วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/17 (3)


พระอาจารย์
3/17 (540205A)
5 กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/17  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น การที่เรากลับมาดูที่ความรู้สึกตัว หรือว่าดูกายบ่อยๆ ...ซึ่งพอพูดว่าดูกายนี่ ต้องแยกให้ออก ให้ดูที่ความรู้สึกตัว เรียกว่าดูกายบ่อยๆ ...ก็จะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ชายไม่ใช่หญิง นะ

แต่ถ้าเข้าใจว่าให้ดูกายแล้วมาดูเป็นรูปที่เราเห็นนี้ มันก็เป็นหญิงเป็นชายวันยังค่ำ ...ไอ้อย่างนั้นมันต้องดูด้วยสมถะ คือน้อมให้เห็น ด้วยการนึกให้เห็นภาพที่แก่ไปแล้วก็ตายแตกดับไป

แต่ถ้าดูกายโดยสติปัฏฐานหรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่...ให้ดูที่ความรู้สึก ...แล้วก็จะเห็นว่ากายไม่ใช่ชาย กายไม่ใช่หญิง

ตรงความรู้สึกตัวน่ะ...มันเป็นชายมั้ย มันเป็นหญิงมั้ย มันเป็นคนมั้ย มันเป็นหมามั้ย มันมีชีวิตมั้ย มันมีทรวดทรงมั้ย มันมีรูปลักษณ์ตัวตนที่แท้จริงของมันมั้ย

เดี๋ยวก็เย็น เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็สบาย เดี๋ยวก็แข็งๆ ตึงๆ เดี๋ยวก็ไหว เดี๋ยวก็กระเทือน เดี๋ยวก็กระเพื่อม เดี๋ยวก็มัวๆ ...อะไรของมันก็ไม่รู้ 

นั่นน่ะดูเข้าไป ดูให้ต่อเนื่อง จนเห็นกายนี่ไม่ใช่กายอย่างที่เราเข้าใจ ...เมื่อไม่เห็นกายอย่างที่เราเข้าใจ นั่นเขาเรียกว่าเข้าไปทำลายสักกายทิฏฐิ

ไอ้สักกาย...คือความเห็นว่ากายนี่เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างภาพที่เราเห็นอย่างนี้ เป็นชายมั่ง เป็นหญิงมั่ง เป็นของเรา เป็นของเขา 

แต่ถ้าดูที่ความรู้สึกตัว ปุ๊บนี่ มันเหมือนกัน...หลายพันล้านตัวที่เป็นขันธ์ห้านี่ มันไม่มีแบ่งแยกเลย ใช่มั้ย ...มันก็เป็นแค่ความรู้สึกตัวเดียวกันแหละ...แบ่งไม่ออก

จะไทย จีน แขก ฝรั่ง นับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือไม่นับถืออะไร ...มันก็เป็นความรู้สึกตัวเดียวกัน ไม่มีหล่อ ไม่มีสวย ไม่มีงาม ไม่มีไม่งาม 

เห็นมั้ย นี่เปลาะแรก ขั้นแรก ที่จะฉลาดขึ้น...นิ๊ดนึง ...เอาแค่นิดนึงนี่ก่อน ง่ายๆ ดูกายง่ายจะตายชัก ...แต่ขี้เกียจดูอ่ะ กูชอบเห็นน่ะ...เห็นทางตาสวยดี หล่อดี เพลิน ปีติ สุข นี่เห็นมั้ย

แต่พอดูอย่างนี้แล้วมันทื่อๆ เฉยๆ สงบ สันติ ระงับ ดับ ไม่เห็นมีเหลืออะไรน่ะ ...ความเห็นก็ไม่มีตามมา ความหมายในอดีตอนาคตก็ไม่มีตามมา

ก็แล้วแต่มันจะเป็น...ยืนกลางแดดปุ๊บก็ร้อน พอเข้าร่มปุ๊บก็เย็นปั๊บ เห็นมั้ย กายเป็นอนัตตา ไม่มีหรอก ที่จะบังคับขับไสสั่งเสียมันได้น่ะ ...นี่เบื้องต้นน่ะ เห็นกายเป็นอนัตตาอยู่แล้ว

เพราะไม่มีไอ้บ้าที่ไหนหรอกยืนกลางแดดแล้วไม่ร้อน หรือสั่งได้ว่าเย็น..ต้องเย็น ...เป็นไปไม่ได้ เห็นมั้ย นี่มันแสดงความไม่มีเจ้าของอยู่แล้ว

กายนี้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก ไม่มีใครบังคับบงการมันได้หรอก  มีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่ปรุงแต่งมัน แล้วก็ธรรมชาตินั้นเมื่อหมดเหตุปัจจัยนั้นก็ดับ

อย่างว่าไปเข้าร่มแล้วมันจะร้อนอีกได้ยังไง ...ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องสั่งเสียบอกหน้าที่มัน ...นี่ เขาแสดงสัจจะ เห็นมั้ย ทุกขสัจ ...นี่เรียกว่าทุกขสัจ 

มองจนเห็นเป็นทุกขอริยสัจ ...อย่าไปเดือดร้อนกับมัน อย่าไปเทิดทูนพะเน้าพะนอมัน อย่าไปครอบครองว่ามันเป็นเรา ...ความรู้สึกตัวเป็นเรายังไง เป็นได้ยังไง

ถ้ามองเป็นรูปอย่างนี้มันยังเป็นเรา ...แต่ถ้ามันเป็นรูปขึ้นมาในความคิดก็ให้รู้ว่ามันเป็นรูป รูปอารมณ์ รูปสัญญา ...นี่ พอรู้ปุ๊บมันก็ดับ แล้วไม่ไปปรุงต่อ

ถ้าปรุงต่อมันก็แข็งแกร่ง เป็นภพ รูปสัญญานั้นก็จะเป็นภพยาวเหยียดเลย ...คือถ้าเห็นขณะแรกมันยืนขึ้นปุ๊บว่ายืน ...มันก็ดับตรงยืน รูปยืน

แต่ถ้าปรุงต่อนะ มันก็ไปตามในความปรุง ...มีการสร้างเอารูปสัญญานั้นเดินไปซื้อของ แล้วก็เอารูปสัญญาว่าเดินไปซื้อของกิน แล้วก็มีรูปสัญญาว่ากินเสร็จแล้วอร่อย 

นี่ มันก็อยากเลย...อยากแล้ว ...พอกลับมาอยู่ปัจจุบัน ปั๊บ กูก็เดินไปซื้อกินเลย ...นี่ ขั้นตอนการหลงไปในขันธ์ มันเป็นอย่างนั้น 

แต่ถ้ารู้ขณะแรกที่มันขึ้นมาว่าจะไปนั่น เดี๋ยวเราจะไปนี่ ปั๊บ เอ้า รู้ตัว รู้ว่านี่เป็นจิตปัจจุบัน ปรากฏอาการนี้ขึ้นมา เป็นนามสัญญา เป็นนามธรรมหนึ่งที่เรียกว่าสัญญา แล้วก็จะไปในอนาคต 

ปั๊บ พอรู้ว่าจิตมีอาการนี้ในปัจจุบัน มันก็ดับ ความอยากก็ดับพร้อมกัน...ไม่เกิด อะไรอย่างนี้ ...นี่คือหน้าที่ของการปฏิบัติ เรียกว่างานที่มาทำความเข้าใจกับขันธ์ 

กินนอนใช้สอยกับมันจนกี่ขวบแล้ว ยังไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมอาการของมันเลย ...ยังแยกไม่ออก อันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนามไม่รู้เลย นามยังมีอีกสี่ตัวก็ยังไม่ชัดเลย 

แล้วอันไหนเป็นขันธ์ อันไหนเป็นกิเลส ก็ยังดูไม่ออกอีก ...มันทำไปด้วยความอยากแท้ๆ มันบอก “หนูไม่ได้อยากเลยค่ะๆ” ...คนอื่นเขาเห็นกันทั้งโลก ตัวมันเองไม่เห็นอยู่คนเดียวว่ามันทำไปด้วยความอยาก 

กูเห็นอยู่เต็มตาว่ามึงอยากเต็มหัวใจ ...เนี้ย ต้องให้คนอื่นเขามาบอกหรือไงถึงรู้ได้ ...ไม่ได้นะ ต้องศึกษาดู จำแนกให้ออกว่า...อ๋อ ขันธ์จริงๆ มันมีอยู่ยังไง ...นี่ มันเป็นอยู่แค่นี้

แล้วพอมีอะไรว้อบๆ แว้บๆ วูบๆ วาบๆ ขึ้นมา เป็นความอยากบ้าง พอใจ ยินดี-ยินร้ายบ้าง อารมณ์โทสะโมหะปุ๊บ มันจะรู้เลย...อ๋อ อันนี้ส่วนเกิน 

อันนี้ไม่ใช่ขันธ์...อนุญาตให้ทิ้งเลย ...แต่ถ้าขันธ์ปรากฏอย่าไปทิ้ง มันดับของมันเองอยู่แล้ว

แต่อันไหนเป็นส่วนเกิน รู้เมื่อไหร่น่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเสียดาย...จาโค ปฏินิสสัคโค สละ ทิ้งซะ ...นั่นท่านเรียกว่าเป็นทุกขสมุทัย จะเกิดความต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น

เมื่อเราชำนาญแยกขันธ์ เห็นขันธ์ตามความเป็นจริงแยกออกมา ...ก็จะเห็นว่าอะไรไม่ใช่ขันธ์ อะไรที่เป็นส่วนเกินของขันธ์ ...นี่เรียกว่าทุกขสมุทัย

พระพุทธเจ้าท่านว่าเห็นเมื่อไหร่นะ อย่าไปผูกเสี่ยวกับมัน ดับได้...ดับ ละได้...ละ วางได้...วาง ...สมุทัยมันจะดับไปเรื่อยน่ะ จนเข้าไปดับถึงความไม่รู้อ่ะ

ไอ้นั่นสมุทัยตัวใหญ่ โคตรสมุทัย ...เพราะไอ้สมุทัยลูกกะเป๊กมันน่ะ มันก็ออกมาจากโคตรพ่อโคตรแม่สมุทัยนี่แหละ...คือความไม่รู้  

เช่นไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง ได้มาก็แค่นั้น ไม่มีตัวไม่มีตน กินก็ไม่อิ่ม เนี่ย มันก็ออกมาเป็นความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ตาเห็นรูปก็อยาก หูได้ยินเสียงก็พอใจ ...ก็มีความคิดความหาอะไรขึ้นมาอีกแล้ว

อันนี้เป็นลูกกะเป๊กของมัน...เรียกว่าตัณหา เรียกว่าภวตัณหา เรียกว่าวิภวตัณหา ...แล้วแค่ลูกกะเป๊กมันยังไม่เห็นนี่ อย่าไปหาโคตรพ่อโคตรแม่มันเลย

เพราะงั้นการกลับมารู้ขันธ์ปัจจุบันบ่อยๆ มันจึงจะเห็น ...แยกออก...อ๋อ ความคิดก็แค่ความคิด ความอยากไปตามความคิดก็อีกอย่าง 

ความคิดไม่ใช่ความอยาก ความอยากไม่ใช่ความคิด  คิดแบบไม่อยากก็มี คิดแบบอยากก็มี ...ต้องแยกให้ออก 

แล้วมันจะแยกออกได้ยังไง ...ก็ต้องเห็นบ่อยๆ แล้วก็เกิดอาการที่ว่าทวน หรือจำแนก ว่า...อ๋อ คิดแบบนี้มีความอยาก กูเคยเห็นแล้ว  คิดแบบนี้ไม่มีความอยาก กูก็เคยเห็นแล้ว ...มันเห็นถึงความแตกต่าง 

ก็จะเรียกว่าเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง...มันก็มี ก็ไม่ได้ห้าม ...แต่ไอ้นี่มี อันนี้ห้าม...ห้ามตามความอยาก ห้ามปรุงต่อตามความอยาก เห็นมั้ย 

แต่ถ้าเราไม่ดู ไม่สังเกตมัน ...มันจะเหมา เทเหมารวมหมดว่ามันเป็นอย่างนั้น ทั้งที่ว่ามันมีความอยากอยู่เต็มหัวใจ มันก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของขันธ์ 

นี่ จนกว่าจะแยกออกว่า...เห็นขันธ์เป็นขันธ์น่ะ เป็นขันธ์จริงๆ ...เห็นขันมั้ย ขันน้ำน่ะ เคยเห็นมั้ย ขันเป็นขัน ไม่มีอะไรในขันน่ะ ...เหมือนกัน ขันธ์จริงๆ ก็อย่างนั้นน่ะ 

แต่ตอนนี้มันมีขันธ์ แล้วมันยังมีอะไรในขันธ์ มันไม่ใช่ขันธ์จริงๆ มันยังมีขันธ์และก็ยังมีอะไรในขันธ์...ขี้บ้าง ดอกไม้บ้าง น้ำเน่าบ้าง น้ำดีบ้าง เพชรพลอยบ้าง กรวดทรายบ้าง ...นี่ มันมีอะไรในขันธ์

จนกว่าจะเหลือแต่ขันธ์จริงๆ น่ะ ถึงเรียกว่าเป็นขันธ์บริสุทธิ์ เป็นขันธ์เปล่าๆ ...ความคิดก็เป็นความคิดเปล่าๆ ความจำก็เป็นความจำเปล่าๆ ความสุขความทุกข์ก็เป็นความสุขความทุกข์เปล่าๆ

จึงเรียกว่านั้นอยู่กับธรรมทั้งแท่ง อยู่กับธรรมตลอดเวลา  แม้จะมีความคิด แม้จะมีสุข แม้จะมีทุกข์ แต่เป็นธรรมทั้งแท่ง ...นี่เป็นพระอรหันต์น่ะ อยู่กับขันธ์...ก็คือขันธ์ก็เป็นธรรม

แต่ขันธ์ตอนนี้ไม่เป็นธรรม เพราะมันไม่ใช่ขันธ์เปล่าๆ มันยังมีขี้อยู่ ...แต่ขันธ์ของท่านเป็นขันธ์เปล่าๆ แม้จะมีความดับ แม้จะด่า แม้จะมีอารมณ์ แต่เป็นขันธ์เปล่าๆ ...ถึงเรียกว่าบริสุทธิ์

ทำไมถึงว่าพระอรหันต์ท่านบริสุทธิ์ อยู่กับขันธ์ที่บริสุทธิ์ อยู่กับธรรม เป็นธรรมทั้งแท่ง  ขันธ์ก็ขันธ์เปล่าๆ ใจก็เหลือเป็นใจเปล่าๆ อีกต่างหาก ...ก็อยู่กันไปอย่างนั้นน่ะ

ของเปล่าๆ ชนกับของเปล่าๆ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นล่ะ เนี่ย ความบริสุทธิ์ของขันธ์...แต่ถ้าของไม่เปล่าทั้งสองอย่างมันมาชนกันแล้ว เหมือนกับรถชนกัน ก็ต้องมีบาดเจ็บล้มตาย อะไรในนั้นมันจะแปดเปื้อนกัน 

เพราะนั้นถึงสงสัยกันนักกันหนาว่า เผาแล้วทำไมถึงเป็นธาตุ...ก็ขันธ์ท่านบริสุทธิ์ ...ก็กระดูกเหมือนกันนี่แหละ แต่กระดูกท่านบริสุทธิ์ เพราะขันธ์ท่านบริสุทธิ์

อย่างที่เราเคยบอก...ก็ไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมาใหม่หรอก มันบริสุทธิ์ของมันเองน่ะ เพราะขันธ์นี่มันบริสุทธิ์อยู่แล้ว ...เย็น ร้อนอ่อนแข็งน่ะ มันบอกมั้ยว่ามันมีเจตนาจะให้เราเป็นทุกข์ 

เขามาแบบหมดจด เขาตั้งอยู่ด้วยความหมดจด แล้วเขาก็ดับไปด้วยความองอาจหมดจด ...เขาไม่ได้มาด้วยความติดข้อง เขาไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยความติดข้องหรือไม่ได้ดับไปด้วยความติดข้อง 

เขามาด้วยความบริสุทธิ์ตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปโดยที่ไม่เหลือเยื่อใย อย่างนั้น ...นั่น ขันธ์มันบริสุทธิ์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว 

แต่มันดันมาเกิดกับใจที่ไม่บริสุทธิ์ มันก็ไปเติมเข้าไปในนั้นน่ะ อย่างว่า... “ร้อนโว้ยๆๆ” ...รับไม่ได้  “อู้ย หนาวจะตาย จะอยู่ได้ยังไง จนเป็นน้ำแข็ง” ...รับไม่ได้ 

ไอ้ตัวนั้นนั่นแหละ ที่ไปทำให้ขันธ์นั้นแปดเปื้อน ...ทั้งๆ ที่ว่าเขาไม่มีความแปดเปื้อนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้เจือปนอะไรทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว   

เนี่ย พระอริยะท่านทำตามศีล สมาธิ ปัญญา ...เจริญปัญญามาเรื่อยๆ ละวางมาเรื่อยๆ ถอดถอนออกมาเรื่อยๆ ...ท่านจึงอยู่กับขันธ์ด้วยความเป็นปกติ

ไม่ได้ตั้งใจทำให้บริสุทธิ์เลย มันเป็นของมันเอง มันเป็นอยู่แล้ว เมื่อทำให้ขันธ์นั้นว่างเปล่า ...จากที่เคยเอาขันธ์นั้นไปกอบไปโกยอะไรไว้ หรือไปเอาอะไรไปใส่ในขันธ์นั้นไว้

ท่านก็รื้อๆๆๆ คว่ำ...กรวดน้ำคว่ำขัน ไม่พบกันในทุกชาติ ...เอาแค่เท่าที่ขันธ์นั้นยังมีอยู่ เหลือแค่ขันธ์เปล่าๆ เท่าที่มันยังมีอยู่ ...จนกว่ามันจะหมดวาระ

แต่ไอ้นี่ขันธ์มันหมดแล้ว ไอ้ของในขันธ์มันไม่หมดน่ะ ...แล้วมันจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ  มันก็ไปหาที่อยู่ใหม่น่ะสิ ไปหาขันธ์ใหม่มาใส่มัน ...มันก็พยายามทำขันธ์ให้มันใหญ่ๆ จะได้ใส่เยอะๆ

เอาแต่ความสุขนะ ความทุกข์ไม่เอา มีข้อแม้อีกต่างหาก  อันไหนเป็นทุกข์ อันไหนเป็นความไม่สบายใจแล้ว..กูจะหนีให้ไกลแบบสุดโลกเลย กูจะไม่เข้าไปข้องกับไอ้คนๆ นี้ กูจะไม่ใกล้  มันทำให้กูเศร้าหมอง

นี่ไอ้พวกแบกขันธ์ ไปไหนมาไหนมันไปด้วยอาการแบกขันธ์ แห่..เดินในท้องถนนนี่แต่ละคนแบกโชว์กัน เอาขันธ์มาแบกโชว์กันว่าของกูดีกว่า ...ไอ้พวกแบกขันธ์ ไอ้พวกบ้าแบกขันธ์ 

แต่พระอริยะ...ขันธ์ท่านเปล่าๆ เบาๆ ไปมาสะดวก ไม่กลัวของตกหล่นหาย ...เพราะว่าขันธ์ท่านไม่มีอะไร ไม่เสียดายขันธ์อะไร ไม่มีของในขันธ์ให้เสียดายอะไร ท่านเป็นอิสระในการไป การมา การพูดการกระทำ

ไม่เหมือนไอ้พวกบ้าแบกขันธ์นี่ กลัวของตก ตกแล้วเก็บไม่ทัน ตกแล้วกลัวคนอื่นไปเห็นว่ะ ตกแล้วกลัวคนอื่นเขาเก็บไป...เสียดาย แล้วก็ต้องระวังคนอื่น เขาจะเอาของคนอื่นมาปน

ก็ทำความเข้าใจกับขันธ์ ๕ไปเรื่อยๆ ...แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงว่าขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ ...ขันธ์ ๕ คือไตรลักษณ์  ขันธ์ ๕ คือไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ คือความแปรปรวน

ขันธ์ ๕ คือความเกิดแล้วก็ดับไปเองของมัน ไม่มีรูปลักษณ์ตัวตนที่แท้จริง ...ขันธ์ ๕ เหมือนกับพู่กันแต้มสีแล้วก็จุ่มไปในอากาศ แต้มเข้าไป ...มันก็แค่นั้นแหละ

จนเห็นว่าตัวเราของเรา กายนี้ใจนี้ ความคิดนี้ อารมณ์นี้ ความสุข-ความทุกข์นี้ เป็นการเกิดดับต่อเนื่องในความว่างเปล่า ไม่มีแก่นสารสาระอะไร 

เป็นการรวมตัวกันแค่ชั่วขณะหนึ่งในคุณลักษณะต่างกันไปของขันธ์นั้นๆ ที่ปรากฏสำแดงขึ้นมา เป็นสภาวธาตุบ้าง สภาวธรรมบ้าง 

หรือเรียกกันโดยรวมก็เรียกเป็นสภาวขันธ์...ที่หาความเป็นชาย เป็นหญิง เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไรไม่ได้เลย

ขันธ์ ๕ ในความเห็นของเรามันก็จะแตกกระจายออกไป ในการไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร ...เป็นแค่การต่อเนื่อง เกิดดับสลับกันไปสลับกันมา แค่นั้นเอง


(ต่อแทร็ก 3/18)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น