วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/16 (3)


พระอาจารย์
3/16 (540122D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 3/16  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  ทำไมไม่อยู่ด้วยความเป็นปกติหรือสันติ อยู่แค่รู้  สันติ เป็นกลาง ... ศีลปกติ...ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้สมาทานศีลเลยสักข้อ แต่ปกติศีล

รับรู้สัมผัสสัมพันธ์อาการที่ปรากฏ...ทุกความรู้สึก ทุกรูป ทุกเสียง ทุกกลิ่น ทุกรส ...ที่กระทบก็รับรู้ด้วยอาการสันติ มายังไงก็ไปอย่างงั้น

เหมือนบ้านนี่ ที่เปิดประตูไว้ คุณมาแล้วคุณก็ไป ไม่ใช่คุณมาแล้วข้าพเจ้าปิดประตูขัง แล้วคุณต้องอยู่ เข้าใจมั้ย ...นี่เขาเรียกว่าบ้านนี้เป็นสันติ

มาก็คือมา...ไม่ห้าม  ไปก็คือไป...ไม่ห้าม  รักษาบ้านหรือขันธ์นี้ให้เป็นสันติ อายตนะทั้งหมดจะเป็นสันติ ...เพราะมันห้ามไม่ได้ 


โยม –  ถ้าสมมุติมีอกุศลเกิดขึ้นในใจแบบนี้เราก็ไม่ต้องไปห้ามใช่ไหมคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องห้าม ถ้ามันเกิดเอง ไม่ได้จงใจเจตนาคิดขึ้นมานะ  


โยม –  เกิดขึ้นมาเองหรือ  

พระอาจารย์ –  อือฮึ ก็แค่รู้...รู้โดยสันติ  เหมือนกับลมมาหนาวอย่างนี้ ห้ามได้มั้ย  ลมพัดผ่านกายนี้ ไม่อยากให้มันดับ มันก็ดับเอง  หรืออยากให้มันอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่นาน เห็นมั้ย

ก็รับรู้ในอาการเช่นนี้ เช่นเดียวกัน ด้วยความเป็นกลาง ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าอยู่ในองค์มรรค ...อย่างนี้เรียกว่าการเจริญมรรค

ไม่ใช่เจริญการกระทำด้วยความจงใจ เจตนาเข้าไปละเมิดล่วงเกินในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือว่าเข้าไปเบียดเบียนในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ...แต่รับรู้ด้วยอาการปกติธรรมดา ต่างคนต่างอยู่ 


โยม –  บางทีใจมันรีบผลักไสเอง 

พระอาจารย์ –   ก็ต้องให้ทัน ...ผลักอะไรล่ะ 


โยม –  สมมุติมีอกุศลเกิดขึ้นปุ๊บ ไม่อยากให้คิดอย่างนั้นเลย แล้วเราก็จะเกิดอาการผลักไสปุ๊บ  

พระอาจารย์ –  ให้ทันตรงเจตนา ตรงที่มันมีปฏิกิริยานั้น ตรงนั้นน่ะมันมีการกระทำ ...แต่เราไม่เห็นทันว่าจงใจหรือเจตนา

นี่มันเป็นความเชื่อ เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธหรือเป็นปฏิฆะต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ ...เพราะมีราคะต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันจึงมีปฏิฆะต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ 


โยม –  ที่ผ่านมาก็จะเป็นแบบนั้น ก็คือพอมีอกุศลเกิด ปุ๊บ พอรู้สึกว่า...อุ๊ย ไม่ใช่ ไม่ได้ เราต้องหยุด ... พอหยุดปุ๊บเห็นว่า อุ๊ย เราจะหยุด ...ตกลงจะหยุดหรือไม่หยุดดีอย่างนี้ งงค่ะ

พระอาจารย์ –  พยายามกลับมาอยู่ในฐานะที่รู้ปกติ ... พอเริ่มผิดปกติตรงนั้นน่ะ ให้ทันอาการที่ผิดปกติ มันมีการกระทำเกิดขึ้น แล้วให้ทันตรงนั้น แล้วกลับมาปกติรู้


โยม –  ปกติรู้ ...แต่ความรู้สึกผิดในใจมันขึ้นมา

พระอาจารย์ –  ช่างมัน ...อันนั้นห้ามไม่ได้นะ มันเป็นวิบากที่เคยเชื่ออย่างนั้น เคยให้ความเชื่ออย่างนั้น เคยไปผูกกับความเชื่อเช่นนั้น เข้าใจมั้ย 


โยม –  คือวิบากไม่ได้เกิดจากอกุศลตรงๆ แต่เกิดจากความเชื่อว่าสิ่งนี้มันไม่ถูก

พระอาจารย์ –  ใช่  มันก็ตกค้างอยู่ภายในอย่างนั้นน่ะ มันก็เกิดอาการรับได้บ้าง รับไม่ได้บ้าง ...อดทนกับมัน...จนกว่ามันจะหมด 


โยม –  แล้วถ้าวิบากที่เกิดจากการที่เราเคยทำอกุศลจริงๆ จากความตั้งใจของเรา มันเกิดวิบากว่ารู้สึกผิดๆ แบบนี้เราจะต้องทำยังไง

พระอาจารย์ –  ไม่ทำไงอ่ะ รับไปเลย...รับไปตรงๆ     


โยม –  รับตรงๆ    

พระอาจารย์ –  คือรู้เฉยๆ      


โยม –  คือทนต่อความรู้สึกผิด

พระอาจารย์ –  ใช่ๆๆ   


โยม –  ทรมานยังไงก็ทนกับความรู้สึกผิดไปอย่างนั้น  

พระอาจารย์ –  เป็นหนี้ ต้องใช้น่ะ ...แล้วเอะอะ จะเล่น NPL หรือ จะทำให้หนี้สูญ ...ไม่ได้  เป็นหนี้ต้องใช้  ใช้ยังไง...ใช้ด้วยการทนทุกข์นั่นแหละ    


โยม –  ทนทุกข์กับความรู้สึกผิด 

พระอาจารย์ –  ช่ายยๆ นั่นแหละ ใช้วิบากกรรมไป...ด้วยความสงบ ระงับ ร่มเย็น  เป็นกลาง ...รู้เฉยๆ รู้กับทุกข์เฉยๆ    


โยม –  รู้เฉยๆ รู้ว่ามีความทุกข์เกิดขึ้นแล้วที่ใจ  

พระอาจารย์ –  อือ ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องหนี   


โยม –  อ๋อ ทุกทีจะปัดทิ้ง รีบปัดๆ 

พระอาจารย์ –  ไม่หมดหรอก เดี๋ยวมันก็ขึ้นมาอีก 


โยม –  สู้เรารู้ ยอมรับแล้วรู้ไป   

พระอาจารย์ –  บอกเลย  ถ้ามันอยากหนีมากก็ให้ถามมันเลย ..."มากกว่านี้มีอีกมั้ย"   


โยม –  หมายถึงทุกข์มากกว่านี้ หรืออกุศลมากกว่านี้ 

พระอาจารย์ –  เออ ให้มันออกมามากกว่านี้มีอีกป่าว แค่นี้น้อยไป   


โยม –  มันก็ท้าทาย 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องท้าทาย ก็บอกอย่างนี้  มันอยากหนีดีนัก ก็บอกเลย มากกว่านี้เอามาดิ ...อย่าไปกลัวมัน ทนเข้าไป

มันก็แค่นั้นแหละ มันก็เอาแค่หมดนั่นแหละ จนไม่เหลือหลอ จนหมดหนี้หมดสินน่ะ    


โยม –  ถ้าเรายิ่งหนี มันก็...มันก็ไม่จบสักที

พระอาจารย์ –  มันไม่ไปไหนหรอก ...ดูพระโมคคัลลานะ สุดท้ายยังต้องโดนตีจนตาย เห็นมั้ย พระอรหันต์แท้ๆ แต่มีกรรมมีวิบากกับขันธ์นี้ยังไม่หมด หนีไม่พ้น   


โยม –  อย่างพระโมคคัลลานะอย่างนี้ เป็นพระอรหันต์อย่างนี้ แล้วยังมีชีวิตอยู่ แล้วมีวิบากมา แต่พอท่านสิ้นแล้วปุ๊บนี่ มันจะไม่มีการเกิดใช่มั้ยคะ หมายถึงว่ารับวิบากนี่ ขันธ์มันไม่มารวม  

พระอาจารย์ –  จะเข้าสู่อรหันต์ภูมิได้หมด หมายความว่ามีหนี้เสมอตัว จบสิ้นหมดจด  


โยม –  เพราะว่าไม่มีรูปกายออกมารับวิบากหรือคะ 

พระอาจารย์ –  คือมันรับหมดแล้วน่ะ หนี้กรรม หนี้ทั้งหมดนี่มาหมดจบลบ...สุญโญ    


โยม –  อย่างสมมุติว่ากรรมที่ยังมีอีก

พระอาจารย์ –  ไม่มี ...ไม่มีข้างหน้า ไม่มีข้างหลังอีกแล้ว หน้าก็ไม่มีหลังก็ไม่มี  มันหมด...มันหมดตรงนั้นน่ะ   


โยม –  จริงๆ มันมีใช่มั้ยฮะ 

พระอาจารย์ –  ไม่มี ... ถ้ามีอยู่นะ ท่านจะเข้าไปละขันธ์ไม่ได้ 


โยม –  หมายถึงว่ากรรมอดีตที่ผ่านมา มีการชดใช้หมดหรือคะ 

พระอาจารย์ –  ใช่...หมดลงในชาติปัจจุบันนั้น ถึงจะเรียกว่าดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน 


โยม –  หมดเพราะว่าชดใช้ ไม่ใช่หมดเพราะว่าหมดกิเลสหรือคะ

พระอาจารย์ –   ของใคร ... ของพระอรหันต์น่ะ...หมดทั้งชดใช้และก็หมดทั้งกิเลสพร้อมกัน คือไม่มีเป็นหนี้อะไรอีกในโลกนี้...หนี้กรรมไม่มี


โยม –  ถ้าอย่างนี้คนที่ยังมีหนี้กรรม มีตั้งเยอะตั้งแยะอดีตชาติที่ผ่านมา ก็ต้องใช้ให้หมดก่อนถึงจะดับขันธ์ได้

พระอาจารย์ –  ใช่เลยครับท่าน  


โยม –  อย่างนี้ก็หมดแรง 

พระอาจารย์ –   ถ้าคิดน่ะก็หมดแรง แต่ในลักษณะของการที่เราไม่กระทำต่อโดยเจตนา เข้าใจมั้ย ...มีแต่ใช้อย่างเดียว แล้วไม่ต้องกลัวไม่หมดหรอก

นี่ มันจะได้กลัวว่าของใหม่อย่าทำ ขยะของเก่าน่ะอีกเท่าไหร่ รู้มั้ย ...ให้มันหยุดอยู่ในปัจจุบัน 


โยม –  งั้นแสดงว่า ถ้าเกิดว่าเรา..อย่างชาตินี้เราโดนกระทำมากๆ ก็คือรับๆ มาเลย จะได้แบบ..รีบหมดๆ

พระอาจารย์ –  ใช่ ต้องทำใจ บอกแล้ว เบื้องต้นน่ะต้องเป็นผู้แพ้ลูกเดียวเลย มีหนี้ต้องชดใช้น่ะ ...ยอม 

ไปดูพระอรหันต์แต่ละองค์ ไม่มีโรยด้วยกลีบกุหลาบสักกี่องค์หรอก อยู่ด้วยการลำบากลำบน ชดใช้กรรมวิบากมากมายมหาศาล ...ท่านไม่หนี ท่านไม่ท้ออ่ะ ยอมรับหมดโดยไม่มีเงื่อนไข 

ไอ้พวกเราเนี่ย ยังไม่รู้ธรรมเห็นธรรมอะไรสักอย่าง ...คอยตั้งแง่ ตั้งข้อแม้ ตั้งเงื่อนไข ข้ออ้าง หลีกไปเลี่ยงมา หลบๆ เม้มๆ มิบๆ แอบๆ มีเล่ห์มีเหลี่ยมตลอดเวลา

หาช่องทางหลบเร้น รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ไม่กล้าที่จะเผชิญตรงๆ เห็นมั้ย มันกลัวอะไรนักหนา ...ยิ่งกลัวก็ยิ่งเจอ บอกให้เลย 

ก็ถึงบอกว่า "มากกว่านี้มีอีกมั้ย" ...หัดถามซะบ้าง  ไม่ใช่เมื่อไหร่ๆ ก็มีแต่ "ทำไมมันเยอะจังๆ ตายแระ (โยมหัวเราะ) ไม่หมดสักที ตายแระๆ มันช่างเยอะ"

นี่เห็นแค่นี้นะ "ตายแระๆ" ...แล้วไอ้ที่ยังมีตรงนี้นี่ หนีหัวซุกหัวซุนเลย  ...ออกมาแค่นี้ โหย ชักดิ้นชักงอต่อหน้าต่อตา กลัว...ใจมันอ่อน  กลัวตาย กลัวทุกข์

หารู้ไม่ว่า ไอ้พวกนี้คือวิบากที่ต้องชดใช้ทั้งนั้นแหละ  และขณะที่ชดใช้มันจะได้เรียนรู้ให้เกิดปัญญาไปพร้อมกัน ...ไม่ใช่หนีเช้าหนีเย็นๆ หนีอารมณ์อยู่นั่นแหละ

กลัวคนนั้นกลัวคนนี้ ไม่ชอบคนนั้นไม่ชอบคนนี้ หลบเลี่ยง เข้าประตูหน้าออกประตูหลัง กลัวเจอเดี๋ยวมีเรื่อง เจอมันเดี๋ยวไม่พอใจ เดี๋ยวอารมณ์เสีย 

นั่น มันก็ไม่หนีหายไปไหนน่ะ เอาสิ อ่ะ สมมุติคนนี้ไป คนนั้นก็มาใหม่  มันก็เปลี่ยนน่ะ หนีอีก ...ไม่จบหรอก

ก็ทนอยู่กับความอึดอัด กระวนกระวาย คับข้องหมองใจ แก้ไม่ออกพูดไม่ได้ อะไรยังไง รู้เอา เรียนรู้เอา มันจะได้ยกข้ามกรรมนั้นวิบากนั้นไป ...ใจปัญญามันก็ข้ามไปเป็น shot ..shot ไป ชดใช้ไป 

แต่มันจะข้ามได้มันต้องเสวยอ่ะ จะได้เกิดความฉลาดขึ้น เท่าทันขึ้น ...ไปหนีอะไรลมๆ แล้งๆ หนีอาการลมๆ แล้งๆ หนีเอาเป็นเอาตาย หูย เดือดเนื้อร้อนใจ ในการหนีอารมณ์

พยายามสร้างแต่สัปปายะ...ที่ชอบ ทั้งในแง่บุคคลที่เลือกได้ สถานที่ที่เลือกได้ งานที่เลือกได้ เลือกเอาแบบสัปปายะ...ให้มันพอใจ

ทำไมไม่ยอมรับตามจิตสัปปายะ คืออะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ทนให้ได้ ...เป็นการอบรมขัดเกลาจิต ชดใช้กรรมวิบากไปในตัว

พระโมคคัลลานะ...ขนาดเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์มาก ถูกตีจนกระดูกแตกละเอียดทุกท่อน ท่านยังต้องยินยอมเลย


โยม –  คือท่านก็มีเวทนา  
  
พระอาจารย์ –  มี...เต็มๆ  แต่ว่าท่านแค่รู้อยู่  แต่ไม่ใช่ไม่มีเวทนาของความเจ็บปวดเลย มีเท่ากับพวกเราโดนตีแหละ แต่ใจท่านไม่ร้องไห้เลย

แต่เวทนาทางกายนี่รับเท่ากัน ... เป็นเรื่องของเวทนาที่เป็นกรรมวิบากของขันธ์ที่จะต้องชดใช้  
     

(ต่อแทร็ก 3/16  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น