นิมิตก็จะไปตามลำดับขั้นๆ แล้วก็แสดงความเป็นไตรลักษณ์ในนิมิตนั้นเลย  ค่อยๆ เน่าๆๆๆ แตกๆๆ หลุด ลุ่ย หลอย แผละๆๆ ดับไปเองเลยนะ

เนี่ย ถ้าอย่างนี้พิจารณาเยอะๆ สำหรับลักษณะจิตอย่างนี้นะ

แต่อย่างพวกเรานี่ นั่งพิจารณาจนตายยังไม่เห็นอย่างนี้ บอกให้เลย  มันคนละอาการกัน คนละจริตกันนะ  บางคนยิ่งดูยิ่งสวย บอกให้ (โยมหัวเราะกัน)  ...มันต่างกัน 

เพราะนั้นอย่ามาทะเลาะกันกับเรื่องพวกนี้ มันเป็นบางลักษณะจริตนิสัยของจิต ...เพราะอะไร เพราะลักษณะอสุภะพอดับไปแล้วพั้บนี่ ไม่มีอะไรให้พิจารณาเลย รูปยังตั้งไม่ได้ในนิมิตเลยนะ เข้าใจมั้ย 

พอตั้งไม่ได้ในนิมิต มันเหลืออะไรล่ะ เหลือใจผู้รู้ปรากฏอยู่ดวงเดียว ...ก็กลับมารู้ที่ใจอยู่ดวงเดียว จากนั้นไปปั๊บนี่ มีอะไร พึ่บๆๆๆ รู้อยู่ที่เดียว...เหมือนกันแหละ

เพราะนั้นไอ้ที่เถียงกันนี่ ยังไม่ถึงไหนเลย บอกให้ ...มันยังไม่ถึงใจ มันยังไม่เห็นใจเลย มันเห็นในแค่ตำราเท่านั้น ยังไม่เห็นในความเป็นจริง ...แล้วมันไม่สามารถจะมาร้อยรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง

เพราะนั้นถ้าเห็นถึงใจแล้ว ไม่มีแยกว่าสมถะกรรมฐาน หรือวิปัสสนาหรือว่าปัญญาแล้ว มันเลิกพูดไปเลย  แค่ “เอ๊อะ”...ดับ เข้าใจมั้ย ยังไม่ทันออกมา...ดับ "ปัญ"...ยังไม่ทัน "ญา" เลย...ดับ บอกให้เลย 

เข้าใจรึเปล่า ถ้าอยู่ที่ใจตรงนั้นแล้ว อวิชชา ปัจจยา สังขารา มันทันตั้งแต่ขณะนี้ ยังไม่ทันจะเป็นรูปหรือนาม นะ วิญญาณยังไม่เกิดเลย...ดับ

มันทันตรงนั้น ตั้งแต่ สังขารา ...ความหมายของคำว่าสังขารา คือ กายสังขาร วจีสังขาร แล้วก็จิตสังขาร ทางสามแพร่งน่ะ นั่นแหละ อวิชชา ปัจจยา สังขารา 

เพราะนั้นความหมายของคำว่า อวิชชาปัจจยา สังขารา ไม่ได้หมายถึงความคิดความปรุงอย่างเดียว อย่างที่เข้าใจว่าสังขารขันธ์ คนละตัวกัน สังขารขันธ์นั่นมันยังมีส่วนของรูปและนาม  

แต่ตัวอวิชชา ปัจจยา สังขารานี่คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขาร ...เพราะนั้น ยังไม่ทันจะเป็นเลย...ดับ รูปยังไม่ทันจะเป็นรูปเลย...ดับ ยังไม่ทันจะเป็นนามเลย...พั่บๆๆ ดับ  อะไรดับมันยังไม่รู้เลย

ขั้นนี้ อวิชชาปัจจยาสังขาร สังขารปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยากสฬายตนะ สฬายตนะปัจจยาผัสสะ ผัสสะปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทาน อุปาทานปัจจยา... ตรงนี้มันปัจจยาอะไรรู้มั้ย...ที่มันพูดกัน...ชาติกับภพๆๆ แล้วก็ทุกข์โทมนัส โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส

ชาติ-ภพ-ทุกข์ ...ชาติ-ภพ-ทุกข์ ๆ บอกให้เลย ...อู้ย ยังไปค้นหาความเป็นจริงใน ชาติ-ภพ-ทุกข์ๆ อยู่ตรงนี้เลย  ไม่ต้องพูดถึงปัจจยาการของอวิชชาตัณหาอุปาทาน อวิชชาปัจจยาสังขาร สังขารปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูปเลย

เพราะนั้นถ้าถึงตรงนี้ขั้นนี้ ไม่มีคำพูดแล้ว มันมีแต่ความจริงล้วนๆ เป็นความจริงที่ไม่มีคำพูด คือปรมัตถ์ เป็นปรมัตถ์จิต เป็นปรมัตถ์ธรรมแล้ว ...มันคนละส่วนกันเลยกับโลกียะ หรือว่าคนละส่วนของโลกหรือขันธ์เลย

เพราะมันตัดตั้งแต่รูปนามแล้ว ยังไม่ทันเป็นรูป ยังไม่ทันเป็นนาม...พั่บ พูดไม่ออกเลยๆ ...เพราะศีลสมาธิปัญญานี่ มันจะรวมอยู่ ขั้นนั้นน่ะ 

ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยแหละ มันไม่รู้ว่าดับอะไรด้วยซ้ำ มันรู้แต่ว่ามันทำงานอยู่น่ะ ...แต่ว่างานที่ทำอยู่คืออะไร ไม่รู้ เพราะไม่รู้ ไม่มีคำพูดจะไปพูดได้ พูดไม่ออกเลย บอกให้

อู้ย อย่ามาเถียงกันเลย กว่าจะปรุงแต่งมาเป็นคำพูด มันเลยขั้นนามรูปออกมาไม่รู้กี่โยชน์แล้ว เป็นปฏิจจสมุปบาทขั้นต่ำสุดแล้ว ยังหลงอยู่ตรงนั้นแหละ เอาถูกเอาผิดกันอยู่ตรงนั้นแหละ ตรง ชาติ-ภพ แล้วก็ทุกข์น่ะ ...อยู่แค่สามตัวแรกน่ะ

พยายามยกระดับเข้ามาหน่อย ถอย ไอ้เสือถอย ...ถ้าถอยต้องทิ้งนะ ถอยต้องทิ้งก่อน ...ด้วยความอดทนอดกลั้นน่ะ กลับมาก่อน กลับเข้ามาสาวถึงเหตุแรกให้เจอก่อน

เพราะนั้นวิธีสาวของปัญญาวิมุติ ง่ายๆ สุด ...มีอะไรเกิดขึ้น...รู้ๆๆๆ รู้เข้าไป รู้อย่างเดียว แล้วก็ส่องลงไปที่รู้ หยั่งลงไปที่รู้นั่นแหละ ตรงที่รู้ตรงที่เห็นนั่นแหละ มีตัวเดียว ...มีรู้เดียว รู้อื่นไม่เอา 

รู้หูรู้หาไม่เอา รู้ตา...ไม่เอา รู้คิด..ไม่เอา รู้อดีต-อนาคต...ไม่เอา พวกนั้นไม่เอา  เอารู้เดียว รู้อยู่ๆ รู้ๆๆ ภายใน มันมีผู้รู้ผู้เห็นอยู่ตรงนั้นน่ะ ...เอารู้เดียวพอแล้ว โง่เข้าไว้ โง่อยู่ตรงนั้นแหละ 

ไม่มีหน้าไม่มีตาหรอกไอ้ตัวรู้นั่นน่ะ ความรู้ก็ไม่มี มันเป็นตัวรู้บ่ดาย รู้เปล่าๆ รู้ซื่อๆ รู้โง่ๆ ไม่มีความรู้อะไรในนั้นเลย ตัวมันก็ไม่มีหน้ามีตาเลย มันอยู่ตรงไหนยังหาไม่เจอเลย เอาดิ

อยู่ตรงนั้นน่ะ เอาตัวเดียว เอาให้รอดเหอะ ...เอามันเป็นที่พึ่ง เอานี้เป็นหลัก เอานี้เป็นที่อยู่  อย่าเอาสิ่งอื่นเป็นที่ยึด นอกเหนือจากนี้ ...อย่างน้อยยึดเอาไว้ หาตัวรู้ให้เจอแล้วอยู่ตรงนั้นแหละ จับให้อยู่ ตั้งลงไป มันเข้าใจเองแหละ

มันเข้าใจวิถีของมรรคเองนะ แล้วมันจะเข้าใจครรลองของมรรคเอง ไม่ต้องไปนั่งไล่อ่านไล่ถามใครแล้ว เจอใจเมื่อไหร่ล่ะสบาย อยู่ที่ใจได้เมื่อไหร่ สบาย ...มันจะดำเนินไปตามครรลองของมรรค 

แล้วมันจะรู้เลยว่านอกจากรู้ไปนี่ ไร้สาระ ...ตอนที่มันขึ้นมายังเป็นคำพูดอยู่นะตอนนั้นน่ะ ต่อไปมันไม่มีสาระๆ แล้ว มันมีแต่ “ละ” อย่างเดียว รู้...ละๆๆๆ มันละอะไรมันยังไม่รู้เลย 

มันกำลังทำความแจ้งกับสังขารา คือ จงใจ เจตนา ตรึก ปรารภ นี่พูดเป็นภาษาสมมุติบัญญัติใกล้เคียงที่สุด หรือว่าแลบ หรือว่าเคลื่อน หรือเขยื้อน หรือขยับ หรือว่าไหว หรือว่า...เอ้าพูดภาษาดีหน่อยคือ เกิด-ดับๆๆๆ

ถามว่าอะไรเกิด-ดับ มันยังไม่รู้เลยว่าอะไรเกิด-ดับ เพราะสิ่งที่ออกมามันเป็นปัจจยาสังขารา สังขารายังไม่ปัจจยาเป็นภาษาเลยนะ ภาษานี่ต้องออกเป็นนามรูปก่อนนะถึงจะมีภาษาได้น่ะ ใช่ป่าว 

"ไอ้นี่เป็นปัญญา ไอ้นี่เป็นสมถะ ไอ้นี่เป็นวิมุติ" ... อู้ย ไม่มีแล้ว ไม่เหลืออะไรแล้ว ธรรมน่ะ  ไม่มีธรรมแล้ว ไม่มีสังขารธรรมแล้ว อนัตตาแล้ว เป็นสัพเพธัมมาอนัตตาติ 

กำลังเรียนรู้อยู่ตอนนั้นน่ะ ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน หาตัวตนไม่เจอ ... เอ้า พูดภาษาภูมิจิตภูมิธรรมก็คือ อรหัตตมรรค น่ะ (โยมหัวเราะกัน)

แค่รู้ไปเรื่อยนี่แหละ ไม่มีวิธีอื่น ...ไม่ว่าสมถะ ไม่ว่าปัญญา เจโต อะไรไม่รู้  มันมีวิธีเดียวนี่ วิธีอื่นไม่มีอ่ะ 

สุดท้ายก็ต้องมาตายลูกนี้แหละ คือมาเป็นศพเดียวกันน่ะ นอนทอดพื้นในที่เดียวกัน ในอาการเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเส้นไหนสายไหน ...ถ้าจะเข้านิพพานน่ะ มันมีประตูเดียวเท่านั้นแหละ ที่ตายของจิต ที่ตายของการเกิด มันมีอยู่ที่เดียวคือมหาเหตุ

ก็ไม่รู้จะไปหาวิธีอื่นตรงไหน มันจะเป็นศาสดาองค์ไหนก็ไม่รู้ ไม่มี ...ถ้าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้ามีที่เดียว มันอยู่ที่ใจดวงเดียวเท่านั้นแหละ นั่นแหละคือมหาเหตุ จุดเริ่มต้นของการเกิด 

ตราบใดที่มันแหย่ออกมา หรือหยั่งออกมา หรือยืดออกมา เหมือนเป็นรากเหง้าน่ะ ...เคยเห็นข้าวมั้ย ข้าวเปลือกน่ะ แล้วสันดานของข้าวเปลือกเป็นยังไง ...มันพร้อมที่จะงอก 

ตอนนี้ กำลังทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสุก  ถ้าเป็นข้าวสุกแล้ว ถามว่าข้าวสุกมันจะงอกมั้ย  เออ แต่ตอนนี้ มันกำลังแหย่ ยื่นราก ยังไม่ทันจะเป็นรากโผล่มา พั่บๆๆๆ

แต่พวกเรากำลังเกี่ยวข้าวอยู่ (หัวเราะกัน) เกี่ยวแล้วยังไม่กิน ยังเอาไปโปรยต่ออีก "กูจะเอาผลผลิตเยอะๆ ไว้ขาย" ...เนี่ย  ยังไม่ต้องพูดถึงว่ากำลังหุงข้าวให้สุกเลย 

อันนี้ของพระอรหันต์ท่านหุงข้าวอยู่ ท่านกำลังหุงข้าว หุงจิต ให้ข้าวเปลือกเป็นข้าวสุก มันจะได้ไม่กลับมางอกอีก

บางทียังไม่ได้ปลูก กำลังหว่านไถอยู่ มัวแต่ไปทำอะไรอยู่ในดงในป่าในนาอยู่นั่นน่ะนะ กว่าจะมาเห็นว่า "โอ๋ย แล้วกูจะไปปลูกทำมั้ย กินแล้วก็ตายแล้วก็หมดเรื่อง" ... สุดท้ายตายแล้วก็หมด ไม่เหลืออะไร

ก็ไม่มีเชื้อแพร่พันธุ์ต่อไปอีกแล้ว ไม่ต้องมารักษา ไม่ต้องขวนขวาย แสวงหากำไรขาดทุนอะไรอีกแล้ว นั่นแหละคืออาสวักขยญาณ พั่บๆๆๆ อยู่อย่างนี้ ... คือเท่าทันการเกิดแรกของจิต...สังขารา

(ต่อแทร็ก 3/9)