วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/21 (3)


พระอาจารย์
3/21 (540219A)
19  กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/21  ช่วง 2 
http://ngankhamsorn3.blogspot.com/2016/09/321-2.html )

พระอาจารย์ –  แต่ว่าในลักษณะที่ให้ดูกายนี่ เราไม่ได้ให้ดูเหมือนกับสมถะ คือต้องไปคิดพิจารณาแยกแยะออกเป็นส่วน นี่คือนั่น นั่นคือนี่ หรือเอาสมมุติมาเป็นแบบอะไร

ก็ดูไป...แบบใช้สติเข้าไปดูตรงๆ ดูที่ความรู้สึก ...แล้วก็ให้แยบคายตรงนั้น ว่ามันเป็นตัวเป็นตนมั้ย มันมีตัวมีตนที่แท้จริงของมันมั้ย 

แม้กระทั่งว่าไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์กับมันแล้วก็ตาม ก็ต้องรู้อยู่อย่างนั้นว่ามันเป็นตัวเป็นตนมั้ย 

เพราะในลักษณะหนึ่งของไตรลักษณ์ที่ยังไม่แจ้งในทุกอริยะบุคคลเลยก็คือ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตน

อันนั้นเป็นที่สุดของธรรม ที่สุดของอาสวักขยญาณ ...ถ้าไม่เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอัตตาในนั้น ไม่มีมันในเรา ไม่มีเราในมัน อย่างเนี้ย 

ตัวมันก็ไม่มีอะไรในตัวมัน ...มันมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีใครเป็นผู้บังคับบัญชากำหนดกะเกณฑ์กฎเกณฑ์มันได้เลย 

นั่นน่ะ ถึงว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตนอะไร

เพราะนั้น แม้กระทั่งรู้กายเห็นกาย ก็ต้องเห็นว่ามันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดดับๆ อยู่ ...แม้กระทั่งไม่ไปสุขไม่ไปทุกข์กับมันแล้ว ก็ยังเห็นว่ากายนั้นเกิดดับ หาตัวตนที่แท้จริงไม่มี...ไม่มี

กายก็กลายเป็นของล่องลอย ...ต่อไปนี่ เมื่อเห็นล่องลอย หรือว่าไม่มีตัวไม่มีตนปุ๊บนี่ มันว่างหมดแหละ มันเดินไปบนความรู้ เดินๆๆ ทำอะไรก็ทำไปโดยความว่างเปล่าน่ะ ไม่เห็นกายไม่เห็นใจเลย

ทำไปงั้นน่ะ มีแต่รู้ ไม่มีกายๆ ...ไม่มีจิต ไม่มีความรู้สึกไปสมมุติกับกายกับใจเลย ...นั่นน่ะเห็นความไม่มีตัวตนของกายจริง จะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งหรือไม่เป็นสิ่งใดแล้ว...ไม่มีเลย

เพราะนั้นในลักษณะของการเจริญปัญญานะ มันจะเหมือนไม่เป็นขั้นตอน มันสามารถจะแลบไปเห็นสภาวะของความไม่มีไม่เป็นที่สุดก็ยังได้ เข้าไปแลบเห็นน่ะ แล้วก็ถอยแลบกลับมาสู่สภาวะปกติอีก 

เพราะนั้นอย่าไปเอาขั้นเอาภูมิมาเป็นตัววัด ...ทิ้งไปได้เลย นะ ...ปัญญามันสามารถเข้าไปหยั่งถึงได้หมด  คือเข้าไปสังเกตการณ์ในภาวะข้างหน้าได้

เพราะนั้น ทำไปทำมา มันจะรู้ได้ด้วยตัวของมันเองว่า กูจะทำอะไรต่อไปวะ...ซึ่งมันอาจจะช้าหน่อย ...แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยกำกับ หรือคอยชี้แนะว่านี้ๆๆ มันก็จะไวขึ้น ไม่เนิ่นช้า

แต่ว่าถ้าบอกว่าโดยตัวของมันเองนี่ มันสามารถจะรู้เลยว่าจะต้องทำยังไงต่อ ด้วยตัวของมัน ...ไม่ต้องอาศัยว่าผิดมั้ย ถูกมั้ย มันจะรู้เลยอย่างนี้ มันจะรู้ว่าอย่างนี้

เช่นว่า ดูไปดูไป มันก็จะจับเหตุจับผิดได้ว่า...เอ๊ รู้มันหายไปได้ยังไง ...มันก็จะเข้าไปจับว่าเหตุที่รู้หาย มันหายตอนไหน อย่างนี้ มันก็จะสืบสาวราวเรื่องได้เองว่าเหตุที่เกิดทุกข์คืออะไร

แล้วมันดับไปตอนไหน ใจดวงนี้มันหายไปตรงไหน สติมันหายไปตอนไหน สมาธิมันหายตอนไหน มันไม่ตั้งมั่นแล้วมันไปหายอยู่กับอารมณ์ไหน ภพไหน ...มันก็สืบสาวราวเรื่อง 

มันก็จะไปจับเหตุ...อ๋อ มันก็แก้...ทางออกก็แก้ตรงที่เหตุที่เกิดทุกขสมุทัยขึ้นมา แก้ไปเรื่อยๆ ...จนเหลือสมุทัยตัวต้น ตัวเดียว จากนั้นก็เหลือแต่ใจรู้ล้วนๆ แล้ว 

เพราะนั้นเมื่อใดที่ใจรู้โด่เด่ ...นั่นน่ะคือโคตรสมุทัย


โยม –  พระอาจารย์ สุดยอดเลย  เคยไปเล่าให้เจ้านายฟังเรื่องพระอาจารย์ ท่านก็สนใจนะ  ท่านตั้งเป้าว่า ชาตินี้ท่านต้องเอาโสดาบันให้ได้

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่า...บอกเจ้านายไปเลยว่า ถ้าอยากได้โสดาบัน ให้ดูที่ความรู้สึกตัวบ่อยๆ ดูเข้าไปเหอะ ดูความรู้สึกตัว เย็นร้อนอ่อนแข็ง ขยับเคลื่อนเลื่อนไหว

ดูแบบไม่ต้องไปดูว่ามันเป็นกาย หรือว่าเป็นชายเป็นหญิง ดูที่ความรู้สึกตัว ดูเข้าไป แล้วดูไม่นานหรอก เดี๋ยวก็เข้าใจเองว่า...กูไม่เอาแล้วโสดาบัน ...เอาอรหันต์ดีกว่า (หัวเราะกัน)

ดูไปดูมา แล้วบอก...เอ๊ย ตอนแรกกูว่ากูจะเอาแค่โสดาบัน เนี่ย จะเอาโสดาบันทำไม กูเอาอรหันต์ดีกว่า ...ไอ้ตอนคิดแรกๆ น่ะ มันดูเหมือนยาก

บอกว่าให้ดูกายไปเถอะ ดูความรู้สึกตัว รู้ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดมากเลย รู้ธรรมดาเนี่ย ยืนเดินนั่งนอน ดูความรู้สึกตึงๆ อ่อนๆ แข็งๆ ไหวๆ หยุ่นๆ กระเพื่อมๆ นิ่มๆ เบาๆ หนักๆ แท่งๆ  ก้อนๆ

ดูมันเข้าไป เดี๋ยวก็เห็นเองว่ามันมีกายตรงไหนวะ มันเป็นเราตรงไหนวะ ...มันเป็นแค่ความรู้สึก แค่นี้เอง กายจริงๆ เป็นแค่ความรู้สึก แค่นั้นเอง

มันไม่มีชายหญิง ไม่มีว่าเป็นชายเป็นหญิง เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นสวย เป็นไม่สวย ...ไม่ต้องไปพิจารณาอสุภะอะไร ดูในความรู้สึกตัว มันจะมีสวยมั้ย มีไม่สวยมั้ย...ไม่มี

ชาย-หญิงยังไม่มีเป็นเลย ...ไอ้เรียกว่าสวย-ไม่สวย  สุภะหรืออสุภะนี่  พวกนี้เป็นสัญญา จริงๆ มันเป็นแค่สัญญาหรือความจำ ความจำได้หมายรู้แค่นั้นเองนะ

แต่ถ้าดูไปตรงๆ โดยไม่อาศัยความจำ ไม่เอาความปรุงเข้ามานะ กายนี่เป็นแค่อะไรไม่รู้ ...เราถึงบอกว่าไอ้ใบ้น่ะ เป็นไอ้ใบ้ ไม่มีความหมาย

มันไม่มีนิมิตหมายในตัวของมันเองเลยด้วยซ้ำ เป็นธรรมชาติหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ แล้วก็ดับไป  แล้วก็ปรากฏใหม่ แล้วก็ดับไป ...เนี่ย ดูแค่นี้

สมัยก่อน ทำไมฟังเทศน์พระพุทธเจ้ากันนี่  ฟังมาเป็นร้อยคนพันคน ฟังปุ๊บนี่ หลุด โสดาบันตั้งแต่ขณะนั้น ลุกออกมานี่สำเร็จโสดาบันเป็นเทือกเลย ...ทำไมง่ายจัง เห็นมั้ย

ทำไมเดี๋ยวนี้มันฟังมาหลายครั้งแล้ว มันยังหงำเหงอะอยู่อย่างเงี้ย (หัวเราะกัน) ยิ่งฟังมันยิ่งจมโคลนไปเรื่อยน่ะ ...เพราะอะไร ...เพราะมันฟังแล้วมันคิดมาก

ฟังแล้วคิดมาก ฟังแล้วไปวิเคราะห์ ฟังแล้วไปเทียบเคียง ฟังแล้วสงสัย ฟังแล้วลังเล ฟังแล้ว...อย่างงั้นมั้ง อย่างงี้มั้ง เคยทำมามันไม่ใช่อย่างงี้อ่ะ ฟังไม่เหมือนอย่างงั้น ไม่เข้า...ไม่เหมือนที่เราคาดไว้

คนสมัยโบราณนี่ เขาไม่มีความรู้ ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มีหนังสือหนังหาอ่าน ...อ่านหนังสือยังไม่ออกเลย มีแต่ฟังมา แล้วก็บางคนไม่เคยรู้จักพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำ เขาชวนกันไปก็ไป ก็ไปฟัง

แล้วก็ว่านอนสอนง่าย ...ท่านบอกดูไปรู้ไป กายเป็นอย่างเนี้ย ดูไปรู้ไป ...ก็ดูตรงนั้นเลย ก็...เออ จริงแฮะ

เนี่ย ไม่คิดอะไรเลย ดูแบบไม่คิดอะไรเลย...ก็เข้าใจ ...แต่ก่อนเคยว่ากูเป็นผู้หญิงกูเป็นผู้ชาย ดูไปดูมา มันก็ไม่เห็นเป็นผู้หญิงผู้ชายตรงไหน...โพะเลย แค่นี้ ไปยากอะไร

แต่ไอ้พวกเรานี่ มันก็เห็นนะ แต่...เอ๊ ใช่รึเปล่าวะ (หัวเราะกัน) มันต้องไอ้นั่นรึเปล่า  มันอยู่ในโลกนะ นี่เดี๋ยวมันก็มีนะเป็นผู้หญิงผู้ชาย มันต้องอย่างงั้นนะ 

เนี่ย เอาแล้วๆ ...แทนที่จะทิ้งความสงสัย แทนที่จะยอมรับตามความเป็นจริง...เท่าที่เห็น เท่าที่มี ...มันก็เลยถอยกลับมาอีก กลับมาค้นคว้ากันต่ออีก

แล้วก็มานั่งค้นคว้ากัน ...ภาวนาไปค้นคว้าไป ภาวนาไปเปิดตำราไป ภาวนาไปฟังไป  มันจะเหมือนกับที่เราทำมั้ย มันจะตรงกับที่เราเข้าใจมั้ย อะไรอย่างนี้

คอยสอบทาน เทียบเคียงอยู่อย่างนี้ กับธรรมบทนั้น ข้อนี้ วรรคนี้ องค์นั้นองค์นี้ ...แต่ละคนนี่มันมีครูบาอาจารย์ไม่รู้เกือบเท่าไหร่แล้ว หากันไป แต่ละอาจารย์ก็สอนกันไป

เพราะนั้น เวลาดูหนังดูทีวี เวลาฟังเพลงนี่ ...วิธีง่ายๆ ว่าหลงหรือไม่หลง คือให้กลับมาดูว่า เห็นตัวกำลังนั่งฟังยืนฟัง นอนดู นอนฟังมั้ย ...กลับมาดูที่ว่า นี่ กำลังอยู่ในท่านั่ง มีคนนึงที่นั่งดูนั่งเห็นอยู่มั้ย อย่างนี้ 

ถ้าดูแล้วหันรีหันขวาง กายกูอยู่ไหนหายไปหมด ให้รู้ไว้เลยว่าหลง ...แต่ถ้ายังดูในลักษณะที่ กูกำลังนั่งดูอยู่โว้ย มีคนนั่งอยู่บนเก้าอี้ดู รู้สึกว่ากำลังนั่งเก้าอี้ดู อย่างเนี้ย เขาเรียกว่าดูแบบพอมีสติหน่อย


โยม –  แต่ก็จะให้ตั้งมั่นอยู่ยาก

พระอาจารย์ –  ยาก สำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึก ...เพราะนั้นในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติเรื่องศีลนี่มา ศีลที่ว่าห้ามดู ห้ามเผลอเพลินประโคมดนตรี เพราะมันเป็นจุดที่สติไหลได้ง่ายมาก 

เพราะนั้น มันก็เป็นเรื่องของสติทั้งนั้นน่ะ ...แล้วมันจะค่อยๆ แยบคาย ...เมื่อเข้าใจหลัก เข้าใจหลักแล้วนี่ ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ เหมือนกัน

พอไม่ดูทีวีนั่นแล้วก็มาดูจอใหญ่ อันนี้ใหญ่ยิ่งกว่าโปรเจ็คเตอร์อีก เอาตาเราก็เป็นแก้วตา ข้างนอกนี่ก็เป็นจอวายสกรีนสามมิติ หกมิติ ...มันก็ไม่ได้แตกต่างจากโทรทัศน์หรอก

เนี่ย นั่งดู ตัวละครทั้งนั้น เล่นบทเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เป็นชายเป็นหญิง ...แล้วก็ไปๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยนซีนใหม่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนบทใหม่ chapter หนึ่งๆ อย่างนี้

โลกนี้คือละคร...ล้วนๆ เลย คือละครโรงใหญ่ ...แต่ถ้าไม่มีสติว่านั่งดูละครอยู่ มันก็เข้าไปเล่นอยู่ในโรงละครของโลกน่ะ ตายแล้วก็ยังอินเนอร์อยู่เนี่ย ...อยู่ใน chapter ไหนก็ไม่รู้

อายตนะทั้งหก มันเป็นแค่นิมิต เนี่ย โลกนี้ทั้งหมดคือนิมิต ...มันรับรู้โดยผ่านส่งเข้ามาสู่ใจเป็นภาพของนิมิต เสียงก็เป็นนิมิต รูปก็เป็นนิมิต กลิ่นก็เป็นนิมิต รสชาติ สัมผัสก็เป็นนิมิต

พวกนี้เป็นนิมิตทั้งหมด ...ทีนี้มันมากระทบกับอายตนะ แล้วใจก็รับนิมิตนั้น แล้วก็ตีความแปลความออกมา


โยม –  หลวงพ่อคะ ถ้าสมมุติว่าเราคุยกับเขาอยู่ แล้วคุยไปคุยมาก็เหมือนจะรู้เรื่อง แล้วเหมือนกับมันไม่รับรู้เสียงอะไรเลย ต้องถามเขาอีกทีว่าเมื่อกี้พูดอะไร อย่างนี้สติมันหลุดรึเปล่าคะ คือไม่ได้ยินเสียงขึ้นมาเฉยเลย อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  คราวนี้ว่าเรื่องน่ะมันเป็นเรื่องสำคัญรึเปล่า


โยม –  ก็ไม่สำคัญ

พระอาจารย์ –  ไม่สำคัญก็ช่างหัวมัน ...แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่จำเป็น เราจะต้องกำกับสติลงไปให้ชัดเจนกว่านั้น  แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ผ่านไปเลย ทิ้งมันไปเลย

แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องรู้ชัดลงไปตรงนั้น ต้องรู้ชัด ต้องเน้น เน้นสัญญาลงไป เน้นว่าต้องจำนะ

คือลักษณะที่รู้ผ่านๆๆ เนี่ย จริงๆ น่ะมันไม่ต้องเก็บอะไรหรอก ไม่จำเป็นต้องจำด้วยซ้ำ ...แต่บางครั้งต้องอาศัยความจำเพื่อมาใช้ในการงาน หรือว่าในการทำอะไร

ก็ต้องย้ำสัญญาลงไป ต้องย้ำตรงบทนั้นน่ะ วรรคนั้น ตอนนั้น ภาพนั้น มันหยิบอะไร วางอะไร ย้ำไว้ “อย่าลืมนะๆ” อะไรอย่างนี้ ต้องย้ำสัญญาลงไป

แต่ถ้าไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ ช่างหัวมัน ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่ต้องคิดมาก แค่นั้นเอง ...มันไม่ได้ผิด ไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์หรอก แต่ว่าเป็นลักษณะของจิตที่รู้ผ่านแล้วไม่จดจำ

แต่บางครั้งเราต้องอาศัยการจดจำในสมมุติบัญญัติ...เพื่อโลก เพื่อการงาน เพื่อการสัมผัสผู้คน ก็ต้องมีการสมดุล ก็ต้องย้ำสัญญาลงไป

แต่ย้ำเพื่อจะให้จำ ไม่ใช่ย้ำเพื่อให้มาเป็นอุปาทาน ...มันก็จะเข้าใจเองว่าย้ำอุปาทาน กับย้ำแบบไม่ให้คนเขาด่าน่ะ มันคนละเรื่องกัน

แต่ถ้ารับได้ก็...ใครจะด่า ใครจะว่า...ทิ้งหมด ไม่สนใจ โง่เข้าไว้ ...จำก็ได้ ไม่จำก็ได้ ช่างมัน ผ่านไป ...กลับมาเรื่อยๆ เรียนรู้ไป


(ต่อแทร็ก 3/22)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น