วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/23 (3)


พระอาจารย์
3/23 (540307)
7 มีนาคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/23  ช่วง 2 


พระอาจารย์ –  แต่พระพุทธเจ้าท่านบอก ขันธ์นี่ไม่เที่ยง โดยธรรมชาติของขันธ์นี่คือความไม่เที่ยง ...เพราะนั้น จะถือขนาดไหนนี่ สุดท้ายมันจะสลายหายไปด้วยตัวของมันเอง

จะรักษา หวงแหนขนาดไหน ทำขนาดไหน สุดท้ายมันจะต้องดับไป ...แต่ก็เราไม่รู้อีกว่ามันดับไป ด้วยความไม่คงอยู่ของมัน หรือว่าความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน หรือความไม่เที่ยง ...มันก็เลยเสียใจ

พอเสียใจแล้วก็ยังโง่ซ้ำอีก ทำใหม่ หาใหม่ ที่จะดีกว่านี้ ...หาวิธีการใหม่ หาอาจารย์ใหม่ ที่จะสอนยังไงให้มันอยู่นานกว่านี้ ให้มันเที่ยงกว่านี้ ให้มันถาวร เรียกว่าให้มันไม่เปลี่ยนแปลงเลย

บอกให้ วิธีการนี้น่ะ พวกฤาษีเขาทำมาก่อน เขาได้มาก่อน เขาเที่ยงจนไม่มีที่ให้เที่ยงน่ะ คือเที่ยงขนาดว่าไม่มีอะไรให้จับต้องคือความว่าง...ก็ยังได้เลย 

ทำความว่างให้ดูเหมือนเที่ยง แล้วก็...กูสบายแล้ว แช่อยู่ในนั้นน่ะ เป็นของเราหมดเลย

พระพุทธเจ้าอุตส่าห์มาสอนให้เจอปัญญา ให้เข้าใจว่าขันธ์นี้ไม่ใช่ของเรานะ สิ่งที่เราทำแล้วคิดว่าจะได้ขึ้นมา มันก็แค่ชั่วคราว ...สุดท้ายมันก็ดับๆ

เมื่อเห็นว่าจับต้องไม่ได้...ไม่ว่าอะไร ...โยมจะไปจับอย่างนี้อยู่ไหม หือ ถ้าจับอย่างนี้ก็บ้าดิ ใช่ไหม ไอ้คนที่ไปจับในสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี่ มันจะมีเหลืออยู่ไหม

แล้วใครล่ะที่จับ ...ก็ “เรา” น่ะ เราจับ ...เมื่อเราจับไปเรื่อยๆ  จับติดบ้าง-จับไม่ติดบ้างๆ  นี่เขาเรียกว่าฝึกฝนอบรม บางครั้งก็...เอ๊อะ หลงไปจับ แล้วก็...เอ้า ไม่อยู่แล้ว  

พออย่างนี้ปั๊บ...เออ เห็น นี่เรียกว่าจับต้องไม่ได้ ...เอ้า ครั้งนี้จับ มันจับได้นี่ จับมันเข้าไป จับๆๆ...ติด-ไม่ติด ...ต่อไปมันไม่มีอะไรติด เพราะกูไม่บ้าจับแล้ว

ตัวของเราน่ะ มันจะถูกทำลายด้วยตัวของมันเอง ...ด้วยการที่ว่า มันไม่มีอะไรจะไปจับ แล้วกูจะอยู่ทำไม จะมีเราไปจับอะไร ...สักกาย หรืออัตตาจะลดลงในตัวของมันเอง

โดยไม่ต้องบังคับ หรือไปฆ่าไปฟันมัน หรือทำลายมัน ...เพราะอะไร  เพราะเห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตน ทุกสิ่งที่ปรากฏนี่ วูบๆ วาบๆ  วูบๆ วาบๆ มีแค่นั้นเอง ...มันก็จะไม่มีเราเข้าไปแตะต้อง เข้าใจไหม

แต่ตอนนี้ ส่วนมากจะเป็นแบบ...ทุกอย่างที่ปรากฏ..ของกูหมด กูจับหมด (หัวเราะกัน) ...ไม่เจอก็ต้องหา ไม่อย่างนั้นก็ต้องหาวิธีการเอาให้ได้

เพราะนั้นสติที่กลับมาระลึกรู้อยู่เฉยๆ เป็นเบื้องต้นของการที่ไม่ออกไปหา ...ต้องอดทนก่อน เพราะมันมีความเชื่อ..ลึกๆ  มีความจำ..ลึกๆ  มีความเคยได้ยินได้ฟังมา..ลึกๆ ...ตัวนี้

เมื่อเรากลับมารู้อยู่เฉยๆ กับปัจจุบันที่กาย ...เห็นมั้ย มันจะดิ้น...ดิ้นหา โดยเข้าใจว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้ เร็วกว่านี้ ถูกกว่านี้ ...มันก็จะหาทางทำขึ้นมา หาทางสร้างสภาวะ หรือหาทางออกไปดู หาอะไรมาดู หาอะไรมาทำ

เพราะนั้น เมื่อรู้อยู่อย่างนี้ แล้วมันมีอาการอย่างนี้ ให้รู้ทันกริยาของจิต...แล้วหักอกหักใจ ไม่ตามมัน ...ไม่ได้ก็ไม่เอาโว้ย เห็นแค่นี้ก็เห็นแค่นี้ล่ะวะ โง่ ไม่รู้อะไร กูก็ไม่รู้อะไรวะ 

อยากรู้...ไม่เอา  สงสัยว่ามันจะได้อะไรมั้ย...ไม่สงสัย ไม่คิดตามมัน ...นี่รู้ทัน ...สงสัยอีก รู้อีก ช่างมัน เห็นแค่นี้ก็เห็นแค่นี้ล่ะวะ ช่างมัน รู้มันอย่างนี้ รู้ละๆๆ

มันจะออกหน้า ออกขวา ออกซ้าย ออกบน ออกล่าง มันจะดึงไปทางนั้น ดึงไปทางนี้ รู้ทันมันพั้บ อยู่แค่นี้แหละ แค่ปัจจุบัน ปัจจุบันอะไร ...ปัจจุบันอะไรก็ได้ของกาย เวทนา จิต ธรรม

แต่เราไม่ค่อยแนะนำเรื่องเวทนา จิต ธรรม ...เพราะมันไว แล้วมันหลงง่าย   ดูความคิด...ไหลตามความคิด  รู้ว่าคิด...เดี๋ยวก็ไหลไปอยู่ในความคิด

รู้ว่าสุขรู้ว่าทุกข์..เดี๋ยวไหลไปตามสุข ไหลไปตามทุกข์  รู้ว่าไม่มีอะไร...เดี๋ยวก็ไหลไปกับไม่มีอะไร  รู้ว่าเฉยๆ...แรกๆ ก็จะรู้ แล้วก็จะไหลไปเผลอเพลิน

เพราะฉะนั้น เราจะเน้นให้กลับมารู้สึกตัว...มันชัด ...พอเริ่มเบลอ เริ่มซึม  ถ้ารู้แล้วเริ่มไหลเริ่มหายไปนะ มันจะเกิดซึม ...รู้จักคำว่าซึมไหม แยกออกไหมว่าซึมคืออะไร

คือเบลอ...เบลอไประหว่างความคิด...กึ่งรู้กึ่งไม่รู้น่ะ ...กำลังดูๆ อยู่ แต่มันคล้ายๆ เบลอๆ น่ะ  นั่นเขาเรียกว่าซึม มันซึมเซา  เนี่ย เขาเรียกว่าไหลออกแล้ว

เห็นมั้ย พอรู้ตัวว่าเริ่มเบลอเริ่มซึมออกไปอย่างนี้ ระลึกขึ้นมาแล้วกลับมารู้ตรงนี้เลย (เสียงสัมผัสกาย) ดูความรู้สึกตัวปั๊บ นี่ จะเห็นว่าอาการพวกนี้วูบเลย หายหมดเลย


โยม –  คือไม่ต้องตั้งใจรู้  อยู่ดีๆ สมมุติว่าสติมันนึกขึ้นมาได้ว่าตอนนี้กำลังหายใจชัดอยู่ ก็คือถ้ารู้ตรงนั้น ต้องกำหนดว่าวันนี้ฉันจะรู้ลมหายใจอย่างเดียวนี่ไม่ต้องเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง อย่าไปกำหนดอย่างนั้น ...ถ้าอย่างนั้นน่ะ คือพยายามจะทำให้เที่ยงนะ ...พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่มีอะไรเที่ยงนะ

ทำไม่ได้ ...แค่คิดก็ผิดแล้ว แค่จิตมันตั้งอย่างนั้นก็อุปาทานแล้ว ...อย่าคิดว่าอย่างนี้คือความเพียรนะ เป็นความอยาก ...แยกให้ออกระหว่างอยากกับเพียร

เพียรคือเพียรระลึกรู้ เผลอแล้วรู้ๆๆ หาใหม่...รู้ใหม่ หาอีก...รู้อีก  เผลออีก...รู้อีก คิดอีก...รู้อีก กังวล...รู้อีก สงสัย...รู้อีก ...อย่างเนี้ยเรียกว่าเพียร เข้าใจไหม

ไม่ใช่ว่า... “ฉันจะต้องอย่างนี้นะ ทั้งวันนะ ชั้นจะต้องไม่พูดกับใครทั้งวันเลยนะ ฉันจะสงบเสงี่ยมทั้งวัน ไม่ข้องแวะสังสรรค์กับใครทั้งวันเลยนะ”

ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ เห็นมั้ย มันผิดปกติใช่ไหม มันผิดจากวิสัยของเราใช่ไหม มันผิดจากธรรมชาติของขันธ์เราใช่ไหม

แต่ว่าเราไม่ได้ห้ามอย่างนั้นโดยร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเป็นอุบาย ...ถ้าเข้าใจว่าอุบายคืออุบาย ทำได้ สงบได้ ไม่พูดไม่คุยได้ ไม่กินไม่นอนได้ แต่เพื่ออะไร ...เพื่อให้มีสติระลึกรู้ชัดเจน อย่างนี้โอเค

แต่ไม่ใช่ว่าทำแล้วมันจะดีขึ้น จิตดีขึ้น ทำแล้วมันจะสงบ แล้วจะเกิดปัญญาเพราะการทำอย่างนี้ นั่งอย่างเดียว ไม่นอน ไม่คุย ไม่กินแล้วมันจะดีขึ้น ...อย่างนี้อย่าไปเชื่อ อย่าไปทำ

แต่ถ้าทำด้วยอุบาย ว่า...เออ สามารถรู้ชัดเห็นชัด รู้ชัดเห็นชัดในอาการได้ด้วยความสันโดษของจิต อย่างนี้ก็ทำได้ ทำไปเลย...เป็นอุบาย ให้รู้ว่าเป็นอุบาย

แล้วเมื่อเข้าใจแล้วว่า สติอยู่ตรงไหน ใจอยู่ตรงไหน เมื่อมีสติอยู่ตรงไหน..ใจอยู่ตรงนั้นแหละ ...แล้วจะเข้าใจว่า กูไม่เห็นต้องทำอะไรเลย กูก็ยืนเดินนั่งนอนตามปกตินั่นแหละ

กินก็กิน พูดก็พูด คุยก็คุย ...ทำไมมันจะรู้ไม่ได้ระหว่างกิน ทำไมมันจะรู้ไม่ได้ระหว่างคุย มีสติตรงไหนก็รู้ได้ตรงนั้น ...อ้อ เห็นว่าคุยเป็นอาการหนึ่งแล้วก็รู้อาการ เห็นมั้ย มันก็เห็นตัวเองพะงาบๆๆ แล้วก็มีรู้เห็นอยู่ ก็แค่นั้น

ถ้าอยู่ได้อย่างนี้ ตลอดทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี โดยเห็นเป็นสองสิ่งคู่กันนี่ ...เคยอ่านหนังสือของลุงหวีดรึเปล่า ...ถ้าอยู่อย่างนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่อนาคามี..อย่างต่ำ อย่างต่ำนะ

อันนี้เราไม่ได้ว่านะ ลุงหวีดว่านะ ...เคยอ่านไหมหนังสือ...ลุงหวีด เป็นโยมอยู่จันทบุรี ปฏิบัติด้วยการเจริญสติระลึกรู้ที่จิตผู้รู้ ...รู้อย่างเดียว 

เพิ่นพิการตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ ขายของไป ทำร้านชำ เวลาพูดเวลาทำงานก็พยายามระลึกรู้ พอไม่มีอะไรทำก็เอาหนังสือพิมพ์มาปิดหน้าแล้วก็กำหนดสติ พอคนมาเรียกก็วางแล้วก็ไปทำงาน ...อยู่อย่างเงี้ย

ก็อะไรเกิดขึ้นรู้ รู้ๆๆๆ ไปเรื่อยๆ  เพิ่นรู้ไปจนกระทั่งที่เรียกว่าทุกความคิดที่ปรากฏ...รู้  คิด..รู้ๆๆๆ คิดอีกรู้อีกๆๆ ...นี่ความเพียร ไม่ไหลไม่หลง ไม่ปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยเปื่อย

คิดอีก...รู้อีก กำลังคิด...รู้อีก ความคิดดับไป...รู้ ความคิดจะเกิด...รู้ ความคิดกำลังเกิด...รู้ ... จนเหลือแต่ว่า จะเกิดความคิด..รู้ๆๆ 

แรกๆ ก็คิดไปนาน..รู้ คิดยังไม่จบ..รู้ คิดดับไป..รู้  มันจะอยู่ตอนนี้ ...ก็ฝึกไป ก็เห็นว่ากำลังคิดๆๆ รู้ว่ากำลังคิดๆๆ  รู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่เข้าไปคิดต่อ ไม่เข้าไปปรุงต่อ

แค่รู้ว่ากำลังคิด คิดไม่ยอมจบ รู้ว่ากำลังคิดไม่ยอมจบ  รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่านไม่ยอมจบ ...มันจะต้องอยู่อย่างนี้ก่อน จิตนี่มันดิ้นกระวนกระวาย มันยังไม่ตั้งมั่นดี

แล้วมันจะหดสั้นขึ้น ...ต่อไปก็รู้ว่าคิด กำลังคิด กำลังเริ่มคิดๆ ...ต่อไปก็กำลังจะคิดๆๆ รู้ๆๆๆ ...ไปๆ มาๆ ความคิดไม่สามารถเกิดเลย  มันรู้ตลอด รู้อยู่อย่างนี้

ลุงหวีดแกรู้อย่างนี้ จนแกบอกว่า คนเขาเอาเงินมาซื้อของนี่ แกคิดเงินไม่ถูก  พอจะคิดว่าทอนกี่บาท พอคิด..รู้ๆ มันคิดไม่ออก ...แต่แกก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน

เพราะมันจะบอกว่าถูก-ผิด...รู้อีก จะทำยังไงดี..รู้ ไม่คิดต่อ  ก็ทำไป รู้อย่างเดียว ไม่สนใจเลย รู้อีก ...นั่น มีลูกมีเมียนะนั่นน่ะ ทำงานอยู่นะนั่น

จนเห็นว่าขันธ์เป็นอย่างเนี้ย ใจเป็นอย่างเนี้ย ไม่เกี่ยวกันเลย ...ก็ดำเนิน ยืนเดินนั่งนอนก็ดำเนินไป เป็นเรื่องของขันธ์ ความคิด อารมณ์ปรุงแต่ง ก็เรื่องของอารมณ์ ความคิดปรุงแต่ง

ใจก็โทโร่อยู่อย่างนี้ เหมือนน้ำกับน้ำมัน เห็นอย่างนั้นเลย ...ขันธ์เหมือนน้ำ ใจเหมือนน้ำมัน ไม่ปนเปื้อนกัน ไม่เข้ามาผสมเจือปนกันเลย อยู่อย่างนี้ เป็นอัตโนมัติ

ลุงหวีดแกบอกว่าให้มีดวงจิตผู้รู้นี่ หรือว่ามีรู้กับอาการของขันธ์นี่ อย่างน้อยวันหนึ่งถ้าทำได้ถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์...ปิดอบายแล้ว  ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์หมายความว่าอนาคามี .. ลุงหวีดว่านะ เราไม่ได้ว่านะ 
 

โยม –  ปิดอบายได้หนึ่งชาติหรือคะ  

พระอาจารย์ –  ปิดอบายหมดน่ะ

แต่การปฏิบัติของพวกเรา มันมัวแต่จะมุ่งหาอะไรอยู่ นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ ...ต้องให้ทัน ให้เห็น จะได้ไม่หา หยุดหาซะ  ต้องหยุด หยุดที่รู้ หยุดที่การระลึกรู้

มันจะอึดอัดเบื้องต้นเท่านั้นเอง ...มันทวน เขาเรียกว่ามันทวนกระแส ทวนกลับมารู้ รู้อยู่ เห็นอยู่ แค่รู้อยู่เห็นอยู่ อะไรจะเกิด อะไรจะปรากฏ อะไรจะตั้ง อะไรจะมาก อะไรจะน้อย ...รู้อย่างเดียว    


โยม –  พอเครียดก็ให้รู้ว่าเครียด รู้เฉยๆ    

พระอาจารย์ –  รู้เฉยๆ ช่างหัวความเครียดมัน ...ขันธ์เครียด ใจไม่เครียด  เครียดคือเครียด...ใจคือรู้ ...เหมือนกับถามว่า เย็นร้อนอ่อนแข็งนี่ มันมาบีบคั้นใจตรงไหน มันก็ตั้งของมันตามปกติน่ะ ใช่ป่าว 

แข็งๆ อ่อนๆ ไหวๆ นี่ กูก็คือกูอย่างนี้ กูไม่เห็นจะมีมือมีตีนไปบีบ ไปทำให้ใครเครียด ไปทำให้ใจดวงนี้เครียดได้เลย ...ใจก็เป็นแค่รู้ว่าแข็ง รู้ว่าอ่อน รู้ว่าเครียด

รู้เข้าไปอย่างนี้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ...อย่าไปหาเหตุหาผล อย่าไปหาทางแก้ อย่าไปหาทางให้มันดับ รู้อย่างเดียว อดทนรู้เข้าไป รู้โง่ๆ รู้โง่ๆ รู้ตรงๆ

รู้โง่ๆ ไม่ต้องหาปัญญา...อย่างที่พวกเราเข้าใจว่าปัญญาจะต้องไปเข้าใจอะไรกับมัน หรือว่าต้องให้มันดับก่อนถึงจะเกิดปัญญา ...รู้อยู่อย่างเดียวนั่นแหละ

ให้เห็นว่า ขันธ์ส่วนหนึ่ง..รู้ส่วนหนึ่ง ให้เห็นสองอาการแค่นี้ ให้ชัดเจน ว่ามันคนละส่วนกัน ...เครียดก็เครียด มันมีชีวิตจิตใจมั้ย หือ ความเครียดน่ะ ความเครียดมันมีชีวิตจิตใจมั้ย

แต่ถ้าไม่รู้...ไม่มีสติระลึกรู้กับความเครียดนะ  มันจะเป็นว่าเราเครียด ...แต่พอรู้ว่าเครียด มันจะมีเครียดกับรู้ 

ถ้าไม่มีสติ มันจะมีแต่เราเครียด เห็นมั้ย มันเป็นอันเดียวกัน ...แต่พอรู้ขึ้นว่าเครียด เห็นมั้ย เครียดอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง ...พยายามทำอย่างนี้ นี่คือการแก้ปัญหาที่ไม่ต้องทำ แค่รู้ตรงๆ ลงไปกับสิ่งนั้น

จนกว่ามันจะเข้าใจ ยอมรับ ว่า...อ๋อ เครียดก็คือเครียด เป็นเหมือนก้อนอะไรก็ไม่รู้อันหนึ่ง แล้วก็มีรู้อีกอันหนึ่ง สมมุติว่าเป็นเรา แค่นั้นเอง ...คนละตัวกัน


(ต่อแทร็ก 3/23  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น