วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/28 (1)



พระอาจารย์
3/28 (540413)
13 เมษายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เมื่อวานพระมาหาก็เป็นมะเร็ง ขั้นที่สี่ นั่นไม่รอดหรอก เตรียมตัวตายได้ ...ตายแน่ ตายทุกคน ตายทั้งโลก มีใครไม่ตาย อย่าไปกลัว ใช้ชีวิตที่อยู่ให้มีประโยชน์ที่สุด

ไม่ใช่ว่าเอาแต่ใช้ประโยชน์กับทางโลก หรือว่าเอากาย เอาสังขาร ลากสังขารไปหาความสุข หาความสงบ ทำการทำงาน เอาเป็นเอาตายกับสาระ โดยเข้าใจว่าเป็นสาระแก่นสารในโลกนี่

เมื่อนึกถึงวันตาย อย่าประมาท กำลังจะตายแล้วนี่ ทั้งนั้นน่ะ...ตายไปแล้ว ไอ้ที่ทำ ไอ้ที่ตั้งใจทำแทบเป็นแทบตายในโลกนี่ ไม่เห็นได้อะไรเลย...หมด ไม่เหลือ

เพราะนั้นว่า ให้ไม่ประมาทในการมีชีวิตอยู่ คือใช้ร่างกายให้สมกับที่ได้มา ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้เอากายนี่เป็นมรรค เอาใจเป็นมรรค

มีกายอยู่แล้ว มีใจอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหามรรคภายนอก ไม่ต้องไปค้นคว้าให้มากมายในเรื่องของการแสวงหาธรรมต่างๆ นานา 

มันมีธรรมติดตัวมาแล้วตั้งแต่เกิด เหมือนอยู่คู่กันมา...อยู่กับมัน ใช้กับมันอยู่ตลอด ตั้งแต่ตื่นนอนยันหลับ กายอันนี้ใจดวงนี้

แต่ที่ไม่ได้ติดตัวมาก็คือ สติ แค่นั้นเอง ...อันนี้ต้องมาฝึก ต้องมาเจริญ ต้องมาสร้าง ...สติไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปบนบานศาลกล่าวแล้วมันจะมาได้นะ...ไม่มาหรอก มันต้องเจริญขึ้นมา ขยัน

ส่วนธรรมน่ะไม่ต้องหา มีอยู่แล้ว ...กายมีอยู่แล้ว อารมณ์มีอยู่แล้ว ตามี หูมี จมูกมี ลิ้นมี กายมี ผัสสะมีอยู่แล้ว ...เดี๋ยวนี้ก็มี ไม่ต้องคอย ไม่ต้องไปคอยว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ค่อยดู ค่อยมีสติ 

เดี๋ยวนี้ก็มี ...อยู่กับผัสสะ กินนอนอยู่กับผัสสะ นี่ ไม่มีอะไร หาอะไรไม่เจอก็...กายก็มีอยู่ มีรึเปล่า เดี๋ยวนี้ก็มี ...ไอ้ที่มันคอยจะไม่มีคือสติ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่น่ะไม่ค่อยมี หาไม่ค่อยได้ 

แล้วจะไปหาที่ไหนล่ะ จะมาหาที่นี่เหรอ มาวัดเหรอ...ไม่ทัน ...สติสมาธิปัญญาอยู่ที่วัดเหรอ กลับบ้านแล้วก็ไม่เอาไปด้วยเหรอ ...นี่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ไหน 

สติสมาธิปัญญาขึ้นอยู่ที่ความพากเพียร ...ฉันทะ ต้องมีฉันทะ...ไม่ใช่ความอยาก ...ฉันทะ ความพอใจ ความพอใจในการเจริญขึ้น ให้เกิดวิริยะ อิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

สอดส่อง สังเกต ตรวจตรา ตรวจสอบ สอบทาน น้อมกลับเข้ามาเทียบกับใจ อะไรเกิดขึ้น...รู้ๆๆๆ ...นี่เขาเรียกว่าเทียบกับใจ น้อมลงที่ใจเสมอ

มีอะไรมั่งที่ไม่สามารถน้อมลงที่ใจได้...อย่าให้มี ...ถ้ามีแปลว่ามันไม่ใช่สติแล้ว ...สติ...มันระลึกแล้วต้องกลับมาที่ใจ ใช่ป่าว ระลึก...แล้วใครรู้ใครเห็นล่ะ

เห็นรู้ว่าเห็น แค่นี้ กลับมาอยู่ที่ใจแล้ว ได้ยินรู้ว่าได้ยิน อยู่ที่ใจแล้ว ...มีอะไรมั่ง โกรธ..รู้ว่าโกรธ ทุกอย่างน่ะ สติระลึกขึ้นมาปุ๊บ มันจะน้อมกลับที่ใจหมด

เพราะฉะนั้น อย่าปล่อย อย่าให้มันทิ้งช่วงนาน ขาดๆ หายๆ  แหว่งๆ วิ่นๆ กระท่อนกระแท่น ...ใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับสติแบบสติขอทานน่ะ

สติขอทานคือ...แล้วแต่มันจะเกิด แล้วแต่มันจะมี เนี่ย มันไม่ตั้งใจ ...ถ้าไม่ตั้งใจมันจะไม่ต่อเนื่องนะ  แค่มีสติระลึกรู้ๆๆ อย่างเดียวนี่...มันยังไม่พอหรอก

มันยังไม่พอที่จะเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง หรือถึงขั้นยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ได้ ...มันต้องอาศัยสติที่ต่อเนื่องจนเป็นสัมปชัญญะ รู้แล้วก็เห็น รู้แล้วเห็น...เห็นให้ต่อเนื่อง 

มันมีอะไร มันเป็นยังไง มันแปรปรวนยังไง มันดับไปยังไง มันจะเข้าไปจับยังไง มันเข้าไปมี เข้าไปเป็นกับมันตอนไหน ...มันจะได้ทัน นี่ มีสัมปชัญญะมันจะเกิดการรู้รอบ

ไม่ใช่ไปรู้เอาตอนที่เผลอไผลแล้วก็รู้ แล้วก็ปล่อย ...เวลาปล่อยมันปล่อยหมดน่ะ สติก็ปล่อย ปล่อยทิ้งน่ะ มันไม่ต่อเนื่อง มรรคผลมันก็เลยไม่ค่อยได้เป็นชิ้นเป็นอัน 

คือความเข้าใจในธรรม ความยอมรับในธรรม นี่ ธรรม...ในที่นี้คือสิ่งที่ปรากฏนะ เราไม่ได้พูดถึงสภาวธรรมที่ว่าเป็นขั้นนั้นตอนนี้ หรือความรู้ในธรรมมากมายก่ายกองนะ

เราหมายถึงธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันนี่ มันไม่เข้าใจธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน มันจึงไม่สามารถจะยอมรับธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน ...เพราะใจที่ไม่เท่าทัน

มันจะเป็นธรรมที่จะไปรอคอยเสียมากกว่า ไปรอคอยเอาข้างหน้า...เดี๋ยวมันก็เห็นเอง เดี๋ยวมันก็ต่อเนื่องเอง เดี๋ยวมันก็เข้าใจเอง...นี่ รอ ...มันไม่เกิดหรอก

ต้องเจริญขึ้นมา..สติ ...อย่ากลัวเพ่ง เพ่งซะ ยังดีกว่าหลงน่ะ ...อย่ากลัวว่ารู้กายเห็นกายแล้ว มันจะกลัวว่าจะติดกายเพ่งกาย รู้ไปเถอะ รู้เบาๆ ให้ต่อเนื่อง

อย่ากลัวว่าต่อเนื่องแล้วเดี๋ยวมันจะเพ่ง ...ไม่เพ่งหรอก รู้เข้าไป ไม่เสียหาย ...แล้วมันก็จะค่อยๆ ปรับให้เกิดความพอดี...ต่อไปนี่ พอเพ่งก็รู้ว่าเพ่ง แล้วมันก็คลายของมันไปทีละเล็กทีละน้อย

มันก็จะอยู่ไปแบบเป็นกลาง รู้แบบสบายมากขึ้น แต่มันก็มีความต่อเนื่องไปด้วยอย่างนี้ ...แต่คราวนี้ มันกลัวเพ่ง กลัวรักษาเกินไป มันเลยปล่อยสบายเลยทีนี้ 

พอปล่อยปุ๊บ...หาย หายไปกับอะไรก็ไม่รู้ มารู้อีกที...อ้าว หายอีกแล้ว อย่างนี้ ...เพราะนั้นอย่าไปกลัว ...สติให้มันต่อเนื่อง...ถ้าไม่มีการต่อเนื่องแล้วจะเป็นสัมปชัญญะได้อย่างไร

ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ในลักษณะที่พวกเรานี่...ยังทำงานกันทุกคนใช่ไหมนี่ เรียนหนังสือหรือทำงาน ทำงานหมดแหละ นั่น มันสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คน มันต้องมุ่งมั่นในงาน

เพราะนั้นในลักษณะอย่างนี้ การเจริญสติที่จะเอามาใช้ ให้สามารถเกิดความเจริญต่อเนื่องจนเป็นสัมปชัญญะนี่ ต้องอาศัยสัจจะอธิษฐานเข้าร่วมด้วย ต้องมีสัจจาธิษฐานเข้าร่วมบ้าง

เช่น ขณะนี้ เวลานี้ สมมุติว่าเวลากินข้าว ก่อนจะกิน...ตั้งใจไว้ก่อน เหมือนกับตั้งสัจจะกับตัวเอง อธิษฐานไว้กับตัวเอง ตั้งสัจจะไว้ว่า...ระหว่างกินนี่ จะไม่ลืมตัวเลย อย่างนี้

หรือจะรู้กายตลอดให้ต่อเนื่อง ไม่เผลอ เอาแค่ช่วงนี้...ถึงนี้ ...นี่  แล้วทำให้ได้ ระหว่างในที่ทำงาน ที่โต๊ะก่อนจะลุกไปเข้าห้องน้ำ ตั้งใจไว้ก่อน ไม่ใช่ปวดปุ๊บ ลุกไปเลย

ตั้งใจไว้ว่าระหว่างนี้ เดินไปเข้าห้องน้ำนี่ จะรู้ตัว แล้วก็จนกว่าจะกลับมาที่โต๊ะอย่างนี้ ...ให้มันยืด ให้มันต่อเนื่องเป็นช่วงๆ ไป หรือว่าเวลาคุย เวลาพูด ก็พยายามตั้งใจไว้

แล้วก็ค่อยๆ ขยายเวลาออกไป ว่าจะต่อเนื่องในช่วงนั้น เวลานั้นให้ได้ ...นี่เขาเรียกว่าอาศัยสัจจาธิษฐานเข้ามากำกับ แต่อย่าเครียด อย่าไปเอาเกิน

เกินก็เช่นว่า วันนี้ใจดี สติดี อารมณ์ดี เช้าขึ้นมาตั้งว่า “วันนี้ทั้งวันเราจะไม่เผลอเลย” ...อันนี้เกิน เกินกำลัง เดี๋ยวมันจะท้อ ...เอาแค่เป็นพีเรียด ช่วงๆ ช่วงไหนช่วงนั้นให้มันได้

พอมันได้แล้วมันจะมีกำลังใจ ตรงนี้มันจะเป็นตัวที่เจริญขึ้นให้เกิดสัมปชัญญะคือความต่อเนื่อง ...แล้วก็ต่อไปมันจะค่อยแข็งแกร่งขึ้น เป็นรู้รอบเห็นรอบ

ไม่ใช่แค่รู้ๆๆ รู้แบบขอทาน รู้แบบกระท่อนกระแท่น วันนึงเอาสักกี่ครั้งดีล่ะ นับครั้งได้น่ะ ต่อเนื่องก็นิดเดียว นาทีหนึ่งหรือสองนาที...แค่นี้ไม่พอหรอก

มันไม่พอที่มันจะเข้าไปแจ้งในขันธ์น่ะ ไม่ใช่ว่าไม่พอในการอะไรหรอก ...มันไม่พอที่มันจะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริงโดยต่อเนื่อง ไม่พอที่จะเห็นความขาดไป

คือไม่เห็นความดับไประหว่างขันธ์หนึ่งปรากฏแล้วขันธ์หนึ่งดับ แล้วขันธ์หนึ่งปรากฏ ...มันเห็นแค่วอบๆ แวบๆ มันไม่เพียงพอกับการที่หมักหมม หรือว่าการให้ค่าเป็นตัวเป็นตนกับทุกสิ่ง

เพราะกิเลสที่มันหมักหมมอยู่ในภายใน หรือความไม่รู้ที่มันหมักดองอยู่ภายในนี่ ...จนมันดูเหมือนกับเป็นธรรมชาติของเราไปแล้ว ไม่ต้องสอนไม่ต้องบอก มันหลง มันเผลอ มันเพลินโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว 

เห็นมั้ย ท่านถึงเรียกว่าเป็นอนุสัย...คือสันดานของจิตที่ไม่รู้ มันทำโดยดูเหมือนเป็นธรรมดา เป็นปกติของมันเลย...ในการเผลอเพลิน หลงใหลไปตามรูปเสียงกลิ่นรสที่ผ่านมาทางอายตนะทั้งหก

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาสร้างนิสัยใหม่ นิสัยคือการกลับมารู้ คือสติ ...สติเป็นตัวที่สร้างนิสัยใหม่ ที่มาทัดทานกันกับอนุสัยเดิมอย่างนี้

เพราะนั้นก็คิดดูแล้วกันว่า ถ้าเป็นแบบสติแบบขอทานอย่างนี้ ...มันจะทันกันไหมนี่ มันจะสู้ไหวไหม มันจะสู้กับความหลงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ความคิดความปรุงแต่งได้ไหม 

มันไม่เพียงพอหรอก ...ไม่ใช่ว่าทำไปเรื่อยเปื่อย เดี๋ยวดีเอง  ใจดีก็ทำ ใจร้ายก็ไม่ทำ...อย่างนี้ไม่ได้ ...มันต้องตั้งใจ 

การปฏิบัติธรรมจริงๆ  การเจริญสติที่เราสอนนี่ ดูเหมือนง่าย ดูเหมือนทำได้ทุกคน เข้าใจได้ง่ายๆ ทุกคน ...แต่จริงๆ แล้ว ต้องอาศัยความขยันมาก ใส่ใจมากๆ 

ไม่ขี้เกียจ ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา ไม่อ้างเมื่อนั้นเมื่อนี้ ไม่อ้างสถานะนั้นสถานะนี้ ...คือเมื่อไหร่ระลึกขึ้นได้ปุ๊บ...รู้ ...ต้องรู้ตัว

เพราะนั้นเวลาเผลอเพลินไปแต่ละครั้งแล้วรู้ตัวขึ้นมา รู้ขึ้นมาแล้วให้กลับมาตั้ง...ตั้งหลักที่การรู้ตัวก่อน...รู้ตัว กลับมารู้ตัว

แล้วจากรู้ตัวแล้วพยายามต่อเนื่อง ให้เห็นตัวเป็นการต่อเนื่องยืดยาวออกไป ...ไม่ใช่แค่รู้ตัวแค่นั้นแล้วพอ  มันยังไม่พอหรอก มันแค่เหมือนกับมันกลับมาตั้งหลักอยู่กับปัจจุบัน

แล้วพยายามอยู่กับปัจจุบัน ด้วยสติสัมปชัญญะไป ให้ยืดยาว เป็นการพัฒนาขึ้น ...ไม่งั้นมันไม่พัฒนา 

จะมาพัฒนาเอาแบบเป็นช่วง เป็นวรรคอย่างนั้น หมายความว่า เวลาว่างก็มาเอาจริงเอาจังตอนอยู่วัดสักทีอย่างนี้ ...ไม่พอ 

สติต้องเหมือนกับลมหายใจเข้าออก ...มันจึงจะพัฒนาขึ้นเป็นมหาสติหรือสัมมาสติที่แท้จริงได้ หรือเป็นสติอัตโนมัติ



(ต่อแทร็ก 3/28  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น