วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/8 (1)




พระอาจารย์
3/8 (531230A)
30 ธันวาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้ยาวมาก ...แบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความการโพสต์ค่ะ)

พระอาจารย์ –  ... ฟังมาก็เข้าใจพอสมควรกันแล้ว เพียงแต่ว่า เหลือแต่ทำความแยบคาย ทำความแยบคายลงไปในสติปัจจุบัน

ในลักษณะของการเจริญภาวนา ในลักษณะการปฏิบัติในแนวของปัญญานี่  มันไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ แต่มันเป็นการเรียนรู้ในสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ...สิ่งที่มันปรากฏ 

ไม่ใช่ว่าเป็นการแสวงหา หรือว่าเป็นการกระทำขึ้นมาใหม่  มันไม่เหมือนกับการที่ว่าจะต้องไปตั้งเป้ากับอะไร สิ่งใด สภาวะใด ... แต่เป็นการกลับมาเรียนรู้ความเป็นจริงในปัจจุบัน

เพราะนั้นความเป็นจริงในปัจจุบันนี่  ถ้าพูดโดยรวมมันก็คือขันธ์ห้า แล้วก็อายตนะหก ...ชีวิตของทั้งชีวิตของการเป็นคนมันมีอยู่แค่นี้ คือมีขันธ์ห้ากับอายตนะหกเท่านั้น มันถึงสื่อสารสัมผัสสัมพันธ์ได้กับสรรพสิ่ง 

ถ้าแยกโดยย่นย่อก็เป็นสองอย่าง...กายกับใจ  ภาษาธรรมก็เรียกว่า...รูปกับนาม มีอยู่สองอย่าง ...ก็กลับมาเรียนรู้ ด้วยการเจริญสติขึ้นมา

สติไม่รู้เองหรอก ...ปล่อยให้มันรู้เอง มันไม่รู้หรอก  มันจะเกิดเองไม่ได้สติน่ะ นอกจากว่าสติธรรมชาติในชีวิตคนมันก็เกิด ...แต่ว่าเวลามันจะเกิดที มันทุกข์เจียนตายแล้วมันถึงรู้ “เฮ้ย ทุกข์เว้ย” แล้วมันก็หายไป นั่นน่ะสติเกิดเองของคน

แต่ในเรื่องของการปฏิบัตินี่ มันต้องอาศัยการเจริญขึ้นมา ปล่อยไม่ได้ ...ต้องมีการระลึกรู้ กลับมาเป็นผู้รู้ผู้เห็น เฝ้ารู้เฝ้าเห็น

คราวนี้ว่าเฝ้ารู้เฝ้าเห็นอะไร ...ถ้าพูดในแง่ของสติปัฏฐานก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม  ถ้าพูดโดยรวมก็เรียกว่าขันธ์ห้ากับอายตนะหก 

คือมาเฝ้ารู้เฝ้าเห็นมัน สังเกตมัน ดูมัน  ดูความเป็นจริงของมัน ว่ามันเป็นอะไร มันเป็นยังไง 

แล้วการดูนั้น การมาเฝ้ารู้เฝ้าเห็นนั้น ต้องมาเฝ้ารู้เฝ้าเห็นในปัจจุบัน อย่าไปเฝ้ารู้เฝ้าเห็นในอดีต-อนาคต ไม่มีประโยชน์หรอก ...ฟุ้งซ่าน ไม่เห็นความเป็นจริง ถึงจริงก็ไม่ใช่ 

ต้องมาเห็นขันธ์ห้า-อายตนะหก ในปัจจุบันเท่านั้น ในการลักษณะที่เป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น ไม่ใช่ในฐานะผู้มีผู้เป็น ผู้จะมีผู้จะเป็น

เพราะนั้นการรู้เห็น ถ้าแบ่งโดยสั้นๆ ก็คือรูปกับนาม ... รูปในที่นี้คือรูปของตัวเองเป็นหลักคือกาย นามก็คือใจ 

คราวนี้เราพูดถึงใจเดี๋ยวก็ไปดูใจอีก จริงๆ ก็คืออาการของใจที่ดูอยู่น่ะ เป็นนาม  มีสองอย่าง ...ต้องแยกให้ออก อันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม อันไหนเป็นกาย อันไหนเป็นใจ

จะไปดูใจก่อนเลย แล้วเอาใจเป็นพื้นฐานเครื่องระลึกรู้นี่ บอกไว้ก่อนว่ายาก  ได้ก็ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็จะเห็นแต่ไอ้อาการที่เป็นนามหนักๆ แต่ถ้าเป็นนามเบาๆ แผ่วๆ นี่ โดนมันกินหมด...สติไม่ทัน

เพราะนั้นว่า แล้วจะระลึกรู้อะไร ...ก็ยังมีกายอยู่  กายนี่เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องระลึกรู้ในขันธ์นี่ชัดที่สุด ในเบื้องต้น ... จริงๆ น่ะไม่ใช่แค่เบื้องต้นหรอก ท่ามกลางแล้วก็ทุกที่น่ะ ทิ้งกายไม่ได้เลย

แต่ว่าการระลึกรู้ที่กายนี่ มันไม่ได้ระลึกรู้แล้วไปคิด ไม่ได้อาศัยจินตาเข้าไปประกอบกับกายโดยตรง ไม่ได้ต้องไปคิดหาถูกหาผิดอะไรกับกายนี้ 

หรือไปคิดว่ากายนี้มันคืออะไร สุดท้ายแล้วมันเป็นยังไง...ด้วยความคิด ว่ามันจะผุ มันจะพัง มันจะเสื่อม มันจะสลาย มันจะเน่า มันจะเหม็น อันนั้นปล่อยให้มันเป็นเรื่องของวิปัสสนากรรมฐาน

ในลักษณะของการเจริญปัญญานี่ คือเข้าไปรู้กายตรงๆ เข้าไปรู้ตรงๆ รู้ตรงนี้เลย ... เพราะนั้นคำว่ารู้กายตรงๆ นี่ คือรู้ไปที่กายวิญญาณ ไม่ใช่ไปรู้ตรงๆ กับรูปารมณ์  

ต้องแยกก่อน กายที่เป็นรูป กับกายวิญญาณ คนละตัวกัน ...เพราะนั้น กายวิญญาณที่รู้ตรงๆ เช่น หนาวมั้ย เย็นมั้ย ตรงนี้  อ่อนมั้ย นิ่มมั้ย แข็งมั้ย ไหวมั้ย นิ่งมั้ย เหยียดมั้ย คู้มั้ย นี่ ดูตรงนี้ แข็งๆ ตรงนี้  ดูที่แข็งๆ ขณะนี้  

เพราะนั้นถ้ารู้ลงไปที่กายตรงๆ ขณะที่ผัสสะในปัจจุบันตรงนี้  หนาวบ้าง แข็งบ้าง อ่อนบ้าง นิ่งบ้าง ไหวบ้าง ขยับบ้าง ... ถ้ารู้ไปตรงๆ ตรงนี้ กายไม่มีคำพูดเลย กายไม่เป็นกายหรอก มันเป็นแค่อาการหนึ่งเท่านั้นเอง รู้อย่างนี้นะ

เพราะนั้นขณะที่รู้กับกายนี่ น้อมลงไปดู น้อมลงไปดูที่รู้ตรงนี้ ตรงกายตรงนี้ แข็งๆ อ่อนๆ นี่  น้อมไปดูว่ามันเป็นเรามั้ย มันแสดงความเป็นเรามั้ย  หนาวๆ เย็นๆ นี่ มันเป็นเรามั้ย  

น้อมไปดูนี่ ก็จะเห็นกายตามความเป็นจริงในระดับหนึ่งว่า มันไม่ใช่สัตว์ มันไม่ใช่บุคคล มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

รู้กายอย่างนี้  รู้เยอะๆ รู้บ่อยๆ รู้ให้ต่อเนื่อง ...แล้วจริงๆ น่ะถ้ามันรู้กายตรงๆ มันรู้ได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวมันจะมีนามมาประกอบกับกายวิญญาณ  

พอรู้ว่าแข็งๆ ปุ๊บ มันก็จะมีคำพูดในใจขึ้นมาว่า “เออ กำลังนั่งอยู่”  พอมันบอกว่านั่งปุ๊บ ให้รู้ไว้เลย ไอ้ที่บอกว่า "นั่ง" นี่ มันเป็นนาม มันเป็นความปรุงขึ้นมาแล้ว เป็นความปรุงร่วมกับสัญญา  

พูดง่ายๆ สัญญานั่นแหละมันเกิด มันจำได้ว่าอย่างเนี้ย ไอ้แข็งๆ แท่งๆ ทรงนี้เรียกว่านั่ง ...เพราะนั้นพอมันบอกว่ากำลังนั่งปั๊บ ก็ต้องรู้ว่า เนี่ย กำลังนั่ง ใจมันกำลังปรุงว่านั่ง ...นี่เป็นนามแล้วนะ 

เพราะนั้นเมื่อรู้ว่านั่ง เห็นว่ามันพูดว่า "นั่ง กำลังนั่ง"  ให้สังเกตดู  ...สังเกตดูอะไร  ...กายวิญญาณจะดับ ขณะนั้นไม่มีแข็งแล้ว มีแต่ "นั่ง กำลังนั่ง"  ...เห็นมั้ย มันสลับกันนะ มันจะสลับกัน

พอรู้ว่านั่งสักพักนึง รู้ว่ากำลังนั่งพักนึง ดูว่านั่ง รู้ว่านั่งพักนึง เดี๋ยวสักพักมันจะดับ  แล้วก็กลับมาดูแข็งๆ อีก พอกลับมาดูแข็งๆ อีก...ปั๊บนี่ ขณะนั้น "นั่ง" หายอีกแล้ว ไอ้คำว่านั่งดับอีกแล้วนะ ...ให้สังเกตดูอย่างนี้

การเดินเหมือนกัน ถ้ารู้ที่กายตรงๆ น่ะ มันไม่มีอะไรหรอก มันไม่รู้หรอกว่าเดิน  อาการเสือกขาไปนี่ ไหว กระเทือนนี่  มันมีแค่ดิบๆ น่ะ มันเป็นอาการอะไรไม่รู้ ขยับๆๆ อย่างนั้นน่ะ  

แต่พอบอกว่า "กำลังเดิน" ปั๊บนี่ ให้รู้ไว้เลย กายวิญญาณดับ  สังเกตเอานะ แล้วมันบอกว่า "เดิน" แทน ตรงนั้นเป็นเรื่องของนามแล้ว

แต่ในขณะที่มีแค่นี้ ว่าเดิน เป็นนาม หรือไม่มีนามว่าเดินมาปรุงกับรูป มีแค่อาการรู้สึกหนักๆ ไหวๆ ... ลักษณะที่รู้อย่างนี้ ขณะนี้ ไม่มีสักกาย นะ 

รู้แค่นี้นะ ธรรมดาตรงนี้ ยังไม่มีสักกายเกิดเลยนะ  มีแต่เดิน กับอาการ แล้วก็รู้ ใช่ไหม ... ตรงนี้ เห็นมั้ย ไม่มีสักกาย ไม่มี “เรา”

แต่สมมุติว่าถ้าสักพักนึง ดูไปดูมา “เฮ้ย เรากำลังเดินอยู่ว่ะ”  ถ้ามันมีบอกว่า “เรา” กำลังเดินอยู่ ต้องทัน...ทันว่าตอนนี้มันมี “ทิฏฐิ” เข้ามาจับนาม มาจับกับนามว่า "นั่ง" หรือ "เดิน" 

นี่คือว่า “เรา” กำลังทำ มี “เรา” เกิดขึ้นกับนามนั้น เรียกว่าเกิดความหมายมั่นว่านามนี้เป็นเรา ...หรืออาจจะเป็นเคลื่อนไหว แล้วก็มีความรู้สึก...รู้สึกโดยไม่มีคำพูดก็ได้ว่านี่เรากำลังเคลื่อนไหวอยู่ 

ก็ให้รู้ว่านี่เป็นอาการของ “ทิฏฐิ” ปรากฏขึ้นกับกายวิญญาณ หรือนาม หรือสัญญา ...ก็ให้รู้ว่ามี “เรา” เกิดขึ้น เป็นความเห็นว่า “เรา” เกิดขึ้น ...ไม่ต้องทำอะไร รู้ทันแค่นั้น ให้รู้ทัน

แล้วก็ดูไปเรื่อยๆ  เดี๋ยวจิตมันไม่อยู่ตรงนั้นตลอดเวลาหรอก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยนมาดูแข็งๆ อีก เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปว่านั่งอีก 

แต่ในขณะที่ว่ามันไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สามารถที่จะอยู่กับการไหวอย่างนี้ของกาย โดยที่ไม่มีคำพูดอะไร เหมือนกับเห็นไปเปล่าๆ อย่างนี้ ...ขณะนั้นน่ะ ให้น้อมลงไปด้วย น้อมลงไปให้เห็นว่า ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรามั้ย มันมีเราตรงนี้มั้ย

เพื่ออะไร เพื่อให้มันเข้าไปเกิดความรู้ที่เป็นสัมมา...ว่านี่มันไม่ใช่เรา ...สะสมความรู้ตรงนี้ ขณะนั้นน่ะมันก็ยังไม่มีคำว่าเราหรือเป็นของเราหรอก ...แต่ว่าสอนมันด้วยปัญญา ให้มันเกิดปัญญาว่า ไอ้นี่มันเป็นเราตรงไหนวะ 

เหมือนกับเราใส่ question กับมันน่ะ เอา question ไปพาว่ามันเป็นเราตรงไหนวะนี่ อาการนี้ ไปเรื่อยๆ พอดู...มันก็ไม่เห็นว่าเป็นเราตรงไหน มันเป็นแค่นี้ ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่ใช่ หนาวๆ นี่ แข็งๆ นี่ มันเป็นหญิงตรงไหน มันเป็นเราตรงไหนวะ 

นี่ ดูอย่างนี้ ดูให้น้อมให้เห็นอย่างนี้ เพื่อให้มันเกิดความรู้ที่จะเข้าไปลบล้างความเห็นผิด ที่มันจะเกิดขึ้น เดี๋ยวก็เกิดขึ้นเรื่อยว่า...นี่เรา ไอ้นี่เรา ของเรา อย่างนี้

แต่ถ้ามันขยับไป แล้วไปเกิดนาม เกิดความรู้สึกกับความเห็นว่าเป็นเรา ของเรา เกิดขึ้น ...ก็ให้รู้ว่านี่ “เรา” เกิดแล้ว เป็นความเห็นว่า “เรา” เกิดแล้ว ...ช่างมัน ก็รู้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยว “เรา” ก็ดับไปเองน่ะ 

ในขณะนั้นน่ะ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปทางตา เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปทางหู เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปทางลิ้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปทางสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง อะไรก็ตาม ช่างมัน รู้มันไปอย่างนี้

แต่ขณะที่มันไม่ว่าอะไรแล้วก็เห็นในลักษณะที่เป็นปกตินี่ ให้น้อมลงไปให้เห็นว่ามันเป็น “เรา” ตรงไหน มันเป็นของเราตรงไหน มันคงที่ไหม มันสลับสับเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กระโดดไปนั่นมานี่ตลอดเวลา มันไม่อยู่เป็นที่เป็นทางเลย

พูดง่ายๆ ดู น้อมไปให้เห็นว่ามันไม่มีตัวไม่มีตนอะไรที่แท้จริงหรอก อาการที่รู้ไปตามรูปไปตามนามทั้งหลาย ...น้อมให้เห็นไปเรื่อยๆ  ความรู้ภายใน ความเห็นชอบภายใน มันสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยเอง

ต่อไปน่ะ มันจะก็รู้ภายในตัวใจของตัวรู้นี่เองว่า...ไม่เห็นมี “เรา” ตรงไหนเลย ในขันธ์อันนี้ ในอาการอันนี้  ไม่ว่าอาการทางรูป ไม่ว่าอาการทางนาม  มันก็เป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น

เวลาเราเดินไปเดินมาอย่างนี้ แล้วเราดูด้วยสตินี่ โดยที่ไม่ว่าเป็นเราของเรา นี่ ดูไปสิ มันก็เป็นแค่เดิน นั่ง ...ไม่ใช่มันไม่รู้นะว่านั่ง หรือว่าไม่รู้ว่าเดินนะ  มันก็รู้ เดิน นั่ง 

แต่มันไม่มีอยู่อย่างนึงคือ...ไม่มี “เราเดิน” ไม่มี “เรานั่ง” เข้าใจมั้ย  มันมีแต่ เดิน นั่ง กิน ลุก หนาว ร้อน เย็น เมื่อย ปวด มันก็มี 

แต่มันไม่มีอยู่อย่าง...ไม่มีเรา ไม่มีเราปวด ไม่มีเราหนาว ไม่มีเราร้อน เราเดิน เรากิน เราไปนั่น เราไปนี่ มันไม่มีตัวนั้น ...ให้ดูไปดิ

แต่ถ้ามันมี...ให้ทัน  แต่ว่าขณะไม่มี ก็ให้รู้ว่ามันยังมีสิทธิ์จะมี “เรา” “ของเรา” เกิดขึ้นได้ ...ก็ต้องสอนใจด้วยการน้อมให้เห็นว่ามันเป็นเราตรงไหน ในสิ่งที่รู้นี่  

ไม่ว่าจะเป็นส่วนของรูปหรือส่วนของนามที่ปรากฏ ไม่ว่าส่วนของการเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น แม้กระทั่งสุขหรือทุกข์ ...ดูสิมันเป็นเราตรงไหน 

มันมีหน้าตาตรงไหนที่เป็นเรา เหมือนเรา หรือมีสัญลักษณ์อันไหนที่บ่งบอกถึงความเป็นของเรา ...นี่ ดู น้อมลงไปให้เห็นไตรลักษณ์ แล้วก็เห็นในการสลับสับเปลี่ยนตลอดเวลา  ย้ายไปนั่น ย้ายมานี่ 

ย้ายไปทางหู ย้ายไปทางตา เดี๋ยวก็ย้ายมาทางกาย เดี๋ยวก็ย้ายมาทางความคิด เดี๋ยวก็ย้ายไปที่อารมณ์ เดี๋ยวก็ย้ายไปที่ความรู้สึก เดี๋ยวก็ย้ายกลับมาที่ความคิด เดี๋ยวก็ย้ายกลับมาที่กาย เดี๋ยวก็ย้ายกลับมาที่เห็นอีก 

เห็นมั้ย มันย้ายไปย้ายมา  มันเกิดๆ ดับๆ สลับไปสลับมา  ดับทางนี้ไปเกิดทางนั้น ดับทางตาไปเกิดทางหู  ดับทางหูมาเกิดทางความคิด ดับทางความคิดมาเกิดทางความรู้สึก ดับทางความรู้สึกเดี๋ยวก็มาเกิดทางกายอีก

เนี่ย ให้เห็น อยู่ในฐานะผู้เฝ้ารู้เฝ้าเห็น ผู้รู้ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ...แล้วก็น้อมให้เห็นว่า วิญญาณมันเกิดๆ ดับๆ วิญญาณมันร่อนไปเร่มา ไปจับทางนั้น เดี๋ยวก็ไปเกิดทางนี้ เดี๋ยวก็ไปดับทางนู้น ไม่มีอะไร เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ดูไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ไม่ต้องคิด หา ว่ามันคืออะไร แปลว่าอะไร ...ดูอย่างเดียว แล้วก็น้อมให้เห็นว่ามันไปๆ มาๆ อย่างนี้แหละ มันไม่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนตรงไหน มันไม่เห็นว่ามีเป็นเราของเราตรงไหน มันไม่เคยบอกในอาการใดอาการหนึ่งว่าเป็นเราของเราตรงไหน 

ย้ำลงไปอย่างนี้ ดูแล้วก็น้อมลงไปอย่างนี้ ย้ำลงไปให้เห็น ...จนที่สุดแล้วใจมันจะเกิดการยอมรับความเป็นจริง ของสิ่งที่ปรากฏอยู่ทางรูปและนามนี้ ว่าไม่ได้เป็นใดๆ ของเราเลย 

นี่ เบื้องต้น มันจะต้องเห็น เกิดทิฏฐิที่ตรงก่อน ...ทำความแจ้งในขันธ์ในเบื้องต้น

เพราะนั้นการระลึกรู้ แล้วอยู่ในฐานะที่ว่าเฝ้ารู้ เฝ้าดู เฝ้าสังเกตการณ์ของอาการของรูปและนามของแต่ละสัตว์บุคคลนี่  มันเป็นเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดความแจ้งในขันธ์ทั้งห้า ว่ามันเป็นของเราที่ไหน 

มันแค่เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง สลับกันไปสลับกันมาอย่างต่อเนื่อง แค่นั้นเอง

จากนั้นดวงจิตผู้รู้หรือใจที่รู้ที่เห็นนี่ มันจะคลายออก คลายออกจากการเข้าไปหมายมั่นในกาย เข้าไปหมายมั่นในนาม คือนามขันธ์ทั้ง ๔ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 

นี่ถือว่าคลายลงในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นสมุจเฉท หรือว่าขาดจากขันธ์นี้โดยสิ้นเชิงนะ แต่ว่าคลาย คลายออก

ที่เหลือต่อไป มันก็มีแต่ยืนเดินนั่งนอน ทำอะไรก็ทำ ทำไปโดยที่ว่าทำไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีใครทำ ไม่ใช่ “เรา” ทำ แค่นั้นน่ะ ...เบื้องต้น 

อารมณ์ก็มี สุขก็มี ทุกข์ก็มี  แต่ไม่ใช่ว่าเป็นของเราซะทีเดียว มันก็มีของมันน่ะ

จากนั้นไป ปัญญาจึงจะเข้ามาสอดส่องถึงภายในใจอีกทีนึง  ระหว่างนั้นน่ะ จะเข้าไปทำความแยบคายกับเรื่องตัณหา ภวตัณหา กามตัณหา 

ความอยาก ความไม่อยาก ความหมายมั่นในข้างหน้าข้างหลัง อดีต-อนาคต ในความจะเข้าไปมี จะเข้าไปเป็น ในสภาวธรรมนั้น สภาวธรรมนี้ ในรูปธรรมอย่างนั้น ในรูปธรรมอย่างนี้

มันมีนะ มีความหมายมั่น ทั้งๆ ที่ว่าไม่มี “เรา” เข้าไปหา ไม่มีเราเข้าไปถือครองนะ แต่มันมีความหมายมั่นในใจที่มันจะออกไป ตรงนี้...มันจะต้องมาเรียนรู้เท่าทันอาการของตัณหาโดยตรง

เพราะนั้นในเบื้องต้นนี่ มันยังละตัณหาไม่ได้หรอก ทันยังไม่ทันเลย  มันยังแทบจะไม่รู้เลย ไม่เห็นอย่างชัดเจน  

แต่ต่อไปมันจะทำความแยบคายชัดเจนกับเรื่องของตัณหา ความอยาก ความทะยานของจิตของใจ ความทะยานออกไปของใจ ที่จะไปเกาะเกี่ยวขันธ์ ไปหมายมั่นในขันธ์ ไปหมายมั่นในรูปในนาม ในสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไปหาสุข ไปหาทุกข์

ปัญญาขั้นนั้นจึงจะเข้าไปดับ เข้าไปละ จึงจะเรียกว่าเข้าไปละ ไปเลิก ไปถอน ตัณหา อุปาทาน ไปตามลำดับความหยาบ-ละเอียดของตัณหาแต่ละตัว

สังเกตดูไปเรื่อยๆ แล้วก็ให้สังเกตผลของมัน ไม่มีความรู้ความเห็นอะไรหรอก ผลของมันคือเบาขึ้น เบาขึ้น จากรูปนามอันนี้ เบาขึ้นจากอายตนะที่กระทบจากภายนอก

ถ้ามีความรู้สึกว่าหนักขึ้น เครียดขึ้น กังวลขึ้น...หยุดก่อน ให้รู้ก่อน ...หยุดก่อน มันเริ่มไม่ใช่แล้ว มันเริ่มไปหา ไปควาน ไปจับแล้ว หยุดทำ หยุดปฏิบัติก่อน 

กลับมาเช็ค...เช็คใหม่ ว่ามันอยู่ในฐานะผู้เฝ้ารู้เฝ้าเห็นจริงมั้ย หรือมันอยู่ในฐานะกำลังเป็นผู้มีผู้เป็น ผู้จะมีผู้จะเป็น ...ตรวจสอบบ่อยๆ  

เพราะดูไปดูมาแล้วมันจะเข้าไปเล่นอยู่เรื่อย เผลอปั๊บนี่ มันเข้าไปเป็นแล้ว เข้าไปเป็นในความคิด เข้าไปมีในความคิด เข้าไปมีในรูป เข้าไปมีในนามแล้ว ...ให้รู้ไว้เลย ผลของมันคือเครียด กังวล ขุ่นมัว สงสัย

หยุด ถอยหลัง ตั้งใหม่ ทดสอบ ตรวจสอบ ทบทวนดูให้ดี ...เหมือนเด็กอนุบาลน่ะ กลับมาเริ่มตั้งแต่อนุบาลเลย กลับมาเริ่มอนุบาลหนึ่ง ก.ไก่ ข.ไข่ เขียนใหม่ 

เขียนด้วยการยังไง ...หยุดทำทุกอย่างแล้วมาอยู่เฉยๆ แล้วก็เคลื่อนไหว เดินไปเดินมาสบายๆ แล้วก็ดูอาการไหว อาการนิ่ง อาการขยับของกายก่อน ทบทวนหาใจผู้รู้ ใครรู้ใครเห็นอยู่ 

มันอยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เห็น หรือว่าไปอยู่ในฐานะของกายหรือนาม ...กลับมาอยู่ตรงนี้ให้มั่นคงก่อน แล้วค่อยๆ เจริญสติ สังเกตกับขันธ์ใหม่ ไปตามลำดับ

ในระหว่างเดินน่ะ มันจะพลัดหลงเข้าไปในรูปขันธ์นามขันธ์เสมอ มันจะพลัดหลงออกไปในอายตนะเสมอ จึงเกิดความไม่ชัดเจนมากขึ้น  

ถ้ามันจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อไหร่ คือหมายความว่ามันอยู่ในฐานของผู้รู้ผู้เห็น หรือในฐานของเฝ้ารู้เฝ้าเห็นเท่านั้น มันจะเห็นขันธ์กับอายตนะเป็นองค์ประกอบของใจอย่างชัดเจนขึ้น

ต้องทวนอยู่บ่อยๆ ทวนกลับ หมายความว่าทบทวนให้ดี มันยังมีโอกาสเผลอ เพลิน หลง ด้วยความไม่รู้ ไม่เท่าทัน แล้วก็ยังไปหมายมั่นว่ากำลังเจริญสติอยู่ ...ระวังให้ดี มันไหลออกไปโดยไม่รู้ตัว

บางทีก็ไหลไปโดยความรู้ตัวด้วย คือตั้งใจดูเหลือเกิน ตั้งใจจะไปหาความจริงในนั้นน่ะ ...เหมือนมีอ่างปลาอันนึงวางไว้ แรกๆ ก็มองดู อือๆๆ ปลามันว่ายไปว่ายมา...มันเป็นเรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู  

พอดูไปดูมา มันไม่ใกล้มันไม่ชิด เนี่ย กูจะต้องแนบ ...แนบไปแนบมา กูยังไม่เห็นจริงเลย กูก็เอาหัวจุ่มลงไปเลย ...นี่ มันเข้าไปอย่างนั้น

เพราะนั้นไอ้แรกๆ น่ะ เออ มันก็เห็นชัดอยู่น่ะ มันก็เป็นแค่ เออ อยู่ตรงนี้ ของที่วางอยู่ต่อหน้า ... พอดูไปดูมา ความทะยานอยาก ความโลภ ความหลง ความอยากได้ ความอยากมีความรู้ ความอยากเร็ว ความอยาก...กูจะเอาให้ชัดๆๆ

ไปๆ มาๆ มันเอาหัวจุ่มลงไปเลย แล้วบอก "ทำไมกูหายใจไม่ออก เป็นทุกข์เหลือเกินวะ ทำไมกูหายใจไม่ออก" อย่างนี้ คือเข้าไปแล้ว แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่าการเจริญสตินะ นี่เป็นมิจฉาสติ

เพราะนั้นทำไง ...เลิกดู เลิกไปยุ่งกับมันเลย มาเริ่มไล่ใหม่...เขาเรียกว่าอนุโลม ปฏิโลม  

กลับมาปฏิโลมกับกาย ง่ายๆ เดินสบายๆ  กำลังทำอะไร กำลังเคร่งเครียดกับการดูการเห็นอะไรอยู่ที่มั่วแยกไม่ออกระหว่างใจ อันไหนใจอันไหนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ อันไหนเป็นรู้นี่

เดินเล่นซะ แล้วก็ดูความเคลื่อนไหว เออ ไหวก็รู้ นิ่งก็รู้ เย็นก็รู้ อ่อนก็รู้ เบาก็รู้ หนักก็รู้ กระเทือนก็รู้ รู้เข้าไป ...ให้มันแยกกันชัดเจน 

แล้วก็อยู่ตรงนั้นน่ะ  จับผู้รู้ จับฐานใจให้มั่น ให้มันมั่น ตรงนั้นเรียกว่าสมาธิคือตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ที่ใจรู้ รู้ใจอยู่ตรงนั้น

แล้วจากนั้นไป เวลาอาการของนามปรากฏก็จะแยบคายกับมันได้ว่า...อ้อ มันเป็นแค่อาการ ไม่ต้องไปเอาดีเอาเด่ เอาถูกเอาผิด เอาจริงเอาจัง ในการที่จะไปรู้ไปเห็น หรือไปหาความรู้อะไรกับมัน 

ไม่มีอะไรหรอก มันไม่มีความรู้อะไรในนั้นหรอก มันมีอยู่อย่างเดียวคือมันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องไปหาอะไร ว่ามันคืออะไร ...ให้รู้ว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้

สังเกต ให้รู้เบาๆ สบายกับอาการของนาม  รู้ง่ายๆ เลยนะ  แล้วจะเห็นเอง มันจะพล้อบแพล้บๆ ไวมาก มันจะกระโดดเป็นเวทนากับความคิดนี่ไวมาก หรืออารมณ์กับเวทนา ...ไวมาก 

นี่คนละตัวกันเลยนะ อารมณ์ส่วนอารมณ์ เวทนาส่วนเวทนา ความคิดส่วนความคิด สังขารส่วนสังขาร เวทนาส่วนเวทนา

แต่ถ้าไม่แยบคาย หรือว่าถ้าสติไม่เฉียบ ปัญญาไม่เฉียบนะ มันจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน  ...ตรงนี้ที่มันจะเข้าไปหาโดยความไม่เข้าใจ  

ดูเบาๆ แล้วจะเห็นเลยว่ามันกระโดดไปกระโดดมา ...ความคิดไม่ใช่ทุกข์นะ ความคิดไม่ใช่สุข ความคิดคือความคิดคือสังขาร  สุขคือเวทนา ทุกข์คือเวทนา ...มันไม่ใช่เกิดพร้อมกันนะ

ความคิดไม่ได้เป็นทุกข์นะ ความคิดไม่ได้เป็นสุขนะ ... แต่ตอนมาเห็นด้วยปัญญาที่ยังหยาบอยู่นะ เห็นเลยว่าความคิดเป็นสุขเป็นทุกข์  

จริงๆ ความคิดไม่ได้เป็นสุขเป็นทุกข์นะ มันคนละตัวกัน มันคนละนามกัน คนละอาการกัน เห็นมั้ย ...เพราะนั้นถ้ามันตั้งมั่นอยู่ที่ใจผู้รู้จริงๆ นะ มันจะเห็นเลยว่ามันคนละอาการกัน  เห็นมีการสลับกันระหว่างสังขารกับเวทนา  

แม้แต่ในขณะนั้นเอง เดี๋ยวมันก็แลบออกไปได้ยินเสียงก็ได้ หรือไปเห็นฟ้าเห็นอากาศก็ได้ ... ตรงนั้นทุกอย่างดับหมดเลยอาการของนาม ไปเกิดที่จักขุวิญญาณ ไปเกิดที่โสตวิญญาณ ได้หมด

ให้สังเกตแค่นิดๆ หน่อยๆ ตรงนี้เอง  ส่วนที่สังเกตเห็นอาการที่สลับสับเปลี่ยนนิดๆ หน่อยๆ ตรงนี้...เป็นจุดตายของมันเลย เป็นจุดตายของการเห็นขันธ์ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย

จุดนิดเดียวเองนะ ...แต่เรามามองข้ามน่ะ ไม่ถี่ถ้วน  มันเลยเห็นขันธ์เป็นพืดไปหมดเลย เห็นขันธ์เป็นพืดๆๆ เป็นกองรวมกันเป็นอย่างนี้

แต่แค่นิดเดียว มันแค่นิดเดียวเอง ที่สลับแพล้บนึงๆ คนละอาการ  

แต่เวลาถ้าดูแบบหยาบๆ ดูแบบไม่ถี่ถ้วน ไม่แยบคายแล้ว มันจะเห็นเป็นพืดๆๆ  นามทั้งสี่เป็นอันเดียวกันหมดอย่างนี้ มันก็เลยกลายเป็นคงอยู่ๆๆ อยู่ตลอดเวลา เห็นรึเปล่า

ความจริงมันไม่ใช่คงอยู่นะ มันสลับตลอดเวลาอย่างนั้น พั้บๆๆๆ จากสังขารเป็นเวทนา จากเวทนาเป็นสังขาร จากสังขารเป็นสัญญา จากสัญญาเป็นสังขาร จากสัญญามาเป็นเวทนา จากสัญญามาเป็นอายตนะ จากอายตนะมาเป็นสังขาร ...นี่มันสลับกันอยู่อย่างนี้


นิดเดียวเองๆ แค่เห็นรอยต่อของมันของการเปลี่ยนลักษณะของนาม ในขณะนั้นน่ะ ... มันจะเริ่มอ๋อเลยล่ะ เริ่มไม่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว

ขันธ์นี่ เริ่มหลุดๆ ลุ่ยๆ แล้ว เริ่มมีช่องว่างของขันธ์ เริ่มเห็นขันธ์มีรอยต่อ เริ่มเห็นขันธ์แยกเป็นส่วนๆ แล้ว


(ต่อแทร็ก 3/8  ช่วง 2 )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น