วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/23 (1)



พระอาจารย์
3/23 (540307)
7 มีนาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้เป็นแทร็กเดี่ยว ยาวมากค่ะ ...จึงขอแบ่งการโพสต์เป็น  6  ช่วงบทความนะคะ)

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวจะพูดให้โยมเข้าใจก่อน นะ ...การปฏิบัติทั้งหมดนี่ มันมีเรื่องหลักใหญ่ๆ อยู่สองเรื่อง...คือเรื่องกายกับเรื่องใจ

กายในที่นี้ท่านหมายรวมไปหมดถึงขันธ์ห้า นะ ขันธ์ห้า แล้วก็ใจ ...ทำยังไงถึงจะเห็นว่ามันมีขันธ์ห้ากับใจ...ให้เห็นว่าขันธ์ห้ากับใจนี่ไม่ใช่อันเดียวกัน

เพราะนั้น การปฏิบัติ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม ภาวนากำหนดพุทโธหรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดน่ะมันเป็นอุบาย

สติ...สติปัฏฐาน ๔ อะไรก็ตาม ทั้งหมดนี่คืออุบาย หรือว่าอุปกรณ์ในการที่จะแยกให้เห็นว่า... กายอันหนึ่ง...ใจอันหนึ่ง นามอันหนึ่ง...ใจอันหนึ่ง แค่นั้นเอง 

เพราะนั้นถ้าเข้าใจว่าหลักการสอนของพระพุทธเจ้านี่ ท่านต้องการสอนให้เห็นในของสองสิ่งนี่  ว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน มันคนละส่วนกัน มันคนละอันกัน

จะใช้วิธีการไหนก็ได้ จะเป็นวิธีการไหนก็ได้ จะยุบหนอพองหนอ จะพุทโธ จะกำหนดกระดูก จะกำหนดลมหายใจ หรือแม้กระทั่งการเจริญสติก็ตาม 

มันจะต้องวิ่งเข้ามาสู่จุดหมายอันนี้ ...คือเข้ามาแยกให้ออก...ระหว่างกายกับใจ ขันธ์กับใจ ว่ามันเป็นคนละส่วนกัน

จากนั้นท่านก็จะอธิบายว่าสภาวะของใจเป็นอย่างไร สภาวะของขันธ์เป็นอย่างไร ...สภาวะของขันธ์นี่ รู้กันทุกคนน่ะ ใช่มั้ย มี ๕ ...รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดนี่ก็เรียกว่า...ขันธ์ ๕

สภาวะใจ ...อย่างที่เราบอกว่าหลวงปู่ท่านพูดถึงดวงจิตผู้รู้ นี่ สภาวะใจจริงๆ นี่คือผู้รู้ เป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น 

มีแค่อาการรู้ หรือว่าธรรมชาติของจิตที่รู้อย่างเดียว หรือว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เรียกว่ามีแต่สภาวะที่ว่าเป็นธาตุรู้ หรือว่ารู้ ...ตรงนี้ท่านเรียกว่าใจ

ซึ่งใจนี่ ทุกคนก็มีเหมือนกันหมด ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ในสัตว์ในคน ในเทวดาอินทร์พรหม ในเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ทุกอย่างมีใจหมด ...เป็นใจดวงเดียวกันด้วย เป็นธาตุรู้เหมือนกันด้วย

แต่ว่าขันธ์นี่แตกต่างกันไปตามกรรมและวิบาก หน้าตาจึงไม่เหมือนกัน เพศพรรณวรรณะไม่เหมือนกัน ...อันนี้มันเกิดจากการประกอบขึ้นด้วยกรรมและวิบาก

เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นนี่ ต้องทำการปรับความเห็นให้เข้าใจกันก่อน ด้วยสัมมาทิฏฐิ...ว่าการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงนี่ ไม่ใช่เพื่อให้ได้อะไร ไม่ใช่เพื่อให้เป็นอะไร ไม่ได้ให้เอาอะไร 

แล้วก็การภาวนานี่ก็ไม่ใช่เพื่อไปเห็นนู่นเห็นนี่ ...คือไม่ต้องการให้เห็นอะไร นอกเหนือจากของสองสิ่งนี้ คือขันธ์กับใจ หรือกายกับใจ หรืออาการที่เรียกว่านามกับใจ

คือขันธ์ห้ามันเป็นได้สองอย่างคือรูปขันธ์กับนามขันธ์ ...รูปนี่รู้อยู่แล้ว แล้วก็นามขันธ์มี ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พวกนี้เป็นนามธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ นี่ก็ไม่ใช่ใจ 

เพราะนั้นการภาวนาก็ให้ดู รู้ เห็น แยกให้ออก ให้เห็นว่าไอ้นี่เป็นขันธ์ แล้วไอ้นี่เป็นใจ ...เป้าหมาย คือการปฏิบัติทั้งหมดต้องมาทำความแจ้งในสองอาการนี้

แต่ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ...มนุษย์ สัตว์ เทวดาอินทร์พรหมทั่วไป มันจะไปหลงผิดว่าขันธ์นี้เป็นเรา หรือเป็นใจของเรา เป็นอันเดียวกัน ...ความคิดนี้เป็นเรา เป็นของเรา  ความสุขนี้เป็นเรา เป็นของเรา

ไอ้คำว่า “เรา” นั่นน่ะคือใจเรา เข้าใจมั้ย ...มันไปสำคัญมั่นหมายว่าไอ้สุขๆ ทุกข์ๆ นี่ หรือแม้กระทั่งใจนี่เป็นเรา ของเรา เป็นใจของเรา เราเป็นเจ้าของมัน เนี่ย

ทำยังไงก็ได้ให้เกิดความเห็นว่ามันไม่ใช่ของเรา ...จะนั่งสมาธิก็ได้ จะพิจารณาก็ได้ จะกำหนดอะไรก็ได้ ทำยังไงก็ได้ให้เห็นขันธ์นี่ไม่ใช่ของเรา ...นี่เรียกว่าปัญญา

มันจึงเกิดวิธีการหลากหลายในการปฏิบัติ...ซึ่งถ้าผู้ปฏิบัติน่ะไม่มีสัมมาทิฏฐิ หรือว่าคนที่สอนน่ะไม่มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น  มันก็จะสอนไม่ถูก ว่าปฏิบัติแล้วจะได้อะไร หรือว่าเพื่ออะไร

คนทำตามนี่ก็ทำแบบลูบๆ คลำๆ เพราะคนสอนน่ะมันยังลูบๆ คลำๆ แต่ก็มาแนะนำให้ทำไปอย่างนั้น เพื่อให้ได้อย่างนั้น เพื่อให้เกิดอย่างนี้ เพื่อให้จิตมันดี แล้วดีไปๆ เดี๋ยวมันก็ละกิเลสได้ มันเข้าใจเอง คล้ายๆ อย่างนั้น

เพราะนั้นลักษณะของการปฏิบัติของพวกเรา จึงเป็นเหมือนข้าวคอยฝน...ทำไปเรื่อย แล้วจะได้อะไรก็ไม่รู้ ทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ผลออกมาเป็นยังไงก็ไม่รู้ เห็นมั้ย ไม่รู้อะไรเลย

(ถามโยม) ทำมากี่ปีแล้ว


โยม –  ยี่สิบได้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ยี่สิบปีนี่ มันควรจะสำเร็จอรหันต์สักห้ารอบแล้ว (โยมหัวเราะกัน) แต่ก็ยังไม่รู้อะไร ...ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เข้าใจมั้ยเพราะไม่เข้าใจว่าหลักที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นคืออะไร

คือถ้าเห็นในของสองสิ่ง...แค่นี้ แค่เข้าใจตรงนี้ มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นว่า มีของสองอย่างคู่กัน แค่เนี้ย มันจะโล่งไปแล้วในระดับหนึ่ง ...โล่งนะ ว่าไอ้ที่พวกเราต้องการจะรู้จะเห็นคืออะไร

เพราะนั้น รวบรัด ย่นย่อ ตรง ไม่เยิ่นเย้อ ไม่เสียเวลา...ก็เจริญสติปัฏฐาน มันจะเหมาะกับภาวการณ์ตอนนี้ที่ความรู้มันหลากหลายเหลือเกิน วิธีการก็หลากหลายเหลือเกิน

คนรอบข้างก็หลากหลายในการปฏิบัติ และก็...ผลก็หลากหลาย ...เห็นมั้ย ทำไมถึงผลหลากหลาย แล้วก็บอกว่าต่างคนต่างถูก ต่างคนต่างดี ต่างคนต่างก็ว่าใช่

แต่ถ้าเป็นเรา...เราบอกว่าผิดหมดน่ะ เพราะไม่ได้ผลที่พระพุทธเจ้าต้องการ ...ไอ้ผลอย่างนั้นน่ะ มีมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก บอกให้ เก่งกว่าอีก ได้ผลรู้นั่นรู้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่  จิตนี่ อู้หู วิลิศมาหราไปหมด

ธรรมก็ธรรมขั้นสูงทั้งนั้น พูดทีไม่รู้เรื่องเลย อะไรก็ไม่รู้ ญาณ ๘ ญาณ ๑๖ อะไรเต็มไปหมด ...มีแต่ภาษา แต่ไม่เข้าใจแค่ของสองสิ่งว่ามันอยู่คู่กันยังไง ขันธ์เป็นยังไง ใจเป็นยังไง

มีแต่สติเท่านั้นน่ะ...ที่ระลึกขึ้นมาในปัจจุบัน จึงจะเห็นอาการสองอย่างคู่กันอย่างชัดเจน ในสติปัฏฐาน ท่านว่ามี ๔ ฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม...ให้ระลึกขึ้นมารู้ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งสติ

กายรู้อยู่แล้ว ยืนเดินนั่งนอน อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย ลมหายใจบ้าง ขยับ เคลื่อนไหว คู้ เหยียดยาว กระเทือน กระแทก กระพริบ ลิ้มรส กลืน  เนี่ย พวกนี้คืออาการทางกาย

จิต...กว้าง ยาว แคบ หนัก เบา หมอง ขุ่น มัว ผ่องใส  เนี่ย เรียกว่าจิต ธรรม...กิเลส มีราคะ ไม่มีราคะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ  นี่ ธรรม  เวทนา...ก็สุขๆ ทุกข์ๆ ยินดี ยินร้าย

พวกนี้เป็นฐานที่ตั้งของสติ พระพุทธเจ้าบอกว่า อะไรเกิดขึ้น..รู้ ให้ระลึกขึ้นมารู้ แล้วรู้แบบโง่ๆ และรู้เฉยๆ ...อย่าเยิ่นเย้อ อย่าจับ อย่าแตะต้อง อย่าแทรกแซง อย่าดึง อย่าดัน อย่าผลัก อย่ารักษา


โยม –  แล้วการเป็นกุศลธรรมที่มีขึ้น

พระอาจารย์ –  ไม่มีทั้งนั้น ไม่เอาทั้งกุศล ไม่เอาทั้งอกุศล...แค่รู้ ...ทำไมถึงบอก ต้องแค่รู้  เพราะอะไร ...ก็เพื่อจะมาเห็นความเป็นจริงของขันธ์นี่เอง

ถ้าเข้าไปยุ่ง เข้าไปแตะ เข้าไปผลัก เข้าไปดึง เข้าไปเพิ่ม เข้าไปลด ...มันจะไม่เห็นความเป็นจริงของขันธ์เลย นี่...ปัญญาแปลว่าเห็นตามความเป็นจริง ...เบื้องต้นเราจะต้องมาเห็นความเป็นจริงของขันธ์ก่อน  

ใจน่ะ...อย่าเพิ่งไปหาความเป็นจริงกับใจ ...เอาขันธ์ให้รอดก่อน แยกให้ออกก่อน ดูความเป็นจริงของขันธ์ให้แตกก่อน ...เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรปรากฏขึ้น มีสติระลึกขึ้นมารู้ เห็นมั้ย สติแปลว่าอะไร 


โยม –  ระลึกได้

พระอาจารย์ –  ระลึกรู้ ...พอระลึกขึ้นมา เห็นมั้ย มันมีรู้อยู่ ใช่มั้ย มันรู้ใช่มั้ย


โยม –  รู้ค่ะ

พระอาจารย์ –  กับสิ่งที่ถูกรู้ ใช่มั้ย ...ขยับรู้มั้ย


โยม –  รู้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ขยับเป็นอาการหนึ่งใช่มั้ย


โยม –  ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  รู้เป็นอาการหนึ่งใช่มั้ย


โยม –  ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ไอ้ตัวขยับนั่นแหละขันธ์ ไอ้ตัวที่รู้นั่นแหละใจ ...เพราะนั้นให้รู้อาการขยับ อย่างเงี้ย  แล้วก็รู้เฉยๆ ว่าขยับ แล้วไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวมันก็ดับ ใช่มั้ย


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  เอ้า พอขยับใหม่ รู้ใหม่ เห็นมั้ย ขยับเกิดอีก ก็เห็นว่าตอนนี้กำลังขยับ รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องยุ่ง ...แล้วสักพักหนึ่ง เอ้า ขยับหยุดแล้ว รู้ว่าหยุดแล้ว...ก็รู้ว่าหยุด กายหยุด เห็นมั้ย

แล้วสติมันไม่ได้อยู่แค่นี้ ...มันมีอะไรอีกล่ะ มันมีอะไรปรากฏ


โยม –  ก็นั่งอยู่ ก็รู้ว่านั่งค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ


โยม –  มีความคิดนึกขึ้นมา ..ก็รู้

พระอาจารย์ –  ก็แค่รู้


โยม –  ถ้าลมหายใจมันชัดขึ้นมา เราก็รู้มัน

พระอาจารย์ –  ก็รู้


โยม –  อ๋อ มันชัดตรงไหนก็รู้ตรงนั้น

พระอาจารย์ –  ก็รู้ตรงนั้น ...แล้วเห็นมั้ย เห็นอาการของขันธ์มั้ย เห็นอาการของขันธ์มันแปรเปลี่ยนไหม


โยม –  ยังไม่ค่อยชัดค่ะ

พระอาจารย์ –  ดูไป รู้ไปแค่นี้ แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก ...จะเห็นว่ามันไม่ได้รู้อยู่ที่เดียว สิ่งที่ถูกรู้มันเปลี่ยน ใช่ป่าว   


โยม –  ใช่ค่ะ  

พระอาจารย์ –  มันเปลี่ยนไปเองใช่มั้ย


โยม –  ใช่ค่ะ  

พระอาจารย์ –  เราไม่อยากเปลี่ยน เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ...แค่รู้อยู่เฉยๆ นี่ เราจะเห็นว่าขันธ์มันเปลี่ยนเอง มันเปลี่ยนที่รู้ของมันเอง เปลี่ยนสิ่งที่ถูกรู้เอง

แล้วไม่ต้องไปดีใจเสียใจกับมัน แล้วก็อย่าไปบังคับมัน เช่นว่าจะต้องให้รู้แต่ยุบหนอพองหนอ อย่างอื่นไม่ให้เกิด ...อย่างนี้บังคับ บังคับขันธ์ใช่ไหม ควบคุมขันธ์ใช่ไหม 


โยม –  ค่ะ 

พระอาจารย์ –  ถ้าอย่างนี้เราจะไม่เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ...แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ แล้วก็...เรื่องของขันธ์ก็เรื่องของขันธ์ ขันธ์มันจะเป็นยังไงก็เรื่องของขันธ์


มันจะมีอะไรปรากฏขึ้น มันจะปรากฏเป็นรูปก็ได้ หรือมันจะปรากฏเป็นนามก็ได้  ก็แค่รู้...รู้อย่างเดียว ก็จะเห็นว่า...อ๋อ ขันธ์นี่มันไม่คงที่หรอก


(ต่อแทร็ก 3/23  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น