วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/16 (1)


พระอาจารย์
3/16 (540122D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้ยาวมาก แบ่งโพสต์เป็น 4 ช่วงบทความนะคะ)

โยม –  จะถามเรื่องดูกาย เคยได้ฟัง แล้วคิดเข้าข้างตัวเอง ...สงสัยจะดูผิดมาตลอด 

คือมันจะเห็นอย่างนี้ค่ะ ถ้ามันยกมืออย่างนี้ก็จะเห็นตัวเองพนมมือ บางทีมองเห็นก็รู้ว่าเห็น แต่บางทีไม่มองก็เห็นว่าตัวเองพนมมือ  

พระอาจารย์ –  คือเป็นรูปในจิต


โยม –  แบบนั้นไม่ได้เรียกว่ารู้กายใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันเป็นรูปในจิต...ก็ให้เห็นว่านี่คืออาการของนามนะ ...ถ้ากายจริงๆ ดูที่ความรู้สึก


โยม –  ให้เปลี่ยนมาดูที่ความรู้สึกแทนหรือคะ

พระอาจารย์ –  คือไม่ได้เปลี่ยน ...แต่ให้แยกให้ออกระหว่างรูปกับนาม หรือว่ากายกับอาการของนาม


โยม –  ทีนี้ถ้าสมมุติเราเห็นว่าเรากำลังพนมมือ กำลังมองพระอาจารย์ แต่ว่าความรู้สึกเห็นว่าเราพนมมืออยู่ ถ้าเห็นแบบนี้ก็ไม่ต้องไปตัดมันทิ้ง ก็คือให้รู้ว่าเห็น

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง ให้เห็นว่าเป็นอาการ ...แล้วขณะนั้นให้แยกลงไปดูที่ความรู้สึกตัว


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  ให้มันเห็นว่ากายจริงๆ คืออันนี้ ...ให้มันเห็นความต่างกันระหว่าง “รู้สึกตัว” กับ “รูป” ที่เห็นพนมมือ ว่ามันเป็นนิมิตคือสัญญา หรือเป็นความรู้รูปทางความปรุง


โยม –  คือสัญญาตรงนี้ไม่เรียกว่าเป็นดูกายแต่เป็นสัญญา

พระอาจารย์ –  เป็นสัญญา ...เป็นกายในสัญญา


โยม –  แต่ความรู้สึกนี่คือเรียกรู้กาย

พระอาจารย์ –  อือฮึ


โยม –  อย่างเวลานั่งสมาธิบางทีเราจะเห็นว่าท่าเรานั่งในลักษณะอย่างนี้ นั่นก็เป็นแบบเดียวกัน เป็นสัญญา

พระอาจารย์ –  เป็นรูปนิมิต รูปสัญญานิมิต


โยม –  ก็คือ ถ้าเห็นแบบนี้ ก็รู้ว่าเห็นเฉยๆ

พระอาจารย์ –  รู้ว่าเห็น...แล้วก็ให้แยบคายลงไปที่กาย


โยม –  แยบคายลงไปที่ความรู้สึก

พระอาจารย์ –  ใช่ ให้มันแยกออกมา เป็นกายอันนึง แล้วก็นามอันนึง แล้วก็รู้อันนึง ...ให้มันเห็นว่าขณะที่รู้อย่างนั้นน่ะ กายไม่มีเลย  ที่รู้ว่ารูปกำลังนั่ง ขณะนั้นไม่มีความรู้สึกที่ตัวเลย


โยม –  ค่ะ ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่ว่ากายดับ ไม่มีกายเลย ตรงนี้เป็นนามล้วน ๆ เข้าใจมั้ย ...แล้วลงมาแยก จำแนกลงไปที่กายตรงๆ ก็จะไปดูที่ความรู้สึกตัว  

พอเห็นแค่ความรู้สึกตัวปุ๊บ ...ไม่ต้องไปดูทั้งตัวหรอก ดูแค่ก้นกระทบ ที่แรงตึงก็ได้ ปุ๊บ ...รูปภาพนั้นดับ รูปของนามนั่งดับเลย นะ


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้แยกกันอย่างนี้ ให้ดูแยบคายลงไป ...ไม่ได้ไปทำลายหรือดับมันนะ ให้แยกจำแนกให้ชัดเจน จำแนกด้วยใจให้ชัดเจนลงไปว่าอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม  

มันจะได้เห็นว่า...จริงๆ แล้วรูปนั่งไม่มี กายนั่งไม่มี ...กายไม่มีนั่ง กายจริงๆ น่ะ ไม่มีนั่ง ไม่มียืน ...มีแต่อาการวูบๆ วาบๆ


โยม –  ความรู้สึกนี่ไม่ใช่ว่าเป็นเวทนาใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เป็นเวทนา กายเวทนา  อาการกระทบทั้งหมดน่ะคือเวทนา ผัสสะทั้งหมดที่มากระทบคือเวทนา จักขุเวทนา ตาเห็นรูปนี่เห็น มันเป็นเวทนานึง เข้าใจมั้ย แต่เป็นเวทนาทางตา การกระทบกัน 

หูนี่ก็เป็นโสตเวทนา ...คือการกระทบกันนี่เป็นเวทนา มันถึงมารับรู้ผ่านมาเป็นเวทนาที่ใจ...พอใจ ไม่พอใจ นี่อีกทีนึง ...มันมี 2 เวทนา


โยม –  อ๋อ ทีนี้ตาหูจมูกลิ้นกายใจที่มากระทบทั้งหมดนี่เรียกว่าเวทนาใช่ไหมคะ อย่างการที่มารู้สึกตัวนี่คือกายเวทนา

พระอาจารย์ –  ใช่ กายเวทนา มันรับรู้โดยวิญญาณ ผ่านทางวิญญาณ กายวิญญาณ ...มันรับรู้ออกมาเป็นเวทนา หนักบ้าง เบาบ้าง แตกต่างกันไป  

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง พวกนี้เป็นเวทนาทางกายหมด แล้วรับรู้ด้วยวิญญาณ กายวิญญาณ ...เพราะฉะนั้นตัวกายวิญญาณ กายเวทนานี่ จริงๆ มันคืออาการเดียวกัน  

แต่พอหนักบ้างเบาบ้าง ก็เรียกเป็นเวทนาขึ้นมา ให้ชัดเจนว่าเป็นเวทนา ...แต่จริงๆ คือมันผ่านถ่ายทอดมาสู่ใจนี่เป็นวิญญาณ


โยม –  ทีนี้การแยกของเรานี่ เราจะต้อง....

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิด


โยม –  ไม่ต้องคิดใช่มั้ยฮะ ว่าอันนี้คือเวทนา อันนี้คือสัญญามา

พระอาจารย์ –  คือให้เห็นว่ามันเป็นรูปเป็นนาม แล้วเห็นว่ามันเป็นคนละส่วนกัน เป็นลักษณะคนละอาการกัน 

จริงๆ น่ะไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ แต่ให้เห็นว่าเป็นคนละอาการกัน...ว่า “จำ” นะ ไม่เหมือนกับ “คิด” นะ หรือว่า “คิด” น่ะ ไม่เหมือนกับ “สุข” “ทุกข์” นะ อย่างนี้  

สุข-ทุกข์นี่ กับความคิดนี่...คนละตัวกันใช่มั้ย ...แต่ถ้าไม่แยบคายนี่มันก็ดูเหมือนอันเดียวกันน่ะ ความคิดกับความทุกข์อันเดียวกัน 

นี่ ...ไม่ใช่  ทุกข์ก็ทุกข์..เป็นเวทนา  สุขก็สุข..เป็นเวทนา ไม่ใช่คิด ... คิดไม่ได้สุข คิดไม่ได้ทุกข์


โยม –  คิดนี่เป็น...

พระอาจารย์ –  สังขาร ความปรุง โดยเอาสัญญามารวมกันในความปรุง


โยม –  แล้วพอใจ-ไม่พอใจนี่เป็นเวทนา

พระอาจารย์ –  เวทนา


โยม –  แล้วการที่เราขยับนี่ฮ่ะ  อย่างพยักหน้า ขยับ  อย่างนี้คือเห็นกาย หรือเห็นรูปคะ

พระอาจารย์ –  เห็นอาการไหวมั้ย


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ รู้สึกที่ไหว นั่นน่ะกาย วูบๆ วาบๆ น่ะ


โยม –  อ๋อ...อือม

พระอาจารย์ –  เคยเห็นเปลวไฟมั้ย เปลวไฟที่โดนลมพัดน่ะ เห็นอาการวูบวาบของมันมั้ย


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ คือกาย


โยม –  แต่ก่อนมานี่ไม่รู้ นึกว่าเป็นอันเดียวกัน  คือเห็นกายเห็นรูปร่าง กับเห็นอาการไหว นึกว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

พระอาจารย์ –  มันคนละเรื่องเลย รูปก็รูป นามก็นาม รู้ก็รู้ คนละตัวกันเลยนะ ...เห็นมั้ย แล้วยังมีรู้อีกตัวนึง ตัวที่เห็นน่ะ

โยม –  ค่ะ


(ต่อแทร็ก 3/16  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น