วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/17 (1)



พระอาจารย์
3/17 (540205A)
5 กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ฟังกันมาเยอะแล้ว ฟังกันจนล้นไปหมดแล้วธรรมะ...แต่ทำน้อยนิดเดียว

โยม –  ว่าแล้วเชียว (หัวเราะกัน) ..ว่าแล้วเชียว


พระอาจารย์ –  รู้ธรรมนี่ไกลเกินนิพพาน แต่ละคน (โยมหัวเราะ) รู้แจ้ง...แต่ไม่เห็นจริง

มันสำคัญ...การปฏิบัติ  มันอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ...ถ้าตั้งใจจริงๆ ทำจริงๆ จังๆ มันก็ไม่เนิ่นนานเนิ่นช้าอะไรหรอก ...แต่มันไม่ตั้งใจกันไม่จริง หลุดๆ ลอกๆ ร่อนเร่พเนจรไปในสังสารวัฏ

อย่าให้มันออกนอกกาย...ทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลา ให้มันวิ่งวนอยู่ในกายนี่แหละ ...อย่าให้มันลอดออกไป ลอดช่อง ลอดใต้ถุนเรือนออกไปเรื่อยอ่ะ...ใจ

หลงไปในอดีตในอนาคต หลงไปกับความคิด หลงไปกับความสุขความทุกข์ หลงไปกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องบุคคลนั้นบุคคลนี้ ...หลงกันในสิ่งที่มันไม่เป็นสาระแก่นสาร ไม่ยอมกลับมา

เอาให้มันไม่หลุดรอดไปจากกายอันนี้ให้ได้ หลงไปตรงไหนก็ต้องรีบรู้เท่าทัน...แล้วก็จะได้กลับมาอยู่ในปัจจุบัน ...จิตมันอยู่ในอาการไหนก็ให้รู้

มันหลงไปกับอะไร รู้ปุ๊บ ละทิ้ง อย่าเสียดาย อย่าอาลัย ...หลงกับความคิด พอรู้ว่าคิดปุ๊บ ทิ้งเลย อย่าคิดต่อ กลับมารู้กายปัจจุบันเป็นหลัก

ตัดมันแบบ...วางมันลงไปแบบหน้าด้านๆ น่ะ ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์มันหรอก ทิ้งบ่อยๆ จะได้มีนิสัย “ละ” มีนิสัย “ทิ้ง” ...มันจะได้เลิกละไอ้นิสัยก่อเกิด ลุ่มหลง มัวเมา

จิตใจมันจะได้เข้มแข็งขึ้น ตั้งมั่นขึ้น ไม่เอ้อระเหยลอยชายวนไปวนมาอยู่ในสังสารวัฏ

จิตที่มันวนไปวนมา มันไม่จบไม่สิ้น มันไม่มีทางจบไม่มีทางสิ้น ...เดี๋ยวก็มีเรื่องใหม่ เดี๋ยวก็มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นแค่อาการความคิดความปรุงแค่นั้น มันก็จะหยุดอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็เห็นขันธ์น่ะ มันเป็นแค่อาการเกิดดับสลับกันแค่นั้นแหละ

เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ไม่มีสาระแก่นสารอะไร อาการของนาม อาการของรูป ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ มันก็แค่เป็นปัจจัยที่มาประกอบกันชั่วคราว

ไม่ว่าจะเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นนาม ไม่ว่าจะเป็นเวทนา สัญญา สังขาร  ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้กลิ่น ได้รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง น่ะ มันแค่เป็นเหตุปัจจัยมาประกอบกันขณะหนึ่งๆ 

นั่นน่ะ แยกออกให้มันเห็นความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ให้มันเกิดปัญญา มันจะเกิดความรอบรู้ในขันธ์ ๕ มันไปหลงกับอะไร หลงกับภาพ หลงกับรูป หลงกับกาย หลงกับนาม หลงกับความคิด

ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นแค่ปัจจัยปรุงแต่งรวมกันแค่ขณะ ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็เปลี่ยน แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดใหม่ มันไม่จีรังยั่งยืนอะไรหรอก

มันหมุนเวียน ผันเปลี่ยน แปรปรวน สลับไปสลับมา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หาความเป็นตัวเป็นตน หาที่ตั้งที่แน่นอนก็ไม่มี

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สุข ทุกข์ น่ะ จับต้องได้ไหมล่ะ หยิบจับฉวยยังไม่ได้เลย หารูปลักษณ์ตัวตนที่แท้จริงมาดูก็ยังไม่ได้เลย ...นี่ ความไม่มีตัวตน

อย่าไปเผลอเพลินกับมัน ไปหลงในอุปาทาน ไปหมายมั่นในสิ่งที่แม้กระทั่งตัวมันเองก็ยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นอะไร

ตัวมันเองก็เป็นธรรม แสดงความเป็นธรรมอยู่ด้วยการแสดงอาการที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ...ไม่ต้องไปฆ่าไม่ต้องไปประหารมันหรอก มันตายอยู่ในตัวของมันเองขันธ์น่ะ

ก็ศึกษากับมันไป ดูมัน รอบรู้กับมัน จนแจ้งในขันธ์ ๕ ว่ามันไม่มีอะไร เป็นแค่การรวมกันตามเหตุปัจจัยขณะหนึ่งๆ

แต่เมื่อใดที่เผลอ เพลิน หลง เมา...ว่ามันเที่ยง ว่ามันมีตัวมีตน ว่ามันจับต้องได้เมื่อไหร่ ...เมื่อนั้นกิเลสเกิด...ราคะบ้าง โทสะบ้าง ปฏิฆะบ้าง โลภะบ้าง ...มันจะเกิดตามมา

เพราะนั้นกิเลสมันก็คือการปรุงแต่งอีกส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่รู้...ไม่รู้ว่าขันธ์ไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ฟัง นี่ไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าข้างหน้าอดีต-อนาคตน่ะมันไม่มี

แต่เพราะความไม่รู้ เพราะความหลงเผลอเพลิน มันไปหมายเอาข้างหน้า...ว่ามันมี ว่าต้องมี ว่าควรมี ว่าไม่ควรมี แน่ะ ไปหมายมั่นเอาสิ่งที่ยังไม่เกิดว่าเป็นของที่เที่ยง จับต้องได้

เหมือนกับเป็นของกินที่มันจะไปกลืนกินกับสิ่งนั้น เข้าใจว่ามันจะอิ่มท้อง...เมื่อนั้นแหละ กิเลสจะตามมา ด้วยความโง่ ด้วยความไม่รู้

ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี่จับต้องไม่ได้ เหมือนอากาศธาตุน่ะ เหมือนความว่าง ตัวมัน...น้ำหนักตัวมันเองยังไม่มีเลย

เพราะนั้นถ้าหลงเผลอเพลินเมื่อไหร่ปุ๊บ มันก็จะก่อให้เกิดกิเลสมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ...โลภะก็มากขึ้น ราคะก็มากขึ้น โทสะก็มากขึ้น ยินดียินร้ายก็มากขึ้น

ความขัดข้องหมองใจก็มากขึ้น ความขุ่นมัวก็มากขึ้น ความเศร้าหมองก็มากขึ้น เพราะไปหมายในสิ่งที่มันไม่มีตัวไม่มีตน

ดิ้นรน ขวนขวาย กระวนกระวาย กระสับกระส่าย กระเสือกกระสน เหมือนปลาหมอแถกเหงือกบนพื้นแห้งๆ สุดท้ายก็โดนแดดเผาตาย ...ตายแล้วมันก็ยังไม่เข็ดอีก เอาอีก เผลอเมื่อไหร่เอาอีก กิเลสเกิด

ทั้งนี้...ให้เท่าทัน เห็นขันธ์ตามความเป็นจริงบ่อยๆ คือเห็นความดับไปของมัน ความไม่มีตัวความไม่มีตน ความไม่มีที่ตั้งที่หมาย ความที่ว่าเกิดขึ้นชั่วคราว ความที่มันแปรเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

นี่ ให้รู้เห็นบ่อยๆ มันจึงจะไปสอนใจให้ฉลาด ไอ้ใจโง่หรือไอ้ใจไม่รู้น่ะ คืออวิชชานั่นแหละ ...ไอ้ดวงจิตที่รู้นั่นแหละ แต่มันเป็นดวงจิตของอวิชชา มันยังไม่รู้จริง

ก็ต้องให้มันเห็นความเป็นจริงของขันธ์บ่อยๆ เกิดดับในปัจจุบันๆๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง ขยับ เคลื่อน ความคิด อารมณ์

ดูอาการตั้งอยู่ของมัน ดูอาการดับไปเองของมันบ่อยๆ มันก็จะไปสอนใจให้มันฉลาดขึ้นมาเอง เพราะนั้นคือให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์

ตรงนั้นแหละเรียกว่าปัญญา ตรงนั้นน่ะถึงจะเอามาฟาดฟัน หรือว่าทำให้เกิดความจางคลาย เมื่อมันเห็นไตรลักษณ์บ่อยๆ มันจะเกิดความจางคลาย

จางคลายอะไร อะไรจางคลาย ...กิเลสจางคลาย ...ก็มันเห็น ...แต่ก่อนมันเคยเห็นว่ามันเที่ยง มันก็เห็นว่าไม่เที่ยงแล้วเดี๋ยวนี้ กิเลสมันจะเกิดได้ยังไง  

กิเลสมันจะเกิดจากความหมายมั่น ...รำคาญ หงุดหงิด ไม่พอใจ เป็นเพราะอะไร ...เป็นเพราะมันต้องการหาไอ้ที่พอใจอยู่ข้างหน้ามาแทนตรงนี้อ่ะ

นั่นน่ะคือความเที่ยง นั่นน่ะคือภพข้างหน้า นั่นล่ะคือความเป็นตัวเป็นตน ของที่มันจะกินข้างหน้า

แต่เมื่อเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมันบ่อยๆ มันจะไปหมายอะไร โกรธมันจะโกรธได้ยังไง โลภได้ยังไง โทสะมันจะมีตรงไหน มันก็มีอยู่ในปัจจุบัน เห็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ อ๋อ ก็แค่นั้นเอง

เมื่อเห็นปัจจุบันดับบ่อยๆ มันก็ไม่มีหรอก อดีตอนาคตน่ะ กิเลสมันก็จะจางคลายของมันไปเอง ไม่ต้องไปละ ไม่ต้องไปฆ่า ไม่ต้องไปฟัน มันไม่มารบกวนจิตใจหรอก

แต่ในขณะแรก ด้วยความไม่รู้เท่าทันเมื่อกิเลสเกิด โกรธ หลง ขุ่น พอใจ ไม่พอใจ ...ไม่ต้องทำอะไร อดทน รู้เฉยๆ สอนมันซะมั่ง เสือกโง่ดีนัก ต้องรับวิบากไป อย่าไปประกอบเหตุใหม่ อย่าหนีมัน

เมื่อเราไม่ประกอบเหตุขึ้นมาอีก ด้วยการเข้าไปแก้ เข้าไปแทรกแซง เข้าไปเพิ่ม เข้าไปตัด เข้าไปลด เข้าไปละ เข้าไปดับ เข้าไปหนี 

ไอ้เหตุปัจจัยที่เคยสร้างมาก่อนกับสิ่งที่ถูกรู้ เคยคาดเคยฝัง มันก็เท่ากับความโกรธที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ

และเมื่อไม่สร้างเหตุใหม่ขึ้นมาอีก ด้วยการกระทำหรือเจตนาใดๆ ต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าของใจ มันจะหมดเหตุปัจจัยของมันไปเองแหละ ในอารมณ์นั้น ในกิเลสตัวนั้นๆ

แต่ต้องอดทนเสวยวิบากไป แห่งความโง่เขลา มันจะได้จำ หลงอีกจะได้เข้าใจ ว่าถ้าหลงอีกจะเจอทุกข์อย่างนี้ ทุกข์อุปาทานนี้ ทุกข์จากความหมายมั่น ในสิ่งที่มันยังไม่มีไม่เป็น แต่ว่าเป็นจิตที่คาดไปในอดีตและอนาคต

เสวยทุกข์นั้น เรียนรู้กับทุกข์นั้น ...มันจะได้จดจำ มันจะได้ไม่ทำอีก มันจะได้ไม่หลงไม่เผลอไม่เพลินไปกับความเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ

จิตมันเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ไหลไปไหลมากับอะไรก็ไม่รู้ ไม่เป็นสาระ ฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่ตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียว...ในปัจจุบัน

ที่อันเดียวน่ะคือปัจจุบัน ความเป็นจริงมันมีอยู่ที่เดียวคือปัจจุบัน ... ปัจจุบัน...ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏแหละ คือความจริง คือทุกขัง คือทุกขสัจ  

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจมีความคิดมีความสุขมีความทุกข์ ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาให้รับรู้ในปัจจุบัน นั่นเรียกว่าทุกขัง ทุกขสัจหรือว่าทุกขัง 

ถ้าเป็นพระอริยะท่านก็เรียกว่าทุกขัง อริยสัจจัง คือท่านรับรู้ด้วยความเป็นกลาง มันต้องเป็นอย่างนั้น ท่านไม่เดือดร้อนกับทุกขัง เพราะท่านเห็นว่าเป็นธรรมดา

เมื่อรับรู้ด้วยความเป็นธรรมดากับทุกขังที่ปรากฏ ไม่ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสก็ตาม 

เมื่อยอมรับด้วยความเป็นอาการปกติธรรมดา ไม่ไปประกอบเหตุขึ้นมาใหม่กับสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปถามหาทุกข์อุปาทานหรอก มันไม่เกิด ... มันไม่มีช่องว่างให้เกิด

แต่ของพวกเรานี่มันเจอสองเด้ง ทุกขสัจก็เจอ แล้วก็มีทุกข์อุปาทานมาโถมทับอีก ...แล้วมันแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นทุกข์อุปาทาน อันไหนเป็นทุกขสัจ

มันก็เลยเรียกไม่ได้ว่าเป็นทุกขัง อริยสัจจัง ...มันมีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่อะไรๆ ก็เป็นทุกข์ ซึ่งมันแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นทุกข์จริง อันไหนเป็นทุกข์ไม่จริง 

เพราะโง่ เพราะไม่มีปัญญา เพราะจำแนกไม่ออก ...หูได้ยินเสียง แก้ได้มั้ย ...นี่ทุกขังนะ นี่ความเป็นจริงนะ  ...แต่ถ้าไม่พอใจนี่อุปาทานเกิด

เกิดยังไง ...ไม่พอใจ โกรธ ปฏิฆะ เพราะไปหมายเอาว่าเมื่อไหร่มันจะดับ นี่เกิดล่วงไปในอนาคตแล้วคืออุปาทานหมายมั่น จึงเกิดโทสะหรือปฏิฆะตามมา 

แต่ถ้ารับรู้ว่ามันเป็นทุกขัง เป็นธรรมดา หูต้องได้ยินเสียง เสียงนี้เลือกไม่ได้ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครบงการ มันมีเหตุปัจจัยให้เกิด หมดเหตุปัจจัยมันก็ดับของมันเอง ไม่มีใครบังคับให้มันดับได้

นี่มันก็เถียงอีก ว่าเดี๋ยวกูไปด่ามันก็หยุด ...นี่นิสัยคนมันชอบหาช่องทางรอด หาทางเอาตัวรอด หาทางเอาตัวรอดจากทุกขัง เพื่อให้เกิดทุกข์ตัวใหม่ที่เป็นอุปาทานคือสุขขัง คือความพอใจ

มันโง่สองเด้ง...แล้วมันยังโง่อีกหลายเด้งตามกันมา โง่มันก็เลยทับถม อวิชชาเลยทับถม ทับถมด้วยความไม่รู้ เพราะมันเข้าใจว่ากูทำได้ กูแก้ได้

"กูแก้แล้วอ่ะ มึงอ่ะโง่ มึงไม่ไปพูดไม่ไปสั่งไม่ไปสอนมัน มึงก็ฟังเสียงไปสิทั้งวัน กูนี่ถ้าได้ยินเมื่อไหร่เห็นเมื่อไหร่ กูไปพูดไปด่าไปบอกมันปุ๊บ มันหยุดทันทีเลย" ...นี่เห็นมั้ย มีความสุข

ด้วยความไม่รู้ มันทำแล้วมันได้ผล มันจึงเกิดเป็นมานะทิฏฐิว่ากูทำได้ เห็นมั้ยๆ เที่ยง มันต้องทำอย่างนี้สิ ...นี่ ฉลาด มันคิดของมันเองนะว่าตัวมันฉลาด ไอ้คนที่ไม่ทำอะไรเลยอยู่เฉยๆ นี่โง่

แล้วก็ อ่ะ..พอได้เวลาก็มานั่งพุทโธๆ ต่อ เงี้ย มันก็คงสำเร็จเข้าสักวันหรอก (หัวเราะ) แต่ไม่รู้พระพุทธเจ้าองค์ไหน (โยมหัวเราะ) ...คงไม่ทันพระโคดมนี่หรอก

เพราะงั้นต้องแยกให้ออก ไอ้ที่ท่านให้ละทุกข์ หรือว่าทุกข์นั้นจะดับไปน่ะ คือทุกข์อุปาทาน ...แต่ทุกขสัจนี่ไม่ดับ มีแต่เกิด ตั้ง แล้วก็ดับของมันเอง ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับมัน

อย่าไปเชื่อคำปรุงแต่งที่มันจะคอยอ้าง คอยบอก คอยแก้ตัวแก้ต่าง ...ด้วยความไม่รู้มันก็จะสร้างทิฏฐิความเห็นขึ้นมาเรื่อยๆ แต่หารู้ไม่ไอ้ทิฏฐิความเห็นนั้นน่ะท่านเรียกว่ามิจฉา

เพราะมันออกมาจากความไม่รู้จริง มันก็จึงเป็นทิฏฐิสวะหนึ่ง ...อย่าไปเคารพนบนอบเทิดทูนความคิดความเห็นนั้นๆ

เมื่อรู้ มีสติเท่าทันแล้วก็ละซะ อย่าตามมัน เดี๋ยวมันก็ดับ เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง ...ไม่มีความเห็นไหนหรอกที่มันคาราคาซังอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็ดับ ...เกิดใหม่ก็คือรู้ว่าเกิดใหม่

ไอ้ของเก่าน่ะมันดับไปแล้ว มันเกิดขึ้นมาใหม่  แต่มันดูเหมือนอันเก่าแค่นั้นเอง สังเกตดู ...มันไม่ใช่ว่ามันคาราคาซังอยู่ ไม่เกิดไม่ดับเลย เป็นอมตะนิรันดร์กาลอยู่ในใจ...ไม่มีหรอก

มันปรุงขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง แต่ภาพมันรีรันน่ะ รีเพลย์น่ะ มันไม่ใช่ของที่มันต่อเนื่องยาวนานออกมานะ ...ดูให้เห็นความขาดไปดับไปของมันบ่อยๆ แล้วจะเห็นความไม่เป็นชิ้นเป็นอัน


(ต่อแทร็ก 3/17  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น