วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/30 (1)



พระอาจารย์
3/30 (540421)
21 เมษายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  จะกลับแล้วหรือ

ผู้ถาม –  ครับ จะมากราบลาอาจารย์ด้วยครับ แล้วก็ส่งการบ้าน


พระอาจารย์ –  กลับไปเรียนต่อรึไง

ผู้ถาม –  ครับผม ต้องกลับไปเรียนบาลีต่อน่ะครับ ยังไงก็ต้องกลับวัด พอกลับวัดยังไงมันก็ต้องเรียนน่ะครับ อาจารย์ที่นั่นท่านก็ต้องให้เรียน


พระอาจารย์ –  ปธ. เท่าไหร่

ผู้ถาม –  ปธ. ๔ ครับ


พระอาจารย์ –  แล้วเป็นยังไงมั่งล่ะอยู่นี่

ผู้ถาม –  ก็โดยรวมๆ แล้วทางกายก็สบายดี ทางจิตผมว่ามันก็พัฒนาขึ้นน่ะครับ จิตมันก็มีสติมากขึ้น จากครั้งล่าสุดที่มากราบพระอาจารย์ หมายถึงว่าคราวนี้น่ะครับที่มา ก็ดูเหมือนจิตมันจะมีสติมากขึ้น 

แต่พอที่อาจารย์บอกให้ไปภาวนาต่อตามที่บอกนั่นน่ะครับ ก็มันจะมีบางช่วงที่ผมเห็นว่าจิตมันเหมือน...ตอนเดินจงกรม จิตมันดับไปแป๊บนึง แพล้บนึง แล้วยิ่งตอนนั่งสมาธิ มันจะดับไปวูบนึงเลย ก็นิดนึง 

แต่ถัดจากนั้นมันก็ไม่มีอะไร มันก็เป็นไปตามปกติ แต่กลับเห็นอะไรต่างๆ มันไวมากขึ้นน่ะครับ มันเหมือนมีอะไรแบบคงๆ อยู่แล้วก็ติ๊กๆๆ ไปเรื่อยๆ แต่ว่าผมไม่ได้เป็นบ่อยน่ะครับ เป็นบางช่วงที่มันจะทรงๆ อยู่อย่างนั้น มันก็เป็นอยู่ประมาณนี้น่ะครับ


พระอาจารย์ –  ก็ทำไปอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ว่าทำแค่เดินจงกรมนั่งสมาธิ มันต้องตลอดเวลา ต้องต่อเนื่องให้ได้ตลอดเวลา ด้วยสัมปชัญญะ ไม่อ้างเวลา สถานที่ใด ...รู้ขึ้นมาแล้วก็ตั้งใจขึ้นมา 

เมื่อหลงแล้ว รู้แล้ว รู้ตัวแล้ว ก็ตั้งใจต่อจากนั้นไปให้ยืดยาวไป เป็นสัมปชัญญะ ให้มันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทำอะไร ...จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะอ่าน จะดู จะเห็น จะได้ยินอะไร ก็ให้มันรู้ต่อเนื่องไป 

ส่วนการเกิดดับของจิตในปัจจุบันน่ะ แล้วแต่มันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ...ดูไปเรื่อยๆ การเกิดดับในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นเอง ไอ้ความเกิดดับในปัจจุบัน มันก็ไม่มีอะไร 

วลามันดับในปัจจุบัน บางทีมันดับทั้งสิ่งที่ถูกรู้แล้วก็รู้...มันดับ ...จิตไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง เกิดดับพร้อมกันในปัจจุบัน แล้วมันก็ต่อเนื่องขึ้นมา

เมื่อประกอบเหตุแห่งสติขึ้นมา...สติปัฏฐาน ให้ต่อเนื่องเป็นสัมปชัญญะ ...นี่ เรียกว่าเป็นการเจริญมรรค เป็นการประกอบเหตุแห่งมรรคขึ้นมา ด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะ

ก็ไม่ไปประกอบเหตุแห่งความอยากสงบ ความอยากเห็น อยากมี อยากเป็นอะไร อยากรู้อะไร...ไม่ใช่ ...ประกอบเหตุแห่งสติสัมปชัญญะ เรียกว่าการเจริญมรรค

ผลมันก็จะปรากฏของมันตามลำดับลำดา ความรู้ความเข้าใจก็จะตามมา ...ความเข้าใจ ความแจ้งในขันธ์ ความเห็นที่มีต่อขันธ์ มันก็จะตรงเข้าไป มันก็เก็บเกี่ยวผลไป

ความเบา ความเป็นอิสระ ความไม่เป็นเรื่องเป็นราว ความมีเรื่องมีราวกับขันธ์ กับอายตนะ กับรูปกับนาม กับสรรพสิ่ง เรื่องราวต่างๆ มันก็จะน้อยลง ...เรื่องมี...แต่เราไปมีเรื่องกับมันน้อยลง

เพราะนั้นเรื่องมันมีอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ เรื่องทางรูป เรื่องทางเสียง เรื่องทางกลิ่น เรื่องทางรส เรื่องทางผัสสะ เรื่องทางใจ มันก็มีตลอดเวลา มันไม่หายไปไหนหรอก

แต่เรา...มันไม่มี “เรา” ไปมีเรื่องกับมัน หา “เรา” ไปมีเรื่องกับมันน้อยลง ...นั่นแหละผล ไม่ต้องหวังผลอื่น ...แล้วเราก็เจริญมรรคต่อ สติสมาธิปัญญา สัมปชัญญะให้ต่อเนื่องไป

เรียกว่าอาศัยอยู่โดยความเพียร เพียรต่อเนื่อง เพียรรู้เพียรละ เพียรรู้...แล้วก็ละ เพียรรู้แล้วก็ละไป ...ไม่ใช่รู้อะไรแล้วก็เก็บ รู้อะไรแล้วก็มาเป็นเรื่อง รู้อะไรแล้วก็มาเป็นเหตุสงสัย

ไอ้อย่างนี้มันไม่ได้รู้ละ มันรู้เอา ...เพราะนั้นก็ไม่เอา รู้อะไรเห็นอะไรมา มีอะไรเกิดขึ้นปึ้บ มันก็ปล่อย ให้เขาเกิดเอง ตั้งเอง แล้วก็ดับไป ผ่านไป ...อย่างนี้เรียกว่ารู้แล้วละ

รู้แล้วไม่เอามาเป็นอารมณ์ รู้แล้วไม่เอากลับมาเป็นเรื่องเป็นราวต่อเนื่อง แค่นั้นแหละ ...ใจมันก็จะค่อยๆ ถอนออกจากการเข้าไปมีไปเป็นกับขันธ์ทั้งรูปและนาม

ขันธ์ประกอบด้วยรูปและนาม รูปขันธ์นามขันธ์ ...ส่วนที่มันจะไปติดข้องมากที่สุด ก็คือในเรื่องของนามขันธ์ คืออดีต อนาคต ความจำ ความปรุง

ความอยากมักจะไปเกิดขึ้นกับรูปขันธ์นามขันธ์ซะส่วนมาก...กับนามขันธ์นี่ส่วนมาก ...ส่วนรูปขันธ์มันชัดกับรู้ มันจะแรง มันจะปรากฏชัดเจน มันก็จะรู้ทัน

เกิดอาการวิตกกับรูป เข้าไปข้อง เข้าไปติดกับรูป...ก็อยู่ด้วยความอดทน ...ถึงละไม่ได้ก็อยู่ด้วยความอดทน รู้ไป ดูไป แยบคายกับมันไป แยกส่วนระหว่างรู้กับกาย รู้กับเวทนา แยกออกไป

รู้เข้าไป ...เท่าทัน นี่ ความเท่าทันจะมากขึ้น ...ต่อไปพออยากมีอยากเป็น มันก็จะทัน  อยากได้อยากเห็นอะไร มันก็จะทัน  อยากหาอยากรู้อะไร มันก็จะทัน

ญาณทัสสนะ นี่ทัน...ดับหมด ...พอมันทันความอยาก ก็จะดับความอยาก ...จิตมันก็จะเบา จะโล่ง  มันก็จะเงียบขึ้น สงบขึ้น วิเวกขึ้น สงบจากการปรุงแต่ง

ความปรุงแต่ง ความเข้าไปหมายในสิ่งต่างๆ ก็จะค่อยๆ น้อยลง จางลง อ่อนลง ...ไม่ต้องมาบังคับด้วยความอดทนกับมัน ก็อยู่ด้วยความเพียร เจริญศีลสมาธิปัญญาไม่ขาดสาย

ไม่ต้องหาผล...ผลมันเกิดเอง อยู่ที่ประกอบเหตุอย่างไร  ขี้เกียจก็น้อย ได้น้อย  ขยันก็ได้เยอะ ผลมันก็ได้เยอะ ...ถ้าขาดเป็นวรรคเป็นตอน เป็นช่วงเป็นห้วง ผลก็หาย

เมื่อผลมันไม่ปรากฏ ผลมันไม่มี ...นี่เพราะเหตุไม่เกิด เหตุไม่ทำ ...มันก็เกิดความเศร้าหมอง สงสัย ขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ก็ครอบงำ...กามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา 

นิวรณ์พวกนี้ก็จะครอบงำ เป็นผลแห่งการที่หลงเผลอเพลินไปมีไปเป็นกับขันธ์ แล้วขันธ์มันไม่ยอมมีไม่เป็นกับเรา นั่นแหละ อาการมันก็เป็นความขุ่นมัว เศร้าหมอง รันทด เสียใจ อาลัย เป็นสุข เป็นทุกข์

เพราะนั้น สติเป็นเหมือนเงื่อนปมแรก เป็นจุดแรก...ที่มันจะสาวได้หมดทั้งศีลสมาธิปัญญา  มันเป็นช่วงแรกของการมีอุปกรณ์ที่จะให้เกิดศีลสมาธิปัญญา

ถ้าไม่มีสติ ศีลไม่เกิด สมาธิไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ...จะนั่งสมาธิจนตาย แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ไม่มีตัวรู้ ใจ...ไม่มีแยกใจออกมา เห็นว่าทำอะไร รู้อะไร มีอะไรปรากฏ

มันไม่เป็นสมาธิสมาแทะอะไรหรอก มันมีแต่ความอยากสงบแค่นั้นเอง ไม่มีอะไร ...แล้วก็มีข้ออ้างกับการมาซัพพอร์ทในความสงบ...มาสนับสนุนมันให้ทำต่อไปแค่นั้นเอง

แต่ถ้ามีสติแล้วนี่ ยืนเดินนั่งนอน...แม้ไม่สงบ รู้อยู่เห็นอยู่ว่าทำอะไร  มันเป็นการเรียนรู้ขันธ์โดยปริยาย เป็นการเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปหา

มนุษย์ทุกคนน่ะ มันอยู่กับขันธ์...แต่มันไม่เห็นขันธ์  มันอยู่กับใจ...แต่มันไม่เห็นใจ  มันอยู่กับเสียง...แต่มันไม่รู้ว่ามีเสียง  อยู่กับรูป...แต่ไม่รู้ว่ามันเห็นรูป

นี่ มันอยู่ด้วยความโง่ อยู่ด้วยความหลง อยู่ด้วยความมัวเมา อยู่ด้วยความเห็นต่างๆ นานา ที่เสกสรรขึ้นมาเอาเองของใจที่มีอวิชชาเป็นตัวผลักดัน

คือความไม่รู้นั่นแหละผลักดันออกมาเป็นความเห็น อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ผสมปรุงแต่งขึ้นมาแล้วก็เชื่อในลมๆ แล้งๆ ...มันก็เลยเป็นการวิ่งไล่จับลมไป

มันก็หาอะไรมาทดแทนของเก่าอยู่ร่ำไป หาใหม่เพื่อให้ได้ใหม่ ...มันก็มีแต่ของเก่าในโลกนี้ เปลี่ยนมือกันไปเปลี่ยนมือกันมา ...เหมือนเรามีเงินนี่ เราก็บอกว่าเงินของเรา

มันดูเหมือนใหม่ของเรา แต่จริงๆ เป็นเก่าของคนอื่น มันเปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมาอยู่อย่างนี้ มันไม่ได้เป็นของใหม่ เดี๋ยวก็อยู่มือเรา เดี๋ยวก็อยู่มือคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวก็อยู่ในแบงค์

มันเป็นของหมุนเวียนอยู่ในโลก แต่ด้วยความไม่เข้าใจเราก็คิดว่า ดีอกดีใจว่าได้เงินได้ทอง ได้จับจองได้เป็นของเรา ...เมื่อเป็นของเราเดี๋ยวเราก็ใช้ไปแล้ว เดี๋ยวก็หมดแล้ว

ดูแบงก์ในกระเป๋าเราสิ มันใช่แบงก์แรกที่เราได้รึเปล่า ใช่มั้ย ไม่มีอ่ะ ...มันไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นของเปลี่ยนมือไปเปลี่ยนมือมา ทดแทนกัน หมุนเวียน ในภาวะของโลก

ถ้าเรารู้เราเข้าใจ มันไม่มีอะไร มันก็จะหยุดการแสวงหา ...มันก็จะไปหาอะไรในของเก่า ใช้มานักต่อนักแล้ว อยู่กับมันมานักต่อนักแล้ว ทำไมไม่รู้จักวาง

หยุดการแสวงหา แล้วก็ทำความเข้าใจกับขันธ์ ว่าแม้แต่ขันธ์นี่ก็ยืมเขามา ยืมโลกมาใช้ชั่วคราวอย่างนี้ สุดท้ายแล้วก็เปลี่ยนมือไป เปลี่ยนไปเป็นของคนอื่น

อะไรๆ ก็กองลงพื้นดิน แล้วก็จมลงในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในลม ในไฟ เป็นของกลาง ...เสร็จแล้วก็เปลี่ยนมือไปเป็นรูป นามมันมาหยิบมายืมใช้สอยไป มาจับมันมาผสมปรุงเป็นรูปใหม่

ดูเหมือนรูปใหม่ มันก็รูปเรานั่นแหละ คืนเขาไป แล้วเขาก็เอาไปรีไซเคิลใหม่ ใช่มั้ย ...เราก็มาจากการรีไซเคิลใหม่เหมือนกัน รูปอันนี้ กายอันนี้ ...มันเป็นเรื่องวนเวียนๆๆ

ดูจนกว่าจะเข้าใจ ดูจนเห็นความแปรปรวน ความเปลี่ยนไปในโลก ...มันเป็นการเล่นแร่แปรธาตุกันอยู่อย่างนี้ สลับสับเปลี่ยน ปรุงใหม่แต่งใหม่แล้วก็ดับ แล้วก็ปรุงใหม่แต่งใหม่แล้วก็ดับ

มันหลอกได้แต่คนไม่มีปัญญาหรือคนที่ไม่แยบคาย มันก็มาติดว่านี่ของดี นี่ของใหม่ นี่ของเลิศ ...สุดท้ายก็ทิ้ง สุดท้ายก็หมดท่าหมดทาง แล้วก็หากันใหม่ เข้าใจว่าได้ของใหม่มาทดแทนแล้ว 

มันเป็นการปรุงแต่ง ใจที่ไม่รู้เท่าทันก็ไปหลงกับความปรุงแต่ง มันเข้าใจว่าเป็นของใหม่ ก็มาหลงของเก่าที่คิดว่าใหม่ ...ไม่เบื่อ ก็เลยไม่รู้จักเบื่อ

แต่ถ้ามันเห็นความเป็นจริงของความแปรปรวน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ความไม่คงอยู่ ไม่มีความถาวรในรูปนั้นนามนั้น มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ...มันจะเกิดความเบื่อ

เบื่อในการซ้ำซากจำเจ เบื่อในการที่จะไม่รู้จักจบจักสิ้น เบื่อในการที่ไม่มีหัวไม่มีท้ายของมัน ...จิตมันก็จะคลายจากการเข้าไปหมายเอา โดยคิดว่าจะได้ดีกว่านี้

มันก็จะละถอนความทะยานไปในภพอดีตอนาคต ...กลับมายอมรับกับสิ่งที่มีที่เป็นในปัจจุบันเท่านั้น 

แล้วจากการยอมรับสิ่งที่มีสิ่งที่เป็น ...มันก็จะยอมรับด้วยความทนทุกข์ ยอมรับในสภาวะทุกข์ในปัจจุบันอยู่แล้ว

เพราะว่าเราก็จะเห็นในปัจจุบันนี่ก็ไม่เคยคงอยู่ ก็หมุนวนสลับสับเปลี่ยน เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาตลอดเวลา ...มันก็ยิ่งเบื่อหน่าย ถอดถอนออก คลายออก จางออก ...ไม่เอาอีก ไม่เอาอะไรกับมันอีก

มันก็จะยอมรับกับความผันแปรนี้ เป็นธรรมดามากขึ้น ...เมื่อเราไม่เอากับมัน มันก็จะเข้าใจว่ามันเป็นธรรมดา ...มันจะไม่ธรรมดาต่อเมื่อเราเข้าไปมีเข้าไปเป็นอะไรกับมัน

แต่เมื่อเราเข้าใจแล้ว ออกมาเป็นผู้ดูผู้เห็น ดูมันเฉยๆ มันก็จะเห็นความเป็นธรรมดา ความเป็นปกติ ความหมุนวนที่เป็นธรรมดา ...มันเกิด ตั้ง แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

มันก็ไม่มีอารมณ์เข้าไปร่วมกับสิ่งที่เป็นธรรมดา ไม่ต้องมีอารมณ์ที่เป็นส่วนของกามไปยินดี ในส่วนของปฏิฆะหรือความยินร้าย หรือหงุดหงิดรำคาญ

มันก็จะเห็นความเป็นจริง เข้าใจความเป็นจริง ไอ้ที่เห็นความเป็นจริง ปัญญาเห็นความเป็นจริง ยอมรับความเป็นจริง คือมันเห็นว่าทุกสิ่งเป็นธรรมดา

ตั้งอยู่ก็เป็นธรรมดาของมัน เกิดก็เป็นธรรมดาของมัน ดับก็เป็นธรรมดาของมัน เนี่ย ความเป็นจริงมีอยู่แค่นี้ ...นี่ใจเห็นความเป็นจริงมันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด

จิตก็อยู่ในฐานะที่รับรู้เป็นธรรมดา ...ไม่ว่าจะมากจะน้อย จะเกิดจะดับ จะไม่เกิดจะไม่ดับ จะมากขึ้น จะน้อยลง จะซ้าย จะขวา จะหน้า จะหลัง จะบน จะล่าง

จะอะไรก็เป็นเรื่องธรรมดา ของธรรมดาของมัน ของโลก ของอาการ ของปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ของไตรลักษณ์ ...ที่สุดมันจะประมวลลงเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น

ในตัวไตรลักษณ์ไม่มีชื่อไม่มีเสียง ไม่มีความหมายมั่นของมันเอง  มันไม่เคยบอกว่ามันเป็นอะไรในตัวของมันเอง ...เนี่ย มันแสดงความเป็นจริง ว่าเป็นอาการ ปรากฏการณ์

สภาวะหนึ่งๆๆ ก็คือสภาวธรรมหนึ่ง สภาวะธาตุหนึ่งแค่นั้น ...ไม่ได้เป็นอะไร ตามที่เราเคยคิด ตามที่เราเข้าใจ แล้วก็เลยสมมุติว่ามันคืออย่างนั้น เป็นอย่างนี้

นั่น มันก็เข้าใจพร้อมกับละความเห็นตามบัญญัติ ตามสมมุติไป 


(ต่อแทร็ก 6/30  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น