วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 3/20 (1)


พระอาจารย์
3/20 (540218B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กุมภาพันธ์ 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี่ มันไม่ได้ได้อะไร แล้วก็ไม่ได้เพื่ออะไร แล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาหรอก ...แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้กลับมาเรียนรู้ หรือกลับมาทำความแจ้งในขันธ์ห้านั่นแหละ

ว่าไอ้ที่เราอยู่กับมันนี่ ที่ใช้มันอยู่นี่ หรือที่มันปรากฏอยู่นี่ มันคืออะไร ให้มาทำความเข้าใจกับมัน...มันคืออะไรกันแน่ ...ไอ้ความคิดน่ะมันคืออะไร แล้วทำไมล่ะจะต้องทำตามมันทุกอย่าง

แล้วถ้าไม่ทำตามมันแล้วจะเป็นยังไงล่ะ นี่ ให้มาทำความเข้าใจ ...มันมีอิทธิพลอะไรกันนักกันหนา มันมีมือมีตีนมาฉุดมารั้งอะไรกับเรานักหนา หือ ...ให้เข้าใจ

เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเห็นขันธ์ ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงว่า...อ๋อ มันคืออะไรกันแน่ ...สุดท้ายก็จะเข้าใจว่า ขันธ์นี่ไม่มีอะไรหรอก เป็นอาการปรุงแต่งชั่วคราวเกิดๆ ดับๆ แค่นั้นเอง

เหมือนพลุในความมืดน่ะ ยิงพลุออกไปก็แตกมากระเซ็นกระสาย บางอันก็มีเสียงดัง บางอันก็มีแต่สีแสง ไม่มีเสียง บางอันก็สว่างมาก บางอันก็สว่างน้อย ก็แค่วูบๆ วาบๆ วูบๆ วาบๆ

สุดท้ายแล้วมีอะไรล่ะ ...ก็เป็นแค่นั้นน่ะขันธ์น่ะ เป็นการเกิดดับขึ้นแค่ชั่วคราว ...ทำไมถึงจริงจังกันนักกันหนา ทำไมถึงหลงกับมันนักหนา ทำไมถึงว่าเป็นของเรากันนักกันหนา 

มันมาถือครองอะไรล่ะ ...มาถือครองอะไรลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวไม่มีตนอยู่ได้ มายึดถือครอบครองในสิ่งที่มันไม่มีแม้กระทั่งเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้

กายก็จับได้แค่ธาตุน่ะ ...แต่ความรู้สึกในกายน่ะจับมันได้มั้ยล่ะ เย็นร้อนอ่อนแข็งเนี่ย จับมาดูก็ยังไม่ได้เลย ...จะจับให้มันอยู่ บล็อกให้มันอยู่ มันก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเราเลย

ความคิดน่ะ ความสุข-ความทุกข์...จับได้มั้ย บล็อกได้มั้ย  ให้มันเกิดได้มั้ย ให้มันไม่เกิดได้มั้ย ...มันก็ได้แค่นิดๆ หน่อยๆ ...เอาเข้าจริงๆ ทำอะไรมันไม่ได้เลย เข้าไปควบคุมบังคับ ทำให้มันเพิ่มหรือลดดั่งใจเรา ก็ไม่ได้เลย

เรียนรู้ดูตามความเป็นจริงของขันธ์ ก็จะเกิดความเข้าใจ แยบคายได้มากขึ้น ลึกซึ้งกับขันธ์ได้มากขึ้นว่า อ๋อ จริงๆ เรามาอยู่กับของที่ไม่มีตัวไม่มีตน ทำไมถึงมาลุ่มหลงมัวเมากับมันนักหนา มามัวเมาในขันธ์

เมื่อเรามามัวเมาในขันธ์ที่เราใช้สอยอยู่กับมัน ก็เป็นธรรมดาที่มันจะต้องไปมัวเมาในขันธ์ภายนอก หรือว่าวัตถุข้าวของ หรืออาการ หรือว่าสัตว์บุคคลภายนอกต่างๆ เป็นธรรมดา

เมื่อเข้าใจตัวของเราแล้ว ขันธ์ของเราแล้ว ก็จะเข้าใจขันธ์ของผู้อื่นหมด ...เป็นเรื่องเดียวกัน ...กายก็จะเห็นกายอันเดียวกัน ...ไม่ว่าใคร 

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง กระเพื่อม เคลื่อน ไหว ...ทุกคนนี่เหมือนกันแหละ เป็นความรู้สึกเดียวกันหมดน่ะ ไม่เห็นมันจะแตกต่างเลย

มันก็ไม่เห็นว่าเป็นชาย เป็นหญิง เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร ...นั่นน่ะ เป็นแค่อาการ ...ทุกคนก็มีอาการเช่นเดียวกันน่ะ 

เพราะนั้นเวลาเรามองเห็นคนสัตว์วัตถุข้าวของ บุคคลเดินไปเดินมา  มันก็เห็นเป็นแค่เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเท่านั้นเอง ไม่ได้เห็นว่ามีความแตกต่างกันตรงไหน

เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา อยู่ในภาวะลงเรือลำเดียวกันหมดแหละ ...มาได้ขันธ์ มีความรู้สึกเหมือนกัน มีความคิด มีความสุข มีความทุกข์เหมือนกัน เกิดๆ ดับๆ เหมือนกัน ...ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

จิตก็จะเป็นกลางได้กับทุกสรรพสิ่ง ...ไม่ได้แบ่งแยก ไม่ได้ไปเลือก ไม่ได้ไปหา ไปเบียดเบียนกัน ...ใจมันก็ผ่อนคลายจากความไม่รู้ มันก็เป็นอิสระ ออกจากความไม่รู้...ไม่รู้ขันธ์ตามความเป็นจริง

อวิชชาความไม่รู้ก็ค่อยๆ หมด จบ ดับ สิ้น ...ก็จะยอมรับในทุกสิ่งที่ปรากฏ เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ...จะไม่เข้าไปเหนี่ยว ไปรั้ง ไปผลัก ไปดัน ไปหวงแหน ไปป้องกัน ไปรักษา 

ต่างคนต่างอยู่ร่วมกันโดยสันติ ใจก็อยู่ร่วมกับขันธ์แบบสันติ สงบระงับ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติวิสัย ไม่มีอะไรผิดปกติในการที่ปรากฏขึ้น ไม่มีการผิดปกติในการที่มันดับไปเลย 

เรียกว่าไม่มีการผิดปกติเลยในการที่มันเกิดขึ้นมาแล้วดับไป อยู่อย่างนี้ ...จิตใจก็จะถอดถอนออกจากการเวียนว่ายตายเกิดมาจมอยู่กับความไม่รู้ในขันธ์

เพราะนั้นเกิดมาแต่ละคนนี่ เกิดมาเพื่อเรียนรู้ เกิดมาเพื่อเรียนรู้ขันธ์ ...การที่เกิดมาเป็นคนนี่ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นลาภอันประเสริฐ มีกายให้ดู มีขันธ์ห้านี่ครบให้ดู ให้เห็น ให้เรียนรู้ ให้เข้าใจ

เป็นสัตว์นี่ ไม่มีทางที่จะมาดูรู้ขันธ์ตามความเป็นจริงได้เลย  มันไม่มีสติเกิดได้ ไม่มีปัญญาเกิดได้ ไม่มีความแยบคาย ไม่มีความชัดเจน ...จินตามยปัญญาเบื้องต้นไม่มี สุตตมยปัญญาไม่มี

แต่เป็นคน...มาทันศาสนาพุทธ มาทันคำสอนพระพุทธเจ้า นี่ เป็นลาภอันประเสริฐ...ไม่ใช่โชคแต่เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นผลของกรรม การกระทำ การฝึกฝนอบรมตน อธิษฐานจิตสัจจะบารมีมา ส่งต่อเนื่องมา

เพราะนั้นอย่าไปทิ้งๆ ขว้างๆ  อย่าใช้ขันธ์ให้มันอยู่กับขันธ์โดยที่พามันไปในเรื่องที่ไร้สาระน่ะ มัวแต่พามันไปเบียดเบียนกัน พาไปหาความสุข พาไปหาความเพลิดเพลิน 

เขาเรียกว่าเกิดมาเสียชาติเกิด ...ใช้ขันธ์ไม่เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่สามารถอาศัยขันธ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกคนน่ะมันมีสมบัติมาเสมอกันแล้ว  ทรัพย์...มนุษย์สมบัตินี่ เป็นสมบัติที่เสมอกันแล้ว ...ใช้ให้เป็น ด้วยปัญญา ด้วยการเอาขันธ์นี่เป็นตัวเรียนรู้ 

มันปรากฏอย่างไร มันแสดงมาอย่างไร ...นี่ เขาแสดงธรรมให้เห็นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาแสดงความไม่มีใครเป็นเจ้าของอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว 

เขาแสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาแสดงความไม่มีตัวไม่มีตนในตัวของเขาอยู่แล้ว ...เราไม่ต้องไปหา เราไม่ต้องไปทำขึ้นมาเลย

แต่ว่าคนที่ไม่มีปัญญา มันก็ทำไปแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่มีสติ เนี่ย ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขันธ์ ไม่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรม

มันก็เลอะๆ เทอะๆ  เลื่อนๆ ลอยๆ  เผลอๆ เพลินๆ  ลอยไปลอยมา  ลุ่มๆ หลงๆ  ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามตาหูจมูกลิ้นกาย อดีต-อนาคต ...ไปกับสิ่งที่ไม่มีสาระ

ธรรมดาของขันธ์มันก็ไม่มีสาระอยู่แล้ว ...กลับไปหาไปอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระยิ่งกว่าขันธ์เสียอีก อะไรก็ไม่รู้ จับต้องก็ไม่ได้ 

นั่งคุยกันหนึ่งชั่วโมงนี่ ไม่มีเรื่องปัจจุบันเลย มีแต่เรื่องของคนอื่น กับเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเรื่องสภาวธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นเลยสักคน ...อะไรอย่างนี้

เพราะนั้น พยายามกลับมา อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง อยู่สันโดษ อยู่วิเวก อยู่ด้วยความสงบระงับ ...ครูบาอาจารย์ท่านบอก กินน้อย นอนน้อย ภาวนาเยอะๆ 

มีสติเยอะๆ สมาธิเยอะๆ ...มันจะได้กลับมาเห็นขันธ์ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้น ยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ได้มากขึ้น ...นี่จะได้ไปหาหมอกันน้อยลง 

เดี๋ยวนี้คนมันหาหมอกันเยอะ เพราะมันเครียด ...เวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็...เป็นน้อยก็กลายเป็นเป็นมาก เป็นมากก็...โอย ใกล้จะตายแล้ว  ถ้าเป็นขั้นตาย มันก็ชิงตายไปเลย ...เพราะมันคิดมากเกินไป

แต่ถ้าเราเรียนรู้กับมัน ยอมรับกับขันธ์ ...มันก็จะอยู่ได้ในระดับที่พอควร เท่าทันอาการ อยู่กับมัน เรียนรู้กับมัน...นี่ ขันธ์เขาแสดงความไม่เที่ยงอยู่แล้ว

แต่นักปฏิบัติธรรมมันชอบหา ชอบหาสภาวะใหม่ๆ  หาไม่ได้ก็เครียด กังวล เป็นทุกข์ ...ไอ้ที่เคยได้เวลามันหมดไปก็เสียใจ “เสื่อมอีกแล้ว มันหายไปไหน ทำยังไงถึงจะเหมือนเดิม” นี่

มันไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง อย่าไปเอา อย่าไปเอาอะไรกับขันธ์ อย่าไปเอาขันธ์มาเป็นภาระเพิ่ม ...ความเป็นขันธ์มันเป็นทุกข์ของมันอยู่แล้ว คือความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเข้าใจมันก็จะง่าย การใช้ชีวิตอยู่กับมันก็ง่าย สบายๆ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา อยู่กับความแปรปรวนด้วยใจที่เป็นธรรมดา อยู่กับการที่มันอยากได้...แล้วไม่ได้ หรือไม่อยากได้...แต่ได้ ...ก็เป็นธรรมดา

แล้วก็ให้ดูตอนที่เวลามันอยากได้แล้วไม่ได้ นี่ ดูอาการที่มันดิ้น  ดูอาการที่เวลาไม่อยากได้แล้วดันได้ ก็ดูอาการที่มันดิ้น ...ไอ้พวกนี้ส่วนเกิน เป็นส่วนเกินของขันธ์ หรือกิเลส หรือเกิดจากความไม่รู้

มันจะได้...อ๋อ  จะได้รู้ว่าเรายังมีมลทินอีกเยอะมั้ย  มันยังมีอาสวะ ยังข้อง ยังไม่รู้ความเป็นจริงอีกเยอะมั้ย ...ก็เอาเป็นตัวเทียบเคียงตัววัด แล้วก็ประเมินกำลังกันไป

ถ้าละได้ กำลังเพียงพอในการละตรงนั้น...ก็ละมันลงไป  อดทนแล้วก็ละไป ไม่เชื่อไม่ฟังความเห็นนั้นๆ ความเชื่อนั้นๆ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นๆ ละมันลงไป ... ถ้ากล้าละ...มันก็กล้าเลิกกะเราน่ะแหละ 

อยู่ที่ว่าเราไม่กล้าละมันเท่านั้นแหละ ไปอ่อนๆ ไหวๆ ไปละล้าละลัง รักพี่เสียดายน้อง กลัวละแล้วจะโง่ กลัวละแล้วจะไม่มีประโยชน์เบื้องหน้าไว้คอยรองรับน่ะ อะไรอย่างนี้ 

อย่าไปกลัวมัน ละได้ละไปเถอะ  ละได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ละจนไม่มีอะไรให้ละน่ะ ...จนเหลือแต่ขันธ์เปล่าๆ 

นี่ เมื่อวางไปแล้วมันก็เหลือแต่ขันธ์เปล่าๆ ...คิดก็...เออ รู้ปุ๊บก็ดับปั๊บ นี่  ไม่มี...คิดต่อไม่มี  คิดในอดีตก็ไม่มี คิดในอนาคตก็ไม่มี 

มาใหม่อีก...รู้ใหม่ ...สุข-ทุกข์มันจะเกิด รู้ปุ๊บ มันก็หมดตั้งแต่ตรงนั้นแหละ มันไม่มีไปเสียดายอาลัยอาวรณ์อะไรกับมัน ...มันก็เหลือแต่ขันธ์ที่มันปรากฏตามความเป็นจริงเท่านั้น 

แล้วขันธ์มันก็เป็นทุกขสัจตรงๆ ที่ปรากฏไปปรากฏมา เกิดๆ ดับๆ ของมันเอง...มีเท่านั้นเอง ...ถ้ากล้าละ มันก็ไม่มีอะไรติดข้องหรอก ...อย่าไปเสียดายมัน 

ไอ้ที่เราไม่กล้า มันเป็นเพราะความเห็น ...ซึ่งไอ้ความเห็นทั้งหลายทั้งปวงนั่นน่ะ มันเป็นความเห็นผิด...มิจฉาทั้งนั้น ..เข้าไปคาด เข้าไปเดา เข้าไปหวัง 

มันเข้าไปให้ความสำคัญ กับสภาวะนั้น อาการนั้น อาการนี้ ...ทั้งที่ไม่ว่าอาการไหนน่ะ สุดท้ายก็ดับ  มีอะไรไม่ดับ...ไม่มี ไม่มีหรอก

เห็นความดับไปบ่อยๆ นั่นแหละ เขาเรียกว่าภังคญาณ อะไรๆ มันก็พังหมดน่ะ ...พวกที่เรียนวิปัสสนาญาณมาจะรู้ ก่อนจะถึงโคตรภูญาณน่ะ พังหมดแหละ เขาเรียกว่าภังคญาณ 

ไม่มีอะไรเหลือ ...อยากได้กันนัก ไม่เห็นได้อะไรเลย ...นี่ มันถึงจะข้ามโคตรได้ เปลี่ยนนามสกุลใหม่ ...ถ้ามัวแต่หา มัวแต่สร้างขึ้นมา มันไม่พังน่ะ เพราะขันธ์นี่มันมีแต่ของพังน่ะ 

ญาณแรกที่ต้องเห็นก่อนเกิดดับ คือเห็นรูปเห็นนามก่อน ...ถ้ายังแยกรูปแยกนามไม่ออกจากกัน ยังไม่รู้เลยอันไหนเป็นรูปอันไหนเป็นนามนี่  มันก็ไม่เห็นรูปนามเกิดดับ

กายคือกาย กายคือรูป...ไม่ใช่นาม  ยืนเดินนั่งนอนนี่ มันเป็นนาม...ไม่ใช่รูป ต้องแยกให้ออก ...แล้วรูปจริงๆ มันคืออะไร ให้เห็นรูปกับนามสลับกันในอิริยาบถของกาย 

นี่รู้แล้ว แยกให้ออก มันก็จะเห็นความเกิดดับสลับกัน ...พอบอกว่านั่ง ก็ดูลงไปที่นั่ง อะไรนั่งวะ นี่ ก็ดูลงไป ดูลงไปที่กาย ก็จะเห็นว่าตึงๆ ไหวๆ แท่งๆ ก้อนๆ อย่างนี้ ...อันนั้นน่ะกาย 

ไอ้ “นั่ง” น่ะไม่มี ...พอดูลงไปที่กาย “นั่ง” ดับแล้ว เห็นมั้ย รูปกับนามมันดับสลับกันอย่างนี้ ...เรียกว่าเบื้องต้นต้องเห็นรูป-นามเกิดดับสลับกันไปมา

จากนั้นก็จะเห็นนามในส่วนต่างๆ ที่ละเอียดต่อไป ความคิด เวทนา สัญญา มันก็เห็นนามเกิดดับสลับกับรูป ...เห็นบ่อยๆ ดูบ่อยๆ ไม่ต้องไปหาอะไรมาดูหรอก มันแสดงให้เห็น มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว 

เพียงแต่มีสติอยู่กับขันธ์ในปัจจุบันเท่านั้นแหละ ...สติเป็นหลักธรรมซึ่งขาดไม่ได้  ...ถ้าขาดสติน่ะหมด ไม่มีอะไรเกิดได้หรอก สมาธิปัญญาศีลไม่มีน่ะ

เพราะนั้นสติจะเป็นธรรมที่เป็นอารักขาธรรม เป็นธรรมที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นธรรมที่มีคุณมาก เป็นธรรมที่มาสงเคราะห์ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงของมรรค 

ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรในอุบายวิธีต่างๆ นานา ให้กลับมาระลึกรู้อยู่ที่ปัจจุบัน...นั่นแหละเรียกว่าสติ เอาจนต่อเนื่องเป็นสัมปชัญญะ...จนเห็นกาย เป็นเส้นเลยแหละ การรู้สึกตัว เห็นตลอด ไม่ขาดสาย

เพราะนั้นการที่กลับมารู้กายบ่อยๆ เป็นนิสัยนี่ เมื่อถึงเวลาที่เผลอเพลินอะไรไปปุ๊บ บางทีไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันก็กลับมาดูกายของมันเองแหละ พอมีอาการไหว มีอาการอะไรมากระทบสัมผัสปุ๊บ มันก็กลับมาดูกลับมาเห็น

นี่ มันสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา...เป็นสติในการกลับมารู้กับกายปัจจุบันขึ้นโดยอัตโนมัติ สติตัวจริงก็เกิดง่ายขึ้น ...ไม่มีอะไรทำ ไม่มีอะไรดูมันก็กลับมาเห็นกาย

เอากายเป็นฐาน แล้วมันก็จะแผ่ซ่านออกไปเอง ซ่านออกไปถึงนามทั้งสี่  แล้วก็จะเห็นเป็นเรื่องเดียวกันหมด ไม่ว่ารูปไม่ว่านาม ไม่มีอะไรไม่ดับ ...นี่ สุดท้ายมันก็เห็นความดับไปๆๆ มันไม่สนใจการเกิดแล้ว

เมื่อเห็นการเกิดดับๆ มากๆ ต่อไปมันไม่เห็นสนใจการเกิดขึ้นแล้ว  มันสนใจว่า..อ้อ ดับอีกแล้วๆ  ไม่เห็นมีอะไรอยู่เลย ....ดับๆๆๆๆ ดับหมดไม่เหลือหลอเลย 

นี่เห็นขันธ์ดับหมด ไม่สนใจว่ามันเกิดน่ะ  สนใจว่า...โอ้ ไม่เห็นมีอะไรไม่ดับเลยโว้ย ...นั่นน่ะ มันก็จะเกิดภังคญาณขึ้น  พอเกิดภังคญาณ มันก็เกิดเป็นสังขารุเบกขาญาณ

อันนี้คือพูดแบบภาษาให้มันสับสนวุ่นวายไปงั้นน่ะ จริงๆ ก็คือมันก็ปล่อยวางขันธ์นั่นแหละ ...เออ ไม่เห็นมีอะไรเลย เรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู ไม่เห็นมีอะไรคงอยู่เลย 

มันก็วางขันธ์ในเบื้องต้น วางสักกาย...ว่าเป็นเราของเราลงไป ...จิตมันก็จะเริ่มเปลี่ยนระดับขึ้น 

เพราะอะไร ...เพราะมันลบมิจฉาทิฏฐิได้ในส่วนหนึ่งออกไป คือความไม่รู้ความเป็นจริงของขันธ์ในเบื้องต้น 

จะเรียกใส่ชื่ออะไรก็ได้ ในญาณไหนก็ได้ ไม่มีชื่อก็ได้ ...แต่ความเห็นต่อการกระทำของกายของจิต มันเปลี่ยนไปเองน่ะ 

ก็เรียกว่าปัจจัตตัง ...มันก็รู้ มันก็เห็นว่าเป็นเรื่องของมัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันหรอก ...นี่ ในระดับต้น แค่นั้นเอง


(ต่อแทร็ก 3/20  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น