วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/13 (2)


พระอาจารย์
3/13 (540122A)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 3/13  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นี่ เริ่มเรียนรู้หรือว่าฝึกอบรมจิต ...การอบรมจิตให้เห็น ให้เกิดปัญญา เป็นการเจริญสติอบรมจิตให้เกิดปัญญา 

ให้เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ว่าขันธ์นี้มันแปรเปลี่ยนอย่างไร มันคงที่มั้ย มีใครเป็นเจ้าของมันมั้ย ...เวลาลมเย็นมากระทบ บอกให้มันไม่เย็นได้มั้ย มันฟังมั้ย ...มันไม่ฟังนะ 

มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่มากระทบมันต่างหาก มันไม่ได้ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง นะ ...กายจึงไม่ได้เป็นทรัพย์สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง

น้อมให้เห็นอย่างนี้เรียกว่าปัญญา สติก็ก่อให้เกิดปัญญาขึ้นมา เห็น เริ่มเห็นขันธ์...ในเบื้องต้นคือกาย ตามความเป็นจริง มากขึ้นๆ

ดูให้ต่อเนื่อง สังเกตให้ต่อเนื่อง สติให้ต่อเนื่องจนเป็นสัมปชัญญะ จนเห็นว่ากายนี้ ไม่เป็นกายอย่างที่เราเข้าใจเลย มันเป็นแค่ความรู้สึกตัว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จรไปจรมา

ดูไปดูมาจะเห็นกายเหมือนอะไร เห็นกายเหมือนจุดไฟแช็กน่ะ ไฟแช็กที่จุดขีดขึ้น ประกายไฟแพล่บๆๆๆ ในความมืด ...เนี่ย กายมันเป็นแค่นั้นเอง ความรู้สึกของกายจริงๆ น่ะ 

มันไม่ใช่กายอย่างที่เราเห็น ...ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นรูปภาพ เป็นรูป  เนี่ย ตาที่เรามองเห็น แล้วเป็นวัตถุ เป็นทรวดทรง เป็นสีสัน พวกนี้เป็นรูป...เป็นรูปของกายเท่านั้นเอง ...แต่ไม่ใช่กายจริงๆ

กายจริงๆ มันอยู่ตรงที่รู้สึกตัวตรงนั้น ตรงรู้สึกตัวเป็นกายวิญญาณน่ะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง เหยียด ยาว คู้ กระเพื่อม กระเทือน กระทบ กระแทก นิ่ง อ่อน หนา ไหว หาความเป็นชายเป็นหญิงไม่ได้

แต่ถ้าดูที่รูปปุ๊บ มันจะมีสมมุติสัญญาเข้ามาประกอบ ทำให้เกิดความหลงผิดไป เชื่อไปตามสัญญาอารมณ์ เชื่อไปตามความคิดความเห็น

เพราะนั้น ในลักษณะที่มันเกิดขึ้นมาว่า เป็นลักษณะนั่งนอนยืนเดิน เป็นชายเป็นหญิง ก็ให้รู้ว่า อ๋อ เป็นแค่ความคิดหนึ่ง สัญญาหนึ่งปรากฏ หรือว่าเป็นนามธรรมที่มาปรากฏขึ้น 

ก็เป็นอีกขันธ์หนึ่งแล้วที่ปรากฏ เรียกว่านามขันธ์ นี่ในส่วนของนามขันธ์ปรากฏ เพราะขันธ์ห้านี่มันไม่ใช่แค่กาย มันมีอีกสี่...ที่เป็นนาม 

คือความปรุงแต่ง สัญญาความจำ แล้วก็ความรู้สึกยินดียินร้าย สุข ทุกข์ มาประกอบกัน มาประกอบกับกาย มาประกอบกับเสียง มาประกอบกับรูป มาประกอบกับกลิ่น มาประกอบกับรส

พยายามดู สังเกต ด้วยความแยบคาย ให้เท่าทัน อาการที่มันสลับไปมา ระหว่างรูปธรรม รูปขันธ์ นามขันธ์ มันก็จะจำแนกขันธ์นี่ออกเป็นส่วนๆๆๆ สลับกัน 

สลับไปสลับมา สลับๆๆ สลับอยู่อย่างนี้ ...เดี๋ยวเป็นรูปขันธ์บ้าง เดี๋ยวเป็นนามขันธ์บ้าง เดี๋ยวเป็นเวทนาขันธ์ เดี๋ยวเป็นสัญญาขันธ์ อยู่อย่างนี้

การที่มาตรวจสอบสังเกตอาการที่ปรากฏในขณะปัจจุบัน เท่าทันมัน แยบคายกับมันนี่ ก็จะเห็นขันธ์แสดงความเป็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา ...ขันธ์นี่ไม่เคยปิดบังความเป็นไตรลักษณ์เลย เขาแสดงตลอด

แต่เราดูไม่ตลอด สติเราไม่ดูตลอด ...ดูได้เป็นชิ้นๆ เป็นครั้งๆ คราวๆ ขณะหนึ่งแล้วก็หาย หายไปกับความหลง หลงคือไม่รู้ ...หายไปเลย 

หายไปในความคิดความจำบ้าง หายไปในอดีตอนาคตบ้าง หายไปกับเรื่องราวของบุคคลคนนั้นคนนี้บ้าง หายไปกับความคิดในอดีต-อนาคต ตัวเราในอดีต-อนาคต 

มันจะหายไปหมด ไม่มาเกิดความแยบคายขันธ์ในปัจจุบัน ... เพราะนั้นเมื่อหายไปก็ต้องกลับมา สติระลึกรู้แล้วก็กลับมา ว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้ขันธ์ไหนปรากฏเด่นชัดขึ้นมา 

ที่กายเหรอ ที่ความคิดเหรอ ที่ความรู้สึกเหรอ ดูมันลงไป หรือที่อายตนะ นี่ ให้มันมารู้ตรงปัจจุบัน ตรงที่มันปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ...แล้วก็แยบคายในสิ่งที่ถูกรู้นั้นๆ ว่ามันเป็นอะไร 

มันเป็นแค่ภาพ มันเป็นแค่เสียง แล้วก็รู้  มันเป็นแค่ความรู้สึกแล้วก็รู้ มันเป็นแค่ความรู้สึกทางกายแล้วก็รู้ ...เนี่ย อยู่อย่างนี้ ให้มันเห็นเป็นส่วนๆๆๆ ของมัน

ใจมันก็จะเกิดความแยบคาย หรือว่าปัญญา ว่ามันเป็นอย่างนี้  ความเป็นจริงของขันธ์มันเป็นอย่างนี้ ...มันเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่ง 

เดี๋ยวคิด...เดี๋ยวจำๆๆๆ เดี๋ยวสุข...เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวคิด เดี๋ยวจำ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวอ่อน เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์

แน่ะ เห็นมั้ย เห็นขันธ์ที่มันเปลี่ยน สลับๆๆ ...เหมือน curve เหมือนคลื่น พึ่บๆ พั่บๆ วูบๆ วาบๆ ไปๆ มาๆ ไม่มีทิศมีทาง แต่มันไปอยู่ในอาการนี้ 

เหมือนไฟฟ้ากระแสสลับที่มัน เกิด-ดับๆๆ วูบๆ วาบๆ ...หาความเป็นชิ้นเป็นอัน หาความเป็นตัวเป็นตน หาความเป็นทรวดทรงรูปร่างวัตถุเด่นชัดไม่มี

แต่ถ้าไม่มาแยบคายเมื่อไหร่ปั๊บนี่ ความเห็นเนี้ย ความเห็นผิดนี่มันจะเข้าไปจับเป็นตัวตนรูปร่างทันที ทรวดทรง เรา เขา สัตว์บุคคล ชายหญิง สวยงาม-ไม่งาม หล่อ-ไม่หล่อ ดี-ร้าย ถูก-ผิดไปเลย 

อันนี้เขาเรียกว่าเป็นสักกายทิฏฐิ เป็นสีลัพพตะ ความเชื่อแบบสัญชาติญาณของสัตว์ ...มันก็เชื่อแบบตื้นๆ เชื่อแบบงมงาย เชื่อแบบไม่รู้จริง ...แต่คิดว่าจริง 

มองคนไหนสวยก็ว่าสวยจริง ไม่แยบคายลงในความสวย มันก็หลงติดอยู่ในความสวยเลย บอกว่าสวย ก็ว่าสวย เชื่อเลยว่าสวย ...แต่ไม่แยบคายว่า มันสวยยังไง ใครว่าสวย สวยคืออะไร

นี่ แยบคายลงไป ...อ๋อ สวยมันเป็นแค่ความคิด เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่ง เป็นความรู้สึกหนึ่งที่พอใจ แล้วดูไปที่รูป ดูไปที่กาย มันบอกมั้ย ไม่มีใครบอก กายไม่เคยบอกว่าสวย-ไม่สวย กายเป็นกาย อย่างเนี้ย

ถ้าแยบคายลงไป แล้วมันก็จะเริ่มเข้าไปตีโจทย์นั้นให้มันกระจายแตกออกไป ...ไม่ใช่เกิดความรู้สึกใดปุ๊บ เชื่อปั๊บเลย เป็นจริงเป็นจัง เป็นตุเป็นตะ เป็นลมเป็นแล้งไป

เอาอะไรลมๆ แล้งๆ นี่มาเป็นตุเป็นตะ แล้วก็เอาไอ้สิ่งที่ไม่เป็นสาระนี่มาเป็นสาระ แล้วเอาสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริงมาเป็นตัวเป็นตนที่แท้ที่จริง 

แล้วก็วิ่งไขว่คว้า ไล่จับ คาดค้นด้นเดาไปกับอาการที่มันวูบๆ วาบๆ นี่แหละทั้งชีวิต ...นี่เขาเรียกว่าหมุนเวียนอยู่กับความไม่รู้จริง แล้วก็ถูกขันธ์น่ะหลอก...ถูกขันธ์ห้านี่หลอก 

ขันธ์ห้าตัวเองก็หลอก ขันธ์ห้าคนอื่นก็หลอก ขันธ์ที่ไม่มีวิญญาณครองก็มาหลอกอีก เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ให้ความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างความพึงพอใจขึ้นมา สร้างความไม่พอใจขึ้นมา จิตมันหลอกอีก

ถ้าไม่สังเกต ถ้าไม่แยบคาย ถ้าไม่แยกออกเป็นส่วน...เป็นส่วน  ไม่เห็นปฏิกิริยาต่อเนื่องของมัน ไม่เห็นปฏิกิริยา...สิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วเกิดสิ่งนี้ต่อมา สิ่งนี้เกิดต่อมาแล้วสิ่งที่เกิดก่อนนั้นก็ดับไป 

มันจะไม่เข้าใจว่าทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดอยู่ในนี้ มันเกิดจากความต่อเนื่อง เป็นกระบวนการเกิด-ดับต่อเนื่อง สลับไปสลับมาอยู่อย่างนี้

ปัญญามันก็ไม่เกิด มันก็ติดในสิ่งที่ไม่ควรจะไปติด ไปติดในสิ่งที่มันไม่เคยติดเรา ...กายนี่มันไม่เคยติดเราเลย แต่เราน่ะติดกาย 

ความคิดน่ะ มันก็ไม่เคยติดเราเลย แต่เราน่ะติดความคิดความเห็น ...เพราะอะไร เพราะความคิดบทมันจะดับ มันก็หาย มันก็ดับไปเลย มันดับไปแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอย่างนี้ แต่เราเสียดาย เราอาลัย

สุขเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน เวลาเกิดปุ๊บ มันก็เกิด ตั้งอยู่มันก็ตั้ง บทมันจะจางคลายหรือดับไป มันก็ดับไป มันไม่เคยอาลัยอาวรณ์เสียดายกับตัวเราของเรา กับความเป็นตัวเราของเราเลย 

มีแต่เราน่ะเสียดายมัน อาลัยมัน เดือดร้อนกับมัน ไม่ยอมรับในอาการของมันที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

เห็นมั้ย ขันธ์นี่เขาไม่มีชีวิตจิตใจหรอก เขาไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เขาไม่มีความเป็นวิญญาณในตัวเอง ไม่มีชีวิต ไม่มีความเป็นชีวะในตัวของมัน 

มันเป็นธาตุ มันเป็นแค่ก้อนธาตุ หรือธรรมก็เป็นแค่กลุ่มธรรม สภาวะหนึ่ง เหมือนคลื่น

เมื่อเราถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้เห็น สังเกตดู ก็จะเห็นอาการของขันธ์นี่มันเป็นแค่อาการ นามก็เป็นเหมือนกับเมฆหมอก อ้อยอิ่ง คล้อยเคลื่อนไป ไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรหรอก ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นในตัวของเขาเอง

อย่างตอนขับรถเจอหมอก ก็วิ่งเข้าไปในหมอก หมอกก็วิ่งชน ...แล้วมันมีรูปลักษณ์ตัวตนอะไรล่ะ มันก็เป็นกลุ่มที่มองไม่เห็นมาปิดบัง ใช่ไหม

ดูเหมือนมีนะ ...แต่เข้าไป มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็ไม่มีรูปร่างรูปลักษณ์รูปทรงในตัวมัน

ในส่วนของนามธรรมก็คล้ายคลึงกัน ในความเป็นจริงของมัน ไม่มีอะไรจับต้องได้หรอก ...เพราะมันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันเป็นแค่อาการที่ปรากฏขึ้นตามเหตุและปัจจัย

เนี่ย ปัญญาก็จะเข้าไปเรียนรู้ สังเกตความเป็นจริงของขันธ์ทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยไป แยบคายมากขึ้น มันก็จะละความเห็นผิด ความหลงในรูป ความหลงในขันธ์ ความหลงในกาย ความหลงในนามทั้งหลายทั้งปวง

มันก็ปล่อยให้ขันธ์เขาดำเนินไปโดยอิสระ ...เกิดก็เกิด ตั้งก็ตั้ง ดับก็ดับ มากก็มาก น้อยก็น้อย ไม่วอแวกัน ไม่เข้าไปคลอเคลีย คลุกคลี 

ไม่เข้าไปสงวน ไม่เข้าไปรักษา ไม่เข้าไปห้ามปราม ไม่เข้าไปดับ ไม่เข้าไปเกิด ไม่เข้าไปยุ่ง ...จนในที่สุด หมายความว่าไม่เข้าไปแตะต้องขันธ์เลย จึงเรียกว่าขันธ์ส่วนขันธ์

เมื่อใดที่เรียกว่าอยู่ขันธ์ส่วนขันธ์ ใจส่วนใจ อยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่าลักษณะนี้อยู่กับธรรมทั้งแท่งน่ะ เป็นธรรมทั้งแท่งเลย ...เนี่ย ทำไมพระอรหันต์ถึงบอกเป็นธรรมทั้งแท่งเลย 

ท่านไม่ได้อยู่กับความเป็นพระ ท่านไม่ได้อยู่กับความเป็นผู้ชายความเป็นผู้หญิง ท่านไม่ได้อยู่กับว่าท่านแก่หรือว่าท่านมีอายุหรือว่าท่านหนุ่มหรือว่าท่านสวยหรือว่าท่านงาม แต่ท่านอยู่กับธรรมทั้งแท่ง

ธรรมทั้งแท่ง คือขันธ์นี่เป็นธรรมทั้งแท่งเลย คือท่านเห็นขันธ์เป็นธรรมน่ะ เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นแค่ธรรมหนึ่ง เป็นสภาวะธาตุหนึ่งธรรมหนึ่ง 

เนี่ย ถึงเรียกว่าจิตของพระอรหันต์เป็นธรรมทั้งแท่ง ใจก็เป็นธรรม ขันธ์ก็เป็นธรรม

แต่ตอนนี้พวกเราอยู่กับธรรม แต่มันยังไม่เป็นธรรม เพราะใจไม่เป็นธรรม ใจยังมองเห็นด้วยความว่า มันเป็นอันนั้นอันนี้ มันเป็นดีเป็นร้าย มันเป็นของเรา มันสวย มันไม่สวย มันน่าพอใจ มันไม่น่าพอใจ

นี่เขาเรียกว่า มันอยู่กับธรรมแต่ไม่เห็นเป็นธรรม เห็นเป็นเรื่อง เห็นธรรมเป็นเรื่องเป็นราวไป เจาะจงลงไป แบ่งแยกกันลงไป ...มันก็เลยไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นธรรม

ก็ต้องปรับใจให้เป็นธรรม เป็นกลาง ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงมากขึ้น ขันธ์ก็เป็นธรรมอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งน่ะแหละ มันไม่เคยแสดงความไม่เป็นธรรม 

แต่ใจที่เข้าไปเจาะจงแบ่งแยกน่ะแหละ ก็จะเริ่มเป็นกลาง เป็นธรรม เป็นอิสระ ปุ๊บ มันก็ อ้อ อยู่กับธรรมทั้งแท่ง อยู่กับธรรมตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลย 

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรส จมูกได้กลิ่น ก็เกิด-ดับไป หอมก็หอม เหม็นก็เหม็น ดีก็ดี ร้ายก็ร้าย ก็ว่ากันไป แล้วก็ดับไป ...นี่ เรียกว่าก็อยู่กับธรรมทั้งแท่งน่ะ 

ไม่เข้าไปเสียดมเสียดาย ไม่เข้าไปอาลัย ไม่เข้าไปหวงไปห่วง ไม่เข้าไปดีใจเสียใจตื่นเต้นตกใจกังวลอะไร ...ก็เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา 

นี่ ชีวิตทั้งชีวิตก็โดยธรรม เป็นธรรม และเพื่อธรรม ไม่มีอะไรนอกเหนือจากธรรมเลย เป็นธรรมหมดตลอดสาย


(ต่อแทร็ก 3/13  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น