วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/12


พระอาจารย์
3/12 (540101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2554


พระอาจารย์ –  เอ้าโยมมาใหม่นี่ เป็นยังไง ฟังเข้าใจมั้ย

โยม –  เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติ...เราแนะนำอย่างเดียว คือการเจริญสติ นะ ...รู้ง่ายๆ อะไรก็ได้ รู้อะไรก็ได้ ในปัจจุบันของกายกับใจ  ขยับก็รู้ แข็งๆ หนาวๆ เย็นๆ ก็รู้ลงไป  ให้รู้...แล้วก็สังเกตว่าไอ้ที่รู้ตรงนี้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน 

เดี๋ยวก็มีความคิดเกิดขึ้น ก็รู้อีก ขณะที่รู้ว่าคิด ให้รู้ไปเลยว่า ไอ้อาการเมื่อกี้ที่รู้อยู่นี่มันดับไปแล้ว เช่นว่า ขยับ แล้วก็ฟัง อย่างนี้ ขยับแล้วก็ได้ยิน ...ตอนแรกก็รู้ขยับ ตอนนี้มีการได้ยินแล้ว เห็นมั้ย มันสลับกัน 

แล้วก็รู้มันไปเรื่อยๆ สังเกตดูอาการที่มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในสิ่งที่ถูกรู้นี่ ...ไม่ว่าอาการไหนหรืออารมณ์ไหน หรือว่าผัสสะไหน มันไม่คงที่ มันไม่มีทางว่าไอ้เครื่องรู้นี่จะอยู่ได้ตลอดเวลา 

เช่นว่า เดี๋ยวก็ตาเห็น เดี๋ยวก็หูได้ยิน เดี๋ยวก็คิด เห็นมั้ย มันสลับกันใช่มั้ย...สลับที่ตั้งของเครื่องรู้น่ะ เดี๋ยวก็มีอารมณ์ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย ...เห็นมั้ย มันสลับที่ที่รู้อยู่ตลอด

เพราะนั้นที่รู้อยู่น่ะ...มันมีอยู่ห้าที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ-ไปรับรู้ ...แล้วก็อีกหกอายตนะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็ง แล้วก็มโนวิญญาณ ความรู้สึกทางใจ ...มีเครื่องรู้อยู่แค่นี้เอง เครื่องที่จิตออกไปรับรู้

แล้วให้เห็นว่าการที่มันสลับไป จรไปจรมา ไปรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง  มันไม่ได้เกิดพร้อมกัน มันจะไม่เกิดพร้อมกัน ...ให้สังเกตไปทีละนิดทีละหน่อย รู้ไปเรื่อยๆ

แล้วให้สังเกตว่า...ไอ้การเกิดขึ้นของรูปทางตา ไอ้การเกิดขึ้นของเสียงทางหู มันไม่ได้เกิดพร้อมกัน  แล้วไอ้การเกิดขึ้นของความคิด การเกิดขึ้นของเวทนา ไม่ได้พร้อมกัน  การรับรู้ทางกายกับการรับรู้ทางความคิดไม่ได้พร้อมกัน 

มันจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  อย่าไปมองเผินๆ ว่ามันเกิดพร้อมกัน ...เนี่ย เมื่อมองเห็นว่ามันเกิดไม่พร้อมกัน มันสลับไปสลับมาระหว่างขันธ์ทั้ง ๕ กอง คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กับอายตนะอีก ๖ อย่าง 

ให้เห็นว่า ขันธ์มันเป็นลักษณะของการดับอันหนึ่งแล้วไปเกิดอันหนึ่ง ดับอันหนึ่งแล้วก็ไปเกิดอีกอันหนึ่ง แล้วก็ดับอันนั้น แล้วก็อาจจะเกิดเหมือนเดิมอีกอันหนึ่ง อยู่อย่างเนี้ย

มันจะเห็นว่า ขันธ์นี่ ไม่ได้รวมตัวกันเหมือนกับของที่เราหล่อพระพุทธรูปที่เป็นแท่งเดียวกัน มันจะเป็นแค่การเกิด สลับกันไป สลับกันมา ...โดยรวมมันเป็นอย่างนี้

มันก็จะเห็นความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์นี้ไม่มี เริ่มไม่เห็นขันธ์นี่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชายตรงไหน...ไม่มี

มันเริ่มหาความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์นี้ไม่มี เมื่อหาความเป็นตัวเป็นตนของขันธ์ไม่มี ก็คือหมายความว่ามันหา “ความเป็นเรา” ไม่มีเหมือนกัน ...เพราะ “เรา” ก็ไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริง

แม้แต่ความรู้สึกว่าเป็นเรานี่ ...เมื่อรู้ปุ๊บ มันก็รู้ว่านี่เป็นแค่ความคิดหนึ่งเท่านั้นเองว่าเป็น “เรา”  พอรู้ปุ๊บว่าเป็นเรา เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวก็เห็นมันเปลี่ยนไปรู้ที่อื่นปุ๊บ ไอ้ความรู้สึกว่าเป็นเราตรงนั้นก็ดับ 

แล้วก็อาจจะเป็นเกิดความรู้ว่า “เราเห็น” ตรงนั้นอีก ก็ไปเกิดที่ “เราเห็น” ตรงนั้นอีก ...ก็รู้ว่านี่เป็นความเห็นไปประกอบกับรูปที่เห็นว่าเป็น “เราเห็น” อีก ...มันเกิดคนละที่กัน

เพราะนั้นถ้าเห็นเฉยๆ ปุ๊บ มันก็เป็นอาการหนึ่ง ว่าแค่เห็นเฉยๆ กับ ปุ๊บ เห็นแล้ว...อ๋อ เราเห็น นี่ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันกับการเห็น ...นี่ ให้เห็นว่ามันคนละอาการกัน

เพราะนั้นไปๆ มาๆ  จะเห็นเลยว่า “เรา” นี่ บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็ดับ บางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี ...มันก็จะเห็นว่า ความเป็นเราที่แท้จริงก็คือสภาวะหนึ่งหรือความเห็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้นเอง 

ความเป็นจริงก็ไม่มีอะไร ...มันเป็นความหมายมั่นที่ผิดพลาด...ออกมาจากความไม่รู้

ก็ให้รู้ไปเรื่อยๆ อย่างเนี้ย การปฏิบัติ   สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ไม่เป็นไร   สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ...เพราะไอ้ตรงที่รู้ว่าสงบ กับไอ้ตรงที่รู้ว่าไม่สงบ ตรงนั้นแหละคือความสงบที่แท้จริง

เพราะมันไม่มีอะไรตรงนั้น ตรงที่รู้น่ะ...ไม่มีความฟุ้งซ่านตรงนั้น ไม่มีความสงบหรือไม่สงบในตรงนั้น ...แต่ตัวมันเป็นเอกภาพ คือความเป็นหนึ่ง ในตัวของมันเอง คือความรู้นั่นแหละ 

ตัวรู้นั่นแหละ คือความสงบที่แท้จริง ...ตรงนั้นพระพุทธเจ้าถึงเรียกว่า นี่แหละเรียกว่าสงบ สันติ สงบและสันติ เป็นกลาง คือตัวผู้รู้ สงบ สันติ เป็นกลาง...อยู่ที่รู้

เพราะนั้นตัวของมันเองนี่ ไม่ต้องไปวิ่งหาความสงบ นั่งภาวนาหรือทำอะไรก็ตามที่เราพยายามวิ่งไปหา ...ความสงบนี่มันเป็นแค่อาการหรืออารมณ์ที่มาประกอบกับใจแค่นั้นเอง 

แต่ตัวที่รู้ว่ากำลังวิ่งหา ...ตัวนั้นต่างหากคือความสงบสันติ คือตัวรู้ ผู้รู้ ผู้ที่รู้อยู่

ตัววิ่งไม่สงบ ตัวความสงบก็ไม่เที่ยง ตัวความไม่สงบก็ไม่เที่ยง ความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง ...เหมือนเราวิ่งไล่จับเงาน่ะ ได้มาก็แค่นั้น พั้บ เดี๋ยวก็หาย  เบื่อ เกลียด ฟุ้งซ่าน ปุ๊บ ถามมันดิ ...ตอนนี้ฟุ้งซ่านยังอยู่มั้ย 

มันก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย จะไปเดือดร้อนอะไรกับมัน ...สุดท้ายมันวิ่งหาอะไรล่ะ วิ่งหาสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน

แต่สันดานมันอดไม่ได้ที่จะหา ...ก็ต้องรู้ มีทางแก้ทางเดียวคือรู้...ว่าอยากหา  พอรู้ว่าอยาก กำลังหา ปุ๊บ มันก็ไม่หา มันก็กลับมาอยู่ที่รู้ ใช่ป่าว  หาอีก รู้อีก อยากอีก...รู้อีกๆ เอาดิ

เหมือนหนังสะติ๊กน่ะ ยืดหนังสะติ๊ก ปึ้บ ยืดอยู่อย่างนี้ มันจะไปอยู่เรื่อย รู้ปุ๊บมันก็ยืด ...เอาจนขาดน่ะ ขาดแล้วก็...เออ เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู ปุ๊บ มันก็อยู่ที่นี่ ตั้งมั่นอยู่ที่คนคอยรู้อยู่ตรงนี้

เพราะนั้นแรกๆ นี่ ถ้าเรากำลังสมาธิตั้งมั่นอ่อน สติอ่อน มันก็ยืดแบบ...พอยืดปุ๊บ “ไม่ไหวแล้วค่ะ" มันก็จะยืดไม่ค่อยไหว ก็ปล่อยปึ้บ...ไปเลย ไปกับมัน 

เพราะนั้นตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ นี่ คือต้องตั้งมั่น...ตั้งมั่นอยู่ที่รู้อยู่บ่อยๆ  มันก็จะมีแรงเหมือนกับมันดึงให้เราเข้าไปอยู่ เหมือนกับยืดหนังสะติ๊ก ...เอาดิ ใครจะแน่กว่ากัน ยืดบ่อยๆ ยืดบ่อยๆ

อึดอัดนะ ขณะนั้นอึดอัดนะ ...อดทน ต้องอดทนนะ เพราะมีกระแสของตัณหาอุปาทานนี่มันจะเอาว่า “กูต้องเอาๆ” อยู่อย่างนั้นน่ะ  ...ก็ยืดเข้าไป คือรู้อยู่อย่างนี้...ยืด มันต้องหน่วง มันเหนี่ยว เห็นมั้ย 

"ทุกข์ไม่ต้องบ่น อดทนเอา" อยู่อย่างนี้ นี่หลวงปู่ท่านว่า ต้องอดทนอย่างนี้

เอาดิ พอถึงที่ปุ๊บนี่ หนังสะติ๊กนี่ยืดเข้าไปเหอะ ขาด เดี๋ยวก็ขาด   ขาดแล้วสบาย ไม่ยืดแล้ว ...แต่ไม่ใช่มันขาดแล้วขาดเป็นสมุจเฉท...  มันก็มียางเส้นใหม่ที่หนากว่า มาให้กูยืดอีก เข้าใจป่าว (หัวเราะ) 

ยังไม่จบๆ ...นี่คือนักปฏิบัติเบื้องต้น  แล้วมันมีอีกกี่เส้น ดีไม่ดีนะ ขณะเดียวกันมันมีตั้งหลายเส้น มันก็ "กูยืดไม่ไหวเลยแหละ กูยอมแพ้แล้วๆ" (หัวเราะ) เข้าใจป่าว 

ต้องอดทน ...นั่นน่ะคือความตั้งมั่น จะตั้งมั่นด้วยแรงกำลัง ...ไอ้นักปฏิบัติชอบหากันอยู่เรื่อยว่า "กำลัง" อยู่ตรงไหน จะเอากำลังตรงไหน  ...คือกำลังตั้งมั่นอยู่ที่รู้นี่ รู้บ่อยๆ แล้วมันตั้งมั่นอยู่ที่รู้เอง

ตรงนี้คือจะยืดหยุ่นกับมัน เพราะมันจะเป็นกระแสดึงดูด ...จริงๆ มันไม่ได้ดึงเราหรอก เราน่ะดึงมัน 

ใจนั่นแหละ อยาก...อยากด้วยความไม่รู้ อยากไปคลอเคลีย อยากไปกอด อยากไปได้ อยากไปมี หรือไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้มี แต่มันไม่ยอมไป อย่างเนี้ย สองอย่าง

ต้องอดกลั้น อดทน เบื้องต้น ไม่มีทางเลือก ไม่มีตัวเลือก ... รู้ตรงๆ ... เล่นจริง...เจ็บจริง ไม่มีแสตนด์อิน (หัวเราะกัน) 

ต้องเจอจริงๆ มันถึงจะจำ ...ใจมันถึงจะรู้จริงเห็นจริง แล้วมันจึงจะจำ ... เอาอะไรมาหลอก เอาอะไรมาสอนมันไม่เชื่อหรอก


โยม –  เล่นเอง เจ็บเอง

พระอาจารย์ –  ใช่ ต้องเจอ ...ไม่งั้นมันไม่เข็ด มันไม่หลาบ มันไม่หน่าย มันไม่เกิดนิพพิทา ...มันจะต้องเบื่อ เพราะเจออย่างนี้ ซ้ำซากๆ จน... “กูไม่เอาแล้วๆ” ทิ้งเลย มันจะทิ้งเลย

นั่นแหละ มันถึงจะขาด...เป็นเปลาะๆๆ เป็นเลาะ เหมือนเลาะเอ็นออกจากเนื้อ เลาะไปเรื่อยๆ เลาะไปเรื่อยๆ ความยึดยืดหยุ่นของมันนั่นแหละคือเอ็น ติดเนื้อหนังให้เป็นแผ่นเดียวกันอยู่ตลอด...ด้วยกระแสของอุปาทาน

ขยันเลาะหน่อย เลาะเอ็นเลาะพังพืดออกไป มันแรงยึดโยงนั่นแหละ คือกระแสความหน่วงของอุปาทาน ...เหมือนกับกระแสดึงดูดของโลก โยนของขึ้นไปนี่ ยังไงก็ตก ตราบใดที่ยังอยู่ในชั้นบรรยากาศ นี่คือเหมือนกระแส

เอาจนว่า ทะลุออกนอกอวกาศน่ะ ...ไปโยนของในอวกาศดิ ยังไงก็ไม่ตก  นั่นแหละ จิตที่หลุดพ้นแล้ว จากอำนาจการดึงของกระแสของตัณหาอุปาทาน เหมือนของที่ลอยในอวกาศ ไม่มีทางที่จะลงมาตกลงมาสู่ที่ต่ำเลย ...นั่นแหละ มันไม่มีแรงดึงดูด

เอามันจนหลุดพ้นน่ะ ...คำว่าหลุดพ้น ได้ยินกันบ่อย  มันหลุดพ้นยังไง ...ก็หลุดพ้นอย่างนี้ หลุดพ้นจากแรงดึงดูด หมดกระแสแรงดึงดูดของอำนาจตัณหาอุปาทาน

หมดเมื่อไหร่ก็เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ สบาย อิสระ ไร้กังวล ไม่ผูกพัน ไม่มีอะไรมาข้องมาแวะ มาเกี่ยว มาดึง มาหน่วง มาทำให้ไปทำให้มาได้ 

มันก็เป็นอิสระ เป็นเอกภาพในเอกภพ เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อยู่ในนั้นแหละ ...นั่นแหละใจที่แท้จริง ที่เราหากัน

แต่ตอนแรก หาตอนนี้ก็เจอแต่ผู้รู้ ...อย่าหนี ยังไงก็เจอ เผชิญหน้ากันกับมัน อยู่อย่างนั้น  ดูไปดูมามันก็ยังเป็นผู้รู้ มันก็ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่...ผู้รู้  ต่อไปต่อมาก็เหลือแต่รู้...ที่เป็นแค่รู้ ต่อไปก็เหลือแค่...มันเป็นอะไรก็ไม่รู้

แต่ตอนนี้ดูทีไรก็รู้ก็เห็น อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ  นั่นแหละ มันได้ที่สุดแค่นี้ก่อน  นั่นน่ะคือความเป็นจริง  พระพุทธเจ้าบอกให้รู้ความเป็นจริง เห็นความเป็นจริง ...ไม่เฟค ไม่เมค ไม่มีวุ้บขึ้นมาใหม่

ชอบหลอกตัวเอง นักปฏิบัติ โกหกตัวเอง ...อย่าโกหกตัวเอง โกรธคือโกรธ โง่คือโง่ เจ็บคือเจ็บ ติดคือติด ติดมากก็รู้ติดมาก ติดน้อยก็รู้ว่าติดน้อย  อย่ามาอ้างข้ออ้างแก้ตัว

เพราะนั้นการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้แล้ว อุชุปฏิปันโน...ตรง สุปฏิปันโน...ดี ตรง...จึงจะชอบ จึงจะเป็นทักขิเนยโย อัญชลีกรณีโย ...ควรแก่การอัญชุลีได้

ต้องตรง...ทุกข์คือทุกข์ ติดคือติด มีอารมณ์คือมีอารมณ์ ...อย่ามาบิดๆ เบี้ยวๆ อย่ามาเมค เฟค โกหก 

อย่าว่าแต่โกหกคนอื่นเลย บางทีตัวเองมันยังโกหกเลย ... "เฮ้ย ไม่น่าใช่หรอก ไม่ใช่หรอก มันเป็นอย่างอื่น ไม่ช้าย...ไม่ใช่" ... ก็มันเห็นอยู่ทนโท่ มันยัง “ฮื้อ มันไม่น่าจะอย่างนั้นมั้ง”

ตรงเข้าไปเหอะ อย่าอาย อย่ากลัวกิเลส อย่ากลัวสิ่งที่มันปรากฏ ...เพราะมันไม่ได้ดีหรือไม่ใช่ไม่ดี แต่คือความจริง  อยากเกิดปัญญาคือต้องเห็นตามความเป็นจริง ...ไม่ต้องกลัว 

แล้วมันก็ค่อยๆ เข้าใจของมันไปในทุกกระบวนการ

เอ้า ฟังเยอะแล้ว พอแล้ว เข้าใจอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องทำๆ ...สติ อย่าขาด ตั้งใจขึ้นมา ทำงานก็ทำได้ ดูได้ อย่ามาอ้าง ...กายมีอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจยังมี ทำไมยังไม่หยุดล่ะ

เอาแล้ว ไม่ต้องรับพร ...ทุกคนมีพรอยู่ในตัว หาให้เจอ ... ใจนั่นแหละเป็นพรอันประเสริฐ หาใจเจอเมื่อไหร่ก็จบ มีทางจบ มีทางออก ... แต่หาใจไม่เจอ ไม่มีทางจบ ไม่มีทางออก  

ถ้าเจอใจแล้ว ไปได้หมด ...แล้วก็เลือกเอา จะไปในภพไหนภูมิไหน หรือไม่มีภพไม่มีภูมิ ไปได้ทั้งนั้นน่ะ  ใจเป็นตัวกำหนด ...พรมีทุกคน หาให้เจอ

โยม – สาธุ

…………………



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น