วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/18


พระอาจารย์
3/18 (540205B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 กุมภาพันธ์ 2554


โยม –  หลวงพ่อเจ้าขา สมมุติเขาไม่พอใจเรา แล้วเราก็ไม่อยากเจอเขาอย่างนี้เจ้าค่ะ มันเรียกว่าหนีไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  หนี ...นี่ต้องดูเจตนา ดูลงไปที่เจตนา มันมีเจตนามั้ย ต้องแยกให้ออก...ในการกระทำ ในการเจอ ในการไป ในการเลี่ยง ...มันมีเจตนาไหม

ถ้ามันทำไปด้วยเจตนาก็ให้รู้ว่านั่นน่ะ หนี หรือว่าจงใจแต่ถ้าเป็นลักษณะที่มันต้องเป็น ต้องไป โดยที่ว่าไม่มีเจตนา ...ไปดูเอา ว่าต่างกันอย่างไร 

บางทีก็ต้องฝืน ...ฝืนเพื่ออะไร ...เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างจงใจ-ไม่จงใจ เจตนา-ไม่เจตนา หรือว่าเป็นสิ่งที่หลบเลี่ยงไม่ได้ หรือว่าเป็นกรรม หรือว่าเป็นวิบาก ...มันจึงจะเข้าใจด้วยตัวของมันเอง

จะมาถามเอา ...ตอบไป...ไม่ได้ ...เรียนรู้เอา ด้วยความแยบคาย..โยนิโส สังเกตบ่อยๆ ให้เห็นความแตกต่างในการเจอ ในการไม่เจอ ในการกระทำหรือไม่กระทำ...แล้วดันเจอ พวกนี้

อย่างนี้มันจึงจะแจ้งขึ้นมาในเหตุการณ์นั้นๆ ...เมื่อแจ้งก็เหมือนกับแก้เชือกแก้ปมน่ะ อ๋อ...แค่นี้ ไม่มีอะไร ...มันก็แก้ได้ในพันธะนั้น วาระนั้น

พันธะสัญญานั้นก็ว่าง เบา อิสระ ...เจอก็ได้ ไม่เจอก็ได้  มึงจะเกลียดก็ได้ มึงจะด่าก็ได้...กูก็แค่นั้นน่ะ ...ก็แค่นั้นน่ะ มันเข้าใจแล้ว

แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็อย่างนี้ มันก็หาทางเลี่ยง หาทางหลบหรือว่าไม่หลบ ...นี่ มันจะตัน


โยม –  ถ้าเขาแบบเข้าใจผิดเราอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปแก้ตัว

พระอาจารย์ –  แก้ไม่ได้หรอก จะไปปรับความเห็นคนอื่นน่ะ ไม่มีทาง


โยม –  ก็ดูที่ตัวเราเอง

พระอาจารย์ –  อือ แก้ที่ความเห็นเรา ...ความเห็น...มีวิธีแก้วิธีเดียว คือเห็นความดับไป ไม่อยู่ในความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ...แค่นั้นแหละ ถึงจะแก้ได้...จบ

แต่ถ้ายังเอาบุญเอากุศลมาเป็นเครื่องยึด เครื่องเหนี่ยว เครื่องถือ หรือเอาธรรมมาเป็นเครื่องยึด เครื่องเหนี่ยว เครื่องถือ ...ยังไงก็ทุกข์ 

จนกว่าจะเห็นว่า...แค่ความเห็น ความคิด ความเชื่อ...คือความดับไป ไม่มีอะไรหรอก เป็นแค่ความว่าง ...แค่นั้นน่ะ อยู่ได้หมดแหละ

ด่าแค่นี้เองเหรอ (โยมหัวเราะ...ว่าด่าอีกสิ) ...มันก็เป็นแค่เสียงแค่นั้นเอง (หัวเราะกัน) ไม่โดนใครหรอก มันก็โดนแค่หู หาตัวเราไม่เจอ ...โดนได้อย่างมากก็แค่หูเองวะ กูไม่เจ็บกว่านี้หรอก

มันด่าไม่โดนกูสักทีน่ะ... เพราะกูไม่มีให้มึงด่า กูไม่เคยอยู่ให้มึงด่าเลย มึงด่าได้แค่หูกูอ่ะ ใช่ป่าว ...หรือมึงทำอะไร มึงก็ชนแค่ลูกกะตากู 

ไม่เข้าถึงตัว "เรา" เลย ..."เรา" ไม่เห็น ไม่มี "เรา"เห็น อย่างนี้ ...มีแต่ตาเห็น "เรา" ไม่เห็น ถามว่าเห็นป่าว บอกว่าเห็น ...เห็นทางตา แต่ "เรา"ไม่เห็นอะไรเลย


โยม –  ก็ไม่ต้องไปปรุงมันต่อ

พระอาจารย์ –  แค่นั้นน่ะ ให้มันจบให้สั้นที่สุด ไอ้ขันธ์ส่วนเกินอันนั้นน่ะ 

แล้วก็ต้องมาน้อมใจว่าอันไหนเกิน อันไหนพอดี ...มันพอดีแค่ตาเห็นน่ะ แล้วก็รู้...อ๋อ อย่างนี้เรียกว่าเขาด่า ...นี่ จบ แค่นั้นเอง...แค่นั้นเอง(โยมหัวเราะ)


โยม –  เท่ากับการไม่คบคนพาลหรือครับนี่

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว ถ้าคนไหนเราไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีกรรมวิบากร่วมกัน แล้วรู้อยู่เห็นอยู่ว่าเป็นคนอย่างนี้ ...อย่าเข้าใกล้


โยม –  แล้วถ้ามันมีวิบาก แล้วเราพยายามจะหลบล่ะครับ

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง เรียนรู้ บางที...มีวิบากก็ต้องชดใช้น่ะ


โยม –  คือถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่างที่หลวงพ่อตอบมาเมื่อกี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ แล้วก็ต้องเรียนรู้ให้เกิดปัญญาไป จะได้คลายออกซะ อย่าไปประกอบเหตุใหม่ เช่นหนี เช่นไปแก้เขา หรือไปแก้จิตเรานะ ...คือยุ่งทุกกรณีนี่...ไม่เอาน่ะ

คือรับรู้เฉยๆ ทุกข์คือทุกข์ อุปาทานคืออุปาทาน ...ให้มันชดใช้กันไปด้วยวิบากนั้นน่ะ จึงจะหมด ไม่ผูกพัน ...นี่เขาเรียกว่าชดใช้ด้วยเมตตานะเนี่ย...แต่ "เรา" น่ะเจ็บตัว (เสียงโยม – เอา "เรา" ไปเจ็บ)

จนกว่า “เรา” น่ะมันจะหายเจ็บ มันก็จะหมดไปในระหว่างเรากับคนนั้น ...เพราะกรรมและวิบากมันต้องชดใช้ ต้องเจอ เพราะมันมีเรากับเขา ...แต่ถ้ามีแต่เขาแล้วไม่มีเรา...ก็จบ

มันจะจบได้เป็นเรื่องๆ ไป อย่างนั้น ความเห็นว่าเป็นเรานั่นแหละ ...มันก็ชดใช้ไป จนกว่า...เออ จบ ...มันก็เป็นอโหสิกรรม จึงจะเรียกว่าอโหสิกรรมจริง

ไม่ใช่แค่พอพูดว่าอโหสิ ก็อโหสิแล้ว ...มันไม่อโหสิหรอกใจน่ะ เพราะมันมี "เรา" อยู่เข้าใจมั้ย ...มันจะอโหสิหรือว่ายุติได้ก็ต่อเมื่อ “เรา” ตรงนั้นหมดไป เป็นเรื่องธรรมดาแล้ว

ตรงนั้นเรียกว่ากรรมนั้นอโหสิ ขาด ...แล้วอย่าก่อใหม่อีกแล้วกัน เท่านั้นเอง ...เพราะฉะนั้น ขาดบ่อยๆ อย่างนี้...กับใครก็ตาม กับพ่อกับแม่ ทุกคนเลยนะ

ไม่เลือกเลยนะ ไม่เลือกไม่เว้นกับใคร ไม่ต้องอ้างอะไรทั้งนั้นเลย ...ให้มันกลายเป็นเสมอกันหมด เป็นเรื่องธรรมดาหมดเลย ...ถึงจะขาด

กลับมาอยู่ที่ใจรู้ดวงเดียวเท่านั้นแหละ รู้เป็นธรรมดา รู้เป็นปกติ มันไม่กระเพื่อม ไม่ไหว ไม่ออกไปหือไปอือกับอาการใดๆ ที่เป็นขันธ์...ทั้งขันธ์อันนี้ แล้วก็ขันธ์ภายนอก

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง นี่ขันธ์ภายนอกนะ ขันธ์คนอื่นน่ะ นี่ก็ขันธ์ …แต่ถ้าไม่มีใคร มีแต่ตัวนี้ แล้วก็ความคิด ความเห็น ความปรุง ...นี่คือขันธ์ของตัวเอง

มันมีทั้งขันธ์นี้แล้วก็ขันธ์นอก ...ก็ต้องแจ้งหมดแหละ จนเป็นอิสระ ออกจากความมัวเมาในขันธ์


โยม –  เรายังพากเพียรทำบุญอยู่นี่มันก็คือยังยึดอยู่ในขันธ์ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  แน่นอน ...ก็เรายังไม่ ซ.ต.พ. ได้ว่าเราจะสำเร็จในชาตินี้น่ะ ก็ต้องอาศัยบุญ ทำบุญทำอะไรที่ดี  กุศลต้องทำ บุญต้องทำ บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ตราบใดที่ยังไม่ถึงนิพพานก็ต้องอาศัยบุญเป็นตัวประคอง


โยม –  หลวงพ่อขา เวลาไปทำบุญ จิตมันยุ่งเหยิงเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าจิตเป็นยังไง

พระอาจารย์ –  ทำด้วยจิตที่ว่างเปล่า ด้วยเจตนาที่เป็นกุศล ไม่ต้องหวังผลอะไร เจตนาเป็นกุศลอย่างเดียว หรือเจตนาที่เป็นปรมัตถ์คือทำแล้วไม่หวังผลอะไรเลย


โยม –  แต่ยังเรียกว่ากิเลสอยู่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  มันเป็นทั้งนั้นแหละ


โยม –  แต่เป็นฝ่ายดี

พระอาจารย์ –  อือ พระพุทธเจ้าบอกแล้วไง หลักของศาสนามีอยู่สามอย่าง...ทำบุญ ไม่ทำบาป ชำระจิตให้ผ่องใส

อกุศลน่ะให้น้อยลง ความคิดในเรื่องคนอื่นให้น้อยลง คิดตำหนิคนอื่น ติเตียนคนอื่น ...แค่คิดน่ะพยายามให้ทัน อกุศลทั้งนั้นน่ะพวกนี้ 

ส่วนบุญน่ะทำไป..เจริญไปเหอะ อาศัยไป แล้วก็เห็นความดับไป นั่นน่ะชำระจิต เห็นความเป็นไตรลักษณ์นั่นน่ะ ชำระจิตให้ผ่องใส ...นั่นคือปัญญาขั้นสุดท้าย

เพราะนั้น ระหว่างที่ว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงนี่...มันไม่ได้หรอก ไอ้ชำระจิตยี่สิบสี่ชั่วโมงนี่ ...อย่างน้อยก็ให้เป็นกุศลนะ  อกุศลรู้แล้วให้ละ คิดเรื่องคนอื่น คิดเรื่องไม่ดี

จะทำยังงั้น จะทำยังงี้แก้แค้นเขา หรือจะตำหนิเขา หรือจะอะไรพวกนี้  ส่อเสียดเขา เสียดสีเขาด้วยความคิด ด้วยวาจา  ไปคิดแทนเขา ไปแก้เขา อะไรพวกนี้ ...อกุศลทั้งนั้นแหละ 

มันจะทำให้เศร้าหมอง พวกนี้ ไม่ใช่อะไรหรอก มันทำให้เศร้าหมอง ...พอเศร้าหมองแล้วมันก็นอนเนื่อง ...เวลาดู แล้วเราแยกไม่ออกระหว่างเศร้าหมองกับรู้

เวลาจิตมันขุ่น มันมัว มันหมอง มันซึม หมดเรี่ยวหมดแรง ...นั่นแหละ ไอ้คิดสะเปะสะปะ ไอ้คิดเรื่อยเปื่อยกับคนโน้นคนนี้...ทำให้เศร้าหมอง

แล้วแยกไม่ออก แล้วก็มานั่งอมทุกข์หน้าเหมือนกับลูกบอลที่ถูกเอาลมออก มันเหี่ยวอย่างนั้นน่ะ ...มันแฟบ ใจมันแฟบ หมดเรี่ยวหมดแรง

การทำบุญที่เราหวังผลมากๆ น่ะ มันจะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ...ถ้าทำด้วยเจตนาที่เป็นแค่กุศล คือทำแล้วแค่ทำไป มันได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยของมันอยู่แล้ว

อะไรเกิดขึ้นก็เรียนรู้ ไม่ต้องไปตำหนิติเตียนใคร ...ธรรมดาของสัตว์ที่ยังมีอวิชชา การกระทำออกมามันไม่มีคำว่าถูกหรอก ...มันอยู่ด้วยการเบียดเบียนกันอยู่แล้ว

ทำยังไงเราถึงจะออกจากวงจรนี้ต่างหาก ...เราไปแก้วงจรนี้ไม่ได้ แก้เขาไม่ได้  ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ ยิ่งแก้ยิ่งเจ็บ ...ไปสอนมันคำหนึ่ง มันตอกเราสักห้าร้อยคำอย่างนี้ 

มันแก้ไม่ได้หรอก ...ก็ต้องแก้ที่ตัวเอง แล้วก็...เออ อนุโมทนา แล้วก็อโหสิกรรมกันไป ...ซึ่งคำว่าอโหสิกรรมนี่...ไม่ใช่แค่นึกขึ้นมาว่าอโหสิกรรมเท่านั้นนะ 

อโหสิที่จิตคือหยุด แล้วก็รู้ถึงความดับไปในขณะนั้น...บ่อยๆ  ขึ้นมาอีกดับอีก ขึ้นมาอีกไม่ต่ออีก นั่นน่ะ จนกว่ามันจะ...เออ ขึ้นมาก็เหมือนกับความว่างเปล่า ...นั่นแหละ กรรมนั้นอโหสิแล้ว

เพราะฉะนั้น ที่มันจะอโหสิกรรมได้เร็ว ได้ง่าย ได้เบา ได้ทันที...คือเป็นลหุกรรม ...แต่เมื่อใดที่เป็นครุกรรมขึ้นมาน่ะ มันไม่อโหสิง่ายๆ นะ

ถ้ายังซ้ำซากไปในเรื่องอกุศล คิดแล้วคิดอีกๆ ...เจอทีไรก็คิดทุกที เจอทีไรก็ปรุงยาวเหยียดถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมันไม่รู้จักจบ

นี่มันเป็นคุรุ มันไม่อโหสิง่ายหรอก ...มันจะผูกพันยาวเป็นเรือข้าวลากตามแม่น้ำเจ้าพระยาโน่นน่ะ  มันจะปลดโซ่ ปลดห่วงนั้น...มันไม่คล่อง

เพราะนั้นก็ต้องระวังเท่าทันการปรุงแต่ง ...เพราะธรรมชาติของความไม่รู้ มันพร้อมเสมอที่จะกระโจนไปร่วมหัวจมท้ายกับมัน นี่ ว่ากันไม่ได้

นี่คือโคตรของความไม่รู้...คืออวิชชาตัณหาอุปทานน่ะ สันดานมันเลย มันพร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายกับความคิดความจำ สิ่งที่ตาเห็นหูได้ยิน พั้บนี่ มันกระโดดใส่ก่อนเลย 

นี่่ มันก็เข้าไป...เข้าไปในนั้นเลย เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกันกับมันเลย...เป็นภพ เป็นชาติ เป็นของเที่ยงทันทีเลย ...นี่ธรรมชาติของจิตที่ไม่รู้นะ

เพราะนั้น เตือนตัวเองบ่อยๆ ด้วยสติ แล้วก็กลับมารู้ตัว รู้สึกที่ตัว...ง่ายๆ ตรงนี้ ...แล้วมันจะตัดหมดก่อน แล้วแยบคายลงไป แล้วมันจะตั้งมั่นขึ้น มันจะ..."อ๋อ" ...อ๋อ เวลาเห็น อ๋อ เวลาได้ยิน 

ทุกวันนี้มันไม่ "อ๋อ" น่ะ ...มันไปอ๋อ เมื่อถึงบ้านแล้ว "กูเพิ่งรู้ได้ ว่ากูด่าตอบไปตอนกูได้ยินสักกระบุงแล้ว ไม่น่าเลย" ...นี่ มันไม่อ๋อตอนนั้น เข้าใจรึเปล่า

เพราะมันไม่ตั้งมั่น สติมันไม่ทัน สมาธิไม่ตั้งมั่น ปัญญาไม่เกิด ...ก็มีแต่เที่ยงๆ ของกูๆๆ ของมึงๆๆ ชนกันเละเทะไปหมดแหละ วินาศสันตะโรกันในสังคมนั้นๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ

เพราะนั้นเวลาจัดงาน เวลาทำบุญ อู้ย ชนกันเละเทะศพไม่รับเย็บ เน่า  แล้วก็มานั่งเหนื่อยหอบแฮกๆ ถึงบ้าน เหนื่อยจัง ...ไปโทษใครไม่ได้นะ เราไม่มีสติสมาธิปัญญาเอง

เพราะยังไงมันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกัน มีแต่การเบียดเบียนกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว นี่คือธรรมชาติของสัตว์โลก ด้วยความไม่รู้นี่ มันก็ทำ

จะไปโทษใครว่าเขาผิดเขาถูกไม่ได้ มันผิดที่จิตมันไม่รู้ ...ก็เมตตากันไป เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้คนเดียว เราไม่ใช่พระอรหันต์ เขาก็มีสิทธิ์พลั้งพลาดเผลอได้เป็นธรรมชาติธรรมดาอยู่แล้ว

เราก็ถอยออกมาซักก้าวหนึ่ง แล้วก็เมตตาไป...เออ ชดใช้ ยอมรับ ...เมตตานะนั่นน่ะ อภัยทานนะนั่น ถือเป็นอภัยทาน  พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าอภัยทานเป็นทานสูงสุด

เพราะนั้น ถ้าอยากทำทาน...ทำง่ายๆ ไปยืนให้เขาด่าซะ (โยมหัวเราะกันเกรียว) แล้วเราเดินออกมาเฉยๆ  (หัวเราะ) ...เรียกว่าได้บุญได้ทานอย่างยิ่ง อภัยทาน


โยม –  ต้องฝึกว่า...แค่เสียงกระทบหู

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น ตัวอภัยทานจึงจะเป็นอโหสิกรรม ละได้หมด ละที่ใจ หมด จบ สิ้น ...ปัญญาก็พร้อมกันเป็นปรมัตถ์ ทานขั้นปรมัตถ์เลย 

แต่ไอ้ประเภทที่... ฝากไว้ก่อนน่ะ "อย่าให้ถึงทีกูนะมึง ฝากไว้ก่อน" ...นี่ ต้องไปเรียนรู้อีกนาน


โยม – (หัวเราะ) อีกหลายซีรี่ส์

พระอาจารย์ –  อย่าไปฝากไว้นาน ...เดี๋ยวมันดอกเบี้ยทบต้น


....................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น