วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/30 (3)


พระอาจารย์
3/30 (540421)
21 เมษายน 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/30  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ามันยังมียังเป็นได้ เพราะมันคาอยู่ที่คิด จำ...เป็นภพ ติดอยู่ตรงนั้น ติดด้วยความข้องแวะ เกาะเกี่ยว เหนี่ยวรั้ง ทะยาน หา ไขว่คว้า รักษา ครอบครอง ไม่ยอมปล่อย กลัวไม่ได้ 

แล้วก็ไม่เห็นว่า...ได้มาแล้วก็สุดท้ายมันก็หายสู่สายลมและแสงแดด อย่างนี้  ชื่อเสียงลาภยศเหมือนสายลมและแสงแดดอย่างนี้ ...มันไม่เห็นความจริงนี้ 

ว่าที่สุดของความจริงน่ะ...ไอ้ที่ได้คืออะไร ไอ้ที่ไม่ได้คืออะไร...นั่น มันมีความจริงเดียวกัน

เมื่อตายแล้วจึงจะเห็น ...แต่มันไม่ทันซะแล้ว ดันตายไปซะก่อน ถึงจะ...อ๋อ รู้แล้ว ไม่ได้อะไรเลย ...นี่ ไม่ทัน ไปเห็นตอนตายก็ไม่ทัน

มันต้องให้ตายบ่อยๆ คือให้เห็นตอนอยู่นี่...ว่าเห็นความดับไป ความไม่คงอยู่ ...มันก็มาเรียนรู้ตอนมีชีวิตอยู่ สะสมปัญญา พอกพูนปัญญาขึ้นมา

มันติดอะไร มันข้องอะไร...ถึงจะละไม่ได้ ยังวางไม่ได้กับความเห็นที่แข็งแกร่ง ตัวเราที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมที่ว่าผลักดันเรา ...ก็ให้ชะลอยับยั้งด้วยสติสัมปชัญญะ 

อย่าให้ถลำจนเสียร่องเสียหลัก จนหลักมันง่อนแง่นคลอนแคลน โยกไปโยกมา โอนเอนเหมือนไม้หลักปักเลน ไม่ตั้งมั่น มันไม่ตั้งมั่นปักสติอยู่ เป็นตัวชะลอการทะยานเข้าไปในภพข้างหน้าข้างหลัง อย่างนี้

ให้กลับมาอยู่กับภพปัจจุบัน อย่างน้อยก็ให้อยู่กับการยืนเดินนั่งนอน อ่านหนังสือ ดูหนังสือหนังหา ฟังอาจารย์เขาพูดก็รู้ไป ฟังเสียงกระทบเป็นขณะๆ ไป

รู้ไปเป็นขณะไป คิดก็รู้ว่าคิด คิดก็รู้ว่าคิดในงาน ฟังก็รู้ว่าฟัง ...เวลาทำอะไรอยู่ก็รักษาคอยประคอง จำไว้ทำอะไรอยู่ ต้องออกมาดูบ่อยๆ รู้บ่อยๆ สังเกตดูมัน

มันยืน มันเดิน มันนั่ งมันอ่าน มันเห็น มันได้ยินอะไร...รู้อยู่  มันดีใจ มันเสียใจ มันอยาก มันไม่อยาก มันกังวล มันวิตก มันเครียด มันสบาย มันเบา มันหนัก

กลับมารู้บ่อยๆ กำลังทำอะไร กายทำอะไร จิตทำอะไร อยู่ในอาการไหน เป็นตัวชะลอๆ ...ถ้าชะลอบ่อยๆ แล้วมันจะต่อเนื่อง...ต่อเนื่องขึ้นมา

ก็ต่อเนื่องบ่อยๆ คอยทำความต่อเนื่องขึ้นมา ให้มันเห็นเป็นช่วงไป ...ตื่นก็กินข้าว กินข้าวก็จากที่เรียน จากที่เรียนเสร็จก็ถึงที่พัก ให้ช่วงจนยาวเหยียด รู้เห็นต่อเนื่อง

ไม่ได้รู้เห็นเรื่องอื่นเลย รู้เห็นตัวนี้ ขาสองแขนสองหัวหนึ่ง อยู่นี่ ...เรื่องคนอื่นไม่ต้องไปเห็นหัวมันแล้ว ไม่ต้องไปดูหัวมันหรอก ดูหัวตัวเอง กายตัวเอง แขนตัวเอง ขาตัวเอง

อยู่ในศีลห้า...ศีลห้า ขาสองแขนสองหัวหนึ่งนี่ศีลห้า อยู่ในตัว ดูตัว ก็จะเห็นตัวเหมือนหุ่นกระบอกเดินไปเดินมา ย้อกแย้กๆ เดี๋ยวจับนั่นเดี๋ยวคว้านี่ เดี๋ยวก็ขยับนู่นเดี๋ยวก็ขยับนี่

เดี๋ยวก็เกาตรงนู้น หยิบตรงนี้ เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวกระพริบ กระเทือน เคลื่อนไหว ...ดูเห็น จนเห็นทั้งกาย แล้วก็ดูอาการ เหมือนลมพัดลมเพ ฝนตกแดดออกอยู่ข้างในหุ่นกระบอก

นั่นเป็นนาม ก็เห็นอาการของนามไป กับรูป วนเวียนๆ ชนกันไปฟัดกันมา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ...ก็อยู่ไปอย่างนี้ ใจก็ดำเนินรู้ไป โดยไม่เข้าไปจับไปต้องไปแตะ ไปฝืนไปบังคับไปข่มไปรักษา

มันก็เห็นกระบวนการของกายก็พล้อบแพล้บๆ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของมัน ...ภายในก็มีการเห็นตรงนั้นรู้ตรงนี้ ได้ยินตรงนั้น เกิดความคิดตรงนี้ 

พอดับปึ้บแล้วก็เกิดความคิดใหม่ แล้วก็เกิดความคิดนั้น เกิดความรู้สึกนี้ ...มันอยู่กับความเกิดดับตลอด ดูไปดูมาก็แค่นี้ ดูขันธ์เป็นเรื่องอาการ ดูขันธ์มันแสดงละครตามบท

แล้วก็มีผู้กำกับเยอะแยะไปหมด รูปเสียงกลิ่นรสภายนอกก็กำกับ เดี๋ยวอย่างโน้น เดี๋ยวอย่างนี้ เดี๋ยวอย่างนั้น ตามคนนั้นบอก ตามคนนี้ว่า ตามกายนั้นไป

ความคิดก็เกิดตามกายนั้น เรื่องนั้นเวลานั้น แล้วก็ดับแล้วก็เกิดใหม่เรื่องนี้ เหตุนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวทางตา แล้วทางหูก็เกิดความคิดโน้นความเห็นนี้ขึ้นมาแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดความคิดนี้ขึ้นมาใหม่

โอ้ย วนเวียนอยู่อย่างนี้ มีอยู่แค่นี้...ขันธ์ ...นี่ เมื่อมันเห็นโดยรอบ ก็จะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง มันก็เห็นรอบรู้รอบ รู้รอบเห็นรอบ ว่ามันดำรงอยู่ด้วยเหตุปัจจัยต่อเนื่อง 

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันต่อเนื่องสลับสับเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบไม่สิ้นเลย ...นี่กระบวนการของขันธ์เป็นอย่างนี้ 

จนมันดูแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่มีอะไร ทำไมมันไปจริงจังมั่นหมาย เอาเป็นเอาตายกับเหล่านี้เหลือเกิน ...มันก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเบื่อหน่ายกระบวนการที่ทำให้เกิดขึ้นนี่

ได้มาอยู่ ได้มารู้ ได้มาเห็น มันก็เบื่อจะตาย...แต่ก็หนีไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมัน ...จะให้มันหยุด จะให้มันนิ่ง จะให้มันขาด จะให้มันไม่เกิดไม่ดับหรือไม่มีการเกิดจะได้ไม่มีการดับ มันก็ไม่ได้อีก

มันก็เหมือนกับอาการทนกับทุกข์โดยธรรมชาติ โดยหนีไม่พ้น ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด ...จนกว่าจะตายจากกัน มันถึงจะหยุดพักหายใจได้...สำหรับคนโลกนะ

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์...ขันธ์ถ้าหยุดพักหายใจนี่ตายยาวเลย ไม่ต้องมาหายใจอีกแล้ว ตายแล้วตายเลยๆ เขาเรียกว่าตายแบบสมควรตาย

พวกเรามันตายแบบไม่สมควรตาย เพราะมันตายแล้วเหมือนนอนหลับ เดี๋ยวก็ตื่น ตื่นมาเกิดใหม่ ...แต่พระอรหันต์นี่สมควรตาย ตายแล้วตายลับ ตายแล้วดับขันธ์เลย

ดับสองขันธ์เลย ขันธ์นอกขันธ์ใน ไม่มี ไม่มีอะไร ...คือท่านเห็นจนไม่มีอะไรให้สงสัยในขันธ์ ในอายตนะ ในผัสสะ ในธาตุ ในรูปในนาม ท่านเห็นเป็นสิ่งเดียวกัน

แล้วเห็นที่สุดของความเป็นสิ่งเดียวกันนั้นคือไม่มีอะไรเลย นอกจากความดับไป ...นั่น ท่านแจ้งโดยไม่ลังเลเลย ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนี้เลย

นี่แหละจริง...จริงที่สุด เป็นความจริงที่ไม่มีอะไรมาก้าวก่ายลบล้างหรือว่าจริงยิ่งกว่านี้ ...นี่เขาเรียกว่าสัจธรรม เป็นธรรมจริงๆ เป็นโดยสัจจะ

แต่กระบวนการที่เห็นแล้วยอมรับขนาดนั้นคือท่านเห็นเป็นขณะๆ ไป สะสมการรู้การเห็นในขณะๆ หนึ่งนั่นแหละ ....นี่ว่าด้วยปัญญาวิมุติ

คือรู้ด้วยสติสัมปชัญญะแต่ละครั้งๆ แล้วก็ไม่เอามัน ไม่ประคับประคองมัน มันก็จะดับไปเอง เห็นความดับไปของมันเป็นธรรมดา ...จนเป็นเห็นความดับไปเป็นธรรมดา

ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นเรื่องธรรมดา ...มันยังมีอะไรไม่ธรรมดา มันก็เอาจนกว่าจะเห็นเป็นธรรมดานั่นแหละว่าดับไป มันถึงจะละความข้อง ความติด ความยึด ความหมาย ความเที่ยง ความเป็นตัว

มันปอก ลอก ความเห็นผิดนั้นออกไป เหมือนปอกเปลือกก็จะเห็นเนื้อใน เนื้อในเนื้อ ...เมื่อปอกเนื้อไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นเม็ด ปอกไปๆ ก็เห็นว่าไม่มีอะไร ในที่สุด

อย่ามาติดแค่เปลือกคือสมมุติหรือบัญญัติ หรือความคิดเห็นใดความเห็นหนึ่ง ...มันติดแค่เปลือก กินแต่เปลือก แล้วก็บอกว่าเอร็ดอร่อย แล้วก็บอกว่ามีประโยชน์มีคุณ

ไม่มีอะไร...มันเปลือก ไม่มีสารอาหาร ไม่มีธาตุประโยชน์อะไร ...ปอกไปเรื่อยๆ ไม่เชื่อมัน  มันก็เห็นความจริงข้างในของมัน แปรปรวนบ้าง มากขึ้นบ้าง น้อยลงบ้าง ควบคุมไม่ได้บ้าง

ไปๆ มาๆ ดับ เอ้า อย่างนี้แล้วก็ดับ ดับ ...แต่พวกเราไม่ค่อยเห็นจนตลอด เห็นความดับ  พอมันมีก็หาอันใหม่ ยังไม่ทันหมด ยังไม่ทันดับก็หาอันใหม่

มันเลยละเลยการเห็นความดับ ...มันจะมีใหม่ได้มันต้องดับของเก่าก่อน แต่มันไม่เห็น  เพราะใจมันพุ่งออกไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่ มองดูรู้เห็น ด้วยอาการสงบตั้งมั่น

เห็นมั้ย ศีลและสมาธิไม่มี ปัญญาไม่เห็น ...พอไม่เห็นก็ไม่ยอมรับ นี่ มันยังไม่รู้เลย ตามมันทุกอย่าง ทั้งเจตนาและไม่เจตนา

ความจริงมันไม่เจตนาหรอก มันไปของมันเอง ล่องลอย ด้วยความไม่รู้นี่ ซึม เบลอ ไหล ...เหมือนเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้แล้วก็ไปทำงาน หารู้ไม่ว่าเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้...ลืม

สติสัมปชัญญะก็เหมือนกับก๊อกน้ำที่เปิดทิ้งไว้  กำลังล้างมืออยู่ มีคนมาเรียกไปทำงานปั๊บ เอ้า ไป ก๊อกน้ำเปิดทิ้งเอาไว้ ...อ้าว ตายแล้ว น้ำหมดแทงค์ ต้องเติมน้ำลงใหม่

พอเติมยังไม่ทันถึงไหนเลย  ก๊อกเปิดไว้ มีคนเรียก หรืออยากจะไปนั่นจะไปนี่...ไปแล้ว ก๊อกน้ำก็เปิดทิ้งไว้ ...มันก็มีแต่การรั่วการไหลของสติสัมปชัญญะ ของศีลสมาธิปัญญา

น้ำก็ไม่มีวันเต็ม ปัญญาก็ไม่เกิด ...เนี่ย มันเลยกลายเป็นไตรลักษณ์ไปอีกปัญญาน่ะ เกิดๆ ดับๆ (หัวเราะ) ไอ้เวลาให้มันเกิดดันไม่เกิด มีแต่ดับๆๆๆ

ไอ้เวลาไม่มีเรื่องนี่เกิดจัง รู้ไปหมด เข้าใจหมด...แต่เวลามีเรื่อง มันไม่เกิดเลย  …เวลาหลง เวลาเผลอ เวลาเพลิน เวลาโกรธ เวลาด่า หรือเวลามีกามราคะ ไม่เกิดปัญญาเลย

แต่เวลาอยู่เฉยๆ ไม่เกิดอารมณ์ แหม มันเกิดจัง เห็น เข้าใจ รู้ได้เกิดดับ อยู่ได้ๆ แต่พอเวลาเกิดปัญหา...หลงเกิดจริง ปัญญาหายไปไหนไม่รู้ ดับแบบหาไม่เห็นเถ้าถ่านเลย

ก็น้ำไม่มีเติม หยุดการใช้สอยไม่ได้ จะตักมาอาบมาดื่มมากินก็ไม่ทันใจ ...แล้วคราวนี้ก็ไฟไหม้บ้านจนเหลือแต่ตอแล้ว กูยังเติมน้ำไม่เต็มแทงค์เลย มันไปวิดน้ำอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

ถ้าสติสัมปชัญญะมันต่อเนื่อง มันเพียงพอแล้ว น้ำมันล้นจนเต็มล้นนี่ แค่ไม้ขีดก้านนึงกูก็ดับแล้ว พั้บ ...นี่จนบ้านจะเหลือแต่เถ้า จนเหลืออีกนิดเดียวน้ำเพิ่งมา

ตายสิ ตายไปกับมัน ทุกข์บีบคั้น สร้างกรรมวุ่นวี่วุ่นวาย แก้นั่นแก้นี่ ทำนู่นทำนี่ ด่าคนนั้นด่าคนนี้ ตำหนิทุกอย่าง กว่าจะหยุดได้ ...โอย ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาอีกบานเลยกู

ต้องมาชดใช้อีก กรรมวิบาก ไปด้วยความเผลอเพลินนี่ แต่ถ้ามีสติปัญญา รู้พั้บๆๆ หยุด แก้ได้เลย ชดใช้กันไป รับรู้ด้วยความยอมรับไป เท่าที่มีเท่าที่เป็นในปัจจุบัน เท่าที่มีต่อหน้า

รู้แบบโง่ๆ นั่น มันถึงจะเล็ดรอดได้จากวงเวียนของวัฏฏะสงสาร ที่มันเบียดกลืน บดกลืน ...โง่ เหมือนโง่น่ะ ต้องเคี่ยวน้ำซุป อย่างนั้นน่ะ นะ 

เอ้า มีอะไรมั้ย ข้องอะไรมั้ย ...หลักการปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องของเราล้วนๆ เป็นการเรียนรู้เรื่องของเราเอง ของกายของใจ ด้วยการหยุดอยู่ดูเห็น สังเกต ตรวจสอบมันๆ

สำเหนียกในใจอยู่เสมอ ต่อเนื่องเป็นนิจ สอบทานตรวจสอบ ...เวลาเดินไปไหนมาไหน เหมือนกับเดินถือกระจกเงาไปบานนึง มันจะได้ไม่ออกไป

ถ้ามันมีกระจกอยู่มันจะได้เห็นแต่ตัวเอง ดู กายอยู่ยังไง ใจอยู่ยังไง ...ถ้าไม่มีกระจกแล้วมันจะไปเรื่อย  ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ไปกับจิต ไปหมด

พอมีตรงไหนที่มันรับรู้ได้ มันไปตรงนั้นแหละ มันเป็นช่อง ...สติสัมปชัญญะเหมือนกระจก ปั๊บ รู้ เอ้า ไม่ไปไหน แล้วก็ย้อนกลับมาที่ใจที่กาย ขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่

มันก็เรียนรู้อยู่อย่างนี้ ธรรมะทำอยู่แค่นี้ มันรู้ได้ทั้งหมด กายใจเป็นที่ตั้งของความรู้ทั้งหลายทั้งปวง ...มันรู้รอบ รู้เท่าทัน รู้ได้ทุกบททุกตอน ถ้ามันอยู่ที่รู้

แล้วก็รู้ด้วยความรู้ที่แท้จริง รู้เดียว รู้อันเดียวนี่ เป็นที่เกิดของการรู้ทั้งหมดทุกเรื่องราว มันเกิดแล้วก็รู้อยู่ รู้รอบ ...แล้วมันจะเห็นสาระในรู้นั้นมากขึ้น ว่านี่เป็นความรู้ที่สูงสุดจริงๆ

คนที่จะออก จะไม่กลับมาเป็นทุกข์ได้อีก...ก็ต้องมารู้อยู่ที่นี่ ที่เดียว 

ไม่ว่าความรู้ทางใจ ความรู้ทางตา ความรู้ทางหู รู้ทางกลิ่น ทางรส ไม่ไปเอาความรู้นั้นมาเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย เอามาเป็นที่หมายที่มั่นที่ตั้ง

เอาความรู้เดียว รู้อันเดียว เนี่ย จึงจะรู้จริง เรียกว่ารู้จริง ไม่ใช่รู้หลอก ...แต่รู้จริง รู้จริงเห็นจริงคือรู้อันเดียว 

ไอ้ที่รู้มากรู้มาย รู้พูดนั่นพูดนี่ รู้ไปเรื่อย พูดไปเรื่อย มันรู้ไม่จริง ...เพราะมันไปรู้กับสิ่งที่ไม่จริง ไปรู้ทางหูทางตาทางใจ ทางความคิดความเห็น ...นี่ รู้ไม่จริง มันเป็นแค่สังขารหนึ่งเท่านั้น 

พอมารู้จริง...ไม่มีอะไร ... มีรู้เดียว รู้และเห็น แค่นั้น


.....................................




แทร็ก 3/30 (2)


พระอาจารย์
3/30 (540421)
21 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/30  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เวลามันอยู่ธรรมดา ใจก็สามารถจะยอมรับในทุกอาการ ทุกปรากฏการณ์ ด้วยอาการที่ไม่มีการส่ายแส่ ไหว กระเทือน เลื่อนไหล คล้อยออก

ก็แค่รู้กับปัจจุบัน ตรงที่อยู่ตรงหน้านี่ อะไรที่มันอยู่ตรงหน้านี่ มันก็แค่รู้น่ะ ไม่กระเสือกกระสนออกไปข้างหน้าข้างหลังอีก ไม่สร้างความคิดความปรุงเพื่อให้ไปข้างหน้าข้างหลังอีก

แรกๆ มันอยู่กับปัจจุบันแล้วมันก็กระเสือกกระสน แล้วมันก็ปรุงใหม่ แล้วก็ไม่ทัน ไม่ทันก็เกาะติดความปรุงแต่งไป ไปมีตัวมีตนกับความปรุงแต่งนั้น อนาคตอย่างนั้น เดี๋ยวเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

มีรูปในอนาคต ติดสอยห้อยตาม ไปสิงสู่ ไปอยู่กับผีของความคิด...นั่นเป็นวิญญาณ มโนวิญญาณ ...มันก็ล่องลอยไปเกิดกับมโนวิญญาณ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เหมือนกับมีรูปมันปรากฏขึ้น

ก็หลงไป กระโจนออกไปเกิดกับจิตวิญญาณ...ทางจักขุวิญญาณ ก็จะไปเป็นผี เป็นผีทางรูป มีตัวเราของเรากับรูป ยินดียินร้าย ตามรูปนั้นๆ ตามอาการที่ปรากฏทางตา

เดี๋ยวก็มีอาการที่ปรากฏทางหูอีก กระโจนอีกแล้ว โสตวิญญาณ  ก็ไปเกิดกับอาการทางหูอีกแล้ว

เพราะนั้น ถ้าเท่าทันแล้ว มันเท่าทันแล้วก็เห็นว่ามันเป็นอาการทางหู ทางตา  เป็นอาการทางใจ เป็นอาการทางจมูกทางกลิ่น ทางลิ้นทางรส

ก็เห็นว่าเป็นแค่อาการที่ปรากฏ ทางหู ทางตา ทางกาย ทางจมูก ทางลิ้น ทางความคิด ทางความจำ ...ก็เป็นแค่อาการที่ปรากฏ ถ้ามันรู้อยู่ ตั้งมั่นอยู่กับรู้อยู่ เห็นอยู่

อาการก็เกิดดับสลับกัน เกิดทางหูมันก็ดับที่หู เกิดทางตามันก็ดับที่ตา ...เหตุภายนอกก็ดับที่ตรงนั้น ไม่มีตัวเข้าไปผสมด้วยความปรุง ความคิด ความจำ ...มันก็ดับอยู่อย่างนั้น

มันก็ไม่กลายเป็นผีเร่ร่อนไปตามวิญญาณทั้งหก กายวิญญาณ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ฆานะวิญญาณ มโนวิญญาณ

มันก็เหลือแต่ใจรู้ แล้วก็เห็นวิญญาณนั้นดับไปตามที่มีอะไรมากระทบ ...“เรา” ไม่กระโดดเข้าไปอยู่ในวิญญาณ ไม่งั้นเป็นผี...อย่างนี้เรียกว่าผี ผีทางหู ผีทางตา

นั่นแหละ มันแค่วิญญาณรับรู้แค่นั้นเอง ...อย่าไปจริงจังกับการรับรู้นั้นๆ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา  เหมือนกับสร้างผีขึ้นมา แล้วจริงจัง เหมือนว่ามันเป็นตัวเรา

เหมือนเสียงเป็นของเรา เหมือนรูปเป็นของเรา เหมือนรูปเป็นของเขา ไปสำคัญมั่นหมายในสิ่งที่เป็นผี ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ...มันเลยหลอกเอา อย่างนั้้นน่ะ 

โดนผีหลอก...ผีทางตา ผีทางหู ผีทางกาย หลอก ...ก็เป็นจริงเป็นจัง ไปดีอกดีใจ เสียอกเสียใจกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาลมๆ แล้งๆ ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น

เมื่อรู้แล้ว...ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็รับรู้ว่ามันเป็นแค่อาการทางตา...ก็รู้ว่าเห็น  ...อาการทางหูมากระทบก็รู้ว่าได้ยิน กลิ่นมากระทบก็รู้ว่าได้กลิ่น

มันก็ไม่ไปกับกลิ่น มันก็ไม่ไปกับรส มันก็ไม่ไปกับเสียง มันก็ไม่ไปกับรูป ...มันก็รู้แค่เป็นอาการทางหู ทางจมูก เหล่านี้...เกิดดับสลับกัน หาตัวหาตนไม่มี

เพราะเราไม่ไปสร้าง ไม่มีเราเข้าไปสร้างรูป สร้างเสียง ตามเสียงตามรูปนั้น ใจมันก็ตั้งมั่นแค่รู้ มันก็รู้เห็นอาการตามความเป็นจริง ...คำว่าเห็นอาการตามความเป็นจริง คือเห็นว่ามันเป็นแค่อาการ

มีรูปมากระทบลูกตา ก็มีอาการรับรู้ว่าเห็น เป็นสีสัน เป็นแสงเป็นเงา เป็นมืดเป็นสว่าง เป็นทรวดทรง ...เนี่ย มันก็รู้ว่านี่เป็นแค่อาการที่เกิดขึ้นกับตา คือรูปมากระทบลูกตา มันก็เกิดอาการรับรู้เช่นนั้น 

เมื่อมีอาการมากระทบกับหูในลักษณะที่เป็นเสียง มันก็เป็นการรับรู้ว่าได้ยิน ...เนี่ย ขันธ์ กระบวนขันธ์น่ะรับรู้กับภายนอกอย่างนี้ ...แล้วดูสิ ก็ดูตามอาการ หรือว่าดูอาการนี้ตามความจริง 

มันเป็นแค่การรับรู้ตามลักษณะของเสียง ลักษณะของรูปที่มากระทบตา กระทบหู มันเป็นใครล่ะ มันเป็นของใคร มันเป็นใคร อะไรตรงไหนกันนั่นน่ะ 

มันกระทบแล้วมันก็เกิด แล้วก็ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ดับ ...เนี่ย อายตนะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นแค่อาการตามความเป็นจริง เป็นแค่อาการ อย่างนี้เท่านั้น

แต่ถ้าไม่เห็นว่ามันเป็นแค่อาการ หรือเห็นว่าตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นแค่อาการ ...มันจะหลงเข้าไปในเสียง มันเข้าใจว่า “เรา” เป็นผู้ได้ยิน เราเป็นคนเห็น เราเป็นคนได้กลิ่นได้รส เรากำลังนั่นนี่

พอมี “เรา” ขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีความยินดียินร้าย เนี่ยแต่ถ้ามันรู้ทันว่าเป็นแค่อาการ มันไม่มี “เรา” ...เมื่อไม่มี “เรา” มันก็ไม่มียินดี มันก็ไม่มียินร้าย มันก็เป็นแค่อาการหนึ่ง

หวานก็เป็นแค่อาการหนึ่ง เค็มก็เป็นอาการหนึ่ง หอมก็เป็นแค่อาการหนึ่ง เหม็นก็เป็นแค่อาการหนึ่ง แล้วก็ดับ ...ไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีใครหอม ไม่มีใครเหม็น

เพราะเราเห็นว่ามันเป็นแค่อาการ...ไม่มี “เรา” ...เนี่ย เรียกว่าปัญญาเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ...ต่อเนื่องด้วย...ต้องต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่เห็นครั้งเดียวแล้วพอ

ตั้งสติตั้งใจแล้วดู...อ้อ เห็นครั้งเดียว แล้วพอ แล้วหยุด แล้วสนุกต่อ เพลินต่อ หลงต่อ เมาต่อ เป็น “เรา” ต่อ อย่างนั้น...ไม่ขาด สักกายไม่ขาด...สักกายทิฏฐิไม่ขาด

คำว่า “สักกาย” นี่ ไม่ใช่ว่าตัวเรา มันเป็นสักกายนะ  ...ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นว่าเป็นเราของเรา นี่ มันไม่ขาด ไม่ใช่ว่าเป็นตัวเราของเราไม่ขาด  แต่ “ความเห็น” ว่าตัวเราไม่ขาด ...เพราะนั้นสักกายทิฏฐิ คือความเห็นนั่นเอง

ถ้าสติมันได้แค่ครั้งๆๆ ครั้งไป แต่ถ้าเป็นสัมปชัญญะมันจึงจะต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน ...จนศีลสมาธิปัญญาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จนล้นน่ะ...ล้นคือไม่ขาดสายเลย

เมื่อถึงได้ ทำได้ขนาดนั้น เจริญเหตุของสติสมาธิปัญญาได้ขนาดนั้น ...ไม่ต้องถามเลย เข้าใจได้เอง เห็นตามความเป็นจริงได้หมด ไม่มีอะไรมาหลอก ว่าเป็นเราของเราได้อีก

การใช้ชีวิตก็ใช้ไป ไม่ใช่สาระอะไรสำคัญหรอก เป็นเรื่องรอง ทำอะไรก็ทำไป ไม่ได้เอาเป็นหลัก เป็นเรื่องรองลงไป ...แต่หลักคือหลักใจ หลักเดียว

เอาใจเป็นหลัก อย่าให้ใจหาย อย่าให้สติหาย อย่าให้ขาดการรู้การเห็น  จะทำ จะไป จะมา ต้องพิจารณาซะก่อน ...เหมือนหลวงปู่ท่านว่า โอม มหาพินิจพิจารณา จะไปจะมาต้องพิจารณาเสียก่อน

คือต้องรู้ก่อนไป แล้วก็ตั้งใจไป ตั้งใจมา...ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ทำอะไรอยู่ให้เห็น จิตอยู่ในอาการไหน อยู่ในอาการของคิด ของปรุง...ให้เห็น ให้รู้

จะไปจะมากับความคิดก็ต้องพิจารณาเสียก่อน คือตั้งใจแล้วก็พิจารณาก่อนว่ากำลังทำอะไร จะได้ไม่หลงเผลอเพลินไปกับมัน 

ถ้ารู้แล้วตามมันไป แล้วไม่รู้ตัวต่อ ไม่เห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น เดี๋ยวก็เผลอเพลิน ...เพลินยังไง เผลอยังไง ...ใจหาย กายหาย

ไปเป็นความคิดซะแล้ว ไปเป็นอารมณ์ซะแล้ว ไปเป็นรูปเป็นเสียงข้างนอกซะแล้ว อย่างนี้เรียกว่ากายหาย ใจหาย ...หลง โมหะพาไปพามา พาเกิดพาตายกับรูปกับเสียง

มันเลยไม่เรียกว่า โอม มหาพินิจพิจารณา จะไปจะมาให้พิจารณาเสียก่อน ...ก่อนที่จิตจะไปไหน ก่อนจิตจะไปความคิด ก่อนจิตจะไปกับความจำ ก่อนจิตจะไปกับรูป ก่อนจิตจะไปกับเสียง

ก่อนจะทำอะไร กายจะเดินไปไหน จะขึ้นรถลงเรือ จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน ตั้งใจให้ดีแล้วค่อยลุกไป ...จะไปซ้ายก็ไป จะไปขวาก็ไป ไปไหนก่อนก็ได้ มันต้องไปก็ต้องไป...แต่ว่าไปแล้วต้องรู้ว่าไป

มันไม่ใช่ว่ามันจะมาหยุดอยู่เฉยๆ ในชีวิต ...ไปก็ได้ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ แต่ก่อนจะไปตั้งใจให้ดี แล้วก็ระหว่างทางเดินไปให้รู้

ไม่ได้ห้ามการคิด ไม่ได้ห้ามการเรียนหนังสือ ไม่ได้ห้ามการยืน การกิน การไปไหนมาไหน ...แต่ไปด้วยสติและสัมปชัญญะกำกับด้วย ไปมาได้หมด อยู่ก็รู้ว่าอยู่ ไปก็รู้ว่าไป

นี่ จะไปจะมาต้องตั้งใจ ก่อนจะลุกก่อนจะไป ไม่ใช่พั้บๆๆ ลุกไปถึงเลย  จะเดินไปก็หยุดแล้วตั้งใจก่อนเดิน...แล้วไปเหอะ ไม่ผิด มันต้องทำก็ต้องทำ มันต้องคิดก็ต้องคิด

ไม่ได้ห้าม ไม่ใช่บอกว่าผมจะไม่ทำอะไรเลย ผมจะรู้อยู่อย่างเดียว ...นั่น อันนั้นก็เกินไป เคร่งเกินไป มันก็มาใช้กับชีวิตไม่ได้

เพราะว่าชีวิตน่ะมันถูกกรรมเป็นตัวบังคับ เป็นตัวที่เราต้องไปต้องมา ไม่มีการอยู่เฉยๆ หรอก ...นิ่งอยู่เฉยๆ มันก็เป็นรูปปั้นสิ ตาหูจมูกมันก็ต้องได้กลิ่น ได้ยินได้ฟัง ได้เห็นอยู่

แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ มันไม่กลัว...ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ ...แล้วเราจะเห็นว่าที่สุดของมันคืออะไร 

หมด จบ ดับ ไม่มีอะไร ไม่เก็บมาคิดต่อ ไม่เก็บมาคาดคะเนกับมันต่อ ...นั่นน่ะคือจบจริง จบในกิจนั้น ทำกิจนั้นเสร็จก็จบ ...มันจบมั้ยล่ะ

ถ้าไม่จบ ...ไม่จบก็ทุกข์อีก ถ้าไม่จบก็ทุกข์ เหมือนค้างอยู่ คาอยู่ ข้องอยู่ ...มันข้องกับอะไร ข้องกับความคิดความจำ 

ความจริงมันจบได้หมด ตั้งแต่ทำเสร็จในกิจนั้นๆ เหตุนั้นๆ ทั้งภายในภายนอก


ผู้ถาม –  ตอนแรกก็ตั้งใจจะถามอาจารย์ว่า แล้วถ้าเกิดผมไปเรียนนี่ จะต้องทำยังไงต่อถึงจะเจริญสติได้ แต่อาจารย์ตอบแล้วก็ไม่ถามต่อแล้วครับ รู้แล้วว่าจะต้องทำยังไงต่อครับ

พระอาจารย์ –  ก็บอกไม่ต้องไปอะไร อยากทำอะไรก็ทำ ...แต่ว่าต้องมีสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องกับมันแค่นั้นเองในอาการ 

จนกว่ามันจะเห็น จนกว่ามันจะแจ้ง จนกว่ามันจะจบ ...แล้วมันจะรู้เลย “กูจะไม่ทำอะไรแล้ว” มันก็จะหยุดเจตนาทั้งสิ้น ...แต่อันนี้มันมีเจตนา มีเรา...มีเจตนา 

ทำยังไงถึงจะไม่ตกไปในอิทธิพลในเจตนาของเราเกินไป ...ก็เอาสติสัมปชัญญะเข้าไปกำกับให้ต่อเนื่อง จนกว่าเรากับเจตนานั้นดับ ทุกข์มันจะหยุดไปเอง ดับไปเอง 

เราไม่ต้องไปบังคับ ไม่เอาเราไปคาดหวัง ...ก็รู้ไป ดูไป จนกว่า “เรา” มันจะน้อยลง เจตนาก็น้อยลง

อยากสอบ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ...ต่อไปก็ไม่รู้จะดูไปทำไม ไม่รู้จะได้อะไร อย่างนี้...“เรา” ก็น้อย เจตนาก็น้อย ก็เลยขี้เกียจมากขึ้น ไม่รู้จะเอาไปทำไมอย่างนี้

แต่ตอนนี้มันมีความขยันขวนขวาย เจตนามันแรง เพราะ “เรา” มีเป้าหมาย แค่นั้นเอง ...แต่ว่าเมื่อใช้มัน “เรา” กับเจตนาใช้ขันธ์อยู่ เราก็เอาสติสัมปชัญญะมากำกับให้เป็นกลาง

ให้รู้จักกับคำว่าพอดี ไม่ให้มันเกินเลย ถลำลงไป ถลำไปแบบติดบ่วง ...มันถลำลงไปแล้วมันจะติดบ่วง พอติดบ่วงแล้วมันไม่สนใจอะไรแล้ว ไปเกิดไปตายอย่างเดียวแล้ว

ลาภ ยศ สรรเสริญ ยินดี ยินร้าย เสียอกเสียใจ พออกพอใจ คำชมคำด่าคำอะไร ก็ว่ากันไป ...แล้วก็วิ่งไปสู่จุดนั้น สู่เงา ไปเป็นผีเกิดตายในโลกนั้นไป

แต่ถ้ามันมีสติกำกับ สัมปชัญญะกำกับ ถือว่าเป็นการภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก ...มันจะเป็นตัวชะลอบังเหียนหรือหางเสือที่จะคัดเรือ เรือแจวหรือเรือยนต์อะไรก็ตาม

ให้มันอยู่ในครรลองของมรรค เพื่อให้อยู่ในกระแสของมรรค เข้าใจมั้ย ไม่ให้มันเตลิดออกร่องน้ำลึก ลงไปว่างเปล่าจมน้ำตายในมหาสมุทรหรือโอฆะสงสาร

มันก็จะไปในครรลองของมรรค เพื่อจะไปที่สุดของมรรค จนถึงที่สุดในมรรค ...เมื่อนั้นน่ะ ที่สุดในมรรคเมื่อไหร่ก็หา “เรา” ไม่เจอแล้ว

เมื่อไม่มี “เรา” ก็ไม่มีเจตนา เมื่อไม่มีเจตนามันก็ไม่มีปัญหา ...เมื่อไม่มีการกระทำ มันก็ไม่มีผลของการกระทำ มันก็เลยไม่มีทั้งผู้ทำและผู้เสวย มันก็อยู่ไปงั้นๆ น่ะ

จะมหา ปธ.๓ ปธ.๔ ปธ.๙ ก็งั้นๆ น่ะ ก็เท่ากันน่ะ ...ตายแล้ว มหาก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่หา ไปเจอแต่กระดูกอย่างนี้ มหาอยู่ไหนๆ อยู่ในกระดูกเหรอ ไปทุบดูซิ

ความรู้ที่ไหน แทรกอยู่ไหน ไปทุบกระดูกดูซิ ความรู้มันแอบอยู่มั้ย ยังมีอยู่มั้ย ...เหลือแต่กระดูก กระดูกแล้วก็ป่น ป่นแล้วก็กลายเป็นอณู ต่อไปมันก็ไม่เห็นกระดูกแล้ว

ถ้ากระดูกยังมีอยู่มันก็เต็มโลกไปหมดแล้ว โลกนี้ก็มีแต่กระดูกเที่ยงสิ มันก็ยังมีแต่หินดินน้ำลมไฟ ความรู้ความจำไม่เห็นอยู่ตรงไหนเลย 

มันก็ตายไปพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน ในช่วงวาระหนึ่ง ...มหาก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่หา มาหาดูไม่เห็นอะไร เหลือแต่กระดูกก้อนนึง กองนึง หย่อมนึง 

แล้วก็เป็นขี้เถ้ากระจุยกระจายสลาย เป็นสายลมและแสงแดด ...อ้าว มหาคืออะไร คือสายลมและแสงแดด เออ เป็นเรื่องเดียวกัน เนี่ย ...สุดท้ายมันสู่ความไม่มีไม่เป็น


(ต่อแทร็ก 3/30  ช่วง 3)