วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 3/30 (2)


พระอาจารย์
3/30 (540421)
21 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 3/30  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เวลามันอยู่ธรรมดา ใจก็สามารถจะยอมรับในทุกอาการ ทุกปรากฏการณ์ ด้วยอาการที่ไม่มีการส่ายแส่ ไหว กระเทือน เลื่อนไหล คล้อยออก

ก็แค่รู้กับปัจจุบัน ตรงที่อยู่ตรงหน้านี่ อะไรที่มันอยู่ตรงหน้านี่ มันก็แค่รู้น่ะ ไม่กระเสือกกระสนออกไปข้างหน้าข้างหลังอีก ไม่สร้างความคิดความปรุงเพื่อให้ไปข้างหน้าข้างหลังอีก

แรกๆ มันอยู่กับปัจจุบันแล้วมันก็กระเสือกกระสน แล้วมันก็ปรุงใหม่ แล้วก็ไม่ทัน ไม่ทันก็เกาะติดความปรุงแต่งไป ไปมีตัวมีตนกับความปรุงแต่งนั้น อนาคตอย่างนั้น เดี๋ยวเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

มีรูปในอนาคต ติดสอยห้อยตาม ไปสิงสู่ ไปอยู่กับผีของความคิด...นั่นเป็นวิญญาณ มโนวิญญาณ ...มันก็ล่องลอยไปเกิดกับมโนวิญญาณ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เหมือนกับมีรูปมันปรากฏขึ้น

ก็หลงไป กระโจนออกไปเกิดกับจิตวิญญาณ...ทางจักขุวิญญาณ ก็จะไปเป็นผี เป็นผีทางรูป มีตัวเราของเรากับรูป ยินดียินร้าย ตามรูปนั้นๆ ตามอาการที่ปรากฏทางตา

เดี๋ยวก็มีอาการที่ปรากฏทางหูอีก กระโจนอีกแล้ว โสตวิญญาณ  ก็ไปเกิดกับอาการทางหูอีกแล้ว

เพราะนั้น ถ้าเท่าทันแล้ว มันเท่าทันแล้วก็เห็นว่ามันเป็นอาการทางหู ทางตา  เป็นอาการทางใจ เป็นอาการทางจมูกทางกลิ่น ทางลิ้นทางรส

ก็เห็นว่าเป็นแค่อาการที่ปรากฏ ทางหู ทางตา ทางกาย ทางจมูก ทางลิ้น ทางความคิด ทางความจำ ...ก็เป็นแค่อาการที่ปรากฏ ถ้ามันรู้อยู่ ตั้งมั่นอยู่กับรู้อยู่ เห็นอยู่

อาการก็เกิดดับสลับกัน เกิดทางหูมันก็ดับที่หู เกิดทางตามันก็ดับที่ตา ...เหตุภายนอกก็ดับที่ตรงนั้น ไม่มีตัวเข้าไปผสมด้วยความปรุง ความคิด ความจำ ...มันก็ดับอยู่อย่างนั้น

มันก็ไม่กลายเป็นผีเร่ร่อนไปตามวิญญาณทั้งหก กายวิญญาณ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ฆานะวิญญาณ มโนวิญญาณ

มันก็เหลือแต่ใจรู้ แล้วก็เห็นวิญญาณนั้นดับไปตามที่มีอะไรมากระทบ ...“เรา” ไม่กระโดดเข้าไปอยู่ในวิญญาณ ไม่งั้นเป็นผี...อย่างนี้เรียกว่าผี ผีทางหู ผีทางตา

นั่นแหละ มันแค่วิญญาณรับรู้แค่นั้นเอง ...อย่าไปจริงจังกับการรับรู้นั้นๆ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา  เหมือนกับสร้างผีขึ้นมา แล้วจริงจัง เหมือนว่ามันเป็นตัวเรา

เหมือนเสียงเป็นของเรา เหมือนรูปเป็นของเรา เหมือนรูปเป็นของเขา ไปสำคัญมั่นหมายในสิ่งที่เป็นผี ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ...มันเลยหลอกเอา อย่างนั้้นน่ะ 

โดนผีหลอก...ผีทางตา ผีทางหู ผีทางกาย หลอก ...ก็เป็นจริงเป็นจัง ไปดีอกดีใจ เสียอกเสียใจกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาลมๆ แล้งๆ ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น

เมื่อรู้แล้ว...ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็รับรู้ว่ามันเป็นแค่อาการทางตา...ก็รู้ว่าเห็น  ...อาการทางหูมากระทบก็รู้ว่าได้ยิน กลิ่นมากระทบก็รู้ว่าได้กลิ่น

มันก็ไม่ไปกับกลิ่น มันก็ไม่ไปกับรส มันก็ไม่ไปกับเสียง มันก็ไม่ไปกับรูป ...มันก็รู้แค่เป็นอาการทางหู ทางจมูก เหล่านี้...เกิดดับสลับกัน หาตัวหาตนไม่มี

เพราะเราไม่ไปสร้าง ไม่มีเราเข้าไปสร้างรูป สร้างเสียง ตามเสียงตามรูปนั้น ใจมันก็ตั้งมั่นแค่รู้ มันก็รู้เห็นอาการตามความเป็นจริง ...คำว่าเห็นอาการตามความเป็นจริง คือเห็นว่ามันเป็นแค่อาการ

มีรูปมากระทบลูกตา ก็มีอาการรับรู้ว่าเห็น เป็นสีสัน เป็นแสงเป็นเงา เป็นมืดเป็นสว่าง เป็นทรวดทรง ...เนี่ย มันก็รู้ว่านี่เป็นแค่อาการที่เกิดขึ้นกับตา คือรูปมากระทบลูกตา มันก็เกิดอาการรับรู้เช่นนั้น 

เมื่อมีอาการมากระทบกับหูในลักษณะที่เป็นเสียง มันก็เป็นการรับรู้ว่าได้ยิน ...เนี่ย ขันธ์ กระบวนขันธ์น่ะรับรู้กับภายนอกอย่างนี้ ...แล้วดูสิ ก็ดูตามอาการ หรือว่าดูอาการนี้ตามความจริง 

มันเป็นแค่การรับรู้ตามลักษณะของเสียง ลักษณะของรูปที่มากระทบตา กระทบหู มันเป็นใครล่ะ มันเป็นของใคร มันเป็นใคร อะไรตรงไหนกันนั่นน่ะ 

มันกระทบแล้วมันก็เกิด แล้วก็ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ดับ ...เนี่ย อายตนะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นแค่อาการตามความเป็นจริง เป็นแค่อาการ อย่างนี้เท่านั้น

แต่ถ้าไม่เห็นว่ามันเป็นแค่อาการ หรือเห็นว่าตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นแค่อาการ ...มันจะหลงเข้าไปในเสียง มันเข้าใจว่า “เรา” เป็นผู้ได้ยิน เราเป็นคนเห็น เราเป็นคนได้กลิ่นได้รส เรากำลังนั่นนี่

พอมี “เรา” ขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีความยินดียินร้าย เนี่ยแต่ถ้ามันรู้ทันว่าเป็นแค่อาการ มันไม่มี “เรา” ...เมื่อไม่มี “เรา” มันก็ไม่มียินดี มันก็ไม่มียินร้าย มันก็เป็นแค่อาการหนึ่ง

หวานก็เป็นแค่อาการหนึ่ง เค็มก็เป็นอาการหนึ่ง หอมก็เป็นแค่อาการหนึ่ง เหม็นก็เป็นแค่อาการหนึ่ง แล้วก็ดับ ...ไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีใครหอม ไม่มีใครเหม็น

เพราะเราเห็นว่ามันเป็นแค่อาการ...ไม่มี “เรา” ...เนี่ย เรียกว่าปัญญาเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ...ต่อเนื่องด้วย...ต้องต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่เห็นครั้งเดียวแล้วพอ

ตั้งสติตั้งใจแล้วดู...อ้อ เห็นครั้งเดียว แล้วพอ แล้วหยุด แล้วสนุกต่อ เพลินต่อ หลงต่อ เมาต่อ เป็น “เรา” ต่อ อย่างนั้น...ไม่ขาด สักกายไม่ขาด...สักกายทิฏฐิไม่ขาด

คำว่า “สักกาย” นี่ ไม่ใช่ว่าตัวเรา มันเป็นสักกายนะ  ...ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นว่าเป็นเราของเรา นี่ มันไม่ขาด ไม่ใช่ว่าเป็นตัวเราของเราไม่ขาด  แต่ “ความเห็น” ว่าตัวเราไม่ขาด ...เพราะนั้นสักกายทิฏฐิ คือความเห็นนั่นเอง

ถ้าสติมันได้แค่ครั้งๆๆ ครั้งไป แต่ถ้าเป็นสัมปชัญญะมันจึงจะต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน ...จนศีลสมาธิปัญญาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จนล้นน่ะ...ล้นคือไม่ขาดสายเลย

เมื่อถึงได้ ทำได้ขนาดนั้น เจริญเหตุของสติสมาธิปัญญาได้ขนาดนั้น ...ไม่ต้องถามเลย เข้าใจได้เอง เห็นตามความเป็นจริงได้หมด ไม่มีอะไรมาหลอก ว่าเป็นเราของเราได้อีก

การใช้ชีวิตก็ใช้ไป ไม่ใช่สาระอะไรสำคัญหรอก เป็นเรื่องรอง ทำอะไรก็ทำไป ไม่ได้เอาเป็นหลัก เป็นเรื่องรองลงไป ...แต่หลักคือหลักใจ หลักเดียว

เอาใจเป็นหลัก อย่าให้ใจหาย อย่าให้สติหาย อย่าให้ขาดการรู้การเห็น  จะทำ จะไป จะมา ต้องพิจารณาซะก่อน ...เหมือนหลวงปู่ท่านว่า โอม มหาพินิจพิจารณา จะไปจะมาต้องพิจารณาเสียก่อน

คือต้องรู้ก่อนไป แล้วก็ตั้งใจไป ตั้งใจมา...ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ทำอะไรอยู่ให้เห็น จิตอยู่ในอาการไหน อยู่ในอาการของคิด ของปรุง...ให้เห็น ให้รู้

จะไปจะมากับความคิดก็ต้องพิจารณาเสียก่อน คือตั้งใจแล้วก็พิจารณาก่อนว่ากำลังทำอะไร จะได้ไม่หลงเผลอเพลินไปกับมัน 

ถ้ารู้แล้วตามมันไป แล้วไม่รู้ตัวต่อ ไม่เห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น เดี๋ยวก็เผลอเพลิน ...เพลินยังไง เผลอยังไง ...ใจหาย กายหาย

ไปเป็นความคิดซะแล้ว ไปเป็นอารมณ์ซะแล้ว ไปเป็นรูปเป็นเสียงข้างนอกซะแล้ว อย่างนี้เรียกว่ากายหาย ใจหาย ...หลง โมหะพาไปพามา พาเกิดพาตายกับรูปกับเสียง

มันเลยไม่เรียกว่า โอม มหาพินิจพิจารณา จะไปจะมาให้พิจารณาเสียก่อน ...ก่อนที่จิตจะไปไหน ก่อนจิตจะไปความคิด ก่อนจิตจะไปกับความจำ ก่อนจิตจะไปกับรูป ก่อนจิตจะไปกับเสียง

ก่อนจะทำอะไร กายจะเดินไปไหน จะขึ้นรถลงเรือ จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน ตั้งใจให้ดีแล้วค่อยลุกไป ...จะไปซ้ายก็ไป จะไปขวาก็ไป ไปไหนก่อนก็ได้ มันต้องไปก็ต้องไป...แต่ว่าไปแล้วต้องรู้ว่าไป

มันไม่ใช่ว่ามันจะมาหยุดอยู่เฉยๆ ในชีวิต ...ไปก็ได้ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ แต่ก่อนจะไปตั้งใจให้ดี แล้วก็ระหว่างทางเดินไปให้รู้

ไม่ได้ห้ามการคิด ไม่ได้ห้ามการเรียนหนังสือ ไม่ได้ห้ามการยืน การกิน การไปไหนมาไหน ...แต่ไปด้วยสติและสัมปชัญญะกำกับด้วย ไปมาได้หมด อยู่ก็รู้ว่าอยู่ ไปก็รู้ว่าไป

นี่ จะไปจะมาต้องตั้งใจ ก่อนจะลุกก่อนจะไป ไม่ใช่พั้บๆๆ ลุกไปถึงเลย  จะเดินไปก็หยุดแล้วตั้งใจก่อนเดิน...แล้วไปเหอะ ไม่ผิด มันต้องทำก็ต้องทำ มันต้องคิดก็ต้องคิด

ไม่ได้ห้าม ไม่ใช่บอกว่าผมจะไม่ทำอะไรเลย ผมจะรู้อยู่อย่างเดียว ...นั่น อันนั้นก็เกินไป เคร่งเกินไป มันก็มาใช้กับชีวิตไม่ได้

เพราะว่าชีวิตน่ะมันถูกกรรมเป็นตัวบังคับ เป็นตัวที่เราต้องไปต้องมา ไม่มีการอยู่เฉยๆ หรอก ...นิ่งอยู่เฉยๆ มันก็เป็นรูปปั้นสิ ตาหูจมูกมันก็ต้องได้กลิ่น ได้ยินได้ฟัง ได้เห็นอยู่

แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ มันไม่กลัว...ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ ...แล้วเราจะเห็นว่าที่สุดของมันคืออะไร 

หมด จบ ดับ ไม่มีอะไร ไม่เก็บมาคิดต่อ ไม่เก็บมาคาดคะเนกับมันต่อ ...นั่นน่ะคือจบจริง จบในกิจนั้น ทำกิจนั้นเสร็จก็จบ ...มันจบมั้ยล่ะ

ถ้าไม่จบ ...ไม่จบก็ทุกข์อีก ถ้าไม่จบก็ทุกข์ เหมือนค้างอยู่ คาอยู่ ข้องอยู่ ...มันข้องกับอะไร ข้องกับความคิดความจำ 

ความจริงมันจบได้หมด ตั้งแต่ทำเสร็จในกิจนั้นๆ เหตุนั้นๆ ทั้งภายในภายนอก


ผู้ถาม –  ตอนแรกก็ตั้งใจจะถามอาจารย์ว่า แล้วถ้าเกิดผมไปเรียนนี่ จะต้องทำยังไงต่อถึงจะเจริญสติได้ แต่อาจารย์ตอบแล้วก็ไม่ถามต่อแล้วครับ รู้แล้วว่าจะต้องทำยังไงต่อครับ

พระอาจารย์ –  ก็บอกไม่ต้องไปอะไร อยากทำอะไรก็ทำ ...แต่ว่าต้องมีสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องกับมันแค่นั้นเองในอาการ 

จนกว่ามันจะเห็น จนกว่ามันจะแจ้ง จนกว่ามันจะจบ ...แล้วมันจะรู้เลย “กูจะไม่ทำอะไรแล้ว” มันก็จะหยุดเจตนาทั้งสิ้น ...แต่อันนี้มันมีเจตนา มีเรา...มีเจตนา 

ทำยังไงถึงจะไม่ตกไปในอิทธิพลในเจตนาของเราเกินไป ...ก็เอาสติสัมปชัญญะเข้าไปกำกับให้ต่อเนื่อง จนกว่าเรากับเจตนานั้นดับ ทุกข์มันจะหยุดไปเอง ดับไปเอง 

เราไม่ต้องไปบังคับ ไม่เอาเราไปคาดหวัง ...ก็รู้ไป ดูไป จนกว่า “เรา” มันจะน้อยลง เจตนาก็น้อยลง

อยากสอบ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ...ต่อไปก็ไม่รู้จะดูไปทำไม ไม่รู้จะได้อะไร อย่างนี้...“เรา” ก็น้อย เจตนาก็น้อย ก็เลยขี้เกียจมากขึ้น ไม่รู้จะเอาไปทำไมอย่างนี้

แต่ตอนนี้มันมีความขยันขวนขวาย เจตนามันแรง เพราะ “เรา” มีเป้าหมาย แค่นั้นเอง ...แต่ว่าเมื่อใช้มัน “เรา” กับเจตนาใช้ขันธ์อยู่ เราก็เอาสติสัมปชัญญะมากำกับให้เป็นกลาง

ให้รู้จักกับคำว่าพอดี ไม่ให้มันเกินเลย ถลำลงไป ถลำไปแบบติดบ่วง ...มันถลำลงไปแล้วมันจะติดบ่วง พอติดบ่วงแล้วมันไม่สนใจอะไรแล้ว ไปเกิดไปตายอย่างเดียวแล้ว

ลาภ ยศ สรรเสริญ ยินดี ยินร้าย เสียอกเสียใจ พออกพอใจ คำชมคำด่าคำอะไร ก็ว่ากันไป ...แล้วก็วิ่งไปสู่จุดนั้น สู่เงา ไปเป็นผีเกิดตายในโลกนั้นไป

แต่ถ้ามันมีสติกำกับ สัมปชัญญะกำกับ ถือว่าเป็นการภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก ...มันจะเป็นตัวชะลอบังเหียนหรือหางเสือที่จะคัดเรือ เรือแจวหรือเรือยนต์อะไรก็ตาม

ให้มันอยู่ในครรลองของมรรค เพื่อให้อยู่ในกระแสของมรรค เข้าใจมั้ย ไม่ให้มันเตลิดออกร่องน้ำลึก ลงไปว่างเปล่าจมน้ำตายในมหาสมุทรหรือโอฆะสงสาร

มันก็จะไปในครรลองของมรรค เพื่อจะไปที่สุดของมรรค จนถึงที่สุดในมรรค ...เมื่อนั้นน่ะ ที่สุดในมรรคเมื่อไหร่ก็หา “เรา” ไม่เจอแล้ว

เมื่อไม่มี “เรา” ก็ไม่มีเจตนา เมื่อไม่มีเจตนามันก็ไม่มีปัญหา ...เมื่อไม่มีการกระทำ มันก็ไม่มีผลของการกระทำ มันก็เลยไม่มีทั้งผู้ทำและผู้เสวย มันก็อยู่ไปงั้นๆ น่ะ

จะมหา ปธ.๓ ปธ.๔ ปธ.๙ ก็งั้นๆ น่ะ ก็เท่ากันน่ะ ...ตายแล้ว มหาก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่หา ไปเจอแต่กระดูกอย่างนี้ มหาอยู่ไหนๆ อยู่ในกระดูกเหรอ ไปทุบดูซิ

ความรู้ที่ไหน แทรกอยู่ไหน ไปทุบกระดูกดูซิ ความรู้มันแอบอยู่มั้ย ยังมีอยู่มั้ย ...เหลือแต่กระดูก กระดูกแล้วก็ป่น ป่นแล้วก็กลายเป็นอณู ต่อไปมันก็ไม่เห็นกระดูกแล้ว

ถ้ากระดูกยังมีอยู่มันก็เต็มโลกไปหมดแล้ว โลกนี้ก็มีแต่กระดูกเที่ยงสิ มันก็ยังมีแต่หินดินน้ำลมไฟ ความรู้ความจำไม่เห็นอยู่ตรงไหนเลย 

มันก็ตายไปพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน ในช่วงวาระหนึ่ง ...มหาก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่หา มาหาดูไม่เห็นอะไร เหลือแต่กระดูกก้อนนึง กองนึง หย่อมนึง 

แล้วก็เป็นขี้เถ้ากระจุยกระจายสลาย เป็นสายลมและแสงแดด ...อ้าว มหาคืออะไร คือสายลมและแสงแดด เออ เป็นเรื่องเดียวกัน เนี่ย ...สุดท้ายมันสู่ความไม่มีไม่เป็น


(ต่อแทร็ก 3/30  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น