วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/25 (1)



พระอาจารย์
3/25 (540322A)
22 มีนาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ภาวนาน่ะ...อุบายเยอะ อุบายธรรมน่ะเยอะ  จะเอาทางไหนก็มีเยอะแยะไปหมด ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนแล้วสอนอีก แจกแจงอุบายเยอะแยะไปหมด

แต่ส่วนมากน่ะ...จะติดแค่อุบาย มันเข้าไม่ถึงปัญญา ...ปัญญายังไม่ทันเกิดก็ตายกันซะก่อน เพราะมัวแต่ไปทำตามอุบาย พิจารณาอุบายธรรม  สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง เห็นนั่นบ้าง เห็นนี่บ้าง

มีความรู้อย่างนั้นบ้าง มีความรู้อย่างนี้บ้าง มีความแตกต่างที่ได้จากผลของการปฏิบัติ แล้วเข้าใจว่านั่นเป็นผลจากการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วได้อย่างนั้นมีความรู้อย่างนี้

แต่ว่าไม่เข้าถึงปัญญา ไม่เข้าถึงผลของปัญญา ...ในอริยสัจสี่ท่านก็บอกแล้วว่าให้เจริญมรรค ผลที่เกิดขึ้นคือนิโรธ คือความดับ ความดับไป

แต่คราวนี้ว่าพวกเรานี่ พอเริ่มปฏิบัติก็จะเอาผลที่ตั้งอยู่ได้มาวัดกัน ว่าได้ผลอะไร มีอะไรเกิดขึ้น ...มันเลยไม่เห็นไปถึงผลคือความดับไป ไม่เห็นถึงความดับไป ซึ่งตรงนั้นแหละเป็นผลสูงสุด

แต่เราไม่ชอบความดับไป ...ชอบให้มันมี ชอบให้มันเกิด อะไรก็ได้ มีสีมีสันหน่อยก็ว่าก้าวหน้า ปฏิบัติยังไงถึงจะก้าวหน้า

มันมีก้าวหน้ามันก็มีถอยหลัง ...ถ้ามันไม่มีก้าวหน้ามันก็ไม่มีถอยหลัง  ถ้ามันไม่มีได้มันก็ไม่เสีย ถ้ามันไม่ได้มันก็ไม่เสียอะไร

การปฏิบัติน่ะ ถ้ายังมุ่งไปข้างหน้า หรือว่ามุ่งไปเอาอะไร มันเป็นเรื่องที่ออกนอกเหนือใจทั้งนั้นเลย มันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำทั้งหมด ...มันเลยไม่เห็น ไม่เข้าใจผลตามความเป็นจริง

พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านแบ่งออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ เท่านั้นเอง...กายกับใจ กายนี่ท่านรวมหมดทั้งขันธ์ ๕ เรียกว่ากาย  ใจคือตัวที่ควบคุมขันธ์ ๕ ทั้งระบบ

จุดประสงค์ของท่านจริงๆ นี่ คือให้มารู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงเท่านั้นแหละ ว่ากายมันเป็นอะไร ใจมันเป็นอะไร

แต่ถ้าเบื้องต้นนี่ ยังไม่รู้เลยว่าอันไหนเป็นกายอันไหนเป็นใจ ...มันจะไม่เข้าใจ มันจะเข้าไม่ถึงเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น ให้เข้าใจ ให้เรียนรู้

เพราะมัวแต่ไปทำให้มันเกิดขึ้น เกิดความรู้ใดความรู้หนึ่งขึ้นมา...ตามที่เข้าใจเอาเอง ที่ได้ยินมา คะเนเอาว่านั่นเป็นธรรม นี่เป็นธรรม นี่ดี นี่ไม่ดี

มันก็เลยพยายามวิ่งออกไปหาอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุด ...เห็นจิตที่มันไม่ยอมหยุดมั้ย เห็นอาการที่มันไม่ยอมหยุด มันค้น มันทำ ...มันไม่ยอมรับ

ให้ดูตัวเองน่ะ มันไม่ยอมรับอะไร ...มันไม่ยอมรับเดี๋ยวนี้ มันไม่ยอมรับเดี๋ยวนี้ มันปฏิเสธเดี๋ยวนี้ คือปัจจุบัน มันพยายามจะทำเพื่อให้หนีออกจากปัจจุบันนี้

เห็นแรงผลักดันของสภาวะหนึ่งที่มันผลักดันให้เราต้องออกไปทำอะไรที่มันดีกว่าปัจจุบันไหม ...ไม่ยอมๆๆๆ ไม่ยอมอยู่ในปัจจุบัน

เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมเลยเป็นเรื่องของอนาคตทั้งสิ้น ทำทั้งหมดก็เพื่อจะเข้าไปได้อะไรขึ้นมาข้างหน้า ...มันเป็นการส่งออกจากปัจจุบันจิตทั้งหมด

เพราะนั้นไอ้สิ่งที่ได้มา...ซึ่งเกิดจากการกระทำขึ้นมานี่  มันจึงมีผลที่แตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน แตกต่างกัน

เหมือนเรามีส่วนผสมสิบแบบ มันแล้วแต่ว่าใครจะเอาอะไรผสมอันนั้นมากอันนี้น้อยกว่ากัน ...ผลลัพธ์มันก็แตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเอาอะไรไปประกอบขึ้นมา

มันก็มีผลที่ไม่เหมือนกันสักอย่างแต่ละคน ด้วยการทำขึ้นมา ...เนี่ย ผลของการปฏิบัติที่เราเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ได้อย่างนี้

แต่ถ้าเข้าใจจุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าที่ให้รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ...มันต้องหยุด มันต้องหยุดการกระทำเพื่อให้มีหรือให้เป็นก่อนในเบื้องต้น

กลับไปอยู่ในอาการแค่เฝ้ารู้เฝ้าเห็นกายใจในปัจจุบันเท่าที่ปรากฏ ในลักษณะนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าสติ หมั่นระลึกรู้แล้วก็เห็นอาการของกายของใจที่ปรากฏในปัจจุบัน 

แค่รู้แค่เห็น ไม่ให้ทำอะไร ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ...เพื่อจะได้เห็นว่ากายตามความเป็นจริงนี่ ที่สุดของกายตามความเป็นจริงที่มันปรากฏอยู่นี่มันคืออะไร ...ไม่ได้ให้ไปหา หรือไม่ได้ไปทำขึ้นมาใหม่

ในเรื่องของกายนี่มีทั้งรูปธรรมนามธรรมประกอบกัน หรือว่าขันธ์ ๕ เพราะนั้นว่าถ้าเฝ้ารู้ๆ อยู่กับปัจจุบัน มันก็จะเห็นอาการทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ปรากฏของมันเอง

เราก็ไม่ต้องไปห้าม เราก็ไม่ต้องหาเหตุหาผลอะไรกับมัน เราก็ไม่ต้องไปจัดแต่งมันใหม่ ทำให้มันเพิ่ม ทำให้มันลด หรือทำให้มันอยู่ หรือทำให้มันไป

ทำหน้าที่อย่างเดียวคือรักษาสติระลึกรู้และก็เห็น แค่นั้นน่ะ ...มันก็จะเข้าใจกายหรือขันธ์ ๕ ที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร...โดยไม่ต้องไปหา โดยไม่ต้องไปคิด โดยไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่

ความรู้นั้นน่ะไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่ แต่ให้มารู้เห็นด้วยสติในปัจจุบัน...ความรู้นั้นน่ะจะเกิดขึ้นที่ใจดวงนั้นเอง มันจะเข้าใจด้วยตัวของมันเอง ด้วยจิตดวงนั้น ด้วยใจดวงนั้น

มันไม่เหมือนกับแต่ก่อน เราหาความรู้แทบตาย ก็ยังละอะไรก็ไม่ได้ วางอะไรก็ไม่ได้ บังคับให้มันวางมันยังไม่ยอมวาง ต้องทำอะไรขึ้นมา ต้องอยู่กับอะไรเป็นเครื่องอยู่ เพื่อจะให้มันไม่เกิดอาการนั้นอาการนี้ ...มันก็ได้แค่ชั่วคราว

แต่ถ้ากลับมาระลึกรู้เท่าทัน เห็นในปัจจุบัน...โดยไม่เข้าไปยุ่ง  เห็นความเป็นจริงที่มันปรากฏจนตลอดสายของมันเอง ไม่เข้าไปแตะต้อง

เหมือนเรานั่งมองฝน นั่งมองแดด นั่งมองพระอาทิตย์ ...นั่งอยู่เฉยๆ นั่งมองดูเฉยๆ  มันก็จะเข้าใจเองว่า มันมีวันที่มีแดดมาก และก็แดดมันไม่เคยมากตลอดเวลา

เดี๋ยวแดดก็ร่ม เดี๋ยวแดดก็มาอีกแล้ว เดี๋ยวแดดก็ร่มอีกแล้ว เดี๋ยวก็ร่มมาก เดี๋ยวก็แดดมาก ...อะไรกันวุ้ย กูแค่นั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ทำไมแดดมันยังขึ้นๆ ลงๆ ของมันเอง

เนี่ย สติที่มันสังเกตกายใจ มันก็จะเห็นอาการของกายใจ มันเป็นอย่างนี้เอง อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง ...เพราะแต่ก่อนเราไม่มองแดด เราเข้าไปอยู่ในแดด

“ร้อนจังๆๆ ทำยังไงถึงจะหายร้อน ทำไมถึงร้อน”  เอ้า โง่มั้ยนั่น ไปทะเลาะกับแดดแต่ถ้าเรามานั่งดูแดดเฉยๆ ไม่ต้องยุ่งกับเขา ก็จะเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้ 

หรือนั่งดูฝน ฝนตก นั่งดูไปนั่งดูมา...อยากให้มันหยุดตก ...นี่เห็นมั้ย  ไม่อยากให้มันตก เห็นอีกแล้ว ความอยากมันเกิดตรงไหน ...ตรงไอ้คนนั่งดูนี่

แล้วตอนที่อยาก ฝนมันหยุดตกมั้ย หรือว่าฝนมันตกมากกว่านี้  หรือไม่อยากให้มันตก มันก็ยังตกอยู่ เนี่ย นั่งดูฝนนี่

ก็จะได้เห็นว่าความอยาก-ไม่อยากนี่ ...มันไม่สามารถไปบังคับครอบงำขันธ์ หรืออาการของขันธ์ หรืออาการของฝน แดด ลม ที่ล้อมรอบตัวเราอยู่นี้ได้เลย

เฉกเช่นเดียวกันน่ะ มันไม่สามารถจะเข้าไปบงการบังคับขันธ์ที่ล้อมรอบดวงใจนี้ได้ ...เนี่ยคือผล ...เข้าใจแล้ว ว่าทุกข์ทั้งหลายมันเกิดเพราะอะไร เข้าใจแล้ว เราจะไม่ไปทุกข์กับเรื่องพวกนี้อีก

นี่เรียกว่าปัญญา เห็นตามความเป็นจริงแล้วสามารถยอมรับมัน โดยไม่เข้าไปบงการ บังคับ สร้างขึ้นมา ทำขึ้นมาใหม่ เลือก ...นี่ มันจะหยุด กลับมาเป็นแค่คนที่นั่งดูเฉยๆ

แต่ก่อนเราไม่เป็นคนที่นั่งดู ...เราวิ่งเข้าไปคว้า วิ่งเข้าไปเล่นน้ำฝน ไปตะโกนด่าแดดลมพายุ เอามือไปป้องแดดกลางแดด หาอุปกรณ์มาบังแดด ...นี่ เห็นมั้ย เห็นกิริยาของตัวเราเองมั้ย

นี่เรียกว่ากิริยาของจิต ไอ้กิริยานี้มันเกิดจากอะไร ..แส่..ด้วยความอยากและไม่อยาก อยากไปยืนกลางแดดโดยที่ไม่ร้อนแล้วก็หาอุปกรณ์มาบังหัวไว้

นี่เรียกว่าอุปาทาน คิดว่ากูบังได้ ...โง่สองเด้ง  เด้งแรกตั้งแต่ออกไป เด้งสองหาอุปกรณ์มากันแดดได้ว่ากูชนะ ได้ผลเว้ยเฮ้ยการปฏิบัตินี้

พออุปกรณ์นั้นเสื่อม ตามธรรมดาของกฎของไตรลักษณ์ ...ทำไมจิตกูเสื่อม ทำไมไม่ก้าวหน้า ทำไมเดินไม่ข้ามแดดสักที ทำไมเอาชนะแดดไม่ได้

หาวิธีการใหม่อีก ฟังเข้าไป...เดี๋ยวมีอสุภะมาอีก เดี๋ยวจะมีพุทโธขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะมีดวงจิตผู้รู้อีก เดี๋ยวจะมีหนอๆๆ มาอีก เดี๋ยวจะมี...หูย accessories เต็มไปหมด

ฟังเข้าไป อ่านเข้าไป จนตัวเองยังไม่รู้เลยว่าจะเอาอะไรดีว่ะ  มันรู้เยอะเกิน...วิธีการ  แต่ผลออกมาไม่เห็นเหมือนกันสักอย่าง

กับการที่บอกว่ากลับมานั่งอยู่ในบ้าน ...ฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง อย่าไปบ้าบอคอแตกกับมัน มีคนมากวักมือเรียก มาเล่นน้ำฝนด้วยกันมั้ย ไปช้อปปิ้งกันมั้ย 

อย่าไป อย่าไปเชื่อ ...เขาจะหลอกไปขาย เขาจะหลอกไปฆ่า เขาจะหลอกไปทุกข์ๆ สุขๆ แล้วเขาก็ถีบหัวส่ง

โยมเคยนั่งอยู่ในบ้าน นั่งสบายๆ ในห้องรับแขกมั้ย แล้วก็ดูเด็กวิ่งเล่นในบ้าน...สบาย ...เวลาโยมไปนอกบ้านมา เหนื่อยมั้ย พอกลับมาบ้าน สบาย ..อ้อ ถึงบ้านสักที ผ่อนคลายสบายแล้ว เห็นมั้ย

อยู่บ้าน รู้จักอยู่บ้านซะบ้าง ...อย่าออกไปร่อนเร่เป็นผีไม่มีศาล ไปหากินตามของเซ่นของไหว้ แค่จะได้ผลอิ่มๆ ออกๆ อะไรสักนิดสักหน่อย อย่างนั้น

เคยเห็นมั้ยของเซ่นผีใส่ถ้วยตะไล ผีก็ตัวใหญ่จะตาย จะกินพอมั้ย ...นั่นแหละพวกเรา เหมือนวิญญาณเร่ร่อน ไปหาของกินตามที่เขาทิ้งขว้างนั่นน่ะ


(ต่อแทร็ก 3/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น