วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/29 (1)



พระอาจารย์
3/29 (540414)
14 เมษายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เหมือนกับมันไม่เคยคิดว่ามันจะตาย มนุษย์นี่มันอยู่ด้วยการที่ไม่คิดว่าตัวเองจะตาย ...มันลืม มันลืมไปเลยว่าตัวเองจะต้องตาย สนุกไป ทำนู่นทำนี่ไป เหมือนลืมว่า ตัวเราต้องตายนะ 

เกิดมาแค่ชั่วคราวแป๊บเดียวนะ เวล่ำเวลาอย่าทิ้งไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ตายแล้วจะไม่ทัน ...จะมาได้สติระลึกรู้ดูตอนจะตายแล้ว ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ทำ ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้เจริญขึ้น ...มันไม่ทัน

ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ เวลาเผลอเวลาเพลินไปกับอารมณ์ ไปจริงจังกับอะไรมากเกินไป จริงจังกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้

ก็ให้เตือนสติตัวเองว่า ตายแล้วก็หมดเรื่องนะ จะจริงจังอะไรกันนักกันหนา ...กลับมาเจริญสติทำความแยบคายกับกายกับใจ กับปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม

มันยังมีสาระแก่นสารในยามมีชีวิตอยู่...ใช้ให้มันมีค่าที่สุด ...ไม่งั้นมันก็จะร่วงโรย โรยราไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เสียเวล่ำเวลาการเกิด ต้องตายแล้วกลับมาเกิดตายๆ แล้วก็ปล่อยเวลาทิ้งๆ ขว้างๆ ไป

สติเจริญขึ้น อย่าขาดสาย อย่าให้มันหายนาน เผลอนาน ...พยายามตรวจสอบ กลับมาตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ ตอนนี้อยู่กับอะไร หลงกับอะไร กำลังจะติดอะไร กำลังติดอะไรอยู่

นั่นดู ตรวจสอบ สอบทานตัวเอง มันข้องกับอะไร ข้องกับความเผลอเพลินมั้ย มันไปข้องกับบุคคลมั้ย มันไปข้องกับอารมณ์มั้ย มันไปข้องกับอดีตอนาคตมั้ย มันไปข้องกับธรรมมั้ย

แล้วก็ดูรู้กับมันในสิ่งที่มันปรากฏอยู่นั้น ว่ามันมีอะไรให้น่าข้อง มันก็ไม่มีอะไร ...รู้ได้ยังไงว่าไม่มีอะไร คือเรากลับมารู้ตัวลงไป ก็จะเห็นไอ้สิ่งที่เราข้อง ที่เราติดน่ะ มันก็ไม่เห็นเป็นอะไร

มันเป็นแค่กลุ่มอาการหนึ่งเท่านั้นเอง พอสักพักหนึ่งก็สลายคลายเงื่อนคลายปมของมันในตัวของมันเอง นั่นคือเป็นอนัตตา เป็นทุกขัง เป็นความแปรปรวนหายไปเอง ...นี่สุดท้าย

ถึงมันจะติดอยู่ ข้องอยู่อีก สร้างเรื่องขึ้นมาอีก สร้างเหตุขึ้นมา ดูเหมือนเป็นเหตุให้ติดข้องขึ้นมาอีก ก็กลับมารู้ตัวแล้วก็ดูมัน รู้ตัวแล้วก็ดูมันๆ

รู้ตัวแล้วก็สังเกตดู ก็จะเห็นความคลายออก ความจางออกของตัวของมันเอง ...ไม่ใช่เราไปทำให้มันจาง ไม่ใช่เราไปทำให้มันคลายน่ะ

แต่เพราะว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับมัน ไม่เอาตัณหาไปหล่อเลี้ยงมัน ก็จะเห็นความคลายตัวของมันเอง

ขันธ์ห้านี่ ไม่เคยติดเราหรอก ขันธ์ห้าไม่เคยผูกเราหรอก ขันธ์ห้าไม่เคยผูกใจหรอก ...ขันธ์ห้าก็คือขันธ์ห้า มันไม่มีเจตนาใดๆ ของขันธ์ห้า

มันตั้งอยู่บนความเป็นกลาง ปรากฏขึ้นด้วยความเป็นกลาง ปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยของมันเท่านั้นเอง ...มันไม่มีเจตนาจะผูกจะมัดจะติด จะมาทำให้เราติดหรือใดๆ ทั้งสิ้น

เกิดเอง ตั้งเอง ดับเอง โดยไม่มีเจตนาใดๆ ในตัวของมันเลย เพราะมันไม่มีชีวิตจิตใจใดๆ หาความเป็นตัวเป็นตน หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นชีวิตไม่มี ...ความเป็นชีวะในขันธ์นี่ไม่มี

ก็เรียนรู้ ดูมัน ศึกษามัน จนไม่มีอะไรในสิ่งที่ติดข้องนั้นๆ ...แล้วก็ถ้ามีเรื่องใหม่ติดข้องอีก ให้ความสำคัญกับมันอีก ก็สังเกตสอบทานตามความเป็นจริงไปเรื่อย

สังเกตความเป็นจริงของมัน ไอ้กลุ่มที่เราติด อาการที่เราติดจริง มันคืออะไร ...มันก็จะเข้าใจ แยบคาย แล้วก็จะเห็นว่า มันจะละได้วางได้ต่อเมื่อเห็นความดับไปเองของมัน

ไม่ใช่เรารู้ว่าติดรู้ว่าข้องแล้วก็พยายามไปดับๆ ไปดับมัน ...อย่างนี้ เขาเรียกว่าเข้าไปดับด้วยความไม่รู้ เข้าไปดับด้วยความไม่พอใจนะ เข้าไปดับด้วยความรู้ไปก่อนมันนะ

มันเข้าไปดับด้วยความเชื่อ เข้าไปดับด้วยความจำ พวกนี้ ว่าเคยได้ยินว่าอย่างนั้น มันติดอย่างนี้ มันไม่ใช่ อย่างนี้มันเกิดไม่ได้ มันไม่ถูกไม่ควร ...นี่ ก็เลยเป็นปฏิฆะกับมันอีก

ขณะที่เราเข้าไปปฏิฆะด้วยการเข้าไปทำลาย เข้าไปล้าง เข้าไปดับ ...เราไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวว่าเราเข้าไปด้วยปฏิฆะ ด้วยความอยากหรือไม่อยาก 

นี่ ถ้ากลับมารู้ตัวเฉยๆ แค่รู้ตัว มันจะหยุด ...มันจะดับ มันจะไม่ดับ ก็ให้สังเกต สอบทานว่ามันคืออะไร แยบคายกับมัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยอาการปกติของการรู้ตัว

รู้เห็นอยู่ เฉยๆ ...ความเป็นจริงเขาจะแสดงเอง เขาแสดงความเป็นจริงอยู่แล้ว วันยันค่ำคืนยันรุ่ง ...มันก็จะค่อยๆ คลี่คลายในการติดข้อง จิตก็จะเริ่มเป็นอิสระขึ้น

กลับมาอยู่ที่ตัว กลับมาอยู่ที่กาย อาการติดข้องก็เรื่องของอาการติดข้อง ...ยังไงก็เกิด ยังไงก็ข้อง มันก็แสดงเองน่ะ อะไรที่ยังข้องอยู่ อะไรที่ยังติดอยู่ ไม่ต้องไปหาหรอก เดี๋ยวมันก็ข้องขึ้นมาเองน่ะ 

มันสร้างเป็นเงื่อน สร้างเป็นเหตุขึ้นมาภายใน แล้วเราก็ไปจมอยู่กับมัน อย่างนั้นเรียกว่าข้อง ...นั่น เอาจนเห็นว่า ไม่มีอะไรให้ข้องเลย มองทะลุผ่านตลอด เหมือนเรามองไปกับรูปนี่ ผ่านตลอด

เพราะเราสบาย ไม่มีไปตรึก ไปติด ไปขัดอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรมาขวางมากั้น หรือไปให้ความสำคัญมั่นหมาย ให้ความจริงจังอะไรกับมัน

นี่เขาเรียกว่ารู้แบบเห็นแบบทะลุ เป็นอันเดียวกัน เหมือนไม่มีอะไร แต่มันเห็น...เห็นแต่ไม่มีอะไรในการเห็นนั้นๆ ในสิ่งที่เห็นนั้น


โยม –  (ถามเรื่องผู้ที่เป็นมะเร็ง)

พระอาจารย์ –  เป็นมะเร็ง ไปหาหมอแล้ว อะไรที่ว่าดีก็ควรจะไป


โยม –  แล้วถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ หลวงพ่อจะว่ายังไง

พระอาจารย์ –  ก็รักษาไป


โยม –  ทำไปก็ได้

พระอาจารย์ –  ทำได้ หรือจะไม่รักษาก็ได้...ถ้ามันแน่ใจว่าไม่รักษาแล้วไม่กังวล ก็ไม่ต้องรักษา  แต่ถ้าทำไปแล้วมันกังวลก็รักษาซะ จะได้สบายใจ ...เอาใจเป็นใหญ่ ให้มันคลี่คลาย

แต่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าต้องหาย หรือว่าต้องเป็นอย่างนั้น หรือว่าต้องแก้ได้ แค่นั้นเอง ...เรียนรู้ สังเกตอาการของใจตอนนั้นไป ว่ามันจะเข้าไปปฏิเสธขันธ์ เข้าไปยอมรับกับอาการของขันธ์ยังไง 

ก็ถือเอาขันธ์นั้นเป็นเครื่องเรียนรู้ เป็นกระจกสะท้อนให้เข้าใจ ...อันไหนจริง อันไหนไม่จริง

มันมีตัวสองตัวซ้อนอยู่ในตัวขันธ์ ...ขันธ์ตามความเป็นจริงคือปัจจุบันขันธ์ นั่งเป็นก้อนๆ ขยับ เคลื่อน ไหว ไม่ไหว เห็น ได้ยิน นี่คือขันธ์ตามความเป็นจริง...มีจริง

แล้วยังมีอีกขันธ์คือขันธ์ปลอม คือขันธ์ในอดีต ขันธ์ในอนาคต คือขันธ์ที่ติดอยู่ในความคิด คือมันไปสร้างรูปขึ้นมาในความคิดความจำ ...นี่ อันนี้คือขันธ์ปลอม

เพราะนั้นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มันจะสร้างขันธ์ปลอมมาอยู่ตลอด ขันธ์ที่ดีกว่านี้...ข้างหน้า ขันธ์ที่เคยดีกว่านี้...ข้างหลัง ...แล้วมันจะวนอยู่อย่างนี้ ไปอยู่กับของปลอม

ถ้าไปอยู่กับของปลอมเมื่อไหร่นี่ก็ทุกข์ ...ถ้ามีปัญญานี่ ให้อยู่กับขันธ์จริงเท่าที่มี ...นั่น มันจะทนได้ขนาดไหนล่ะ อันนี้ก็อยู่ที่กำลังของสติปัญญาแล้ว

ก็ถ้าถึงภาวะที่หมาจนตรอกน่ะ ยังไงก็ต้องยอม...รู้เลย ไม่งั้นมันจะทุกข์ซ้อนทุกข์ คืออุปาทานทุกข์จะเกิดซ้อนกับทุกขสัจ อย่างนั้นน่ะ

อันนั้นน่ะทุกข์จนไม่มีที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน นอนก็ไม่หลับ ...เพราะมันจะมีขันธ์ปลอมหรืออุปาทานขันธ์มาหลอก ปลอม คิดแล้วคิดอีกๆๆ เกิดความวิตกกังวล 

กลัว กลัวตาย กลัวไม่หาย ยังไม่ทันทำอะไรเลย อย่างนั้นอย่างนี้ ...คิดไปเรื่อย สร้างรูปของตัวเองในความคิด แล้วก็เชื่อว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ จังๆ

อุปาทานของขันธ์มันก็หลอกหลอน เป็นผีคอยหลอก ...แล้วระหว่างที่ผีหลอกนี่ ด้วยความไม่มีสติปัญญา มันไม่สามารถจะระลึกกลับมาที่ขันธ์ปัจจุบัน แล้วก็ให้ยอมรับกับความเป็นจริงในปัจจุบัน

พระอริยะทั้งหลายนี่ ท่านอยู่กับขันธ์จริงตลอด ท่านยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริง ตัวจริง ...แล้วท่านก็ทำใจไว้ภายใน รู้แล้วมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ด้วยความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

สุดท้ายก็ต้องตาย ป่วยมากก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย เจ็บมากก็ตาย เจ็บน้อยก็ตาย ไม่เจ็บเลยก็ตาย ...ท่านมีความสำคัญมั่นหมายอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้ ท่านไม่เห็นเป็นอย่างอื่น

ท่านเข้าใจ ท่านจะอยู่กับขันธ์ ยอมรับได้โดยสันติ ...ขันธ์จะแสดงอาการเหมือนไม่สันติขนาดไหน แต่ท่านรับรู้ด้วยอาการสันติ สงบระงับ เป็นกลาง โดยธรรมชาติ ท่านไม่ไปควบคุมมัน

แต่ถ้าจะไปฝึกหัดกับมันต้องบังคับ ต้องพยายามไม่ให้ออกนอกขันธ์ห้า ปัจจุบันขันธ์ ไม่งั้นทุกข์แน่นอนเพราะนั้นอย่าไปหาวิธีอะไรที่มันจะดีกว่านี้

เพราะถึงเวลานั้น ถ้าไม่มีสติปัญญา มันมักจะหาวิธีการต่างๆ นานา มันไล่มาตั้งแต่เกิดเลยว่าเคยทำอะไรมาแล้วมันหายปวดไข้หายเจ็บ มันไล่ไปหมดน่ะ หาทางแก้ทุกวิถีทาง ทั้งที่นอนอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้ามีปัญญาแล้วมันก็รู้ทัน พอรู้...ได้สติระลึกขึ้นมาแล้วกลับมารู้อยู่กับตัว...มารู้อยู่กับตัวก็จะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง แล้วก็จะเห็นเวทนาที่ติดอยู่กับตัวตามความเป็นจริง

เพราะนั้นเวทนานี่มันก็ติดอยู่แล้วกับกายนี่ มันตั้งอยู่บนกาย เพราะมีกายจึงมีเวทนา เพราะกายไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง ...อะไรที่เรียกว่าเวทนาไม่เที่ยง ก็เวทนาที่เป็นเฉยๆ เปลี่ยนมาเป็นทุกขเวทนา

เออ มันก็ค่อยๆ แสดงว่าเพราะกายไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง...นี่จริง ...พอมันเห็นจริงน่ะ มันยิ่งเชื่อเลย ยิ่งยอมรับเลยว่ามันเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างนี้เอง

ก็พิจารณาลงในปัจจุบันทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ใช่ไปคิดข้างหน้าข้างหลังอีกแล้ว ...ก็คิดเป็นปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน และสิ่งที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ก็มาจากเหตุปัจจัยในปัจจุบันแต่ละขณะที่เกิดไปดับไป

เอาจนมันยอมรับ ได้มากได้น้อยแล้วแต่ ...แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้ว ...ถึงจะไม่หลุด ไม่พ้น ไม่ขาด ไม่แยกออกโดยสิ้นเชิง แต่นี่เป็นพลวปัจจัยสืบเนื่องต่อไปในภายภาคหน้า

ก็เป็นกัมมปัจจโย เป็นวิปากปัจจโยต่อไป เป็นอริยทรัพย์ เป็นอริยปัญญา สะสมไป หยอดกระปุกไป

เกิดใหม่ปั๊บ มีเหตุปัจจัยสงเคราะห์ปั๊บ กระทบเหตุปัจจัยที่ให้เกิดเป็นธรรม กระทบเหตุปัจจัยที่ให้เกิดปัญญาปั๊บ มันก็จะหวนคืนบนเส้นทางสายเดิม

เส้นทางสายเดิมคือเส้นทางสายมรรค ไม่ใช่วิถีโลดโผนโจนทะยานออกไป ...ส่วนผู้ที่ไม่ได้เจริญมาเลยในสายมรรค มันก็มักจะประสบเหตุปัจจัยที่จะให้โลดโผนโจนทะยานต่อไป

จนกว่าจะมีเหตุปัจจัย หรือว่าเหตุบังคับ หรือว่าปัญญามันสนับสนุนเกื้อกูลให้หันเหกลับมาในเส้นทางของมรรค ...อันนี้จะช้า-เร็วแล้วแต่

แต่ถ้าผู้ที่เคยเจริญปัญญา เจริญสติปัญญา สติปัฏฐานแล้ว...ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวตาย ...แม้จะไม่ได้อะไร แม้จะไม่ถึงที่สุด สุดท้ายก็เกิดมาใหม่ก็จะได้พลวปัจจัยติดตัวมา

พอกระทบสัมผัสปัจจัยปั๊บมันจะหวนคืนมา ปัญญาเดิมจะตามมาสนับสนุนเอง แล้วก็จะบีบคั้นวิถีจิตวิถีชีวิตให้กลับเข้าสู่องค์มรรค โดยธรรมชาติด้วย เหมือนโชค เหมือนเคราะห์ เหมือนบังเอิญอะไรก็ตาม 

เนี่ย มันคือเหตุปัจจัย มันก็สืบเนื่อง สืบทอด สืบทอดกันมา ชีวิตต่อชีวิตมา ...เหมือนเล่นวิ่งเปี้ยวไม้หึ่ง มันก็ส่งไม้ต่อกันมาแต่ละชาติๆ จนกว่ามันจะหมดภารกิจในการเกิด

เพราะนั้นการเกิดถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง แต่ว่าในทางธรรมก็ถือว่าเป็นภารกิจอันสำคัญ...เพื่ออาศัยการเกิดน่ะเป็นบันได เป็นประตู เป็นเส้นทางเข้าสู่อริยมรรค อริยผล

ถ้ามันตั้งใจจริงขึ้นมา จะเข้าใจเอง แล้วไม่ออกนอกทางมรรค ...มีอะไรเกิดขึ้นมา อะไรรู้ อะไรเห็น อะไรอยาก อะไรไม่อยาก มันจะกลับเข้ามาที่ใจก่อน กลับมาตั้งหลักลง

กลับมาตั้งหลักก่อน แล้วมันก็จะต่อเนื่องไปด้วยอาการเป็นปกติธรรมดา ...จิตที่เคยโลดโผนโจนทะยาน อารมณ์ที่เคยวูบๆ วาบๆ แรงๆ มันก็จะค่อยๆ ซาลง คลายลง จางลง

ก็เป็นอาการตื่นเต้นเบาๆ ดีใจเบาๆ เสียใจเบาๆ แล้วก็มอดไป ...เนี่ยธรรมชาติมันจะเปลี่ยนไป  พอเริ่มจะออกนอกไปจากใจปุ๊บ มันจะรู้ทันที

มันก็จะหยุดโดยไม่เสียดาย ไม่อาลัย ไม่อาลัยในภพข้างหน้า ไม่อาลัยในภพที่ผ่านมา ไม่อาลัยในชาติข้างหน้า ไม่อาลัยในชาติที่ผ่านมา ไม่กลัว ไม่กลัวอะไร

เนี่ย มันจะยินยอมพร้อมใจ ด้วยความยินยอมพร้อมใจ ที่จะรู้กับทุกสิ่งในปัจจุบันด้วยความเป็นกลาง ด้วยความเป็นธรรมดา ด้วยความเป็นจืดๆ ชืดๆ โบ๋ๆ กลวงๆ

ดูเหมือนไม่รู้ ดูเหมือนไม่มีไม่เป็นอะไรสักอย่าง นั่นแหละภาวะที่เป็นกลาง กลางกับทุกสิ่ง

กลางกับรูป กลางกับเสียง กลางกับกลิ่น กลางกับรส กลางกับกาย กลางกับใจ กลางกับอารมณ์ กลางกับเวทนา กลางกับความจำ กลางกับความรู้ในปัจจุบัน มันก็อยู่เป็นธรรมดาไป


(ต่อแทร็ก 3/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น