วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/10 (2)



พระอาจารย์
3/10 (540101A)

1 มกราคม 2554
(ช่วง 2)


(ต่อจาก แทร็ก 3/10 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เนี่ย มันต้องเริ่มจากรู้ไปเรื่อยๆ นี่แหละ ไม่ต้องคิดมาก  ทิ้งไปเลย ทิ้งมันแบบโง่ๆ ทิ้งมันตรงนั้น ไม่เอามันเลยน่ะ ...เอาจนว่า เมื่อถึงห่วงข้อแรก ข้อต้น 

ข้อแรกของปฏิจจสมุปบาท คืออะไร อวิชชา ปัจจยา สังขารา นะ ...พอขึ้นว่า อวิชชาปัจจยาสังขารานี่ พั่บๆๆๆ เหลือแต่รู้ ...คือไอ้พั่บๆๆ นี่ ยังไม่รู้เลย อะไร พั่บ เข้าใจรึยัง 

วิญญาณยังไม่เกิดเลย รูปนามยังไม่ปรากฏเลย เอาดิ ...แล้วมันจะไปรู้อะไรวะ ไม่มีคำพูดสักคำ  ธรรมก็ไม่มี ไม่มีธรรมก็ไม่มี อะไรปรากฏก็ไม่มี อะไรไม่ปรากฏก็ไม่มี ...มีแต่เกิด-ดับๆๆๆ อยู่อย่างนั้นแหละ

ถ้าถึงขั้นนั้นน่ะ ไม่ต้องมาหาอาจารย์ไหนแล้ว ...มันอยู่ตรงนั้นแหละ มันไม่ไปไหนแล้ว มันไม่มีสงสัย มันไม่มีไม่สงสัย มันไม่มีอะไรปรากฏตรงนั้นแล้ว 

รูปก็ไม่มี นามก็ไม่มี อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี ปัจจุบันก็ไม่มี ...อะไรก็ไม่เหลือแล้ว แต่มันก็ยังเกิด-ดับๆๆ ของมันอยู่นั่นแหละ

แน่ะ ธรรมชาติของใจ มันจะชำระตัวของมันเองนั่นแหละ ... ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องไปหาวิธีการ ไม่ต้องไปหาทางลัดทางตรงอะไรที่ไหนแล้ว 

มันก็รู้อยู่ตรงนั้นแหละ ...มีรู้อยู่ที่เดียวน่ะ ทั้งโลกทั้งจักรวาลทั้งอนันตาจักรวาลน่ะ มีแค่รู้ เหลือแค่รู้ นอกนั้นไม่เห็นมีอะไร

เพราอายตนะทุกอายตนะดับหมด  ไม่ได้ไปทำให้มันดับนะ มันไม่เกิด  เพราะมันดับตั้งแต่สังขารา ...สังขารา ปัจจยา วิญญาณ นะ มันดับ มโนวิญญาณมันไม่ออกไปรู้อะไรแล้ว 

ความคิดก็ไม่เกิด อะไรก็ไม่เกิด สมมุติบัญญัติก็ไม่เกิด รูปก็ไม่เกิด ...ยังไม่ออกมารู้ทางกายเลย อายตนะก็ไม่เกิด มันจะมีอะไรเกิด

เพราะนั้นไม่มีเหลือเลยนี่ทั้งโลกทั้งจักรวาล ดับหมด ...ที่มันดับหมดน่ะเพราะมันไม่เกิด ไม่เกิดคือไม่เกิดการออกไปรับรู้ มันดับตั้งแต่ต้น พั้บๆๆ อยู่อย่างนั้นแหละ มันเป็นของมันเอง

มันเป็นของมันเองนะ ไม่ใช่ไปบังคับนะ ... มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ด้วยการที่ว่า เราสะสมเหตุปัจจัยมาด้วยการเจริญมรรค อะไรก็รู้ๆ แค่นี้แหละ

เราอ่านเจอบ่อย “แค่รู้เนี่ย จะละได้เร้อ มันจะละกิเลสได้ยังไง ต้องพิจารณาอสุภะเยอะๆ” ...ก็ว่ากันอย่างนั้น


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วถ้ารู้ไม่ทันล่ะคะ ใช้ความคิดมาก่อนได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  แรกๆ ก็ต้องใช้ แบบค้อนตอกสิ่วน่ะ ก็ต้องอาศัยบ้าง เตือน บอกมัน

โยม –  บางทีเหมือนกับมันรู้ตามหลังจากที่มันเป็นความคิดขึ้นมาแล้ว

พระอาจารย์ –  ธรรมดา สติอ่อน ...รู้เมื่อไหร่คือเมื่อนั้น

โยม –  คนที่เพิ่งเริ่มหัดดูก็คือ มันก็ต้องตามความคิดไปก่อนหรือคะ

พระอาจารย์ –  ความคิดมันต้องเกิดก่อน มันต้องหลงไปในความคิดก่อน แล้วก็รู้ ...ธรรมดา 

แต่วิธีสะสมพลังของสติมากๆ กลับมาที่ฐานกาย นะ ...อย่าไปติดอยู่คำว่า ดูจิต ต้องดูแค่จิต เสร็จหมดแหละ บอกให้เลย ...ถ้าเริ่มจากการดูจิตอย่างเดียวนี่ ไปไม่รอด นะ


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  กายมีชัดเจน ดูตรงไหนก็เห็นตรงนั้น  เย็น ร้อน อ่อนแข็งน่ะ ระลึกขึ้นมา ให้มันต่อเนื่อง ...แล้วพอมันบอกว่า มือ เท้า ตัว ชาย หญิง นี่ ก็รู้ว่านามเกิด รู้ปุ๊บ รู้...รู้ตามอาการปรุงแต่งขึ้นมา

แล้วพอเริ่มไหลๆๆๆ กลับมากายอีก นะ ...ไม่ทันมันหรอก ใหม่ๆ นี่สติไม่ทันหรอก ไม่งั้นก็เหนื่อย จะรู้สึกเหนื่อย ล้า เพราะความคิดมันไวยิ่งกว่าลิง พึ่บเดียวนี่ ไปแล้ว  

กำลังตั้งอกตั้งใจดู พั้บ มีคนมาเรียก ฮัลโหล ไปไหน สบายดีเหรอ  ค่ะ ...ปุ๊บ ไหลเลย บอกให้เลย ไม่มีทางทันหรอก

เนี่ย เป็นจุดบอดจุดนึงของคนที่บอกว่า รู้แล้วมันไม่มีทางทัน ... เพราะเราทิ้งกายเกินไปนะ ให้กลับมาที่ฐานกาย

แต่ว่าความหมายของเราที่ว่าการมาเจริญสติในกายนี่ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปคิดในกาย...ไม่เอา ...รู้ไปตรงๆ รู้ไปที่กายวิญญาณ

จำไว้ว่า รู้สึกตัว...รู้สึกที่ตัว รู้สึกตัว รู้สึก มันยังไง ตรงนี้ รู้สึกยังไง รู้สึกตัวลงไป แล้วก็ดูที่ความรู้สึกตัวนั้น...นั่นแหละคือการรู้กาย 

ไม่ใช่ไปเมครูปขึ้นมา เมครูปกายนั่งขึ้นมา ไอ้นั่นให้มันเมคของมันเอง แต่ไม่ใช่เราไปเจตนาให้เห็นรูปกายขึ้นมา


โยม – ไม่ใช่ว่า มาดูว่ากำลังนั่งอยู่ แต่รู้ว่านี่คือกายที่อยู่ตรงนี้

พระอาจารย์ –  คือรู้สึกตัว...รู้สึกไปที่ตัว เข้าใจมั้ย  ความรู้สึก ขยับ ไหว แข็ง อย่างนี้ เป็นมวลอย่างนี้ ...นี่ ความรู้สึกลงไปที่ตัว 

ส่วนไอ้นั่งนอนยืนเดินนี่ เดี๋ยวมันมาของมันเอง เรื่องของมัน  ก็ให้เห็น อ้อ รู้ทันว่านี่เป็นส่วนของนามปรากฏ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่กาย ไม่ใช่กายจริงๆ ...มันเป็นแค่นามที่บอกว่านั่งนอนยืนเดิน นามมันมาเกิดสลับกันระหว่างสัญญา นะ

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง ขยับ กระพริบ กระเพื่อม กระเทือน  มันไม่ได้บอกเลยว่ามันเป็นอาการอะไรนะ ...ดูดีๆ แยกให้ออก เอาแค่นี้ให้ชัดเจนก่อน

ดูกายอย่างเดียวนี่ บอกให้เลย ถึงนิพพานได้น่ะ เอาดิ ...แยกใจกับกายแค่อย่างเดียวนี่ ไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นน่ะ สัมมาอาชีโวลงที่เดียวก็ยังได้ บอกให้เลย แจ้งเลย  ไม่จำเป็นหรอกที่จะต้องไปรู้ทุกฐาน

เพราะสุดท้าย พุ้บๆๆๆ บอกให้เลยว่า ถึงภาวะที่เป็นสัมมาสติที่แท้จริงแล้ว ไม่มีรูปไม่มีนามน่ะ ยังไม่ทันจะเป็นรูปเป็นนามน่ะ ...มันไม่สนใจแล้วอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม  มึงออกมากูฆ่าๆ...กูฆ่าโดยไม่ลังเลอ่ะ เข้าใจมั้ย

แต่พวกเรานี่... “แหะๆ เสียดายค่ะ เอาไว้ก่อนค่ะ” (โยมหัวเราะกัน) “มันยังต้องใช้ต่อไปนะคะ ความคิดอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้ค่ะ” ...คือมันยังติดกับการให้ค่าหรือว่าบวกลบกับมันเกินไป

แต่พอนานๆ รู้ไปเรื่อยๆ จิตใจมันจะแข็งแกร่งขึ้น สมาธิมันแกร่งขึ้นปุ๊บ มันจะฆ่า ละ ... รู้...ละๆๆ ตรงนั้น โดยไม่ลังเล ไม่กลัวโง่ ไม่กลัวไม่รู้อะไร ไม่กลัวไม่ได้อะไร ไม่กลัวไม่ไปไหน

เนี่ย พวกเรามันยังมีความกลัวพวกนี้ติดอยู่ นะ กลัวว่าจะไม่มีความรู้เกิดขึ้นบ้าง จะไม่เกิดความแจ้งในสภาวธรรมนั้นสภาวธรรมนี้บ้าง ...มันติดวิพากษ์วิจารณ์ วิตกวิจารณ์น่ะ 

ไอ้ตัววิตกวิจารณ์นี่คือตัวตรึก นะ ต่อไปมันก็คือตัวตรึก แล้วต่อไปจะเห็นไอ้ตัวตรึกนี่แหละคือตัวที่ก่อให้เกิดกาม...เกิดกาม ถ้าเกิดก็เป็นกาม ตัวที่ก่อให้เกิดก็คือตัวตรึก ตรึกในอาการ หรือหยุดอยู่กับอาการนั้น 

แค่ไปหยุด หรือวิตก หรือตรึกอยู่ตรงนั้นน่ะ เวทนาจะตามมา ...กิเลสจะเกิดขึ้นตอนนั้น เกิดขึ้นมาตอนนั้น อุปาทานจะเกิดตอนนั้น ...เมื่อมีการเกิดขึ้น แล้วไปหยุดอยู่กับการเกิดนั้น นี่ จิตมันเริ่มไป...เขาเรียกว่าตรึก  

พอตรึกปุ๊บ มันจะกลายได้หมดเลย  เข้าใจมั้ย กามวิตก พยาบาทวิตก โมหะวิตก ได้หมด ...เพราะการตรึกอยู่ในตรงจุดนั้น กิเลสจะเกิดขึ้นตอนนั้นแหละ

แต่ถ้าเท่าทันน่ะ หักอกหักใจซะ ช่างหัวมัน เป็นตายช่างหัวมัน ไม่ได้อะไร ช่างหัวมัน ไม่ได้ธรรม ไม่ได้มรรค ไม่ได้ผล...ไม่เอา  อะไรออกมารู้อย่างเดียว รู้ๆๆ รู้ลงไป รู้อย่างเดียว จับคู่ได้เมื่อไหร่ รู้อย่างเดียวๆ แค่นั้นแหละพอ

แต่เบื้องต้นน่ะ พยายามแยกให้ออกก่อน...จากขันธ์ รู้กับขันธ์ คนละตัวกัน ดวงจิตผู้รู้ 

หาใจให้เจอด้วยสติ ...ไม่ได้คิด ไม่ได้หา แต่ด้วยสติระลึกขึ้นมา แล้วแยกด้วยความแยบคาย  ใจอันหนึ่ง-กายอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง-นามอันหนึ่ง แล้วสังเกตไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่ถูกรู้นั้น ...มันไม่คงอยู่หรอก มันสลับ เปลี่ยนอยู่เสมอ 

อยู่แค่นั้นแหละ มันก็จะตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียว ไม่ไปตั้งมั่นกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากรู้ ...ไม่งั้นมันอดไม่ได้ที่จะไปคาไปข้อง ไปผูก ไปยึด ไปถือ ไปมี ไปเป็น...กับมัน 

ไอ้ “กับมัน” นี่แหละสำคัญ  เราชอบมีข้ออ้าง...กับมัน  เราชอบมีข้อแม้...กับมัน  อดไม่ได้...กับมัน อาวรณ์มัน อาลัยมัน รักมัน โกรธมัน เสียดายมัน ... เนี่ย ตอนนี้คือการเข้าไปมีเข้าไปเป็น 

ต้องใจแข็ง ใจกล้า เด็ดเดี่ยว ... รู้ รู้ลงไปๆ อยู่ที่รู้ รู้บ่อยๆ  จนมันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นหนึ่ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่แตกแถวแตกกอ...ออกไป  ถ้าแตกเมื่อไหร่ล่ะ...ไหล  

ถ้าอ่อนข้อให้มันเมื่อไหร่นะ ...เฮ่อ วันนี้มันออกมาสักกระเบียดนึง เดี๋ยววันพรุ่งนี้มันออกมาคืบหนึ่ง อีกพรุ่งนี้ออกมาศอก พรุ่งนี้อีกก็เป็นวา พรุ่งนี้ต่อไปก็ชาติหน้านู่นเลย  มันไปได้หมดแหละถ้าออกมาแล้วนี่

อย่าเสียดายกิเลส อย่าเสียดายความคิด อย่าเสียดายอารมณ์ อย่าเสียดายอดีต อย่าเสียดายอนาคต อย่าเสียดายเรื่องคนอื่น อย่าเสียดายเหตุการณ์ ...พวกนี้มันเป็นเหยื่อที่มาล่อลวงให้เราติดข้องอยู่เสมอ 

พยายามรู้ทัน รู้ทัน รู้บ่อยๆ จนต่อเนื่อง ...หาอะไรไม่เจอ หาอะไรไม่ดู รู้อะไรไม่เป็น ...รู้กาย มีอยู่แล้ว ชัดที่สุด อย่าทิ้งกาย หาบังเกอร์ก่อน หาที่ตั้งก่อน 

ถ้าไม่มีที่ตั้ง ไม่มีบังเกอร์น่ะ  ตายแบบศพไม่สวยอ่ะ ...ทุกทีก็จะกลับมาด้วยความโซซัดโซเซ กลับบ้านทีนี่ “โอ๋ย แย่เลย ทั้งวัน ไม่รู้เนื้อรู้ตัวทั้งวัน”

อย่าไปตีโพยตีพาย ...เมื่อรู้สึกถึงอาการนี้ขึ้นมา อย่าตีโพยตีพาย อย่าอ้อแอ้แก้ตัว อย่าไปโทษนั่นโทษนี่ รู้มันลงไปตรงที่ ...เออ กำลังหงุดหงิด กำลังรำคาญ กำลังไม่ได้ดั่งใจ ...รู้ไปตรงนั้นเลย 

รู้ว่าเสียใจ รู้ว่าไม่น่าเลย รู้ว่าอย่างงั้น รู้มันตรงนั้นเลย เห็นมั้ย กลับมารู้ในปัจจุบันได้ ...พอรู้ในปัจจุบันได้ปั๊บ ขณะแรกรู้จิต รู้จิตขณะแรกปั๊บ รู้อยู่แล้วนี่ “ถ้ารู้จิตบ่อยๆ กูก็เผลออยู่ดีน่ะ” ...ก็รู้กายเป็นตัวช่วย 

สติปัฏฐานมี ๔ ...พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกสติปัฏฐาน ๑  สติปัฎฐาน ๔  ตรงไหนก็ได้ที่มันชัดที่สุดน่ะ เราถึงแนะนำที่กาย

หรือง่ายๆ เวลาทำงานมาก สับสน จับอะไรไม่ถูก  ดูกายก็ไม่รู้จะดูยังไง ยังหาอีกไม่รู้ดูกายตรงไหน ...ก็สูดลมหายใจเข้าไป สูดลมหายใจ ระลึกขึ้นมา ดูลม รู้ลม เอาพอให้เป็นเครื่องระลึกรู้ของสติ นะ เป็นตัวดึง ระลึกขึ้นมา ให้ชัดเจน

อย่าทิ้งขว้าง สติน่ะ  อย่าให้มันไหลนาน เสร็จแล้วมันจะอ่อนล้า มันจะขี้เกียจ ...ผลพลอยได้ของการที่ปล่อยให้มันไหล หลง เผลอเพลินนี่คือขี้เกียจ แล้วก็สงสัย ลังเล ท้อแท้ 

มันกลายเป็นอารมณ์ประจำของนักภาวนาไปเลย อยู่อย่างนั้นน่ะ ...ทำกี่ทีๆ ก็เหนื่อยว่ะ ท้อว่ะ เบื่อว่ะ เท่าเก่าว่ะ ทำไงก็เท่าเก่าว่ะ

ก็หลงเท่าเก่าเลยน่ะ ...อิชั้นคุยกันนี่ อิชั้นต่างคนต่างหลงพอกันเลย (โยมหัวเราะกัน) ...คุยกันว่า ใครจะหลงมากกว่ากัน แค่นั้นเอง

หาเครื่องอยู่ของสติให้ได้ ...อย่างน้อยระลึกที่กาย ลม ลงมาเย็นร้อนอ่อนแข็ง ...ต้องขยัน ตั้งใจ ใส่ใจ ทำจริง นะ ...ถ้าไป ลูบๆ คลำๆ นี่ มันก็จะเกิดอย่างนี้ ท้อแท้ๆ อ้อๆ แอ้ๆ อยู่อย่างนั้น 

มาได้พลังสักทีก็จากอาจารย์ ...ฟังแล้ว โห มีกำลังใจ ขยันขันแข็ง 'ถ้าไปหาอาจารย์ได้ทุกวัน อิชั้นก็จะไปทุกวัน เพราะมันไปแล้วก็ดี มันมีกำลังขึ้นน่ะ' ...แต่กลับบ้านมันก็เหมือนเดิมน่ะ กลับไปก็แค่นั้นน่ะ

มันอยู่ที่ความตั้งอกตั้งใจด้วยตัวของตัวเอง ...เพราะนั้นอินทรีย์พละ สะสมให้เยอะๆ  ด้วยศรัทธา วิริยะ ...สำคัญ เบื้องต้นน่ะ ต้องมีศรัทธาและวิริยะ เป็นตัวนำก่อน 

ศรัทธาคืออะไร ...เชื่อ เชื่อลงไปว่ารู้แค่นี้ พอแล้ว  ต้องรู้บ่อยๆ แล้วต้องขยัน ...นี่คือต้องมีศรัทธาในธรรมวรรคนี้ บทนี้  มันจึงจะเกิดวิริยะพากเพียรขึ้นมา

เมื่อวิริยะพากเพียร สติสมาธิปัญญาเดี๋ยวมาเอง  นี่เขาเรียกว่าสะสมไปเรื่อยๆ อินทรีย์พละ เมื่อพละมันเต็มเปี่ยมเต็มพร้อมแล้วนี่ 

พละ ๕ นี่คือหนึ่งในองค์ธรรมของโพธิปักข์ อิทธิบาท ๔ พละ ๕ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ พวกนี้  นั่นแหละ ...เริ่มต้นจากอินทรีย์ศรัทธา วิริยะ ขึ้นมา ...ด้วยตัวเอง 

อย่าอาศัยพึ่งอาจารย์นอก อาจารย์นอกตามไม่ทันหรอก อาจารย์นอกก็อยู่คนละที่คนละจังหวัด ...ท่านก็อยู่ของท่าน กายท่านจิตท่าน ตามไม่ทัน บอกไม่ทัน สอนไม่ทันหรอก 

อาจารย์จริงมีอยู่แล้ว ...อย่าเป็นกบเฝ้ากอบัว วิ่งไล่หาอาจารย์ที่นู่นที่นี่ ไปเอาตัวนั้นตัวนี้มาเป็นเครื่องช่วยเครื่องบอกเครื่องสอน ...ไม่ทัน มันไม่ทัน

ตรงนี้ๆ พั้บๆ รู้อยู่ตรงนี้แหละ ยืนเดินนั่งนอน ทุกย่างก้าว ทุกขณะ ทุกอาการที่ปรากฏ ...โดยไม่หือไม่อือ ไม่มีข้อแม้ ไม่มีตัวเลือก ว่าจะต้องเวลานั้นเวลานี้ อาการนั้นอาการนี้เท่านั้นถึงจะรู้ได้ ...ไม่ได้นะ

ก็มันไม่ใช่ว่าจะเป็นนางงามจักรวาลให้ดูอย่างเดียว  อะไรก็ได้ เป็นสัตว์ร้าย อสุรกาย เปรต สัตว์นรกอะไรก็ได้ ปรากฏในจิตขึ้นมา หรือเหตุการณ์อะไรก็ตาม

ต้องรู้ แยกรู้ออกมาอาการนั้นให้ได้ ...จิตจะเกิดความมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นมาเองตามลำดับลำดา

อยู่ที่ความตั้งใจ ใส่ใจ ช่วยตัวเอง อัตตาหิ อัตโน นาโถ เป็นหลักเลย ...อย่าไปพึ่งอันอื่น อย่าไปพึ่งสัปปายะอันอื่น  สัปปายะเป็นตัวประกอบ  

จิตน่ะสัปปายะอยู่แล้ว มันพอดีอยู่แล้ว ไม่พอดีมันไม่ปรากฏขึ้น อาการน่ะ มันปรากฏเพราะมันเกิดความพอดีมันถึงปรากฏขึ้นมาในปัจจุบันนั้น 

อย่าไปเลือก อย่าไปบอกว่าไม่ควร ไม่น่า ไม่ใช่ น่าจะอย่างนั้น น่าจะอย่างนี้ ...ไอ้นี่คิดเอา ไม่ทันอีกแล้ว นะ ...รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ หลงก็หลง อย่าไปเสียอกเสียใจ 

หลงแล้วหายแล้ว แก้ไม่ได้ เอาคืนไม่ได้ อย่ามาตีอกชกหัว อย่ามาเสียอกเสียใจ ...ก็ระลึกขึ้นมาอีก ตรงนั้นเลย  ช่างหัวมัน หลงก็หลงหายไปแล้ว ...จะไปแก้ในอดีตไม่ได้ จะไปเอาสติสร้างในอดีตก็ไม่ได้

แต่มันสร้างได้ในปัจจุบัน ขณะที่รู้ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ รู้ตรงนี้ ที่นี่...Here and Now ลงไป ที่นี่ที่เดียว ...ช่างหัวมัน อดีต-อนาคต ต่อไปจะเจออะไร จะเป็นยังไง ไม่รู้ ...รู้ตรงนี้ ให้มันสั้นที่สุด สั้นลงในปัจจุบัน 

และให้มันรวมลงในปัจจุบันขณะ ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่อยู่ในปัจจุบัน ต้องเห็นในปัจจุบัน และต้องแจ้งในปัจจุบัน ไม่ได้แจ้งในอดีตหรือในอนาคตเลย

พากเพียรลงไป มันไม่ยาก ...ถ้าตั้งใจจริงๆ จังๆ น่ะไม่ยากหรอกการปฏิบัติธรรมน่ะ ให้ตั้งใจจริง ไม่อ่อนแอ ไม่ไหล ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่เพลิน จนเกินไป

เตือนสติขึ้นมาบ่อยๆ ธรรมก็อยู่ตรงนั้นแหละ ...มันไม่ได้อยู่ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ มันไม่ได้อยู่แบบเกินกว่าจะเอื้อมไม่ถึง... แสดงให้เห็นอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ดับปัจจุบัน เห็นผลในปัจจุบันนั้นแหละ


( ต่อแทร็ก 3/11)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น