วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/6




พระอาจารย์

3/6 (531124C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

24 พฤศจิกายน 2553




พระอาจารย์ –  คือบางคนก็คุ้นเคยในการที่ว่ากำหนดลมแล้วมันสามารถเรียกสติขึ้นมา เช่นว่า สามารถมีรู้อันหนึ่ง...ลมอันหนึ่ง ๆ อย่างนี้  เขาก็เอาลมเป็นวิหารธรรม  

แต่ว่าถ้าไปรู้อย่างอื่นนี่ เขาจับไม่ถูกอ่ะ สะเปะสะปะไปหมด มั่ว เหมือนกับแยกไม่ออก  แต่ว่าพอมาดูลม ...เออ เขาเห็นเลยว่าลมอันนึง-รู้อันนึง คนเห็นอันนึง ลมอันนึง อย่างเนี้ย ...ก็ให้คนนั้นเอาลมเป็นวิหารธรรม 

แต่ถ้ากำหนดลมแล้วมีแต่ลมๆ มีแต่สงบ มีแต่ลม...อย่าเอาลมเป็นวิหารธรรม หลงแน่ 

ง่ายๆ ไม่มีอะไรมากหรอก ...หลงก็เป็นวิหารธรรมได้ หลงอีกรู้อีกๆๆ  เห็นมั้ย หลงกลายเป็นวิหารธรรม


โยม – อันนั้นน่ะมันมากๆ ทั้งวัน นี้หนูชอบ

พระอาจารย์ – เออ อะไรก็ได้  ไม่ต้องไปคิดมาก...ว่าในสิ่งที่ถูกรู้นั่นมันคืออะไร  มันอาจจะดูเลวร้าย มันอาจจะดูไม่ดีในค่าของพวกเราก็ตาม  แต่เราบอกว่ามันเป็นแค่เครื่องรู้เท่านั้นเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกรู้...เพื่อให้เป็นกระจกสะท้อนกลับมาสู่รู้ แค่นั้น ...มันไม่ได้สำคัญหรอก เหมือนกันหมดน่ะ  อย่างคนที่กำลังจะจมน้ำ


โยม – อะไรเข้ามาเอาหมด

พระอาจารย์ – เออ หมาเน่าลอยมากูก็ต้องคว้า ไม่ใช่ว่ารอแต่ห่วงชูชีพ


โยม – ก็ใช่ เพราะหนูเคยวันหนึ่งที่มันฟุ้งกระจายเละเทะ หนูเลยเอาฟุ้งนี่แหละดูมันทั้งวันเลย...สะใจ   แต่สักพักมันก็หายนะเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ก็นั่นแหละ  ถ้าไปเลือกก็ตาย...จมน้ำตาย


โยม – แล้วมันก็ผ่านไปนะเจ้าคะ ไม่ใช่ว่ามันจะฟุ้งอยู่อย่างนั้นทั้งเดือนทั้งปี

พระอาจารย์ – ใช่ มันเป็นแค่อาการหนึ่งที่ถูกรู้เท่านั้นเอง ...อย่าไปคัดสรรมัน อย่าไปจำแนกเลือกว่าอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้  ต้องให้เครื่องรู้เป็นอันนั้นอันนี้ อารมณ์นั้นอารมณ์นี้เท่านั้น ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้  สับสนก็เอาสับสนน่ะรู้...รู้ว่าสับสน รู้ว่าสงสัย ... รู้อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้

แต่มันจะต้องมีวิหารธรรมหนึ่งที่คุ้นเคย เข้าใจป่ะ ...คือให้มีอะไรเป็นเครื่องอยู่ ให้มีอะไรให้สติระลึกรู้ ต้องอยู่กับสิ่งนั้นมากๆ ที่มันสามารถเจริญสติขึ้นมาได้ เช่น กายก็ตาม ลมก็ตาม อะไรก็ได้ แต่ละคนน่ะมันจะมี มันอยู่กับอะไร นะ 

เพราะงั้นจะเอาสงบเป็นอารมณ์ หรือเอาสงบเป็นบาทฐานนี่  บางทียากที่จะเด้งให้เป็น...ใจรู้อันนึง...สงบอันนึงนี่ ยาก ... ส่วนมากพอสงบปุ๊บนี่ มันเหมือนหมาเห็นกระดูกน่ะ ของชอบกูเลย กูงับเลย(โยมหัวเราะว่าใช่ๆๆเลย) 

บอกยังไงก็ไม่ฟัง แยกยังไงกูก็แยกไม่ออก 'อย่ามาเอากระดูกกูออกไปนะ' ...เห็นมั้ย มันติดมาก เพราะว่าเราให้ค่ากับสิ่งนี้มาก ... จนกว่าจะเห็นว่ามันเป็นแค่อาการนั่นแหละ ตอนนั้นสบาย สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้  

เพราะฉะนั้นน่ะ ที่ลักษณะของเราสอนจะไม่เน้นให้ปฏิบัติในรูปแบบมาก เพราะว่ามันจะไม่เท่าทันอาการ แล้วมันจะมุ่งออกไปในอาการ มากกว่าที่จะเห็นอาการตามความเป็นจริง

แต่ก็ไม่ได้ให้ทิ้งนะ ... ถ้าไม่มีอะไรทำน่ะ หรืออยู่ว่างๆ อย่างนี้ อยู่คนเดียวว่างๆ นี่  ถ้าสติไม่แยบคายจริงๆ นะ มันจับอะไรไม่ถูกเลย ...มันก็ต้องมีการกระทำในรูปแบบเป็นที่อยู่นะ อย่างน้อยต้องมี  ในลักษณะกำหนดพุทโธก็ได้ กำหนดลมก็ได้  

แต่ไม่ได้กำหนดเพื่อหาอะไร หรือกำหนดให้สงบไม่สงบ ...แต่กำหนดเพื่อให้เห็นสติปรากฏขึ้นชัดเจน ให้ใจปรากฏขึ้น แค่นั้นเอง  ไม่ได้เอารูปแบบมาเพื่อให้สงบหรือนิ่ง ...แต่เอารูปแบบมาเพื่อไม่ให้ขาดสติระลึกรู้แค่นั้นเอง 

เพราะว่าถ้าอยู่เฉยๆ ทำอะไรไป ตอนแรกก็ดีอ่ะ ...นั่งอ่านหนังสือ  ตัวอ่านหนังสือนี่ตัวเผลอเพลินเลย บอกให้เลย จม หายไปเลย  กายหาย ใจหายหมด  มีแต่ตัวหนังสือ เรื่องราวข้างใน ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยนะ ... ตอนแรกก็ดูดีน่ะเห็นว่านั่งอ่านอยู่ เดี๋ยวไปๆมาๆ นี่ เข้าไปในตัวหนังสือ ไม่รู้เรื่องแล้ว เผลอเพลินได้ง่ายที่สุดเลยอ่านหนังสือนี่

ดูโทรทัศน์อย่างนี้ ...จริงๆ น่ะ ถ้าตั้งสติก็ดูได้ แต่ว่าดูได้แป๊บเดียวนะ เดี๋ยวหายไปแล้ว ไปอยู่ในจอโน่น ไปอยู่ในยินดียินร้ายแล้ว ...ตัวนั่งไม่เห็นแล้วนะ ไม่เห็นว่ากำลังนั่งดูนะ ตัวหายแล้ว ตัวหายพร้อมกับใจรู้หายแล้ว แต่เป็นเรื่องราว มีแต่เรื่องราว มีแต่เรื่องราวมันมาอยู่ข้างหน้า ...เห็นรึเปล่า อย่างเนี้ย

เพราะฉะนั้นรูปแบบก็ช่วยในการที่จะดึงสติให้กลับมารู้ใจ ...แต่ว่าการปฏิบัติที่จะให้เกิดความสงบด้วยรูปแบบนี่เราไม่นิยมให้ทำ  แต่ว่าเป็นเครื่องเจริญสติขึ้น เพราะฉะนั้นให้ถือว่านั่งสมาธิเดินจงกรมนี่เป็นเครื่องเจริญสติให้กลับมาเห็นใจ และให้ปรากฏใจรู้อยู่

เพราะฉะนั้น ในการที่นั่งสมาธิเดินจงกรมก็ตาม จะสงบไม่สงบไม่สำคัญเลย  อย่าไปดิ้นรน วุ่นวาย กระวนกระวาย ... ถามว่ารู้อยู่รึเปล่า  สงบก็รู้  ไม่สงบก็รู้  เอาอย่างนั้นแหละ  ได้ประโยชน์กว่าที่จะสงบแล้วหายยย  ...ถึงจะสงบจนตายแล้วไม่รู้อยู่นี่ อย่าไปนั่งซะดีกว่า

กะไอ้คนที่นั่งแล้วหงุดหงิดๆๆ...แต่รู้โว้ย กำลังหงุดหงิด กูรู้อยู่เห็นอยู่ว่าหงุดหงิดอย่างนี้ ... เออ นั่งมันเข้าไป ดูมันเข้าไป อดทนดูมันเข้าไป  ฟุ้งซ่านก็รู้ รู้ๆๆ แล้วก็เห็นว่าฟุ้งซ่าน ... คือถ้าน้อมให้เห็นว่าฟุ้งซ่านเป็นอาการหนึ่ง รู้อาการหนึ่ง อย่าไปยุ่งกับมัน นี่ เขาเรียกว่าน้อมเข้าไปสู่ไตรลักษณ์ 

คือในขณะที่ระลึกรู้แล้วให้น้อมเข้าไปสู่ไตรลักษณ์ว่ามันเป็นแค่อาการ อย่างเนี้ย  แค่น้อมความรู้สึก น้อมว่ามันเป็นแค่อาการ เนี่ย แค่เนี้ย คือไตรลักษณ์แล้ว ... ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรื่องของมัน อย่างเนี้ย นั่น ปัญญามันเกิดตรงนั้นแล้ว ...ทั้งๆ ที่ไม่สงบหรอก

เพราะงั้นตัวสงบจริงๆ สัมมาสมาธิจริงๆ ไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่นิ่ง ... แต่ตัวสงบจริงๆ คือใจรู้ ตัวรู้นั่นแหละ คือตัวสัมมาสมาธิ  มันตั้งมั่นอยู่ที่รู้ มีแต่รู้ ๆ  นั่นแหละ สัมมาสมาธิ ตั้งมั่น ตัวมันคือตัวรู้นั่นแหละ รู้เฉยๆ รู้อย่างเดียว ... ตัวนั้นแหละคือสงบ เพราะมันไม่มีอะไรในนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสมาธิ นั่นแหละเรียกว่าจิตตั้งมั่น 

ด้วยสัมมาสมาธินี่แหละ รู้เฉยๆ นี้แหละ มันจึงจะเห็นตามความเป็นจริง  ปัญญาจะเกิดเพราะอาศัยความสงบในตัวของมันเอง คือตัวใจรู้อย่างเดียว รู้อันเดียว เป็นรู้อันเดียว ...ไม่ใช่รู้หลายอัน ไม่ใช่รู้หลากหลาย อย่างเนี้ยไม่สงบจริงหรอก

แต่ถ้ารู้อยู่ๆ ๆ ตัวนี้ มันไม่ใช่อาการสงบ แต่ตัวมันคือความสงบเองโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นอย่างนั้น เรียกว่าสัมมาสมาธิรวมลงที่ใจ ศีลสมาธิปัญญาก็รวมลงที่ใจรู้ รวมลงในที่อันเดียว

เพราะนั้นในระหว่างที่รู้บ่อยๆ  รวมอยู่ในที่อันเดียว ตรงนั้นแหละ มันจึงจะเกิดเป็นมรรคจิตและมรรคญาณขึ้นมา ...ไม่ใช่ไปหามรรคหาผลกับข้างหน้าหรือว่าสิ่งที่ถูกรู้ หรือว่าจะต้องไปเลือกว่าสิ่งที่ถูกรู้คืออะไร

แต่กลับมารู้อยู่ในที่อันเดียว คือรู้อะไรก็รู้ ๆๆๆๆ อยู่ในที่อันเดียว แล้วก็เห็นอาการเป็นเรื่องของมัน แล้วก็รู้อยู่ๆๆๆ  มันจะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นมรรคจิตมรรคญาณขึ้นมา เพราะศีลสมาธิปัญญามันจะรวมลงในที่อันเดียว 

ผลของมันก็คือเห็นอาการตามความเป็นจริง แล้วก็วาง แล้วก็ปล่อย ...ว่ามันเป็นแค่อาการ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับใจเลย เป็นแค่เครื่องรู้อันหนึ่ง สิ่งที่ถูกรู้อันหนึ่ง


โยม – หลวงพ่อ ที่หลวงพ่อพูดมานี่ หนูจะเด็ดเดี่ยวขึ้นมายังไง

พระอาจารย์ – กลับมารู้บ่อยๆ ...มันจะเด็ดเดี่ยวได้ต่อเมื่อมันตั้งมั่นอยู่ที่รู้บ่อยๆ แล้วมันจะทิ้งอารมณ์ ทิ้งอารมณ์ภายนอก 

แต่เพราะเราเข้าไปให้ความสำคัญกับอารมณ์ภายนอกอยู่ไง มันเลยทิ้งรู้ มันจะ...เหมือนควายถูกจูง เข้าใจรึเปล่า (เสียงโยมหัวเราะ) มันมีสายสะพาย แล้วก็ปล่อยให้เขาสะพายออกไป เขาก็จูงไปฆ่า ...ก็ควายมันไม่แข็งขืนซะบ้างน่ะ พอจับได้สายสะพายปุ๊บกูก็เดินตามต้อยๆๆ อย่างเนี้ย 

แต่ถ้ามันตั้งมั่นอยู่ที่รู้ กลับมารู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ใจมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง  มันจะตั้งมั่นไม่เอาอารมณ์ มันจะไม่เห็นความสำคัญกับอารมณ์ที่ขึ้นมา  เพราะฉะนั้นน่ะรู้ไป รู้เรื่อยๆ กลับมารู้เรื่อยๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ๆๆ อะไรปรากฏอยู่ตรงนี้ อารมณ์อะไรปรากฏอยู่ตรงนี้ ความอยากความไม่อยากอะไรเกิดขึ้น รู้ ๆๆ

ให้รู้มันชัดเจนขึ้น รู้บ่อยๆ แล้วมันจะชัดเจน แล้วมันจะตั้งมั่นอยู่ตรงนั้นแหละ  เมื่อมันตั้งมั่นปุ๊บ คราวนี้ใครจะมาฉุดลากถู มาปลิ้นปล้อนหลอกลวงมีเล่ห์เหลี่ยมยังไง เอาให้อย่างนั้น ...มันไม่สนใจ 

อยู่ที่รู้อย่างเดียว มันจะรู้อยู่ในรู้ ตั้งมั่น เขาเรียกว่าตั้งมั่นอยู่ที่ใจ มันก็เกิดความตั้งมั่นขึ้นมามากขึ้นๆ  ไม่หวั่นไหวไปตามอาการหรือกับอารมณ์ หรือการที่เข้าไปหาอารมณ์หรือเข้าไปสร้างอารมณ์

แต่ถ้ามันยังอ่อนข้อให้กับอารมณ์ ด้วยการเข้าไปคิดว่า...คือมันไปมองเอาผลของอารมณ์เป็นที่ตั้ง ว่าถ้าเรามีเมตตาเราจะได้ผลอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ ถ้าเราคิดอย่างนี้ ถ้าเราอย่างนี้ๆ เราจะได้ผลอย่างนี้ๆ ... มันยังอดไม่ได้ในการที่จะเข้าไปเสวย เข้าไปนอนเนื่องกับผลของการกระทำนั้นๆ อารมณ์นั้นๆ

กลับมารู้บ่อยๆ อยู่ที่รู้น่ะ ... มันจืด มันจืดชืด เข้าใจป่าว มันไม่มีอะไรน่ะ ดีก็ไม่ดี สุขก็ไม่สุข ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ มันมีแต่รู้ ... ต้องกลับมาที่รู้ แล้วให้เห็นความสำคัญของรู้มากๆ แล้วมันจึงจะตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียว

เห็นมั้ยว่ามันหลากหลายใช่มั้ย  นอกจากรู้อันเดียว มันหลากหลายมาก ... แล้วแต่ละครั้งแต่ละคราวที่มันหลากหลาย มันก็จะเปลี่ยนเอาไอ้ที่หน้าตาจิ้มลิ้มๆ มาแทนน่ะ (โยมหัวเราะ) ไอ้อันเก่าๆ ที่น่าเบื่อแล้วกูก็ไม่เอาแล้ว  มันก็จะสร้างอะไรที่มันหลอกที่มันดูดีกว่า น่าเลื่อมใสกว่า ดูน่าเข้าไปยกย่องคลอเคลียกับมันมากกว่า ไปเรื่อยๆ

เนี่ย คือกิเลส  กิเลสมันปลิ้นปล้อน  มันปลิ้นปล้อน มันมีเล่ห์เพทุบาย ... เราว่าเรารู้แล้ว มันก็สร้างรู้ใหม่ขึ้นมา น่าเชื่อถือกว่า น่าเลื่อมใสกว่า น่าเอา น่าใคร่ เห็นมั้ย เขาเรียกว่าน่าใคร่...อิฏฐารมณ์ 

ส่วนอนิฏฐารมณ์ ไอ้อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่นี่มันเห็นชัด  แต่ไอ้อิฏฐารมณ์นี่ไม่ค่อยเห็นกันน่ะ ... เพราะพอใจอ่ะ ... จะเอาอ่ะ กูจะเอาอ่ะ แล้วมันมาให้เอา ก็ต้องเอาแล้วอ่ะ ... เห็นมั้ย มันไม่รู้ตรงเนี้ย มันไม่รู้

มันต้องแยกให้ออก ...มันก็ต้องเรียนรู้ มันก็จะวนซ้ำอยู่ตรงนี้แหละ ตรงไหนที่เราติด มันก็จะต้องเรียนรู้กับตรงที่มันติดข้องตรงนั้น  มันข้องกับอารมณ์อะไร มันอยากได้อารมณ์อะไร ก็ต้องรู้ๆๆ ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้

แล้วต่อไปก็จะเห็นเป็นเรื่องขี้ผง เล็กๆ  ไม่เห็นน่าจะอะไร ไม่เห็นอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไร ไม่เห็นอยากเอาอะไรกับมันเลย  แค่นั้นแหละ มันก็แค่นั้นแหละ ทำไปก็แค่นั้น ไม่ทำก็แค่นั้น  สุดท้ายก็...มันจะปล่อยได้ 

แต่ตอนนี้มันยังจริงจังในการเข้าไปหา เข้าไปแสวง เข้าไปได้ เข้าไปเสพ ...ก็ต้องรู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ไม่มีวิธีแก้หรอก  มีวิธีแก้วิธีเดียวคือสติ อะไรเกิดขึ้นให้รู้ แล้วอยู่ที่รู้ 

พูดง่ายคือต้องทวน ทวนกลับมารู้ ...ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอะไร ทั้งสุขทั้งทุกข์ อารมณ์ที่พอใจไม่พอใจ ... ส่วนมากไอ้ตอนที่พอใจไม่ค่อยทวนน่ะ มันจะทวนแต่ไอ้ตอนที่ไม่พอใจ เข้าใจมั้ย คือมันรู้ชัดน่ะ ไอ้ตอนไม่พอใจหรือทุกข์นี่มันรู้ มันชัด มันทุกข์แล้วก็รู้

แต่อารมณ์ไหนที่พอใจนี่...รู้หายเลย มันจะทะยานออกไปเลย ออกไปเรื่อยเปื่อย ออกไปเรื่อยเปื่อยกับอาการเลย ...ต้องทวนๆ ทวนกลับมารู้ ทวนกระแสบ้าง บ่อยๆ  พอทวนกระแสบ่อยๆ แล้ว ต่อไปมันก็จะเริ่มเสียดายแล้ว เพราะมันจะเริ่มไม่ได้เหมือนเก่าแล้ว

สุขก็ไม่เหมือนเก่าแล้ว ...เคยเที่ยวสนุกๆ นี่ เดี๋ยวนี้ไปแล้วกูก็เซ็งว่ะ ไม่เห็นมันสนุกเลย อย่างเนี้ย  เคยไปสถานที่นั้น แต่ก่อนก็เฮๆ ฮาๆ ตื่นตาตื่นใจ เดี๋ยวนี้ไปแล้วก็เหมือนท่อนสากกระเบือ ...ก็แค่นั้น  มันจะเริ่มจืดๆ ไปหมด จืดชืด  

บอกแล้วว่าถ้ากลับมาอยู่ที่รู้แล้ว อย่าว่าแต่ทุกข์หายเลย...สุขก็หาย ไม่มี ๆ กลับมาเป็นธรรมดา ...ขึ้นชื่อว่าเป็นธรรมดา คือเป็นกลางๆ ... แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าตรงนี้กลางๆ นี่แหละดีที่สุด ทุกข์น้อยที่สุด จนถึงขั้นไม่มีทุกข์เลย จนถึงขั้นออกลอยอยู่เหนือทุกข์และสุข ออกเหนือบุญและบาป 

ไม่ใช่แค่ออกจากบาปนะ ออกจากบุญด้วย  ไม่ได้ออกแค่ทุกข์นะ ออกจากสุขด้วย  ออกจากสุขออกจากทุกข์แล้วยังไม่หมดนะ มันยังออกจากไม่สุขไม่ทุกข์อีก ยังมีอีก เป็นกลาง ...ต่อไปอยู่กับขันธ์เป็นกลางๆ เฉย อยู่เฉยๆ อีก กลับไปอยู่ที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์อ่ะ อยู่กับไม่มีอะไร ...แล้วไปติดที่ไม่มีอะไรอีก ...ก็ต้องถอยอีก ...ไอ้เสือถอย ถอยลูกเดียว 

โอปนยิโก ...ถอย ถอยมาอยู่ที่รู้ อย่าไปยืนอยู่กับอาการใดอาการหนึ่ง อพยากฤต กุศล อกุศล ...สุดท้ายไม่เหลืออะไรให้มันไปยืนยั้งเหยียบได้  พอออกไปแตะปุ๊บเนี่ย มันรู้เลย มันเหมือนเป็นแผ่นน้ำแข็งบางๆ มันจะรู้สึกเลย เหมือนเราจะไปยืนได้ไงวะ แผ่นน้ำแข็งบางๆ ในมหาสมุทรน่ะ  

แต่ก่อนมันเข้าไปกระโดดเข้าไปเต็มๆ เนี่ย บอกว่ามันเป็นเรือ กูจะอาศัยมึงน่ะพายข้ามมหาสมุทร ...ต่อไปมันจะรู้เลย แค่ออกไปหยั่ง แตะปั๊บรู้เลย มันเป็นแผ่นน้ำแข็งบางเฉียบเลย ...ก็ไม่เอาแล้ว ไม่เชื่อมันแล้ว 

ก็มายืนอยู่ให้มันลอยไปด้วยใจรู้อย่างเดียว  รู้แบบไม่มีรากเหง้า รู้แบบไม่ผูกไม่พัน เห็นมั้ย มันไร้ราก มันไม่มีอะไรยึดโยงกับมันเลย ...ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนกับว่ามันไม่มีกำลัง มันรู้เบาๆ รู้แบบล่องลอย รู้แบบเฉยๆ ไม่เห็นมันมีเรี่ยวมีแรงจะไปละเลิกเพิกถอนอะไร ...แต่รู้นั้นเป็นรู้อิสระ รู้จริงๆ รู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ต่อไปเหลือแต่รู้เบาๆ จนต่อไปเหลือแทบไม่มีรู้อะไร

เพราะงั้น ถ้ารู้แล้วเราเข้าไปเพ่งที่ภายใน กำหนดรู้อยู่ที่รู้ เพ่งเข้าไปรักษา เข้าไปรักษาตรงนี้ ตัวนี้จะกลายเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้ที่เป็นอัตตา สร้างขึ้น กำหนดขึ้น 

แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ รู้บ่อยๆ รู้เบาๆ รู้แตะๆ  แล้วก็เห็นแยบคายว่ามันมีรู้อันนึง สิ่งที่ถูกรู้อันนึง แค่นั้นเอง ให้เห็น ...เมื่อรู้แต่ละครั้งนี่ให้เห็นว่ามันมีสองอาการ แค่นั้นแหละ  

แล้วต่อไปเมื่อมันเห็นสองอาการ แล้วมันเห็นเข้าใจในอาการแล้วว่าเป็นแค่อาการปุ๊บนี่  ภาวะรู้ที่แท้จริงมันจะโดดเด่นขึ้นมาเอง ...ไม่ใช่ทำขึ้นมา  มันจะขึ้นมารู้ของมันเอง มันจะตั้งมั่นของมั่น จะตั้งมั่น

แต่ไม่ได้เป็นก้อนเป็นอะไรชัดเจนหรอก มันตั้งมั่นภายใน มีความตั้งมั่นภายใน ...เป็นผลจากการที่เรารู้บ่อยๆ และเห็นเป็นสองอาการบ่อยๆ ...มันจะแยกทีละเล็กทีละน้อย แยกใจออกมาจากขันธ์ 

แต่ถ้าเราไปกำหนดเพ่งที่รู้ชัดตรงนั้นน่ะ เขาเรียกว่าเพ่งใน มันจะเกิดอาการผู้รู้ขึ้นมาเด่นชัด กลายเป็นผู้รู้ที่สร้างขึ้น


โยม – ถ้าเกิดคนที่ไปติดอยู่ตรงนั้นจะเป็นยังไงพระอาจารย์

พระอาจารย์ – ไม่เป็นไงหรอก เดี๋ยวมันก็แตก ... พอมันหายไปแล้วก็ค่อยๆ ปรับสมดุล มันจะปรับของมัน รู้ไปๆ ให้แยบคายสังเกตว่ามันเป็นสองอาการก็พอ

แต่ว่าเบื้องต้นสำหรับคนที่ยังแยกไม่ออกนี่ ต้องทวน กลับมาอยู่ที่ผู้รู้ กลับมาอยู่ตรงที่รู้ที่เห็น เพื่อให้มันชัดเจนว่า มันเป็นคนละส่วนกันกับขันธ์  

เมื่อมันเริ่มชัดเจน เริ่มแยบคาย เริ่มเข้าใจแล้ว คราวนี้เป็นกลางแล้ว รู้ธรรมดา รู้แต่ละครั้งพอเห็นมันมีสองอาการแค่นั้น บ่อยๆ แล้วมันจะต่อเนื่องของมันเอง เป็นสัมปชัญญะ อยู่ภายใน มันจะมีรู้เห็นๆ เบาๆ อยู่ภายใน


โยม – ที่ครูบาอาจารย์ท่านชอบสอนว่าให้ทำความสงบนี่ ความสงบของท่านคืออะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ก็คือระงับสังขาร...ความปรุงแต่ง

คือต้องแยกให้ออกว่าลักษณะของครูบาอาจารย์นี่ ท่านจะให้สงบ เพื่อเอาความสงบนั้นมาพิจารณาแค่นั้นนะ  คือท่านก็อาศัยสมถกรรมฐานตีคู่ไปกับวิปัสสนากรรมฐาน...สองอย่าง

คือจะมาเจริญพิจารณากาย พิจารณาอารมณ์อะไรให้เป็นไตรลักษณ์นี่ มันไม่มีกำลังเพียงพอที่จะพิจารณา มันต้องอาศัยความสงบ ...แล้วในระหว่างที่สงบแล้วจิตถอนขึ้นมาจากความสงบแล้วนี่ ตรงนั้นน่ะแล้วยกกายขึ้นมาพิจารณา


โยม – เข้าองค์ฌานใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ – เข้าองค์ฌานก่อนแหละ หรือว่าถ้าเป็นสมาธิก็ขั้นลักษณะของอุปจารสมาธิ รวม จิตรวม สงบแนบแน่น แล้วก็ถอนขึ้น ... เพราะฉะนั้นไอ้พวกเราเวลาปฏิบัตินั่งสมาธิปุ๊บ พอถอนจากสงบขึ้นมาปุ๊บ ไม่มีการพิจารณาต่อ ไม่ค่อยพิจารณาต่อ นอนหลับเลย อย่างเนี้ย 

แต่ถ้าเป็นลักษณะของครูบาอาจารย์สายกรรมฐานนี่ ท่านถอนแล้วยกจิต สงบแล้วตั้งมั่นแล้ว ท่านต้องออกมาเดินปัญญา  เดินปัญญาคือพิจารณากาย แยก แยกออกเป็นส่วนๆ เลย แยกออกเป็นกองเลย แยกกายแยกอะไร เป็นเครื่องดำเนินปัญญา เป็นเครื่องดำเนินวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีกำลังของสมถะหรือความสงบนี่ มันจะพิจารณาไม่ชัดเจน มันจะไม่เกิดความซาบซึ้ง สลดสังเวช ...กว่าจะดำเนินวิปัสสนากรรมฐานเต็มรอบนี่ไม่ใช่ง่ายๆ นะ

สติปัฏฐานท่านเรียกว่าเป็นเอกายนมรรค ใช่ป่ะ เป็นทางสายเอกเป็นทางเอกทางเดียว คือหมายความว่าไม่ว่าจะปฏิบัติในแนวไหน วิถีไหนนี่ สุดท้ายต้องกลับมาลงที่สติปัฏฐานหมด

จะเจริญสมถะกรรมฐานขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายต้องกลับมาเห็นใจ นะ ต้องกลับมาเห็นใจ ... นั่งสมาธิ สงบไป ภาวนานานๆ สงบๆ นี่  ถามดู ถามว่าใครให้มึงสงบละ ...ยังไม่รู้เลยว่าสงบอยู่ตรงไหน ใจอยู่ตรงไหน ใครเป็นสงบ ใครเป็นใจ ไม่รู้เลย มันปนกันไปหมด

แต่ในลักษณะของปัญญาวิมุตินี่ อะไรเกิดขึ้นรู้ อะไรเกิดขึ้นแล้วรู้ ... คือขณะปัจจุบันนี่สามารถสะท้อนกลับถึงสู่ใจทันที เข้าใจมั้ย ...  เมื่อเราเห็นใจแล้ว ไม่ต้องกลับไปทำอะไรแล้ว  เพราะว่าทั้งหมดของสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน ก็เพื่อเป็นอุบายให้กลับมาเห็นใจ

แต่คนมันไปตีข้อความกัน ตีเข้าไปตามแบบปุถุชน... ไม่ใช่ว่าพิจารณาเห็นกายแตกเป็นเสี่ยงหรือว่าดับไปทั้งโลกธาตุแล้วจึงเรียกว่าปัญญา ไม่ใช่ปัญญานะ มันเป็นแค่นิมิต เป็นแค่ความเห็นหนึ่งเท่านั้นเอง


โยม – เพื่อให้ใจยอมรับ

พระอาจารย์ – อือ เพื่อให้มันดับ ...เพื่อให้มันดับอะไร ดับในรูป ดับในนาม และเมื่อมันดับแล้ว มันจะเห็นอะไรที่ไม่ดับอยู่ คือยังมีใจปรากฏรู้อยู่  ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าปัญญา ...เมื่อเห็นใจแล้วเรียกว่ามันมีปัญญาแล้ว

เพราะใจน่ะเป็นเหตุ ...ขันธ์นี่ไม่ใช่เหตุน่ะ กายไม่ใช่เหตุ กิเลสไม่ใช่เหตุ อารมณ์ไม่ใช่เหตุ นะ ...มันเป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นเอง ...ใจคือเหตุ ใจคือมหาเหตุ

พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าให้กลับมาแก้ที่เหตุ ไม่แก้ที่ปลายเหตุ ...เห็นเหตุแล้ว แก้ตรงนั้น ...รู้ตรงนั้น ละตรงนั้น  มันเกิดตรงนั้นละตรงนั้น  มันเกิดตรงไหนมันก็ดับตรงนั้นแหละ  ไม่ต้องกลัวหรอก เห็นที่เกิดของมันแล้วน่ะ ก็จะเห็นที่ดับของมัน ...มันเกิดตรงรู้ มันก็ดับที่รู้นั่นแหละ ใช่เปล่า

ตัวเห็นเป็นสัมปชัญญะนั่นก็คือญาณทัสนะ เข้าไปเห็นตรงนั้นแหละ อยู่ตรงนั้นแหละๆ ...มันออกจากตรงไหนก็ไม่รู้แหละ ตรงที่รู้แหละ  รู้อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มันอยู่ตรงรู้นั่นแหละ มันก็ดับอยู่ตรงนั้นแหละ  นั่นแหละ รู้ที่ใจแล้วก็ละที่ใจ...ที่เดียว พอแล้ว 

อย่าไปลังเลสงสัยว่าสงบหรือไม่สงบ ...อย่างนั้นมันนอก สงบนอก ไม่เอา ไม่สำคัญ ...คือถ้าเป็นสายสมถะเขาจะเน้นเรื่องสงบอารมณ์นอก ...แต่ลักษณะของใจนี่ เราถึงบอกเลยตรงใจนั่นคือสัมมาสมาธิ ไตรสิกขารวมกันที่ใจ  

ขณะนั้นน่ะ มรรคสมังคี ...แค่รู้ตรงนี้ รู้ที่เดียว แล้วไม่ออกนอกนี้ ไม่ต้องไปยุ่งอะไร ...สังเกตอยู่ที่เดียวด้วยญาณส่อง แค่เนี้ย ดูมัน  ดูมันตรงนั้นแหละ รู้อยู่ตรงนั้นแหละ ...ตรงนี้จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคสมังคี คือศีล สมาธิ ปัญญา มันรวมลงในที่เดียวกัน

จะว่าสงบก็ไม่ใช่ จะว่ารู้อย่างเดียวก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นกลางก็ไม่ใช่ คือมันรวมกันหมดเลยที่นั้น เข้าใจมั้ย เป็นอาการที่รวมอยู่ในที่เดียวเลย ... แยกไม่ออกแล้ว ไม่แยกศีลสมาธิปัญญาด้วยซ้ำ มันเป็นใจที่รู้โดยอิสระของมันเอง

เวลาเกิดมันก็เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏนี่จริงหมดเลย ดับก็ดับจริง  เกิดก็เกิดจริง ไม่ได้ทำให้เกิด ไม่ได้ทำให้ดับ ... สงบนี่ยังทำให้เกิดอยู่นะ ยังทำให้ดับอยู่นะ 

แต่ลักษณะที่มันมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยน่ะ แต่เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสปั๊บนี่ มันถึงแสดงอาการ  เห็นมั้ย ต่างอันต่างจริงน่ะ  เกิดจริง ดับจริง อย่างนี้ ...ไม่มีใครทำให้เกิด ไม่มีใครทำให้ดับ

เพราะฉะนั้นในขณะที่อยู่อย่างนี้ มันหยั่งลงไปด้วยญาณทัสนะ ...มันไม่ได้หยั่งลงไปด้วยเรา ไม่มีเราเข้าไปทำ หรือไม่ทำ ...เรามันกลายเป็นแค่ผู้เข้าไปรู้ ผู้เข้าไปเห็น เห็นตามความเป็นจริง 

เพราะฉะนั้นใครอยากทำความสงบก็ให้เขาทำไป เขาก็มีวิถีของเขาดำเนินไป ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานมีเยอะแยะ ... แล้วส่วนเราดำเนินหรือว่าถนัด ชำนาญ แล้วเราเห็นว่าการดำเนินปัญญานี่มันได้ผล มันเข้าใจ ก็แน่วแน่ลงไปในที่อันเดียว ที่ใจรู้นั่นแหละ มีอะไรก็รู้ อยู่ตรงนั้นแหละ เห็นอยู่แค่นั้นแหละ เห็นเป็นสองอาการ

แล้วก็ไม่มีอะไร สุดท้ายแล้ว ไม่มีความรู้อะไร ไม่ได้ความรู้อะไรเลย แต่มันมีแต่ว่า ไม่มีปัญหา แล้วก็ไม่มีเงื่อนไข แล้วก็เป็นธรรมดา ...นั่นแหละคือเป้าหมายสูงสุดแล้ว ... กลับมาเป็นมนุษย์คนเดินดินกินข้าวแกงธรรมด๊าธรรมดา ที่ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป 

แต่ว่าถ้าไปให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รู้สึกมันผิดธรรมดา ... เวลาเราอ่านประวัติครูบาอาจารย์นี่เรารู้สึกไม่ธรรมดาเลย  การกระทำสายการปฏิบัติก็...โอ้โหย ไม่ธรรมดาเลย 

แต่ว่าท่านอาศัยตรงนี้เป็นอุบาย ...ให้ไปดูเลย ไปดูพระอริยะสายกรรมฐานแหละ ครูบาอาจารย์รุ่นอย่างหลวงปู่หลวงตา  ถ้าไปอยู่กับท่าน ท่านธรรมดามากเลย ปกติมาก  เรียบง่ายมาก ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้เลย ไม่มาเป็นเคร่งเปรี๊ยะ 

แต่ก็มีครูบาอาจารย์ชั้นรองๆ ที่ยังอยู่ในขั้นวิถีการดำเนินอยู่ ที่ยังเอาเป็นเอาตาย เอาจริงเอาจัง แล้วจะมีการขัดแย้งกันแค่นั้น ...แต่ก็ถือเป็นเรื่องของท่าน ... เรื่องของเราคือ มีอะไรเกิดขึ้น...รู้ แล้วอยู่ที่รู้ 

ดูเอา ดูที่รู้นั่นน่ะ ว่ามันมีอะไรแตกตัวออกมาจากรู้ตรงนั้น จากขณะที่รู้เห็น ...เดี๋ยวก็มี อยาก ไม่อยาก หงุดหงิด รำคาญ พอใจ ไม่พอใจ ...นี่ จับโจรได้แล้ว ขอให้มันออกมาเถอะ  ออกมาเมื่อไหร่ กูจับมึงทันที 

จับด้วยการละ วาง ไม่ตามมันอกไป ...กลับมาหาใจให้เจอ แล้วก็กลับมาอยู่ที่ฐานใจ ฐานรู้นั่นแหละ


...................................



วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 3/5




พระอาจารย์

3/5 (531124B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

24 พฤศจิกายน 2553




โยม – ตอนภาวนานี่ ดูความคิดดูอะไรไปตามปกติ หนูดูเจ้าค่ะ พอถึงนี่ก็รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรน่ะค่ะ แล้วมันก็มีความสุขเข้ามาในตัวมาก  อยากจะถามหลวงพ่อว่ามันไปติดอะไรอยู่ข้างในรึเปล่า อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ – ก็ติดความสุขนั่นแหละ


โยม – ก็มันติดจริงๆ น่ะค่ะ

พระอาจารย์ – เออ เพราะงั้นความสุขนั้น ปีตินั้น ก็เป็นภพนึง ... ในลักษณะนี้เราจะเห็นมันว่าเราติดมัน ต่อเมื่อมันดับไป พอมันดับไปแล้ว ถึงจะรู้ว่ามันเป็นแค่อาการ  เห็นเปล่า มันไม่อยู่ตลอดหรอก


โยม – แต่การที่เราภาวนา มันมีความเชื่ออย่างนี้น่ะค่ะว่า เราภาวนาเพื่อจะเอาจุดนั้นรึเปล่า เพื่อที่จะไม่ให้มันมีอะไรรึเปล่า

พระอาจารย์ – แรกๆ มันก็ตั้งอย่างนั้นแหละ ...พอถึงจุดนั้น จุดนั้นดับไปก็ไม่มีอะไร ... สุดท้ายไอ้ที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น ... ก็ไม่มีอะไร ...สุดท้ายก็ดับไป  

อย่าไปหลงกับมันอีก ...คือหมายความว่าจะไปทำขึ้นให้เกิดอารมณ์นี้อีก ให้ใจเราเป็นอย่างนี้อีก ...ใจไม่ได้เป็น ใจเป็นแค่รู้ ...ให้กลับมารู้ เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ เห็นมั้ย

เพราะงั้นไอ้อาการที่ตั้งอยู่ ไม่ว่าอะไร ...จะเป็นบรมสุข หรือว่าสุขที่เราคาดหวังไว้ หรือว่าเป็นธรรมที่เราคาดหวังไว้ ก็สักแต่ว่ารู้...ว่ามันตั้งอยู่ เข้าใจมั้ย  

แต่ว่าในขณะอย่างนี้ ปัญญายังไม่เฉียบแหลมพอ...มันแยกไม่ออก  ถึงบอกว่ามันแยกไม่ออก มันเข้าไปแล้วเต็มๆ ...จะไปแยกออกต่อเมื่อมันดับ ดับไปเท่านั้น  

เพราะงั้นตัวที่ดับไปคืออาการ ...แต่ใจไม่ดับ เห็นมั้ย ใจรู้ยังมีอีกน่ะ...ก็อยู่ ไม่เห็นไปไหนอ่ะ ก็ยังรู้เห็นในอาการแปลกปลอมอื่น หรือว่าอาการที่เป็นภพอื่น อารมณ์อื่น สภาวะอื่น 

แต่มันจะมีความยึดในสัญญาอุปาทานเกิดขึ้นตามมา... เสียดายๆ  กังวลว่ามันเสื่อม มันหาย มันตก มันหล่น ทำไมไม่อยู่ ..อย่างเงี้ย นี่ เกิดความยึดในสัญญาอารมณ์ ...ซึ่งเป็นผลจากการที่เราไม่รู้เท่าทันในปัจจุบันที่หลง  

เพราะฉะนั้นเมื่อมันรู้ไม่เท่าทันในปัจจุบันที่หลง ผลลัพธ์ออกมาเมื่อมันดับไปแล้ว เราจะเกิดสัญญาอุปาทานตามหลัง ในอารมณ์ที่มันดับไป เข้าใจมั้ย ...นี่ เรียนรู้อยู่อย่างนี้

เพราะนั้น เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ ไม่มีอะไรหรอก ... ปฏิบัติไปปฏิบัติมา เดี๋ยวมันจะรู้ขึ้นมาเอง รู้ไปเรื่อยๆ ...จนมันบอกว่า ไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่รู้จะเอาอะไร ได้มาก็แค่นั้น แล้วก็ดับไป  ไอ้ที่ว่าได้ดีได้เด่ ได้ธรรมอะไร ...ก็ว่าได้แล้วนะ ทำไมดับไป  

สุดท้ายมันจะเบื่อ...ในการที่วิ่งออกไปคว้าอะไร หรือให้ได้ผลอะไร ... เพราะฉะนั้น ผลของการเจริญมรรคที่แท้จริง คือนิโรธ ... นิโรธ ...นิโรธแปลว่าอะไร นิโรธแปลว่าความดับไป เข้าใจมั้ย ผลไม่ใช่การตั้งอยู่  

แต่เรามักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมแล้วต้องได้ผล เช่นว่า บรมสุข หรือว่าปีติ หรือว่าสภาวะที่เบิกบาน แจ่มใส อะไรอย่างนี้...ว่าเป็นผล ... อันนั้นไม่ใช่ผล อันนั้นคืออาการที่ตั้งอยู่ ...แต่ว่าผลที่แท้จริงคือนิโรธ คือความดับไป  

เพราะงั้นในระหว่างที่ตั้งอยู่ ก็ต้องให้เห็น...รู้ว่าตั้งอยู่ แล้วก็รู้จนกว่ามันจะดับไป ...พอดับไปก็รู้  จึงจะเรียกว่านิโรธ ...เรียกว่าผลที่แท้จริง ผลที่แท้จริงคือความดับไป จนถึงว่าดับไปโดยสิ้นเชิงเลย


โยม – แล้วใจมันเป็นอะไรล่ะคะ

พระอาจารย์ – เป็นธรรมชาติรู้ เป็นรู้เปล่าๆ  ซึ่งรู้เปล่าๆ นี่มันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว


โยม – ทุกอย่างที่รู้ได้นี่ เป็นอาการหมดเลยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – เป็นอาการหมด ...ที่ออกนอกใจรู้นี่ คืออาการทั้งหมด


โยม – เราก็ไม่ต้องสนใจอะไรสักอย่าง

พระอาจารย์ – ไม่ต้องสนใจ ...พยายามไปคิดกับมันให้น้อยที่สุด หยุดความปรุงแต่งที่เกิดจากเจตนาให้น้อยที่สุด...จนขาดเลย  

แต่ไม่ได้หมายความหยุดความปรุงแต่งแบบ ...ให้หยุดปุ๊บ ไม่มีความคิดไม่มีอาการ ... ไม่ใช่ 

หยุดเจตนา หยุด...ไม่ไปเจตนาปรุงแต่ง เข้าใจมั้ย ไม่มีเจตนาในการปรุงแต่ง จึงเรียกว่าระงับกายสังขาร  

รู้จักมั้ยว่าระงับกายสังขารเป็นไง ...คนเขาเข้าใจว่าต้องนั่งสมาธิ แล้วก็สงบนิ่ง จึงจะเรียกว่าระงับกายสังขาร 

ระงับกายสังขาร คือ ทำอะไรไปตามปกติ เท่าที่มีให้ทำ  ร่างกายน่ะ เดินไปเดินมา ทำอะไรไป  ไม่ใช่ไปบังคับกายให้มันอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ หรือไปสร้างรูปแบบของกายอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เห็นมั้ย ระงับกายสังขาร  

แล้วก็ระงับจิตสังขาร ...จิตสังขารคือ เจตนาปรุงแต่ง  ระงับ...พอรู้ แล้วไม่คิดต่อน่ะ อย่างนี้คือระงับ ...ไม่คิดต่อ ไม่มีเจตนาเข้าไปหา เข้าไปทำ ในความคิด 

เมื่อมันหยุด...สมดุล  กายสังขาร จิตสังขาร หยุดโดยสมดุล ก็ปัญญาเกิด ... เรียกว่าอุปธิ...อุปธิวิเวกก็เกิด เป็นความปล่อยวาง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ตอนนี้เรามันมาอยู่สองขั้นตอน คือกายสังขาร กับจิตสังขาร ...เอากายไปทำนั่นทำนี่บ้าง เอากายไปเจตนาให้มันไปทำจิตให้มันเป็นยังงั้นบ้าง ทำจิตให้เป็นยังงี้บ้าง ไม่ปล่อยให้กายเป็นปกติ ...จิตก็คิด สร้าง หา ธรรมอุบายนั้นอุบายนี้ พิจารณาอย่างนั้นพิจารณาอย่างนี้ หาเหตุหาผลโดยเจตนาหรือจงใจ 

ระงับจิตสังขารไม่ได้ จึงไม่เกิดปัญญาที่เข้าไปถึงอุปธิวิเวก คือความสงบสงัดหรือปัสสัทธิ ที่ปล่อยให้กายอยู่ส่วนกาย จิตส่วนจิต ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกัน ปล่อยวาง 

คืออย่างน้อยนี่ให้อยู่ในฐานใจ ...มันดับไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ดู ก็ให้รู้อยู่ที่ฐานใจ คือให้อยู่ที่รู้เห็น รู้อยู่ที่รู้นั่นแหละ


โยม – รู้สึกตัวไปใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – รู้เห็น ตัวที่รู้เห็น ...ตัวที่รู้ ตัวที่เห็นน่ะ


โยม – คือจะมีแต่เรามองไม่เห็น

พระอาจารย์ – ใช่ ถ้าไม่มีสติจะไม่เห็น ถ้าไม่แยบคาย ไม่มีปัญญาจะไม่เห็น ... คนที่รู้ที่เห็นน่ะ ไม่เปลี่ยน ตัวรู้ตัวเห็นนี่ไม่เปลี่ยน 

หันหลังกลับ เห็นมั้ย ต้องหันหลังกลับ ... พระพุทธเจ้าถึงพูดย้ำนักย้ำหนา ต้องโอปนยิโกนะ ต้องน้อมกลับ ไม่น้อมกลับ ไม่เห็นใจ  ไม่น้อมกลับจะไม่อยู่ที่ใจ ไม่น้อมกลับปุ๊บมันจะไม่เห็นว่ามีใครเห็นอยู่  ...ต้องโอปนยิโก จึงจะเป็นปัจจัตตัง แล้วกลับมารู้อยู่ที่ใจ ใจรู้ อยู่ที่รู้ที่เห็น ตรงนั้นน่ะ 

ต้องอาศัยการน้อมกลับนะ ...ถ้ายังอยู่ข้างหน้านี่ มันไม่เห็นหรอกว่าใครมอง มีแต่สิ่งที่มอง เข้าใจมั้ย ...แต่มันเฉลียวกลับ ชวนะตีกลับ โอปนยิโก โยนิโสมนสิการ ถอยกลับ...  ลักษณะอย่างนี้ ทั้งรู้ทั้งเห็นนะ มันรวมกัน มันรวมกันได้  

ความจริงน่ะ ตัวเห็นนี่ก็คืออาการหนึ่งของใจ ในลักษณะที่มัน...อาการที่มันละเอียด หรือว่ามันจะรวมกันเป็นรู้เห็นในอาการ ไม่แยก แต่ว่ามันคือตัวรู้เห็นอันนึงเหมือนกัน มันจะรวมรู้เห็นในที่เดียวกัน 

แต่ถ้าในลักษณะหยาบๆ มันจะเห็นรวม ...ต่อไปมันจะเหลือแค่รู้เห็น อยู่แค่รู้แค่เห็น ไม่มีอาการ ...คือมันมี แต่มันไม่มีอาการในความหมาย มันอยู่แค่รู้แค่เห็นเท่านั้นเอง


โยม – หลวงพ่อ มันเห็นอะไรหรือเจ้าคะ  คือรู้ มันต้องเห็นด้วยรึเจ้าคะ

พระอาจารย์ – จริงๆ ในตัวของมันเอง มันเห็นอยู่แล้วนะ...ในตัวรู้น่ะมันมีอาการเห็นอยู่แล้ว แต่มันไม่ชัดเจน  แต่ในลักษณะที่เราบอกให้เห็นด้วย คือให้เห็นว่ามีอีกตัวแยกมาให้เห็น มันจะเกิดความชัดเจนขึ้น 

แต่ในธรรมชาติของใจรู้นี่ อาการรู้เห็นนี่เป็นอาการเดียวกัน เป็นสภาวะเดียวกันที่ใจ รู้เห็นที่ใจ


โยม – อย่างนั้นพอมันตั้งมั่นขึ้นมาเห็นสิ่งต่างๆ แต่ไม่ได้หลงถลำไปอย่างนั้นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – ใช่ คือรู้เห็นในตัวของมันเองน่ะ ...พอมันรู้เห็นในตัวของมัน ตัวรู้นั่นแหละ มันจะสัมผัสอาการได้โดยธรรมชาติ  แต่ว่าไปสัมผัสในลักษณะที่ไม่มีความหมาย 

เหมือนเราเดินมานี่ เห็นต้นไม้เต็มไปหมดเลยมั้ย  เราไม่รู้สึกเลยว่ามีต้นไม้ เพราะเราไม่ได้ให้ค่าอะไรกับมันเลย  แต่มันมีอยู่ใช่มั้ย ...ก็ไม่ใช่ไม่รู้ไม่เห็นนะ ก็เห็นอยู่น่ะ แต่ไม่ได้เป็นสุขเป็นทุกข์อะไรกับมันเลยไง  

แต่พอเราไปหยุดไปตรึก ไปส่งออก ไปรับรู้ปั๊บ  มันจะเริ่มมีความหมายแล้ว  พอเริ่มมีความหมายพั๊บ เดี๋ยวจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์แล้ว  พอเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ปุ๊บ จะมีความยินดียินร้ายแล้วเข้าไปหมายมั่นปั๊บเข้าไปให้ค่า  อย่างเราเดินไปบนถนนเหยียบก้อนดินก้อนทรายนี่ ก็ไม่รู้เรื่องหรอกว่ามันคืออะไร ทั้งที่มันมีอยู่น่ะ ใช่ป่าว 

กับการที่ไม่มี...คือไม่มีการเข้าไปให้ความหมายต่างหาก ... เพราะฉะนั้น พอถึงวาระสุดท้ายที่มันเหลือแต่ใจบริสุทธิ์  ...ใจดวงนี้มันมีภาระ มันมีแค่หน้าที่ ที่มาอยู่ครองขันธ์อยู่เท่านั้นเอง...ด้วยเหตุปัจจัยแห่งกรรมและวิบาก  ถ้าหมดเหตุปัจจัยแห่งกรรมและวิบากปั๊บ ใจดวงนี้หมดหน้าที่ทันที ที่จะมารับรู้เรื่องขันธ์ 

แล้วใจก็กลับคืนสู่ภาวะธรรมชาติเดิม สุญโญ อนันตมหาสุญญตา กลับไปสู่ความไม่มี หรือถึงที่สุดแห่งความไม่มี ... แต่ต้องเป็นใจที่...ใจกลวงๆ น่ะ ...ไม่ใช่ใจที่ยังมีเชื้อโรคไวรัสแอบแฝง...พวกนี้ไม่ดับ ใจพวกนี้ไม่ดับ...มาอีก See you again….comming soon …..to be continue  

จนกว่าจะ never see you again นั้นล่ะคือใจว่างเปล่าแล้ว  มันก็หมดหน้าที่กับขันธ์อันนี้ หมดภาระหมดหน้าที่ต่อโลกนี้ ... เมื่อขันธ์ อายตนะ ดับๆๆๆ กาย รูปนาม ดับๆๆ ปั๊บ ใจก็หมดภาระ...ดับ ...ดับขันธ์ ถึงเรียกว่าดับขันธ์ เข้าสู่ปรินิพพานหรือนิพพาน ถึงเรียกว่าดับขันธ์ พอขันธ์ทั้งห้าดับ...ใจดับพร้อมกัน 

เพราะงั้นถึงแม้จะ พั้บๆๆ เหลือแต่ใจกลวงๆ แล้ว  ขันธ์มันยังไม่ดับน่ะ...กูยังไม่มีหน้าที่ต้องดับ ดับไม่ได้ รู้อยู่ก่อน ... พระอรหันต์ ท่านดับก่อนแล้ว ท่านดับภายใน ดับอวิชชาตัณหาอุปาทาน หมดพั้บ ในใจโบ๋เบ๋ ... แต่ใจยังไม่ดับ 

มันยังมีหน้าที่...กรรมวิบากขันธ์อยู่ ทู่ซี้อยู่กับมันไปก่อน ธรรมชาติมันต้องอยู่คู่กันก่อน  พอธรรมชาติในธรรมชาตินอกดับพั้บ ธรรมชาติของใจดับ หมดวาระ พั้บ หาไม่เจอ กลับไปสู่ภาวะที่เหนือธรรมชาติ เหนือภาวะที่มีในธรรมชาติ

เรายืนอยู่บนโลก โลกตั้งอยู่บนสุริยะจักรวาล สุริยะจักรวาลตั้งอยู่บนแกแล็กซี่ แกแล็กซี่ตั้งอยู่ในจักรภพ จักรภพตั้งอยู่ในอนันตาจักรภพ ... เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่เป็นจักรภพตั้งอยู่บนอะไร ... บนความไม่มี ใช่รึเปล่า นั่นแหละ ภาวะเดิมแท้  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีและเป็น ตั้งอยู่บนความไม่มีและไม่เป็น ภาวะนั้นถึงเรียกว่าอนันตมหาสุญญตา

เพราะนั้น ไอ้ที่คิดว่าเรามีเราเป็นน่ะ โอ้ย..นิ๊ดเดียวน่ะ ... มันยิ่งใหญ่มหาศาลอะไรกันนักกันหนา ถ้าเทียบกับอนันตมหาสุญญตา ที่ไม่มีประมาณ ไม่มีหัวไม่มีท้าย แต่ว่าครอบคลุมทั่วอนันตาจักรวาล มีอยู่ในอนันตาจักรวาล เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นหรือว่าจุดสิ้นสุดของทั้งหมด มีอยู่ในนั้นแหละ

ในจริงๆ น่ะ ภาวะของเราก็มีสุญญวิโมกข์อยู่แล้ว แต่ละครั้งที่เกิดและดับ ...คือดับชั่วคราว เข้าไปสู่ความดับชั่วคราว ... ก่อนที่จะมีความคิด...ก็ไม่มีความคิด พอมีความคิดเสร็จปุ๊บ...ความคิดดับ  เห็นมั้ย ความคิดนี่ตั้งอยู่บนความไม่มีนะ ในขณะที่ดับไปนี่เกิดภาวะสุญญวิโมกข์ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนความไม่มี 

สุขเกิดขึ้นก็ว่ามันมี สุขดับปั๊บ หายแล้ว ... เวลาเกิดก็เกิดมาจากไหน เกิดมาจากความไม่มี ใช่รึเปล่า  ก่อนจะมีสุข..ก็ไม่มีสุข  มันอยู่คู่กันอย่างนั้นแหละ เรียกว่าเป็นวิโมกข์  ...แต่มันไม่มีปัญญารู้เห็นหรอกความดับไปน่ะ ไม่เห็นเป็นความดับไป

เพราะนั้นการเห็นจิตเกิดดับครั้งนึงนี่ หรือกิเลสเกิดดับครั้งนึงนี่  ขณะนั้นน่ะมันเข้าไปเรียนรู้สุญญวิโมกข์ เข้าไปเรียนรู้อนัตตา เข้าไปเรียนรู้นิโรธอยู่แล้ว ...แต่มันยังไม่แจ้งในนิโรธเท่านั้นเอง 

จนถึงที่สุดของปัญญาแล้วมันจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรหรอก ไม่มีอะไรจริงจัง ...ชั่วคราว ไม่เสถียร ไม่ถาวร งั้นๆ แหละ ทั้งคู่ ไม่มีอะไรหรอก... เนี่ย เขาเรียกว่า สัพเพธัมมา อนัตตาติ  พระอรหันต์ขั้นสุดท้ายนี่ท่านจะเห็น จะลึกซึ้งกับความหมายของคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตน คือมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เป็นแค่ธรรม  

ความหมายของธรรมนี่คืออาการที่ทรงอยู่ จึงเรียกว่าสัพเพ ธัมมา ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นแค่ธัมมา คือธรรมหนึ่งเท่านั้น สภาวธรรมหนึ่งเท่านั้นเอง  และอนัตตาติ หาตัวตนไม่มี ... แต่ที่มันมีนี่มันตั้งอยู่ด้วยการรวมเป็นครั้งคราวเท่านั้นเอง ...แล้วตั้งอยู่บนอะไร ตั้งอยู่บนความไม่มีไม่เป็น ไม่เป็นอะไร ตั้งอยู่ในความไม่มี อยู่ในอนันตา อนันตมหาสุญญตา

เพราะงั้นปฏิบัติไปปฏิบัติมาจนถึงจุดนึงแล้ว มันจะง่าย ...ง่ายคือมันไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เก็บเกี่ยวอย่างเดียว ...ขอให้มันโผล่ออกมาเถอะ โผล่มาให้กูเห็น กูไม่ได้ทำอะไรหรอก ไม่ต้องรีบไม่ต้องเร่งรัดอะไร โผล่มาเมื่อไหร่ก็รู้ ไม่มีอะไรโผล่ก็ปกติ รู้เฉยๆ รู้มัน อะไรก็ได้  รู้ได้หมด ไม่เลือก 

ไม่ต้องเลือกว่าต้องเอาแต่สิ่งที่รู้ดีๆ อารมณ์ หรือสภาวธรรมดีๆ ไม่เลือก อะไรก็ได้  แล้วก็เป็นปกติกับมัน เป็นธรรมดา ไม่มีเงื่อนไข ...แต่มันอย่าแหลมออกมาเป็นความหมายมั่น ความยึดอย่างนั้น ...อย่าให้เห็น อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้

มันจะกลับมาเป็นปกติธรรมดามากขึ้น ...ไปก็ได้ มาก็ได้  เจอก็ได้ ไม่เจอก็ได้ ... เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมั้ย  สังเกตรึเปล่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจะน้อยลง  จะเหมือนธรรมดา ...มากับไม่มาเท่ากัน เจอกับไม่เจอเท่ากัน เจอ..ไม่เจอ...เออ อย่างนี้ ดูไป 

ถ้าเจอแล้ว..ขึ้น ถ้าไม่เจอแล้ว..ลง อย่างนี้ คือเข้าใจคำว่าเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมั้ย ...คือมันจะมีอาการพอใจไม่พอใจ นั่นแหละคือความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ...แต่ถ้ารับรู้ด้วยความปกติเป็นกลาง มา..กูก็เท่านี้ ไม่มา..กูก็เท่านี้ เจอ..กูก็เท่านี้ ไม่เจอ..กูก็เท่านี้ มาก..ก็เท่านี้ น้อย..ก็เท่านี้  เนี่ยเขาเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ...แต่ถ้ามากแล้วกู ..เฮ.. ถ้าน้อยแล้ว..เฮ่ออ  อย่างเนี้ย เข้าใจมั้ย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง


โยม – อันนี้มันจะเป็นลูกระนาดน้อยๆ เมื่อก่อนมันจะเป็นอย่างนี้

พระอาจารย์ – เออ มันจะเกิดความราบเรียบกลมกลืน สมูธ เป็นกลาง เป็นธรรมดา ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีปัญหา

ถ้าเรามีปัญหาแสดงว่าเราเข้าไปตั้งแง่กับมัน ด้วยอุปาทาน ว่า “ต้อง” อย่างนั้น “ไม่น่า” อย่างนี้ ...'ทำไมเขาทำอย่างนี้ได้ไง เขาพูดอย่างนั้นได้ไง'  เพราะเราคิดว่าเขาต้องพูดอย่างนี้ใช่มั้ย ... นี่คือการตั้งแง่ หรือว่าสร้างเงื่อนไข หรือว่ามีความหมายในอดีตและอนาคต 

แต่ถ้าสักแต่ว่า ก็แค่นั้นแหละ ...เขาด่าอะไร ยังไม่ทันได้เรียบเรียงประโยคเลย...มันผ่านแล้ว 'เหรอ ว่าอะไรเหรอ' ยังไม่ทันรู้เลยว่าด่าใครวะเนี่ย หาตัวผู้รับยังไม่เจอเลย มาดู 'เอ้า ว่าเราเหรอ' ...สังเกตดู ถ้าสมมติเราไม่ใส่ใจในคำพูดเขานะ บางทีเขาด่าเรา ไม่โกรธเลย 'ก็ไม่โดนตัวกู ก็คิดว่าเขาไม่ได้ด่ากู ไม่ได้พูดถึงเรา' เห็นมั้ย  

แต่พอนึกขึ้นมาได้ 'เฮ้ย เราเว้ย เขาว่าเรานะเนี่ย'  เอ้า โกรธเลย (หัวเราะ)  ถ้ามีตัวรับเมื่อไหร่ มันก็มีตัวเป็นทุกข์เป็นสุขขึ้น ... ก็คำพูดเดียวกัน ประโยคเดียวกัน ... แต่ถ้าผ่านเหมือนกับไม่ใช่เรา ก็ไม่มีอะไร ไม่มียินดีไม่มียินร้าย

นั่นแหละ ใจมันจะปรับระดับสมดุล แค่รู้...อยู่แค่รู้ ไม่ออกไปให้ค่านั้นสักเท่าไหร่  จนราบเรียบ กลมกลืน ...ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ เท่าที่มีเท่าที่เป็น ... เพราะฉะนั้น ก็เรียนรู้จากชีวิตจริงเลย ไม่ใช่มาเรียนรู้แค่นั่งสมาธิ เดินจงกรม 

ถ้าเอาแค่รูปแบบการปฏิบัติ มาจำกัดธรรมแค่รูปแบบการปฏิบัติแค่นี้ บอกให้เลย เหมือนเอากะลามาครอบอีก ...ไม่กล้าออกไปไหนน่ะ เป็นผู้หญิงไม่กล้าเจอผู้ชาย เป็นผู้ชายไม่กล้าเจอผู้หญิง ...กลัวจิตแตก กลัวอารมณ์แตก ไม่อยากไปช็อปปิ้ง ไม่อยากไปซื้อของ ไม่อยากไปกินไปเที่ยว กลัวจิตตก กลัวเสื่อม กลัวเสียภาวะนิ่ง (หัวเราะ) กลัวเสียนิ่ง

มันจะไปผูกกับอุบายเกินไป ... แต่ถ้าเราเป็นอิสระ อย่าไปกั๊กๆ อะไรก็ได้ เป็นเครื่องรู้ได้หมดแหละ สะท้อนกลับมาถึงใจให้เจอ ...ไม่เจอก็ต้องเจอให้ได้ บอกให้เลย ..อย่ามาเจอแค่ตอนนั่งสมาธิ อย่ามาเจอแค่ตอนเดินจงกรม ไม่ทันกินหรอก กิเลสมันฉลาดกว่านั้นเยอะ

เวลาที่กิเลสมันชอบเกิดมากที่สุด ก็คือเวลาที่เราหลง (หัวเราะ)...ก็เวลาที่ไม่รู้นั่นแหละ ...ทั้งวัน มันจะเข้ามาตอนไหน เกิดขึ้นตอนไหนก็ได้...โมหะ  แล้วมันก็ลากเราถูลู่ถูกัง กระโดกกระเดกกระเด็นกระดอนไปเรื่อย กว่าจะรู้สึกตัวทีก็ แฮ่กๆๆๆ เหนื่อยแล้ว แล้วค่อยมีสติ ธรรมชาติของสติเกิดขึ้น


เพราะงั้นการสร้างนิสัยรู้บ่อยๆ เจริญขึ้นบ่อยๆ มันถึงจะเป็นนิสัย ที่จะมาทัดทานนิสัยเก่าที่เคยชินการหลง ...อนุสัยนี่คือความเคยชิน เคยชินกับสันดานเก่าๆ ที่ ทำไปเรื่อย เห็นอะไรก็ทำ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันทำไปน่ะ มันเป็นความคุ้นเคย 

เพราะนั้นมันแรง ไอ้ความคุ้นเคยนี่ ...ความเคยชินนี่มันมาก มันฝังรากลึกแนบแน่นเลย  ไม่ต้องเรียนไม่ต้องรู้ไม่ต้องสอนนะ มันเป็นของมันเอง โดยแทบจะกลมกลืนกันอย่างยิ่ง ...เพราะนั้นต้องมาเจริญสติมากๆ เพื่อให้มันทานกันได้ ให้มันแรงเสมอกัน หรือแรงกว่าได้...มันถึงจะเท่าทันอาการหลง เผลอ เพลินหายไปกับอาการ 

ใครว่าสติไม่ต้องเจริญ มันต้องเจริญขึ้นมา เจริญขึ้นบ่อยๆ เป็นนิสัย ...แล้วสติธรรมชาติจะเกิด เช่นว่า ก็รู้ไปธรรมดา ไม่ได้ตั้งใจว่าจะระวัง คอยดูว่าอันนั้นจะเกิดรึเปล่า ไอ้นี่จะเกิดรึเปล่า ...แต่เมื่อมันเกิดกระทบกระแทกมาปั๊บ เปรี้ยงปั๊บ...รู้เลย รู้ทัน เห็นปุ๊บ จิตมันกระหวัดขึ้นไปพั้บนี่ รู้เลย อย่างนี้...สติธรรมชาติเกิดเอง 

แต่กว่าสติธรรมชาติจะเกิดขึ้นบ่อยๆ นี่ มันต้องเจริญสติทั่วไป...สติปัฏฐานน่ะ ทิ้งไม่ได้ ...ไม่มีอะไรก็พยายามระลึกรู้ขึ้นมา ระลึกรู้ขึ้นมา สังเกตรู้ให้ชัดเจน สังเกต ... นี่ เป็นงานเลย เป็นงานที่จะแยกใจออกจากอาการ เป็นงานเลยที่จะแยกใจออกจากขันธ์ 

วางไม่วางอีกเรื่องนึง ...แยกไว้ก่อน แยกทั้งที่มันติดน่ะ  ... คือระลึกขึ้นมา ๆ รู้อันหนึ่ง...สิ่งที่ถูกรู้อันนึง รู้อันนึง...กายอันนึง  รู้อันนึง...คิดอันนึง ... กำลังทำอะไรอยู่ ช่างหัวมัน ทำไปเถอะ...แต่ให้รู้ บ่อยๆ  

แล้วอย่างนี้ ฝึกไปอย่างนี้ เวลาเข้าไปมีอารมณ์อะไรแรงๆ หรือมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันนี่ สติธรรมชาติมันจะเกิด พั้บๆๆ ...ไม่ได้คาดไม่ได้ฝัน ไม่ได้เตรียมอกเตรียมใจไว้ก่อน ปุ๊บ มันแยกใจ เด้งออกมาทันทีเลย ไม่เข้าไปจม

(ต่อแทร็ก 3/6)