วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/29 (2)


พระอาจารย์
3/29 (540414)
14 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/29  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ปัญญาก็มีแค่นี้ กลับคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดา จนมันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ...สู่สามัญ กลับมาคืนสู่สามัญลักษณะ แล้วก็ยอมรับในสามัญลักษณะนั้นเอง...คือไตรลักษณ์

ยอมรับทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์...โดยไม่มีภาษาคำพูดอะไร มันยอมรับที่ใจ ด้วยการไม่หือไม่อือ ไม่ไปต่อ ไม่ไปเติม ไม่ไปปรุง ไม่ไปหา ไม่ไปค้น ไม่เข้าไปจัดการ

เหมือนอยู่คนละโลก คนละมิติกัน ...ยังไม่หายไปไหน จนกว่าเวลามันจะหายไปเอง จนกว่าร่างกายมันจะแตกเองตายเอง ดับเอง หมดเอง สูญเอง แก่เอง ตายเอง ...นี่ มันกลางได้จนถึงที่สุด

เพราะฉะนั้น การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ต้องให้ต่อเนื่อง ...พยายามตั้งสัจจะธิษฐานขึ้น ในช่วงเวลาเดินเหิน เวลาไปไหน ช่วงไหน เวลากิน เวลาอาบน้ำ

นี่ ตั้งเป็นช่วงไปเลยว่าขณะนี้ ตอนนี้ ช่วงเวลานี้ กำลังทำภารกิจตรงนี้...จะไม่ลืมตัว จะไม่ออกนอกตัวนี้ จะรู้ตัวตลอด ...แล้วก็ดู เห็นอาการในตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดความปรุงความแต่ง ก็ให้เห็นทัน 

แล้วก็ให้รู้อาการทางภายนอก ยืน เดิน นั่ง นอน  อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย ...จะไม่ให้ลืม ไม่ให้เผลอ ไม่ให้หลงออกไป ...เอาตามช่วงนั้น ภารกิจนั้น ให้สำเร็จลุล่วงไป เป็นตอนๆ ไป 

ไม่ได้ก็ต้องให้ได้ ...เอาจนกว่ามันจะได้ เมื่อได้แล้วเอาให้ชำนาญ ...เมื่อชำนาญภารกิจ ชัดเจนอย่างนั้น ไม่ลืมไม่เผลอ แล้วให้ขยายออกไป ต่อออกไปอีก ให้ยืดออกไป 

ให้ยืดความรู้ตัวทั่วพร้อมออกไป รู้พร้อมทั้งอายตนะ ...ขณะนี้กำลังเห็น ขณะนี้กำลังได้ยิน ขณะนี้กำลังคิด กำลังเฉยๆ ขณะนี้กายกำลังทำอะไร ให้รู้ต่อเนื่องต่อไป รู้รอบต่อไป 

ให้มันยืดออกไป ...ไม่ได้ก็ต้องได้ ตั้งสัจจะธิษฐานไว้ มันจะได้มีความก้าวหน้าขึ้น พัฒนาการของสติให้เป็นสัมปชัญญะ ไม่อย่างนั้นสติมันจะเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอเก็บ

เหมือนคนยากจน อยากซื้อเพชรซื้อพลอยก็ไม่ได้ เงินไม่พอ ได้แต่มองดูแล้วนั่งฝันเอาว่าจะได้สวมแหวนเพชรสร้อยทอง อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ

ถ้าอยากมีเงินพอ ก็ต้องสะสมเงิน นี่ สะสมเงิน...คือสติ เก็บไว้ในเซฟ รักษาไว้ เรียกว่าเป็นสัมปชัญญะ ให้มันต่อเนื่อง ...ไม่ใช่ได้มาแล้วใช้ไป ได้มาแล้วก็ใช้ไป...ก็หมดไป

เบื้องต้นนี่ต้องสะสมสติสมาธิปัญญาขึ้นมาเป็นพลวะ เป็นกำลัง เป็นพละ ...ให้พอทัดทานกับความหลงความเพลิน หรือความติดความข้อง

ความหลงความเพลิน ความติดความข้องบางตัวนี่ มันติดมากติดมาย ติดลึกเข้าไปเกินเนื้อเกินหนังเข้าไปถึงกระดูก ไขกระดูกน่ะ มันติด...ไอ้บางเรื่องบางวิสัย ไม่ยอมปล่อย

รู้ว่าติด...แต่ไม่ยอมปล่อย มักจะเข้าไปเอามาเป็นอารมณ์ เอามาเป็นวิถีชี้นำของกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ...นี่เรียกว่าติด ติดมากติดมาย มันยังไม่พอกับที่จะรู้เฉยๆ กับมันได้

ก็เท่าทันมัน แล้วก็รู้เฉยๆ ไม่เสียดาย ...มันจะมีความอดทนแข็งแกร่งขึ้นในการที่จะไม่ตามมัน แม้มันจะหงุดหงิดรำคาญ ไม่ได้ดั่งใจขนาดไหนก็ตาม  สติสมาธิปัญญาก็จะเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ

แต่ถ้าไม่มีอาศัยสัจจะธิษฐานมาร่วมด้วยช่วยกันแล้วนี่ บางทีมันก็ล่องลอย เลอะเทอะ ...มันก็เข้าใจอยู่ รู้อยู่ในวิถีของการปฏิบัติ ...แต่มันก็เป็นแค่จินตามยปัญญา เป็นแค่จำได้แค่สัญญาอารมณ์ 

มันจะต้องเข้มแข็งขึ้นมา ...เวลาขี้เกียจก็นึกไว้ถึงวันตายของตัวเอง...ไม่อยู่ค้ำฟ้านะ เวลาจะตายแล้วมันยังทำอะไรไม่สำเร็จสมบูรณ์ แล้วเสียดายนะกับเวลาที่ล่วงเลยไปนะ

ให้นึกเตือนไว้นะ ไม่ใช่ให้นึกกลัวตาย ให้กลัวไม่ได้เจริญสติ ...เวลาหมด หมดเวลาไปแล้วก็กลับมานับหนึ่งใหม่ในชาติหน้านี่ เสียเวลาไปตั้งหลายปี หลายสิบปี หลายร้อยปี

เพราะบางภพ บางภูมิ บางที่ มันใช้อายุตามสมมุติบัญญัติเวลา ...การมีกายมีจิตมาสัมผัสสัมพันธ์กับอายตนะกับอารมณ์ กับขันธ์ จนครบห้า ...ไม่ใช่ของง่าย

เพราะนั้นก็ขยันพากเพียร ไม่ต้องพูดไม่ต้องคุยให้มันมาก...มันจะไม่ทัน ...มันหายแพล้บ หายไปไหนก็ไม่รู้ เนื้อตัวอยู่ไหนหายหมด ไม่รู้แล้วหายหมด

แต่ให้มันเป็นการหายกับปัจจุบัน คือดับหาย ดับแล้วดับเลย ...รู้ปุ๊บเห็นปั๊บในปัจจุบันนี่ หายหมดเลย นี่ จะมีหายแบบรู้...แบบเห็นหาย ไม่ใช่แบบไม่รู้ไม่เห็นหาย 

มันหายคนละหาย...หลงก็หาย รู้ก็หาย ...แต่ที่มันจะไม่กลับมาอีกคือต้องรู้แล้วหาย

รู้ตัว...จะไม่มีอาการ แต่มีรู้อยู่ เหลือรู้อยู่ ...ก็จะเห็นกายไม่มี ใจไม่มี กายตามสมมุติไม่มี อาการตามสมมุติไม่มี...ไม่มีชื่อ ดับหมด เหลือแต่รู้อยู่ๆ ไม่เกิดไม่ดับ ไม่ไปไม่มา

ก็อาศัยรู้อยู่นั่น รู้ต่อไป ดูต่อไป รู้ต่อไปกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น กับตาที่เห็น หูที่ได้ยิน จมูกที่ได้กลิ่น ลิ้นที่ได้รส เย็นร้อนอ่อนแข็งที่สัมผัส อยู่กับโลกปัจจุบัน อยู่กับโลกตามความเป็นจริง

เพราะนั้นโลกตามความเป็นจริง มีอยู่แค่ตรงปัจจุบัน เสียงดับแล้วดับไป รูปผ่านแล้วก็ผ่านไป เขาจะไปยังไง เขาจะว่ายังไง เขาจะคิดยังไง ...ไม่คิดต่อ ไม่จริง

รูปตามความเป็นจริง บุคคลดับๆๆ แม้จะมีความเป็นสัตว์เป็นบุคคล มันก็ดับ ถ้าอยู่กับปัจจุบัน ก็จะมีแค่นี้ ให้ทัน อยู่กับปัจจุบัน แล้วให้เห็นอาการของนามดับ

พอมันเริ่มพาไปโดยความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งนั่นแหละจะพาไปสู่อดีตอนาคต ด้วยสัญญาบ้าง ด้วยสังขารบ้าง ก็ให้ทัน ...พอทันปุ๊บ อย่าเสียดาย ละเลย

กลับมาเห็นเท่าที่เห็น รู้อยู่เท่าที่รู้ ได้ยินเท่าที่ได้ยินในเดี๋ยวนี้ หรือกายเท่าที่เป็นก้อน ไหวหรือนิ่ง หรือขยับ กลับมารู้ตัว แล้วก็อาศัยการรู้ตัวให้ต่อเนื่องไป

งาน...นี่เป็นงาน นี่เป็นสัมมาอาชีโว งานในมรรค ทำอยู่แค่นี้ มันไม่ได้ยากจนเกินไปหรอก ...ที่มันยากเพราะมันฝืน ...ฝืน มันต้องทวนความหลง มันต้องทวนความเผลอเพลิน 

มันต้องทวนกับความคิดที่จะไม่คิด ไม่ตามคิดต่อ  มันต้องทวนกับการเข้าไปเสวยในอารมณ์สุขบ้างทุกข์บ้าง ...พอเราแยกออกมาหรือรู้ทันนี่ มันก็จะเป็นไม่สุขไม่ทุกข์...แต่รู้ว่าสุข รู้ว่าทุกข์ อย่างนี้

อยากได้สิ่งหนึ่ง ต้องละสิ่งหนึ่ง ...เมื่อได้สิ่งหนึ่งจากการละแล้ว แล้วถึงจะได้อีกสิ่งหนึ่ง ...แล้วก็ละไอ้สิ่งที่ได้มาใหม่ แล้วก็ละๆๆ ละไป จนไม่มีอะไรให้ละ จนหมดอะไรที่มันละ

จนหมดอะไรที่มันมีความรู้สึกว่ามันมี แค่นั้นแหละ มันก็หมด มันก็จบ มันจะให้ไปหา...ไม่เอา หรือมันมีอะไรของมันปรากฏขึ้นมาเอง...ก็ละ ไม่ต่อ

นี่งาน สัมมาอาชีโว ทำงานในองค์มรรค ...เพราะนั้นตัวที่จะประคับประคองให้อยู่ในงานนี้ได้ คือศีลสมาธิปัญญา ...ไม่รู้จะไปแบ่งกันทำไม ขี้เกียจพูด

แต่ทั้งหมดน่ะคือประคับประคองให้อยู่ในมรรค หรืออยู่ในงานนี้ ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ตกไม่หล่น ไม่ออกนอกงานนี้ ...จึงเรียกรวมกัน ท่านเรียกว่าไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นอุปกรณ์แรกที่จะทำให้เกิดไตรสิกขาหรือศีลสมาธิปัญญาก็คือสติ ...พอระลึกขึ้นมาปั๊บ มันจะรวมรู้ในปัจจุบันทันที ในขณะนั้นๆ

ก็เจริญไป ศีลสมาธิปัญญา จนมันเป็นมหา...ใหญ่ ยิ่ง โดยธรรมชาติที่มันสามารถรักษาใจได้ตลอดเวลา ไม่ไปไม่มากับอะไร ไม่มีไม่เป็นกับอะไร

มันจะอยู่ได้โดยอิสระด้วยตัวของมันเอง...ใจ พร้อมที่จะรู้ได้กับทุกสิ่ง ...เพราะมันยังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่สามารถรู้ได้ เพราะมันจะเข้าไปปนกันจนเราแยกไม่ออก แล้วไม่ยอมแยก

บางทีรู้ว่าควรแยก ต้องแยก แต่ไม่ยอมแยก ...บางทีรู้ว่าแยก ต้องแยก แต่แยกไม่เป็น แยกไม่ออก ...เห็นมั้ย มันยังมีอีกหลายงานเลยที่ยังทำไม่ลุล่วงน่ะ

จะมานั่งนอนตายไม่ได้ จะมาหลับมาไหลไม่ได้ จะมาหลง มาเผลอ มาเพลิน นี่ไม่ทัน ...เพราะงานยังไม่สำเร็จ การงานยังไม่สำเร็จ จะมานอนตีพุงกินลมกินแล้งไปไม่ได้

ต้องขยันทำงาน หาทรัพย์ สะสมทรัพย์ไว้ จะได้จับจ่ายใช้สอยซื้อคืนความให้ค่าในขันธ์...ที่เราไปให้ค่า เราไปให้ราคากับมันไว้

เวลาเราจะซื้อความให้ค่า ซื้อราคามันคืนมาให้เป็นธรรมดา ...เราต้องมีทรัพย์มากพอ พอเพียงกับที่เราเคยให้ค่าให้ราคากับมัน ให้ความหมายมั่นกับมัน

ศีลสมาธิปัญญามันคือทรัพย์ที่จะซื้อคืน ...ต่อไป รู้ปุ๊บดับปั๊บๆ รู้ปุ๊บวางปั๊บเลย ไม่สืบต่อ ไม่หือไม่อือเลย

ไม่ใช่รู้ปุ๊บแล้วก็ยังยืดๆ ยาวๆ ยังเสียอกเสียใจ เสียดาย ยังกลัว ยังกังวล ยังวิตก ยังไม่คลี่คลายออก ...มันก็เหมือนกับเอาสากกะเบือไปสับเนื้อน่ะ มันไม่ขาด

ทรัพย์มันไม่พอกับราคา ทรัพย์มันยังน้อย ...เพราะนั้นสะสมไปในศีลสมาธิปัญญา ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ...ระหว่างนั้นอย่าเพลิน อย่าปล่อย รู้...รู้เข้าไว้ รู้ตัวเข้าไว้ เป็นการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านไป

อย่าประมาทว่าเบี้ยนี้ไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นแบงค์สิบแบงค์ร้อยเลย ...เบี้ยใต้ถุนร้าน นี่ ไม่ให้มีอะไรเลย ดูไม่มีค่า นั่นแหละ สะสมเอาไว้

เพราะเวลามันไม่มีอะไร มันมักจะปล่อยให้เผลอเพลิน ลอยไปลอยมากับรูปกับเสียง กับการพูดคุย

แต่หลักของการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์พูดมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ...กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเพียรเยอะ ...ให้เยอะอย่างเดียว อย่างอื่นให้น้อยหมด

เพราะมันหลง กินมากหลงมาก นอนมากหลงมาก พูดมากหลงมาก ...แต่ความเพียรมาก รู้มาก เห็นมั้ย ไอ้ที่ต้องทำให้มากคือทำให้สติเจริญขึ้นมาให้มากด้วยความเพียร

ไม่ปล่อย ไม่เว้น ...สติเจริญให้ได้ในทุกสถานที่ ในเวลาทุกเวลา ในบุคคลทุกบุคคล ไม่มีข้อเว้น ไม่มีข้ออ้าง ต้องตั้งอกตั้งใจ เราไม่เคยเตือนข้ออื่นนอกจากตั้งสติให้ดี

ไม่ใช่พออยู่กับเพื่อนแล้วเพลิดเพลิน สติช่างหัวมัน คุยก่อน...ไม่ได้ ...ต้องไม่มีเงื่อนไข ไม่มีหือไม่มีอือ รู้คือรู้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม สิ่งนั้นสิ่งนี้ สถานที่นั้นสถานที่นี้...ต้องเท่ากัน

ไม่ใช่มาหาอาจารย์ เข้ากุฏิอาจารย์ สติจะต้องดี ...แต่พอออกไปปุ๊บ...เฮ สติทิ้งเลย ...หรือมาวัดแล้วต้องสำรวม ต้องมีสติไว้ ควบคุมรักษาดูใจสังเกตใจต่อเนื่อง แต่พอออกแล้วเหมือนกับออกจากคุกแล้ว 

มันปล่อยให้จิตว่อนๆ ร่อนเร่พเนจร เป็นเจ้าไม่มีศาล อย่างนี้ไม่ได้ ...มาก็เท่ากัน อยู่ก็เท่ากัน ตายแล้วก็เท่ากัน เขาเรียกว่าไม่เลิกละไม่ท้อถอยซึ่งความเพียร

แล้วก็เพียรเป็นระยะๆ ให้ต่อเนื่อง ความเพียรให้ต่อเนื่อง ...ไม่อย่างนั้นผลมันจะไม่ต่อเนื่อง กระปริบกระปรอย พาให้เกิดความขุ่นมัว ลังเล เศร้าหมอง สงสัย

มันไม่แจ้งสักที มันขัดๆ เขินๆ ติดๆ ขัดๆ ...จะว่ารู้มันก็ไม่รู้ จะว่าเข้าใจมันก็...เอ มันเข้าใจไม่ตลอด...ไม่ตลอดสายสักที นั่น ก็เพราะเราเจริญสติไม่ตลอดสาย ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีความเพียรต่อเนื่อง มันเลยไม่แจ้ง 

เหมือนกับหลับตาบ้างลืมตาบ้าง หลับมากกว่าลืมตา มันก็เลยเห็นอะไรไม่ชัดเจน คือความไม่แจ้ง ...มันก็ขุ่นๆ มัวๆ หมองๆ เบลอๆ มันถูกปกปิด ปิดบัง ซ่อนเร้น 

มันซ่อนความเป็นจริงบางสิ่งอยู่ ซ่อนความเป็นจริงในปัจจยาการบางส่วนที่เป็นรอยข้อรอยต่ออยู่...ก็ไม่ทันสักที ...แล้วมันจะมาซ้ำซากที่เดิม ลืมตรงไหนก็จะลืมที่เดิม อารมณ์เดิม เก่าๆ 

มันก็ไม่มีการก้าวข้ามหรือแจ้งในสภาวะนั้น ...มันก็ติดซ้ำซาก หลงซ้ำซาก ติดซ้ำซาก ออกห่างไม่ได้ ออกจากไม่ได้ ละไม่ได้ วางไม่ได้ ผ่านไม่ได้

การปฏิบัติเหมือนกินยาขมน่ะ มันไม่ใช่กินน้ำหวาน ...เพราะมันต้องทวน ความเผลอความเพลินน่ะมันต้องทวน ทวนกับความไร้สติ ทวนกับความเมามันในอารมณ์ ในการเห็นการได้ยิน

มันทวนหมดน่ะ ทวนมาอยู่ที่ฐานรู้ในปัจจุบัน ...พอกลับมารู้กับปัจจุบันแล้ว ให้เห็นไอ้ความเมาความมัน มันจะหาย มันจะคลาย จนหมดน่ะ

แล้วมันจะเกิดความอาลัย เสียใจอาลัยกับอารมณ์นั้น มันก็สร้างเงื่อนไข หรือกลัวว่าเขาจะอย่างนั้น คนนั้นจะเป็นอย่างนี้ เขาจะไม่เข้าใจเราอย่างนั้น ไม่ปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้

กลัวไปอีก สร้างภพมาล่อหลอก หลอกหลอน ทำให้กลับมารู้อยู่กับปัจจุบันให้ต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ ...อดไม่ได้ ทนไม่ได้ที่จะหยุดความคิดความปรุง

พอกลับมาอยู่กับปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน ...มันจะต้องอยู่ด้วยอาการที่เรียกว่าอดๆ อยากๆ ไม่สมบูรณ์พูนสุข ...มันอดๆ อยากๆ เพราะมันไม่ทำตามความอยาก มันเลยต้องอดอยาก 

อดอยากไปตามอารมณ์ อดอยากความคิด อดอยากไปรู้ไปเห็น อดอยากที่จะสงสัยมันทุกเรื่อง อดเห็นในความเป็นจริงที่เราต้องการเห็น อดเข้าใจในสิ่งที่เราน่าจะเข้าใจ

อดหมดเลย มันเลยต้องอยู่แบบอดๆ อยากๆ มันเลยกระวนกระวาย ...เอาจนกว่ามันจะสงบระงับ แนบแน่น สู่ภาวะใจ ...เพราะนั้นความสงบมันเลยอยู่ที่ใจ 

เพราะถ้าถึงใจอยู่ที่ใจจริงๆ แล้วเป็นตัวใจจริงๆ แล้ว ตัวใจนั่นแหละคือความสงบในระดับหนึ่ง สภาวะของมันคือความสงบระงับอย่างหนึ่ง ในธรรมชาติของความสงบ เรียกว่าเป็นธรรมชาติของความสงบ

นี่ ใจก็มีธรรมชาติของความสงบในตัวของมัน เป็นความสงบที่เหนือกว่าความสงบทั่วไป เป็นธาตุสงบเย็น ...ไม่ใช่ธาตุร้อน ธาตุไหล ธาตุที่จะงอกเงยออกมา

เอาแล้ว วันนี้เอาแต่เนื้อๆ เอาแบบแห้งๆ ไม่เอาน้ำ


โยม –  ขอซุปสักหน่อยก็ได้เจ้าค่ะ มันติดคอ

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) ให้มันติดคอตายไปเลย นั่นแหละ


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น