วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/27 (2)


พระอาจารย์
3/27 (540408)
8 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/27  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเผลอเมื่อไหร่ นั่น มันจะก่อร่างสร้างภพขึ้นมาในใจ ในความปรุงนั้น ...แล้วมันก็เข้าไปเป็นจริงเป็นจัง เป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราว

พอเริ่มรู้ พอเริ่มมีสติระลึกขึ้นได้ว่ากำลังฟุ้งซ่านกับความคิด กำลังหานั่น กำลังคิดนี่ กำลังกังวลกับเรื่องนั้น กับบุคคลนี้ กับเหตุการณ์นั้น กับอารมณ์นี้ หรือกับอนาคตอันนั้น กับอนาคตอันนี้

ทิ้งเลยๆ ...กลับมารู้ตัวอีก รู้ตัวมันดื้อๆ ตรงนั้น ...ก็เรียกว่ารู้แล้วละลงในปัจจุบัน ละทุกสิ่งลงในปัจจุบันนั้นเลย

ผลมันก็คือ...จะเห็นความดับไปของทุกสิ่งที่กำลังติดอยู่ ข้องอยู่ เห็นความดับไปของภพในจิตทันที เห็นความดับไปของอุปาทานคือความหมายมั่นในจิตทันที

ความหมายมั่นในรูปในอนาคต ความหมายมั่นในนามในอนาคต ความหมายมั่นในเวทนาในอนาคตหรือในอดีตก็ตาม ดับลงทันที

นี่ มันก็จะเห็นขันธ์เป็นไตรลักษณ์ในปัจจุบันนั่นแหละ ไม่ใช่ไปตามดู ไล่ดู หาอะไรมาดู เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์

นี่ ให้รู้อยู่ตรงปัจจุบัน รู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน เท่าที่ตาเห็น หูได้ยิน กายเนื้อสัมผัสอากาศ เย็นร้อนอ่อนแข็ง มีความคิด ไม่มีความคิด มีอารมณ์ ไม่มีอารมณ์

ให้รู้อยู่แค่นี้ เป็นขณะ เป็นอาการเป็นขณะๆ ที่มันปรากฏอยู่ตรงนั้น ที่มันรวมกันเป็นอาการของขันธ์ใดขันธ์หนึ่งขึ้นมา หรือว่าปรากฏการณ์ของขันธ์ใดขันธ์หนึ่งขึ้นมา

แล้วก็แค่นั้น แค่รู้แค่นั้น อย่าไปหาเหตุหาผล หาถูกหาผิดอะไรกับมัน ...ขันธ์มันไม่ได้เป็นคุณเป็นโทษอะไรหรอก มันไม่ถูกไม่ผิดหรอก

โยมว่าฝนตกนี่มันถูกมั้ย หรือมันผิด ก็ไม่ว่า ใช่มั้ย ...นั่นแหละ ทุกอย่างที่ปรากฏในขันธ์ของเราน่ะ มันถูกหรือมันผิดเพราะเราไปให้ค่าแค่นั้นเอง

แต่ถ้าในตามความเป็นจริงแล้ว เขาเป็นแค่สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาแค่นั้นเอง  เป็นธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นมาแค่นั้น เพราะนั้นถ้าเราน้อมธรรมชาติภายนอก ก็จะเห็นธรรมชาติภายใน

ก็จะเห็นธรรมชาติภายนอก-ภายใน ว่าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างนี้ ไม่ได้แตกต่างกันเลย เนี่ย ...จนกว่าจะเห็นความเป็นจริงโดยตลอด ไม่สงสัยในอาการทุกอาการของขันธ์

นั่นแหละถึงจะเรียกว่าสิ้นสงสัย ถึงจะเรียกว่าหมดความสงสัย ถึงจะเรียกว่า ละความเห็นได้ในที่ทั้งปวง ไม่เข้าไปมีความเห็นใดความเห็นหนึ่งด้วยความสงสัย

เข้าใจมั้ย เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรใช่มั้ย ไม่เอาความรู้อะไรนะ  เอาแค่เท่าที่เห็น เท่าที่ตาเห็นตรงหน้า แล้วก็ดูว่าพอใจมั้ย-ไม่พอใจมั้ย

นั่นน่ะคือส่วนเกิน นั่นน่ะคือความอยาก นั่นน่ะคือส่วนที่มันแอบอยู่ในใจ นั่นน่ะคืออาสวะ นั่นน่ะคือกิเลสหมักดอง นั่นน่ะคือความไม่รู้ ให้ทันแล้วก็ละเลย

ให้มันเหลือแต่ความเป็นจริงในปัจจุบันแค่สองสิ่ง ขันธ์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏหน้าใจอันหนึ่ง...แล้วก็ใจรู้อีกอันหนึ่ง ถ้ามีอยู่แค่นี้แล้วมันจะเป็นอยู่ด้วยความปกติ

ถ้าปกติอยู่อย่างนั้น ถือว่าขณะนั้นน่ะ กิเลสไม่แสดงอาการ ก็ไม่ต้องไปหากิเลสมาละมาเลิก ...ช่างหัวมัน ก็ปกติไป ไม่ต้องกลัวไม่เห็นกิเลส ไม่ต้องกลัวละกิเลสไม่ได้

แต่เมื่อมันแสดงอาการอะไรออกมาด้วยความอยากหรือไม่อยาก หรือว่าเข้าไปยินดีหรือยินร้าย ...ให้ทันตรงนั้นน่ะ แล้วก็ละความยินดียินร้ายนั้น ด้วยการไม่ไปปรุงต่อกับมัน

นั่นแหละ ให้ทัน ...แล้วก็เมื่อทันแล้ว มันก็กลับมาเป็นปกติ ศีลก็จะเกิดอยู่ตรงนั้นแหละ ...ศีลคือปกติของการละเว้น ละเว้นที่จะเข้าไปมี เข้าไปเป็น

ละเว้นที่จะเข้าไปยินดี ละเว้นที่จะเข้าไปยินร้าย มันก็กลับมาเป็นปกติของการละเว้น นั่นแหละศีล ศีลวิสุทธิ ศีลที่รักษาใจ ศีลที่อยู่กับใจ

ศีลตัวเนี้ยจึงจะชำระใจ ไม่ใช่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ แต่ศีลปกติ ละเว้นตลอดเวลา ละเว้นที่จะให้เป็นไปในอาการนั้นๆ ที่กระทบ ...นี่ ศีลตัวเดียว

คือรักษาใจปกติ ด้วยการละเว้นความผิดปกติต่อรูปที่เห็น ต่อเสียงที่ได้ยิน ต่อความคิดที่เกิดขึ้น ต่อความเป็นไปที่ปรากฏ ...ก็แค่รู้เฉยๆ ไม่เข้าไปตื่นเต้นตกใจ เสียใจ ยินดียินร้าย

ไอ้พวกนี้เป็นส่วนเกินที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง ...รู้ละรู้วางๆ เป็นปกติคืนมา ...ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรเหมือนเดิมนั่นแหละ มันไม่ได้อะไรเลย 

กลับมาเป็นธรรมดาอีก รู้ก็กลับมาเป็นธรรมดาอีกแล้ว ไม่เห็นรู้อะไรเลย ไม่เห็นมีอะไรประหลาดมหัศจรรย์พิสดาร ...ความรู้อะไรก็ไม่มี ธรรมะธรรมแมะก็ไม่เกิด

นั่นแหละให้อยู่ตรงนั้นแหละ ธรรมดา ปกติ อย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าคิดว่ามีอะไรดีกว่านี้ หรือถูกกว่านี้ หรือเร็วกว่านี้...ส่วนมากมันจะเอาเร็ว อยากได้เร็วๆ อยากถึงธรรมเร็วๆ

เพราะนั้นว่า อยู่ตรงนี้ มันไม่ไปไม่มา มันหยุดอยู่กับปัจจุบัน มันจึงจะเห็นปัจจุบัน ...เมื่ออยู่กับปัจจุบันแล้ว มันจึงจะเห็นความเป็นจริงในปัจจุบัน ว่าไม่มีอะไร

รู้สบายๆ ไม่ต้องเครียด รู้เหมือนเด็ก นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ รู้แบบอมยิ้มรู้ ...ไม่เครียด ไม่ไปเอาอะไรกับรู้นั้น ก็แค่รู้ ...ดีก็ช่าง ร้ายก็ช่าง มีก็ช่าง ไม่มีก็ช่าง รู้อย่างเดียว

อะไรจะเกิดก็ได้ๆ ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร ...มัวหาอะไรอยู่ มันอยากจะหาอะไรมากๆ ก็กลับมารู้ตัวนั่นแหละ รู้ตัวๆ ...รู้ตัวคือเห็นตัว รู้กับตัว อยู่กับตัว เห็นตัว

แล้วก็เข้าใจเองน่ะแหละ ตัวก็คือตัว เป็นก้อน ไม่เห็นเป็นสัตว์เลย ...นี่ตัว รู้อยู่กับตัวนั่นแหละ มันก็จะเข้าใจเอง ...ไม่ต้องคิดอะไร พออยากคิดก็รู้ว่าอยากคิด พอคิดออกไปก็รู้ว่าคิดออกไป

กลับมารู้ตัวอีก บ่อยๆ จนมันหมดความคิดไปเลย ...จนมันไม่รู้จะคิดไปทำไม จนไม่รู้จะไปหาอะไร เพราะไม่มีอะไร หาไปก็แค่นั้น นั่น มันจะหยุดหาเลย

ธรรมก็ไม่เอาแล้ว ...ก็นั่งอยู่กับธรรม นอนอยู่กับธรรม กินกับธรรม เดินไปกับธรรม ทุกอย่างที่อยู่ตรงนี้ มันเป็นธรรมที่ปรากฏ จะไปหาธรรมอะไร

ได้ยินเสียง นี่ก็เป็นธรรม ตาเห็นก็เป็นธรรม ลมพัดไปพัดมา พวกนี้ก็เป็นธรรมที่ปรากฏ ...ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่กับธรรม ตรงนี้ ตรงปัจจุบันนี่

ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่นหรอก ไม่ต้องไปหาในอดีตอนาคตหรอก อันนั้นไม่ใช่ธรรม อันนั้นน่ะธรรมเมา นักปฏิบัตินี่ชอบเมา เมาในธรรม สภาวธรรม ความรู้ในธรรม

มันจะไปรู้อะไรมากมาย รู้มากสงสัยมาก รู้มาก...ติดมาก รู้มาก...ข้องมาก ไม่รู้อะไรน่ะดี รู้แค่หนึ่งเดียวนี่แหละ หนึ่งในปัจจุบันนี่

มีแค่หนึ่งที่รูปกับรู้ หนึ่งที่เสียงกับรู้ หนึ่งกับกายกับรู้ หนึ่งกับเย็นร้อนอ่อนแข็งกับรู้ ...นี่เขาเรียกว่ารู้หนึ่ง...รู้แค่หนึ่ง พอแล้ว เป็นเอกแล้ว

จนให้เหลือเป็นเอก จิตเอก ธรรมหนึ่ง จึงจะเข้าใจว่าทั้งโลกมีแค่นี้ จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง ไม่มีหลายธรรมเลย ธรรมไม่หลากหลาย มีแค่จิตหนึ่งกับธรรมหนึ่ง

ถ้าไม่อยู่ในปัจจุบันจะไม่เห็นธรรมหนึ่ง ...เมื่อไม่เห็นธรรมหนึ่ง ก็ไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงหรอก ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไง ว่ามันไม่มีตัวไม่มีตนอะไร

เอ้า มีอะไรอีกมั้ย อยากรู้อะไร ...เออ ไม่ต้องรู้อะไรน่ะดีแล้ว รู้ตัวเอง รู้กับตัว  ถ้ารู้กับตัวมันก็ไม่มีอะไรหรอก พอเริ่มอยากรู้...ก็ให้ทัน ไม่เอาแล้ว โง่เข้าไว้

เพราะนั้นเวลารู้ตัว อยู่กับตัวตรงนี้ มันเหมือนคนตายแล้ว เหมือนคนไม่มีอดีต เหมือนคนไม่มีอนาคต ...เนี่ย คนตายก็คืออาการนี้ ตรงที่รู้ตัวในปัจจุบันนี่ เหมือนคนตายแล้ว

ตอนตายก็เหมือนอย่างนี้ ไม่มีอะไร ...ตายบ่อยๆ เวลาตายจริงมันจะได้ไม่หวั่นไหว เพราะมันรู้อยู่แล้ว มันเคยชิน ว่าจริงๆ ไม่เห็นมีอะไร ไม่ต้องกลัวอะไร

ไอ้ที่มันกลัวเพราะมันคาดไปข้างหน้า จิตมันวิ่งไปข้างหน้า แล้วก็มาเทียบกับข้างหลัง แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ไม่มีอะไรให้เทียบน่ะ มีเท่าที่มันปรากฏ

แล้วก็ตัวตรงนี้เงียบๆ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ตัวมันยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นอะไร ...ลองถามตัวเองก่อน ว่าตัวมันเป็นอะไร ถ้ามันตอบได้ก็วิ่งหนีเลย เพราะมันจะไม่ตอบว่ากูคืออะไร

เพราะนั้น นั่งรู้ว่านั่ง...จบ คิดรู้ว่าคิด..จบ คิดมากรู้ว่าคิดมาก คิดน้อยรู้ว่าคิดน้อย ไม่ต้องดูต่อ เข้าใจมั้ย ไม่ต้องไปดูว่ามันจะไปยังไง ...นี่ ตามออกไปแล้วนะ มันจะตามออกไป

แต่ถ้าแค่รู้ มันจะเป็นขณะๆ ...เคยฟังเรื่องอารัมณูปณิชฌาน กับลักขณูปณิชฌาน ใช่ไหม 

บางทีเรากำลังดูความคิดไป ดูความคิดแล้วคิดว่ามีสติอยู่ ...จริงๆ ไม่มีสติเลย  ไม่เรียกว่าสติด้วยซ้ำ เพราะมันส่งไปตามความคิดนั้น ...อย่างนี้เรียกว่าอารัมณูปณิชฌาน คือมันเข้าไปในอารมณ์

กับลักขณูปณิชฌาน ...คือรู้ว่าคิด รู้ว่าอยู่ในอาการคิด รู้ว่ามีอาการคิด เข้าใจมั้ย รู้เป็นอาการ รู้ว่าอาการกำลังมีความคิดปรากฏ แค่นั้นน่ะ ...เนี่ย เขาเรียกว่าลักขณูปณิชฌาน


..............................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น