วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/16 (2)


พระอาจารย์
3/16 (540122D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 3/16  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  มันมีอย่างนั้นน่ะ มีรูปกับนาม แล้วก็รู้ ...ขันธ์กับรู้  ให้แยกออกอย่างนี้  ...สติให้แยกใจออกมาจากขันธ์ 

แล้วก็ไปแยบคายกับขันธ์ ว่ามันเปลี่ยน เห็นมั้ย มันไม่คงอยู่ ไม่มีตัวไม่มีตน อย่างเนี้ย เรียกว่าไตรลักษณ์ ให้เห็นขันธ์เป็นไตรลักษณ์ ...แต่ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ไปคิดหานะ น้อมให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์


โยม –  แต่ตอนนี้คือกำลังทำความเข้าใจว่า อันนี้คืออย่างนี้

พระอาจารย์ –  อือ ทำความแยบคาย แยกเป็นส่วนๆ กัน


โยม –  แต่สังขารความคิดปรุงแต่ง กับวิญญาณนี่น่ะฮ่ะ บางทีงงๆ

พระอาจารย์ –  ทั้งหมดที่มันรู้ได้นี่น่ะวิญญาณ เห็นอาการวูบๆ วาบๆ นี่ ...ตัวที่วูบๆ วาบๆ ปรากฏขึ้นนั่นน่ะวิญญาณ


โยม –  การรับรู้

พระอาจารย์ –  และตัวที่เห็นว่ามีวูบๆ วาบๆ นั่นคือใจเห็น   


โยม –  คือรู้    

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่มีวิญญาณ มันจะไม่มีอะไรทั้งสิ้น ...เหมือนซากศพ มีตามันก็โพลงอย่างนี้ แต่มันไม่รู้หรอกว่าเห็น มันจะไม่มีอาการเห็นเลย  เพราะไม่มีวิญญาณไปอยู่ที่ตา  

แต่ตอนนี้เห็นก็รู้ว่าเห็น ใช่มั้ย ...ขณะที่เห็นน่ะแปลว่าวิญญาณเกิดแล้ว   


โยม –  แล้วอย่างคนตาบอดนี่เขาไม่มีวิญญาณหรือ 

พระอาจารย์ –  ก็ไม่มี...จักขุวิญญาณตายที่ตา หูหนวกก็โสตวิญญาณตายที่หู  ระบบประสาทไม่มีตรงนั้น การรับรู้ทางตาทางหูไม่มี วิญญาณก็ไม่เกิดทางนั้น 

แต่ไปเกิดทางอื่นได้ ทางกายมีความรู้สึก จับปุ๊บรู้สึก หนาว เย็น ร้อน รู้สึก ...นี่วิญญาณเกิดทางกายมี ความคิดมี มโนวิญญาณมี คิดก็รู้ 

มีความคิดล่องไปลอยมา มันก็คิดไปตาม คิดออกไป คิดเรื่อยเปื่อย อย่างนี้ มันก็เป็นมโนวิญญาณ ...ถ้าไม่มีมโนวิญญาณมันก็ไม่รู้ว่ามีความคิด


โยม –  อ๋อ แต่อาการของการคิด อาการที่คิดนั่นคือปรุงแต่ง   

พระอาจารย์ –  เออ อาการ ...ลักษณะอาการมันคือการปรุง    


โยม –  แล้วอย่างสมมุติว่าเราพอใจ ไม่พอใจ อันนั้นเป็นเวทนาทางใจใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  อือ  


โยม –  แล้วผลักไส กับจะเอาเข้านี่เรียกอะไรคะ อาการที่ใจผลักไสกับอาการที่ใจจะเอา

พระอาจารย์ –  อุปาทาน คือความหมายมั่น ความเข้าไปถือครอง ความเข้าไปให้ค่า ความเข้าไปดื้อรั้นทะยานอยาก เอามาให้ได้ ... นั่นแหละเขาเรียกว่าอุปาทาน   


โยม –  นึกว่าที่เห็นรูปมาทั้งหมดนี่คือเห็นกาย   

พระอาจารย์ –  มันก็ค่อยๆ จำแนกขันธ์เป็นส่วนๆ ไป นะ จำแนกออก จนเห็นว่าขันธ์น่ะเป็นกองๆๆๆ ขันธ์ แล้วกองนี้ดับ กองนี้เกิด เกิดตรงนี้แล้วก็มาดับตรงนี้ ...สลับกันอยู่อย่างนี้

ที่เราเห็นเป็นก้อนๆ อยู่นี่มีห้าส่วนรวมกัน รูปบ้างนามบ้าง รูปธรรมรวมกันห้าอย่าง ...ถ้ามองแบบเผินๆ มองแบบสัญชาติญาณไม่รู้เหนือรู้ใต้ มันก็มองแบบว่าเป็นคนเป็นสัตว์เป็นหญิงเป็นชาย สวยไม่สวย

มันเชื่อไปตามความเชื่อ เขาเรียกว่าสมมุติบัญญัติ ว่าไปตามความเชื่อตามสมมุติและบัญญัติ หรือว่าทิฏฐิแบบสักกายทิฏฐิ เขาว่า เขาบอก เขาสอน เขาสั่ง มันเรียนมาและเห็นเหมือนๆ กัน

ก็เรียกว่าสักกายทิฏฐิ ...เป็นทิฏฐิแบบพื้นฐานของสัตว์โลก

ก็ไม่ได้ถูกก็ไม่ได้ผิด แต่มันเป็นความเชื่อในโลกนี้อ่ะ แล้วก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก สอนกันมา ด้วยความเชื่อเช่นนี้ เขาเรียกว่าเป็นสักกาย เป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ บุคคล เรียกว่าเป็นสักกาย 

แล้วก็ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ ควร-ไม่ควร  ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้  อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ใช่ ...ก็เรียกว่าสีลัพพตปรามาส มันถูกอบรมบ่มสอนมาตั้งแต่เกิด  

ก็ลองเกิดมา...แล้วมันโตของมันเอง ไม่มีความรู้เรื่องที่ใครปลูกฝังมา มันไม่รู้ถูกไม่รู้ผิดอะไรหรอก มันจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไอ้นี่เรียกว่าอะไร ควร-ไม่ควรยังไง ไม่รู้

มันก็ไม่มีความคิดความเห็นความเชื่ออย่างนั้น ... เพราะอะไร ...เพราะไม่ได้ถูกปลูกฝังโดยสีลัพพตปรามาส    


โยม –  แล้วขันธ์ที่ว่านี่ มันจะเกิดสลับกัน ไม่ได้ว่าในเวลาเดียวกันทั้งหมดทั้งห้าใช่ไหมคะ  

พระอาจารย์ –  ใช่     


โยม –  แล้วถ้าอย่างเราดูขันธ์ ถ้าเป็นสัตว์มันดูนี่มันถือว่ามีขันธ์ ๕ ไหม 

พระอาจารย์ –  มี แต่มันไม่มีสติ   


โยม –  อ๋อ ไม่มีตัวที่จะมารู้ 

พระอาจารย์ –  ไม่มีตัวที่จะมาเป็นใจอีกดวงที่จะมาเห็นขันธ์  ๕   


โยม –  คือมันเป็นธรรมชาติของทุกอย่าง   

พระอาจารย์ –  ของสัตว์...โดยพื้นฐานที่มีสันหลัง จะมีขันธ์ ๕ อยู่แล้ว ...แต่ว่าความชัดเจนในขันธ์ ๕ แต่ละส่วนอาจจะแตกต่างกันไปตามกรรมและวิบาก

เพราะนั้นน่ะ มนุษย์โลกทั่วไปนี่ก็เหมือนหมา ...เหมือนตรงไหน  ตรงที่มันใช้ชีวิตแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่มีใจที่รู้เห็นอยู่ ...มันก็ไม่แตกต่างจากสัตว์  

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าสัตว์โลก มาโปรดสัตว์โลก ...คือเหมือนกันน่ะ ที่จะไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ขันธ์ ๕ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรดับ ท่านเรียกว่าสัตว์โลก ...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ท่านไม่ได้บอกมาว่าคน หรือว่าสัตว์สี่ขาสองขา หรือว่ามีปีก ...แต่ท่านเรียกว่าเหล่าสรรพสัตว์ คือมันยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้อินทร์รู้พรหม ไม่รู้ทางไปทางมา

ไม่รู้ว่ามันอยู่บนขันธ์ ๕ ไม่รู้ว่ามีใจอีกดวงที่ควบคุมระบบของขันธ์ ๕ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยังไง ... ก็เรียกว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

เพราะนั้นท่านมาโปรดสัตว์โลก...ให้แยก ให้เกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ว่านี่คือขันธ์ และนี่คือใจที่รู้ขันธ์ ...และขันธ์นี่คืออะไร ความเป็นจริงของขันธ์คืออะไร

มันไม่เป็นอะไรหรอก ...ก็เป็นไตรลักษณ์ เป็นปรากฏการณ์วูบๆ วาบๆ  วูบๆ วาบๆ ของมันเอง ...ของมันเองนะ ไม่ได้เป็นของใคร 

หนาวมาร้อนมากระทบ ห้ามได้มั้ย ... หนาวมา จะบอกให้ร้อน สั่งมันได้มั้ย ใช่มั้ย  แล้วยังบอกว่านี่ กายนี่ของเราเหรอ หือ บงการมันได้ไหม

ไปยืนกลางแดดบอกว่าหนาวจัง...บ้า เป็นไปไม่ได้ เห็นมั้ย จะให้มันรู้สึกหนาวในขณะที่ยืนกลางแดดนี่ เป็นไปไม่ได้  เข้าในร่มปุ๊บ เย็น บอกอุ้ย ร้อนจัง ...ไม่ได้

เห็นมั้ย เนี่ย กายมันเป็นอย่างนี้ มันตรงไปตรงมา เป็นของเขา เกิดเอง ตั้งอยู่เอง แล้วก็ดับไปเองของมัน ...ไม่มีใครไปบอกบงการเลยสักอย่างว่า ต้องหนาวนะเมื่อลมเย็น ต้องร้อนนะเมื่อโดนแดด

ไม่ต้องมีใครบอกนะ มันเป็นอย่างนี้ ๆ มันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนเรารู้ความอีก มันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนเราเกิดอีก แล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้แม้แต่เราตายไป ...เนี่ย คือความเป็นจริง


โยม –  เคยสังเกตว่าอย่างสมมุติว่าเราทานอาหารอร่อยหรือว่าเราไปอยู่ในที่สบายอย่างนี้ค่ะ มันมีความสุข จะคิดปฏิเสธว่ามันไม่มีความสุข มันปฏิเสธไม่ได้เลย ความรู้สึกที่มันรู้สึกว่า...เออ มันอร่อยจังเลย เป็นความรู้สึกที่..ไม่รู้จะพูดยังไงดี  

พระอาจารย์ –  ก็...เป็นก็เป็น ก็ไม่ปฏิเสธขันธ์ ไม่ได้ปฏิเสธเวทนา  


โยม –  แล้วแบบมันเป็นความสุขของเราที่เราได้เสวยมัน 

พระอาจารย์ –  ก็ดูไป แยบคายลงไป มันปรากฏยังไง ...เดี๋ยวค่อยแยกแยะลงไปในรายละเอียด นะ ให้เห็นว่า ถ้ามันเป็นเราเป็นของเราจริง มันต้องไม่ดับ

จนกว่าจะเห็นว่ามันเป็นแค่อาการ ที่เกิดขึ้นตามวาระ ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของเรา  

เพราะนั้นตัวที่เราจริงๆ มันคือคนที่รู้ว่ามันสุข คืออาการที่รู้ว่าสุขมีอยู่ ...แต่สุขไม่มีอยู่ หรือมีอยู่ หรือมากขึ้น หรือน้อยลง  อันนั้นก็เป็นเรื่องของขันธ์ที่มันจะสำแดงอาการใดๆ

แล้วละเอียดลออลงไปอีกว่า มีการเข้าไปร่วมด้วยช่วยกันมั้ย หวงแหนมั้ย ไม่อยากให้มันหายไปมั้ย หรืออยากให้มันมากขึ้นมั้ย ...เนี่ย เข้าไปจำแนกลงไปอย่างนั้นอีก

เมื่อเข้าไป มันถึงจะแยกอาการที่เกินออกมาจากขันธ์ออกไป แล้วจะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง...ว่ามันเป็นแค่นี้จริงๆ มันแค่ไหน เท่าที่มันมีเท่าที่มันเป็นคืออะไร

ส่วนอะไรที่มันเกินที่มันมีที่มันเป็นคืออะไร แล้วมันเนื่องด้วยอะไรที่มันเกิน คืออะไร ...มันก็จะไปศึกษาสำเหนียกลงไปในความอยากและไม่อยากต่อไปอีก

แล้วมันจะคัดกรองพวกนี้ออกไป ...จนเหลือแต่ขันธ์ล้วนๆ ขันธ์เปล่าๆ  คราวนี้เหลือแต่ขันธ์เปล่า เช่นว่าไง รู้ว่าร้อน รู้ว่าหนาว รู้ว่าเย็น นี่ รู้กับขันธ์เปล่าๆ

ขณะนี้มันยังไม่มี นี่ตรงนี้ ยังไม่มีความอยากหรือไม่อยากปรากฏนะขณะนี้ ...แต่ดูไปเรื่อยๆ สักพัก เดี๋ยวเมื่อยมาแล้ว  พอเมื่อยมา เดี๋ยวความอยากมาแทรก ความเห็นมาแล้ว..."เดี๋ยวกูต้องเปลี่ยนที่แล้ว" 

นี่ อนาคตมาแล้ว สร้างรูปภาพข้างหน้าที่ขา เราสร้างภาพไว้เสร็จเลยนะ ที่ขา...เอาออกแล้วสุขเกิด มันมีภาพในอนาคต นี่...มีภพรอแล้ว สร้างรูปอย่างนี้ เห็นมั้ย  

แต่ถ้าไม่เชื่อมัน ไม่ฟังมัน กลับมาอดทนอยู่กับมันปุ๊บ...ฝันสลายแล้ว ...ดับ


โยม –  นั่นก็คือปรุงแต่งสังขาร 

พระอาจารย์ –  ปรุงแต่ง อนาคตมาแล้ว ...ก็กลับมาทู่ซี้กัดฟันกับปัจจุบันก่อน ต้องกัดฟันก่อน เบื้องต้นต้องกัดฟันอดทนน่ะ เพื่อจะจำแนกออกให้เป็นส่วนๆ เพื่อความเข้าใจกับมันก่อน ไม่งั้นถูกมันหลอก 

พอมันบอกปุ๊บนี่ มีภาพไปยิ้มรอตอนที่กำลังหายเมื่อยเลย ...เนี่ย ถ้ารีบออกเลยจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น


โยม –  อ๋อ คือทนกับมันเพื่อจะเห็นมัน 

พระอาจารย์ –  ศึกษามัน ...มันหน้าด้านอยู่ ก็จะหน้าด้านรู้ เอาดิ


โยม –  ทีนี้จะต้องทนจนถึงไหน

พระอาจารย์ –  เออ เอาตามกำลัง พอให้รู้ก่อน ๆ ไม่งั้นเสียนิสัย สันดานเสีย  เชื่อกิเลสหมด เชื่อความปรุงความแต่งเป็นตุเป็นตะ

คราวนี้จะแยกไม่ออก อันไหนจริง อันไหนเท็จ อันไหนเป็นขันธ์ อันไหนเป็นแค่ขันธ์หลอก ด้วยความอยากหรือไม่อยาก ... เห็นมั้ย มันมั่วไม่รู้อะไร จะเอาแต่ความสุขอย่างเดียว

ได้มาแล้วก็หลงลืมหมด ปัญญาไม่เกิด เสวยเอาอย่างเดียว เอาแต่ได้ไม่เอาเสีย ไม่ยอมเสีย โลภ โง่ ...ก็ถูกความหลอกของขันธ์หลอกซ้ำซาก

ขันธ์มันจะหลอกซ้ำซากอย่างนี้ ...ถูกหลอกมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้วก็อย่างนี้ ไม่มาศึกษาให้เข้าใจความเป็นจริง ...ทีนี้พอเข้าใจก็จะ "อ๋อๆๆ อย่างนี้"...จะเปลี่ยนก็ได้ จะไม่เปลี่ยนก็ได้ ถ้ารู้ นี่...เข้าใจหมด 

แต่ตอนไม่เข้าใจ...อย่าเพิ่ง ...เอาให้แจ้งก่อน ให้เข้าใจ อ๋อ มันเพราะอะไร ทำไมมันถึงต้องเปลี่ยน หือ มันมีอะไรนักหนา ...นี่ต้องรู้ก่อน อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ต้องเปลี่ยน

ทำไมทนมันไม่ได้ มันเป็นโรคอะไรวะ ใจดวงนี้มันเป็นโรคอะไรถึงไม่ยอมรับกับอาการนี้ มันมีโรค มีเชื้อบ้าเชื้อโง่ มันถึงไม่ยอมรับตรงนี้ ...นี่ ทำไม

เพราะนั้นมันไม่มีวิธีอื่นหรอก นอกจากศึกษาสำเหนียกด้วยปัญญาแยบคายลงไป  

ไม่ใช่มาถามอาจารย์ อาจารย์ก็ตอบไม่ได้ทุกอย่างหรอก แล้วส่วนมากตอบไปก็แค่นั้นน่ะ เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็เอาอีกแล้ว เหมือนเดิมอีกแล้ว..ไปไม่รอด

ต้องไปสำเหนียกลงไป แยบคายลงไป ..."มันเป็นโรคอะไรวะถึงทนมันไม่ได้ ไปเดือดร้อนอะไรนักหนากับมัน มันมีเครื่องหมายอะไรไหมว่า นี่ๆๆๆ ของเรา"

ทำไมต่างคนต่างอยู่ไม่ได้หรือไง ทำไมหวงแหนทะนุถนอมมันจัง ทั้งๆ ที่ว่ามันก็แก่เอ๊าแก่เอา ทั้งที่ว่าบอกอะไรมันก็ไม่เคยฟังสักอย่าง เดินมาเป็นกิโลไม่ให้มันเมื่อย ทำไมมันเมื่อยอย่างนี้ ...มันฟังเรามั้ย 

แล้วทำไมจะต้องอยู่ใต้เงื่อนไขนี้ตลอดชาติ เงื่อนไขซ้ำซากๆ อย่างนี้ โง่กว่าขันธ์ ไม่ยอมออก ออกมาเหมือนเดิมก็ทำเหมือนเดิมอย่างนี้ มันก็เท่านั้นน่ะ มันไม่เข้าใจอะไรเลยน่ะ

มันไม่ง่ายหรอกนะ ในการที่จะแจ้งกับขันธ์น่ะ ... เพราะนั้นเบื้องต้นต้องอดทนกัดฟัน...ทวนน่ะ มันถึงจะ อ๋ออออ ตามลำดับๆๆๆ ... แล้วคราวนี้จะอยู่สบายกับมัน

เพราะตัวมันไม่เคยแสดงว่ามันให้เป็นทุกข์อะไรเลยกับใจดวงนี้  ...กูจะมากูก็มา กูไม่ได้มีเจตนาจะทำให้มึงเดือดร้อน กูจะดับกูก็ไม่มีเจตนาจะให้มึงดีใจหรือเสียใจ เอางี้ดิ

มันมีมั้ย ฮึ มันมีความรู้สึกรู้สารู้สมในตัวมันเองมั้ย มันมีเจตนามั้ยจะมาให้คุณให้โทษให้ร้ายกับใจดวงนี้ ...ไม่มีอ่ะ บทมากูก็มา บทไปกูก็ไป ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไปไม่ลามาไม่ไหว้ เนี่ย

เพราะมันเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง และก็ไม่มีเจตนาจะมาให้คุณให้โทษให้ร้ายอะไรกับใครคนใดคนหนึ่งเลย ... แต่ทำไมว่า ของกู๊ของกูๆ เข้าไปบ้าบอคอแตกกับมัน

ทั้งๆ ที่มันไม่เคยพูดสักคำสักแอะหรือแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ...เนี่ย ความโง่ มิจฉาทิฏฐิ เห็นมั้ย อยู่กับมิจฉาทิฏฐิ นอนกับไฟ กินกับไฟ นอนกอดไฟ แต่ไม่รู้ว่าเป็นไฟ...คือมิจฉาทิฏฐินี้

มันก็พาเราลากจูงไปเผาลน ไม่เป็นสุข เพราะอยู่กับไฟแต่ไม่รู้ว่าเป็นไฟ ...ไฟคือมิจฉาทิฏฐิที่มันเผาไหม้หลอกล่อให้ลุ่มหลงมัวเมาไปกับสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารให้จับต้องได้

แต่เข้าไปมั่วเอาเหมาเอา ผิดศีล ... ขโมย ขี้ขโมย... เนี่ย (เสียงสัมผัส) มันเป็นของเรามั้ย แล้วยังมีหน้าบอกว่าของเรา ...ขโมยรึเปล่า มาถือครองในสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ นี่ ผิดศีล ศีลไม่ปกติ ไม่สมบูรณ์

เห็นแก้วนี่มั้ย ...ถ้าเราบอกว่ากินด้วยความรู้สึกว่าเป็นแก้วของเรา นี่ขโมยแล้ว ...ทั้งๆ ที่ไม่เหมือนขโมยตรงไหนเลย แต่มันขโมยนะนี่

ก็แก้วเป็นของใคร เขาแสดงมั้ย มีเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆ ว่าเป็นของเรา หรือของคนนี้ๆ ไม่ใช่ของคนนั้น แต่ไปบอกว่าของเรา...นี่ขโมยอีกแล้วครับท่าน เอาของที่ไม่ได้เป็นเจ้าของมาเป็นเจ้าของ ใช่ป่าว

ความคิดก็ของเรา อารมณ์ก็ของเรา ความรู้สึกนี่ก็ของเรา สุขนี่ก็ของเรา ทุกข์นี่ก็ของเรา ฮึ เขามีอาการตรงไหนบ่งบอกว่าเป็นทรัพย์สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง

ถึงจะรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ เต็มกระเบียดแน่นหนาเข้มแข็งขนาดแค่ไหน ก็ยังผิดศีลนะนี่ ...ผิดปกติ เข้าไปถือครองในสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ

แย่งชิงความสุข ทำลายความทุกข์ นี่ ปาณาติบาตอีกต่างหาก ฆ่ามันๆ อย่าให้มันเข้าใกล้ เห็นแล้วต้องทำลายให้หมด ปาณาติบาตโดยเจตนา นี่ก็ผิดศีลอีกแล้วครับท่าน


(ต่อแทร็ก 3/16  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น