วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 3/15 (1)


พระอาจารย์
3/15 (540122C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มกราคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ปัญหาโลกแตกของนักปฏิบัติเบื้องต้น คือขี้เกียจ ขี้เกียจรู้ ขี้เกียจรู้ตัวใหม่ ชอบหายนาน 

แล้วก็มันจะหลง เพลินไปกับการหายไปนานๆ มันก็เลยไม่เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา ...พอกลับมารู้อีกก็เหมือนเดิม อะไรๆ ก็เหมือนเดิมหมด แทบจะไม่เข้าใจอะไรขึ้นมา

แล้วก็ในการปฏิบัติจริงๆ มันต้องใส่ใจ ตั้งใจ...ไม่ว่าการปฏิบัติสายไหนเส้นไหนนะ ไม่ว่าสายปัญญา(วิมุติ) ที่ว่าง่ายๆ สบายๆ หรือว่าสายสมถะที่ว่ายาก 

เรียกว่าทำแบบ...โหย มันต้องเอาเป็นตาย มันต้องจริงจัง ตั้งใจ  ไม่ใช่แค่ฟังพอเข้าใจ หรือว่าเข้าใจแล้ว แล้วมันจะแก้ได้ มันจะเข้าใจได้หมด ...ไม่ใช่  

มันจะต้องให้ใจดวงนี้ไปเห็นตามความเป็นจริงที่ปรากฏด้วยตัวของมันเอง 

แต่เมื่อใดที่ขาดสติเผลอสติ เพลินไป ไม่มีการที่ว่าใจเข้าไปรู้ไปเห็นอาการที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ...ความแยบคาย ความเห็นแจ้งในขันธ์ เห็นความเป็นจริงในขันธ์นั้นน่ะ มันจะไม่เกิดขึ้น 

มันจะเกิดแค่เป็นความจำได้เท่านั้น คิดเอาเอง แค่คิด ...เพราะนั้นการปฏิบัติ ไม่ใช่ทำด้วยความลูบๆ คลำๆ มันต้องตั้งใจจริง  

เราจะแนะนำ...ในลักษณะแรกๆ คือ อย่าไปเอาแต่ลักษณะของนามอย่างเดียว คือไปดูจิตอย่างเดียว หรือดูความคิด ดูอารมณ์ ...เนี่ย ไปชอบดูกันอย่างนั้น

เพราะว่าถ้าไปดูจิตดูนาม มันจะไม่ค่อยเห็นได้ต่อเนื่อง มันจะเห็นได้แต่ตอนแรงๆ น่ะ หรือตอนที่มีอะไรที่มัน..สุข ทุกข์ ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา มันก็รู้ มันก็เห็น 

แต่พออาการพวกนั้นมันดับไปแล้ว หรือว่ามันจางคลาย หรือว่าเบาบางหายไป มันจะหายไปพร้อมกับสติด้วย นะ มันจะพาให้สตินี่หายไปด้วย เข้าใจมั้ย 

การระลึกรู้เท่าทันสังเกตดูให้ต่อเนื่องก็ขาดไป ...กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็ต้องรอจนกว่ามันจะมีอะไรแรงๆ ให้ปรากฏ แล้วมันค่อยรู้เองหรือว่าค่อยใส่ใจไปรู้ 

หรือว่าเข้าไปรู้ประเดี๋ยวประด๋าว พอไม่มีอะไรให้ดูอีกแล้ว มันก็ไม่รู้จะดูอะไรอีก หาอะไรดูก็ไม่เจอ ...เพราะมันจะไปสร้าง เรียกอารมณ์อะไรขึ้นมาให้ดูมันก็ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏขึ้น 

พอดูแล้วก็สงสัยอีก ไม่รู้จะดูอะไร หาอะไรไม่เจอ ...ที่เคยอ่านที่เคยฟังมาเขาบอกว่าให้เห็นอย่างนั้นๆ มันไม่เห็นอะไรสักอย่างเลย มันก็เลยจับอะไรไม่ถูก 

คือว่าไปจับนามโดยตรงนี่ หรือไปดูอาการของจิตโดยตรง โดยที่ว่าใจยังไม่ตั้งมั่น มันก็จะเกิดความลำบากในการที่จะทำให้มันต่อเนื่อง

การปฏิบัติ...ถ้าไม่มีความต่อเนื่องหรือสัมปชัญญะ มันยากที่จะเกิดปัญญา หรือแยบคายในความเป็นจริง ...เพราะนั้นที่เราจะแนะนำ.. เราแนะนำให้มารู้ที่กายมากๆ อิริยาบถ การเคลื่อนไหว ให้มารู้กาย 

ความหมายของ “กาย” ของเรานี่คือความรู้สึกตัว ...รู้จักมั้ย รู้สึกตัว (ถามโยม) ...รู้เป็นป่ะ


โยม –  มันไม่ค่อยชัดน่ะค่ะ กาย

พระอาจารย์ –  ไม่ชัดยังไง ...ดูที่ "รู้สึก" ตัวมันรู้สึกยังไงตอนนี้ รู้สึกยังไงที่ตัวนี่


โยม –  เย็นค่ะ

พระอาจารย์    เออ นั่นแหละ ดูไป


โยม –  เจ็บ

พระอาจารย์  –  เออ ดูมัน  เห็นมั้ย นั่นแหละ... ให้ดูอย่างนี้ ดูที่ความรู้สึกที่ตัว นี่เรียกว่าดูกาย เห็นกาย ซึ่งมันมีอยู่ตลอด ดูตรงไหนจะเห็นตรงนั้นเลย 

ความรู้สึกไม่ว่าจะนิ่งไม่ไหว ตึง เหยียดๆ เห็นมั้ย น้ำหนักที่มันทิ้งลงมาเนี่ย ความรู้สึกตัวมีมั้ย เห็นมั้ย ...ดูอย่างนี้ให้มันต่อเนื่อง ให้มารู้ที่กายอย่างนี้มากๆ


โยม –  ไม่ต้องไปกระตุ้นมันด้วยการปรับ ขยับอะไรใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง ...ตรงนี้มันก็มีอยู่แล้ว มันชัดตรงไหนล่ะ เห็นมั้ย ไหวนี่เห็นมั้ย เออ ดูไปสิ...เย็นมั้ย เห็นเย็นมั้ย


โยม –  รู้สึกเย็น

พระอาจารย์ –  อือ...เห็น ไหว มั้ย


โยม   พอพระอาจารย์ทักก็เห็น

พระอาจารย์ –  เออ พอเห็นที่ไหวนี่ เห็นมั้ย ตอนนี้เย็นหายไปแล้ว


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย มันรู้ได้ทีละอย่าง ...เห็นกายเกิดดับมั้ย


โยม –  ไม่เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็การที่มันไหวแล้วมันเย็น เย็นแล้วไปไหว อย่างนี้คือการเปลี่ยน กายเปลี่ยน เข้าใจมั้ย กายเกิดอาการไม่คงที่ ...เห็นอาการของกายไม่คงที่มั้ย  ดูไป


โยม –  ใจมันวิ่งไปดูที่เย็น เดี๋ยวก็วิ่งมาที่ลม เดี๋ยวก็วิ่งไปที่นั้น

พระอาจารย์ –  ใช่ นั่นแหละ เห็นกายเกิดดับมั้ย นั่นแหละ


โยม –  อ๋อ นี่คือเขาเรียกว่าเกิดดับ

พระอาจารย์ –  เออ ตอนนี้อาจยังไม่เข้าใจในภาษาคำว่าเกิดดับ ...แต่มันรู้ได้ทีละอย่างใช่มั้ย เห็นมั้ย มันเกิดได้ทีละอย่างนะ มันไม่ได้เกิดพร้อมกันใช่มั้ย จริงๆ แล้วมันไม่ได้เกิดพร้อมกันนะ

มันต้องเข้าไปรับรู้ทีละอย่าง เดี๋ยวก็ไปหัวเดี๋ยวก็มาหาง เดี๋ยวก็มาขาเดี๋ยวก็มาเย็น เดี๋ยวก็มาอ่อน เดี๋ยวก็มานิ่ง เดี๋ยวก็มาขยับ ...เห็นกายไม่คงอยู่มั้ย 

เนี่ย เห็นกายเป็นชิ้นเป็นอันมั้ย คือเห็นความรู้สึกตัวนี่เป็นชิ้นเป็นอันมั้ย เหมือนกับมีอะไรมาประกอบกันเป็นชิ้น เป็นชิ้น ทีละชิ้นใช่มั้ย


โยม –  มันไม่ต่อกัน

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ กายมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดดับอย่างนี้ ...เย็นอยู่มั้ย ดูที่เย็น


โยม –  ยังอยู่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ตรงที่รู้สึกนั่นมันเป็นหญิงมั้ย หรือว่ามันเป็นชาย


โยม –  ไม่ทราบมันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

พระอาจารย์ –  อื้อ ...เป็นคนมั้ย


โยม –  ไม่รู้มันเป็นอะไร

พระอาจารย์ –  อื้อ เห็นมั้ย เห็นมั้ยว่ากายมันเป็นอะไร ความเป็นจริงของกายคืออะไร 

มันไม่เป็นอะไรเลย มันไม่มีคำพูด ไม่มีภาษาอะไรเลยใช่มั้ย  ...ดูเข้าไป ดูแล้วน้อมเข้าไปให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ เห็นกายตามความเป็นจริงอย่างนี้ ...ดูที่ความรู้สึกตัวเยอะๆ มันไม่ได้เป็นอะไรหรอก


โยม –  เมื่อก่อนนี้ไม่ค่อยได้มาดูแบบนี้หรอกค่ะ เหมือนมองข้ามมันไปเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ข้าม ... เราไปมองกายในความคิด ไปมองกายว่ายืน เดิน นั่ง นอน ...ดูจริงๆ เอาใหม่ มันนั่งมั้ย


โยม –  ไม่นะ

พระอาจารย์ –  มันไม่ได้พูดอะไรเลยใช่มั้ย


โยม –  มันเป็นแค่อาการ

พระอาจารย์ –  เออ ถ้าดูเงียบๆ น่ะ เห็นกายแล้ว เห็นกายตามความเป็นจริงแล้ว หาชายหาหญิงไม่เจอ หาความเป็นคนก็ไม่เจอ หาความเป็นเราก็ไม่มี ...ดูเข้าไปอย่างนี้ นะ ให้ดูให้มันต่อเนื่อง

เพราะนั้นมันมีอยู่ตลอดเวลาใช่มั้ย ดูตรงที่ความรู้สึกตัว มันจะมีตลอดเวลาเลย ...ไม่ต้องหาใช่มั้ย 

พอน้อมลงไปด้วยสติระลึกขึ้นมาตรงนี้ ที่ก้อนนี่ปุ๊บ มันจะรู้เลย มันจะเป็นแท่งเลย เห็นมั้ย เป็นอาการทึบๆ นั่นแหละดูไปที่ความรู้สึกตัวนี่ นั่นแหละกาย ...สวยมั้ย


โยม –  มันไม่ได้บอก

พระอาจารย์ –  หรือว่าไม่สวย


โยม –  มันก็ไม่ได้บอกค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ กายตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ ดูไปจนกว่าใจมันจะยอมรับว่ากายคืออย่างนี้จริงๆ  ตัวมันยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นอะไร ใช่มั้ย เออ นี่ เรียกว่ากายะ กายานุสติปัฏฐาน 

มัวแต่ไปหาอะไรอยู่ มัวแต่ไปดูอะไรที่มันเลื่อนๆ ลอยๆ ไหลๆ หลงๆ ...ให้มันตั้งมั่นก่อน นะ 

แล้วจากนี้ไป ถ้าชำนาญเรื่องกายอย่างนี้ ...อาการที่เป็นนาม ความคิดก็ตาม ความรู้สึกก็ตาม ความจำก็ตาม ความสุขความทุกข์ก็ตาม มันก็คืออย่างนี้ เหมือนกับกายอย่างนี้ เข้าใจมั้ย

มันเหมือนกันมั้ย ..มันเหมือนกันใช่มั้ย มันเป็นแค่อาการที่ปรากฏ ...ไม่รู้มันคืออะไรด้วยซ้ำ 

แล้วก็จับต้องได้มั้ย มีรูปร่างตัวตนที่แท้จริงของมันมั้ย ยกออกมาดูได้มั้ย เอามาชั่ง เอามาเก็บมาเกี่ยวใส่ในตู้ในเซฟได้มั้ย ...เห็นมั้ย มันมีตัวมีตนมั้ย


โยม –  มันจับไม่ได้

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละคือความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของขันธ์น่ะ ... นี่คือขันธ์ กายนี่คือขันธ์อันหนึ่ง แล้วขันธ์ทั้งหมดนี่ก็เหมือนกับกายอย่างนี้ ...ดูไป 


(ต่อแทร็ก 3/15  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น