วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/15 (2)


พระอาจารย์
3/15 (540122C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 3/15  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ว่าเบื้องต้นนี่ ให้สติ สมาธิ ปัญญา ตั้งมั่นลงที่กายก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้มันตั้งมั่น ว่าอ๋อ แล้วไอ้ตัวที่เห็นอยู่น่ะ เห็นมั้ย ...มันมีอีกตัวใช่มั้ย ที่เห็นอยู่

เออ นั่นแหละคือใจ ใจเป็นผู้เห็นกาย เห็นมั้ย ใจมันก็แค่รู้ ...ใจเป็นเรามั้ย


โยม – (หัวเราะ) ยังเป็นเราอยู่ค่ะ

พระอาจารย์ –  ดูเข้าไป เห็นมั้ยว่าใจเรา ...มีคนที่เห็นว่าใจเราอยู่ใช่มั้ย 

เออ ไอ้ตรงที่ว่ายังเป็นเราอยู่นั่น มันแค่เป็นอาการหนึ่ง หรือเป็นความรู้สึก หรือเป็นแค่ความเห็นหนึ่งที่ใจ เข้าใจมั้ย ตัวที่เห็นว่าใจเรา มันจะมีอีกตัวนึงที่เห็นอยู่ นะ 

ตอนนี้ไม่ต้องไปแยบคายถึงขนาดนั้น เอาแค่ตรงนี้ก่อน ...แยกกายเราออกไปก่อน ให้เหลือแต่...ใจเราก็ช่างมัน ...แต่ให้รู้ว่าใจเราเห็น 

เห็นไอ้อ่อนๆ แข็งๆ ตึงๆ เย็นๆ อุ่นๆ ไหว นิ่ง อย่างนี้ เป็นคนละส่วนกันก่อน ให้มันแจ้งอย่างนี้ก่อน ให้มันชัดเจนอย่างนี้ก่อน ...แล้วต่อไปเดี๋ยวมันจะค่อยไปแยบคายในเรื่องของใจเราอีกทีนึง นะ

มันจะเป็นใจเรายังไง มันมีแค่รู้... มันมีแค่รู้ มีแค่ใจรู้ ตัวที่รู้ที่เห็น มีอาการรู้อาการเห็น ...เพราะนั้นใจก็เป็นแค่อาการรู้ ...มันมีเราติดอยู่ตรงไหน 

นี่ เดี๋ยวมันจะไปแยบคายทีหลัง ...ตอนนี้แยบคายกับกายก่อน และให้เห็นว่ามันเป็นเรามั้ย


โยม –  ที่มองเห็นกายนี้มันเบาค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าไม่เห็นเมื่อไหร่ เป็น "เรา" เลยใช่มั้ย เราเดิน เรานั่ง เรายืนเลยแหละ ...แต่ดูเข้าไปที่ความรู้สึกตัว ดูกายนี่ให้ดูที่ความรู้สึกตัว อย่าไปดูเป็นภาพ อย่าไปดูเป็นรูปในความคิด

ไอ้นั่นเป็นรูปที่เกิดจากสัญญา ไม่ใช่กายจริง เป็นสัญญา รูปสัญญา ...เหมือนเราดูกระจกน่ะ แล้วเราจำรูปของเราในกระจกได้ มันก็ไปจำว่านี่เป็นเรา เป็นรูปของเรา เป็นหญิง-ชาย เป็นทรวดทรงสีสันอย่างนี้

แต่พอดูกายตรงๆ นี่ ดูกายตรงๆ เห็นมั้ย มันไม่มีตัว ...มันไม่มีตัวที่แท้จริงหรอก มันเป็นแค่ความรู้สึกหรือกายเวทนา เดี๋ยวนิ่ง เดี๋ยวขยับ เดี๋ยวไหว เดี๋ยวอุ่น เดี๋ยวตึง เดี๋ยวปวด เดี๋ยวแน่น

เห็นมั้ย กายมันเกิดดับอย่างนี้ ถึงมีความรู้สึกว่ามีกายนี้อยู่ เพราะมันเกิดดับสลับปรับเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ ...เห็นกายไม่คงที่มั้ย เห็นกายแปรปรวนมั้ย 

มันอยู่ด้วยความแปรปรวน มันอยู่กับความแปรปรวน เป็นสันตติ มันถึงปรากฏเป็นมหาภูตรูปที่รวมกันได้ ...ความเป็นธาตุ ๔ ที่ทรงอยู่เป็นทรวดทรงนี้ ด้วยสันตติของความแปรปรวน อย่างนี้ 

ความเป็นจริงของกายมีแค่นี้เอง ...ไม่ต้องไปคิดมากเลย ดูไปตรงๆ ก็เห็นแล้ว ว่ากายที่แท้จริงไม่ได้เป็นอะไรเลยสักอย่าง ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เอาให้มันต่อเนื่องไปเลยทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องหา ไม่ต้องไปดูอะไรหรอก ...แล้วเดี๋ยวขณะที่ดูอย่างนี้ เดี๋ยวก็มีความคิด เดี๋ยวอะไรปรากฏก็ช่างหัวมัน 

ก็รู้ ...อ้อ คิด อ้อ สบาย อ้อ สงสัย อ้อ กังวล ช่างมัน แล้วกลับมาดูต่อ เอาตรงนี้เป็นฐานก่อน นะ 

ไม่งั้นพอไอ้นั่นดับ เดี๋ยวถ้าไปจ่อดูตรงนั้นเดี๋ยวก็ดับหมดน่ะ สติก็ดับ สมาธิก็ดับไปพร้อมกับมันแหละ และมันไม่รู้จะเอาสติไปตั้งอยู่ที่ไหนแล้ว


โยม –  ที่ผ่านมา มันไม่รู้จะไปตั้งไหนจริงๆ

พระอาจารย์ –  อืออ ไปตั้งกับความหลงไง ตั้งกับความเผลอ ตั้งกับความเพลิน นั่นมันก็ไปตั้งอยู่นะ ...แต่เราไม่รู้ ไม่มีสติแค่นั้นเอง 

คือว่าอาการนั้นก็มี แต่เราไม่รู้ว่ามันเผลอ เราไม่รู้ว่ามันเพลิน ...แต่พอรู้ปุ๊บ สติก็เกิดตรงนั้น

แต่ว่าสติเรายังอ่อนที่จะไปตั้งรู้เท่าทันอาการหลง ในขณะที่เกิดหลงแรก มันไม่รู้ ...หลงไปเป็นวัน หลงไปเป็นชั่วโมงอย่างนี้ กว่าจะรู้ขึ้นมา

แล้วที่มันรู้ขึ้นมาก็ไม่ใช่รู้ว่าหลงนะ แต่เพราะมันมีอะไรมากระทบแรงแล้วปรากฏ มันก็รู้ขึ้นมา แล้วก็สติก็ระลึกขึ้นมา...แล้วก็หายไปพร้อมกับอาการ 

มันก็เหมือนไม้หลักปักขี้เลนน่ะ ปุ๊บ เดี๋ยวมันก็ไหล ไหลไป ...ก็ต้องจับมาผูกกับกายมากๆ


โยม –  รู้สึกกับตรงไหนก็ได้หรือคะ

พระอาจารย์ –  ตรงไหนก็ได้ เราไม่ต้องไปเพ่งว่าให้มันรู้ในที่หนาวที่เดียว ที่เย็นที่เดียว หรือที่แข็ง ...มันไปของมันเอง ดูไปเหอะ สังเกตไป 

ดูง่าย สบายๆ รู้สึกตรงไหนก็ได้ที่ตัวนี้ ...มันจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของมันเอง มันจะไม่คาอยู่อย่างนั้น หรือเราไปเพ่งจ่อให้มันอยู่ที่เดียวอย่างนั้น

หรือไม่มีอะไรเดี๋ยวมันก็กลับมาเห็นลมเข้าลมออก พอลมเข้าลมออก เดี๋ยวมันก็มาเย็น มีลมพัดมันก็ไปรู้ที่เย็น กายก็กลายเป็นเย็นแล้ว อ้าว เดี๋ยวกายก็กลายเป็นลม แล้วเดี๋ยวกายก็กลายเป็นเมื่อยอีกแล้ว

เห็นมั้ย กายมันเปลี่ยนได้ เหมือนกับมนุษย์พันหน้า ไม่มีรูปร่างตัวตนที่แท้จริงหรอก มันเป็นแค่อะไรโกหกที่มาปรากฏในปัจจุบันนั้น ...เห็นป่าว ว่ากายที่แท้จริงน่ะ มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง


โยม –  ถ้าอย่างทุกขเวทนาบางอย่างมันมากน่ะค่ะ มันก็เหมือนจะต่อเนื่องเลย อันนั้นก็ต้องดูมัน

พระอาจารย์ –  อือ ก็ดูไป ดูอาการต่อเนื่องของมันไป มันไม่ต่อเนื่องไปตลอดเวลาหรอก เดี๋ยวก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปรู้ที่อื่น เช่น ตาเห็นรูป ได้ยินเสียง ...ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยินน่ะ ไม่มีปวดแล้ว


โยม –  มันก็หายไปแวบนึง

พระอาจารย์ –  เออ มันหายแวบนึง แต่ว่าความคงอยู่ของมันยังมีอยู่ เพราะเหตุปัจจัยยังไม่ดับ ...แต่ว่าความไม่เที่ยงของการที่ไปรับรู้กับมันน่ะเปลี่ยน 

ไม่ต้องไปแช่อยู่ตลอด ก็รู้ไป ดูไป สังเกตไปเบาๆ ...ปวดก็ปวด เดี๋ยวขณะที่ปวดก็จะได้ยินเสียงบ้างอะไรบ้าง ก็รู้ว่าตอนนี้กำลังได้ยิน อ้าว ตอนนี้เห็น แล้วก็ดูต่อ

เดี๋ยวมันก็ละความรู้ตรงเห็น หรือละความรู้ตรงได้ยินปุ๊บ มันก็กลับมาแรงอยู่ตรงที่เวทนาปวด  ก็ดู...ดูด้วยความรู้สึกเป็นธรรมดา 

ไม่ต้องไปหมายอะไรกับมันหรอก ไม่ต้องไปว่าเพราะอะไร หาเหตุหาผลอะไรกับมัน ต้องเข้าใจมันมั้ย หรือต้องอะไร ...คือรู้ว่ามันมีอยู่จบ แค่นั้นเอง

แล้วก็คอยสังเกตว่า มีความอยากเกิดขึ้นมั้ย กลัวมั้ย อยากคิดอะไรกับมันมั้ย ...ดูให้ทันในขณะนั้น แล้วก็ไม่เอา ...ให้มันเห็นสองอาการเท่าที่มันมี อย่าไปคิดมากกับอาการ แค่นั้นเอง 

ถ้าทนไม่ได้จริงๆ ก็เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนได้ ขยับได้ ...ก็ให้เห็นอาการที่ขยับ แล้วก็เห็นเวทนาที่คลาย แล้วก็เปลี่ยนไป อย่างนี้ ...แล้วมันจะค่อยๆ แยบคายขึ้นมาเรื่อยๆ

อย่าไปจริงจัง อย่าไปอะไรมากมาย อย่าไปฟิกซ์ (fix) อย่าไปเอาเป็นเอาตายกับมัน ...รู้ง่ายๆ สบายๆ แต่ให้เห็นความไม่คงอยู่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา...ทั้งที่เราทำให้มันเปลี่ยน ทั้งที่มันเปลี่ยนไปเอง 

ดูมันไปเหอะ ไม่ต้องกลัว แต่ว่าให้รู้อยู่ว่า...มันเป็นคนละอันกันกับอาการที่รู้อยู่ นะ มันไม่มีชีวิตจิตใจในนั้น ...เย็นๆ ร้อนๆ อุ่นๆ แข็งๆ มันมีชีวิตมั้ย


โยม –  ไม่มีค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ มันเป็นธาตุ ...รู้จักคำว่าธาตุมั้ย ธาตุเหมือนกับดิน น้ำ ไฟ ลม อย่างนี้ เป็นธาตุ เข้าใจมั้ย 

มันไม่มีชีวิต มันเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งของ ดูเหมือนมั้ย อุณหภูมิ ความร้อน ตึงๆ แข็งๆ นุ่มๆ น่ะ มันคือสิ่งหนึ่ง ...เนี่ย เห็นกายเป็นแค่สิ่งหนึ่ง ไม่มีชีวิตจิตใจอะไรหรอก 

ตัวมันไม่เคยร้องขออ้อนวอนบอกกล่าวเล่าขานแสดงความหมายอะไรเลย เห็นมั้ย เป็นอะไรที่มัน เหมือนของตายแล้วน่ะ แล้วเราที่อยู่กับกายนี่ ก็อยู่กับของที่ตาย อยู่กับของตาย ของที่ไม่มีชีวิตจิตใจ

แต่ว่าดูเหมือนมันมีชีวิต ดูเหมือนมันเป็นของเรา แค่นั้นเอง ...แต่ดูไปจริงๆ มันไม่เป็น นะ  มันเป็นอะไรของมันก็ไม่รู้ เท่าที่มันเป็นเองน่ะ มีอะไรมากระทบมันก็แสดงอาการนั้นทันที

ยืนกลางแดดปุ๊บมันก็แสดงความร้อน ว่าร้อน ว่ากายเป็นร้อน ว่ากายเป็นของร้อน  มีลมพัดปุ๊บ มันก็แสดงว่ากายเป็นของเย็น เห็นมั้ย มันเป็นอะไรแน่ล่ะ 

นั่งอยู่ในท่าเดียวนานๆ มันก็แสดงอาการของเมื่อย ว่ากายเป็นเมื่อย  พอยืดออกไปปุ๊บ แสดงอาการว่าไม่เมื่อย เห็นมั้ย กายมันหาความแน่นอนได้มั้ย ความเป็นกายที่แท้จริงคืออะไร หาไม่เจอเลย

เพราะนั้นการดูกายให้ดูที่ความรู้สึกตัว รู้ไปตรงๆ รู้แบบไม่พูด ไม่พูด เข้าใจมั้ย ไม่ต้องไปพูด ...ดูแบบไม่มีคำพูด ดูเฉยๆ 

แต่ถ้ามันพูดหรือถ้ามันบอก..."อ๋อ กำลังเมื่อย" ปุ๊บ พอบอกว่า "เมื่อย" ...ต้องให้เห็นว่า “เมื่อย” คืออะไร ... "เมื่อย" คืออะไร


โยม –  ไม่รู้ มันก็คือเมื่อย

พระอาจารย์ –  "เมื่อย" คือนาม เมื่อยคือความจำได้ว่าเมื่อย เข้าใจมั้ย ...เมื่อยจริงๆ ไม่ได้เมื่อย เมื่อยไม่มี ตรงนี้ไม่มีเมื่อย มีแต่อาการ  เข้าใจมั้ยๆ ...มันมีคำพูดมั้ย


โยม –  ไม่มี

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเมื่อย ...พอบอกว่าเมื่อยปุ๊บนี่ ให้รู้ไว้เลยว่าจำขึ้นมา เป็นนามธรรมปรากฏแล้ว ...อีกขันธ์นึงปรากฏแล้ว 

ตอนแรกนี่มันมีแค่กายเวทนา ไม่มีคำพูด ปุ๊บ... “เมื่อยยย” ...นี่นามขันธ์ปรากฏ คือสัญญาขันธ์ปรากฏ ...ให้เห็นอย่างนี้ ให้ทันอย่างนี้ แล้วก็ที่บอกว่าเมื่อย จริงป่าว กลับไปดูตรงนี้  

ก็จะเห็น ...ตรงนี้ไม่เห็น "เมื่อย" เลย  เห็นแค่อะไรก็ไม่รู้ เป็นก้อนๆ เห็นมั้ย รู้สึกเป็นก้อนๆ เป็นกลุ่มๆ รวมกันอยู่ แค่นั้นเอง ไม่มีเมื่อย ...มีแต่อาการ กลายเป็นแค่อาการแค่นั้นเอง

ให้แยบคายอย่างนี้ ดูไป มันจะได้แยบคายว่าอันไหนเป็นนามอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนามขันธ์ อันไหนเป็นรูปขันธ์ อย่าไปปะปน ...ถ้าไม่แยบคาย มันจะไปปะปน 

ถ้าไปปะปนปุ๊บ มันจะไม่เข้าใจว่าอันไหนเป็นรูปกันแน่ อันไหนเป็นนามกันแน่ ...เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ นี่ กายมันเคยพอใจมั้ย กายพอใจมั้ย


โยม –  มันไม่ได้บอกค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ มันไม่มีด้วยซ้ำ ...ก็มันไม่มีความรู้สึก มันไม่มีชีวิต เห็นมั้ย ร้อนๆ อุ่นๆ มีชีวิตมั้ย มันไม่มี มันจะไม่มีความพอใจหรือไม่พอใจในนั้นเลยนะ ... แต่ทำไมเราพอใจ มีความพอใจเกิด

เห็นมั้ย เวทนาปรากฏอีกแล้ว เป็นนาม  เวทนาขันธ์ปรากฏ เป็นความรู้สึกที่ใจ ...ก็ต้องให้รู้อีกแล้วนี่เป็นนามอีกตัวเกิดขึ้น ...แยบคายอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 3/15  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น